ศ ลปะ ล ทธ น โอ-เอกซ เพรสช นน ซ ม

ศิลปะตะวันตกปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 : จากป๊อบอาร์ตสู่การเปลี่ยนแปลงแบบนิวเรียลลิสม์

โดย ผศ.ชัยณรงศ์ วิรุฬพัฒน์

สาขาวิชาครีเอทีพกราฟิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ BSRU

ประวัติและความเคลื่อนไหวของศิลปะตะวันตกศิลปะตะวันตกปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงศิลปะร่วมสมัย โดยเริ่มต้นจากศิลปินหัวก้าวหน้าในป๊อบอาร์ต ลัทธินิวเรียลลิสม์ ออพอาร์ต และมินิมอลอาร์ต จากนั้นสู่การเคลื่อนไหวในแนวทางการสร้างสรรค์ใหม่ด้วยแนวความคิด การแสดงออกอย่างมีส่วนร่วมและการใช้พื้นที่ เช่น แฮพเพ็นนิ่งอาร์ต เพอร์ฟอร์มานซ์อาร์ต จนถึงแนวทางแบบอินสตอลเลชั่นอาร์ต ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจความก้าวหน้า และความเคลื่อนไหวของศิลปะในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 สู่ศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน เนื้อหาในส่วนนี้จะอธิบายถึงศิลปะตะวันตกปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงความเคลื่อนไหวของป๊อบอาร์ตสู่การเปลี่ยนแปลงแบบนิวเรียลลิสม์ ในเบื้องต้นก่อน

ศิลปะสมัยใหม่ มักใช้เรียกการสร้างงานศิลปะตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงประมาณคริสต์ทศวรรษ 1970 และผลงานศิลปะในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิชาการ บางท่านเรียกว่า โพสต์-โมเดิร์น หรือศิลปะหลังสมัยใหม่ สำหรับผลงานศิลปะที่ทำบัดนี้เวลานี้ มักจะเรียกว่า ศิลปะร่วมสมัย (Contemporaru art) ก็จะเคลื่อนไปโดยไม่หยุดนิ่งกับที่ (กำจร สุนพงษ์ศรี, 2559, น. 156) เป็นผลงานที่มีลักษณะเป็นสากล และเป็นแนวทางของแต่ละบุคคลมากว่าที่จะเป็นแบบอย่างศิลปะแห่งแคว้น เป็นแบบที่มีความแตกต่างกันจนยากที่จะกล่าวอย่างผิวเผินได้ วัสดุและเทคนิคใหม่ ๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งผลผลิตของเครื่องจักรกลได้สะท้อนไปสู่งานศิลปะทำให้รูปแบบของศิลปะมีความหลายหลายมากยิ่งขึ้น

โพสต์-โมเดิร์นนิสม์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในงานเขียนชื่อ “อาร์คิเทคเจอร์ แอนด์ เดอะ สปิริต ออฟ แมน” (Architecture and the Spirit of Man) ของ โจเซ็พ ฮัดนอท (Joseph Hudnot) ในปี 1949 ต่อมาอีก 20 ปีให้หลัง ชาร์ลส์ เจนส์ (Charles Jencks) ช่วยทำให้แพร่หลายออกไป จนกระทั่งในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 นักวิจารณ์ศิลปะเริ่มใช้คำนี้บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นปกติ ในตอนนั้นคำว่า โพสต์-โมเดิร์น ยังคลุมเครืออยู่มาก แต่โดยมากแล้วบ่งบอกถึงการต่อต้านลัทธิสมัยใหม่ (โมเดิร์นนิสม์) นักทฤษฎีทั้งหลายเชื่อว่า การเปลี่ยนจากลัทธิสมัยใหม่ไปสู่หลังสมัยใหม่นั้นบ่งบอกถึง “สำนึก” ที่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมและระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจ มีเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมหาชนที่ทรงพลัง ในแง่ของการถ่ายเททางข่าวสารข้อมูล อิทธิพลทางศิลปะและวัฒนธรรม เช่น ภาพงานศิลปะในนิตยสารเข้าถึงผู้อ่านในระดับนานาชาติได้รวดเร็ว

