เปิดพอร์ตหุ้น กสิกร pantip

เรื่องมีอยู่ว่า ผมกำลังจะชวนคุณพ่อไปลงทุนกองทุน แกก็มีคำถามมากมายเหลือเกิน ด้วยความที่แกผ่านวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ มาแล้วมากมาย เป็นคนที่เก็บหอมรอมริบเงินมาเองตลอด ไม่เคยได้จริงจังกับการลงทุน คำถามแกก็อาทิเช่น “เงินนี่ผู้จัดการกองทุนเอาไปบริหาร เขาจะเอามาแบ่งเราเหรอ? จะโกงเราไหม?”, “เล่นหุ้นเองได้ จะไปลงทุนเองทำไม พวกนี้เก็บค่าต๋ง (ค่าธรรมเนียม) ไปเองหมดเปล่า?”

ย้อนกลับมาดูตัวผมเองเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วก่อนจะเริ่มลงทุน เราก็มีคำถามมากมายเหมือนกัน อาจจะไม่ใช่แนวที่คุณพ่อถาม แต่เป็นแนวเด็กวัยรุ่นนั่งหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเอง เปิด Pantip ห้องสินธรบ้าง Google บ้าง ตอนแรกก็อยากลองเล่นหุ้นดู ก็พบว่ามีศัพท์มากมายเต็มไปหมด ไหนจะ “PE หุ้นตัวนี้สูงไปหรือเปล่า” “ติดดอยค่ะ ทำอย่างไรดี” ตอนนั้นก็ใช้เวลา 3-4 เดือนนะ นั่งถามเพื่อน หาหนังสือมาอ่าน กว่าจะเริ่มคุยกับเขารู้เรื่อง

ไหนๆ จะไปอธิบายให้พ่อฟังแล้ว ก็เลยรวบรวมเป็นบทความมาเลย คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านท่านอื่นๆไปในตัวครับ โดยบทความนี้จะขอเน้นไปที่การลงทุนใน “กองทุนรวม” ก่อน ซึ่งน่าจะเหมาะกับมือใหม่มากกว่า มาดูกันว่าทำไม…

สารบัญ Highlight

1.   

2.   

3.  

4.  

5.  

สร้างแผนและเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนกว่า 1,000 กอง จาก 22 บลจ. ครอบคลุมทุกบลจ. ในประเทศไทย สร้างแผนและเปิดบัญชี คลิก: //finno.me/open-plan

กองทุนรวมคืออะไร?

ผมไป Google มา ขึ้นมาลิ้งค์แรกเป็นของตลาดหลักทรัพย์1 เขาเขียนไว้อย่างนี้ครับ

กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ การระดมเงินลงทุนจากคนจำนวนมากและนำไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อตั้งเป็น กองทุนขึ้นมา โดยเงินที่ได้รับนั้นจะมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพ นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามนโยบายของแต่ละกองทุน ให้ได้รับผลตอบแทนที่งอกเงย แล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนที่ลงทุน

โดยส่วนมากเนี่ยจะมี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (ต่อไปนี้จะเรียกว่า บลจ.) ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งบริษัทตั้งออกมาแยก ๆ ที่เราไม่คุ้นชื่อ เช่น บลจ. ทาลิส จำกัด , บลจ แมนูไลฟ์(ประเทศไทย) จำกัด (เจ้านี้มีประกันด้วยนะ) หรือเป็น บลจ. ที่มีชื่ออยู่ใต้ธนาคารที่เราคุ้นหูกันดีเช่น บลจ. กสิกรไทย จำกัด, บลจ. กรุงศรี จำกัด เป็นต้น (ถ้าสนใจดูรายชื่อทั้งหมด คลิก) บลจ. เหล่านี้ก็จะมีการออกกองทุนของตัวเองออกมา ให้เรานำเงินของเราเนี่ยไปให้เขา เขาก็จะเอาเงินของเราไปลงทุนอีกที ตามแต่นโยบายของกองทุนนั้น ๆ จะวางไว้

ทีนี้คำถามบางคนบอกว่า “เอ เราก็เอาเงินไปลงทุนเองก็ได้หนิ ตลาดหลักทรัพย์ก็มี ?” …

ทำไมมือใหม่ ควรลองเริ่มลงทุนในกองทุนก่อน?

ผมก็เลยไปสรุปเหตุผลมาให้แล้วครับ ได้มา 3 ข้อใหญ่ ๆ ดังนี้

1. กองทุนรวมมีมืออาชีพดูแแลตลอดเวลา

คนเหล่านี้เป็นผู้จัดการกองทุนที่แต่ละบลจ.ต้องไปสรรหาจอมยุทธ์มือดี เพื่อจะให้มั่นใจว่าเงินทุกบาท ทุกสตางค์ของคุณเนี่ย จะถูกนำไปลงทุนให้งอกเงย คิดดูครับ คนธรรมดาอย่างพวกเรา ส่วนมากต้องทำงานกัน 5 วัน หาเวลาว่างมาดูหรือหาความรู้การลงทุน เต็มที่ก็เสาร์ อาทิตย์ หรือตอนเย็น ต่างกับพวกคนเหล่านี้ ที่ส่วนมากเรียนจบมาด้านนี้โดยเฉพาะ ใช้เวลาทำงานทั้งชีวิตอยู่กับเรื่องพวกนี้ เรียกว่าระดับฝีมืออาจจะต่างกันเยอะ

2. กองทุนรวมทำให้รายย่อยอย่างพวกเราเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้มากขึ้นครับ

เอาง่าย ๆ สมมติผมอยากซื้อหุ้น Facebook ไอ้หุ้นตัวนี้เนี้ย อยู่ในตลาดหุ้นอเมริกา ผมต้องหาวิธีไปเปิดพอร์ตการลงทุนที่ลงในหุ้นอเมริกาได้ซึ่งขั้นต่ำก็ไม่ใช่น้อยๆ นอกจากนี้เราถือเงินบาทอยู่ พี่แกเขาขอเป็นดอลลาร์ เราก็ต้องไปหาแลกเงินดอลลาร์ไปให้เขาอีกเรียกได้ว่ายุ่งยากไปหมด (บางคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสังเกตเห็นได้ด้วยว่า ตรงนี้จะมีเรื่องค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลต่อผลตอบแทนเราอีก เดี๋ยวผมอธิบายให้อีกทีครับ) โชคดีครับในไทย บางบลจ. ได้มีออกกองทุนที่นำเงินเราไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศอีกทีนึงให้ แบบขั้นต่ำถูก ๆ และดูแลเรื่องค่าเงินให้เราอีกด้วยครับ นี่ยังไม่รวมไปถึงสินทรัพย์บางอย่างที่มีกองทุนนำเงินเราไปลงทุนได้เช่น ทองคำ น้ำมัน อีกนะ

3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี

บางคนคงเคยได้ยิน SSF, RMF มาบ้าง แน่นอนการซื้อกองทุนเหล่านี้ทำให้คุณสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ แล้วเผลอๆ ได้ลงทุนให้งอกเงยอีกต่างหาก แต่ข้อแม้คือลงทุนไปแล้ว ยังห้ามเอาเงินออกมาใช้ก่อน ตามกำหนดเช่น SSF 10 ปี หรือ RMF ต้องอายุถึง 55 ก่อน เป็นต้นครับ

Update: นักลงทุนสามารถซื้อกองทุน SSF-RMF กับ FINNOMENA ได้แล้ว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและเริ่มต้นลงทุนได้ที่ //finno.me/tax-saving-fund1452

ที่จริงแล้ว กองทุนยังมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น สภาพคล่องที่ดีกว่า หรือ มีการดูแลผลประโยชน์จาก กลต. แต่ผมขอละไว้ก่อน เอาประมาณนี้ก็น่าจะพอหอมปากหอมคอแล้วครับ

ทีนี้ ขอกลับไปที่คำถามของคุณพ่อก่อน เพื่อไม่ให้ค้างคาใจ อ่ะ ข้อแรกพ่อถามว่า

“เงินนี่ผู้จัดการกองทุนเอาไปบริหาร เขาจะเอามาแบ่งเราเหรอ? จะโกงเราไหม?”

