1 ป ม 12 เด อนก บ 20 บาทของคำพ พากษา

“….แม้จำเลยที่ 2 (ณพ) เป็นบุตรของโจทก์ (เกษม) ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งครอบครัวณรงค์เดช และการทำธุรกิจของครอบครัวก็เป็นแบบกงสีอย่างที่นายกฤษณ์และนายกรณ์เบิกความก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว ต้องรับผิดชอบภาระหนี้และภาระในการบริหารจัดการ ก็ย่อมไม่ใช่การร่วมลงทุนในความหมายของกฎหมาย และต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง…”

....................................

หลังสู้คดีกันมายาวนานเกือบ 4 ปีเต็ม

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา ศาลอาญา (ชั้นต้น) ได้มีคำพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ คุณหญิงกอแก้ว บุญยะจินดา ,ณพ ณรงค์เดช และสุรัตน์ จิรจรัสพร ในข้อหาใช้เอกสารปลอมกรณีโอนหุ้น บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด (ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ในสัดส่วน 38.6%) จาก เกษม ณรงค์เดช มาเป็นของคุณหญิงกอแก้ว

แต่คำถามที่ว่า ใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของหุ้น ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ’ มูลค่านับหมื่นล้านบาท ยังคงไม่ได้ข้อยุติ

เพราะในขณะที่ เกษม ,กฤษณ์ ณรงค์เดช บุตรชายโต และกรณ์ ณรงค์เดช บุตรชายคนเล็ก อ้างว่า ครอบครัวณรงค์เดช เป็นเจ้าของหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ มาตั้งแต่ปี 2558 แต่ฟากฝั่งของ คุณหญิงกอแก้ว และณพ ณรงค์เดช (บุตรคนรองของเกษม และบุตรเขยของคุณหญิงกอแก้ว) ก็ยืนยันว่า หุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ เป็นของคุณหญิงกอแก้วมาตั้งแต่ต้นเช่นกัน

ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอคำเบิกความของฝ่ายโจทก์ (เกษม) ,ฝ่ายจำเลย และพยาน ในคดีหมายเลขดำที่ อ.2497/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ 3518/2561 (คดีกล่าวหาว่ามีการใช้เอกสารปลอมกรณีโอนหุ้นโกลเด้น มิวสิคฯ) ซึ่งศาลอาญารัชดา (ศาลชั้นต้น)ได้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นข้อยุติแล้ว สรุปได้ดังนี้

@‘ณพ’ ทำสัญญาซื้อหุ้น ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ’ จาก ‘กลุ่มนพพร’

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2558 จำเลยที่ 2 (ณพ ณรงค์เดช) ได้ทำสัญญาซื้อหุ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ในสัดส่วน 59.46% ที่ นพพร ศุภพิพัฒน์ ถือผ่าน บริษัท นิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ในราคา 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท) แบ่งเป็นค่าหุ้นของบริษัท นิวเอเบิล เอนเนอยีฯ 175 ล้านเหรียญสหรัฐ และโบนัสอีก 525 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการจ่ายเงินค่าหุ้นของ บริษัท นิวเอเบิล เอนเนอยีฯ (บริษัท ไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส ลิมิเต็ด จำกัด ,บริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนต์ จำกัด และบริษัท ซิมโฟนี พาร์ทเนอร์ส ลิมิเต็ด จำกัด ถือหุ้นในบริษัท นิวเอเบิล เอนเนอยีฯ รวม 100%) จำนวน 175 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้น มีการแบ่งสัญญาออกเป็น 2 ฉบับ ประกอบด้วย

สัญญาฉบับแรก เป็นสัญญาระหว่าง บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด (กฤษณ์ และณพ เป็นกรรมการร่วม) กับ บริษัท ไดนามิค ลิงค์ เวนเจอร์ส ลิมิเต็ด จำกัด (นพพร เป็นเจ้าของ) และบริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนต์ จำกัด (นพพร เป็นเจ้าของ) มูลค่า 89.25 ล้านเหรียญสหรัฐ กำหนดชำระเงินเดือน ก.ย.2558

