การทดสอบความส ม นธ ของต วแปรเช งปร มาณก บเช งค ณภาพ

นักวิจัยเกษตรฯ รับทุนสนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาวัสดุนาโนคุณภาพสูง

เผยแพร่: 31 มี.ค. 2552 10:52 โดย: MGR Online

อาจารย์นักวิจัยภาควิชาเคมี ม.เกษตรได้ทุน Chair Professor จำนวน 20 ล้านบาท จากมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นคนแรก มุ่งพัฒนาวัสดุนาโนประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ หวังลดการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยามูลค่ากว่า 800 ล้านบาทต่อปี พร้อมพัฒนาการผลิตซีเมนต์คุณภาพสูง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เครือซิเมนต์ไทยเล็งนำผลงานไปใช้ทันที

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จัดพิธีมอบทุน "นาสดา แชร์ โปรเฟสเซอร์" (NSTDA Chair Professor) จำนวน 20 ล้านบาท ให้แก่ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อาจารย์และนักวิจัย ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในการทำโครงการวิจัยเรื่อง "การออกแบบและการผลิตวัสดุนาโนที่เป็นประโยชน์อย่างสูงต่ออุตสาหกรรม" เมื่อวันที่ 30 มี.ค.52 ณ ห้องเทเวศน์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนร่วมงานมากมาย รวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ศ.ดร.จำรัส เปิดเผยว่า โครงการวิจัยที่ได้รับทุนนี้ครอบคลุมงานวิจัย 4 โครงการใหญ่ ได้แก่ การศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีโครงสร้างระดับนาโนเมตร, การศึกษาคาร์บอนที่มีรูพรุนระดับนาโนเมตรและคาร์บอนนาโนทิวบ์, วัสดุผสมที่มีโครงสร้างระดับนาโนเมตรชนิดใหม่ และการผลิตอนุภาคนาโนด้วยเทคโนโลยีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสารละลายเหนือวิกฤต โดยมีทั้งหมด 15 โครงการย่อย

"ปัจจุบันในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีของประเทศไทย จำเป็นต้องนำเข้าซีโอไลต์ (Zeolites) ซึ่งเป็นสารประกอบของซิลิกอนและอะลูมิเนียม เพื่อใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา แต่หากเราสามารถผลิตได้เองในประเทศจะช่วยลดต้นทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในโครงการวิจัยที่ได้รับทุนนี้จะมุ่งเน้นในการพัฒนานาโนซีโอไลต์ให้มีรูพรุนขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดข้อจำกัดในการเร่งปฏิกิริยาของสารโมเลกุลขนาดใหญ่" ศ.ดร.จำรัสอธิบาย

ทั้งนี้ ซีโอไลต์นี้ไช้เป็นส่วนประกอบในผงซักฟอกเพื่อช่วยลดความกระด้างของน้ำ และยังสามารถใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการเปลี่ยนน้ำมันดิบให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ เปลี่ยนกากน้ำมันให้เป็นแก๊สโซลีนได้ หรือเปลี่ยนสารอื่นๆที่ไม่มีมูลค่าให้มีราคาสูงขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าซีโอไลต์ปีละกว่า 800 ล้านบาท แต่หากเราสามารถผลิตได้เองในประเทศ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น นักวิจัยจะศึกษาการปรับปรุงโครงสร้างของท่อคาร์บอนนาโนให้มีความบริสุทธิ์มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมได้หลายด้าน เช่น ใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจจับโมเลกุลของสารที่มีประสิทธิภาพและความไวสูง รวมถึงพัฒนากระบวนการผลิตซิเมนต์ให้มีความแข็งแรงและคงทนมากขึ้น 10-20 เท่า เพื่อลดปริมาณการผลิตซิเมนต์ให้น้อยลง เนื่องจากการผลิตซิเมนต์แต่ละครั้งจะมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากถึง 80% โดยได้รับทุนวิจัยเพิ่มเติมจากเครือซิเมนต์ไทย และในอนาคตจะพัฒนากระบวนการผลิตซิเมนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วย

ทั้งนี้ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ริเริ่มจัดตั้งโครงการทุน NSTDA Chair Professor กล่าวว่า การจัดตั้งโครงการ Chair Professor นี้เป็นโครงการนำร่อง ที่จะช่วยกระตุ้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วม ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศ

อีกทั้ง ยังเป็นการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเห็นคุณค่าของงานวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งหันมาสนใจลงทุนในด้านการศึกษากันมากขึ้น เพราะที่ผ่านมากลไกการสร้างนักวิจัยของประเทศไทยยังขาดแรงจูงใจ สิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัย และการเชื่อมโยงไปสู่ภาคการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

ทางด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการนี้ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของโครงการ Chair Professor คือ การสร้าง "ศาสตราจารย์ที่เป็นผู้นำกลุ่ม" ทั้งนี้ ความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนานั้นจะต้องอาศัยผู้นำในเชิงวิชาการที่จะสร้างให้เกิดความก้าวหน้า และสามารถประยุกต์ไปสู่ภาคการปฏิบัติจริงได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง และอยากให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มุ่งพัฒนางานวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยมีภาครัฐและเอกชนร่วมกันสนับสนุน ซึ่งโครงการในลักษณะนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมายในหลายประเทศ ทั้งเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐฯ

สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกนักวิจัยที่จะได้รับทุน NSTDA Chair Professor นั้น รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกจากโครงการวิจัย ที่เสนอเข้ามาหลายโครงการโดยนักวิจัยจากทั่วประเทศ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาจากคุณสมบัติของหัวหน้าโครงการ ศักยภาพของทีมวิจัย และศักยภาพของโครงการวิจัยในการเชื่อมโยงไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่ง ศ.ดร.จำรัส นับว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านวัสดุนาโนมานานกว่า 30 ปี มีผลงานตีพิมฟ์ในวารสารระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก และถูกจัดอยู่ใน 10 อันดับ งานวิจัยด้านซีโอไลต์ของโลกด้วย