Apple Watch รุ่น GPS รับสายได้ไหม

ก็เปิดตัวและวางจำหน่ายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ Apple Watch Series 6 สมาร์ตวอทช์รุ่นใหม่จาก Apple ที่เข้ามาทดแทน Series 5 ซึ่งก็ไม่ผิดไปจากข่าวลือที่คาดการณ์กันออกมาครับ คือรูปทรงยังคงเดิม แต่มีการเสริมฟีเจอร์เข้ามา เพื่อให้กลายเป็นผู้ช่วยในการดูแลสุขภาพได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งเราก็ไม่พลาดที่จะมารีวิวให้ชมกันอีกเช่นเคย โดยรุ่นที่ผมซื้อมารีวิว (และใช้เอง) ในครั้งนี้จะเป็นรุ่น GPS ขนาด 44 มม. บอดี้แบบอะลูมิเนียมนะครับ

 

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า Apple ระบุไว้อย่างชัดเจนนะครับว่า Apple Watch ไม่ได้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงยังไม่ควรนำไปใช้ในการวินิจฉัยอาการด้วยตนเองอีกด้วย แม้ว่าจะมีตัวช่วยในการวัดค่าต่าง ๆ ของร่างกายก็ตาม แต่ก็แน่นอนว่าความแม่นยำของการวัดนั้นอาจจะไม่เท่ากับอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยตรง จึงทำให้ Apple Watch จะเหมาะสำหรับการใช้งานในด้านฟิตเนสเพื่อช่วยตรวจจับ วัดความคืบหน้าของการดูแลสุขภาพในระดับทั่วไปเท่านั้น โดยเฉพาะฟังก์ชันการวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดที่เพิ่มเข้ามาใหม่ใน Apple Watch Series 6

 

ตัวผมเอง ก่อนหน้านี้ก็ใช้งานสมาร์ตวอทช์อย่าง Huawei Watch GT รุ่นแรกอยู่ ซึ่งก็ใช้งานทั่วไปได้โอเค แบตเตอรี่อึด แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลังจากมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ ตัวรุ่นแรกก็แทบไม่ได้รับการอัพเดตเพิ่มเติมเลย การใช้งานบางจุดที่น่าจะทำได้ก็ยังขาดไปบ้าง ประกอบกับช่วง 1 ปีหลังมานี้ ผมเปลี่ยนมาใช้ iPhone 11 เป็นเครื่องหลัก เลยต้องการสมาร์ตวอทช์ที่สามารถซิงค์ข้อมูลกับมือถือได้แบบครบ ๆ ทำให้ลองเปลี่ยนใจมาใช้ Apple Watch นอกจากนี้ สไตล์การทำงานที่เปลี่ยนมาเป็น work from home มากขึ้น จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการชาร์จแบตเท่าไหร่ครับ ซึ่งในรีวิวนี้จะมาดูกันว่า Apple Watch Series 6 จะคุ้มสำหรับการใช้งานทั่วไปขนาดไหน

ข้อมูลเชิงเทคนิคและสเปคของ Apple Watch Series 6

  • ชิปหลัก SiP S6 ภายในมีชิปประมวลผลแบบ dual-core 64 บิต (Apple ระบุว่าเร็วกว่า S5 ถึง 20%)
  • พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 32 GB
  • ชิประบบไร้สาย W3
  • ชิปอัลตร้าไวด์แบนด์ U1
  • หน้าจอ LTPO OLED Retina ความสว่างสูงสุด 1000 nit รองรับการแสดงผลแบบติดตลอด (Always on display) ปรับความสว่างได้อัตโนมัติ ไม่มี Force Touch
    • ขนาด 40 มม. ความละเอียด 324 x 394 (น้ำหนักตัวเรือน 30.5 กรัม)
    • ขนาด 44 มม. ความละเอียด 368 x 448 (น้ำหนักตัวเรือน 36.5 กรัม)
  • กระจกจอภาพเป็นแบบ Ion-X (ตัวเรือนอะลูมิเนียม)
  • ฝาหลังเซรามิกและผลึกแซฟไฟร์
  • มี GPS/GNSS
  • กันน้ำได้ลึกสุด 50 เมตร
  • รองรับ WiFi 2.4 และ 5 GHz
  • Bluetooth 5.0
  • เพิ่มเซ็นเซอร์วัดปริมาณออกซิเจนในเลือดเข้ามา
  • เพิ่มเซ็นเซอร์วัดระดับความสูงแบบ real time เข้ามา
  • รองรับการวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ (ECG) แต่ยังใช้ในไทยไม่ได้
  • มีฟังก์ชันตรวจจับการล้ม (Fall detection)
  • รองรับการโทรและส่ง SOS ฉุกเฉิน
  • มีเข็มทิศในตัว
  • มีลำโพงในตัว ความดังเพิ่มขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า 50%
  • มีไมโครโฟนในตัว
  • ใช้กดโทรออก กดรับสายเมื่อเชื่อมกับ iPhone ได้
  • แบตเตอรี่แบบ li-ion 1.17Wh ใช้งานได้นานสุด 18 ชั่วโมง รองรับการชาร์จเร็วสุด 2.5W
  • ใช้งานร่วมกับ iPhone 6s หรือรุ่นใหม่กว่า ที่ใช้ iOS 14 ขึ้นไป

ส่วนสีที่มีให้เลือก หลัก ๆ แล้วก็จะเหมือนกับ Series 5 ครับ แต่ในรุ่นตัวเรือนอะลูมิเนียมจะมีเพิ่มเข้ามาใหม่ 2 สี คือสีน้ำเงินและก็สีแดงที่เป็น (PRODUCT)RED

สำหรับด้านของราคา Apple Watch Series 6 จะเริ่มต้นที่ 13,400 บาทในตัวเรือนอะลูมิเนียม 40 มม. สาย Sport band ปกติ และ 14,400 บาทสำหรับตัวเรือน 44 มม. ซึ่งก็เป็นราคาเดียวกับปีที่แล้วนั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังมีตัวเรือนสแตนเลสสตีล ตัวเรือนไทเทเนียม รวมถึงพวกรุ่น Edition ต่าง ๆ มาให้เลือกกันเช่นเคยครับ