การค้นคว้าแสวงหาแนวทางใหม่ของศิลปินตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 จนถึงปัจจุบัน

ลัทธิทุนนิยมในยุคหลังสมัยใหม่และหลังอุตสาหกรรมได้ทำให้ผู้บริโภคเกิดวิสัยทัศน์ใหม่ต่อประเด็นต่าง ๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพรมแดนของโลกตะวันออกและตะวันตกที่ถูกกำหนดขึ้นหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 และเรื่องการปฏิวัติ ในด้านสิ่งแวดล้อมโลก ที่เริ่มขึ้นระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นตัวที่ทำให้การเส้นแบ่งแยกระหว่างลัทธิ “สมัยใหม่” กับ “หลังสมัยใหม่” ชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกัน ได้เกิดเสียงเรียกร้องจากกลุ่มบุปผาชนหรือฮิปปี้ ต้องการให้โลกตระหนักถึง ภัยที่เกิดขึ้นจากการทำลายล้างธรรมชาติ รวมทั้งภัยจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม คำเตือนเหล่านั้นดูจะมีความจริงอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้จากการขาดแคลนน้ำมัน ขั้นวิกฤต ในต้นทศวรรษที่ 70 เป็นต้น (พรสนอง วงศ์สิงห์ทอง, 2547, น. 499)

ความคิดเกี่ยวกับลัทธิ “สมัยใหม่” ต้องการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปสู่ความเป็นสังคม ยุคอุตสาหกรรม แต่ “หลังสมัยใหม่” มีความปราถนาที่จะก้าวไปสู่ยุคอิเล็คโทรนิคมากกว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การทำงานศิลปะสมัยใหม่และทฤษฎีศิลปะต้องอยู่ในกฏเกณฑ์มากขึ้น มีกรอบที่ชัดเจนและแคบลงเกือบจะเหลือแค่ “ศิลปะกระแสหลัก” ที่เป็นแนวนามธรรมกระแสเดียว จากแนวคิดและรูปแบบของศิลปะลัทธิ มินิมอลอาร์ต (Minimalism) ที่ทำให้ศิลปินในช่วงนั้นกลับไปสู่ความเรียบง่ายอย่างถึงที่สุด จนเปรียบได้ว่ากลับไปที่เลขศูนย์เลยทีเดียว รูปทรงในศิลปะถูกลดทอนจนเปลือยเปล่า แทบจะไม่มีอะไรให้ดู

ศิลปะแบบหลังสมัยใหม่เติบโตขึ้นจากป๊อบอาร์ต (Pop Art) คอนเซ็ปชวลอาร์ต (Conceptual Art) และ เฟมินิสต์อาร์ต (Feminist art) อันเป็นนวัตกรรมของศิลปินในยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 โดยแท้ พวกหลังสมัยใหม่ ได้ทำการรื้อฟื้นรูปแบบ ประเด็นสาระ หรือเนื้อหาหลายอย่างที่ พวกสมัยใหม่เคยดูหมิ่นและรังเกียจที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง โรเบิร์ต เว็นทูรี (Robert Venturi) สถาปนิกในยุค 1960 ได้เขียนแสดงความเห็นในงานเขียนที่ชื่อ “คอมเพล็กซิตี้ แอนด์ คอนทราดิคชัน อิน อาร์คิเทคเจอร์” (Complexity and Contradiction in Architecture) (ปี 1966) เกี่ยวกับ “หลังสมัยใหม่” เอาไว้ว่า “คือปัจจัย (ต่างๆ) ที่เป็น “ลูกผสม” แทนที่จะ “บริสุทธิ์” “ประนีประนอม” แทนที่จะ “สะอาดหมดจด” “คลุมเครือ” แทนที่จะ “จะแจ้ง” และ “วิปริต” แทนที่จะ “น่าสนใจ” เป็นต้น