คำตอบคือ แบ่งสิ เขาโกงเราไม่ได้เน่อ เพราะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า กลต.) จะมีออกกำหนดกฎเกณฑ์ให้ บลจ. ทุกที่มีการคำนวณ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value ต่อไปนี้จะขอเรียกว่า NAV) และเปิดเผยออกมาให้ทุกคนรับทราบกัน ทุกสิ้นวัน หน้าตาเป็นแบบนี้

BTP – กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล
ข้อมูลวันที่ 24 พ.ย. 2563

โดย NAV เนี่ยคือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิตามราคาตลาด ในกองทุนที่ลงทุนในหุ้นก็จะเป็นมูลค่าของหุ้นที่กองทุนถืออยู่ทั้งหมดนี่แหละครับ คำนวณจากราคาหุ้น ณ วันนั้น (หักด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวม แต่ในที่นี้ ละไว้ในฐานที่เข้าใจก่อน)

ทีนี้ เราเอาเงินให้เขา แล้วจะเอาเงินออกมาได้อย่างไร กำไร ขาดทุนดูยังไง ผมขออธิบายง่าย ๆ แบบนี้ครับ เวลาเราไปซื้อกองทุนปกติเนี่ย เขาจะให้เราซื้อเป็นหน่วยตามราคา NAV อย่างสมมติในรูป NAV 43.4456 บาท ถ้าเราลงทุน 50,000 บาทก็แปลว่า เราได้จะได้หน่วยลงทุนประมาณ 50,000 หาร 43.4456 บาท = 1,150.86 หน่วย มาถือไว้ในบัญชี

ทีนี้ พอเวลาผ่านไป หุ้นที่กองทุนถืออยู่มันขึ้นมา NAV ของกองทุนก็อาจจะขึ้นไป อาจไปเป็น 50 บาท ซึ่งจะแปลว่าหน่วยลงทุนที่เราถืออยู่ ตอนนี้มีมูลค่า 50 คูณ 1,150.86 = 57,543 บาท

ถ้าขายวันนั้นก็ได้กำไรเลย 57,543 – 50,000 = 7,543 บาท

อันนี้ย้ำอีกครั้งเป็นการคิดแบบง่าย ๆ ที่จริงมีเรื่องค่าธรรมเนียม หรือ กองทุนบางประเภทมีการจ่ายปันผล ออกมาอีก เดี๋ยวจะอธิบายกันต่อไป

แต่สังเกตได้ว่า เขาเอาเงินเราไป ทุกอย่างต้องแสดงออกมาให้ชัดเจนให้กลต. ว่าเงินไปอยู่ที่ไหน คิดเป็นมูลค่าเท่าไร

ไปต่อกันที่คำถามที่สอง

“เล่นหุ้นเองได้ จะไปลงทุนเองทำไม พวกนี้เก็บค่าต๋ง (ค่าธรรมเนียม) ไปเองหมดเปล่า?”

คำตอบคือใช่ครับ บลจ. ต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียม เขาไม่ได้ทำองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรครับ ฮ่า ๆ โดยเป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน ผู้จัดการกองทุน หรือ ค่าระบบ นั่นเอง (ตรงนี้ขอแอบบอก ที่จริงประเทศไทยเนี่ย ค่าธรรมเนียมถือว่าถูกมากนะครับ อยู่กันแถว 1-2% ต่างประเทศนี่ 3-4% อย่างต่ำ)

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: ตรงนี้บางคนอาจจะส่งสัยว่า กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศบางกอง นำเงินของเราไปลงใน กองทุนแม่ที่อยู่ต่างประเทศอีกที (Feeder Fund) แต่ฝั่งเราคิดค่าธรรมเนียมถูกกว่าลงเองกับกองแม่ตั้งเยอะ – ที่เขาทำได้ก็เพราะว่า บลจ. สามารถดีลได้แบบค่าธรรมเนียมสำหรับนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่นั่นเอง เป็นข้อดีของพวกเราหล่ะ

วิธีการหาข้อมูลค่าธรรมเนียม ก็เข้าไปที่เว็บ FINNOMENA Fund ก็ได้ครับ คลิกที่นี่

จากนั้นลองใส่ชื่อกองทุนที่สนใจ หรือ ลองใส่ว่า “BTP” ตามในรูปก็ได้ครับ

จากนั้นกดไปที่ Tab “ค่าธรรมเนียม”

BTP – กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล
ข้อมูลวันที่ 24 พ.ย. 2563

ก็จะพบรายละเอียดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของกองทุน

โดยเบื้องต้นผมขอแบ่งค่าธรรมเนียมออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ

1. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บรายปี

จะเป็นค่าธรรมเนียมที่อยู่ส่วนบนของรูป สัดส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือ Management Fees ที่จะเก็บเป็นรายปี หักออกจาก NAV ของเราทุก ๆ วันนั่นเอง อย่างในรูปก็จะเห็นว่าเก็บอยู่ที่ 1.60% และเมื่อรวมค่าธรรมเนียมเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น ก็อยู่ที่ 1.80% ต่อปี ซึ่งตรงนี้มันจะสะท้อนอยู่ใน NAV สมมติถ้าวันนึง สินทรัพย์ที่ไปลงทุนไม่ขยับ แต่ NAV แอบลดลงก็เกิดจากค่าใช้จ่ายตรงนี้นั่นเอง

2. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเมื่อเกิดธุรกรรม เช่น ซื้อ ขาย สับเปลี่ยน

จะเป็นค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นเมื่อมีธุรกรรมขึ้น ส่วนมากกองทุนก็อาจจะมีค่าธรรมเนียมขาย กล่าวคือ เราขอซื้อหน่วยลงทุนเขา 100 บาท เขาขอหักออกไป 1% หรือ 1 บาทเป็นต้น หรือในที่นี้ตามรูปข้างต้นจะเป็นค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน หมายความว่า เราไปขายกลับไปให้บลจ. ขายได้เท่าไร บลจ. ขอเก็บออกไป 1% นั่นเอง

จะเห็นได้ว่ามีหลักการเก็บชัดเจน แสดงให้ดูอย่างตรงไปตรงมาครับ

วิธีง่าย ๆ ในการเลือกกองทุน กองทุนไหนดี?