สัญญาฉบับที่สอง เป็นสัญญาระหว่าง บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเม้นท์ จำกัด (จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน) กับ บริษัท ซิมโฟนี พาร์ทเนอร์ส ลิมิเต็ด จำกัด (นพพร เป็นเจ้าของ) มูลค่า 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนโบนัส 525 ล้านเหรียญสหรัฐ ระบุไว้ในตอนท้ายของสัญญา ว่า ชำระต่อเมื่อทุกโครงการสามารถขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ หรือเสนอขายหุ้นไอพีโอให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ ขณะที่สัญญาทั้ง 2 ฉบับกำหนดให้ นพพร โอนหุ้นทันทีเมื่อทำสัญญา

@‘เกษม’ อ้างใช้เงินครอบครัวลงทุนซื้อหุ้น ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ’

ทั้งนี้ โจทก์ (เกษม) เบิกความว่า เมื่อปี 2558 ณพ (จำเลยที่ 2) มาปรึกษาเรื่องการซื้อหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ซึ่งโจทก์เห็นว่าน่าสนใจ จึงให้ ณพ ไปคุยกับ กฤษณ์ และ กรณ์ เพื่อเอาเงินและทรัพย์สินของครอบครัวไปลงทุน จากนั้น กฤษณ์ และกรณ์ ได้จัดหาเงินสดและทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้กับ ณพ เพื่อไปลงทุนซื้อหุ้น แบ่งเป็น

เงินก้อนแรก 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 330 ล้านบาท มาจากบัญชีเงินฝาก ธนาคารเอบีเอ็น อัมโบร (ที่สิงคโปร์) ซึ่งเป็นบัญชีร่วมของ กฤษณ์ ณพ และกรณ์

เงินก้อนที่สอง 500 ล้านบาท มาจากการให้ บริษัท เคพีเอ็น เอ็นเนอยี โฮลดิ้ง จำกัด กู้ยืมจาก บริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด แต่ความจริงแล้ว เป็นการให้เงินแก่ ณพ เพื่อนำไปซื้อหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ และการทำสัญญาในรูปเงินกู้ยืมดังกล่าวเป็นเรื่องในทางบัญชีเท่านั้น

เงินก้อนที่สาม โจทก์ (เกษม) มอบให้ จำเลยที่ 2 (ณพ) ไปดำเนินการออกตั๋วแลกเงินมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยใช้เครดิตของครอบครัวณรงค์เดช ซึ่งต่อมา ณพ ไม่มีเงินชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงิน โจทก์ กฤษณ์ และกรณ์ จึงได้เข้าไปให้ช่วยเหลือด้วยการให้กู้เงินจาก บริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด โดยมีการทำสัญญากู้ยืม 4 ฉบับ จำนวนเงินรวม 940 ล้านบาท

ทั้งนี้ การกู้เงินก้อนที่สามดังกล่าว ครอบครัวยังให้นำที่ดิน 10 แปลง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของ กฤษณ์ จำเลยที่ 2 (ณพ) และกรณ์ กับที่ดินของ บริษัท ซีพีเอ็นพี (ประเทศไทย) จำกัด ไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกัน นอกจากนี้ ยังมีการนำหุ้นของ สเตฟาน มิทเชล ลูกหนี้ของ กฤษณ์ ซึ่งถือหุ้นใน บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ 72 ล้านหุ้น มาจำนำกับ บริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด ด้วย

@อ้างไม่รู้มีการตั้งจัดตั้ง ‘โกลเด้น มิวสิคฯ’ ก่อนเข้าซื้อหุ้นวินด์

หลังจาก โจทก์ (เกษม) โดยครอบครัวณรงค์เดช ให้เงินและทรัพย์สินแก่ จำเลยที่ 2 (ณพ) ไปประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ แล้ว