ด้วยกระแส ลัทธิหลังสมัยใหม่ ทำให้ศิลปะในแนวคิดนี้หันกลับไปหาแนวทางดั้งเดิมบางอย่างที่พวกสมัยใหม่ปฏิเสธไม่ยอมทำ เช่น การกลับไปเขียนรูปทิวทัศน์และรูปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และพวก หลังสมัยใหม่ ยังท้าทายการบูชาความเป็นต้นฉบับ ความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่เหมือนใครของพวกสมัยใหม่ ด้วยการใช้วิธีการที่เรียกว่า “หยิบยืมมาใช้” (Appropriation, แอ็บโพรพริเอชัน) มาฉกฉวย เอารูปลักษณ์ต่าง ๆ จากสื่อและประวัติศาสตร์ศิลป์ มานำเสนอใหม่ ในบริบทที่เปลี่ยนไปบ้าง ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง เสียดสีบ้าง ในแวดวงทฤษฎีเกี่ยวกับศิลปะ “หลังสมัยใหม่” ได้ยกเลิกการแบ่งศาสตร์ต่าง ๆ เช่น การแบ่งศิลปวิจารณ์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และสื่อสารมวลชนออกจากกัน โดยการนำเอาศาสตร์เหล่านั้นมาผสมร่วมกัน แล้วนำเสนอเป็นทฤษฎีหลังสมัยใหม่ เช่น งานทางความคิดของ มิเชล ฟูโค (Michel Foucault) ชอง โบดริยารด์ (Jean Baudrillard) และ เฟรดริค เจมสัน (Fredric Jameson)

งานศิลปะตะวันตกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน มีการเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม โดยเริ่มจากป๊อบอาร์ตสู่การเปลี่ยนแปลงตามแบบลัทธินิวเรียลลิสม์ และเกิดการเคลื่อนไหว การแสดงออกด้านความงามทางศิลปะกระบวนแบบแฮพเพ็นนิ่งอาร์ต เป็นต้น

ป๊อบอาร์ต (Pop Art) หรือ ศิลปะประชานิยม มีที่มาจากคำว่า Popular Art เป็นศิลปะ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วง ค.ศ. 1960 เป็นแบบของศิลปะอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพ ที่แท้จริงของสังคมปัจจุบัน คำว่า พ็อพ เป็นชื่อเรียกสิ่งสนใจชั่วคราวที่พุ่งขึ้นชั่วขณะหนึ่งในสังคม เป็นลักษณะจิตรกรรมที่ผสมกับงานปะติด สร้างสรรค์จากองค์ประกอบวัสดุต่าง ๆ ทั้งจากพานิชย์ศิลป์และสื่อมวลชน เช่น ภาพจากรูปโฆษณาสินค้า ดาราภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยม อาหาร เครื่องใช้ฯลฯ ป๊อบอาร์ตเริ่มจากอังกฤษและมีชื่อเสียงในอเมริกา มักจะเป็นความนิยมระยะเวลาสั้น ๆ งานศิลปะของป๊อบอาร์ต มีดังนี้

จิตรกรรม แนวความคิดและแนวทางสร้างสรรค์ของป๊อบอาร์ต ศิลปินพ็อพหยิบยืมภาพจินตนาการที่อยู่ในความนิยมจากแหล่งทางการค้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นจากสื่อสารมวลชนหรือจากชีวิตประจำวัน ใช้วิธีตรงกันข้ามกับแอ็บสแตรกต์เอกซเพรสชันนิสม์ในการกำหนดตัวประธาน มองงานศิลปะเป็นการขับสิ่งที่อยู่ภายในให้ปรากฏออกมา ศิลปินพ็อพใช้จิตใต้สำนึกมุ่งไปหาเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้ หลายคนถือว่าป๊อบเป็นการสบประมาทแนวความคิดของศิลปะที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และเป็นตัวทำลายมาตราฐานทางสุนทรียภาพ (พรสนอง วงศ์สิงห์ทอง, 2547, น. 421)

