กรณ ความอาญาไม ม หล กทร พย ประก นต ว

กฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาอยู่ในสปอตไลท์การเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากที่ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปีโดยไม่รอลงอาญา รักชนก ศรีนอก สส.พรรคก้าวไกล จากความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าตลอดปี 2566 มีผู้ถูกคุมขังจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 แล้วอย่างน้อย 47 ราย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกรณีที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการสู้คดี ซึ่งนำมาสู่คำถามว่ามาตรฐานและสถานการณ์ของการให้ประกันตัวในคดีที่เกี่ยวข้องกับ ม.112 ในไทยเป็นอย่างไร

“การประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกรองรับเอาไว้ตามรัฐธรรมนูญ อยากเรียกร้องให้ศาลพิจารณาให้นักโทษหรือผู้ต้องหาคดี ม.112 ได้รับการประกันตัวด้วย มันไม่ใช่เรื่องที่มากเกินไป มันคือสิทธิที่ถูกรองรับเอาไว้ตามรัฐธรรมนูญ” รักชนก กล่าวต่อสื่อมวลชนหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

บีบีซีไทย ชวนผู้อ่านไปสำรวจสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการประกันตัว ในคดีที่เกี่ยวข้องกับ ม.112

กรณ ความอาญาไม ม หล กทร พย ประก นต ว

ที่มาของภาพ, EPA-EFE/REX/Shutterstock

คำบรรยายภาพ,

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวรักชนก ในวันเดียวกับที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก ทำให้เธอยังคงสถานะความเป็น สส. เอาไว้

ผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่ยังไม่ได้รับประกันตัว มีมากแค่ไหน

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ได้รับการประกันตัวทั้งสิ้น 15 ราย

ยกตัวอย่างเช่น วารุณี (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กภาพรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรงของพระแก้วมรกตเป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว หรืออีกกรณีหนึ่งคือ จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปีโดยไม่รอลงอาญา จากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่องการผูกขาดวัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์, ตั๋วช้าง และคำปราศรัยของแกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในระหว่างสู้คดีเช่นกัน

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า ตามหลักการแล้ว การประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานที่จำเลยควรได้รับ ไม่ควรมีการแบ่งแยกว่าบุคลเหล่านั้นเป็นจำเลยของคดีมาตรา 112 หรือคดีอาญาอื่น ๆ โดยทั่วไป

นักวิชาการด้านกฎหมายผู้นี้มองว่า เมื่อผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ถูกริบสิทธิการประกันตัวไป ผลลัพธ์ที่ตามมาคือผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกฎหมายมาตรานี้ รวมถึงต่อกระบวนการยุติธรรม

“คนรู้สึกว่ามันไม่ปกติ ยิ่งพอไปเปรียบเทียบกับการดำเนินคดีอาญาภายใต้ความผิดมาตราอื่น ๆ หรือฐานอื่น ๆ ก็จะเห็นได้ชัดว่าทำไมความผิดที่ลักษณะมันมีความร้ายแรงกว่าได้รับการประกันตัว หรือได้รับโทษที่น้อยกว่า” รศ.ดร.มุนินทร์ ระบุ

กรณ ความอาญาไม ม หล กทร พย ประก นต ว

ที่มาของภาพ, EPA-EFE/REX/Shutterstock

คำบรรยายภาพ,

กลุ่มนักกิจกรรมเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมือง รวมถึงให้สิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดี 112 ด้านหน้ากระทรวงยุติธรรม เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 66

การตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางขึ้น

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้มีแค่เรื่องในเชิงหลักการของกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการบังคับใช้ และการตีความกฎหมายที่กว้างขวางขึ้นในการดำเนินคดีกับผู้ถูกฟ้องร้องด้วย

รศ.ดร.มุนินทร์ ยกตัวอย่างกรณีการให้เหตุผลของศาลต่อคดีของ รักชนก ว่า มีการให้เหตุผลช่วงหนึ่งที่ศาลระบุว่า รักชนกในฐานะจำเลย ไม่ขวนขวายที่จะนำหลักฐานมาแสดงความบริสุทธิ์ของตนในชั้นสอบสวน ซึ่งถือเป็นการผิดวิสัยของบุคคลทั่วไปในฐานะปวงชนชาวไทย

นักวิชาการผู้นี้มองว่า แนวทางการให้เหตุผลเช่นนี้ของศาลเป็นสิ่งใหม่ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน เนื่องจากหลักการพื้นฐานของการพิสูจน์ความผิดในกฎหมายอาญานั้น หน้าที่ของการพิสูจน์สืบพยานหลักฐานให้สิ้นสงสัยเป็นของฝ่ายโจทก์ ไม่ใช่ฝ่ายจำเลย และต้องคิดอยู่บนฐานที่ว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาล

