Get one out of shell ม ดห วในกระดอง

ณ สวนสัตว์ดุสิต เขาดินวนา ป้ายนิทรรศการป้ายหนึ่งกลางทางเดินเหนือส่วนแสดงสัตว์เลื้อยคลานเขียนข้อความดังนี้

เต่า Turtles

Turtles and tortoises are the only reptiles with a heavy shell to protect them from enemies. Tortoises usually live on land. Turtles live in the sea and can swim quickly with their strong flippers. Turtles and tortoises both lay their eggs on land.

เต่าทะเลและเต่าบกเป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดเดียวที่มีกระดองแข็งเพื่อป้องกันภัยจากศัตรู โดยปกติ เต่าบกจะอาศัยอยู่บนพื้นดิน ส่วนเต่าทะเลจะอาศัยอยู่ในทะเลและสามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวด้วยครีบว่ายที่แข็งแรง ทั้งเต่าทะเลและเต่าบกต่างก็วางไข่บนบก

อ่านป้ายนี้จบ สิ่งที่ได้นอกจากความรู้พื้น ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของเต่าบกและเต่าทะเลแล้วก็คือคำถาม 2 ข้อ ข้อแรกเป็นคำถามใหญ่ที่ถามกันแล้วถามกันอีก คือตกลงว่าศัพท์ turtle หมายถึงเต่าอะไรแน่ เพราะบรรทัดแรกสุดเขียนว่าเต่าทุกชนิด แต่พอไม่กี่ประโยคถัดมากลับกลายเป็นเต่าทะเลทั้งที่ไม่ได้เขียนว่า sea turtle ด้วยซ้ำ ส่วนข้อ 2 เป็นประเด็นรองลงมา คือสงสัยว่าที่เขียนว่า “Tortoises usually live on land” หรือว่า “โดยปกติ เต่าบกจะอาศัยอยู่บนพื้นดิน” เนี่ยหมายความว่ายังไง เต่าบก “อาศัย” อยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่บนบกได้ด้วยหริอ? หรือว่า tortoise ในที่นี้จะรวมเต่าน้ำจืดไปด้วย? ชักงงล่ะสิ

ภาษาไทยมีคำเรียกเต่าประเภทต่าง ๆ อยู่หลายคำ แต่ละคำขึ้นต้นด้วย “เต่า” ตามด้วยคำขยาย เช่น เต่าบก เต่าน้ำ เต่าน้ำจืด เต่าทะเล เต่ายักษ์ ฯลฯ ส่วนตะพาบซึ่งเป็นเต่าพวกหนึ่งก็เรียกว่าตะพาบบ้าง ตะพาบน้ำบ้าง ขึ้นต้นด้วย “ตะพาบ” แล้วตามด้วยคำขยายเหมือนกัน

คำเรียกเต่าในภาษาอังกฤษก็มีหลายคำเหมือนภาษาไทย ที่พบบ่อยมีอยู่ 3 คำ คือ turtle, tortoise และ terrapin ซึ่งทั้งคนไทย คนต่างชาติ หรือกระทั่งเจ้าของภาษาก็สับสนกันไม่น้อยว่าแต่ละคำหมายถึงเต่าอะไรแน่ (เช่นที่ผมสับสนเรื่องป้ายที่เขาดินเมื่อครู่) เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่มีวิวัฒนาการยาวนานและใช้กันกว้างขวางทั่วโลก แต่ละคำจึงอาจหมายถึงเต่าคนละพวกกันหากปรากฏในบริบทต่าง ๆ กัน


TURTLE

คนไทยมักเข้าใจว่า turtle คือเต่าทะเล (เช่นเดียวกับที่ป้ายนิทรรศการเขาดินบอกไว้) ซึ่งบางทีอาจขยายด้วยว่า sea turtle เข้าใจแบบนี้ไม่ผิด แต่ถ้าเข้าใจแบบอื่นด้วยก็คงดีไม่น้อย วิกิพีเดียบอกว่า ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ (British English ตัวย่อ BE) แปลคำนี้เหมือนที่เรา ๆ เข้าใจกัน คือหมายถึงแค่เต่าทะเล ส่วนแบบอเมริกัน (American English ตัวย่อ AE) แปลคำนี้ว่าเต่าทุกชนิด ไม่ว่าจะเต่าบก เต่าน้ำ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็มก็ turtle ทั้งสิ้น

ย่อหน้าข้างบนคือความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ turtle ที่แม้จะเจอบ่อย แถมสั้นง่ายใช้สะดวกแต่ก็อาจรวบรัดตัดความไปบ้าง แถมยังเสี่ยงใช้ผิดในบางสถานการณ์อีกด้วย สำหรับบางคนที่ยังไงก็ไม่หายงงว่า turtle, tortoise และ terrapin มันต่างกันยังไงแน่ หรือหายงงแล้วแต่ดันมีอาการอยากรู้อยากค้นให้ละเอียดขึ้นอีกเพราะเข้าใจแค่ผิว ๆ อย่างที่ชินกันมาหรือตามวิกิพีเดียบอกแบบข้างบนมันไม่หนำใจพอ ก็จะขอสืบค้นเรียบเรียงจากแหล่งต่าง ๆ อันมีนานาพจนานุกรมเป็นหลักมาให้อ่านกันดังนี้