การสร้างงานในแนวป๊อบ สามารถทำได้โดยไม่จำกัดกลวิธี นอกจากจะนำวัสดุสำเร็จรูป เช่น กระป๋อง เสื้อ เก้าอี้ ฯลฯ มาใช้สร้างงานจิตรกรรมแบบสื่อผสมระหว่างสิ่งต่าง ๆ กับวัสดุนานาชนิด และนำสีอะคริลิก เป็นสีสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติสว่างสดใสแห้งเร็ว มาใช้แทนสีนํ้ามันแล้ว ยังใช้วิธีการระบายสีอย่างรุนแรงตามแบบฉบับของศิลปินแอ็บสแตรกต์เอกซเพรสชันนิสม์ หรือวิธีการวาดอย่างประณีตแบบโบราณ หรืออาจนำภาพถ่ายหรือศิลปะภาพพิมพ์หรือกลวิธีทางพาณิชยศิลป์ มาใช้ก็ได้ เรื่องราวและเนื้อหาที่นำมาใช้สร้างงานจิตรกรรมในกระบวนแบบศิลปะประชานิยมอาจนำมาจากภาพการ์ตูน เครื่องหมายจราจร กระป๋องใส่อาหาร ภาพโฆษณา ฯลฯ ล้วนได้พบเห็นกันอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน ภาพบุคคลที่สาธารณชนรู้จัก ดาราภาพยนตร์ เป็นต้น

การแสดงออกของป๊อบอาร์ต จะปรากฏอย่างหลากหลาย มีทั้งที่ต้องการเย้ยหยันถากถาง อารมณ์สนุกสนาน สัญลักษณ์ หรือ แง่คิดซ่อนเงื่อน ฯลฯ โดยมีศิลปินสำคัญ เช่น แจสเปอร์ จอนส์ (Jasper Johns) (ค.ศ.1930- ) และแอนดี วอร์โฮล (Andy Warhol) (ค.ศ.1928-1987) จิตรกรและประติมากรชาวอเมริกัน เป็นจิตรกรสำคัญของกลุ่ม (จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง, 2548, น. 19)

ลัทธินิวเรียลลิสม์ลิสม์ (New Realism) หรือ ลัทธิสัจนิยมใหม่ คือขบวนการศิลปะที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1960 โดยปิแยร์ เรสตานีย์ และศิลปินกลุ่มของ อีฟ แคลง ระหว่างนิทรรศการที่ห้องแสดงภาพอพอลลิแนร์ในมิลาน ปิแยร์ เรสตานีย์เป็นผู้เขียน “แถลงการณ์” (manifesto) ฉบับแรกสำหรับกลุ่มชื่อ “ประกาศบัญญัติของลัทธิสัจนิยมใหม่” (Constitutive Declaration of New Realism) ในวันที่ 16 เดือน เมษายน ค.ศ. 1960 ประกาศว่า “ลัทธิสัจนิยมใหม่ วิธีมองความเป็นจริงตามแนวใหม่” แถลงการณ์ร่วมได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1960 และเรียกกลุ่มของตนว่า “นิวเรียลลิสม์” มีจุดประสงค์พิทักษ์รักษาศิลปะสำนักปารีส ไม่ให้โน้มเอียงไปในทางอิทธิพลใหม่ ๆ จากศิลปะอเมริกา เท่ากับเป็นปรากฏการณ์ที่ศิลปินยุโรป รวมกลุ่มกันเพื่อเป็นปฏิปักษ์ต่อคตินิยมป๊อบอาร์ตของอเมริกา เหตุที่ใช้คำว่า “นิว” เพราะมีการเสนอความบริสุทธิ์และความง่าย แนบสนิทอยู่กับส่วนต่าง ๆ ของสัจจธรรม ดังเช่น พวกเขากำลังอยู่ในเวลานี้จริง ๆ เรสตานีกล่าวว่า “ลัทธินิวเรียลลิสม์เป็นเครื่องบอกสัจจธรรมทางสังคมศาสตร์ โดยปราศจากการตั้งใจจะถกเถียงใด ๆ ทั้งสิ้น” (กำจร สุนพงศ์ศรี, 2554, น. 517) ศิลปินสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ อีฟ แคลง (Yves Klein) อาร์มัง (Arman) แตงเกอลี (Jean Tinguely) ดูเฟรสเนอ (Dufrene) เซซ่าร์ (Cesar) และมันโซนี (Manzoni) เป็นต้น งานศิลปะของลัทธินิวเรียลลิสม์ลิสม์ มีดังนี้