“การให้เหตุผลแบบนี้มันตรงกันข้ามกับหลักการพื้นฐานของการพิสูจน์ความผิดในคดีอาญา ซึ่งปกติแล้ว คนที่กล่าวหา ซึ่งก็คือฝั่งอัยการ มีหน้าที่ที่จะต้องนำสืบเอาพยานหลักฐานมาโน้มน้าวให้ศาลเชื่อจนสิ้นสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิด แต่จากเหตุผลที่ศาลให้เหมือนกับว่า ภาระของการพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์ มันเลยกลายเป็นของจำเลยแทน” รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าว

กรณ ความอาญาไม ม หล กทร พย ประก นต ว

ที่มาของภาพ, EPA-EFE/REX/Shutterstock

คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมถือป้ายประท้วงที่บริเวณหน้ารัฐสภา ไม่เห็นด้วยกับ ม.112 ในช่วงไม่กี่วันหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 66

ทางด้าน สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา มีมุมมองต่อเรื่องนี้แตกต่างออกไป โดยเขายืนยันกับบีบีซีไทยว่า เขามองไม่เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ไม่ว่าจะในแง่ของหลักการ วิธีการบังคับใช้ หรือการตีความต่าง ๆ อีกทั้งยังแสดงทัศนะด้วยว่า กระบวนการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรานี้ ถูกออกแบบให้รัดกุมมากขึ้นแล้ว หลังจากมีคณะกรรมการกลั่นกรองที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสามารถลดการฟ้องร้องที่ไม่จำเป็นได้พอสมควร

“ทั้งตัวหลักการและกระบวนการของกฎหมายมาตรา 112 ยังไม่ได้มีปัญหาอะไร เรามีคณะกรรมการระดับตำรวจพิจารณาอยู่แล้วว่าบางข้อหาที่มาแจ้งกับตำรวจนั้นควรรับฟ้องหรือไม่ และยังมีคณะกรรมการที่ร่วมกันของกระบวนการยุติธรรม และของอัยการเยอะอยู่ ถ้าเราบริหารกระบวนการณ์ตรงนี้ให้ดี เรื่องเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขหลักการ หรือแก้ไขกฎหมายมาตรา 112” สว. ผู้นี้ระบุ

สมาชิกวุฒิสภาที่หลายฝ่ายมองว่ามีแนวคิดอนุรักษนิยมผู้นี้ ยังย้ำด้วยว่า กฎหมาย ม.112 ยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมไทย ในฐานะกฎหมายอาญาที่ทำหน้าที่คล้ายกฎหมายป้องกันความมั่นคงของประเทศ

ทางออกที่ยั่งยืน

นับจากเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 239 คน ใน 258 คดี ตามการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตัวเลขการดำเนินคดีในมาตรา 112 ที่สูงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมืองของตนเอง โดยตีความว่าคดี ม.112 เป็นส่วนหนึ่งของ “คดีทางการเมือง” ไปด้วย

สมชาย ชี้ว่าการให้สังคมและคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายได้ตกผลึกร่วมกันถึงที่ทางของกฎหมายมาตรา 112 ก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมาย หรือมีการนิรโทษกรรมใด ๆ คือสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องเกิดขึ้นในสังคมไทย

“ถ้าจะเดินต่อไปในเรื่องปรองดอง ผมสนับสนุนว่าให้ทุกฝ่ายทุกสีเสื้อมาตกผลึกร่วมกันก่อน” สมาชิกวุฒิสภาผู้นี้ ระบุ

กรณ ความอาญาไม ม หล กทร พย ประก นต ว

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

หัวหน้าพรรคก้าวไกลยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง ต่อประธานรัฐสภา 5 ต.ค.

ด้าน รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวว่าตนมีความหวังว่า ในอนาคตจะมีพื้นที่ตรงกลางสำหรับการถกเถียงเรื่องมาตรา 112 อย่างจริงจัง เพราะถ้าหากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปโดยไม่มีการแก้ไขใด ๆ ก็จะเกิดบาดแผลเป็นผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ ได้

“ต้องมีเวทีที่มาคุยกัน เพราะตัวหลักการของกฎหมายมีปัญหา การบังคับใช้ก็มีปัญหา ถ้าไม่มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาระยะยาว มันก็จะยิ่งมีปัญหาไปเรื่อย ๆ” รศ.ดร.มุนินทร์ ระบุ