ปัญหาโลกแตกครับ บางคนอาจจะเริ่มจาก เพื่อนบอก แฟนบอก พนักงานธนาคารแนะนำ ฟังผ่านวิทยุ หรือ จะนั่งเทียนมาก็ว่าไป ฮ่า ๆ ผมขอยกตัวอย่างวิธีมาหนึ่งวิธีแล้วกันครับ

เลือกลงทุนแบบจัดพอร์ต (ลงหลาย ๆ กองแยกกันไป)

อารมณ์ประมาณ ส่วนนี้ไปลงหุ้นไทยบ้าง ส่วนนั้นลงทองคำบ้าง ส่วนที่เหลือไปลงพันธบัตรรัฐบาลบ้าง ซึ่งระยะยาวการจัดสัดส่วนสินทรัพย์แบบนี้ เป็นการลงทุนที่ถูกต้องตามหลักซึ่งช่วยให้ลดความผันผวนในพอร์ตได้ และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว แต่ว่าถ้าพูดกันในบทความนี้เกรงว่าจะยาวไป มีน้องเขียนไว้ดี ไปตามอ่านต่อได้ที่ “ความผันผวน” หนีไม่ได้ แต่ลดได้ ด้วยการจัดพอร์ตแบบ Global Asset Allocation

สรุปสั้น ๆ ให้คือ

1. จัดสัดส่วนกองทุนเป็นส่วน ๆ โดยแบ่งตามประเภทสินทรัพย์

2. ในแต่ละสัดส่วนประเภทสินทรัพย์ ก็ไปหากองทุนว่าควรลงกองไหน

3. แล้วก็ลงทุนตามสัดส่วนที่วางไว้

มาเริ่มกันที่การจัดสัดส่วนก่อน ตอนนี้หลายท่านอาจจะงงว่าจะเริ่มยังไง บางท่านอาจมีประสบการณ์การลงทุนมาบ้างอาจจะใช้วิธีเข้าไปหาอ่านข่าวตาม Bloomberg.com, Investing.com, ข่าวหรือบทวิเคราะห์ตามบลจ. ต่าง ๆ ที่ออกมาหรือตามหน้าเว็บอย่าง FINNOMENA ก็ได้ครับ ซึ่งก็ควรจะจัดให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของตนเอง ความเสี่ยงที่รับได้ เงินก้อนนี้สำคัญมากน้อยแค่ไหน

แอบช่วยเขาโฆษณานิด ถ้าอยากลองให้เขาจัดให้ลองไปดูที่ finnomena.com/port ได้ครับ มีหลายแบบให้เลือกสรร เข้าไปจัดเล่น ๆ แอบดูว่าจะลงอะไรก่อนก็ได้ครับ มันฟรี!

แหม่ะ เกือบลืม หลายคนสงสัย แล้วประเภทสินทรัพย์เนี่ยมันมีอะไรบ้าง ยังไม่รู้เลย จะให้จัดพอร์ตละ โอเค วันนี้ผมมาเปิดทุกสินทรัพย์ให้ดูตามหลักการแบ่งของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนของไทยกันดีกว่า ต่อไปนี้จะเรียกว่า AIMC นะครับ ขออนุญาตอ้างอิงตามเว็บไซต์หลัก2

กลุ่มตราสารทุน (Equity)
เช่นหุ้นนั่นเอง เป็นตราสารที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของบริษัทนั้นๆ โดยสถิติที่ผ่านมา เป็นตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงก็สูงด้วยเช่นกัน

กองทุนตราสารทุนในประเทศ / ต่างประเทศบางส่วน – Equity Small – Mid Cap
กลุ่มนี้เป็นกองทุนที่ลงในหุ้นไทยบริษัทที่มีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่เกิน 80,000 ล้านบาท ในรอบปีบัญชี มากกว่าหรือเท่ากับ 80% ขึ้นไป เน้นหุ้นขนาดเล็ก และ ขนาดกลางที่มีความผันผวนสูงแต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น

กองทุนตราสารทุนในประเทศ / ต่างประเทศบางส่วน – Equity Large Cap
ตรงข้ามกับ Equity Small – Mid Cap รอบนี้จะเป็นหุ้นของบริษัทในไทยที่อยู่ในดัชนี SET50 เน้นตัวขนาดใหญ่ หลายๆตัวที่เรารู้จักกันอยู่ในนี้เช่น PTT (ปตท.), CPALL (7-eleven), AOT (สนามบิน) เป็นต้น

กองทุนตราสารทุนในประเทศ / ต่างประเทศบางส่วน – Equity General
ลงทุนในหุ้นของบริษัทในไทย ทั้งตัวเล็ก ตัวใหญ่ อาจจะคละ ๆ กันไปได้

กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ – ASEAN Equity
ลงทุนในตราสารทุนกลุ่มประเทศ ASEAN เพื่อนบ้านพวกเรา

กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ – US Equity
ลงทุนในตราสารทุนของประเทศอเมริกา ใครสนใจหุ้นมะกันต้องเลือก ไม่ว่าเป็น Facebook, Amazon อันโด่งดังที่เรารู้จักกัน

กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ – Japan Equity
ลงทุนในตราสารทุนของประเทศญี่ปุ่น แดนอาทิตย์อุทัย เช่น SoftBank, Mizuho, Olympus

กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ – India Equity
ลงทุนในตราสารทุนในประเทศอินเดีย

กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ – European Equity
ลงทุนในตราสารทุนของประเทศกลุ่มประเทศยุโรป

กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ – Greater China Equity
ลงทุนในตราสารทุนของประเทศกลุ่มประเทศเกรทเทอร์ไชน่า อันประะกอบไปด้วย จีน ฮ่องกง และไต้หวัน

กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ – Global Equity (MSCI World, ACWI)
ลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศทั่วโลกเน้นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไทย เช่น อเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ – Emerging Market (MSCI Emerging based)
ลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศเน้นประเทศ Emerging Market หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในทวีป เอเชีย ละตินอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาเป็นต้น

กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ – Asia Pacific Ex Japan (Asia pac ex Japan benchmark focused)
ลงทุนในตราสารทุนกลุ่มประเทศแอเชียแปซิฟิคเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และ เกาหลี เป็นต้น โดยลงทุนในประเทศญี่ปุ่นต่ำกว่า 10% ของมูลค่าทรัพย์สินรวม

กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ – Vietnam Equity
ลงทุนในตราสารทุนของประเทศเวียดนาม

กลุ่มตราสารทุนหมวดอุตสาหกรรม (Sector)
เน้นกระจุกการลงทุนอยู่ในหุ้นประเภทเดียวไปเลย แต่ความเสี่ยงก็มากขึ้นด้วยเช่นกันนะครับ เหมาะสำหรับคนที่อยากลงทุนเป็น Theme ที่สนใจอยู่

Health Care
ลงทุนในตราสารทุนกลุ่ม Healthcare ด้านการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะเน้นๆไปเลย

