ซ อมแอร ม ตซ ร นmsy-gn09vfไฟต ดคอยร อนคอยเย นไม ทำงาน

แอร์ไม่เย็นเกิดจากอะไร? ทำไมมันร้อนอย่างนี้นะ! ทุกวันนี้ไม่ว่าฤดูกาลไหน การเปิดแอร์ก็กลายเป็นทางเลือกในชีวิตประจำวัน ที่ช่วยเติมเต็มความสดชื่นได้ไปซะแล้ว โดยเฉพาะหน้าร้อนที่เริ่มตั้งแต่ปลายมีนาคม จนไปถึงมิถุนายนที่อากาศอบอ้าว และบางวันอาจมีฝน นอกจากแอร์จะช่วยเรื่องความเย็นแล้ว ยังช่วยลดความชื้นในอากาศทำให้เนื้อตัวไม่เหนียวเหนอะหนะอีกด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าแอร์ก็เป็นหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่ทุกบ้านต้องมีเลยก็ว่าได้ ขณะเดียวกันเพราะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระบบทางเทคนิคต่างๆ ก็ทำให้หลายๆ ครั้งผู้ใช้พบกับปัญหาระหว่างการใช้งานได้ เช่น เปิดแอร์ไปสักพักแอร์ไม่เย็น ทำไมแอร์มีลมออกมาเฉยๆ แต่ไม่ทำให้ห้องเย็นขึ้นเลยเกิดจากอะไร?

หลายคนลองสารพัดวิธีล้างแอร์ เติมน้ำยา ตั้งค่าอุณหภูมิ วิธีไหนที่เขาว่าเป็นวิธีที่ทำให้แอร์เย็นก็ลองทำมาหมด แต่แอร์ไม่เย็นขึ้นเลย นั่นก็เพราะจริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้แอร์ไม่เย็นมีหลายสาเหตุมาก ดังนั้นการแก้ไม่ตรงจุดอาจทำให้แอร์ทำงานหนักกว่าเดิม และเกิดความเสียหายได้ ครั้งนี้เรามีสาเหตุแอร์ไม่เย็น มีแต่ลมมาบอกให้รู้กันว่าเป็นเพราะอะไร พร้อมบอกต่อวิธีแก้ไขแอร์ไม่เย็นที่คุณไม่ควรพลาด!

รู้ก่อนแก้! ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบแอร์ และส่วนประกอบของแอร์

แน่นอนว่าเมื่อแอร์ไม่เย็น คุณคงไม่อยากโทรเรียกช่างมาซ่อม หรือเสียเงินทันทีที่เกิดปัญหา ดังนั้นก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบและการทำงานของแอร์คร่าวๆ เพื่อจะได้คาดเดาถึงปัญหา เผื่อที่บางปัญหาคุณเองอาจแก้ไขมันได้ด้วยตัวเอง ปกติแล้วระบบทำความเย็นของแอร์บ้าน หรือเครื่องปรับอากาศ มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วนคือ

ซ อมแอร ม ตซ ร นmsy-gn09vfไฟต ดคอยร อนคอยเย นไม ทำงาน

  1. คอมเพรสเซอร์ (Compressor) : เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของแอร์ มีหน้าที่เพิ่มความดันให้สารทำความเย็น โดยคอมเพรสเซอร์จะดูดสารทำความเย็นที่เป็นไอความดันต่ำจากเครื่องระเหย (Evaporator) เข้ามาทางท่อ และเพิ่มความดันของสารทำความเย็นให้เกิดเป็นไอและมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ก่อนจะส่งไปยังคอนเดนเซอร์ (Condensor) ต่อไป
  2. คอนเดนเซอร์หรือคอยล์ร้อน (Condenser) : คอนเดนเซอร์หรือคอยล์ร้อน คือเครื่องควบแน่น หรือบางคนเรียกว่าคอยล์ร้อน ทำหน้าที่รับแรงดันจากคอมเพรสเซอร์ แล้วกลั่นให้กลายเป็นสารความเย็นเพื่อระบายความร้อนออกและส่งต่อไปยัง อีวาพอเรเตอร์ (Evaporator) หรือคอยล์เย็น
  3. อีวาพอเรเตอร์หรือคอยล์เย็น (Evaporator) : เป็นอีกส่วนสำคัญของระบบทำความเย็นในแอร์ ทำหน้าที่ดูดรับปริมาณความร้อนแล้วเปลี่ยนสถานะเป็นแก๊ส เพื่อถ่ายเทความร้อนออกทางผิวท่อ
  4. อุปกรณ์ควบคุมสารทำความเย็น (Expansion Valve) : อุปกรณ์ควบคุมสารทำความเย็น (Expansion Valve) : เรียกกันทั่วไปคือวาล์วลดความร้อน เป็นส่วนสุดท้ายของการทำความเย็น ทำหน้าที่ให้ความดันและอุณหภูมิของสารทำความเย็นจากคอยล์ร้อนลดลง ส่งผลให้สารทำความเย็นพร้อมที่จะระเหยตัวที่อุณหภูมิต่ำ

แอร์ไม่เย็นเกิดจากอะไร? ทำไมมีแต่ลม วิธีแก้ไข ทำยังไงให้แอร์เย็นฉ่ำ!

