ผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แนวคิดเรื่องการมีระบอบรัฐธรรมนูญในประเทศสยามค่อยๆ เติบโตขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-6-7 ทั้งจากเจ้านายและราษฎร ทั้งภายในประเทศและผู้ซึ่งได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคำกราบบังคมทูล ร.ศ.103, ปัญญาชนอย่างเทียนวรรณ, คณะ ร.ศ.130 จนมาเป็นผลสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยคณะราษฎร  ซึ่งแม้ชนชั้นปกครองจะมีการปรับตัวมาเป็นระยะ แต่ก็ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับทรงรำพันว่า “ฉันกลัวตายไปเจอะปู่ย่าตายายเข้าจริงๆ ท่านคงจะกริ้วว่ารับของท่านไว้ไม่อยู่เป็นแน่”

 

พิธี “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ภาพจาก //library.parliament.go.th/en/thai-parliament-museum

 

ภายหลังการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.2435 หรือที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรียกว่า “การพลิกแผ่นดิน” (Revolution) นั้น  อำนาจในการปกครองประเทศได้เปลี่ยนแปลงจากแบบเดิมที่อำนาจกระจัดกระจายอยู่ตามเจ้าประเทศราช และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มาเป็นการปกครองแบบอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งนับเป็นสมัยแรกที่สามารถเรียกว่าเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ได้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่  มีการจัดตั้งกรม 12 กรม (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวง) แทนระบบจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา) ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีการจัดตั้งระบบมณฑลเทศาภิบาลแทนการปกครองแบบหัวเมือง  และจัดตั้งสุขาภิบาลในระดับท้องถิ่นขึ้น  นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงตั้งองค์กรใหม่ ๆ ขึ้นอีกหลายองค์กร เช่น ตั้งเคาน์ซิลออฟสเตต (Council of State) เพื่อปรึกษาการบริหารราชการแผ่นดินและร่างกฎหมาย  ตั้งปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) เพื่อเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ตามที่ทรงพระกรุณา  และยังปรับปรุงระบบตุลาการให้เป็นเอกภาพภายหลังจากการมีกระทรวงยุติธรรม  และด้านการสืบราชสันตติวงศ์ ก็มีการตั้งสยามมกุฎราชกุมารขึ้นแทนกรมพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งใช้มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

โดยในรัชสมัยนี้ได้เริ่มมีการเรียกร้องให้มีระบบการปกครองที่ทัดเทียมนานาอารยประเทศมากขึ้น เริ่มจากใน พ.ศ.2427 (ร.ศ.103) มีคณะบุคคลคณะหนึ่ง ประกอบด้วยเจ้านายและขุนนางที่รับราชการในสถานทูต ณ กรุงลอนดอนและกรุงปารีส เช่น กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์, พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต, พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ, พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, นายนกแก้ว คชเสนี, หลวงวิเสศสาลี (นาค) เป็นต้น ทำหนังสือกราบบังคมทูลเสนอให้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็น “คอนสติติวชั่นแนลโมนากี” (Constitutional Monarchy) มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศ เนื่องจากการปกครองแบบเดิมนั้นเปรียบเสมือน “อุบะที่แขวนไว้ด้วยเชือกเส้นเดียว พวกอุบะซึ่งอาศัยเชือกอยู่นั้นถ้ามีอันตรายเชือกขาดก็ตกถึงพื้น ถึงแก่ช้ำเปลี่ยนแปลงรูปพรรณไปได้ต่างๆ ฤๅบางทีทำลายยับเยินสิ้นทีเดียว”

ดังนั้น “จึ่งจะต้องจัดการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีของเก่าให้เป็นประเพณีฤๅคอนสติติวชั่นใหม่ตามทางชาวยุโรป ฤๅให้ใกล้เคียงทางยุโรปที่สุดที่จะเป็นได้ … ทางที่ข้าพเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เป็นคอนสติติวชั่นยุโรปนั้นหาได้ประสงค์ที่จะให้มีปาลิเมนต์ในเวลานี้ไม่”

โดยที่ยังไม่ได้เรียกร้องให้มีรัฐสภาขึ้นในเวลานั้น  แต่เรียกร้องให้บุคคลเสมอกันในทางกฎหมาย มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และที่สำคัญคือ “เปลี่ยนแปลงยกถอนธรรมเนียมเก่าแลกฎหมายเก่า เพิ่มเติมธรรมเนียมแลกฎหมายบำรุงความเจริญขึ้นใหม่ แลจัดการเหล่านี้ให้มีประโยชน์ทั่วไปในอาณาเขต ให้ราษฎรมีความคิดรู้สึกตัวว่า การกดขี่แลอยุติธรรมต่าง ๆ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว จึ่งจะมีความรักต่อบ้านเมือง จนเห็นชัดว่ากรุงสยามนั้นเป็นเมืองของราษฎร แลจะต้องบำรุงรักษา เพื่อให้ได้ความสุขความเจริญความยุติธรรมเป็นโสดเสมอทั่วหน้ากันหมด”