Energy
ลงในตราสารทุนกลุ่ม Energy หรือพลังงาน อันนี้คนชอบจำผิดว่าไปลงในน้ำมันตรง ๆ อะไรหรือเปล่า ไม่ใช่นะครับ เป็นตราสารทุนหรือหุ้นที่เกี่ยวข้องครับ

กลุ่มตราสารทุนประเภทกองทุนรวมดัชนี (Index Fund)

SET50
กองทุนที่มีวัตถุประสงค์ให้อัตราผลตอบแทนของกองใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนของดัชนี SET50 มากที่สุด (SET50 คืออะไร กดไปดู คลิก)

กลุ่มตราสารหนี้ (Fixed Income)
ถ้ามือใหม่มองเป็นเหมือนการเป็นเจ้าหนี้ก็ได้ครับ จะเอาเงินไปลงตราสารที่คนกู้ต้องจ่ายเงินกลับมาตามที่ตกลงไว้ โดยสถิติจะเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงโดยรวมน้อยกว่าตราสารทุน มีทั้งแบบภาครัฐและเอกชน (ตราสารหนี้ คืออะไร? อ่านเพิ่มเติม คลิก)

กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ/ต่างประเทศบางส่วน – Short Term Government Bond
ลงทุนในเงินฝากตราสารหนี้ของภาครัฐ และเฉลี่ยมีอายุแบบถ่วงน้ำหนัก ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 1 ปี คือเป็นตราสารหนี้ภาครัฐเช่นพันธบัตรซึ่งปลอดภัยอยู่แล้ว แล้วยังอายุสั้นไม่เกิน 1 ปีอีก เน้นปลอดภัยไว้ก่อนแต่ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้หวือหวานะครับ

กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ/ต่างประเทศบางส่วน – Mid Term Government Bond
ลงทุนในเงินฝากตราสารหนี้ของภาครัฐ และเฉลี่ยมีอายุแบบถ่วงน้ำหนัก ณ ขณะใดขณะหนึ่ง 1-3 ปี อายุยาวขึ้นนิดนึง ผลตอบแทนก็จะสูงกว่าตัวแรกนิดหน่อย แต่เนื่องจากอายุยาวกว่าก็อาจเจอความผันผวนของราคามากกว่าตัวแรก

กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ/ต่างประเทศบางส่วน – Short Term General Bond
ลงทุนในเงินฝากตราสารหนี้ทั่วไป และเฉลี่ยมีอายุแบบถ่วงน้ำหนัก ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 1 ปี คือเป็นตราสารหนี้ภาคเอกชนอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นมาจากของภาครัฐ แต่ยังอายุสั้นอยู่

กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ/ต่างประเทศบางส่วน – Mid Term General Bond
ลงทุนในเงินฝากตราสารหนี้ทั่วไป และเฉลี่ยมีอายุแบบถ่วงน้ำหนัก ณ ขณะใดขณะหนึ่ง 1-3 ปี คือเป็นตราสารหนี้ที่เริ่มมีกำหนดจ่ายเงินไกลขึ้น ซึ่งปกติจะมีการให้ผลตอบแทนที่มากกว่าตราสารอายุสั้นกว่า เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น อาจไม่มีเงินจ่าย เรียกเท่ ๆ ว่า Default

กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ/ต่างประเทศบางส่วน – Long Term General Bond
ลงทุนในเงินฝากตราสารหนี้ทั่วไป และเฉลี่ยมีอายุแบบถ่วงน้ำหนัก ณ ขณะใดขณะหนึ่งมากกว่า 3 ปี ตัวนี้จะมีผลตอบแทนสูงกว่าตัวที่ผ่าน ๆ มา แต่ความผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยก็จะมากที่สุดด้วยเช่นกัน

กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ/ต่างประเทศบางส่วน – Money Market Government
ลงทุนในตลาดเงินหรือเงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐของรัฐบาล พวกนี้เป็นตราสารที่ครบกำหนดระยะเวลาสั้นมาก ๆ ส่วนมากไว้จัดการเรื่องสภาพคล่องและแถมผลตอบแทนไปเล็ก ๆ น้อย ๆ บางทีเราใช้พักเงินได้ครับ

กองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศ/ต่างประเทศบางส่วน – Money Market General
ลงทุนในตลาดเงินหรือเงินฝาก ตราสารหนี้ระยะสั้นทั่วไป ใช้พักเงินได้เช่นกัน บางทีผลตอบแทนพอ ๆ กับฝากประจำ แต่ฝาก ถอนได้ทุกวัน กดปุ้ป วันรุ่งขึ้นได้ตังค์เลย

กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ – Emerging Market Bond Fully F/X Hedge
ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา Emerging Market และป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินมากกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในประเทศ คือเอาเงินเราไปลงต่างประเทศให้ แล้วดูแลเรื่องค่าเงินให้เราด้วย ไม่ต้องห่วงบาทแข็งหรืออ่อน

กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ – Emerging Market Bond Discretionary F/X Hedge or Unhedge
เหมือนตัวข้างบน แต่อาจจะป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเพียงบางส่วน หรือตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน หรือ ไม่ป้องกันเลย

กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ -Global Bond Fully F/X Hedge
ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินมากกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในประเทศ

กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ – Global Bond Discretionary F/X Hedge or Unhedge
เหมือนตัวข้างบน แต่อาจจะป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเพียงบางส่วน หรือตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน หรือ ไม่ป้องกันเลย เช่นกันครับ

กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ – High Yield Bond
เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่เป็น Non-investment grade / Unrated คือกลุ่มบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง ๆ เสี่ยงที่จะไม่ได้ตังค์คืน แต่พวกนี้ให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน

กลุ่มกองทุนรวมผสม (Allocation)
กลุ่มนี้สำหรับคนไม่อยากจัดพอร์ตเอง อยากให้เขาจัดพอร์ตมาให้เลย ซื้อพวกนี้ไปตัวเดียว เดี๋ยวเขาช่วยจัดให้ครับลงตราสารทุนเท่าไร ตราสารหนี้เท่าไร

กองทุนรวมผสมในประเทศ/ต่างประเทศบางส่วน – Aggressive Allocation
ลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินตลอดจนการหาดอกผลโดยวิธีอื่น โดยมีไว้ตราสารทุนได้ 0-100% สายบู๊เลือกกลุ่มนี้ได้ครับ

กองทุนรวมผสมในประเทศ/ต่างประเทศบางส่วน – Moderate Allocation
ลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินตลอดจนการหาดอกผลโดยวิธีอื่น โดยมีไว้ตราสารทุนได้ 25% – 80% อันนี้เป็นสายกลาง ๆ

กองทุนรวมผสมในประเทศ/ต่างประเทศบางส่วน – Conservative Allocation
ลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินตลอดจนการหาดอกผลโดยวิธีอื่น โดยมีไว้ตราสารทุนได้ไม่เกิน 25%

กองทุนรวมผสมต่างประเทศ – Foreign Investment Allocation
คล้าย ๆ ตัวแรก Aggressive Allocation แต่ลงในต่างประเทศได้ มีสัดส่วนตราสารทุนต่างประเทศ 0-100%

กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ / Infra / REIT
กลุ่มนี้สำหรับคนที่อยากลงทุนในหมวดหมู่อสังหาริมทรัพย์แบบต่าง ๆ อาทิเช่น โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า สนามบิน รวมไปถึงลงทุนในโปรเจคโครงสร้างพื้นฐาน เหมาะแก่การกระจายความเสี่ยงจากสินทรัพย์หลักเช่น หุ้น หรือ ตราสารหนี้ด้วยครับ (กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ คืออะไร? อ่านเพิ่มเติม คลิก)

Thai Free Hold
ลงทุนในกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของไทย

Thai Lease Hold
ลงทุนในสิทธิการเช่าในอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิในการใช้ประโยชน์ของทรัพย์สิน

Thai Mixed (between free and leased hold)
เป็นกองที่ลงผสมจากสองแบบข้างต้น

Fund of Property fund – Thai
ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ REIT กองทุน Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) ที่เน้นลงทุนในประเทศโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี >= 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

Fund of Property fund – Thai and foreign
เหมือนตัวข้างบน แต่ลงทุนในต่างประเทศบางส่วนสัดส่วน 20% – 80%

Fund of Property fund – Foreign
เหมือนตัวข้างบนอีกเช่นกัน แต่ลงต่างประเทศ 80% ขึ้นไป

กลุ่มกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities)
กลุ่มนี้ลงทุนในตัวสินค้าโภคภัณฑ์เลยเช่นทองคำ น้ำมัน เงิน สินค้าเกษตร มีความผันผวนสูงมาก แต่สามารถใช้เป็นการกระจายความเสี่ยงได้เช่นกัน

Broad Composite Commodities Index
ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสินค้าโภคภัณฑ์ตามดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ร่วม (Broad Commodities Index) ซึ่งดัชนีนี้ที่จริงก็มีทำอยู่หลายเจ้า ยกตัวอย่างเช่นของ S&P GSCI ลองดูสัดส่วนได้ตามนี้ครับ คลิก

Commodities Energy
สินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานเช่น น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ และ ถ่านหินเป็นต้น ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมผ่านตราสารหรือสัญญาที่ให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว

Commodities Precious Metal
เน้นโลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน แพลตินัม เป็นต้น

Commodities Agriculture
เน้นสินค้าโภคภัณฑ์ด้านเกษตรกรรม

นอกเหนือไปจากนี้ยังมีกลุ่มกองทุนรวมที่ไม่สามารถจัดกลุ่มได้เรียกว่า Miscellaneous อีกบางส่วน

ก่อนจะไปกันต่อ ถึงตอนนี้ถ้าใครมีกองทุนในใจที่เพื่อนแนะนำมา อาจจะลองเช็คประเภทของกองตัวเองง่าย ๆ ครับ โดยเข้าไปที่ finnomena.com/fund แล้วพิมพ์ชื่อกองทุนลงไปในช่องค้นหา เลื่อนลงมาตามในรูปก็จะเห็นหมวดหมู่แจ้งไว้ครับ

TMB50 – กองทุนเปิดทหารไทย SET 50
ข้อมูลวันที่ 24 พ.ย. 2563

มาเช็กกองทุนในหมวดหมู่ที่น่าสนใจกัน

หลังจากที่เราเลือกกลุ่มสินทรัพย์ที่ชื่นชอบแล้ว หรือใครมีกองในใจ ถ้ารู้ว่ากองนั้นหมวดหมู่อะไรก็มาร่วมกันเช็คตรงนี้กันครับ โดยอาจจะเข้าไปค้นหาตามเว็บ บลจ. ต่าง ๆ ถึงกองทุนที่บลจ. นั้นมีในแต่ละหมวดหมู่ก็ได้ หรือถ้าอยากดูทีเดียวทุก บลจ. บังเอิ๊ญญญ FINNOMENA เขามีตัวช่วยหากองทุนก็ใช้เขาหน่อย สามารถเข้าไปที่ finnomena.com/fund หรือว่าโหลด App FINNOMENA ก็ได้ครับ

เข้ามาจะเจอเมนูให้เลือก ครั้งแรกเราอาจไปกดดูที่ “กองเด็ด” ก่อนก็ได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม FINNOMENA Pick เลือกกองทุนที่ดีที่สุดให้คุณได้อย่างไร

ตรงนี้จะเป็นกองทุนที่ FINNOMENA วิเคราะห์มาแล้วว่าดีทั้งในเชิงสถิติและการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ และที่สำคัญสังเกตดีๆ มีการแบ่งหมวดหมู่ตาม AIMC ที่คุยกันไปข้างต้นเลย นักลงทุนมือใหม่ถ้าไม่อยากเสียเวลาตรวจสอบกองทุนด้วยตัวเองก็เริ่มที่ตรงนี้ก็ได้ครับ เป็น Guideline ให้คร่าวๆก่อน แต่ถ้าอยากลองวิเคราะห์เองเราลองกลับมาในเมนู “จัดอันดับกองทุน” ก่อนก็ได้ครับ

เข้าไปจะเป็นการจัดอันดับกองทุนตามผลตอบแทนย้อนหลัง ก่อนอื่นเลยให้เราเลือกกลุ่มประเภทกองทุนที่เราสนใจก่อน อยากดูกองทุนกลุ่มไหน ของ บลจ. ไหน เป็นกองทุนประหยัดภาษีไหม จ่ายปันผลหรือเปล่า ลองเลือกได้เลยครับ 

นอกจากนี้ถ้าใครอยากกรองแบบละเอียด ๆ ถึงขั้นกำหนดผลตอบแทนที่ต้องการ หรือ ระดับความเสี่ยงที่รับได้ ก็ลองใส่ตัวเลขเข้าไปตรง “เพิ่มตัวกรอง” ได้ครับ เช่น ต้องการกองทุนผลตอบแทนระหว่าง 10% ภายใน 1 ปี แต่ Max Drawdown ไม่น้อยกว่า -10% อะไรทำนองนี้ แล้วระบบก็จะประมวลผลออกมาให้เลย 

จากนั้นก็จะเป็นระยะเวลาที่เราสนใจดูข้อมูลย้อนหลัง โดยเบื้องต้นแนะนำให้เลือกระยะเวลายาว ๆ หน่อย สัก 5 ปีที่ผ่านมา

ตัวอย่างการเพิ่มตัวกรอง

ในตัวอย่างผมจะลองเลือกกลุ่ม Equity -> Equity Small – Mid Cap ขึ้นมาก่อนนะครับ ก็จะได้กองทุนเรียงขึ้นมาให้ดู

ผลการดำเนินงาน จัดอันดับ ณ วันที่ 30 พ.ย. 2563

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: ผลตอบแทนในรูปตัวอย่าง 5.24% นั้นไม่ใช่ว่าถือ 5 ปีแล้วได้ 5.24% นะครับ แต่อันนี้เป็นผลตอบแทนที่คิดเป็นรายปีแบบทบต้น หมายความว่า ที่จริงคนที่ถือมา 5 ปีไม่นำเงินออก ได้ผลตอบแทนถึง 29% เลยนะครับ

นอกจากนี้แล้ว ยังมีของเล่นเด็ดอีกชิ้นที่อยากแนะนำ เห็นช่องสี่เหลี่ยมจตุรัสเล็กๆ ด้านหน้าชื่อกองทุนไหมครับ? สิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็น Killer Function ของที่นี่เลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อเราติ๊กถูกหน้าชื่อกองทุนหลาย ๆ กอง มันจะมีปุ่มขึ้นด้านล่างให้เรากดเปรียบเทียบข้อมูลของกองทุนที่เราเลือกไว้ได้ครับ ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบกองทุนได้สูงสุดถึง 10 กองเลยทีเดียว!