แอร์ไม่เย็นเกิดจากฟิลเตอร์สกปรก ล้างแอร์ไม่สม่ำเสมอ

หากพบปัญหาแอร์ไม่เย็น อันดับแรกที่ควรจะทำคือทบทวนก่อนเลยว่า แอร์ที่ใช้อยู่นั้นถูกล้างและทำความสะอาดล่าสุดเมื่อไร โดยปกติแล้วหากเปิดแอร์วันละ 8-12 ชั่วโมง ก็ควรจะต้องมีการล้างแอร์ทุก 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ เพราะปัญหาแอร์ไม่เย็นนั้นมักเกิดจากแผ่นกรองอากาศหรือฟิลเตอร์แอร์สกปรก เนื่องจากระหว่างที่เราเปิดแอร์จะมีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกไปเกาะสะสมบนฟิลเตอร์เรื่อยๆ ทำให้เกิดจากอุดตันและระบายลมได้ยากมากขึ้น ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นานๆ ยิ่งส่งผลให้เทอร์โมสตัด หรือตัวควบคุมอุณหภูมิภายในเครื่องปรับอากาศนั้นอุดตัน เกิดเป็นน้ำแข็งเกาะทำให้ลมเย็นไม่ออกมาจากช่องแอร์ ยิ่งถ้ามีปัญหาน้ำหยดด้วย ยิ่งชัดเจนว่าฟิลเตอร์แอร์ของคุณสกปรก และกำลังมีปัญหาเรื่องการอุดตันมากๆ ซึ่งหากคุณยังไม่สะดวกเรียกช่างมาล้างแอร์ เบื้องต้นอาจทำความสะอาดเองก่อนได้ดังนี้ (ทั้งนี้ควรหาเวลาสะดวกเรียกช่างมาล้างปีละ 2 ครั้งจะดีที่สุด)

วิธีล้างแอร์ด้วยตัวเองง่ายๆ เมื่อแอร์ไม่เย็นเพราะฟิลเตอร์สกปรก

  1. ตัดไฟที่เบรกเกอร์ก่อน จากนั้นยกฝาครอบด้านหน้าแอร์ เพื่อถอดแอร์ฟิลเตอร์ออก
  2. นำแอร์ฟิลเตอร์ไปล้าง ใช้ฟองน้ำ แปรง หรือผ้าขนหนูเช็ดและขัดบนฟิลเตอร์เบาๆ เพื่อนำฝุ่นต่างๆ ออก จากนั้นนำฟิลเตอร์ไปผึ่งให้แห้ง
  3. ขณะที่รอฟิลเตอร์แห้ง ให้กลับมาล้างฝุ่นบริเวณแผ่นคอยล์เย็น ฉีดสเปรย์โฟมล้างแอร์ให้ทั่วคอยล์เย็น ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เสร็จแล้วเอาฟิลเตอร์กลับเข้าไปที่เดิม
  4. ปิดฝาแอร์ ตรวจเช็กฝุ่นตามส่วนประกอบด้านนอกอีกครั้ง จากนั้นเปิดแอร์โหมดพัดลมไว้ที่ 24 องศาฯ ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาดคอยล์เย็น

แอร์ไม่เย็นเกิดจากปรับรีโมทแอร์ผิดโหมด

ถ้าคุณกำลังเจอปัญหา แอร์ไม่เย็น มีแต่ลม ให้ลองหยิบรีโมตแอร์ขึ้นมาเช็กก่อนเลย ว่าเปิดผิดโหมดอยู่รึเปล่า เพราะโหมดของแอร์แต่ละโหมดจะมีจุดประสงค์ที่ต่างกัน โดยหลักๆ จะแบ่งเป็น 3 โหมดคือ Cool Mode, Dry Mode และ Fan Mode ที่นิยมใช้กันบ่อยสุดจะเป็น Cool Mode เพราะเป็นโหมดที่เหมาะมากในฤดูร้อน สามารถปรับอุณหภูมิภายในห้องให้ลดลงและเย็นขึ้นตามอุณหภูมิที่ตั้งไว้ผ่านรีโมท ในขณะที่ Dry Mode จะเป็นโหมดที่ช่วยลดความชื้น โดยมีส่วนช่วยในการลดอุณหภูมิเพื่อทำให้ห้องเย็นได้เช่นกัน แต่จะมีลมออกมาด้วยเพื่อลดความชื้นต่างๆ โหมดนี้จะไม่สามารถปรับขึ้นลงได้ และโหมดสุดท้ายคือ Fan Mode หรือโหมดพัดลมซึ่งเป็นโหมดที่ทำให้หลายคนหงุดหงิด และหาวิธีแก้ปัญหาไม่ค่อยเจอ โหมดพัดลมเป็นโหมดที่ช่วยระบายความชื้น และลดกลิ่นอับภายในห้องซึ่งจะไม่มีส่วนช่วยในการทำให้ห้องเย็น ดังนั้นลองเช็กรีโมทแอร์ดู ไม่แน่ว่าตอนนี้คุณอาจกำลังเปิดโหมดพัดลมค้างไว้อยู่ก็เป็นได้นะ

