กกท ย ทล ก ป 59 2023-2023ร บสม ครท ม

ภูมิธรรม เวชยชัย ประธานกรรมการศึกษาแนวทางประชามติฯ ระบุว่าภายในเดือน ธ.ค. จะได้ข้อสรุปเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะได้เข้าคูหาต้นปี 2567

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • 3 ตุลาคม 2023

รัฐบาลตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยตั้งเป้าให้ประชาชนเข้าคูหาประชามติครั้งแรกภายในไตรมาสแรกของปีหน้า อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลมีมติไม่ส่งตัวแทนร่วมวง เหตุไร้ความชัดเจนว่า สสร. จะมาจากการเลือกตั้งล้วน

วันนี้ (3 ต.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จำนวน 35 คน มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ และรักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นประธาน แต่ในส่วนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ไม่ปรากฏรายชื่อบุคคลที่มาร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ ก่อนมีมติพรรคในวันเดียวกันว่าไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วม

สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการทาบทามและเสนอชื่อโดยนายภูมิธรรม ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกเมื่อ 13 ก.ย. มีมติมอบหมายให้เขาเป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดตามแนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ” โดยใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน

นายภูมิธรรมเปิดเผยว่า จะเรียกประชุมคณะกรรมการนัดแรก 10 ต.ค. เพื่อกำหนดกรอบในการทำงาน ซึ่งมี 3 ประเด็นหลักที่จะหารือกัน ได้แก่

  • กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ควรเป็นอย่างไร ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะมาจากการเลือกตั้งทุกจังหวัด หรือเลือกตามฐานประชากร หรือมาจากการแต่งตั้งบางส่วน
  • จะทำประชามติกี่ครั้ง
  • ใช้คำถามประชามติว่าอย่างไร สามารถเอาคำถามประชามติมาร่วมกันอย่างอื่นได้หรือไม่

“เราอยากจะ save (ลดค่าใช้จ่าย) ให้ทำประชามติน้อยที่สุด ไม่ใช่เพื่อหลีกเลี่ยงอะไร แต่การทำประชามติครั้งหนึ่งใช้งบ 4-5 พันล้านบาท ถ้าถาม (ประชาชน) 4 ครั้ง เท่ากับก็ใช้ 1.6 หมื่นล้าน ถือเป็นงบประมาณจำนวนมาก ถ้าหากกฎหมายตีว่าทำแค่ก่อนกับหลัง (ยกร่างรัฐธรรมนูญ) 2 ครั้ง ก็ประมาณ 6-8 พันล้านบาท ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท ก็จะดีที่สุด งบประมาณก็ลดไปครึ่งหนึ่ง” นายภูมิธรรมกล่าว

กกท ย ทล ก ป 59 2023-2023ร บสม ครท ม

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

การจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถือเป็นการทำประชามติครั้งที่ 2 ของไทย

“ประชาธิปไตยไม่ได้มีมาตรฐานเดียว”

ประธานกรรมการศึกษาแนวทางประชามติฯ ระบุ ว่าจะหาข้อสรุปเรื่องการทำประชามติให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าหมายให้ประชาชนเข้าคูหาประชามติครั้งแรกภายในไตรมาสแรกของปี 2567

“หลักการสำคัญคือ จะร่างรัฐธรรมนูญโดยทำประชามติก่อน เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ หมวด 1 และ 2 และไม่แตะต้องพระราชอำนาจที่อยู่ในมาตราแทรกต่าง ๆ นอกนั้นจะทำให้เกิดกระบวนความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่จะมากได้” นายภูมิธรรมแถลง

อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้ขยายความอย่างชัดเจนว่า “ความเป็นประชาธิปไตย” ในรัฐธรรมนูญนั้นหมายถึงอะไร

ทว่าเขาได้ชี้แจงสาเหตุที่รัฐบาลขอล็อกเนื้อหาไม่ให้แก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เอาไว้ว่า สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลพยายามดูว่าจุดสำคัญที่เป็นความขัดแย้งคืออะไร พยายามจะสลายความขัดแย้ง ให้ประเทศเดินหน้า อะไรเป็นปัญหาเดิมที่ยังไม่คลี่คลายก็ของดเว้นไว้ก่อน

“ต้องทำรัฐธรรมนูญให้ผ่านให้ได้ อะไรเป็นความขัดแย้ง ก็ต้องหลีกเลี่ยงเพื่อให้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้มีมาตรฐานเดียว วัดได้อย่างเดียว มันก็มีมาก มีน้อย มีความพึงพอใจ มันอยู่ในพหุสังคมที่มีความแตกต่างกันมัน ต้องหาจุดร่วมให้ได้” รองนายกฯ กล่าว

เช่นเดียวกับกรอบเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยังไม่ชัดเจน โดยนายภูมิธรรมให้เหตุผลว่าขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่จะทำประชามติ แต่ตั้งใจให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ให้แล้วเสร็จภายในวาระรัฐบาล 4 ปีนี้ เพื่อนำไปใช้จัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ส่วนจะป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ที่กำลังจะจัดทำขึ้นใหม่ไม่ “ถูกฉีก” ได้อย่างไรนั้น นายภูมิธรรมตอบว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับใช้ความพยายามไม่ให้ถูกฉีก เรื่องฉีกไม่ฉีกเป็นวัฒนธรรมการเมือง ต้องให้ประชาชนตื่นตัวและรับรู้ การรัฐประหารเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากไม่อยากเห็น เพราะพิสูจน์มาหลายครั้งแล้วว่าพอมีการรัฐประหารทำให้กลไกอำนาจไปรวมศูนย์ แม้มีการใช้อำนาจนั้นไปในทางที่เกิดประโยชน์บ้าง แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่ได้ผล และ “การรัฐประหารครั้งนี้ก็บอกแล้วว่าพาประเทศไปสู่จุดล้มเหลวพอสมควร”