ตัวอย่างการใช้งานฟังก์ชั่นเปรียบเทียบกองทุน
ข้อมูลการจัดอันดับกองทุน ณ วันที่ 30 พ.ย. 2563

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

พอคลิก “เปรียบเทียบกองทุน” แล้ว ก็จะขึ้นหน้าตาแบบนี้ เปรียบเทียบข้อมูลครบทุกด้านเลยครับ

ผลการเปรียบเทียบกองทุน ข้อมูลผลตอบแทน ณ วันที่ วันที่ 27 พ.ย. 2563

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

แนะนำว่าการเปรียบเทียบกองทุน ควรทำกับกองทุนประเภทเดียวกันนะครับ จะช่วยในการตัดสินใจเลือกกองทุนรวมได้ดี เพราะถ้าสมมตินำกองทุนตราสารหนี้กับกองทุนหุ้นมาเปรียบเทียบกัน ก็เหมือนเรานำผลไม้ต่างชนิดมาเปรียบเทียบกันน่ะครับ เนื่องจากลักษณะกองทุนเป็นคนละแบบ ลักษณะผลตอบแทนและความเสี่ยงก็จะไม่เหมือนกันครับ

เพิ่มเติม ถ้าใครเข้าไปดูข้อมูลกองทุนใดกองทุนหนึ่งแล้ว ก็กดเพิ่มกองทุนเปรียบเทียบจากหน้านั้นได้เช่นกัน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ รีวิวของใหม่: ‘เปรียบเทียบกองทุน’ Feature ที่สามารถเปรียบเทียบกองทุนได้สูงสุดถึง 10 กอง!

กลับมาที่การดูกองทุนเดี่ยว ๆ บ้าง พอเราทำการกรองกองทุนคร่าว ๆ แล้ว สิ่งที่เราต้องทำต่อคือมาเริ่มเจาะลึกกองทุนนั้น ๆ กัน โดยกดไปที่ชื่อกองทุนจะเปิดหน้าต่างใหม่ขึ้นมาครับ พอขออธิบายแยกเป็นส่วน ๆ

ข้อมูลกองทุน SCBMSE ณ วันที่ 27 พ.ย. 2563

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ในส่วนแรกจะเป็นกราฟแสดง NAV ย้อนหลังของกองทุน ซึ่งสามารถดูได้ว่ากองทุนนั้นมี NAV ย้อนหลังในช่วงเวลาต่างๆ เป็นอย่างไรบ้าง อย่างในรูปก็จะเห็นได้ว่ากองทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีกำไรอยู่ที่ 29.08% นั่นเองครับ อย่างไรก็ตามการดูผลตอบแทนด้วย NAV จะใช้ไม่ได้กับกองทุนที่มีการเงินปันผลนะครับ

เนื่องจากกองทุนที่มีการจ่ายปันผล จะทำการจ่ายปันผลออกมาเป็นเงินสดให้เรา โดยตัดหักออกมาจาก NAV ของกองทุนเลย ทำให้เมื่อดู NAV ของกองเหล่านี้ จะมีจังหวะสะดุดลงมา ทำให้ไม่สามารถดูผลตอบแทนจาก NAV เพียงลำพังได้ ต้องรวมเงินสดที่เราได้รับกลับเข้าไปก่อน

อ่านเพิ่มเติม เลือกกองทุนแบบจ่ายปันผล หรือไม่จ่ายปันผลดี? แล้วคุณเหมาะกับแบบไหน?

ข้อมูลกองทุน SCBMSE ณ วันที่ 27 พ.ย. 2563

ถัดมาก็จะเป็นรายละเอียดของกองทุน ไม่ว่าเป็น บลจ. ที่ออกกองทุน ประเภทกองทุน ค่าธรรมเนียมต่างๆ นโยบายการจ่ายปันผล รวมถึงขั้นต่ำการลงทุนที่นักลงทุนจำเป็นต้องลงทุนในจำนวนเท่านั้น หรือ สูงกว่า

3D Diagram กองทุน SCBMSE ณ วันที่ 27 พ.ย. 2563

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

เลื่อนลงมาอีกนิดจะเจอ 3D Diagram ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น Signature ของ FINNOMENA เลย โดยเจ้า 3D Diagram นี้จะเป็นการนำข้อมูล ผลตอบแทนย้อนหลัง (Past Performance), ผลตอบแทนหลังปรับด้วยความเสี่ยง (Risk Adjusted Return), จุดขาดทุนสุงสุด (Maximum Drawdown) เข้ามาทำเป็นรูปแบบกราฟ 3 แกนให้ดูเข้าใจง่ายมากขึ้น โดยใช้ผลการดำเนินงานทั้ง 1 ปี, 3 ปี, 5 ปีเข้ามาคำนวณ 

อ่านเพิ่มเติม ถอดรหัส! สอนวิธีใช้ FINNOMENA 3D Diagram ตัวช่วยค้นหาสุดยอดกองทุน

ตรงนี้จะขออธิบายแกนขวา (Risk Adjusted Return) และแกนล่าง (Maximum Drawdown)

ผลตอบแทนหลังปรับด้วยความเสี่ยง (Risk-Adjusted Return)

จะนำผลตอบแทนต่อปีของกองที่สนใจมาหารด้วยความผันผวนของผลตอบแทนกองทุนในช่วงเวลานั้น จะได้เป็นผลตอบแทนหลังปรับด้วยความเสี่ยง ถ้ากอง A และ B มีผลตอบแทนที่เท่ากัน กองใดที่มีความผันผวนน้อยกว่า ย่อมมีค่าผลตอบแทนหลังปรับด้วยความเสี่ยงที่สูงกว่า

กองทุนผันผวนหนักย่อมมีผลต่อทั้งจิตใจของนักลงทุนเอง บางคนรับขาดทุนหนัก ๆ ไม่ได้ รวมไปถึงความยืดหยุ่นในการถอนเงินไปใช้ ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย กองผันผวนหนักมักมีแนวโน้มที่ปรับฐาน ณ จุดใดจุดหนึ่งลึก ๆ ก่อนจะกลับตัวขึ้นมา หากจำเป็นต้องใช้เงินระหว่างปรับฐานย่อมทำให้เกิดการเสียโอกาสขึ้นอย่างน่าเสียดาย

ความผันผวนที่ต่ำแสดงให้เห็นถึงการจัดการความเสี่ยงที่ดีของกองทุน กองทุนที่มีการจัดการความเสี่ยงดีมักจะมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

จุดขาดทุนสูงสุด (Maximum Drawdown)