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2560 โจทก์ ได้เรียก จำเลยที่ 2 (ณพ) มาทำสัญญาแบ่งหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ โดย กฤษณ์ ได้หุ้นในสัดส่วน 24.5% ,จำเลยที่ 2 (ณพ) ได้หุ้นสัดส่วน 51% และกรณ์ ได้หุ้นในสัดส่วน 24.5% ของหุ้นที่ซื้อมา (ณพ ทำสัญญาซื้อหุ้นวินด์ฯ จาก นพพร คิดเป็นสัดส่วน 59.46% ของหุ้นในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯทั้งหมด)

ต่อมาโจทก์ (เกษม) ,กฤษณ์ ,จำเลยที่ 2 (ณพ) และพวกรวม 13 คน ถูก นพพร ฟ้องในความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ และได้รับแจ้งว่า ศาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ห้ามโจทก์ (เกษม) โอนหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ที่ บริษัท โกลเด้น มิวสิคฯ ถืออยู่

โจทก์ (เกษม) จึงทราบว่า โจทก์ เป็นเจ้าของหุ้นบริษัท โกลเด้น มิวสิคฯ ซึ่งถือหุ้นในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ อีกทั้งโจทก์ (เกษม) กฤษณ์ และกรณ์ ไม่เคยทราบเลยว่า จำเลยที่ 2 (ณพ) ได้เอาหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ไปซุกที่ต่างประเทศ และโอนให้ จำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว)

นอกจากนี้ โจทก์ (เกษม) ยังทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ว่า ก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าของหุ้น บริษัท โกลเด้น มิวสิคฯ นั้น บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด (เดิม คือ บริษัท นิวเอเบิล เอนเนอยีฯ) ได้ทำสัญญาขายหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ให้แก่โจทก์ ในราคา 2,400 ล้านบาท ซึ่งโจทก์ไม่เคยจ่ายเงินดังกล่าว และไม่รู้ว่ามีการจัดตั้ง บริษัท โกลเด้น มิวสิคฯ

1 ป ม 12 เด อนก บ 20 บาทของคำพ พากษา
(เกษม ณรงค์เดช ,กฤษณ์ ณรงค์เดช , กรณ์ ณรงค์เดช และทนายความสำนักงานกฎหมายเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เปิดคฤหาสน์ 3 ชั้น ในซอยสุขุมวิท แถลงข้อเท็จจริงการฟ้องร้องคดีความซื้อขายหุ้น บริษัท วินด์เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เมื่อช่วงสายของวันที่ 12 ธ.ค.2561)

@‘ณพ’ อ้างเป็นผู้ดำเนินการหาเงินลงทุน ‘หุ้นวินด์’ เองทั้งหมด

ขณะที่คำเบิกความของจำเลยทั้ง 3 (คุณหญิงกอแก้ว ,ณพ และสุรัตน์) นั้น จำเลยทั้ง 3 อ้างจำเลยที่ 2 (ณพ) เป็นพยานเบิกความ ว่า การซื้อหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ จาก นพพร นั้น จำเลยที่ 2 (ณพ) เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น และเงินที่ใช้ซื้อหุ้น ไม่ใช่เงินลงทุนของ โจทก์ (เกษม) และครอบครัวณรงค์เดช แต่เป็นเงินของจำเลยที่ 2 (ณพ) และเงินกู้ยืม ซึ่งล้วนเป็นเครดิตของ จำเลยที่ 2 (ณพ)

ส่วนสาเหตุที่ โจทก์ (เกษม) เคยมีชื่อเป็นเจ้าของหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ นั้น

ก็เพราะจำเลยที่ 2 (ณพ) จำเป็นต้องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามเงื่อนไขการปล่อยเงินกู้ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำเลยที่ 2 (ณพ) จึงต้องขายหุ้น บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด (เดิม คือ บริษัท นิวเอเบิล เอนเนอยีฯ) ให้แก่จำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว)