พจนานุกรม New Model English – Thai, Thai – English Dictionary ของ อ. สอ เสถบุตร (2446 – 2513; นามสกุลเดิมของท่านเขียนว่าเศรษฐบุตร แต่ต่อมาเปลี่ยนให้เขียนง่าย ๆ ตามนโยบายจอมพล ป. แล้วไม่ได้เปลี่ยนกลับ) ให้ความหมายของ turtle ไว้กว้างขวางว่า “สัตว์จำพวกเต่า กระ และตนุ” ไม่ได้เจาะจงแค่เต่าทะเลอย่างที่เราอาจเข้าใจตามภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ แม้ อ. สอจะเคยอาศัยทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ที่อังกฤษจนได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขาธรณีวิทยาและเคยเป็นสมาชิกสมาคมธรณีวิทยาแห่งลอนดอน (Geological Society of London) ก็ตาม

และเมื่อไปดูคำว่าเต่า พจนานุกรมเล่มนี้ก็ให้ศัพท์อังกฤษไว้ครบทั้ง 3 คำ แรกคือ tortoise ซึ่งให้ความหมายไว้ว่า “สัตว์จำพวกเต่าและกระ” ต่อมาคือ turtle และสุดท้ายคือ terrapin ซึ่งหมายถึง “เต่าขนาดใหญ่ อยู่ในอเมริกา” ซึ่งอาจเป็นเต่าญี่ปุ่น (Red-eared terrapin) เต่า Diamondback terrapin หรือ เต่า Mexican spotted terrapin สปีชีส์ใดสปีชีส์หนึ่งหรือรวมทั้งหมดก็ได้ โดยรายละเอียดของ tortoise และ terrapin จะกล่าวต่อไปภายหลัง

ส่วนคำว่าตนุ อ. สอเขียนชัดว่าคือ “the sea turtle” ส่วนคำว่ากระ ใช้เรียกเต่าได้ 2 พวก พวกแรกคือเต่ากระหรืออีกชื่อว่าเต่าปากเหยี่ยว (Hawksbill turtle; Eretmochelys imbricata) เป็นเต่าทะเลชนิดหนึ่ง ส่วนอีกพวกคือ tortoise

จึงสรุปได้ว่า อ. สอให้ turtle หมายถึงเต่าทุกชนิด ให้ tortoise เป็นเต่ากลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในทะเล เพราะตัดตนุออกไปและไม่นับเต่าปากเหยี่ยว และให้ terrapin หมายถึงเต่าสปีชีส์หนึ่งหรือ 2 สปีชีส์เท่านั้น ส่วนในฟากภาษาไทย อ.สอให้คำว่าเต่าเป็นคำเรียกที่รวบชนิดพันธุ์เต่าทั้งหมดไว้ พอแคบเข้าเหลือแค่เต่าทะเลชนิดเดียวหรือเต่านอกทะเลทุกชนิดก็เรียกว่ากระ ส่วนตนุคือเต่าทะเลทุกชนิด

ด้านพจนานุกรม NECTEC’s Lexitron Dictionary เวอร์ชั่น 3.0 (lexitron.nectec.or.th/2009_1) แปลคำว่าเต่าไว้สั้น ๆ ว่า turtle แล้วก็แปล turtle ไว้สั้น ๆ ว่าเต่า ตรงกับ turtle ของ อ.สอที่หมายถึงเต่าทุกชนิด

พลิกไปดูพจนานุกรม Oxford Advanced Learner’s Dictionary ฉบับที่ 8 ซึ่งเป็น International Student’s Edition ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2010 ก็พบว่า turtle หมายถึงเต่า 2 พวก พวกแรกคือเต่าทะเลขนาดใหญ่ “a large REPTILE with a hard round shell, that lives in the sea” โดยพจนานุกรมให้ข้อมูลเพิ่มว่า ภาษาอังกฤษในแถบอเมริกาเหนือ (North American English ตัวย่อ NAE) ซึ่งใช้กันกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาอาจขยายคำเรียกนี้ให้ชัดขึ้นว่า sea turtle ส่วนอีกพวกที่เป็น turtle ได้เหมือนกันคือพวกสัตว์เลื้อยคลานอะไรก็ตามที่มีกระดอง เช่นเต่าบกหรือเต่าน้ำจืด-น้ำกร่อย “any REPTILE with a large shell, for example A TORTOISE or TERRAPIN” ซึ่งกินความรวมเต่าทั้งหมดทั้งมวลเอาไว้ ไม่ใช่แค่เต่าทะเล ความหมายหลังนี้เป็นความหมายตามภาษาอังกฤษแบบอเมริกาเหนือเช่นกัน แต่เป็นความหมายที่ไม่เป็นทางการ

ยิ่งพจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ดออนไลน์ยิ่งระบุความหมายของ turtle ไว้ชัดถึง 3 ความหมาย ความหมายแรกคือสัตว์เลื้อยคลานทะเลขนาดใหญ่มีกระดอง ว่ายน้ำขึ้นฝั่งมาวางไข่ในหาดทรายทุกปี เขียนว่า “A large marine reptile with a bony or leathery shell and flippers, coming ashore annually on sandy beaches to lay eggs.” สั้น ๆ ก็คือเต่าทะเลนั่นแหละ ความหมายต่อมาบอกว่าเป็นเต่าน้ำจืดกระดองแบน ๆ เป็นญาติกับเต่าทะเล เต่าบก “A freshwater reptile related to the sea turtles and tortoises, typically having a flattened shell. Called terrapin in South Africa and India and tortoise in Australia.” ส่วนความหมายสุดท้ายเป็นความหมายเฉพาะในแถบอเมริกาเหนือ บอกว่า “North American Any reptile of the order Chelonia, including the terrapins and tortoises.” หรือ “สัตว์เลื้อยคลานทุกชนิดในอันดับ Chelonia รวมเต่าน้ำจืด-น้ำกร่อยและเต่าบกด้วย” บ่งชี้ว่า ถ้าเป็นในแถบอเมริกาเหนือ turtle คือเต่าทุกชนิด

