ตัวอย่าง การทำพาวเว่อพ้อย สำนักงานขอทุน พมจ.

“เทือก” โผล่ปัดฮั้วสร้างโรงพัก ยันประมูลโปร่งใส ฟ้อง “ธาริต” หมิ่นฯ

เผยแพร่: 7 ก.พ. 2556 14:32 โดย: MGR Online

“เทพเทือก” โผล่แจงข้อหาฮั้วสร้างโรงพัก หลังส่งทนายฟ้องหมิ่นประมาทคู่ปรับ “ธาริต” จ่อฟ้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบซ้ำอีกคดี หากมีการแจ้งข้อกล่าวหาจริง งัดเอกสารประมูลอี-อ็อกชันโชว์ แข่งขันเป็นรายวินาทีไม่มีฮั้ว พร้อมเตรียมฟ้องแพ่งเท่าราคาบ้านหรูอธิบดีดีเอสไอ ย้อนโครงการเริ่มสมัยรัฐบาลพลังประชาชน บริหารสัญญาในรัฐบาลเพื่อไทย ท้าดีเอสไอเร่งนำคดีขึ้นศาลพิสูจน์ความจริง ยันเรื่องนี้เป็นอำนาจ ผบ.ตร. แฉเงื่อนงำการเมือง เรียกสอบเฉพาะ 3 ผบ.ตร.เว้น “เพรียวพันธ์-อดุลย์” ทั้งที่เป็น ผบ.ตร.ต้องเป็นผู้บริหารโครงการให้ ส่อดิสเครดิตทางการเมือง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวหาทุจริตการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทนจำนวน 396 แห่งทั่วประเทศ และโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของข้าราชการตำรวจว่า เรื่องนี้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จึงไม่คิดว่าจะเกี่ยวข้องกับตนเองเพราะมีการมุ่งไปที่พ่อตานักการเมืองบางคนจึงไม่น่าจะเป็นจริงและไม่เกี่ยวกับตนจึงไม่ได้ลุกขึ้นชี้แจง หลังจากนั้นมีการทำเป็นขบวนการทั้งการเมือง และข้าราชการประจำ ผลัดกันพูดเพื่อให้ประชาชนเข้าใจตนผิด ตนก็พยายามที่จะหาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้ครบถ้วนเพื่อชี้แจงกับประชาชนและเอาไว้ต่อสู้คดีด้วย เพราะอธิบดีดีเอสไอออกมาแถลงข่าวหลายครั้งต่อเนื่อง พูดจาชี้นำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าตนทำการทุจริตโดยออกคำสั่งให้มีการประมูลจัดจ้างในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียวกีดกันรายอื่นๆ ถึงขนาดยกว่าการกระทำของตนอาจมีความผิดกรณีการฮั้วประมูล และมีนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยหลายคนทั้งที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เป็นกรรมการบริหารพรรคพูดจาให้ร้ายป้ายสีตนอย่างมากและต่อเนื่องกัน

นายสุเทพกล่าวว่า เป็นเรื่องตลกมากกับการแจ้งข้อกล่าวหาของนายธาริต เพราะเริ่มแรกบอกว่ามีการฮั้วราคา แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นว่าประมูลราคาต่ำเกินไป ซึ่งอาจเป็นเพราะรู้ว่าตนได้เอกสารทั้งหมดมาแล้ว จึงเปลี่ยนแปลงข้อกล่าวหาใหม่ ส่วนถ้าดีเอสไอเรียกไปให้ปากคำจะไปชี้แจงหรือไม่นั้น ต้องขอดูหนังสือก่อนเพราะไม่เชื่อถือนายธาริตอีกต่อไปแล้วว่าจะทำหน้าที่ด้วยความสุจริต จึงต้องดูว่าจะเชิญไปในฐานะอะไร เพราะเคยต้มมาแล้วว่าเป็นพยานจากนั้นเอาไปเป็นจำเลย จึงต้องตั้งหลักให้ดี เพราะมีเล่ห์เหลี่ยมมาก ดังนั้นหากเชิญตนในฐานะพยานก็คงต้องตัดสินใจอีกครั้งเนื่องจากมีเอกสารอยู่แล้วดีเอสไอสามารถไปอ่านเอาเองได้ โดยเชื่อว่าดีเอสไอมีเอกสารเหล่านั้นอยู่แล้วด้วย