แต่เนื่องจาก จำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว) ไม่อยากออกหน้า จึงขอให้จำเลยที่ 2 (ณพ) หาบุคคลที่ไว้วางใจมาถือหุ้นแทนจำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว) จำเลยที่ 2 (ณพ) จึงขอให้โจทก์ (เกษม) เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ออกหน้าเป็นผู้ถือหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ เพียงช่วงเวลาหนึ่ง

โดยที่โจทก์ (เกษม) ไม่ต้องช่วยจ่ายค่าหุ้นและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆในหนี้สินที่เกี่ยวข้อง และเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศแล้ว จะมีการโอนหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ คืนให้จำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว) ทันที

@ที่มาเงิน 3 ก้อนลงทุนซื้อหุ้นวินด์ไม่เกี่ยวครอบครัว ‘ณรงค์เดช’

สำหรับเงินซื้อหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ฯก้อนแรก (10 ล้านเหรียญสหรัฐ) ที่มาจากธนาคารเอบีเอ็น อัมโบร (ที่สิงคโปร์) นั้น ณพ เบิกความว่า แม้ว่าเงินดังกล่าวจะเป็นเงินกู้ยืมจากบัญชีร่วม 3 คนพี่น้อง (กฤษณ์ ,ณพ และกรณ์) ซึ่งมีเงินในบัญชี 30 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีการกู้เพียง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และจำเลยที่ 2 (ณพ) กู้ยืมเงินเฉพาะส่วนของตน และได้ใช้คืนครบถ้วนแล้ว

ส่วนเงินกู้ยืมจากบริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่ง กฤษณ์ และกรณ์ เบิกความว่า คงทำเป็นนิติกรรมกู้ยืมเท่านั้น และเป็นการกู้ยืมระหว่างบริษัท เคพีเอ็น แลนด์ฯ กับบริษัท เคพีเอ็น เอ็นเนอยี โฮลดิ้งฯ ซึ่งความจริงแล้วเป็นเงินลงทุนที่ไม่ต้องใช้คืน นั้น

แต่ปรากฏว่า บริษัท เคพีเอ็น แลนด์ฯ ให้สำนักงานกฎหมายเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ มีหนังสือทวงหนี้ดังกล่าว และมีหลักฐานการผ่อนชำระคืนหนี้โดยเสียดอกเบี้ยตามสัญญา

ขณะที่หนี้ตามตั๋วแลกเงิน (2,000 ล้านบาท) จำเลยทั้ง 3 ก็มี พยานปาก กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.กองทุนรวมโซลาริส มาเป็นพยานเบิกความยืนยัน ว่า ปี 2558 บลจ.กองทุนรวมโซลาริส เป็นผู้ลงทุนขายตั๋วแลกเงินให้กับ บริษัท เคพีเอ็น เอ็นเนอยี โฮลดิ้งฯ รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท ใช้กองทุน 10-15 กองทุน

โดยพยานไม่รู้จัก โจทก์ (เกษม) , กฤษณ์ และกรณ์ เป็นการส่วนตัว และการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์จะพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ ความสามารถของผู้บริหาร ซึ่งพยานได้สัมภาษณ์ จำเลยที่ 2 (ณพ) และผู้บริหารของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ รวมทั้งพิจารณาความสามารถในการชำระคืนหนี้เท่านั้น

ขณะเดียวกัน การตัดสินใจลงทุนขายตั๋วแลกเงินของ บริษัท เคพีเอ็น เอ็นเนอยี โฮลดิ้งฯ ไม่ได้พิจารณาถึงเครดิตของครอบครัวณรงค์เดชเลย และช่วงเวลาลงทุนตั๋วแลกเงินของ บริษัท เคพีเอ็น เอ็นเนอยี โฮลดิ้งฯ นั้น ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง และบริษัทฯ ได้ทำการไถ่ถอนตั๋วแลกเงินตรงตามกำหนดทุกใบ

