ตัวอย่าง งาน วิจัย ใน ชั้น เรียน วิทยาศาสตร์

ตัวอย่าง งาน วิจัย ใน ชั้น เรียน วิทยาศาสตร์

ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีสาระสำคัญที่เน้นการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งในมาตรา 24 ได้กล่าวถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล มีการฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนดารสอนและแหล่งวิทยากรต่างๆ

มาตรา 30 ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สอน สมารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา

นอกจากนี้แนวทางการจัดหลักสูตรสถานศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กล่าวว่า เพื่อให้หลักสูตรบรรลุผลตามหลักการ ตุดหมาย โครงสร้างที่กำหนด สถานศึกษาต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ โดยการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรให้มีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายสอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน ให้ครูผู้สอนนำกระบวนการวิจัยมาผสมผสานหรือบูรณาการใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงคุณภาพและศักยภาพของผู้เรียน รวมทั้งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ มีขั้นตอนปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา การวางแผนแก้ปัญหาหรือพัฒนา การดำเนินการแก้ปัญหาหรือพัฒนา การเก็บรวบรวมข้อมูล การสรุปผล การแก้ปัญหาหรือพัฒนา การรายงานผลการเรียนรู้ และการนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้

ดังนั้นการวิจัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับครูที่เป็นครูมืออาชีพ ผลการวิจัยจะทำให้ทราบว่าจะจัดการศึกษาอย่างไร จึงถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด และได้รับการพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ครูจึงต้องศึกษาวิจัยให้ได้ข้อสรุปว่า การจัดการเรียนรู้อย่างไรจึงจะเสริมสร้างกระบวนการคิด การฝึกทักษะการเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ต้องสามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และสามารถทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน โดยเฉพาะในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ผลงานวิจัยในชั้นเรียน ของ ครูกอบวิทย์ พิริยะวัฒน์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โรงเรียนนนทรีวิทยา มีดังนี้

ปีการศึกษา 2552

ชื่องานวิจัย การศึกษาความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยรูปแบบการสอนแบบสืบเสาะ

หาความรู้ (5E) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรม

พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง ซากดึกดำบรรพ์

ผู้จัดทำ นายกอบวิทย์ พิริยะวัฒน์

ข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนนนทรีวิทยา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง ซากดึกดำบรรพ์ (Fossils)

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนนนทรีวิทยา แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 ซึ่งได้จากการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยวิธีการจับฉลากจากจำนวนนักเรียน 8 ห้องเรียน มา 1 ห้องเรียน ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง 46 คน

เครื่องมือที่ใช้เป็นแผนการจัดการเรียนรู้ โดยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ จำนวน 1 แผน เวลา 6 ชั่วโมง ชุดกิจกรรมการเรียนรู้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง ซากดึกดำบรรพ์ ( Fossils) และแบบวัดความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์

แบบแผนการทดลองแบบ One Group Pretest – Posttest Design

การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการทางสถิติ t – test Dependent Sample

ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง ซากดึกดำบรรพ์ (Fossils) หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน แบบจำลองแสดงความสัมพันธ์ ในการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์

ผู้จัดทำ นายกอบวิทย์ พิริยะวัฒน์ ข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนนนทรีวิทยา

บทคัดย่อ

สื่อการเรียนการสอน แบบจำลองแสดงความสัมพันธ์ในการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ได้ศึกษาวิธีการสร้างแบบจำลอง เกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ในการเคลื่อนที่ของ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพงและสามารถประกอบขึ้นได้ง่าย เพื่อทดแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่มีราคาแพงมาก ตลอดจน สามารถใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ

1. เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอน แบบจำลองแสดงความสัมพันธ์ในการเคลื่อนที่ ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์

2. เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ในสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ สาระที่ 7 เรื่อง ดาราศาสตร์และอวกาศ

ผลการศึกษา พบว่า

1. สื่อการเรียนการสอนแบบจำลองแสดงความสัมพันธ์ในการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์ สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้ถูกต้องและสอดคล้องกับทฤษฎีของความสัมพันธ์ในการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์

2. สื่อการเรียนการสอนแบบจำลองแสดงความสัมพันธ์ในการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์ มีคุณภาพทางด้านลักษณะทางกายภาพทั่วไป ลักษณะการใช้งาน และความเหมาะสม ในการนำไปประกอบการเรียนการสอน อยู่ในระดับ ดีมาก

ชื่อเรื่อง การประเมินหลักสูตร ในด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ของรายวิชา ว 21101 วิทยาศาสตร์ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนนนทรีวิทยา พุทธศักราช 2552 โดยใช้รูปแบบการประเมินหลักสูตรที่ใช้เทคนิคการวิเคราะห์แบบปุยแซงค์