“ผมฝากบอก ร.ต.อ.เฉลิม พูดให้มากๆ เอ่ยชื่อคนที่คิดว่าเกี่ยวข้องเลย แก่ขนาดนี้แล้วให้เด็กจารึกในวีรกรรมนี้หน่อย แต่ที่ผ่านมาพูดเพื่อทางการเมืองเท่านั้น จึงขอใช้สิทธิตามกฎหมายต่อสู้คดี แม้ว่าจะใช้เวลาพิจารณานานก็ไม่เป็นไร เพราะผมถูกกล่าวหาจนยับเยินอยู่แล้วก็ต้องยอมรับว่าเจอรัฐบาลแบบนี้ผมต้องเจ็บแน่นอน การพิสูจน์ในชั้นศาลไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็จะพิสูจน์ความจริงให้ได้ ผมเป็นนักสู้อยู่แล้ว ยืนยันไม่ทุจริต เอาชีวิตเป็นเดิมพันให้ประชาชน ไม่ใช่คนฉ้อโกง ไม่ทุจริต ไม่มีส่วนได้เสียแม้แต่บาทเดียว และให้รัฐรีบดำเนินคดีตามข้อเท็จจริงด้วย”

นายสุเทพชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างละเอียดว่า โครงการนี้ไม่ใช่โครงการที่ตนไปยัดเยียดให้ สตช.ดำเนินการ แต่เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน โดย ครม.ในขณะนั้นมีมติวันที่ 6 พ.ย. 2550 มีการอนุมัติในหลักการให้ สตช. และบริษัท ธนารัตน์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ร่วมกันดำเนินการก่อสร้าง ซึ่ง สตช.ตั้งกรรมการขึ้นมาร่วมพิจารณาและเห็นว่าถ้าดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าว ดำเนินการก่อสร้างจะทำให้ค่าใช้จ่ายโครงการสูงถึงกว่า 17,679 ล้านบาท เป็นภาระด้านงบประมาณของ สตช.มาก ทาง สตช.จึงเสนอใหม่ใช้งบตามปกติก่อหนี้ผูกพัน 3 ปีในวงเงิน 6,672 ล้านบาท ต่างกันถึง 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีการเสนอตั้งแต่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามารับหน้าที่นายกรัฐมนตรี มีการเสนอกลับเข้ามาใหม่ในวันที่ 9 มกราคม 2552 ตนนำเข้า ครม.วันที่ 22 มกราคม 2552 จากนั้นมีการพิจารณาใน ครม.วันที่ 17 ก.พ. 2552 เป็นวาระที่ 14 โดยมีการอนุมัติตามที่ สตช.เสนอ เมื่ออนุมัติเสร็จ สตช.ในขณะนั้นซึ่งมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร.ก็เตรียมการดำเนินโครงการนี้ต่อ ในวันที่ 29 พ.ค. 2552 พล.ต.อ.พัชรวาททำเรื่องถึงตนเรื่องแนวทางการจัดจ้างโครงการนี้ ลงวันที่ 29 ก.ค. 52 ให้ตนให้ความเห็นชอบในการดำเนินการจัดจ้าง โดยขอจัดจ้างโดยส่วนกลางแบบรวมครั้งเดียวสัญญาเดียวแล้วแยกเป็นรายภาค 9 ภาคให้สรรพาวุธตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ

อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวตนให้ความเห็นชอบในวันที่ 9 มิ.ย. 2552 ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาททำหนังสือมาอีก 1 ฉบับ ลงวันที่ 21 ส.ค. 2552 ขออนุมัติหลักการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ วันที่ 21 ก.ค. 2552 จัดจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาโดยส่วนกลางแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค ตนลงนามเห็นชอบตามที่ สตช.เสนอ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2552 ปรากฏว่าหลังจากที่ตนลงนามให้ความเห็นชอบในหนังสือ 2 ฉบับ ก็เป็นหน้าที่ของ สตช.ไปประกวดราคาจัดจ้างตามที่ขออนุมัติไป แต่มีการเปลี่ยนแปลงใน สตช. 2 เรื่อง คือ

1. มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนงาน สตช. ยกเลิกกองพลาธิการ และสรรพาวุธตำรวจ ที่ได้รับมอบหมายให้ทำโครงการนี้ มีสำนักงานส่งเสริมกำลังบำรุงขึ้นมาทดแทน มีกองบังคับการโยธาธิการอยู่ในสังกัด เข้ามารับช่วงการทำงานต่อจากกองพลาธิการฯ 2. พล.ต.อ.พัชรวาทต้องพ้นหน้าที่ไป มีพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ มารักษาราชการแทน ผบ.ตร. โดยได้ทำหนังสือถึงตนวันที่ 18 พ.ย. 2552 ขออนุมัติหลักการในการดำเนินการประกวดราคาจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเนื้อหาแจ้งว่า 1. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการตำรวจทดแทน เป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.ในลักษณะโครงการเดียวผูกพันงบประมาณ 3 ปี จึงมีความจำเป็นต้องมีการประกาศประกวดราคาจัดจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ในครั้งเดียว และทาง สตช.ได้พิจารณาแล้วว่าวิธีนี้จะป็นวิธีที่เปิดกว้างให้ภาคเอกชนทุกรายสามารถเสนอราคาและแข่งขันได้อย่างเป็นธรรมในคราวเดียวกัน ทำให้ได้ผูประกอบการที่มีความพร้อมและมีความมั่นคงด้านการเงินแข่งกันเสนอราคา ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน

“สตช.ยืนยันด้วยว่าสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด สอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2552-2554 ที่สำคัญคือ สตช.ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการด้านสัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยกตัวอย่างว่าจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ สตช.ในอนาคต อาทิ การทิ้งงาน ซึ่ง สตช.จะต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคู่สัญญา ท้ายหนังสือฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ได้พิจารณาแล้วเพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยรวดเร็ว ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุฯ และเพื่อให้เป็นไปตามว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และระเบียบที่เกี่ยวข้องต้องเสนอยกเลิกอนุมัติเดิมเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2552 เพื่อขออนุมัติใหม่ให้ประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แทน ซึ่งตนลงนามอนุมัติและกำชับว่าห้ามรื้อทุบทิ้งอาคารเดิมให้เก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปเพราะในอนาคตจะของบสร้างใหม่ยาก ลงนามในวันที่ 20 พ.ย. 2552”

นายสุเทพกล่าวว่า หนังสือที่ สตช.เสนอให้ตน 3 ครั้ง มีความเห็นที่ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับ ผบ.ตร.ในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะต้องทำอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับกฎหมาย และประสิทธิภาพในการกำกับควบคุม ตนมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบในแง่นโยบายไม่มีหน้าที่ลงลึกไปว่าวิธีปฏิบัติจะต้องทำอย่างไร โดยยึดถือเอาความเห็นของ สตช.เป็นสำคัญ และอนุมัติตามข้อเสนอทั้งของ พล.ต.อ.พัชรวาท และของ พล.ต.อ.ปทีป ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ สตช. และการลงนามในสัญญาเสร็จสิ้นในยุค พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร. ซึ่งได้ทำหนังสือถึงตนรายงานเพื่อขอความเห็นชอบราคาและอนุมัติจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวจากการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์

อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประมูลดังกล่าวมีผู้สนใจมาซื้อแบบสิบราย และยื่นซองประกวดราคา 5 ราย คณะกรรมการประกวดราคาตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้วปรากฏว่า ครบถ้วนตามเงื่อนไขทางราชการ และระบุด้วยว่าทั้ง 5 รายไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน ในการเสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ บ.พีซีซี เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 5,848 ล้านบาท คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ไม่เกินราคากลางของราชการและวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจ จึงมีมติรับราคาดังกล่าว โดยสำนักงบประมาณก็ให้ความเห็นชอบด้วย และในหนังสือฉบับดังกล่าวยังยืนยันว่าดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุฯ และระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงเสนอมาที่ตนขอให้ความเห็นชอบราคาค่าก่อสร้างและอนุมัติให้จ้างบริษัทพีซีซีเป็นผู้ก่อสร้าง