ซึ่งพอจะสรุปข้อเรียกร้องทั้งหมดได้ดังนี้ (1) เปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองจาก Absolute Monarchy เป็น Constitutional Monarchy  (2) ตั้ง cabinet และกรมที่เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ทำงานได้อิสระภายในกรมและมีพระราชประเพณีแน่นอนในการสืบราชสันตติวงศ์  (3) ปิดช่องทางที่เอื้อให้มีสินบน กำหนดเงินเดือนให้เหมาะกับฐานะตำแหน่ง  (4) กำหนดภาษีให้เป็นที่ยอมรับทั้งไทยและฝรั่ง  (5) ปรับปรุงขนบธรรมเนียมกฎหมายแผ่นดินที่เห็นว่าขัดต่อความเจริญของบ้านเมือง  (6) ให้ราษฎรมีช่องทางในการเสนอความคิดเห็น  (7) จัดให้ข้าราชการมีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติครบถ้วน

อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นพ้องด้วย เนื่องจากยังไม่เห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสม ราษฎรยังไม่พร้อมต่อรูปแบบการปกครองใหม่ ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย พระองค์เห็นว่า สยามต้องการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดิน (government reform) ให้ข้าราชการทำงานกันอย่างเต็มหน้าที่ และต้องการผู้ทำกฎหมายที่จะมาร่างกฎหมายออกใช้บังคับ  ทรงเห็นว่า 2 สิ่งนี้เป็นความต้องการสำคัญยิ่งยวดในเวลานั้น ถ้าไม่ทำ 2 เรื่องนี้ก่อน ก็ป่วยการที่จะไปทำการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ

ทั้งยังทรงเห็นว่า “เขามีปาลิแมนต์ที่ประชุมใหญ่ มีโปลิติกัลปาตี คือพวกคิดราชการมีความเห็นต่างกัน สำหรับที่จะโต้ทานกันและกัน เมื่อคนเป็นอันมากได้พูดจาโต้ทานกันด้วยฝีปากจนสุดปัญญา การที่จะสำเร็จในปลายมือนั้นคงจะเป็นการที่ได้คิดเหมือนหนึ่งกับกรองจนใสละเอียดแล้ว ด้วยผู้คิดดีกว่ากันคงต้องชะนะกัน การอันนี้ก็เปนการมีคุณดีจริง แต่เปนการมีคุณดีมากแต่ในประเทศยุโรปซึ่งเกิดขึ้นโดยความจำเปนต้องมีขึ้น และได้ฝึกหัดต่อๆ มาหลายร้อยปี เปนรากเง่าพื้นเพแน่นหนาไม่ต้องรื้อถอนขุดคุ้ยมาก เปนแต่คิดกันตกแต่งดัดแปลงประดับประดาให้เปนทางดีสม่ำเสมอและจะดีขึ้นได้อีกเพียงเท่าใดให้ดีขึ้น และผู้ซึ่งคิดราชการนั้นเปนผู้มีวิชาความรู้ เปนผู้ได้เคยได้ยินได้ฟังแบบอย่างที่จะจัดการบ้านเมืองซึ่งได้ทำได้ทดลองมาเป็นพื้นเพชัดเจนตลอดทั้งสิ้นด้วย

แต่ถึงดังนั้นก็ไม่ได้ตั้งพร้อมกันทุกประเทศ และไม่เหมือนกันเสมอกันทุกประเทศได้ จะเพลินถือเอาความคิดของพวกที่เป็นผู้คิดราชการในประเทศยุโรปนั้น ๆ มาถือเปนความคิดของตัวมาจัดการในเมืองไทยก็จะเปนการไม่ถูกกันเลย ด้วยพื้นเพการงานทั้งปวงไม่เหมือนกัน เหมือนหนึ่งจะไปลอกเอาตำราทำนาปลูกข้าวสาลีในเมืองยุโรปมาปลูกข้าวเจ้าข้าวเหนียวในเมืองไทยก็จะไม่ได้ผลอันใด”

ขณะที่ในหมู่สามัญชน นักหนังสือพิมพ์อย่างเทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วัณณาโภ ได้เรียกร้องให้มีรัฐสภาขึ้นแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2448 ดังกลอนบทหนึ่งที่ว่า

“ไพร่เป็นพื้นยืนเห็นประเด็นชอบ   ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ

แม้นนิ่งช้าล้าหลังมิยังทำ             จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย”