ทีนี้มาที่เรื่องสายนาฬิกาบ้าง รอบนี้ Apple เปิดตัวสายใหม่ด้วยกัน 2 แบบคือสาย Solo Loop และสาย Braided Solo Loop ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบห่วงรัด ไม่มีหมุด ไม่มีตัวล็อกใด ๆ ทั้งสิ้น เวลาใส่ก็จะคล้าย ๆ กับการใส่กำไลยางครับ ให้ความสะดวกไปอีกแบบ โดยสาย Solo Loop ก็คือเป็นกำไลซิลิโคนนิ่มคล้ายกับสาย Sport band ทั่วไปเลย ส่วนสาย Braided Solo Loop จะเป็นสายผ้าถักที่มีความยืดหยุ่น โดยสามารถนำไปใช้กับ Apple Watch รุ่นอื่นที่ขนาดตัวเรือนเท่ากันได้ด้วย ไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้กับ Series 6 แต่เพียงอย่างเดียว

แน่นอนว่าการที่สายแบบใหม่ทั้งสองนี้ไม่มีตัวปรับขนาด ทำให้จำเป็นต้องวัดขนาดข้อมือให้แน่นอนก่อนถึงสามารถซื้อได้ โดยทาง Apple ก็มีวิธีการวัดแบบคร่าว ๆ ให้บนหน้าเว็บเหมือนกันครับ สามารถพิมพ์ลงบนกระดาษเพื่อทำเป็นสายวัดในการใช้ระบุขนาดที่ควรซื้อได้ หรือจะใช้การเทียบเบอร์กับความยาวรอบข้อมือที่ใช้สายวัดในการวัดก็ได้เช่นกัน ส่วนตัวผมก็ว่ามันสะดวกดีนะ แต่…

ตอนที่ผมวัดด้วยตนเอง พบว่าได้เบอร์ 8 พอผมไปลองของจริงที่ร้าน Apple Store ซึ่งตอนวัดกับเครื่องมือของสตาฟที่หน้าร้าน เบอร์ที่วัดออกมาแล้วเหมาะสมกว่าตามการแนะนำดันกลายเป็นเบอร์ 7 แต่สุดท้ายตอนไปลองของจริง สตาฟอีกคนเสนอว่าลองเบอร์ 6 ด้วยมั้ย อาจจะพอดีกว่า ปรากฎว่าเบอร์ที่เหมาะที่สุดกลับเป็นเบอร์ 6 จริง ๆ ครับ ซึ่งมันฟิตพอดี ไม่โยก ไม่คลอน และก็ไม่แน่นจนเกินไปด้วย ดังนั้น ถ้าใครต้องการซื้อสาย Solo Loop หรือสาย Braided Solo Loop ผมขอแนะนำให้ไปลองของจริงที่ร้านก่อนจะดีที่สุดนะ อีกอย่างที่ยังไม่แน่ชัดก็คือ เมื่อใช้ไปนาน ๆ แล้วจะเกิดอาการสายยืดหรือเปล่า ซึ่งคงต้องรอดูกันไปอีกที

แกะกล่อง Apple Watch Series 6

กล่องของ Series 6 ก็จะยังคงเป็นดีไซน์แบบเดิมอยู่ครับ คือเป็นกล่องยาว ๆ ถ้าเป็นรุ่นธรรมดาก็จะเป็นกล่องสีขาวล้วน

ด้านหลังก็จะมีสลักล็อกกระดาษอยู่ทั้งสองฝั่ง พร้อมมีสติกเกอร์ระบุครบถ้วนเลยว่าเป็นรุ่นไหน วัสดุและสีตัวเรือนเป็นแบบใด สายที่อยู่ในแพ็คเกจเป็นแบบไหน พร้อมทั้งขนาดหน้าจอด้วย ซึ่งเรือนที่ผมได้มานี้ก็เพิ่งผลิตเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง

นอกจากนี้ บริเวณฉลากยังมีการชี้แจงมาให้ด้วยว่ามีอุปกรณ์อะไรมาในชุดบ้าง ที่มีก็คือตัว Apple Watch เอง สาย และก็สายชาร์จแบบแม่เหล็ก ส่วนอะแดปเตอร์ชาร์จไฟแบบ USB นั้นไม่มีมาแล้วนะครับ ต้องซื้อเพิ่มเอง ถ้าแบบ 5W ตัวเล็ก ๆ ของ Apple ก็ 690 บาท หรือจะใช้อะแดปเตอร์ชาร์จมือถือที่ใช้อยู่ก็ได้

ข้อความอีกจุดที่น่าสนใจคือมีการบอกไว้ชัดเจนเลยว่า Apple Watch ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์นะครับ

เมื่อแกะห่อกระดาษด้านนอกออก ก็จะพบกล่องแยกข้างในอีก 2 กล่อง คือกล่องของตัวเรือนกับกล่องของสายนาฬิกา โดยสายที่ผมสั่งจะเป็นแบบ Sport Band สีดำสำหรับตัวเรือนไซส์ 44 ซึ่งที่จริงก็เป็นสายแบบเดียวกับที่มีขายอยู่ก่อนแล้วครับ สามารถใช้งานร่วมกับ Apple Watch รุ่นอื่นที่ขนาดตัวเรือนเท่ากันได้ทั้งหมดเลย

เมื่อเปิดฝากล่องออก ก็จะเจอตัวเรือนอยู่ในซองกระดาษแข็งอีกทีครับ

อีกฟากก็จะเป็นสายชาร์จแบบแม่เหล็กซึ่งซ่อนอยู่ใต้ซองกระดาษที่บรรจุพวกคู่มือการใช้งานเบื้องต้นอยู่

ตัวเรือน+สาย Apple Watch Series 6

ความรู้สึกแรกที่ได้สัมผัส Apple Watch Series 6 ขนาด 44 มม. ก็คือน้ำหนักที่เบามาก ๆ ครับ เมื่อเทียบกับสมาร์ตวอทช์ที่ผมเคยใช้มา ตอนจับ ๆ เพื่อถ่ายรูปก็กลัวว่าจะหลุดมืออยู่เหมือนกัน เนื่องจากขอบมุมต่าง ๆ นั้นกลมมนไปซะหมด

หน้าจอ LTPO OLED Retina ของ Series 6 ให้สีสันที่สมกับเป็นจอประเภท OLED เลย คือส่วนที่เป็นสีดำก็ดำสนิท ส่วนที่เป็นสีสันก็ทำได้ดี คอนทราสต์จอสูง ส่วนความคมชัดก็อยู่ในระดับที่มองด้วยสายตาก็มองไม่เห็นเม็ดพิกเซลครับ แม้จะจ้องมองจากระยะใกล้สุดที่สายตาสามารถโฟกัสได้ก็ตาม สำหรับฟังก์ชันการแตะ Force Touch นั้นไม่มีให้ใช้งานแล้ว เนื่องจาก Apple ถอดโมดูลดังกล่าวออกจากส่วนจอไปเรียบร้อย