โดยโจทก์ (เกษม) ไม่ได้นำสืบหรือถามค้านให้เห็นว่า โจทก์ได้ร่วมใช้หนี้ตั๋วแลกเงินด้วยอย่างไร

คงมีแต่ กฤษณ์ ที่เบิกความอ้างว่า จำเลยที่ 2 (ณพ) กู้เงินจาก บริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด เอามาใช้หนี้ตั๋วแลกเงิน และภายหลัง สเตฟาน มิทเชล ลูกหนี้ของ กฤษณ์ เป็นคนชดใช้ให้ แล้วหักยอดหนี้ที่มีต่อ กฤษณ์

และเมื่อพิจารณาจากสัญญากู้ยืมเงินฯแล้ว ปรากฏเฉพาะจำเลยที่ 2 (ณพ) เท่านั้น ที่เป็นผู้กู้ยืมตามสัญญา

เพียงแต่มีทรัพย์สินที่ กฤษณ์ และกรณ์ มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 2 (ณพ) จำนองเป็นหลักประกัน กับมีหุ้นของ สเตฟาน เป็นประกัน ซึ่งหลังจาก สเตฟาน ขายหุ้นที่ใช้เป็นหลักประกันแล้ว ก็หักหนี้ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ

จากนั้น บริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด ได้ทำหนังสือถึงจำเลยที่ 2 (ณพ) ว่า สเตฟาน ได้รับช่วงสิทธิไปแล้ว ซึ่งพยานเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังได้เพียงว่า สเตฟาน รับช่วงสิทธิในหนี้ดังกล่าวไปแล้ว จำเลยที่ 2 (ณพ) จึงเป็นลูกหนี้ของ สเตฟาน มิใช่ บริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด อีกต่อไป

ส่วน สเตฟาน จะเป็นหนี้ กฤษณ์ ทำให้ไม่มีการทวงหนี้ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 (ณพ) อันเป็นข้อพิสูจน์ว่า โจทก์ (เกษม) หรือ กฤษณ์ ได้ร่วมกันลงทุน ก็เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ กฤษณ์ เบิกความกล่าวอ้างลอยๆ สเตฟาน จะเป็นหนี้ กฤษณ์ จริงหรือไม่ และจะไม่ทวงหนี้จำเลยที่ 2 (ณพ) จริงหรือไม่ ไม่อาจรับฟังได้

อีกทั้งมิใช่ข้อที่พิสูจน์เรื่องการลงทุนด้วยการจ่ายค่าหุ้นตามสัญญาฉบับแรก จำนวน 89.25 ล้านเหรียญสหรัฐแต่อย่างใด

ส่วนค่าหุ้นตามสัญญาฉบับที่ 2 กฤษณ์ เบิกความว่า พยานทราบดีว่าจำเลยที่ 2 (ณพ) ได้ขายหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ประมาณ 13% ให้แก่ ประเดช กิตติอิสรานนท์ แล้วนำไปจ่ายค่าหุ้นให้กับ นพพร ซึ่งพยานเห็นว่าหุ้นเป็นของครอบครัวณรงค์เดชต้องแบ่งให้คนในครอบครัวเสียก่อน เท่านั้น

นอกจากนี้ พยานหลักฐานโจทก์ (เกษม) ก็ไม่ปรากฏว่ามีเงินค่าหุ้นส่วนใด ที่โจทก์หรือครอบครัวณรงค์เดชลงทุนอีก

@‘ไทยพาณิชย์’ปล่อยกู้ 3 หมื่นล. ไม่เกี่ยวครอบครัวณรงค์เดช

สำหรับค่าความน่าเชื่อถือหรือเครดิต ที่ โจทก์ (เกษม) อ้างว่า จำเลยที่ 2 (ณพ) ใช้เครดิตของโจทก์ในการขอสินเชื่อจำนวน 3 หมื่นล้านบาท จากธนาคารไทยพาณิชย์ นั้น