ผู้จัดทำ นายกอบวิทย์ พิริยะวัฒน์ ข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนนนทรีวิทยา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการประเมินหลักสูตร ในด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ของรายวิชา ว 21101 วิทยาศาสตร์ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนนนทรีวิทยา พุทธศักราช 2552 โดยใช้รูปแบบการประเมินหลักสูตรที่ใช้เทคนิคการวิเคราะห์แบบปุยแซงค์ โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อเป็นการประเมินหลักสูตร ให้ทราบถึงคุณภาพของหลักสูตรในด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ของรายวิชา ว 21101 วิทยาศาสตร์ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนนนทรีวิทยา พุทธศักราช 2552 ผลการวิจัยพบว่า จากผลการวิเคราะห์กิจกรรมการเรียนการสอนและหาน้ำหนักแต่ละช่องของตารางวิเคราะห์ของปุยแซงค์ ได้ค่าคุณภาพของหลักสูตร (P.M.) เท่ากับ 6.228316 ซึ่งแปลผลได้ว่า กิจกรรมการเรียนการสอนของรายวิชา ว 21101 วิทยาศาสตร์ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนนนทรีวิทยา พุทธศักราช 2552 มีคุณภาพอยู่ในช่วงปานกลางหรือใช้ได้

ปีการศึกษา 2553

ชื่อเรื่อง การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง ป่าชายเลน และความตระหนักต่อป่าชายเลน ของนักเรียนโรงเรียนนนทรีวิทยา โดยการจัดกิจกรรมโครงการสนองพระราชเสาวนีย์ ลูกนนทรีอาสา ปลูกป่าชายเลน พิทักษ์นครหลวง

การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความตระหนักต่อป่าชายเลนของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมโครงการสนองพระราชเสาวนีย์ ลูกนนทรีอาสา ปลูกป่าชายเลน พิทักษ์นครหลวง ของนักเรียนโรงเรียนนนทรีวิทยา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เป็นสมาชิกชุมนุมนนทรีวิทยาสร้างจิตอาสา พัฒนาสิ่งแวดล้อม จำนวน 70 คน ได้จากการเลือกแบบเจาะจง ดำเนินการทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 ใช้เวลา12 ชั่วโมง การวิเคราะห์ข้อมูลโดยทดสอบความแตกต่างระหว่างคะแนนเฉลี่ยก่อนเและหลังทำกิจกรรม ด้วยการทดสอบค่าทีแบบ t-test for dependent samples ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า

1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องป่าชายเลน หลังเข้าร่วมกิจกรรมสูงกว่าก่อนร่วมกิจกรรมโครงการสนองพระราชเสาวนีย์ ลูกนนทรีอาสา ปลูกป่าชายเลน พิทักษ์นครหลวง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

2. ความตระหนักต่อป่าชายเลนหลังเข้าร่วมกิจกรรมสูงกว่าก่อนร่วมกิจกรรมโครงการสนองพระราชเสาวนีย์ ลูกนนทรีอาสา ปลูกป่าชายเลน พิทักษ์นครหลวง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

ชื่อเรื่อง การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กลวิธีเมตาคอคนิชันในการแก้โจทย์ปัญหาวิทยาศาสตร์ โดย นายกอบวิทย์ พิริยะวัฒน์

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และการจัดการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีเมตาคอคนิชันในการแก้โจทย์ปัญหาวิทยาศาสตร์

ประชากรเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 โรงเรียนนนทรีวิทยา จำนวน 60 คน จำนวน 20 ชั่วโมง ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จำนวน 2 ห้องเรียน แล้วสุ่มอย่างง่ายอีกครั้งหนึ่ง โดยวิธีจับฉลากเป็นกลุ่มทดลองที่ 1 ดำเนินการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และกลุ่มทดลองที่ 2 ดำเนินการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กลวิธีเมตาคอคนิชันในการแก้โจทย์ปัญหาวิทยาศาสตร์ โดยใช้แบบแผนการทดลองแบบ Nonrandomized control group pretest-posttest design เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์แบบปรนัยมีค่าความเชื่อมั่น .92 และแบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์แบบปรนัยมีความเชื่อมั่น .94 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการทางสถิติแบบ t-test Dependent Samples และ t-test for Independent Sample ในรูป Difference Score

ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้

1. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน กับนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีเมตาคอคนิชันในการแก้โจทย์ปัญหาวิทยาศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

2. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

3. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีเมตาคอคนิชันในการแก้โจทย์ปัญหาวิทยาศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

4. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน กับนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีเมตาคอคนิชันในการแก้โจทย์ปัญหาวิทยาศาสตร์ มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

5. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

6. นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้กลวิธีเมตาคอคนิชันในการแก้โจทย์ปัญหาวิทยาศาสตร์ มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

เผยแพร่บทความวิจัย

ดาวน์โหลด คลิ๊กที่นี่ Powerpoint นำเสนองานวิจัยนานาชาติ มศว นายกอบวิทย์ พิริยะวัฒน์

บทความวิจัย เรื่อง การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ โดยนายกอบวิทย์ พิริยะวัฒน์

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มการเขียนรายงานการวิจัย คลิกที่นี่

แบบฟอร์มประเมินโครงการใหม่

แบบฟอร์มการเขียนวิจัย 5 บท

ดาวน์โหลด Powerpoint ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการวิจัยของ รศ.ดร.มนสิช สิทธิสมบูรณ์ คณะศึกษาศาสตร์ ม.นเรศวร คลิกที่นี้