“ข้อกล่าวหาที่พูดผ่านสื่อมวลชนหลายวันติดต่อกัน ว่าสิ่งที่ผมเซ็นอนุมัติไปตามข้อเสนอของ สตช.เป็นเหตุให้มีการฮั้วการประมูล กีดกันผู้ประมูลรายอื่นเพื่อประโยชน์ของผู้ประมูลรายนี้รายเดียวนั้น ยืนยันว่าไม่เคยรู้จักบริษัทพีซีซี ไม่เคยทราบว่าเป็นบริษัทของใคร ไม่เคยติดต่อไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ผมดำเนินการตามข้อเสนอที่ สตช.เสนอ และยืนยันว่าจะมีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมเป็นผลดีต่อราชการ ไม่มีเจตนาให้เกิดการฮั้วตามที่ดีเอสไอ และนักการเมืองพรรคเพื่อไทยกล่าวหาผม จึงได้ค้นหาหลักฐานพบว่า เอกสารที่มีการประมูลในโครงการนี้ตามระบบอี-อ็อกชัน มีการรายงานทุกนาทีของการกดราคา โดยเริ่มต้นการประมูลเวลา 11.00 น.ของวันที่ 29 ก.ค. 2553 และเสนอราคาลดลงเรื่อยๆ จนมาถึงผู้เสนอราคาช่วงสุดท้ายเวลา 11.29.8 น. หลักฐานนี้ยืนยันและจะไปสู้คดีกับนายธาริตในศาลว่ามีการแข่งขันกันทุกนาที ผู้รับเหมารายใหญ่ 5 ราย ไม่มีการฮั้วราคาอย่างที่นายธาริตกล่าวหา เพราะฉะนั้น การก่อสร้างจึงไม่มีการกีดกันผู้รับเหมาเพื่อประโยชน์ของรายหนึ่งรายใดโดยเฉพาะแต่มีการแข่งขันกันอย่างถูกต้อง”

นายสุเทพกล่าวว่า หลังประมูลเสร็จแล้วจากนั้นมีการทำสัญญาลงวันที่ 25 มี.ค. 2554 ตัวแทน สตช.คือ พล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ ผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง เป็นผู้ลงนามกับบริษัท พีซีซี มีหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารออมสิน 200 กว่าล้านบาท จึงเป็นเรื่องของ สตช.กับผู้รับเหมาซึ่งกำหนดเวลาเสร็จวันที่ 17 มิ.ย. 2555 หากไม่เสร็จจะมีค่าปรับวันละ 5.8 ล้านบาท เป็นสัญญาที่ทำก่อนการยุบสภาไม่กี่เดือน หลังจากนั้นการกำกับให้เป็นไปตามสัญญาเป็นหน้าที่การบริหารของรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องดำเนินการ เพราะพวกตนไม่ได้เป็นรัฐบาล เมื่อการก่อสร้างไม่เสร็จกลับมากล่าวหาว่าเป็นความผิดของพวกตนที่จัดให้มีการประมูล จึงไม่เป็นธรรม และไม่ถูกต้อง

นายสุเทพยังได้กล่าวขออภัยประชาชนถ้าใช้ดุลพินิจด้วยสุจริตใจแล้วทำให้เป็นปัญหาเดือดร้อนและถ้าพิจารณาอย่างเป็นธรรมจะเห็นว่าตนมีความปรารถนาดีต่อตำรวจ ต้องการให้มีที่ทำการใหม่และที่อยู่อาศัยใหม่ให้เสร็จโดยเร็ว แม้ว่าการปฏิบัติจะเป็นเรื่องของ สตช. แต่ก็ให้นโยบายว่าอย่าทุบอาคารเดิมทิ้ง สตช.ขออนุมัติเป็นรายๆ ว่าเก่ามาก ไม่มีสถานที่ก่อสร้างบ้าง กลายเป็นความเดือดร้อน

“ผมก็เสียใจและขออภัย แต่ไม่ยอมรับการใส่ร้ายป้ายสีว่ากระทำทุจริต เพราะไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้รับเหมา ไม่ได้สมคบคิดกับ ผบ.ตร.คนไหนทุจริตในเรื่องนี้ จึงพยายามหาเอกสารหลักฐานมาชี้แจงให้ครบถ้วน และต้องการให้คดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพราะกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีง่าย จึงยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เมื่อเช้านี้ต่อศาลอาญา ดำเนินคดีในฐานะที่หมิ่นประมาทใส่ร้ายผมด้วยการโฆษณาหลายครั้งหลายหน และรอดูพฤติกรรมต่อไปว่าจะทำในเรื่องนี้ต่ออย่างไร”

นายสุเทพตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ถ้านายธาริตทำหน้าที่โดยบริสุทธิ์ใจ ไม่จำเป็นต้องแถลงข่าวรายวันคู่กับนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และให้ข่าวป้ายสีพรรคประชาธิปัตย์และตนทุกวัน ซึ่งได้บันทึกเทปถอดคำสัมภาษณ์ไว้แล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวระหว่างตนกับนายธาริต แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตรงไปตรงมา ไม่มีหน้าที่ทำตัวเป็นสมุนรับใช้ทำร้ายคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาลจึงต้องปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเองว่าสิ่งที่กล่าวหาไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ การปฏิบัติงานของ สตช.ถ้าผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา ก็ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญา และขออภัยที่มาแถลงช้าจนทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามที่คิดร้ายใช้โอกาสใส่ร้ายตนหลายวัน เพราะรวบรวมข้อมูลด้วยความยากลำบากเนื่องจากเป็นฝ่ายค้าน นอกจากนี้ยังขอให้นายธาริตดำเนินคดีเรื่องนี้โดยเร็วและตั้งข้อหาได้เลย โดยเมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหาตนก็จะดำเนินคดีต่อนายธาริตเพิ่มอีกหนึ่งคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่นเดียวกับที่ตนและนายอภิสิทธิ์เคยดำเนินคดีกับนายธาริตมาแล้วจากกรณีที่ตั้งข้อกล่าวหาตนและนายอภิสิทธิ์ว่าร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล เพราะหากจะดำเนินคดีต่อตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรีนั้นต้องให้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ไม่ใช่อำนาจที่ดีเอสไอจะดำเนินการได้ อีกทั้งข้อกล่าวหาเรื่องการฮั้วยังไม่เป็นจริงด้วย จึงพร้อมที่จะนำเอกสารทั้งหมดไปสู้คดีกับนายธาริต เพราะมีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับการประมวลผลการประมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่มีการฮั้วใดๆ ทั้งสิ้น

นายสุเทพยืนยันด้วยว่า ไม่เคยเห็นเอกสารร้องเรียนของเอกชนที่ขอให้ทบทวนเรื่องการประมูลที่ส่วนกลาง และไม่ทราบว่าเหตุใดดีเอสไอจึงมีหนังสือดังกล่าว เพราะเพิ่งเคยได้ยินเรื่องนี้เมื่อดีเอสไอออกมาแถลงเท่านั้น ทั้งนี้ หากมีการร้องเรียนมาก่อนการประกวดราคาจริง ตนย่อมสั่งการให้ สตช.ทบทวนเรื่องดังกล่าว แต่ไม่เคยเห็นหนังสือเลย และไม่อยากกล่าวหาว่ามีการปั้นหลักฐานใหม่เพื่อกล่าวหาตนและนายอภิสิทธิ์หรือไม่ แต่เห็นว่าการดำเนินคดีทั้งหมดมีความผิดปกติมาตั้งแต่ต้น จงใจตัดตอนเนื้อหาไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับจุดตั้งต้นของโครงการและการบริหารสัญญาที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดนี้

“การพยายามดึงนายอภิสิทธิ์มาเป็นจำเลยในคดีนี้ เป็นการแสดงเจตนาชัดเจนว่าทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะนายอภิสิทธิ์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ถ้าตั้งข้อหาผมก็จะดำเนินคดีกับนายธาริตเพิ่มแน่นอน และเชื่อว่า พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.อ.ปทีป ก็ไม่เกี่ยวข้อง เพราะการประมูลเสร็จสิ้นในสมัย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร. แต่ผมไม่ได้กล่าวหาว่าใครผิด เพียงแต่สงสัยว่าเหตุใดดีเอสไอจึงไม่มีการพิจารณาผู้ที่ต้องบริหารสัญญาว่าทำไมไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับเอกชน โดยเห็นว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร.ในช่วงการบริหารสัญญาต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ผมจึงอยากให้มีการนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงต่อไป ผมฝากไปถึงนายธาริตด้วยว่า หากยังปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ หลังจากที่ผมชนะคดีอาญาแล้วจะดำเนินคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินให้เท่ากับบ้านหรูราคาหลักสิบล้านของนายธาริตด้วย เพราะที่ผ่านมาการกระทำของนายธาริตจงใจทำลายภาพลักษณ์การเมืองของผมและนายอภิสิทธิ์ ซึ่งผมก็ทำใจแล้วว่ามีรัฐบาลอธรรมก็จะถูกเล่นงาน จึงต้องพร้อมต่อสู้ทุกอย่าง”