แม้โจทก์ ,กฤษณ์ และกรณ์ เบิกความยืนยันว่า ให้ พล.อ.ชยุต สุวรรณมาต (หลานของโจทก์) ช่วยเหลือ โดยการไปขอสินเชื่อพร้อมกับจำเลยที่ 2 (ณพ) ซึ่งเป็นการขอสินเชื่อในนามโจทก์และครอบครัวณรงค์เดช ไม่ใช่ในนามส่วนตัวของจำเลยที่ 2 (ณพ)

แต่พยานปาก พล.อ.ชยุต เพียงแต่เบิกความรับว่า พยานกับจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้เจรจาขอสินเชื่อกับธนาคาร โดยไม่มีข้อเท็จจริงอื่น และเหตุที่พยานเชื่อว่าโจทก์ (เกษม) เป็นผู้ลงทุนในหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ เพราะบริษัทที่ถือหุ้นมีชื่อเคพีเอ็น

ส่วนในเรื่องสินเชื่อของ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ นั้น ได้ความจากพยานจำเลยปาก รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ว่า การให้สินเชื่อแก่บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ เป็นการให้สินเชื่อโปรเจคไฟแนนซ์หรือสินเชื่อโครงการ ซึ่งต่างจากสินเชื่อทั่วไป

ธนาคารจะให้เงินกู้ไปที่โครงการเพื่อให้โครงการนำเงินไปพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานลมจนเสร็จ จนสามารถขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ.ได้ ธนาคารจึงพิจารณาเฉพาะตัวโครงการและผู้บริหารโครงการเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับ พล.อ.ชยุตหรือครอบครัวณรงค์เดชเลย อีกทั้งในการสินเชื่อให้กับบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ทั้ง 8 โครงการ ไม่มีโจทก์ (เกษม) กฤษณ์ กรณ์ และครอบครัวณรงค์เดช เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาให้สินเชื่อ

@ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ‘บ.วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ’ ปิดทาง ‘นพพร’

จำเลยทั้ง 3 (คุณหญิงกอแก้ว ,ณพ และสุรัตน์) ยังเบิกความถึงเหตุที่ โจทก์ (เกษม) มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ทั้งที่หุ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ถือโดย บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่จำเลยที่ 2 (ณพ) ถือหุ้นเพียงคนเดียว

และบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ก็ถูกถือหุ้นโดยบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี โฮลดิ้งฯ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 (ณพ) เป็นผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียว และบริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเม้นท์ ที่มีจำเลยที่ 2 (ณพ) เป็นผู้รับผลประโยชน์เพียงผู้เดียว ว่า

เนื่องจาก บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเม้นท์ฯ ของจำเลยที่ 2 (ณพ) ถูก บริษัท ซิมโฟนี พาร์ทเนอร์ส ลิมิเต็ดฯ ของ นพพร ฟ้องร้องที่อนุญาโตตุลาการประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ กำลังทำโครงการ ‘วะตะแบก’ ลงทุนด้วยเงินลงทุนไปแล้ว 1,500 ล้านบาท อีก 2,500 ล้านบาท รอธนาคารไทยพาณิชย์ อนุมัติปล่อยกู้

แต่การที่ นพพร เป็นผู้ต้องหาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฟ้องจำเลยที่ 2 (ณพ) เพื่อขอยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น อาจทำให้ นพพร กลับมาอยู่ในโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ได้ ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ ไม่มีนโยบายปล่อยกู้ให้กับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงหยุดปล่อยสินเชื่อ จนกว่า นพพร จะไม่มีโอกาสกลับเข้ามาอยู่ในโครงสร้างของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ

ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวใกล้ถึงวันครบกำหนดจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.แล้ว หากไม่สามารถทำได้ ก็จะผิดสัญญา ต้องเสียค่าปรับและอาจถูกบอกเลิกสัญญา รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อโครงการพลังงานลมอีก 5 โครงการ