ความสว่างจอสูงสุดที่สามารถทำได้ตามสเปคนั้นอยู่ที่ 1000 nits ซึ่งสูงมาก ๆ (โน้ตบุ๊กทั่วไปมักจะอยู่ที่ 250 – 500 nits) ทำให้สามารถใช้งานกลางแสงแดดจ้าได้ไม่มีปัญหา แทบไม่ต้องป้องมือขึ้นมาเพื่อมองหน้าจอเลย ซึ่งในส่วนของความสว่างนั้น ทางเว็บไซต์ iClarified ได้ทดสอบเพื่อเปรียบเทียบระหว่างจอของ Series 6 กับ Series 5 ด้วย โดยการเปิดภาพสีขาวบนหน้าจอ แล้วปรับความสว่างให้อยู่ในระดับสูงสุด ผลที่ได้ออกมาคือ

  • Apple Watch Series 5 มีค่าความสว่างที่ 422 nits
  • Apple Watch Series 6 มีค่าความสว่างที่ 476 nits (สูงกว่าประมาณ 13%)

ส่วนหน้าจอแบบ Always on display (AOD) ก็ยังคงใส่มาให้เหมือนใน Series 5 ครับ แต่ที่ดีขึ้นคือระดับความสว่างที่สูงกว่าเดิม ทำให้สามารถดูเวลาได้ง่ายขึ้น ซึ่งทาง iClarified ก็ทดสอบความสว่างของหน้าจอ AOD ไว้ด้วยเช่นกัน ผลคือ

  • Apple Watch Series 5 มีค่าความสว่างที่ 12 nits
  • Apple Watch Series 6 มีค่าความสว่างที่ 16 nits (สูงกว่าประมาณ 33%)

ลิงค์บทความการทดสอบ

พลิกมาดูด้านข้างกันบ้าง เรือนนี้ก็จะเป็นอะลูมิเนียมสีเทาเข้ม Space Grey ครับ สีผิวจะดูเป็นสีแบบขัดทราย แต่ผิวนั้นจัดว่าลื่นพอสมควรเลย ถ้าจับไม่ดีตอนใส่สาย ตัวเรือนอาจลื่นหลุดมือได้เหมือนกัน

ฝั่งนี้ก็จะมีปุ่มเม็ดมะยมที่สามารถกดได้ หมุนเป็นวงล้อได้ ซึ่งหลัก ๆ ก็จะใช้แทนการกด back และกดเข้าไปหน้ารวมแอป หากกด 2 ครั้งติดกันจะเป็นการสลับหน้าจอระหว่าง 2 แอปที่ใช้งานล่าสุด ส่วนการหมุนก็จะเป็นการเลื่อนหน้าจอขึ้น-ลง เปลี่ยนค่าต่าง ๆ หรือใช้ในการซูมเข้า-ออก

ถัดมาก็จะเป็นช่องรับเสียงของไมโครโฟน และก็ปุ่มกดสำหรับเปิดหน้า Dock ขึ้นมา ซึ่งสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้โชว์หน้าจอแอปที่ใช้งานล่าสุดย้อนหลังไป หรือจะให้โชว์เพียงแอปโปรดที่ตั้งค่าไว้ก็ได้ หากกดติดกัน 2 ครั้งจะเป็นการเปิดหน้าจอ Pass ของพวกบัตรที่เราใส่ไว้ใน Wallet เพื่อการจ่ายเงินผ่าน Apple Pay หรือแสดงการเป็นสมาชิกของบัตรต่าง ๆ ได้ ส่วนถ้ากดค้างก็จะเป็นการเข้าหน้าจอเพื่อปิดเครื่อง หรือส่งสัญญาณฉุกเฉิน SOS ออกไป

ส่วนฝั่งขวาจะมีช่องลำโพง ซึ่งนอกจากจะให้เสียงออกมาแล้ว ยังใช้เป็นช่องสำหรับไล่น้ำที่เข้าไปในตัวเรือนด้วย เมื่อเปิดใช้งานฟังก์ชันไล่น้ำ

พลิกมาดูด้านหลังตัวเรือนที่จะแนบกับแขนกันบ้าง ส่วนนี้เป็นจุดที่ช่วยทำให้สามารถแยกความแตกต่างระหว่าง Series 6 กับรุ่นอื่น ๆ ได้ง่ายที่สุด เนื่องจากมีการเพิ่มและปรับตำแหน่งของหลอดไฟ LED และมีเซ็นเซอร์วัดปริมาณออกซิเจนในเลือดเพิ่มเข้ามา โดยจะมีหลอดไฟด้วยกัน 4 ดวง พร้อมกับช่องเซ็นเซอร์อีก 4 ช่องด้วย ที่เหลือก็จะคล้าย ๆ รุ่นเดิมครับ คือใช้เซรามิกและผลึกแซฟไฟร์ที่โค้งนูนขึ้นมาจากระนาบเล็กน้อย เพื่อให้สามารถสัมผัสกับแขนได้ดี

ภาพบนจะเป็นหลอดไฟ LED ที่ให้แสงสีเขียวเพียง 2 ดวง ติดขึ้นมาระหว่างการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ส่วนภาพล่างเป็นระหว่างการวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดครับ จะเห็นว่าหลอดไฟติดครบทั้ง 4 ดวงเลย ร่วมกับการใช้แสงอินฟราเรดด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วในแต่ละจุดที่เป็นหลอดไฟ LED จะมีไฟสีแดงกับสีเขียวอย่างละครึ่งครับ ทำให้ Apple Watch รุ่นอื่น ๆ นั้นไม่สามารถวัดปริมาณออกซิเจนได้เหมือนกับ Series 6

ส่วนสายที่มาในชุดก็ยังคงเหมือนเดิมครับ สามารถหาซื้อสายมาเปลี่ยนได้สะดวก การเปลี่ยนสายก็ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยแต่อย่างใด ส่วนการล็อกสายติดกับตัวเรือนนั้น ถ้าเป็นสายของ Apple เอง อันนี้ยอมรับเลยว่ามันล็อกแน่นจริง ๆ ไม่ต้องกลัวลื่นหลุดแม้จะใส่ออกกำลังกายหนัก ๆ ก็ตาม