จิตรกรรม ผลงานของ อีฟ แคลง ในช่วง ค.ศ. 1957 จุดเริ่มต้นของยุคสีฟ้า อีฟ แคลงได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานส่วนตัวในชื่อว่า Proposte monocrome, epoca blu ณ แกเลอรี่ อะโปลีแนร์ (à la Galerie Apollinaire) ที่มิลาน เขาได้แสดงผลงานจิตรกรรมโดยใช้สีฟ้าสีเดียวทั้งหมด ในปีเดียวกันได้ จัดแสดงผลงานอีกครั้งโดยเทคนิค Monochrome Proposition ที่บ้านไอริส เคลิท แกลลอรี่ (Iris Clert Gallery) เป็นรูปแบบเดียวกันกับที่เขาเคยจัดขึ้นที่มิลาน เป็นจุดสำคัญในการเริ่มต้นในยุคสีฟ้า มีการปล่อยลูกโป่ง 1,001 ลูกขึ้นบนท้องฟ้า ณ กรุงปารีส เขาเรียกการแสดงงานครั้งนี้ว่า Sculpture aérostatique

งานศิลปะชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง แสดงแนวความคิดใหม่ของแคลง จัดขึ้นที่โกไลแอต (Chez Colette Allendy) เช่น การใช้สีฟ้าเปล่า ๆ ในการทำงานศิลปะและการใช้สิ่งรอบตัวมาทำงานศิลปะ รวมทั้งใช้ไฟเผา เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ไฟเข้ามาในงานศิลปะ งานที่ไร้ตัวตนไม่มีจุดมุ่งหมาย จัดแสดงในชื่อว่า “การแสดงความว่างเปล่า” (Exhibition of Emptiness) โดยจัดขึ้นในห้องว่างเปล่าทาสีขาวสะอาดทั้งห้อง ผู้ชมมากกว่าสองพันคนเข้าไปในห้องเพื่อชมสิ่งที่เขาเรียกว่า เฟอนิสซาจ (Vernissage) อันได้แก่ ฝาผนังที่ว่างเปล่า (กำจร สุนพงศ์ศรี, 2554, น. 519)

ใน ค.ศ. 1960 แคลงจัดแสดงผลงานที่สถานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ (Galerie Internationalale d’Art Contemporatine) งานจัดแสดงครั้งนี้ได้มีการนำเพลง “ซิมโฟนีเสียงเดียว” (Monotone Symphony) ประพันธ์ขึ้นโดยแคลง ใช้เสียงแบบโทนเดียวในการบรรเลง 10 นาที ร่วมกับการแสดงผลงานในชื่อ Blue Anthoropometrics แคลง นำสีฟ้ามาทาร่างกายบนผู้หญิงเปลือย 3 คน จากนั้นนำร่างมากลิ้งเกลือกลงบนผืนผ้าซึ่งกางบนพื้นห้องรวมทั้งบนกำแพง เป็นการแสดงแนวความคิดใหม่ของเขา

แฮพเพ็นนิงอาร์ต หรือ คติฉับพลัน (Happening Art) เป็นกระแสศิลปะที่เริ่มในนครนิวยอร์ค ในราวต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ได้รับความนิยมจนถึงกลางทศวรรษที่ 1960 การเคลื่อนไหวศิลปะแนวทางนี้เริ่มจาก อลัน คาโพรว (Allan Kaprow) ดังนี้