ถ้าคุณต้องการความสงบของจิตใจ สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ดูไม่ได้

เพราะถ้าคุณขาดทุน …. 30% คุณต้องทำกำไรกลับมาถึง 43% เพื่อให้คืนทุน

ถ้าขาดทุน 50% ต้องทำกำไรกลับมา 100%

ถ้าขาดทุน 90% ต้องทำกำไรกลับมา 900%

ยิ่งขาดทุนมาก โอกาสในการทำกำไรกลับมายิ่งยาก โอกาสเปลี่ยนชีวิตให้ดีกว่ายิ่งไม่มี

กองทุนใด ๆ ก็ตาม ที่สามารถจำกัดการขาดทุนได้ดี เมื่อเกิดการขาดทุนย่อมสามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ง่ายกว่า ไม่เหนื่อยเหมือนกองทุนที่ขาดทุนลึกนั่นเอง

ทั้งหมดนี้ไม่ต้องไปนั่งเปิดกราฟดูเอง FINNOMENA ทำมาให้ดูง่าย ๆ ด้วย 3D Diagram เรียบร้อย โดยยิ่งสามเหลี่ยมใหญ่มากขึ้นก็แสดงว่ากองทุนนั้นมีปัจจัยด้านนั้น ๆ ที่ดีนั่นเอง!

กราฟกองทุน SCBMSE ณ วันที่ 30 พ.ย. 2563

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ต่อมาขอเอาใจสาย Technical กันหน่อย เมื่อกดไปที่แท็บ “กราฟ” ก็จะขึ้นกราฟกองทุนของ TradingView มาให้ครับ ตรงนี้เราสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงกราฟได้ และใช้เครื่องมือต่าง ๆ ได้เต็มที่เลย

ผลการดำเนินงานกองทุน SCBMSE ณ วันที่ 27 พ.ย. 2563

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ส่วนต่อมาจะเป็น ตารางผลตอบแทนย้อนหลัง สามารถคลิกแถบด้านบนตรง “ผลการดำเนินงานและปันผล” ได้เลย ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ปันผล หรือ ไม่ปันผลก็สามารถดูได้เหมือนกัน ทาง FINNOMENA มีการคำนวณรวมมาให้แล้ว นอกจากผลการดำเนินงานหรือ Performance ของกองทุนนั้นๆ แล้วยังมีตัวเลขค่าเฉลี่ยผลการดำเนินงานของกองทุนในกลุ่มเดียวกัน รวมไปถึงสามารถตรวจสอบตำแหน่งเมื่อเทียบเป็นร้อยละ (Percentile) ว่า ผลตอบแทนของกองทุนนี้อยู่ในกลุ่มใด ถ้า “ดีที่สุด” หมายความว่ากองทุนนั้นมีผลตอบแทนอยู่ในช่วงร้อยละ 1-5 เมื่อเทียบกับกองทุนทั้งหมด

ฝั่งขวามือจะมีข้อมูลเชิงความเสี่ยง อย่าง Standard Deviation หรือค่าความผันผวนของกองทุน ตัวเลขนี้ยิ่งน้อยยิ่งดี ความผันผวนที่ต่ำแสดงให้เห็นถึงการจัดการความเสี่ยงที่ดีของกองทุน และจากข้อมูลย้อนหลังที่ผ่านมากองทุนที่มีการจัดการความเสี่ยงดีมักจะมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ส่วนอีก 2 อันอย่าง Risk-Adjusted Return กับ Max Drawdown เหมือนที่เล่าไปด้านบนครับ

สัดส่วนหุ้นที่ SCBMSE ถือ 5 อันดับแรก ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย. 2563

สัดส่วนสินทรัพย์ที่ลงทุน และกลุ่มประเภทตราสารทุน/ตราสารหนี้ที่ SCBMSE ลงทุน
ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563

ถัดมาอีกนิด สำหรับกองหุ้นไทย จะมี 5 อันดับหุ้นที่กองทุนถือเปิดมาให้ทุกท่านได้ชมกันด้วยครับ โดยถ้าใครที่เล่นหุ้นอยู่แล้วอาจจะคุ้นตากับหุ้นเหล่านี้ บอกใบ้ให้นิดว่าหากเจอชื่อธนาคารแต่มีเลขตามแปลกๆ ส่วนมากจะเป็นเงินฝากนั่นเองครับ ถ้าจังหวะใด ผู้จัดการกองทุนอยากที่จะถือเงินสด เพราะอาจมองว่าหุ้นจะลงก็จะเห็นตัวเลขสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง

ตัวอย่างข้อมูลการปันผล จากกองทุนที่จ่ายปันผล

และส่วนสุดท้ายสำหรับหุ้นปันผล ก็จะมีประวัติการปันผลย้อนหลัง ตั้งแต่เปิดกองทุนขึ้นมา ตรงนี้มีประเด็นหลายคนอาจจะงงว่า ทำไมมี 2 วัน วันปิดสมุดทะเบียนกับวันปันผล

วันปิดสมุดทะเบียน หรือ XD Date คือวันที่เช็คชื่อว่าใครจะได้รับปันผลนั่นเอง ถ้าคุณมีกองทุนในวันที่ขึ้น XD นั้น ก็จะเป็นการการันตีแน่นอนว่าได้รับปันผลและวันนี้จะเป็นวันที่ NAV มักจะมีการลดลงตามจำนวนเงินปันผลที่จ่ายออกมา (แต่ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ หุ้นที่กองทุนถืออาจจะขึ้นหรือลงในวันนั้นเพิ่มเติมก็ได้) ส่วนเงินที่เราจะได้ จะได้ในช่วงวันที่ปันผลนั่นเอง

จะสังเกตได้ว่าการคัดเลือกกองทุนนั้นมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องมองมากมายมากกว่าผลตอบแทนย้อนหลัง อีกมุมนึงที่จะลืมไปไม่ได้ คือนักลงทุนทุกท่านควรเปรียบเทียบคัดเลือกกองทุนโดยอย่าดูกองทุนเพียงแค่ตัวเดียว ควรที่จะเปรียบเทียบกองต่างๆในกลุ่มเพื่อให้มั่นใจว่ากองนั้นๆ มีนโยบายการลงทุนที่ตรงกับความต้องการของนักลงทุนเอง และมีผลการดำเนินงานในแง่มุมต่าง ๆ ที่ดี

เริ่มลงทุนจริง!