กกท ย ทล ก ป 59 2023-2023ร บสม ครท ม

ที่มาของภาพ, JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI

รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกจัดทำขึ้นในบรรยากาศหลังรัฐประหาร 2557 โดยมีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้ยกร่าง ก่อนนำไปสอบถามความเห็นของประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ ผลปรากฏว่า ประชาชน 16.8 ล้านเสียง ต่อ 10.5 ล้านเสียง ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และประชาชนอีก 15.1 ล้านเสียง ต่อ 10.9 ล้านเสียง เห็นชอบ “คำถามพ่วง” ที่ให้ สว. มีอำนาจร่วมกับ สส. ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายภาคส่วนทั้งนักการเมืองและภาคประชาชนในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกว่าสิบฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งมีทั้งเสนอให้แก้ไขทั้งฉบับ และแก้ไขเป็นรายมาตรา แต่มีเพียงฉบับเดียวที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งเป็นการแก้ไขเฉพาะเรื่องระบบเลือกตั้ง สส.

นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 11 มี.ค. 2564 ระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ย้อน รธน. 4 ฉบับที่ยกร่างผ่านกลไก สสร.

ตลอดเวลา 91 ปีนับจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่ยกร่างโดยอาศัยกลไกของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ประกอบด้วย

  • รัฐธรรมนูญปี 2492 มีเนื้อหา 188 มาตรา จัดทำโดย สสร. 40 คน (มาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา)
  • รัฐธรรมนูญปี 2502 มีเนื้อหา 20 มาตรา จัดทำโดย สสร. 240 คน (มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร)
  • รัฐธรรมนูญปี 2540 มีเนื้อหา 336 มาตรา จัดทำโดย สสร. 99 คน (มาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา)
  • รัฐธรรมนูญปี 2550 มีเนื้อหา 309 มาตรา จัดทำ สสร. 100 คน (คณะรัฐประหารแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ 1,982 คน ให้เลือก สสร. 90 คน และอีก 10 คนมาจากการแต่งตั้งโดยตรงของคณะรัฐประหาร)

ขณะเดียวกันมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ผ่านการออกเสียงประชามติคือ รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน 57.81% และรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้รับความเห็นชอบ 61.35% ส่วน “คำถามพ่วง” ที่ให้ สว. สรรหาร่วมเลือกนายกฯ กับ สส. ในเวลา 5 ปีแรก ได้รับความเห็นชอบ 58.07%

กกท ย ทล ก ป 59 2023-2023ร บสม ครท ม

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ,

ประชาชนฝ่ายรณรงค์โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแสดงความผิดหวัง หลังทราบผลประชามติ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งประชาชน 16.8 ล้านคนโหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และ 15.1 ล้านเสียงโหวตรับคำถามพ่วงที่ให้อำนาจ สว. ร่วมเลือกนายกฯ

มติก้าวไกลไม่ร่วมวงด้วย เหตุขัด 2 จุดยืนพรรค

สำหรับคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ทั้ง 35 คนมีที่มาหลากหลาย แต่ในคำสั่งแต่งตั้งที่ลงนามโดยนายกฯ เศรษฐา ปรากฏข้อความว่า “ผู้แทนพรรคก้าวไกล” แต่ยังไม่มีรายชื่อบุคคลใด

ต่อมาในช่วงบ่าย ที่ประชุม สส. พรรค ก.ก. มีมติไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการในคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ก.ก. เปิดเผยว่า พรรค ก.ก. ขอสงวนสิทธิในการส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องจากพรรคไม่ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมาย และกรอบในภาพใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำ 2 จุดของพรรคสีส้ม ซึ่งมองว่ามีความสำคัญในการได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย” ทั้งที่มา-กระบวนการ-เนื้อหา นั่นคือ 1. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ 2. จัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงโดยประชาชนทั้งหมด

อย่างไรก็ตามพรรค ก.ก. ยินดีให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอของพรรคต่อคณะกรรมการ

นอกจากนี้พรรค ก.ก. ยังเสนอด้วยว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเริ่มต้นจากการจัดประชามติเพื่อสอบถามประชาชนด้วยคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ”

ด้านนายภูมิธรรมชี้แจงว่า อยากให้พรรค ก.ก. มาเสนอความเห็นในที่ประชุมซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายอยู่แล้ว “ต้องยอมรับว่าไม่ว่าเพื่อไทย หรือก้าวไกล ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนทั้งหมด ประเด็นที่ท่านเสนอมา ถ้าผ่านก็จบ ไม่ผ่านก็จบเหมือนกัน”

อย่างไรก็ตามหากประชุมคณะกรรมการฯ 2 นัดแล้ว พรรค ก.ก. ยังไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วม ก็คงจะให้เสนอความคิดเห็นเข้ามาในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป

เช่นเดียวกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เจ้าของแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ สสร. เลือกตั้ง 100%” รณรงค์ให้ประชาชนเสนอคำถามประชามติ ซึ่งนายภูมิธรรมบอกว่าได้ติดต่อให้มาร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติฯ เหมือนกัน แต่เขาไปออกรายการโทรทัศน์แล้วบอกว่า “ไม่อยากมาเป็นตัวแทนสแตมป์ (ประทับตรา) ให้ อยากดูจากข้างนอก" ก็ไม่ได้ขัดข้องในเรื่องนี้ เพราะตอนเชิญภาคประชาชนมาก็จะเชิญไอลอว์มาพูดด้วย”

กกท ย ทล ก ป 59 2023-2023ร บสม ครท ม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญยื่นข้อเรียกร้องต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อ 28 ส.ค. ขอให้รับคำถามประชามติจากประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