สำหรับสาย Sport Band ในกล่องจะมีสายเส้นยาวมาให้ 2 ขนาดนะครับ คือ S/M กับ M/L สามารถเลือกใช้ตามขนาดข้อมือได้เลย หน้ากว้างของทั้งสองสายเท่ากัน อย่างในภาพด้านบนก็จะเป็นขนาด M/L

พอใส่เข้ากับข้อมือแล้วก็ดูพอดีเชียวแหละ อย่างในภาพจะเป็นตัวเรือน 44 มม. ครับ ส่วนถ้าถามว่าควรใส่เคสมั้ย ก็แล้วแต่ความชอบเลย ซึ่งถ้าคุณเป็นคนที่ชอบใส่นาฬิกาแล้วทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเสี่ยงต่อความเสียหายกับตัวเรือน ก็ควรจะหาเคสมาใส่ซักนิดนึง

แต่ถ้าจะให้สบายใจขึ้นอีกหน่อย ก็แนะนำว่าซื้อประกัน AppleCare+ ติดไว้ก็ดีครับ ราคา 3,000 บาท สำหรับรุ่นปกติ (อะลูมิเนียม/สแตนเลสสตีล/ไทเทเนียม) และ Apple Watch Nike คุ้มครองความเสียหายจากอุบัติเหตุสูงสุด 2 ปี โดยรายละเอียดที่น่าสนใจก็เช่น

  • เพิ่มการรับประกันจาก 1 ปีเป็น 2 ปี
  • คุ้มครองความเสียหายจากอุบัติเหตุสูงสุด 2 ครั้งในรอบ 12 เดือน (เคลมได้ปีละ 2 ครั้ง ไม่สามารถทบปีได้) ค่าธรรมเนียมในการให้บริการครั้งละ 2,300 บาท

ซึ่งส่วนตัวผมว่าซื้อติดไว้ก็อุ่นใจกว่าครับ เพราะถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมา ค่อนข้างมั่นใจเลยว่าค่าซ่อมแต่ละครั้งมันเกิน 2,300 บาทแน่ ๆ ส่วนการซื้อ AppleCare+ ก็ไม่ยากเลย จะซื้อพร้อมกับตอนซื้อ Apple Watch หรือจะซื้อภายใน 60 วันหลังซื้อ Apple Watch ก็ได้เช่นกัน ทั้งจากช่องทางออนไลน์ ที่ร้าน Apple Store หรือโทรไปที่เบอร์ 1800-019-900 ของทาง Apple เอง แต่ถ้าซื้อพร้อมกับตัวเรือนเลยก็จะสะดวกขึ้นไปอีกครับ เพราะทางร้านจะจัดการเพิ่ม AppleCare+ เข้าไปในระบบให้แต่แรก ทำให้เราไม่จำเป็นต้องยื่นหลักฐานการซื้อ หรือมีการตรวจสอบอะไรเพิ่มเติมเลย

กลับมาที่เรื่องสายอีกซักนิด สำหรับใครที่คิดว่าสายของ Apple เองนั้นราคาสูงไปซักนิดนึง ก็สามารถหาซื้อสายจากผู้ผลิตแบรนด์อื่น ๆ มาใช้ได้สบายมากครับ ขอเพียงแค่เลือกสายให้ตรงกับขนาดตัวเรือนก็พอแล้ว เพราะ Apple Watch Series 6 สามารถใช้ร่วมกับสายของรุ่นก่อนหน้าได้หมดเลย ส่วนเคส ฟิล์มหรือกระจกกันรอยนั้น ก็หาของที่ระบุว่าออกแบบมาเพื่อ Apple Watch Series 4/5/6 ได้เช่นกัน เพราะสามารถใส่แทนกันได้หมด

 

พวกฟังก์ชันพื้นฐานต่าง ๆ ของ Apple Watch Series 6 ก็ยังคงทำได้เหมือนกับรุ่นก่อนหน้าเลยครับ สามารถแสดงผลภาษาไทยได้ดี ตอบ Line ด้วยการพูดแล้วแปลงเสียงเป็นข้อความได้สะดวก (รองรับการพูดภาษาไทยด้วย) การวัดอัตราการเต้นของหัวใจก็สามารถตั้งให้วัดเป็นระยะ ๆ ขณะที่กำลังใส่ได้ เพื่อเก็บข้อมูลในระยะยาว หรือจะใช้เป็นหน้าจอ+รีโมทคุมการถ่ายรูปจากกล้องของ iPhone ก็ได้ดว้ย

รองรับการวัดระดับความดังของเสียงโดยรอบได้จากไมค์ในตัวเรือน แสดงแผนที่ และช่วยนำทางได้ รวมถึงยังติดตั้งแอปเสริมบางส่วน ทั้งแอปสำหรับ Apple Watch เอง และแอปเสริมที่นำข้อมูลจากแอปหลักใน iPhone มาแสดงบนข้อมือได้เช่นเคย

พื้นที่ความจุข้อมูลตามสเปคของ Apple Watch Series 6 อยู่ที่ 32 GB โดยเปิดมาจะเหลือให้ใช้ได้ราว 26.6 GB ซึ่งก็สามารถโหลดเพลง โหลดรูปมาใส่ได้อยู่พอสมควร ส่วนการแคปหน้าจอ ต้องไปตั้งค่าเปิดให้แคป screenshot จากในเมนูการตั้งค่าได้ก่อนครับ เมื่อตั้งค่าแล้วก็สามารถแคปได้โดยการกดปุ่มเม็ดมะยมพร้อมกับปุ่ม Dock

ส่วนความเร็วในการทำงานนั้น Apple ระบุว่า Apple Watch Series 6 มีชิปประมวลผลที่เร็วกว่า Series 5 อยู่สูงสุด 20% แต่ตัวผมเองก็เพิ่งได้เริ่มใช้ Series 6 เป็นเรือนแรก เลยอาจจะไม่สามารถเทียบกับรุ่นก่อนหน้าได้ แต่เท่าที่ใช้งานมา ก็รู้สึกว่าการตอบสนอง การเปิดแอปต่าง ๆ นั้นทำได้รวดเร็วทันใจ เปิดขึ้นมาแล้วพร้อมใช้งานแอปนั้นในแทบจะทันที

 

ฟังก์ชันใหม่และน่าสนใจใน Apple Watch Series 6

การวัดออกซิเจนในเลือด (Blood Oxygen | SpO2)