คำแนะนำเกี่ยวกับการเปิดแอร์แต่ละโหมดเพื่อแก้ปัญหาแอร์ไม่เย็น

  • Cool Mode : เหมาะใช้ในฤดูร้อน เพื่อทำให้อุณหภูมิห้องเย็นไปตามที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ยิ่งตั้งอุณหภูมิต่ำ ในอากาศที่ร้อนจัด ก็อาจทำให้แอร์ใช้งานหนักเกินไป และทำให้เสื่อมประสิทธิภาพไวได้ ดังนั้นหากต้องการประหยัดไฟและพลังงาน แนะนำให้เปิดที่ 26 – 27 องศาฯ พร้อมกับเปิดพัดลมส่ายไปมาก็จะช่วยให้ห้องของคุณเย็นยิ่งขึ้นโดยไม่กินไฟมากจนเกินไป
  • Dry Mode : เหมาะกับใช้ในช่วงฤดูฝนหรือวันที่มีฝนตก ทำให้ห้องชื้นและเกิดการไม่สบายตัว หากฝนตกและอบอ้าว แนะนำให้ลองเปิด Dry Mode ไว้สัก 1 ชั่วโมงจากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็น Cool Mode ก็จะทำให้ห้องเย็นเร็ว และเย็นนานมากขึ้นด้วยนะ
  • Fan Mode : เหมาะกับวันทำความสะอาด เอาไว้ทำความสะอาดคอยล์เย็น หรือเปิดทิ้งไว้เพื่อแก้ปัญหากลิ่นอับภายในห้อง ไม่เหมาะกับการเปิดเพื่อลดอุณหภูมิห้อง หรือจะเปิดในช่วงฤดูหนาวในห้องปิดทึบ หรือห้องที่มีอากาศถ่ายเทน้อยก็ได้

แอร์ไม่เย็นเกิดจากน้ำยาแอร์หมด หรือน้ำยาแอร์รั่ว

อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้แอร์ไม่เย็น มีแต่ลมออกมาทั้งที่อาจเปิด Cool Mode อยู่ ให้สันนิษฐานได้เลยว่า น้ำยาแอร์หรือที่เรียกว่าสารทำความเย็นหมด หรือเกิดการรั่วอยู่ ซึ่งกรณีน้ำยาแอร์หมดนั้นสามารถเรียกช่างมาเติมน้ำยาแอร์ให้ได้ ไม่อันตราย แต่หากมีปัญหาน้ำยาแอร์รั่วนั้นต้องรีบซ่อมทันที เพราะหากมีปริมาณมากจะเกิดอันตรายต่อทางเดินหายใจ เพราะน้ำยาแอร์จะระเหยไปแทนที่อากาศ แล้วถ้าถูกเปลวไฟจะเกิดเป็นควันพิษได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะกรณีน้ำยาแอร์หมด หรือน้ำยาแอร์รั่วก็ควรปิดการใช้งานและเรียกช่างมาตรวจสอบจะดีกว่า ไม่ควรหาวิธีเติมน้ำยาแอร์เองเพราะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทางและความชำนาญเฉพาะทาง

วิธีเช็กปัญหาแอร์ไม่เย็นเพราะน้ำยาแอร์รั่ว

  • วิธีที่ 1 : เปิดแอร์ไปที่อุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียส รอประมาณสัก 10 นาที จากนั้นลองใช้มือสัมผัสลมตรงช่องแอร์ โดยเริ่มจากทางขวามือแล้วเลื่อนไปซ้ายมือ หากพบว่าความเย็นไม่สม่ำเสมอทั้ง 2 ฝั่ง แสดงว่าน้ำยาแอร์เริ่มรั่วแล้ว
  • วิธีที่ 2 : เปิดแอร์ไปที่อุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียส รอประมาณ 10 นาที ถ้าแอร์ไม่เย็น มีแต่ลม ให้ลองแกะหน้ากากแอร์ออกแล้วตรวจดูว่ามีน้ำแข็งเกาะหรือไม่ ถ้ามีเกาะแสดงว่าน้ำยาแอร์เริ่มมีการรั่วซึมแล้ว
  • วิธีที่ 3 : เปิดแอร์ไปที่อุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียส รอประมาณ 10 นาทีเหมือนเดิม จากนั้นลองเปิดฝาครอบด้านข้างของคอยล์ร้อนที่ตั้งอยู่นอกบ้าน ถ้ามีน้ำแข็งจับแสดงว่าแอร์ของคุณรั่วแล้ว