1 ป ม 12 เด อนก บ 20 บาทของคำพ พากษา
(โครงการพลังงานลมวะตะแบก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ)

จำเลยที่ 2 (ณพ) จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากปรับโครงสร้างบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ โดยให้บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ออกไป เพื่อปิดโอกาสไม่ให้ นพพร กลับเข้ามาอยู่ในโครงสร้างของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

จากนั้นจำเลยที่ 2 (ณพ) จึงขอให้จำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว) ช่วยซื้อหุ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ จำนวน 59.46% ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงช่วยจำเลยที่ 2 ซื้อหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ แต่ไม่ต้องการเปิดเผยให้คนอื่นรับรู้

และขอให้จำเลยที่ 2 (ณพ) หาคนที่ไว้วางใจออกหน้าเป็นผู้ถือหุ้นแทนจำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว) จำเลยที่ 2 (ณพ) จึงขอให้โจทก์ (เกษม) เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ แทนจำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว) ระยะหนึ่ง แล้วจะรีบจัดตั้งบริษัทต่างประเทศเพื่อโอนหุ้นออกไป โดยจำเลยทั้ง 3 มี รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เบิกความยืนยันถึงเหตุที่ต้องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น

ขณะที่ พยาน ซึ่งเจ้าของสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง เบิกความสนับสนุนว่า การปิดโอกาสไม่ให้ นพพร กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ มีเพียงวิธีการเดียว คือ ต้องขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ออกไป และการขายหุ้นต้องทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนในราคาที่แท้จริง

และเนื่องจากพยานทราบตั้งแต่แรกแล้วว่า จำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว) จะช่วยจำเลยที่ 2 (ณพ) ซื้อหุ้น แต่ไม่ต้องการเปิดเผย จึงให้โจทก์ (เกษม) เป็นตัวแทน พยานได้เป็นผู้ทำสัญญาแต่งตั้งผู้แทนตามเอกสารหมาย จ.15 แล้วมอบให้แก่จำเลยที่ 2 (ณพ) แต่พยานไม่เห็นขณะโจทก์ (เกษม) ลงลายมือชื่อเท่านั้น

นอกจากนี้ สำนักงานของพยานยังได้ทำเอกสารที่เกี่ยวกับการจัดตั้ง บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ดฯ ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่เรียกกันว่า One Dollar Company รับโอนหุ้นจากโจทก์ (เกษม) และยังแนะนำให้ใช้วิธีแลกหุ้นหรือทำ share swap เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าหุ้น

วิธีการ คือ ให้โจทก์ (เกษม) โอนหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ให้แก่ บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ดฯ แล้วเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ ทางอ้อมผ่านทางบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ดฯ

และหลังจากตรวจสอบกับบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด ว่า จำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว) จ่ายเงินค่าหุ้นจำนวน 2,400 ล้านบาท ครบถ้วนแล้ว ก็จัดการโอนหุ้นบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ดฯ ไปให้แก่จำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว)

ทั้งนี้ แม้ว่าพยานปาก รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ และพยานจากสำนักงานกฎหมาย จะเป็นพยานฝ่ายจำเลย

แต่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือความสัมพันธ์พิเศษกับจำเลยที่ 1 (คุณหญิงกอแก้ว) และจำเลยที่ 2 (ณพ) คงเบิกความเฉพาะส่วนที่ตนรับรู้และรับผิดชอบในฐานะผู้ให้สินเชื่อและสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สอดคล้องกับพยานเอกสารที่ปรากฏ มิได้มีผลประโยชน์อื่นที่ต้องสุ่มเสี่ยงเบิกความอันเป็นเท็จเพื่อช่วยเหลือฝ่ายจำเลย คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