อนึ่ง ในช่วงปลายรัชสมัย มีผู้อ้างว่า พระองค์ทรงมีพระราชปรารภว่าจะสละราชสมบัติให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สืบราชสมบัติ เมื่อพระองค์พระชนมายุครบ 60 พรรษา “ซึ่งเป็นเวลาที่จะถึงอีก 3 ปีข้างหน้านี้ ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญแก่พลเมืองในทันทีที่ได้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ในฐานะสืบตำแหน่งกษัตริย์ กล่าวคือ ฉันจะให้เขาให้ปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น อีก 3 ปีเท่านั้นคงไม่ช้านักมิใช่หรือ”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชย์แล้ว พระองค์ไม่ได้ทรงปรับปรุงระบบการปกครองของพระบรมราชชนก  เพียงแต่มีความเปลี่ยนแปลงในคณะเสนาบดีกระทรวงต่างๆ ของพระองค์ จากที่ส่วนมากเป็นเจ้านายมาเป็นขุนนาง โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ใกล้ชิดกับพระองค์  และยังไม่โปรดให้มีการประชุมเสนาบดีดังที่เคยปฏิบัติมาในรัชกาลก่อน ทรงใช้วิธีการปรึกษาและมีรับสั่งกับเสนาบดีบางคนเพียงลำพัง  และนอกจากการสร้างเมืองดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองเพื่อฝึกหัดระบอบประชาธิปไตยในหมู่ขุนนางแล้ว ก็ไม่ปรากฏความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่อย่างใด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ของสยามที่จะมีระบอบการปกครองแบบที่ “กระษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย” ว่า สยามไม่สามารถปกครองแบบที่มี “คอนสติตูชั่น” ที่จำกัดอำนาจของกษัตริย์ได้ เนื่องจากประชาชนไม่มีความรู้ และหากให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองแล้ว ประชาชนจะใช้อำนาจไปในทางที่ผิด มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ประชาชนไม่มีความสามารถที่จะถือและใช้อำนาจได้ทุกคน ถ้ามีการเลือกผู้แทน จะมีการล่อใจประชาชนด้วยการติดสินบนต่างๆ ได้ง่าย  ทรงเห็นว่าการมีนักการเมืองจะทำให้เกิดความแตกแยก เช่น การมี “ปาร์ตี สิสเต็ม” ทำให้การปกครองไม่มั่นคง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง “เคาเวอร์เมนต์” เสมอ ทำให้บ้านเมืองยิ่งชอกช้ำมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2454 เพียงปีแรกหลังครองราชย์ ได้มีคณะทหารกลุ่มหนึ่ง ประสงค์จะล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง แต่ประสบความล้มเหลว จนรู้จักกันในภายหลังว่า “กบฏ ร.ศ. 130”  พระองค์ได้แสดงให้เห็นความพยายามจะเป็นประชาธิปไตยด้วยการฝึกปรือข้าราชการผ่านเมืองจำลองดุสิตธานี ซึ่งมีการปกครองคล้ายกับประเทศจริง ๆ  ในทางสังคมก็ให้มีการออกหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ได้  แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังทรงไม่เห็นว่า ประเทศพร้อมที่จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย  ถึงกับเคยมีรับสั่งว่า การปกครองของไทยนั้นจะปกครองด้วยรูปแบบอื่นใดไม่ได้นอกจากด้วยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  และทรงเห็นว่าระบอบเดิมดีอยู่แล้ว ด้วยมี “พระราชาเป็นสง่าแห่งแว่นแคว้น” ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ไม่เหมาะสมแก่ประเทศ เพราะคนยังไม่มีความรู้

ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับราชสมบัติมาจากพระบรมเชษฐาธิราช พระองค์ได้พยายามเจริญรอยตามพระบรมราชชนกด้วยการนำเจ้านายชั้นสูงกลับมารับราชการอีกครั้งหนึ่ง เพียง 2 วันหลังครองราชย์ พระองค์ตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นเพื่อปรึกษาหารือเรื่องบริหารราชการแผ่นดินต่างๆ และภายหลังยังได้ปรับปรุงเสนาบดีสภาซึ่งมีมาแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีการเรียกประชุมอย่างสม่ำเสมอ  และได้มีการตั้งองคมนตรีสภาขึ้นใน พ.ศ. 2470  เพื่อ “ทดลองและปลูกฝังการศึกษาในวิธีการปรึกษา โต้เถียง ให้สำเร็จเป็นมติตามแบบอย่างที่ประชุมใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงได้ดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ใช้การได้เหมาะสมกับสภาพของบ้านเมืองที่มีอยู่ในเวลานี้ ถ้าถึงเวลาอันควรที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองของประเทศต่อไปก็จะทำได้โดยสะดวก”