แอร์ไม่เย็นเกิดจากขนาดของ BTU แอร์ไม่เหมาะกับขนาดของห้อง

BTU หรือ British Thermal Unit ซึ่งเป็นหน่วยความเย็นของแอร์นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของห้องด้วย เพราะหากไม่สัมพันธ์กันก็อาจทำให้แอร์กระจายความเย็นได้ไม่ทั่วถึง เชื่อว่าหลายคนมักเผลอเลือกซื้อแอร์ BTU น้อยๆ เพราะมีราคาที่ถูกกว่า แต่จะไม่มีประโยชน์เลยถ้าคุณซื้อแอร์ที่ BTU น้อยเกินไปซึ่งจะกลายเป็นปัญหาระหว่างใช้งานคือแอร์เย็นไม่พอ แอร์ทำงานหนัก และกินไฟกว่าเดิม ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือหาฉากกั้นห้อง ติดแอร์เพิ่ม หรือนำแอร์ย้ายไปห้องที่เหมาะสม และอาจต้องซื้อแอร์เครื่องใหม่แทน

วิธีคำนวณ BTU แอร์กับขนาดห้องว่าเหมาะสมกันหรือไม่

วิธีคำนวณคือ BTU = [ความกว้างของห้อง(เมตร) x ความยาวของห้อง(เมตร)] x ตัวแปร โดย 4 ตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณ คือ

  • ห้องนอนปกติที่ไม่โดนแดด = 750
  • ห้องนอนปกติที่โดนแดด อยู่ติดกับหน้าต่าง หรือกระจก = 800
  • ห้องทำงานที่ไม่โดนแดด = 850
  • ห้องทำงานที่โดนแดด อยู่ติดกับหน้าต่าง หรือกระจก = 900

แอร์ไม่เย็นเกิดจากคอมเพลสเซอร์แอร์ไม่ทำงาน

แอร์ไม่เย็นเพราะคอมเพลสเซอร์ไม่ทำงาน เป็นปัญหาที่พบได้น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการทำการของแอร์บางรุ่นที่อาจมีการปิดการทำงานอัตโนมัติเมื่อเกิดไฟตก หรือไฟดับ โดยปกติถ้าเป็นระบบตัดการอัตโนมัติแล้วแก้ได้ง่ายๆ โดยการสับเบรกเกอร์ก็หายและกลับมาทำงานได้ปกติ แต่หากไม่ใช่อาจเกิดจากความเสียหายภายในคอมเพลสเซอร์แอร์ ซึ่งอาจต้องทำการเรียกช่างมาเปลี่ยนอะไหล่ หรือยกเครื่องคอมเพลสเซอร์ใหม่ นอกจากนี้อาจเกิดจากปัญหาอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ใช้งานแอร์หนักจนเกินไป, สตาร์ตเตอร์ชำรุด, แผงวงจรขัดข้อง หรือคัทเอาท์เสื่อมสภาพ

วิธีเช็กคอมเพรสเซอร์แอร์เมื่อแอร์ไม่เย็น

  • กรณีใบพัดหมุนช้าแต่คอมเพรสเซอร์ยังทำงานอยู่ : แสดงว่ามอเตอร์อาจมีปัญหาไม่สามารถระบายความร้อนได้ เกิดเป็นปัญหาแอร์เย็นบ้างไม่เย็นบ้าง
  • กรณีใบพัดลมหมุนปกติแต่คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงานเลย : ปัญหานี้เกิดมาจากคาปาซิสเตอร์ ซึ่งเป็นสาเหตุเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า แรงดันไฟฟ้าต่างๆ
  • กรณีใบพัดไม่หมุนและคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงานเลย : อาจมีปัญหาเกิดจากแผงควบคุมที่คอยล์เย็น จะต้องเปิดเครื่องคอมเพรสเซอร์เพื่อเช็ก

*คำเตือน : ปัญหาเกี่ยวกับคอมเพลสเซอร์เป็นปัญหาด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับระบบ รวมไปถึงแผงวงไฟฟ้าต่างๆ ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทาง เมื่อพบปัญหาควรเรียกช่างมาตรวจสอบ ไม่ควรเปิดดูเองเพราะอาจเกิดอันตรายได้

เครดิต : https://www.priceza.com/article/shopping-guide/%e0%b9%81%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b9%80%e0%b8%a2%e0%b9%87%e0%b8%99-%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b9%81%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b8%a5%e0%b8%a1.html