Order หรือ อันดับ คือชื่อระดับชั้นของสิ่งมีชีวิตตามการจำแนกทางวิทยาศาสตร์ระดับหนึ่ง เต่าทุกชนิดอยู่ในอันดับ Testudines หรือ Testudinata หรืออีกชื่อว่า Chelonia ทั้งสิ้น คำว่า chelonian จึงเป็นคำที่นักวิทยาศาสตร์นิยมใช้เรียกเต่าทุกชนิดโดยไม่ต้องพะวงว่าถ้าใช้ turtle, tortoise หรือ terrapin แล้วอาจสื่อสารคลาดเคลื่อน ชื่ออันดับ Chelonia ต้องเขียนขึ้นต้นด้วยอักษรใหญ่เสมอเพราะนับเป็นชื่อเฉพาะ ส่วน chelonian ไม่นับ เป็นทั้งคำนามนับได้และคำคุณศัพท์ เช่น a chelonian หรือ two chelonian reptiles

ด้านพจนานุกรมเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ออนไลน์ (www.merriam-webster.com) ระบุความหมายของ turtle ไว้ละเอียดมาก ขอคัดมาดังนี้

“any of an order (Testudines syn. Chelonia) of terrestrial, freshwater, and marine reptiles that have a toothless horny beak and a shell of bony dermal plates usually covered with horny shields enclosing the trunk and into which the head, limbs, and tail usually may be withdrawn”

[แปล: สมาชิกทุกตัวของอันดับสัตว์เลื้อยคลานอันดับหนึ่ง (Testudines คำพ้อง Chelonia) ที่อาศัยอยู่บนบก ในน้ำจืด หรือในทะเล มีจะงอยปากแข็ง ไม่มีฟัน มีกระดองที่สร้างจากแผ่นกระดูกในชั้นหนังแท้ (Dermal plates) หุ้มลำตัว และมักมีเกราะแข็งปกคลุมอีกชั้น ส่วนหัว รยางค์ และหางอาจหดพับเข้ากระดองนี้ได้]

อ่านถึงแค่ “…reptiles…” ก็รู้ว่าหมายถึงเต่าทุกชนิด เช่นเดียวกับนิยามจากสารานุกรมบริทานิกา (global.britannica.com) ที่ George R. Zug ภัณฑารักษ์กิตติคุณ (Curator Emeritus) จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียนบอกว่า turtle คือสัตว์เลื้อยคลานมีกระดองหุ้มทุกชนิด รวมพวก tortoise ด้วย “any reptile with a body encased in a bony shell, including tortoises.”ส่วนพจนานุกรมเคมบริดจ์ออนไลน์ (dictionary.cambridge.org) กลับให้ความหมายว่าคือเต่าน้ำเท่านั้น ทั้งน้ำจืดน้ำเค็ม ไม่ว่าจะอิงกับภาษาอังกฤษแบบอเมริกาหรือแบบอังกฤษ โดยนิยามของแบบอังกฤษเขียนว่า “an animal which lives in or near water and has a thick shell covering its body into which it can move its head and legs for protection” ส่วนแบบอเมริกาแทบไม่ต่างกัน เขียนว่า “an animal that lives in or near water, having a thick, outer shell that covers and protects its body”

พจนานุกรมฉบับสุดท้ายที่ขอยกมาคือพจนานุกรมแมคมิลลันออนไลน์ (www.macmillandictionary.com) ซึ่งให้ความหมายว่า ถ้าเป็นอังกฤษแบบอังกฤษ turtle คือเต่าทะเลเท่านั้น “an animal with a shell and four short legs that lives mainly in the sea” แต่ถ้าเป็นแบบอเมริกาก็คือเต่าทุกชนิด ไม่ว่าจะอยู่บนบก ในทะเล แม่น้ำหรือทะเลสาบ “an animal with a shell and four short legs that lives on the land, in the sea, or in rivers and lakes.”

ความหมายของ turtle ในพจนานุกรมต่าง ๆ จึงพอประมวลและแบ่งกลุ่มได้ดังนี้

  1. พจนานุกรมที่ให้ความหมายว่าเต่าทุกชนิด มี 4 ฉบับ ได้แก่ 1. พจนานุกรม อ. สอ เสถบุตร 2. NECTEC’s Lexitron Dictionary 3. พจนานุกรมเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ออนไลน์ และ 4. สารานุกรมบริทานิกา ซึ่งหากรวมพจนานุกรมที่เจาะจงว่าหมายถึงเต่าทุกชนิดในกรณีเป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกาหรืออเมริกาเหนือ ก็จะมีอีก 3 ฉบับ ได้แก่ 1. Oxford Advanced Learner’s Dictionary 2. พจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ดออนไลน์ และ 3. พจนานุกรมแมคมิลลัน ออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ
  2. พจนานุกรมที่ให้ความหมายว่าเต่าทะเล มีฉบับเดียว คือพจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ดออนไลน์ แต่หากรวมพจนานุกรมที่เจาะจงว่าหมายถึงเต่าทะเลในกรณีเป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกาเหนือ ก็จะมีอีกฉบับ คือ Oxford Advanced Learner’s Dictionary นอกจากนี้ยังมีอีกฉบับที่เจาะจงว่าเป็นเต่าทะเลในกรณีภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ คือพจนานุกรมแมคมิลลันออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 3 ฉบับ
  3. พจนานุกรมที่ให้ความหมายว่าเต่าน้ำจืดเท่านั้น มีฉบับเดียว คือพจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ดออนไลน์
  4. พจนานุกรมที่ให้ความหมายว่าเต่าน้ำเท่านั้น มีฉบับเดียว คือพจนานุกรมเคมบริดจ์ออนไลน์