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ราษฎรในยุคนั้นกำลังเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การมีรัฐธรรมนูญ การมีสภา ดังจะเห็นได้จากการถวายฎีกาจำนวนไม่น้อย เช่น นายภักดีกับนายไทย  นายนรินทร์ ภาษิต  นายถวัติ ฤทธิเดช เป็นต้น นอกจากนี้ ข้าราชการรุ่นเก่าอย่าง เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี  พลตรี พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม ก็ได้ทำฎีกาถวายความเห็นให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นเดียวกัน และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรับรู้ว่าจำเป็นที่จะต้องแก้ไขระเบียบทางการเมืองไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่อาจพ้นจากความรู้สึกแห่งสมบูรณาญาสิทธิ์ไปได้

พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ประชาชนชาวสยามนั้นยังไม่มีจิตวิญญาณแบบอารยชน (civil spirit) และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีอำนาจเพิ่มขึ้นในอภิรัฐมนตรีได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับการที่จะสนับสนุนคนชั้นต่ำให้เป็นปรปักษ์ต่ออำนาจในแผ่นดิน และเจ้านายรุ่นหนุ่มหลายองค์ซึ่งขยันขันแข็งและเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษก็คัดค้านด้วยเช่นกัน เนื่องจากไม่เชื่อว่า “หลักอุดมคติประชาธิปไตยเป็นความจริงของโลก หากเป็นหลักการที่ได้รับการเชิดชูว่าสูงเด่นในหมู่พวกแองโกลแซกซอนเท่านั้น ชาติอื่น ๆ ยังทำไม่สำเร็จเลย”

ดังนั้น การแก้ไขระเบียบทางการเมืองของพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเป็นไปอย่างจำกัดเป็นอย่างยิ่งเมื่อเปรียบกับความต้องการของราษฎร  และถึงแม้ว่าจะให้พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) ร่างรัฐธรรมนูญสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถวาย แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาเพื่อประกาศใช้แต่อย่างใด

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญขึ้นอีกครั้ง ราวปลายปี 2474 ทรงมีรับสั่งให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมร่างรัฐธรรมนูญ โดยท่านเสนาบดีได้โอนเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญไปให้กับนายเรย์มอนด์  บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)  โดยที่ทั้งร่างนั้นยังคงเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ดังมีข้อความประกาศไว้ชัดเจนว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์”  ถึงกระนั้น พระยาศรีวิสารวาจาและนายเรย์มอนด์  บี. สตีเวนส์ ก็เห็นว่า ยังไม่ควรให้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากปัญหาของประเทศอยู่ที่ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่รูปแบบการปกครอง  และราษฎรยังไม่มีความพร้อมต่อระบบรัฐสภา  โดยที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ออกพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร และสิ่งพิมพ์ พ.ศ. 2470 เพื่อตอบโต้การวิจารณ์ของสื่อมวลชนด้วย

ในสายตาของอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยามขณะนั้น เขาได้ประเมินสภาพการปกครองในสยามว่า ราษฎรสยามไม่เคยได้รับการฝึกฝนทางการเมือง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และรอพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น “รอไปอีกร้อยปีก็ไม่มีทางสำเร็จ”

ขณะที่ฝ่ายของราษฎรเองนั้น การที่สยามเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลังการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2435 ทำให้สำนึกของปัจเจกบุคคลเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ จากความจงรักภักดีต่อระบอบการปกครองของพระบรมราชจักรีวงศ์ที่มีการสืบราชสันตติวงศ์ในสายโลหิตเดียว ไปสู่ระบอบการปกครองที่มีหลักการจำกัดอำนาจ หลักการประกันสิทธิเสรีภาพ และเปิดโอกาสทางการเมืองสำหรับราษฎร

สำนึกใหม่นี้เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบเงินตรา การขยายตัวของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์  ที่สำคัญคือการขยายตัวของระบบราชการที่เกิดการให้เงินเดือนตามความรู้ความสามารถของตนเอง ทำให้เกิดความสำนึกเรื่องศักยภาพของตนเองในฐานะปัจเจกชนว่ามีพลังมากขึ้น มีการเผยแพร่สื่อสารความรู้และประสบการณ์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ประกอบกับมีสำนึกเรื่องการทำให้ “ชาติ” และ “บ้านเมือง” เจริญก้าวหน้า

นอกจากนี้ความคิดทางเวลาที่ถูกถ่ายทอดแก่ราษฎรพร้อมๆ ไปกับแนวคิดเรื่องชาติ คือความคิดที่ว่า เวลาของชีวิตมนุษย์นั้นไม่ยืดยาวนัก เป็นเวลาช่วงชีวิตในชาตินี้เท่านั้น ส่วนเวลาของสังคมหรือเวลาของชาติยาวนานกว่ามาก และได้ดำเนินมาในแนวทางที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการกระทำของมนุษย์  ชีวิตที่มีคุณค่าคือชีวิตที่อุทิศตนให้แก่การกระทำความก้าวหน้าแก่สังคมหรือชาตินั่นเอง