@หุ้นวินด์เป็นทรัพย์ ‘กงสี’ หรือไม่ ต้องไปว่ากันในศาลแพ่ง

“เมื่อนับแต่วันที่ 25 เมษายน 2559 เป็นต้นมา โจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารมากมายหลายฉบับในหลายช่วงเวลา มิใช่เพียงเอกสาร 3 ฉบับ ที่เป็นปัญหาพิพาทในคดีนี้ ตามที่โจทก์เคยให้การไว้ต่อศาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เอกสารหมาย ล.30 และตามที่ปรากฎในรายชื่อเอกสารที่ส่งเป็นตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์

ไม่ว่าหนังสือมอบฉันทะลงวันที่ 23 สิงหาคม 2559 หนังสือเรื่องแจ้งการโอนหุ้นในบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ลงวันที่ 25 เมษายน 2559 ตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 25 เมษายน 2559 หนังสือมอบฉันทะลงวันที่ 30 กันยายน 2559 ตราสารการโอนหุ้นลงวันที่ 22 มีนาคม 2561 สัญญาซื้อขายหุ้นลงวันที่ 22 มีนาคม 2561

จดหมายแสดงความจำนงเกี่ยวกับการซื้อหุ้น ลงวันที่ 20 กันยายน 2559 ใบหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หลักฐานการโอนหุ้นให้แก่นางเอมมา นายธันว์และนายอามาน ผู้บริหารของบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือหลักฐานการมอบอำนาจให้ขายหุ้นบางส่วนแก่นายประเดช ซึ่งล้วนเป็นเรื่องการจัดการหุ้นบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด

การทำหน้าที่ผู้ถือหุ้น การใช้ประโยชน์จากหุ้น การจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นให้แก่ผู้บริหาร การแบ่งขายหุ้นตลอดจนการโอนหุ้นคืนจำเลยที่ 1 ซึ่งมีเพียงโจทก์เท่านั้นที่จะทำความจริงให้ปรากฏ แต่เมื่อโจทก์ไม่มาเบิกความต่อศาลให้ปรากฏข้อเท็จจริงตามฟ้อง พยานผู้เชี่ยวชาญก็ยันกันจนไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ดังที่ได้วินิจฉัยมา

ลำพังลายมือชื่อในเอกสารทั้งสามฉบับที่เป็นปัญหา ซึ่งมิได้ผิดแผกแตกต่างถึงขนาดให้เห็นชัดเจนว่า เป็นลายมือชื่อปลอม เงินที่จำเลยที่ 2 ใช้ซื้อหุ้นและได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากโจทก์และครอบครัว ก็เป็นเงินกู้ยืม

แม้จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งครอบครัวณรงค์เดช และการทำธุรกิจของครอบครัวก็เป็นแบบกงสีอย่างที่นายกฤษณ์และนายกรณ์เบิกความก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว ต้องรับผิดชอบภาระหนี้และภาระในการบริหารจัดการ ก็ย่อมไม่ใช่การร่วมลงทุนในความหมายของกฎหมาย และต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง

ประกอบกับมีความจำเป็นในการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของหุ้นบริษัทวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลตั้ง จำกัด ในช่วงเวลาหนึ่งดังที่กล่าวมา

พยานหลักฐานโจทก์เพียงเท่าที่นำสืบมา จึงไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า หนังสือแต่งตั้งตัวแทน ตราสารการโอนหุ้นบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จำกัด และหนังสือสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเด็ด จำกัดเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.17 เป็นเอกสารปลอม

เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยดังกล่าวการใช้เอกสารทั้งสามฉบับ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม กรณีต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง เช่นกัน พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2497/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ 3518/2561 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2565 ระบุ

เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของหุ้น ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ’ มูลค่านับหมื่นล้านบาท จากคำพิพากษาของศาลอาญาชั้นต้น และยังคงต้องติดตามต่อไปว่าการสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์จะเป็นอย่างไร