สรุปก็คือ turtle ในกรณีส่วนใหญ่หมายถึงเต่าทุกชนิด โดยเฉพาะในภาษาอังกฤษแบบอเมริกาหรืออเมริกาเหนือ แต่ก็อาจหมายถึงเต่าน้ำได้บ้าง ต้องดูบริบทข้อความที่อ่านหรือฟังให้ดี ถ้ามีคำขยาย เช่น sea turtle, marine turtle หรือ freshwater turtle ก็สบายไป แยกกลุ่มตามคำขยายได้เลย ซึ่งเราก็ควรเขียนหรือพูดโดยใช้คำขยายเหล่านี้ด้วยเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด เพราะคนที่อ่านสิ่งที่เราเขียนหรือฟังสิ่งที่เราพูดอาจเรียนภาษาอังกฤษคนละแบบกับที่เรารู้มา แต่ก็ไม่ต้องถึงกับใช้ chelonian เพราะออกจะเป็นศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์ ไม่นิยมใช้ในบริบทการสื่อสารประจำวัน

Get one out of shell ม ดห วในกระดอง
ตัวอย่างเต่า: รูปซ้ายคือเต่าบัว (Yellow-headed temple turtle; Heosemys annandalii) รูปกลางคือเต่าคองู (Snake-necked turtle; Chelodina longicollis) สองรูปนี้ถ่ายจากสวนสัตว์ดุสิตเมื่อ 12 มี.ค. 2556 ส่วนรูปขวาคือเต่าแก้มแดงหรือเต่าญี่ปุ่น (Red-eared slider หรือ Red-eared terrapin; Trachemys scripta elegans) ถ่ายจากสวนสัตว์พาต้าเมื่อ 21 ธ.ค. 2559

ส่วนตะพาบหรือตะพาบน้ำในภาษาไทยนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า soft-shelled turtle หรือ softshell turtle แปลตรงตัวว่าเต่ากระดองอ่อน เพราะแม้กระดองตะพาบจะสร้างจากกระดูกในร่างกายหลายชนิดเช่นเดียวกับกระดองเต่า แต่กระดองตะพาบกลับปกคลุมด้วยหนัง ต่างจากกระดองเต่าส่วนใหญ่ที่ปกคลุมด้วยแผ่นเกล็ดแข็ง (scutes) ที่สร้างจากสารโปรตีนเคราติน (keratin) ส่วนที่ต่อท้ายว่า turtle ก็เพราะตะพาบทุกชนิดเป็นสัตว์น้ำ ตีนมีพังผืด (webbed feet) สำหรับว่ายน้ำ บางชนิดพบในน้ำจืด (fresh water) บางชนิดพบในน้ำกร่อย (brackish water)

ส่วนขอบกระดองตะพาบที่แผ่ออกสองข้างลำตัวเหมือนปีกจานบินแล้วยาวไปยันส่วนก้นเรียกว่า เชิง ภาษาอังกฤษเรียกส่วนนี้ว่า margins หรือ sides มี –s เพราะเรียกรวมทั้ง 2 ข้าง เมื่อมองตะพาบจากด้านบนลงมาจึงดูเหมือนแผ่นอะไรสักอย่างกลม ๆ แบน ๆ เลยมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษอีกชื่อว่า pancake turtle หรือง่าย ๆ ว่าเต่า (น้ำ) แพนเค้ก แต่อย่าสับสนกับเต่า (บก) แพนเค้ก (Pancake tortoise; Malacochersus tornieri) เพราะอยู่คนละกลุ่มกัน

ลักษณะเด่นอีกอย่างของตะพาบนอกจากกระดองอ่อนนุ่มที่แผ่กว้างรอบลำตัวแล้วก็คือจมูกที่ยื่นยาว ภาษาอังกฤษอาจเรียกส่วนนี้ว่า snout (อวัยวะส่วนที่ยื่นจากใบหน้า นับรวมกันทั้งจมูก ปาก และขากรรไกร) หรือ proboscis (ในสัตว์มีกระดูกสันหลังหมายถึงจมูกที่ยื่นยาวออกมา) ซึ่งคำพวกนี้ก็ใช้กับสัตว์ชนิดอื่นได้เหมือนกัน เช่น จมูกสุนัข (a dog snout) จมูกตัวกินมด (an anteater snout) งวงช้าง (an elephant proboscis หรือตรง ๆ ก็คือ an elephant trunk)

Get one out of shell ม ดห วในกระดอง
รูปซ้ายคือตะพาบสวน ตะพาบธรรมดา หรือตะพาบไทย (Asiatic softshell turtle; Amyda cartilaginea) ส่วนรูปขวาคือเต่าแพนเค้ก (Pancake tortoise; Malacochersus tornieri) ถ่ายจากสวนสัตว์ดุสิตเมื่อ 21 ธ.ค. 2559


TORTOISE

ถึงไม่เขียนเพิ่มเป็น land tortoise เราก็มักเข้าใจทันทีว่าคำนี้หมายถึงเต่าบก แบบบกที่แท้จริง ยืนแช่น้ำได้แต่ว่ายน้ำไม่ได้สักนิดเพราะกระดองหนาหนัก ทรงเป็นโดมสูง (domed shell) ไม่เพรียวลู่ตามน้ำ (non-streamline) แถมขาก็ป้อม ๆ ตัน ๆ นิ้วไม่มีพังผืดเหมือนเต่าน้ำจืดที่ได้ทั้งเดินบกทั้งว่ายน้ำ แต่กล่าวไปแล้วว่า อ. สอให้นิยามของ tortoise ว่าเต่านอกทะเล คือทั้งเต่าบกที่ว่ายน้ำไม่ได้เลย กับเต่าน้ำจืดตีนพังผืด จึงเป็นไปได้ว่าคำนี้อาจกว้างกว่าที่เราคิด ฉะนั้นไปสำรวจพจนานุกรมหลาย ๆ ฉบับแล้วค่อยสรุปดีกว่า