การมีสำนึกเชิงปัจเจกขยายตัวอย่างกว้างขวางในหมู่ข้าราชการและชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่ง นับเป็นภูมิปัญญาที่ขัดแย้งกับความคิดรากฐานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  โดยเฉพาะความรู้สึกที่ว่าพระมหากษัตริย์ไม่ใช่พระองค์เดียวเท่านั้นที่ควรเป็นผู้กำหนดชีวิตของประเทศว่าจะก้าวไปทางใด เกิดมีสำนึกว่าราษฎรสามัญก็มีศักยภาพพอที่จะมีส่วนในการกำหนดชาตะกรรมของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ให้ชาติมีเอกราช (หลังจากเสียเอกราชทางการศาลไปในการให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากสนธิสัญญาประเทศต่าง ๆ) และเจริญก้าวหน้าเสมอกับชาติอื่น  สำนึกทางสังคมเช่นนี้เองที่ผลักดันให้ข้าราชการหนุ่มกลุ่มหนึ่งในนามคณะราษฎรดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อความเจริญของประเทศ

ดังที่ก่อนหน้าคณะราษฎร มีคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งใน ร.ศ.130 ก่อการลงมือจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่ไม่สำเร็จ พวกเขาในกลุ่มแรกเห็นกันว่า “เรื่องความเจริญของชาตินี้ หากเราไม่ช่วยกันทำขึ้น ก็ใครเล่าเขาจะช่วยเรา ยิ่งจะต้องเปลี่ยนระบอบประเพณีการปกครองด้วยแล้ว คนมือเปล่าจะทำได้อย่างไร จำต้องเป็นผู้ถืออาวุธของชาติ คือทหาร ประกอบด้วยฝ่ายพลเรือนที่มีสมองปฏิวัติเข้ามาเป็นกำลังร่วมด้วย เพื่อจัดระบบการปกครองตามอารยสมัย”

นอกจากการแสดงตนด้วยสำนึกทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมของราษฎรสามัญชนแล้ว ยังปรากฏด้วยว่า ราษฎรบางคนเห็นว่า กลุ่มบุคคลผู้ครองอำนาจในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นผู้กีดขวางวิถีทางแห่งประวัติศาสตร์ ดังปรากฏในบทความเรื่อง “เห็นว่าจ้าวเป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญ” ในหนังสือพิมพ์ ราษฎร ความว่า “ถ้าปล่อยให้เจ้ามีอำนาจถือบังเหียนการปกครองอยู่ต่อไป พลเมืองก็คงจะยากจนอยู่อย่างเดิม จ้าวเป็นลูกตุ้มก้อนมหึมาที่ถ่วงความเจริญของประเทศ ไม่ให้ก้าวหน้าไปสู่ความเจริญได้ พวกเจ้านายมีแต่จะคอยสูบเลือดประชาชน … บ้านเมืองที่เจริญได้ก็ต้องอาศัยกำลังจากราษฎร แต่บ้านเมืองจะเจริญไปไม่ได้ในเมื่อราษฎรมีโรคผอมแห้งหรือถูกสูบเลือด”

โดยนัยนี้ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จึงไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนชนชั้นนำจากเจ้านายมาเป็นทหารและข้าราชการเท่านั้น หากยังหมายถึงการให้การรับรองหรือเริ่มต้นการรับรองสิทธิประโยชน์ของคนชั้นกลาง พ่อค้าระดับกลางและระดับย่อย รวมถึงการตอบสนองกับข้อเรียกร้องของราษฎร เปิดโอกาสให้ผู้นำท้องถิ่นในนามของการเป็นตัวแทนราษฎรมีปากมีเสียงในสภา

กล่าวได้ว่า การปรับตัวต่อการมีระบอบรัฐธรรมนูญของของฝ่ายชนชั้นปกครองตลอด 40 ปีของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นไปอย่างเชื่องช้า  จนในที่สุด เมื่อสถานการณ์สุกงอม ข้าราชการ ทหาร และพลเรือนกลุ่มหนึ่งในนาม “คณะราษฎร” ก็ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อนำประเทศสยามเข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญอันเป็นช่วงชีวิตใหม่ของประเทศ  ดังที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้ปรารภกับภรรยาก่อนวันก่อการว่า การที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้มิได้หมายจะช่วงชิงราชบัลลังก์หรือล้มราชบัลลังก์ แต่มุ่งหมายจำกัดอยู่เพียงว่าให้องค์กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาการปกครองแผ่นดิน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยและประชาราษฎรได้แสดงความคิดเห็นในราชการบ้านเมืองได้ แทนที่พวกผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจจะผูกขาดการแสดงความคิดเห็นไว้แต่ฝ่ายเดียว โดยไม่ฟังเสียงผู้น้อยเลย เช่นที่เป็นมาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมีแต่จะนำบ้านเมืองไปสู่ความหายนะ

นอกจากมีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้าคณะราษฎรแล้ว ยังมีแกนนำฝ่ายต่างๆ ได้แก่ นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ในฝ่ายทหารหนุ่ม  นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ในฝ่ายทหารเรือ  และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ในฝ่ายพลเรือน

คณะราษฎรที่นำการเปลี่ยนแปลง ได้ประกาศหลัก 6 ประการขึ้นเป็นอุดมการณ์ในการปกครองประเทศ ได้แก่ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ ความเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ดังนี้

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรดังที่เป็นอยู่)
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 5 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ มาอธิบายในภายหลังว่า คณะราษฎรมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ (1) เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ (2) พัฒนาชาติไทยตามหลัก 6 ประการ

ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในชื่อ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พุทธศักราช 2475” ขึ้น ซึ่งมีมาตรา 1 ระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”  แล้วจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นถึงความสงบของบ้านเมืองและเจตนาที่ดีของคณะราษฎรจึงได้รับเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ต่อไป  ดังมีพระราชหัตถเลขาตอบคณะราษฎรเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ตอนหนึ่งว่า “ความจริง ข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่เปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะเป็นตัวเชิดเพื่อคุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก”

ทั้งยังมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ผู้สำเร็จราชการพระราชวังฯ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ตอนหนึ่งว่า “พระราชวงศ์ควรช่วยกันรักษาความสงบโดยละม่อมละไม เพราะความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งความดำริของฉัน ให้เจ้าคุณทูลพระบรมวงศานุวงศ์และชี้แจงผู้จงรักภักดีอย่ากระทำการใด ๆ ซึ่งไม่สงบราบคาบ แม้เพียงใช้กิริยาวาจาเสียดสีก็มิบังควร”

ในพิธี “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 นั้น มีเกร็ดที่น่าสนใจ คือ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ว่า “ให้ยกพระแท่นมนังคศิลาซึ่งเป็นของพระร่วงเจ้าไปเสียในวังหลวง, อย่าให้ท่านประทับ และพระสังวาลของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ก็อย่าหยิบมาให้ท่านทรงในวันนั้น, เพราะพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์นี้ท่านได้กู้ชาติบ้านเมืองมา. ฉันจะเป็นผู้ที่จะพาไป…, จึงไม่สมควรจะนั่งและใส่ของๆ ท่าน”

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงรำพันอยู่เสมอด้วยว่า “ฉันกลัวตายไปเจอะปู่ย่าตายายเข้าจริง ๆ ท่านคงจะกริ้วว่ารับของท่านไว้ไม่อยู่เป็นแน่”

 

 

เชิงอรรถ

ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, “คำนำ,” ใน พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557), น. 6.

ที่สุดเป็นกรมพระนเรศวรฤทธิ์  ต้นราชสกุล กฤดากร.

ที่สุดเป็นกรมขุนพิทยาลาภพฤฒิธาดา  ต้นราชสกุล โสณกุล.

ที่สุดเป็นสมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เป็นพระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และต้นราชสกุล สวัสดิวัตน.

บรรดาศักดิ์สุดท้ายเป็นพระยาไชยวิชิตสิทธิสาสตรา ตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่า  พระยาไชยวิชิตฯ (นาค) เป็นญาติห่าง ๆ กับนายปรีดี พนมยงค์  และเป็นบิดาของพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ผู้เป็นบิดาของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์.

กรมศิลปากร, กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารรัชกาลที่ 5, บ. 2/16. อ้างถึงใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต (รวบรวม), เอกสารการเมือง–การปกครอง ไทย พ.ศ. 2417–2477, (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2517), น. 58.

เพิ่งอ้าง, น. 59-60.

เพิ่งอ้าง, น. 61.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช, แผนพัฒนาการเมืองฉบับแรกของไทย คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103, (กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, 2538), น. 95-97.

เชาวนะ ไตรมาศ, การเมืองในรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพมหานคร : สถาบันนโยบายศึกษา, 2551), น. 38.

กรมศิลปากร, กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารรัชกาลที่ 5, บ. 1/16. อ้างถึงใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต (รวบรวม), เอกสารการเมือง–การปกครอง ไทย พ.ศ. 2417–2477, น. 79, 81.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พระบรมราชาธิบายเรื่องสามัคคี, พระโอรสพระธิดาและพระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร พระบิดา โปรดให้จัดพิมพ์ในงานพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ครบ 84 พรรษา, (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2489), น. 4-5.