อัพเดท 2 ก.ค. 2564 อยากดูแบบละเอียด เดฟเรนเจอร์ออกบทความใหม่ คลิกไปดูได้เลย พาเปิดบัญชีซื้อกองทุนรวม นั่งอยู่บ้าน 15 นาที ไม่ต้องส่งเอกสาร พร้อมเทียบให้หมด ที่ไหนเปิดที่เดียวซื้อได้ทุกบลจ. บ้าง

หากนักลงทุนมีสัดส่วนพอร์ตการลงทุนในใจหรือกองทุนที่ต้องการจะลงทุนได้แล้ว ก็ถึงเวลานำเงินไปลงทุนจริงกันเสียที โดยทางเลือกในตลาดปัจจุบันก็มีอยู่หลายทางเลือก แบ่งได้ตามนี้

1. เปิดพอร์ตลงทุนกับธนาคาร

นักลงทุนสามารถเดินเข้าไปที่สาขาธนาคารใกล้บ้านท่านและเปิดบัญชีได้ทันที ซึ่งบางธนาคารนอกจากจะลงทุนในกองทุนของบลจ. ตัวเองแล้ว ก็เริ่มจะเปิดให้สามารถลงทุนในกองทุนของบลจ. อื่นข้างเคียงด้วยอาทิเช่น  TMB Advisory, TISCO เป็นต้น

2. เปิดพอร์ตกับ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)

อาทิเช่น Nomura, Phillip ซึ่งกลุ่มนี้จะมีจุดเด่นด้านการที่สามารถซื้อกองทุนได้ในหลายๆ บลจ. ในที่เดียวรวมถึงสามารถเปิดบัญชีเสริมเพื่อซื้อ SSF, RMF ได้อีกด้วย

3. เปิดพอร์ตกับ FINNOMENA

สำหรับข้อสุดท้ายเป็นการเปิดพอร์ทกับ FINNOMENA ซึ่งมีข้อดีคือ ลงทุนได้หลายบลจ. (ปัจจุบันมี 19 บลจ. ชั้นนำของไทยครบหมดแล้ว) รวมถึงสามารถใช้บริการ FINNOMENA PORT ซึ่งเป็นบริการออกแบบพอร์ตการลงทุนอัตโมมัติพร้อมคอยแนะนำปรับพอร์ตให้คุณเมื่อจำเป็นอีกด้วย ทุกอย่างสามารถทำผ่านทั้งเว็บไซต์และแอพพลิเคชันได้ทันที

อ่านเพิ่มเติม พาซื้อกองทุนรวมผ่าน FINNOMENA พร้อมความพิเศษต่าง ๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่น

คำถาม หรือ ศัพท์ที่พบบ่อย

1. กองทุน 2 กอง ตัวนึง NAV สูงมาก อีกตัว NAV ต่ำกว่า หมายความว่าตัวที่สองถูกกว่า มีโอกาสได้กำไรมากกว่าใช่หรือไม่?

คำตอบ  ไม่ใช่ เพราะสุดท้ายสิ่งที่จะทำให้เราได้กำไรจากการลงทุนคือผลตอบแทนเป็น % กองทุนที่ NAV สูงอาจจะแค่เปิดกองทุนมานานกว่า (และทำผลตอบแทนเป็นบวกมา) สุดท้ายเมื่อเราเข้าซื้อก็ต้องดูกันต่อไปว่ากองทุนนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนต่อไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ไม่ต้องห่วงว่ากองนั้น NAV สูงแล้วเราจะซื้อได้น้อย เราเพียงแค่ต้องการซื้อในจำนวนเงินที่มากกว่าขั้นต่ำของกองก็เพียงพอ บลจ. จะนำเงินของเราไปหารด้วย NAV ออกมาเป็นหน่วยลงทุนซึ่งมีจุดทศนิยมได้ 4 ตำแหน่ง ไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุนเต็มหน่วยแต่อย่างใด

2. ติดดอย คืออะไร?

คำตอบ เป็นคำแสลงตลก ๆ ที่นักลงทุนชอบเรียกกันเวลาขาดทุน เมื่อต้นทุนของเราอยู่สูงกว่าราคาตลาดปัจจุบันมากๆ ก็เปรียบเสมือนตัวเรา (ต้นทุน) อยู่บนดอยสูง ๆ นั่นเอง

3. กองทุนปันผล และ กองทุนไม่ปันผล แบบไหนดีกว่ากัน?

คำตอบ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้ลงทุน กองทุนปันผลจะเหมาะกับนักลงทุนต้องการกระแสเงินสดกลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน และไม่ได้ต้องการกำไรจากส่วนต่างของราคามากนัก หากนักลงทุนต้องการกำไรจากส่วนต่างของราคา กองทุนปันผลอาจจะไม่เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากเมื่อมีการจ่ายปันผลออกมา ราคา NAV ของกองทุนจะลดลง ทำให้ราคา NAV ของกองทุนปันผลนั้นไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

4. ซื้อกองทุน IPO ดีไหม?

คำตอบ การซื้อกองทุน IPO มีข้อดีตรงที่ค่าธรรมเนียมตอนซื้อที่ต่ำกว่าช่วงหลัง IPO เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อกองทุน ควรรอดูผลตอบแทนระยะสั้นประมาณ 3-6 เดือนด้วย เพื่อดูว่าเทียบกับ Benchmark แล้ว ทำผลตอบแทนได้ใกล้เคียงหรือดีกว่าไหม

อ่านบทความเกี่ยวกับกองทุนรวมเพิ่มเติม

10 อันดับคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวม โดย Get Wealth Soon

ทำความรู้จักการ DCA (Dollar Cost Average)

ค่าธรรมเนียมกองทุนมีอะไรบ้าง? รวมทุกอย่างที่ต้องรู้

How to วิเคราะห์กองทุนด้วยตัวเอง

อ่าน Fund Fact Sheet ยังไง ให้เข้าใจกองทุนภายใน 5 นาที?

ลงทุนกองไหนดี ? โพยกองทุนรวมอัปเดตล่าสุด

โปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าใหม่ เปิดบัญชีลงทุนครั้งแรกกับ FINNOMENA รับหน่วยลงทุน PCASH มูลค่า 100 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. – 31 พ.ค. 65 คลิก //finno.me/havefund-promotion

แหล่งอ้างอิง

//www.set.or.th/set/education/html.do?name=mutualfund&showTitle=F

//ns3.aimc.or.th/web/%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%a0%e0%b8%97%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%b8%e0%b8%99-3/

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv แปลภาษาอาหรับ-ไทย lmyour แปลภาษา ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง แปลภาษาเวียดนามเป็นไทยทั้งประโยค Google Translate การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 หยน อาจารย์ ตจต เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf ห่อหมกฮวกไปฝากป้า คาราโอเกะ app แปลภาษาไทยเป็นเวียดนาม การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 บบบย ศัพท์ทหารบก แปลภาษาจีน การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 1 ขุนแผนหลวงปู่ทิม มีกี่รุ่น ชขภใ ตม.เชียงใหม่ เซ็นทรัลเฟสติวัล พจนานุกรมศัพท์ทหาร รหัสจังหวัด อําเภอ ตําบล รหัสประจำจังหวัด 77 จังหวัด สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม หนังสือราชการ ตัวอย่าง ห่อหมกฮวกไปฝากป้า คอร์ด อเวนเจอร์ส ทั้งหมด แปลภาษา มาเลเซีย ไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค ่้แปลภาษา Egp G no Reconguista Google map ขุนแผนหลวงปู่ทิมรุ่นแรก ข้อสอบภาษาไทยพร้อมเฉลย ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง ค้นหา ประวัติ นามสกุล จองคิว ตม เชียงใหม่ ชื่อเต็ม ร.9 คําอ่าน ดีแม็กมือสองราคาไม่เกิน350000 ตัวอย่างรายงานการประชุมสั้นๆ