Get one out of shell ม ดห วในกระดอง
ขาของเต่าบกรูปทรงอ้วนตัน ปกคลุมด้วยเกล็ดที่ทั้งหนาทั้งแข็ง ไม่มีพังผืดระหว่างนิ้ว นอกจากนี้กระดองยังเป็นทรงโดมต้านน้ำ ว่ายน้ำไม่ได้แน่นอน ในภาพคือเต่าซูลคาต้า (Sulcata tortoise หรือ African spurred tortoise; Geochelone sulcata) ถ่ายจากสวนสัตว์ดุสิตเมื่อ 12 มี.ค. 2556

NECTEC’s Lexitron Dictionary กระชับฉับไวเช่นเคย แปลคำนี้สั้น ๆ พยางค์เดียวว่าเต่า หรือเต่าทุกชนิดนั่นเอง ด้าน Oxford Advanced Learner’s Dictionary ฉบับที่ 8 International Student’s Edition แปลคำนี้ว่าสัตว์เลื้อยคลานมีกระดองที่อาศัยอยู่บนบก หรือก็คือเต่าบกเท่านั้น โดยเขียนว่า “a REPTILE with a hard round shell, that lives on land and moves very slowly. It can pull its head and legs into its shell.” ส่วนอ๊อกซ์ฟอร์ดออนไลน์บรรยายไว้ละเอียดกว่าและให้ความหมายไว้ 2 ความหมาย แรกคือเต่าบก “A slow-moving typically herbivorous land reptile of warm climates, enclosed in a scaly or leathery domed shell into which it can retract its head and thick legs.” ส่วนอีกความหมายเป็นความหมายเฉพาะในภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย (Australian English) หมายถึงเต่าน้ำจืด นิยามไว้กะทัดรัดว่า “A freshwater turtle”

เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นพจนานุกรมปกติ พจนานุกรมสำหรับผู้เรียนภาษาอังกฤษหรือพจนานุกรมสำหรับนักเรียนนักศึกษา ต่างก็นิยาม tortoise ตรงกันว่าเต่าบกทั้งสิ้น นิยามพจนานุกรมแบบแรกอาจฟังดูวิทยาศาสตร์มากหน่อย คือเขียนว่า tortoise เป็น “any of a family (Testudinidae) of terrestrial turtles” หรือ “สมาชิกทุกตัวของวงศ์ Testudinidae อันเป็นวงศ์เต่าบก” โดย วงศ์ หรือ Family คือชื่อระดับชั้นของสิ่งมีชีวิตตามการจำแนกทางวิทยาศาสตร์ระดับหนึ่ง อยู่ต่ำกว่าลำดับ อันดับ หรือ Order ที่กล่าวไปแล้ว 1 ขั้น และเต่าทุกชนิดในวงศ์ Testudinidae นี้เป็นเต่าบกกันหมด

ส่วนแบบสำหรับผู้เรียนภาษาอังกฤษก็นิยามง่าย ๆ ว่าเต่าพวกที่อาศัยอยู่บนบก “a kind of turtle that lives on land” และแบบสำหรับนักเรียนนักศึกษานิยามว่า “a usually large turtle that lives on land” หรือ “เต่าพวกที่มักมีขนาดใหญ่ อาศัยอยู่บนบก” George R. Zug ท่านเดิมจากสารานุกรมบริทานิกาก็นิยามว่าเป็นสมาชิกทุกตัวของวงศ์เต่า Testudinidae เหมือนกัน เขียนว่า “any member of the turtle family Testudinidae”

ด้านเคมบริดจ์ออนไลน์แบ่งความหมายของ tortoise เป็น 2 ความหมายตามภาษาอังกฤษแบบอเมริกาและอังกฤษ โดยนิยามแบบอเมริกาเขียนค่อนข้างชัดว่าเป็นเต่าบก “a turtle, esp. one that lives only on land” ส่วนแบบอังกฤษไม่ได้เจาะจงว่าเต่าแบบไหน เขียนแค่ว่าเต่าพวกนี้มีพฤติกรรมเชื่องช้า กินพืช และจำศีลในหน้าหนาว “an animal with a thick, hard shell that it can move its head and legs into for protection. It eats plants, moves very slowly, and sleeps during the winter.” จึงขอเหมาหยาบ ๆ ไปว่าหมายถึงเต่าทุกชนิด

เต่าเป็นสัตว์เลือดเย็น รักษาอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยความร้อนจากแหล่งความร้อนภายนอก เมื่อเผชิญอากาศเย็นในฤดูหนาวจึงมักจำศีลเพื่อรักษาชีวิต ภาษาอังกฤษเรียกสัตว์ที่ต้องอาศัยแหล่งความร้อนจากภายนอกเช่นนี้ว่า ectotherm เป็นคำนามนับได้ สัตว์เลือดเย็นตัวหนึ่งก็เขียนว่า an ectotherm นอกจากนี้เต่ายังเป็น an poikilotherm ด้วย หมายถึงสัตว์ที่อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อม คำตรงข้ามของ ectotherm คือ endotherm (สัตว์เลือดอุ่น) ส่วนคำตรงข้ามของ poikilotherm คือ homeotherm (สัตว์ที่อุณหภูมิร่างกายคงที่)