“คำนำสำนักพิมพ์,” ใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, น. (9).

วิชัย ประสังสิต, แผ่นดินพระปกเกล้า, (พระนคร: อักษรสาสน์, 2505), น. 47.

การสละราชสมบัตินั้นเป็นแนวพระราชดำริเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนก ที่ทรงปรารภเป็นการภายในว่า เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงผนวชแล้ว จะทรงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน ส่วนพระองค์นั้นจะเสด็จออกเป็น “พระเจ้าหลวง” ไปประทับ ณ พระราชวังสราณรมย์ คอยช่วยแนะนำกำกับราชการต่อไป  ดู ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2556), น. 46. อย่างไรก็ดี พระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ มิได้ทรงเป็น “พระเจ้าหลวง” เช่นที่มีพระราชประสงค์ เพราะสวรรคตก่อนที่จะถึงเวลานั้น.

มัทนา เกษกมล, “การเมืองและการปกครองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 14, 3-4 (2518), น. 94.

  มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินทรศก 130 เล่ม 2 วันที่ 13 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม,” ใน จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 1 สิงหาคม 2517, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2517), น. 49-59 อ้างถึงใน ณัฐพล ใจจริง, “บทนำเสนอ,” ใน เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ. 130,  (กรุงเทพฯ: มติชน, 2556), น. 42.

หจช., ร.7 รล.7/3 เรื่องพระราชบัญญัติองคมนตรี พระราชดำรัสของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ในวันเปิดประชุมกรรมการจัดระเบียบองคมนตรีสภา 11 เมษายน 2470.

ชัยอนันต์ สมุทรวณิช, การเมือง–การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2523), น. 52.

หจช., ร.7 รล.6/6 เรื่องเปิดประชุมองคมนตรีสภา พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 30 ธันวาคม 2470.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, น. 116.

หจช., ร.7 ต.21/11, “พระราชกระแส,” 1 มกราคม 2471.

หจช., ร.7 รล.6/4 การประชุมพิจารณาบันทึกของ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร, 20 มิถุนายน 2470.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, น. 116.

หจช., ร.7 รล.6/3 สำเนาการประชุมกรรมการองคมนตรี, 11 เมษายน 2470.

อรรถจักร สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555), น. 291.

เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), น. 212.

หจช., ร.7 ม.1.3/142 An outline of changes in the form of government 2474.

เชาวนะ ไตรมาศ, การเมืองในรัฐธรรมนูญ, น. 40.

ยาสุกิจิ ยาตาเบ, บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 : การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม, แปลโดย เออิจิ มูราชิมา และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550), น. 16.

อรรถจักร สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475, น. 249.

สำนึกดังกล่าวนี้แม้ในหมู่พระอนุวงศ์อย่าง ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ก็รู้สึกเช่นกันดังบันทึกที่ทรงนิพนธ์ไว้ใน พ.ศ. 2486 ว่า “ข้าพเจ้าเองโชคเคาะให้ไปยุโรปมาเพียง 4 เดือน ได้เห็นได้ฟังมาครู่เดียวยังรุ่มร้อนอยากได้อยากมีในเมืองของตนบ้าง, และกลับมาคิดแล้วคิดเล่าว่ายอมทุกอย่างที่จะฟันฝ่าความลำบากเพื่อทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ผู้หญิงไทย”[30] จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก ถ้าสามัญชนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ไปเล่าเรียนในต่างประเทศ จะมีสำนึกที่อยากจะกลับมาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศของพวกเขา เพราะไม่ได้ไปอยู่กันเพียงคนละไม่กี่เดือน แต่คนละหลายปีเลยทีเดียว  ดู พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ., พระราชจักรีวงศ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561), น. 25.

อภิญญา รัตนมงคลมาศ และวิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, คนไทยกับการเมือง ปีติฤๅวิปโยค,(กรุงเทพมหานคร : สถาบันนโยบายศึกษา, 2547), น. 22-23. และ อรรถจักร สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475, น. 210-244.

เหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ. 130, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2556), น. 42.

ลุงสิ่ว, “เห็นว่าจ้าวเป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญ,” ราษฎร, 9 มกราคม 2471 อ้างถึงใน อรรถจักร สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475, น. 297.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, น. 124.

กุหลาบ สายประดิษฐ์, เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475, พิมพ์ครั้งที่ 8, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2557), น. 95.

“ประกาศคณะราษฎร,” ใน หนังสือสนุก, ส. ศิวรักษ์ (บรรณาธิการ), พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2561), น. 229-230.