งานศิลปะกระบวนแบบแฮพเพ็นนิง อลัน คาโพรว ได้ทำงานในลักษณะนี้เป็นครั้งแรกในปี 1959 เขาเรียกว่า เอททีน แฮพเพ็นนิง อิน ซิคส์ พาร์ตส์ (18 Happening in 6 Parts) ในนิทรรศการประกอบด้วยห้อง 3 ห้อง คนแสดงอ่านข้อความต่าง ๆ โดยมีท่าทางเหมือนเล่นละครใบ้ มีการระบายสี สีไวโอลิน และเป่าฟลุ๊ต คนดูย้ายจากห้องหนึ่งไปอีกห้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ คนดูได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ แฮพเพ็นนิง (ตามที่บอกไว้ในบัตรเชิญ) คนดูต้องค้นหาความหมายเองจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ดูเหมือนไม่เชื่อมโยงกันเท่าไร เขาแนะคนดูว่า “การแสดงไม่ได้มีความหมายชัดเจนตามสูตรใด ๆ” คาโพรว ให้คำจำกัดความของ “แฮพเพ็นนิง” ว่าเป็น “การผสม ผเสเหตุการณ์ต่าง ๆ แสดงและสามารถรับรู้ได้มากกว่าเวลาขณะเดียวและที่ที่เดียว” งานในลักษณะนี้จะเป็นงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ เกิดขึ้นโดยคนแสดงและคนดู ศิลปินที่ทำงานในลักษณะนี้ไม่ได้รวมกลุ่มกันอย่างชัดเจนและไม่เคยร่วมกันประกาศถ้อยแถลง (Manifesto) หรือประกาศเจตนารมย์หรือนโยบายของกลุ่ม

ลักษณะเด่นของงานแฮพเพ็นนิง คือการยอมรับความบังเอิญที่เกิดขึ้นขณะที่ทุกสิ่งกำลังดำเนินไป มีการใช้วิธีการ “ด้นสด” ในขณะที่กำลังแสดง บางทีก็มีดนตรีและเพลงเข้าร่วมด้วย ศิลปินสำคัญที่ร่วมทำงานแนวนี้และมีส่วนช่วยกระจายความคิดนี้คือ จอห์น เคจ (John Cage) จากการสอนที่ Black Mountain College และที่ North Carolina ทำให้มีลูกศิษย์แฮพเพ็นนิงมากมาย และศิลปินสำคัญในแนวทางนี้ ได้แก่ จิม ไดน์ (Jim Dine, 1935) เรด กรูมส์ (Red Grooms, 1937) อัล แฮนเซน (Al Hansen) อลัน คาโพรว (Allan Kaprow) เคลส์ โอลเด็นเบิร์ก (Claes Oldenburg, 1929) คาโรลี ชนีแมนน์ (Carolee Schneemann) โรเบิร์ต วิทแมน (Robert Whitman)

ตามที่ได้อธิบายไว้เบื้องต้น พอจะสรุปประเด็นสำคัญความเคลื่อนไหวของศิลปะช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ คือ วงการศิลปะสากลมีกระบวนการแห่งศิลปะที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย มีสไตล์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วง ค.ศ.1960 เช่น ป๊อบอาร์ต และมีการต่อต้านโต้ตอบความนิยมแบบพ็อพ เกิดลัทธินิวเรียลลิสม์และแฮ็พเพนนิ่งในเวลาถัดมาเข้าใจกันว่าอาจได้มาจากการแสดงตามแบบดาดาอิสม์ เป็นการสร้างเหตุการณ์ด้วยสื่อผสมในสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ

แนวทางของศิลปะสมัยใหม่เกิดจากแนวความคิดของศิลปินที่ต้องการนำเสนอ ความคิด ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความคิดของสังคมในบริบทใหม่ ที่มีเสรีภาพในการแสดงออกตามลัทธิหลังสมัยใหม่ ไม่ยืดถือรูปแบบ เป็นแนวคิดที่ศิลปินพยายามแสดงความรู้สึกที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม ผลงานศิลปะหลังสมัยใหม่เป็นการบันทึกความคิด ความรู้สึกของศิลปินที่มีต่อโลกสมัยใหม่ ทั้งในด้านสังคม ธรรมชาติ ความคิด การกระทำของคนในสังคม

นอกจากนั้น ศิลปะหลังสมัยใหม่ ยังมีแนวกลวิธีการสร้างงานด้วยอุปกรณ์และสื่อใหม่ ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ วีดิทัศน์ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ แสงไฟฟ้า และวัสดุเก็บตกหรือวัสดุพานพบ การใช้สื่อและวัสดุหลากหลายชนิดและหลายกลวิธีมารวมกันสร้างงาน โดยจะนำมาอธิบายเป็นเนื้อหาต่อไปให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของศิลปะจากแบบดั้งเดิมสู่ความแปลงใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

กำจร สุนพงษ์ศรี. (2554). ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง. (2548). ประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพฯ: คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

พรสนอง วงศ์สิงทอง. (2547). ประวัติศาสตร์นฤมิตศิลป์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาษาต่างประเทศ

Graham-Dixon, A. (2008). Art: The Definitive Visual Guide. (pp.197-327). London: Dorling Kindersley.

Heidelart. (n.d.). Allan Kaprow. Retrieved May 23, 2015, from https:// conceptualartwordpresscom. wordpress.com/2015/11/15/allan-kaprow.

Yves Klein – The Absence of Art. (n.d.). Retrieved May 23, 2015, from http://www. studiotreasure. com/artists/k/Yves_Klein.htm.

ประติมากร Expressionism มีใครบ้าง

นอกจากงานจิตรกรรมแล้ว ศิลปิน Abstract Expressionism ยังทำงานศิลปะในรูปแบบประติมากรรม เช่น ศิลปินอย่างริชาร์ด สแตนเควิตซ์ (Richard Stankiewicz) อิซามุ โนงุจิ (Isamu Noguchi) และ หลุยส์ บูร์ชัวร์ (Louise Bourgeois)

ทฤษฎีศิลปะไว้ซึ่งถูกรวบรวมไว้มีทั้งหมดกี่ทฤษฎี

ฮาโรลด์ เอ็ช ติตุส (Harold H.Titus) ได้ค้นคว้า และรวบรวมทฤษฎีศิลปะ (Theories of Art) ไว้ซึ่งพบว่ามีทั้งหมด 7 ทฤษฎีด้วยกัน ซึ่งการให้ความหมายของศิลปะก็แตกต่างกันไปตาม แนวความคิดหลักของทฤษฎีดังกล่าว พอสรุปดังต่อไปนี้ (http://www.sites.google.com)

Impressionism Art ใช้สีอะไร

ลักษณะภาพวาดแบบอิมเพรสชันนิสม์ มักเป็นการใช้พู่กันตวัดสีอย่างมีน้ำหนัก นิยมใช้สีสว่าง เพื่อให้ได้ภาพที่มีความเป็นธรรมชาติและมีชีวิตชีวา องค์ประกอบของอิมเพรสชันนิสม์มักให้ความสำคัญกับมุมมอง

Kind of Art มีอะไรบ้าง

ศิลปะโรโคโค (Rococo Art).

ศิลปะยุคฟื้นฟู ศิลปะบาโรก (Baroque Art) ศิลปะฟื้นฟูคลาสสิก หรือ “ศิลปะฟื้นฟูกรีกโรมัน” (Neo-Classical Art หรือ Neoclassicism) ... .

ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism Art) ศิลปะอิมเพรสชันนิสม์สมัยหลัง (Post-Impressionism) ... .

ศิลปะสมัยใหม่ (Modern art).

ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary art).