อนึ่ง เรามักคุ้นเคยว่าคำแปลภาษาอังกฤษของการจำศีลหรือภาวะจำศีลคือ hibernation (รูปกริยาคือ hibernate) แต่ยังมีอีกคำที่ผู้สนใจศึกษาเรื่องสัตว์เลื้อยคลานน่าจะรู้จักไว้สักหน่อย ที่ว่าสักหน่อยเพราะคำ ๆ นี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง พจนานุกรมหลายสำนักไม่ได้บันทึกรวบรวมไว้ด้วยซ้ำ คำนั้นคือ brumation (รูปกริยาคือ brumate) ซึ่งเท่าที่ค้นดู พบว่าที่คำนี้ยังไม่ฮิตก็เพราะหลายต่อหลายฝ่ายไม่เห็นว่ามันต่างจาก hibernate อย่างมีนัยสลักสำคัญอะไรจนต้องเอามาใช้ ออกแนวเป็นคำฟุ่มเฟือยนั่นเอง

พจนานุกรมฉบับสุดท้ายที่ขอยกนิยามของ tortoise มาพิจารณาคือแมคมิลลันออนไลน์ ซึ่งเขียนว่า “an animal that walks slowly and can pull its head and legs into the shell on its back” หรือ “สัตว์ชนิดหนึ่ง เดินเชื่องช้า หดหัวและขาเข้ากระดองที่หลังได้” อ่านแล้วก็ไม่ชัวร์ว่าเต่าบกหรือเปล่า แต่อย่างน้อยที่สุดน่าจะเป็นเต่านอกทะเลเหมือนที่ อ.สอ เขียนไว้ เพราะในนิยามนี้ใช้กริยา walk ซึ่งหากรวมเต่าทะเลด้วยจริงก็ไม่น่าใช้คำนี้ อาการเคลื่อนไหวครีบใบพายไม่น่าเรียกว่าเดิน ใช้กริยา move ที่แปลกลาง ๆ ว่าเคลื่อนที่น่าจะเหมาะกว่า

สุดท้ายนี้จึงพอแบ่งกลุ่มความหมายของ tortoise ที่พจนานุกรมต่าง ๆ ให้มาได้ดังนี้

  1. พจนานุกรมที่ให้ความหมายว่าเต่าบก มี 4 ฉบับ ได้แก่ 1. Oxford Advanced Learner’s Dictionary 2. พจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ดออนไลน์ 3. สารานุกรมบริทานิกา และ 4. พจนานุกรมเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ออนไลน์ ซึ่งหากรวมพจนานุกรมที่เจาะจงว่าหมายถึงเต่าบกในกรณีเป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกาก็จะมีอีกฉบับหนึ่ง คือพจนานุกรมเคมบริดจ์ออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 5 ฉบับ
  2. พจนานุกรมที่ให้ความหมายว่าเต่าที่ไม่ได้อาศัยในทะเล มี 2 ฉบับ ได้แก่ 1. พจนานุกรม อ. สอ เสถบุตร และ 2. พจนานุกรมแมคมิลลันออนไลน์
  3. พจนานุกรมที่ให้ความหมายว่าเต่าทุกชนิด มีฉบับเดียว คือ NECTEC’s Lexitron Dictionary Version 3.0 ซึ่งหากรวมพจนานุกรมที่เจาะจงว่าหมายถึงเต่าทุกชนิดในกรณีเป็นภาษาอังกฤษแบบอังกฤษก็จะมีอีกฉบับ คือพจนานุกรมเคมบริดจ์ออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 2 ฉบับ
  4. พจนานุกรมที่ให้ความหมายว่าเต่าน้ำจืดในกรณีเป็นภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย มีฉบับเดียว คือพจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ดออนไลน์

จึงสรุปได้ว่า tortoise ในกรณีส่วนใหญ่คือเต่าบก เหมือนชื่อเรื่องนิทาน “กระต่ายกับเต่า” ของอีสปก็เขียนว่า “The Hare and the Tortoise” แต่ถ้ากลัวว่าบางคนยังอาจเข้าใจว่ารวมเต่าอื่น ๆ ด้วยโดยเฉพาะถ้าคนนั้นเรียนภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียมา ก็ขยายเพิ่มว่า land tortoise กันเหนียวได้ ชัวร์แน่นอน

Get one out of shell ม ดห วในกระดอง
ตัวอย่างเต่าบก: รูปซ้ายคือเต่าดาวพม่า (Burmese star tortoise; Geochelone platynata) ถ่ายจากสวนสัตว์ดุสิตเมื่อ 21 ธ.ค. 2559 ส่วนรูปขวาคือเต่าหกดำ (Asian forest tortoise; Manouria emys) ถ่ายจากที่เดียวกัน แต่ถ่ายเมื่อ 12 มี.ค. 2556


TERRAPIN

คำเรียกเต่าภาษาอังกฤษคำสุดท้ายที่จะมาดูกันคือ terrapin แม้คำนี้อาจไม่ได้ใช้กว้างขวางเท่า turtle หรือ tortoise แต่บางคนก็ยังงง ๆ พอควรว่าหมายถึงเต่าแบบไหนแน่ กินความกว้างแค่ไหน เต่าน้ำจืดทุกชนิดเลยมั้ย หรือแค่บางพันธุ์ เอ๊ะยังไง ลองค่อย ๆ ดูนิยามจากนานาพจนานุกรมกันอีกครั้งดีกว่า