เป็นฟังก์ชันใหม่ที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาครั้งแรกของผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Apple Watch โดยจุดประสงค์หลักคือเพื่อวัดปริมาณออกซิเจนที่เลือดแดงสามารถนำพาไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ วิธีการวัดแบบคร่าว ๆ ก็คือการใช้การประมวลผลจากปริมาณแสงสะท้อนเพื่อวัดความเข้มของสีเลือดเป็นหลัก ซึ่งในคนทั่วไปมักจะได้ผลอยู่ในช่วงที่เกิน 90% ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ตัว Watch เองไม่มีการวัดค่า PI% มาประกอบด้วยเหมือนพวกเครื่องวัดโดยตรงนะครับ

ส่วนวิธีการวัด %SpO2 ของ Apple Watch Series 6 ก็ทำได้โดยการเปิดแอปวัด Blood Oxygen ขึ้นมา ไอคอนจะเป็นวงกลมสีขาวที่มีเส้นโค้งสีน้ำเงินกับแดงอยู่ภายใน จากนั้นก็วางแขนราบไปกับโต๊ะให้ขนานกับพื้น กดปุ่ม Start แล้วก็นั่งนิ่ง ๆ ประมาณ 15 วินาที ผลก็จะออกมาเป็น % ครับ เว้นแต่ว่าแขนไม่นิ่งพอ หรือยกตัวเรือนขึ้น ระบบก็จะหยุดการวัดทันที

 

ทีนี้มาดูเรื่องความเสถียรในการวัดกันซักนิดครับ ฝั่งซ้ายผมทดสอบการวัด SpO2 ระหว่าง Apple Watch Series 6 กับอุปกรณ์วัดที่สามารถหาซื้อได้ไม่ยากนัก ซึ่งถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้แม่นยำเท่ากับพวกอุปกรณ์เกรดทางการแพทย์ แต่ค่า SpO2 ของตัวผมเองที่ได้จากอุปกรณ์วัดนั้นก็ค่อนข้างเสถียร คือได้อยู่ในช่วง 95%-98% ในขณะที่บน Apple Watch Series 6 นั้น บางครั้งก็ได้ใกล้เคียงกับตัวอุปกรณ์วัด บางครั้งก็ห่างกันเยอะ แถมมีอยู่ครั้งสองครั้งด้วยที่ลดลงไปต่ำกว่า 90%

ส่วนภาพฝั่งขวาเป็นการเทียบเรื่องการวัดอัตราการเต้นของหัวใจครับ โดยผมนำเครื่องวัดความดันที่สามารถวัด heart rate ได้มาใช้เทียบ ซึ่งก็พอจะใช้อ้างอิงได้ระดับหนึ่ง โดยในช่วงที่วัด ตัวผมเองก็ลุก ๆ นั่ง ๆ อยู่หลายรอบ ตัวเลขเลยขึ้นสูงนิดนึง ใช้การวัดที่แขนข้างเดียวกันพร้อมกัน ผลคือค่าที่วัดได้จาก Apple Watch Series 6 จะแตกต่างจากเครื่องวัดราว ๆ 3-8 BPM

ดังนั้น ถ้าให้สรุปเรื่องความแม่นยำในการวัด Blood Oxygen (รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจ) ตัว Apple Watch Series 6 จัดว่าทำได้ในระดับกลาง ๆ เท่านั้นครับ ไม่แนะนำให้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบในการรักษาทางการแพทย์ เหมาะกับใช้ในการตรวจเช็คสุขภาพระดับเบื้องต้นในชีวิตประจำวันเท่านั้น โดยมีข้อดีคือเรื่องความสะดวก ที่ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องพกอุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือดติดตัวอยู่ตลอด เพียงแค่กดหน้าจอสมาร์ตวอทช์ก็สามารถจับค่าคร่าว ๆ ได้แล้ว เพื่อช่วยในการกระตุ้นให้ผู้ใช้รักษาสุขภาพอยู่เสมอ

 

การตรวจจับการนอนหลับ

เป็นระบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน watchOS 7 ซึ่งก็เปิดให้รุ่นอื่นใช้ได้ด้วยเช่นกัน หลัก ๆ คือจะช่วยวัดคุณภาพการนอนโดยพิจารณาจากระยะเวลา และอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อช่วยในการตั้งเป้าหมายการนอนหลับให้เหมาะสมกับร่างกายได้ แต่จะไม่สามารถตรวจจับคุณภาพเชิงลึก อย่างพวกการหลับลึก หลับตื้น หรือพวก REM ได้นะครับ

นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ก็ยังมีระบบอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมการนอนหลับให้มีคุณภาพด้วย เช่น การแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงเวลาเข้านอนที่ตั้งไว้ การปรับโทนสีของหน้าจออัตโนมัติช่วงก่อนนอน รวมถึงยังสามารถตั้งค่าให้หน้าจอ Apple Watch Series 6 ดับระหว่างเวลานอน เพื่อป้องกันแสงรบกวนได้ด้วย

 

ตัวช่วยจับเวลาในการล้างมือ

เป็นอีกฟังก์ชันที่เพิ่มเข้ามาใน watchOS 7 หลังจากที่มีการระบาดของ COVID-19 ครับ โดยตัวนาฬิกาจะจับการเคลื่อนไหวของข้อมือและเสียงน้ำ และเปิดใช้งานฟังก์ชันนี้ให้อัตโนมัติ เมื่อผู้ใช้ล้างมือ ซึ่งจะมีตัวเลขนับถอยหลังมาให้ใช้เวลาในการล้างมือไม่ต่ำกว่า 20 วินาที

จากที่ผมลองใช้งานดู พบว่าหน้าจอนี้จะติดขึ้นมาหลังจากเริ่มล้างมือไปได้เล็กน้อย แต่ที่สำคัญคือตอนระหว่างล้างจานมันก็ขึ้นครับ เนื่องด้วยลักษณะการเคลื่อนไหวของข้อมือ และเสียงน้ำที่ไหลผ่านมันใกล้เคียงกับการล้างมือมาก ๆ

แต่ถ้าใครไม่ต้องการใช้งานฟังก์ชันนี้ก็สามารถปิดได้ครับ จากในหน้าเมนูของแอป Watch หรือจะปิดจากในเมนูบนตัว Apple Watch ก็ได้

 