ปรีดี พนมยงค์, “คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน,” ใน แนวคิดประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 77.

บุญเลอ เจริญพิภพ (รวบรวม), ประมวญเหตุการณ์และภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร, (พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2475), น. 20-21 และ 55.

พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ., สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559), น.137-139.

 

ที่มา: แก้ไขเล็กน้อยจาก กษิดิศ อนันทนาธร, “ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475–2490,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560), น. 41-51.

Related Posts

  • 2475 ยังสำคัญแค่ไหนในยุคอินเทอร์เน็ต

    วรรษกร สาระกุล ชวนมอง 2475 ผ่านโลกของข้อมูล เมื่อสถิติผู้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้สะท้อนความสนใจของผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ

  • เมื่อการอภิวัฒน์ 2475 ถูกอ้างว่าชิงสุกก่อนห่าม

    ชวนฟังทรรศนะจากลูกชายผู้นำคณะราษฎร เมื่อชนชั้นนำชอบอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถนายน 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม

  • อภิวัฒน์สยาม 2475 : อดีต ปัจจุบัน อนาคต

    101 ขอนำเสนอซีรีส์ “อภิวัฒน์สยาม 2475” เพื่ออ่านอดีต เข้าใจปัจจุบัน และมองอนาคตของประชาธิปไตยไทยในมิติการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรม

  • การปฏิวัติ 2475 ที่โรงเรียนไม่ได้สอน

    ในสังคมที่ประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือของการควบคุมกล่อมเกลาความคิดคนมากกว่าเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันอดีตของสังคมตนเอง ประจักษ์ ก้องกีรติ สำรวจตรวจสอบมายาคติ 4 ประการเกี่ยวกับ 2475 พร้อมนำเสนอประวัติศาสตร์ 2475 ฉบับโรงเรียนไม่ได้สอน

  • ว่าด้วยข่าวใหญ่ ความในใจทั่นนายพล 2475 ซ้ายจัด คอมมิวนิสต์และม็อบฮ่องกง

    อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึง 'ข่าวใหญ่' ในช่วงที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่สถานการณ์ในยุโรป สหรัฐฯ อเมริกาใต้ ฮ่องกง เรื่อยมาถึงไทย อันมีทั้งจุดร่วมและจุดต่างที่น่าใคร่ครวญ

  • ราษฎรปลดแอก: สยามไม่ใช่คอกควาย!

    กษิดิศ อนันทนาธร ย้อนอ่านกระแสการตื่นรู้ของราษฎรไทยในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผ่านบทความบนหน้าหนังสือพิมพ์สมัยนั้นที่ปรากฏปัญญาชนออกมาท้าทายอำนาจรัฐและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างกล้าหาญ

รัฐธรรมนูญ สถาบันกษัตริย์ การอภิวัฒน์ 2475 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย กษิดิศ อนันทนาธร

  • Facebook iconFacebook
  • Twitter iconTwitter
  • LINE iconLine

เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร

อดีตผู้จัดการโครงการ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บรรณาธิการหนังสือหลายเล่ม โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรีดี พนมยงค์ เสรีไทย และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ กษิดิศเป็นคนหนุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทย และรักการเขียนประวัติสามัญชนคนสำคัญของสยาม

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv แปลภาษาอาหรับ-ไทย lmyour แปลภาษา ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง แปลภาษาเวียดนามเป็นไทยทั้งประโยค Google Translate การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 หยน อาจารย์ ตจต เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf ห่อหมกฮวกไปฝากป้า คาราโอเกะ app แปลภาษาไทยเป็นเวียดนาม การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 บบบย ศัพท์ทหารบก แปลภาษาจีน การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 1 ขุนแผนหลวงปู่ทิม มีกี่รุ่น ชขภใ ตม.เชียงใหม่ เซ็นทรัลเฟสติวัล พจนานุกรมศัพท์ทหาร รหัสจังหวัด อําเภอ ตําบล รหัสประจำจังหวัด 77 จังหวัด สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม หนังสือราชการ ตัวอย่าง ห่อหมกฮวกไปฝากป้า คอร์ด อเวนเจอร์ส ทั้งหมด แปลภาษา มาเลเซีย ไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค ่้แปลภาษา Egp G no Reconguista Google map ขุนแผนหลวงปู่ทิมรุ่นแรก ข้อสอบภาษาไทยพร้อมเฉลย ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง ค้นหา ประวัติ นามสกุล จองคิว ตม เชียงใหม่ ชื่อเต็ม ร.9 คําอ่าน ดีแม็กมือสองราคาไม่เกิน350000 ตัวอย่างรายงานการประชุมสั้นๆ