อ. สอ เสถบุตรให้คำนี้หมายถึง “เต่าขนาดใหญ่ อยู่ในอเมริกา” ซึ่ง อ. สอ อาจไม่ได้เจาะจงชนิดพันธุ์สักสปีชีส์ไว้ในใจ เพราะไม่ได้เขียนบอกด้วยซ้ำว่าเป็นเต่าบกหรือเต่าน้ำ หรืออาจหมายถึงเต่าน้ำจืดสปีชีส์ Diamondback terrapin (Malaclemys terrapin) หรือสปีชีส์ Mexican spotted terrapin ซึ่งมีอีกชื่อว่า Mexican spotted wood turtle (Rhinoclemmys rubida) ก็ได้ พันธุ์ Diamondback พบในสหรัฐและเบอร์มิวด้า ตัวผู้ยาวราว 5 นิ้ว ตัวเมียยาวได้ราว 7 นิ้วครึ่ง ส่วนพันธุ์ Mexican spotted wood พบในเม็กซิโก ตัวผู้ยาวได้ถึง 9 นิ้ว ตัวเมียย่อมลงมาเหลือราว 7 นิ้ว ใหญ่กว่า Diamondback terrapin นิดหน่อย อีกสปีชีส์ที่เป็นไปได้คือเต่าที่เราเรียกว่าเต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง (Red-eared slider หรือ Red-eared terrapin; Trachemys scripta elegans) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากตอนใต้ของสหรัฐหรือทางตอนเหนือของเม็กซิโก ตัวผู้ยาวได้ราว 9 นิ้ว ตัวเมียเกือบ 12 นิ้ว ส่วนพจนานุกรม Lexitronไม่มีคำนี้ จบเห่

Get one out of shell ม ดห วในกระดอง
เต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง (Red-eared slider หรือ Red-eared terrapin; Trachemys scripta elegans) ถ่ายจากสวนสัตว์พาต้าเมื่อ 21 ธ.ค. 2559

ด้าน Oxford Advanced Learner’s Dictionary บอกว่า terrapin คือเต่าขนาดเล็กในอเมริกาเหนือ หากินอยู่ตามแม่น้ำหรือทะเลสาบอุ่น ๆ “a small TURTLE, that lives in warm rivers and lakes in N America” ส่วนเคมบริดจ์ออนไลน์ก็เขียนแทบจะเหมือนกันคำต่อคำเลยว่า “a type of small North American turtle that lives in warm rivers and lakes” ทั้งสองเล่มนี้จึงย้ำเหมือน อ.สอ ว่า terrapin คือเต่าในอเมริกา ต่างตรงที่ อ.สอ บอกว่าเป็นเต่าใหญ่และไม่เจาะจงว่าเป็นเต่าบกหรือเต่าน้ำ แต่สองเล่มนี้บอกว่าเป็นเต่าน้ำจืดขนาดเล็ก

หันมาดูอ๊อกซ์ฟอร์ดออนไลน์บ้าง มีอยู่ 2 ความหมาย แรกคือเต่าน้ำจืด เขียนว่า “A freshwater turtle, especially one of the smaller kinds of the Old World. Called turtle in North America” หรือ “เต่าน้ำจืด โดยเฉพาะเต่าพันธุ์เล็กในโลกเก่า (ประกอบด้วยเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ซึ่งเป็นดินแดนที่ชาวยุโรปรู้จักก่อนค้นพบอเมริกาเหนือและใต้) ในอเมริกาเหนือเรียกว่า turtle” ส่วนอีกความหมายซึ่งเป็นความหมายเฉพาะในสหรัฐ คือ “A small edible turtle with lozenge-shaped markings on its shell, found in coastal marshes of the eastern US.” หรือ “เต่าขนาดเล็ก กินได้ บนกระดองมีลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มักพบตามที่ลุ่มชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกา” พูดง่าย ๆ ว่าหมายถึงเต่าน้ำจืดหรือน้ำกร่อยพันธุ์เล็กนั่นเอง

ด้านเมอร์เรียม-เว็บเสตอร์ออนไลน์ให้ความหมายไว้ 3 ความหมาย แรกคือเต่าน้ำทุกตัวในวงศ์ Emydidae โดยเฉพาะเจ้า Diamondback terrapin “any of various aquatic turtles (family Emydidae); especially : diamondback terrapin” โดยเต่าในวงศ์นี้ทุกชนิดมีพังผืดที่ตีน ความหมายต่อมาเป็นของพจนานุกรมสำหรับผู้เรียนภาษาอังกฤษของเว็บนี้ อธิบายว่า terrapin เป็นเต่าน้ำขนาดเล็กพวกหนึ่ง “a kind of small turtle that lives in water” แต่ไม่ได้บอกว่าน้ำจืดหรือน้ำทะเล ส่วนความหมายสุดท้ายมาจากพจนานุกรมสำหรับนักเรียนนักศึกษา เขียนว่าเป็นเต่าน้ำจืดหรือน้ำกร่อยของอเมริกาเหนือ “a North American turtle that lives in or near fresh or somewhat salty water”

พลิกเปิดบริทานิกา George R.Zug ก็อธิบายว่า เมื่อก่อน terrapin เคยใช้เรียกเต่าน้ำทุกชนิด ไม่ว่าจะน้ำจืด กร่อย หรือทะเล แต่ต่อมาแทบจะใช้เรียกเต่าแค่สปีชีส์เดียว คือเจ้า Diamondback terrapin เจ้าเก่า พจนานุกรมฉบับสุดท้ายที่จะยกมาดูคือแมคมิลลันออนไลน์ ซึ่งทั้งแบบภาษาอังกฤษแบบอังกฤษและแบบอเมริกาก็ให้ความหมายง่าย ๆ ไม่เจาะจงสถานที่ตรงกันว่า terrapin คือเต่าน้ำขนาดเล็ก “a small animal that lives in water and has a hard shell on its back. It is a type of turtle.” ซึ่งก็คงรวมทั้งน้ำจืด กร่อย เค็มไปด้วยกันทั้งหมด