การวัดระดับความสูงแบบเรียลไทม์

เป็นฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจจับระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลได้ทันที ณ จุดที่อยู่ในขณะนั้น ทำให้ได้ค่าความสูงที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น ส่งผลถึงการคำนวณประสิทธิภาพในการออกกำลังกายที่ดีขึ้นด้วย อย่างในภาพด้านบนที่เป็นหน้าจอขณะกำลังออกกำลังกาย ซึ่งในบางประเภทจะมีการวัดระดับความสูงมาด้วย เช่น การวิ่ง การเดิน โดยในภาพนี้ผมเลือกเอาข้อมูลระดับความสูง ณ ปัจจุบันขึ้นมาแสดงครับ คือข้อความที่ไฮไลท์สีเขียวเอาไว้ และตัวเลขก็จะมีการปรับเปลี่ยนตามระดับความสูงที่เราอยู่จริง ๆ โดยอาจจะมีดีเลย์นิดนึง แต่ก็ไม่นานนัก

 

หน้าจอแบบติดตลอด Always-on display (AOD)

แม้จะเป็นฟีเจอร์ที่มีมาในรุ่นก่อนหน้าแล้วก็ตาม แต่ใน Apple Watch Series 6 ก็ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม ที่เห็นได้ชัดสุดคือเรื่องความสว่างตามที่กล่าวไปแล้วในช่วงต้นของรีวิวนะครับ ส่วนถ้าถามว่าฟังก์ชันนี้จะกินแบตเพิ่มขึ้นมั้ย ก็แน่นอนว่ามันต้องกินแบตมากกว่าการปิดฟังก์ชันเอาไว้ เนื่องจากยังมีการแสดงผลอยู่ แต่ความสว่างของภาพจะลดลง ประกอบกับหน้าจอจะลดรีเฟรชเรตของตัวเองลงเพื่อช่วยประหยัดพลังงานด้วย

ส่วนการแสดงผลนั้น ภาพซ้ายคือหน้าจอปกติ ภาพขวาคือหน้าจอที่แสดงแบบ AOD อยู่ จะเห็นว่าส่วนที่เป็นสีขาวจะลดระดับลงมาเป็นสีเทาตามระดับความสว่างของจอ และเข็มวินาทีก็หายไปด้วย แต่เข็มนาทีก็ยังเดินตามเวลาจริงอยู่นะครับ ทำให้ประสบการณ์ในการใช้งานนั้นไหลลื่นมาก ต่างจากฟังก์ชัน AOD ของสมาร์ตวอทช์หลาย ๆ รุ่นที่มักจะไม่ได้อัพเดตเวลาบนหน้าจอหลัก ทำให้เวลาเปิดจอหลักกลับขึ้นมา ระบบจะต้องมาอัพเดตเวลาให้ตรงกับเวลาจริงอีกครั้งด้วย

อีกฟังก์ชันที่น่าสนใจเกี่ยวกับหน้าจอคือสามารถแตะสองนิ้วค้างไว้บนหน้าจอหลักที่บอกเวลา เพื่อให้ตัวเรือนขานเวลาออกมาเป็นเสียงได้ด้วย แต่ฟังก์ชันนี้จะไม่ทำงานบนหน้าจอ AOD นะครับ

 

Family Setup

Family Setup เป็นฟังก์ชันใหม่ของ watchOS 7 ที่เปิดตัวในงานเดียวกันกับ Apple Watch Series 6 ครับ คุณสมบัติหลัก ๆ เลยคือทำให้สามารถซื้อ Apple Watch ให้บุคคลในครอบครัวใช้งานได้ด้วย โดยที่คน ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องมี iPhone เป็นของตนเอง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ

  • ผมใช้ iPhone อยู่ และมี Apple Watch Series 6 เป็นของตัวเอง
  • ผมซื้อ Apple Watch SE ให้พ่อ ทั้ง ๆ ที่พ่อผมใช้มือถือ Android

ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะนี้ Apple Watch SE ของพ่อที่ผูกกับเบอร์โทรศัพท์ของพ่อเอง ก็จะมาจับคู่กับ iPhone ของผมแทน ทำให้ผมสามารถดูแลจัดการ ควบคุมการใช้งาน รวมถึงมอนิเตอร์เรื่องสุขภาพให้กับสมาชิกในบ้านได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม Apple ก็ยังออกแบบมาให้ผู้ใช้แต่ละคนสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบางส่วนได้ด้วย เพื่อป้องกันข้อมูลไหลมาตีกันครับ ส่วนฟังก์ชันที่มีประโยชน์ก็เช่น

  • โทร ส่งข้อความหากันในครอบครัวได้สะดวกผ่านหน้า Apple Watch
  • สามารถปรับเป้าหมายการออกกำลังกาย การเล่นกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับคนในครอบครัวได้
  • พ่อแม่สามารถตั้งกฏในการใช้งาน ตั้งเวลา และกำหนดแอปที่อนุญาตให้บุตรหลานใช้งานได้
  • ใช้ในการแชร์ตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบันให้กับสมาชิกในครอบครัวได้สะดวก

จุดที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ มันช่วยให้ตัดสินใจเลือกซื้อ Apple Watch ให้ผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะถ้าคุณต้องการใช้งานฟังก์ชันตรวจจับการล้ม แต่ไม่ต้องการซื้อ iPhone มาเพิ่มอีกเครื่อง เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้มือถือเครื่องเดิมตามความเคยชิน

แต่ฟังก์ชันนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างเหมือนกันครับ หนึ่งเลยคือมันจะรองรับเฉพาะบน Apple Watch Series 4/5/6 และ SE บวกกับต้องเป็นรุ่น GPS+Cellular เท่านั้นด้วย ประกอบกับตอนนี้รายละเอียดจากทาง operator ในไทยก็ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก ผมเลยยังไม่ได้ทดสอบ

 

การปรับแต่งหน้าปัด

นอกจากการเปลี่ยนรูปแบบหน้าปัดแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถปรับรายละเอียดต่าง ๆ ของหน้าจอแต่ละแบบได้ด้วย อย่างในตัวอย่างของภาพด้านบน จะเห็นว่าในหน้าปัด Infograph Modular เราสามารถปรับทั้งโทนสี และไอคอนโมดูลต่าง ๆ ที่แสดงบนหน้าจอได้ตามต้องการเลย ซึ่งผมก็เปลี่ยนจากรูปโลกมาเป็นไอคอน Spotify เพื่อใช้เป็นทางลัดเข้าไปยังแอป Spotify แทน เป็นต้น หรือถ้าต้องการนำรูปถ่าย รูปที่เซฟมาจากที่อื่นมาใช้เป็นภาพหน้าจอก็ทำได้เช่นกัน ทุกอย่างสามารถทำได้ทั้งจากบนแอป Watch ใน iPhone หรือจะทำจากในตัว Apple Watch ก็ได้

 

การออกกำลังกาย และการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ

เป็นหนึ่งในจุดขายของ Apple Watch ตลอดมาเลยทีเดียวครับ เกี่ยวกับการเป็นผู้ช่วยในการออกกำลังกาย ที่สามารถทำได้ทั้งเก็บข้อมูล การเป็นโค้ชช่วยกระตุ้น แถมในปีนี้ยังมีการเปิดตัวบริการใหม่อย่าง Fitness+ ที่เปรียบเสมือนเป็นการเข้าคอร์สออกกำลังกับเทรนเนอร์ได้จากที่บ้านอีกด้วย (ยังไม่เปิดให้บริการในไทย)

ในด้านของการเป็นผู้ช่วยเก็บข้อมูล เก็บผลความคืบหน้าของการออกกำลังนั้น Apple Watch Series 6 ทำได้อยู่ในระดับที่สมาร์ตวอทช์ในปัจจุบันสามารถทำได้ดี สามารถเลือกประเภทของการออกกำลังได้พอประมาณ แม้จะไม่ได้มีระดับหลายสิบหรือนับร้อยโหมด แต่ก็ครอบคลุมรูปแบบการออกกำลังยอดนิยมทั่วไปอยู่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีระบบช่วยเสนอแนะการเลือกประเภทของการออกกำลัง ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่ได้เปิดโหมดออกกำลัง (Workout) เอาไว้ด้วย

ระบบการเก็บข้อมูลด้านการออกกำลังกายและข้อมูลสุขภาพของ Apple นั้นทำออกมาได้ดูดีและเป็นระเบียบพอสมควรครับ โดยหลัก ๆ ที่เห็นกันบ่อยก็จะเป็นวงสี 3 วงคือวง Activity ที่แสดงถึงปริมาณ KCAL ที่ใช้ไป / ระยะเวลาที่ออกกำลังกายในวันนั้น / จำนวนครั้งในการลุกขึ้นยืน ซึ่งช่วยสรุปภาพรวม และช่วยกระตุ้นให้ลุกจากเก้าอี้มาเคลื่อนไหวได้ดี ส่วนการออกกำลังในแบบ Workout ก็จะเก็บข้อมูลแยกในแต่ละรอบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับการออกกำลังแต่ละแบบ เช่นการปีนเขา ก็จะมีข้อมูลเรื่องระดับความสูงมาให้ ในขณะที่การปั่นเครื่องปั่นจักรยานแบบ indoor ก็จะไม่มีการเก็บข้อมูลเรื่องระดับความสูงให้

ส่วนใครที่ต้องการเชื่อมโยง Apple Watch เข้ากับบริการหรือแอปจากค่ายอื่น ๆ ก็ทำได้ค่อนข้างหลากหลายเลย เช่น Nike+ หรือพวกแอปที่ช่วยเสริมจุดบอดของ Apple Watch เช่น แอปบันทึกอาหารและคำนวณแคลอรีขาเข้า ก็สามารถติดตั้งจากใน iPhone ได้อย่างง่ายดาย และส่วนใหญ่แล้วจะสามารถนำข้อมูลเข้าไปซิงค์กับแอป Health ใน iPhone ที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้ทั้งหมดได้ ซึ่งจุดนี้ต้องยอมรับว่า Apple ทำ ecosystem มาได้ค่อนข้างแข็งแรงกว่าคู่แข่งในกลุ่มสมาร์ตวอทช์ที่ช่วยในการดูแลสุขภาพอยู่พอสมควร

แต่ทั้งนี้ สำหรับใครที่ต้องการสมาร์ตวอทช์สำหรับการออกกำลังกายแบบจริงจัง อันนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ในอีกกลุ่มไปเลยครับ เช่นพวกของ Garmin อะไรพวกนั้นแทน เพราะสามารถเก็บข้อมูลการออกกำลังได้แม่นยำและหลากหลายกว่า ส่วน Apple Watch นี่จะค่อนข้างเหมาะกับคนที่ใช้ iPhone อยู่แล้ว ซึ่งต้องการสมาร์ตวอทช์ซักเรือนเพื่อมาใช้งานในชีวิตประจำวัน และช่วยในการดูแลสุขภาพในระดับพื้นฐานซะมากกว่า

 

แบตเตอรี่ของ Apple Watch Series 6

ตามสเปคของ Apple Watch Series 6 นั้นระบุว่าสามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้ราว 18 ชั่วโมง ซึ่งจากการแกะเครื่องของทางเว็บไซต์ iFixit ก็พบว่าในรุ่นตัวเรือน 44 มม. มีแบตเตอรี่ที่ความจุเพิ่มขึ้นจากใน Series 5 เล็กน้อยเท่านั้น เมื่อบวกกับตัวชิป S6 ที่อาจจะกินไฟใกล้เคียงรุ่นก่อนหน้า และเซ็นเซอร์วัดออกซิเจนในเลือดที่เพิ่มเข้ามา จึงทำให้ระยะเวลาการใช้แบตเตอรี่ของ Apple Watch Series 6 ไม่ได้ต่างจากรุ่นก่อนมากนัก

ซึ่งจากที่ผมใช้งานจริงตลอดเวลา มันก็อยู่ได้แทบทั้งวันจริง ๆ ครับ ถอดจากสายชาร์จประมาณ 9 โมงกว่า ก็ใช้งานไปจนถึงประมาณ 5 ทุ่มโดยที่แบตเหลืออยู่ไม่ถึง 20% จากนั้นก็นำไปชาร์จแล้วตื่นมาใช้งานตอนเช้าต่อได้

ส่วนถ้าต้องการใส่ทั้งคืนเพื่อใช้งานฟังก์ชัน Sleep tracking อันนี้คงต้องอาศัยการถอดไปชาร์จตอนระหว่างอาบน้ำแทนนะครับ หลังอาบเสร็จก็ชาร์จทิ้งไว้ซักพักนึง ค่อยเอาไปมาใส่อีกทีตอนก่อนนอนได้สบาย ตื่นมาตอนเช้าก็ถอดมาชาร์จก่อนอาบน้ำซะ

ด้านของการชาร์จแบตเตอรี่ ผมทดสอบด้วยการชาร์จแบตเตอรี่จากที่เหลืออยู่ 11% จนขึ้นมาเป็น 98% ใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ระหว่างชาร์จตัวเรือนก็ไม่ร้อนครับ