ความหมายของ terrapin ที่ประมวลจากนานาพจนานุกรมที่ยกมาจึงแบ่งได้ดังนี้

  1. พจนานุกรมที่ให้ความหมายว่าเต่าน้ำจืดหรือน้ำกร่อย มี 4 ฉบับ ได้แก่ 1. Oxford Advanced Learner’s Dictionary 2. พจนานุกรมเคมบริดจ์ออนไลน์ 3. พจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ดออนไลน์ และ 4. พจนานุกรมเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ออนไลน์
  2. พจนานุกรมที่ให้ความหมายว่าเต่าน้ำ มี 2 ฉบับ ได้แก่ 1. พจนานุกรมเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ออนไลน์ และ 2. พจนานุกรมแมคมิลลันออนไลน์
  3. พจนานุกรมที่ให้ความหมายอื่น ๆ มี 2 ฉบับ ได้แก่ พจนานุกรม อ. สอ เสถบุตร ซึ่งให้ความหมายว่าเต่าขนาดใหญ่ในอเมริกา และสารานุกรมบริทานิกา ซึ่งให้ความหมายว่ามักใช้เรียกเต่าสปีชีส์เดียว คือเต่า Diamondback terrapin

จึงพอสรุปได้ว่า terrapin ในกรณีส่วนใหญ่หมายถึงเต่าน้ำจืดหรือน้ำกร่อย ตีนมีพังผืด ไม่ใช่ครีบใบพาย และมักหมายถึงเต่าขนาดเล็ก แต่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเต่าในอเมริกาเหนือหรือใต้เสมอไป เพราะทวีปอื่น ๆ ก็มีเต่าที่เรียกว่า terrapin อยู่หลายสปีชีส์เหมือนกัน อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วคำนี้ดูจะซับซ้อนกว่า turtle กับ tortoise ซะอีก เพราะนอกจากจะต้องเอาเรื่องที่อยู่อาศัยว่าอยู่ในน้ำอะไรมาคิดแล้ว ยังต้องเอาเรื่องขนาดกับถิ่นกำเนิดมาคิดด้วย จึงขอแนะนำว่า ถ้าอยากเจาะจงว่า terrapin ที่เรากำลังพูดถึงมีลักษณะเฉพาะด้านขนาด สัญชาติ หรือที่อยู่อาศัยยังไงก็ควรเขียนขยายเพิ่ม เช่น large terrapin (บ่งบอกว่าขนาดใหญ่), American terrapin (เป็นเต่าอเมริกา) หรือ non-marine terrapin (ไม่ใช่พวกเต่าทะเล)

ก่อนจบบทความนี้ขอยกแนวทางใช้ศัพท์ turtle และ tortoise ที่สมาคมนักมีนวิทยาและนักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำแห่งอเมริกา (American Society of Ichthyologists and Herpetologists ย่อว่า ASIH) ประกาศใช้สำหรับสหรัฐอเมริกามาย้ำปิดท้าย โดยสมาคมนี้กำหนดให้ใช้ turtle สำหรับเต่าทุกชนิด และใช้ tortoise สำหรับเต่าบก ส่วน terrapin นั้น เท่าที่ทราบทางสมาคมไม่ได้กำหนดไว้

ถึงเราคนไทยในประเทศไทยจะอยู่ไกลจากอเมริกาในด้านกายภาพ แต่ก็อาจประยุกต์หลักนี้ไปใช้ฟัง พูด อ่าน หรือเขียนศัพท์พวกนี้ในบริบทต่าง ๆ ได้ แล้วอย่าลืมว่าเรายังเสิร์ชหาได้ว่าหากพูดถึงเต่าสักชนิดเขานิยมเอาคำไหนมาเรียกกันเป็นชื่อสามัญ แถมเรายังใส่คำขยายต่าง ๆ นานาหน้าศัพท์เหล่านี้ได้เหมือนกันหากสถานการณ์เรียกร้อง ดีกว่าเขียนหรือพูดห้วน ๆ ตามหลักเป๊ะ ๆ ที่เราเข้าใจเองแล้วหวังให้คนอื่นเข้าใจเหมือนเรา การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคือการสื่อสารที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารยื่นมือเข้าหากัน ไม่ใช่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตบมือข้างเดียว

ขอหดหัวเข้ากระดองจบไว้เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ


พจนานุกรมไทย – อังกฤษออนไลน์ของ อ. สอ เสถบุตรที่อยู่ในเว็บไซต์ dictionary.sanook.com ไม่มีคำว่า turtle แต่กลับมี turtle green, turtle-dove และ turtleneck (สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2559)

ทั้งภาษาอังกฤษแบบอเมริกาซึ่งกล่าวไว้แล้วและแบบแคนาดา (Canadian English) ต่างเป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกาเหนือแบบหนึ่ง

เต่าบางชนิดก็ไม่มีแผ่นเกล็ดแข็งนี้ มีแต่หนังปกคลุมกระดูกกระดองเหมือนตะพาบ เช่น เต่าบินหรือเต่าจมูกหมู (Pig-nosed turtle; Carettochelys insculpta) เป็นเต่าน้ำจืดพื้นเมืองแถบออสเตรเลียตอนเหนือและนิวกินีตอนใต้ และเต่ามะเฟือง (Leatherback turtle; Dermochelys coriacea) ซึ่งเป็นเต่าทะเลและเต่าพันธุ์ใหญ่ที่สุดในโลก