ปิดท้ายรีวิว Apple Watch Series 6

Apple Watch Series 6 เป็นสมาร์ตวอทช์ที่ Apple ปล่อยออกมาต่อยอดจาก Series 5 ได้อย่างลงตัว หน้าตารูปแบบเดิม อะไรที่ทำได้ดีอยู่แล้วก็ยังเก็บไว้อยู่ พร้อมเสริมฟังก์ชันใหม่เข้ามาให้ใช้งานได้หลากหลายครบครันยิ่งขึ้น ในขณะที่แบตเตอรี่ยังคงใช้งานได้ในระดับ 1 วันเท่าเดิม (ซึ่งจัดว่าค่อนข้างสั้น) ยังดีที่สามารถชาร์จไฟกลับเข้าไปได้เร็วขึ้นนิดนึง ทำให้ Apple Watch Series 6 เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการหันมาดูแลสุขภาพ โดยใช้ตัวช่วยที่สามารถซิงค์กับ iPhone ได้ราบรื่นที่สุดเมื่อเทียบกับสมาร์ตวอทช์ในกลุ่มเดียวกันในปัจจุบัน แต่อาจจะต้องมีวินัยในการชาร์จแบตเตอรี่ซักหน่อย ไม่อย่างนั้นได้เจอแบตหมดระหว่างวันกันบ้างแน่ ๆ

แต่ในแง่ของความละเอียด ความแม่นยำ ความลึกของข้อมูล แน่นอนว่ายังทำได้ไม่เท่ากับพวกอุปกรณ์ที่ทำมาเฉพาะทางกว่า ซึ่งต้องย้ำกันอีกทีนะครับว่า Apple Watch ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนพวกฟังก์ชันด้านสุขภาพต่าง ๆ นั้น ก็ทำมาเพื่อช่วยตรวจเช็คเบื้องต้น เพื่อการดูแลสุขภาพทั่วไปเป็นหลัก

ทีนี้ถ้าหากเทียบกันระหว่าง Series 6 กับรุ่นอื่นอย่างพวก SE หรือเทียบลงไปถึง Series 4/5 ที่ตอนนี้ยังพอมีขายอยู่บ้าง จะบอกว่าถ้างบถึงก็จัด Series 6 ไปเลยจะดีที่สุดครับ เพราะได้สเปคที่สดกว่า แบตเตอรี่ใหม่กว่า รองรับการสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์ที่ยาวนานกว่ารุ่นอื่น แต่ถ้าอยากได้ Apple Watch ที่ราคาย่อมเยาลงมานิดนึง ไปสอย SE เลยจะน่าสนใจกว่าครับ เพราะราคาของพวกรุ่นก่อนหน้านี้ยังจัดว่าสูงอยู่ ถ้าไม่ได้ส่วนลดที่เยอะจริง ๆ สู้สอย SE แล้วเก็บเงินส่วนเกินไว้ซื้อ Apple Care+ จะดีกว่า เพราะราคาของรุ่นเก่า มันบวกอีกนิดเดียวก็ได้ Series 6 แล้ว

Apple Watch Series 6 รับสายได้ไหม

มีไมโครโฟนในตัว ใช้กดโทรออก กดรับสายเมื่อเชื่อมกับ iPhone ได้ แบตเตอรี่แบบ li-ion 1.17Wh ใช้งานได้นานสุด 18 ชั่วโมง รองรับการชาร์จเร็วสุด 2.5W.

Apple Watch รุ่นไหนไม่ต้องพกโทรศัพท์

Apple Watch รุ่น GPS เป็น Apple Watch ที่มี GPS ในตัวที่สามารถติดตามตำแหน่งที่ตั้งได้ หมายความว่าเราสามารถใส่วิ่งหรือออกกำลังกาย โดยไม่ต้องพก iPhone ไปด้วยได้ เมื่อออกกำลังกายเสร็จข้อมูลก็จะถูกซิงค์ไปยัง iPhone เมื่อ Apple Watch อยู่ใกล้กับ iPhone.

Apple Watch จับ GPS ได้ไหม

เมื่อคุณใช้แอปค้นหาของฉัน Apple Watch ของคุณที่มี GPS และเซลลูลาร์สามารถใช้ GPS และการเชื่อมต่อ Wi-Fi หรือเซลลูลาร์ที่เชื่อถือได้เพื่อแสดงตำแหน่งที่ตั้งโดยประมาณ Apple Watch ที่มี GPS สามารถใช้ GPS และการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่เชื่อถือได้ เนื่องจาก Apple Watch Series 1 ไม่มี GPS คุณจะเห็นตำแหน่งที่ตั้งของ iPhone ที่จับคู่ ...

นาฬิกา Apple watch รับสายได้ไหม

รับสายใน Apple Watch ของคุณ: แตะปุ่มรับสายเพื่อพูดโดยใช้ไมโครโฟนและลำโพงในตัว หรืออุปกรณ์บลูทูธที่จับคู่กับ Apple Watch ของคุณ รับสายโดยใช้ iPhone หรือส่งข้อความตัวอักษรแทน แตะ จากนั้นแตะตัวเลือก ถ้าคุณแตะรับสายใน iPhone สายโทรจะถูกพักและผู้โทรจะได้ยินเสียงซํ้าไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะรับสายใน iPhone ที่จับคู่

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv แปลภาษาอาหรับ-ไทย lmyour แปลภาษา ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง แปลภาษาเวียดนามเป็นไทยทั้งประโยค Google Translate การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 หยน อาจารย์ ตจต เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf ห่อหมกฮวกไปฝากป้า คาราโอเกะ app แปลภาษาไทยเป็นเวียดนาม การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 บบบย ศัพท์ทหารบก แปลภาษาจีน การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 1 ขุนแผนหลวงปู่ทิม มีกี่รุ่น ชขภใ ตม.เชียงใหม่ เซ็นทรัลเฟสติวัล พจนานุกรมศัพท์ทหาร รหัสจังหวัด อําเภอ ตําบล รหัสประจำจังหวัด 77 จังหวัด สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม หนังสือราชการ ตัวอย่าง ห่อหมกฮวกไปฝากป้า คอร์ด อเวนเจอร์ส ทั้งหมด แปลภาษา มาเลเซีย ไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค ่้แปลภาษา Egp G no Reconguista Google map ขุนแผนหลวงปู่ทิมรุ่นแรก ข้อสอบภาษาไทยพร้อมเฉลย ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง ค้นหา ประวัติ นามสกุล จองคิว ตม เชียงใหม่ ชื่อเต็ม ร.9 คําอ่าน ดีแม็กมือสองราคาไม่เกิน350000 ตัวอย่างรายงานการประชุมสั้นๆ