Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง

มะเฟืองคือผลไม้ แต่ถ้าให้พูดถึง “เลนส์มะเฟือง” หลาย ๆ คนก็จะนึกถึงเลนส์ 50mm f/1.4 ของบริษัท Nikon หรือในชื่อเลนส์เต็ม ๆ ว่า Nikkor-S 50mm f/1.4 Auto ซึ่งด้วยลักษณะของเลนส์ที่เป็นเลนส์มาตรฐาน (Standard lens) ทำให้มีเลนส์นี้ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก และลักษณะภายนอกที่เป็นกระบอกเลนส์สีดำตัดกับสีเงิน ทำให้ดูโดดเด่น มีการขึ้นรูปกระบอกเลนส์ให้เป็นร่องสำหรับจับ ทำให้เมื่อมองจากมุมหนึ่งแล้ว เลนส์นี้จะมีลักษณะคล้ายกับมะเฟือง อันเป็นที่มาของฉายานี้

สำหรับเลนส์ในยุคฟิล์มแล้ว การขึ้นรูป หรือเซาะร่องของกระบอกเลนส์ให้เป็นทรงคล้ายมะเฟืองนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่สงวนแก่เลนส์ของ Nikon เพียงอย่างเดียว เลนส์ที่ผลิตจากบริษัทอื่น ๆ อย่าง Asahi (Fujinon) ก็มีเลนส์ที่มีลักษณะของการเซาะร่องให้เข้ากับนิ้วในทำนองเดียวกัน หรือแม้แต่ในเลนส์จาก Nikon เองก็มีเลนส์รูปทรงมะเฟืองอยู่อีกมาก คือเลนส์ในกลุ่ม F-type ซึ่งเป็นเลนส์รุ่นแรก ๆ ในระบบ F-Mount ของนิคอน ก่อนที่บริษัทจะพัฒนาไปเป็นเลนส์ K-type และเลนส์ AI (Aperture Index) ซึ่งเป็นจุดตัดสำคัญของการเข้ากันได้ระหว่างเลนส์และกล้องของบริษัทนี้ต่อไป

Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง

เลนส์ F-type และ K-type จะเป็นกลุ่มเลนส์ที่ถูกเรียกรวมกันว่าเป็นเลนส์แบบ Non-AI ซึ่งเลนส์ทั้งสองกลุ่มนี้จะมีลักษณะสำคัญร่วมกันหนึ่งอย่างคือฐานติดตั้งของเลนส์ที่เรียบเสมอกัน ทำให้เลนส์ Non-AI นั้นจะสื่อสารค่าช่องรับแสง (Aperture Value) กับกล้องโดยตรงไม่ได้ เพราะในกล้องรุ่นต่อ ๆ มาจะมีเขี้ยว “AI Indexing Tab” ที่ยื่นออกจากฐานติดตั้งของกล้อง ใช้อ่านค่าช่องรับแสงของเลนส์ แต่เลนส์ Non-AI จะไม่ได้ตัดฐานติดตั้งให้เป็นช่องไว้เกี่ยวกับ เขี้ยว AI Indexing Tab โดยจะสื่อสารค่าช่องรับแสงผ่านทาง “หูกระต่าย” ที่เกี่ยวเข้ากับตะขอของเครื่องวัดแสงในกะโหลกกล้องแทน

เลนส์ Non-AI จะนำไปติดตั้งบนกล้องที่มี AI Indexing Tab ไม่ได้ เนื่องจากฐานติดตั้งของเลนส์จะเบียด AI Indexing Tab จนอาจเสียหาย ยกเว้นว่าจะเป็นกล้องที่พับเขี้ยวนี้ให้พ้นทางได้ หรือนำเลนส์ Non-AI ดังกล่าวไปดัดแปลงฐานติดตั้งเพื่อให้รองรับกล้องที่มี AI Indexing Tab เสียก่อน ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยการบากท้าย หรือเปลี่ยนฐานติดตั้งของเลนส์นั้นทั้งชิ้น

เลนส์ที่จะนำมารีวิวในครั้งนี้จะเป็นเลนส์ Nikkor-S.C 50mm f/1.4 Auto ซึ่งเป็นเลนส์รุ่นสุดท้ายก่อนที่นิคอนจะเปลี่ยนไปใช้เลนส์ K-type เลนส์นี้จะมีลักษณะภายนอกที่คล้ายกับเลนส์ 50mm f/1.4 แบบ F-Type รุ่นก่อนหน้าแทบทุกประการ ซึ่งความเหมือนนี้อาจจะรวมไปถึงโครงสร้างทางทัศนูปกรณ์ (Optical Design) ที่ชวนให้คิดไปในทางเดียวกัน สิ่งที่ทำให้เลนส์นี้มีความแตกต่างจากเลนส์ก่อน ๆ อย่างแน่นอนคืออักษร “C” ที่เพิ่มขึ้นมาในชื่อเลนส์ บอกให้รู้ว่าเลนส์ที่มีอักษรนี้ เป็นเลนส์ที่เคลือบผิวเลนส์ไว้หลายชั้น (Multicoated)

Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง

ลักษณะภายนอกของเล่นเป็นไปตามฉายา “เลนส์มะเฟือง” ทุกประการ แหวนโฟกัสสีดำเป็นกระบอกนอกสุด อยู่ด้านสุดของเลนส์ กระบอกขึ้นรูปให้เว้าเป็นร่องเข้ากับนิ้วมือพอดี กระบอกเลนส์ด้านในจะมีสีเงินสว่างตัดกับสีดำมืดของกระบอกนอก ทำให้เลนส์สีดูโดดเด่นและมีมิติ แหวนปรับรูรับแสงอยู่ด้านในที่สุดติดอยู่กับฐานติดตั้ง ใต้แหวนปรับช่องรับแสงจะมีการขึ้นรูปให้เป็นร่องในทำนองเดียวกันกับแหวนปรับโฟกัส แต่จะไม่ลึกเท่า ส่วนด้านบนของเลนส์จะมี “หูกระต่าย” ไว้เกี่ยวตะขอวัดแสงในกระโหลกของกล้อง SLR รุ่นเก่า และแน่นอนว่าเล่นนี้มีฐานติดตั้งเหมือนกับเลนส์กลุ่ม F-type ทุกประการ

การโฟกัสของเลนส์จะใช้มือหมุนได้อย่างราบรื่น แหวนปรับโฟกัสหนืดกำลังดี ปรับโฟกัสอย่างละเอียดได้ง่าย แต่ก็ไม่หมุนไปเองเมื่อสัมผัสกระบอกด้านในของเลนส์จะยืดออกเล็กน้อยเมื่อโฟกัสวัตถุในระยะใกล้ ส่วนการปรับช่องรับแสงจะเป็นแบบมีคลิก คลิกละหนึ่ง f-stop ไล่ไปตั้งแต่ f/1.4 ไปจนถึง f/16 ซึ่งเป็นขนาดของช่องรับแสงที่แคบที่สุดที่เลนส์นี้จะทำได้

นอกจากนี้ บนเลนส์ก็จะมีตัวเลขบอกระยะโฟกัสและ hyperfocal distance ซึ่งเส้นบอก hyperfocal distance จะเป็นสีเดียวกันกับเลขของช่องรับแสง ซึ่งจะช่วยให้คนที่ใช้ระบบ Zone focusing กะระยะคมชัดของภาพได้อย่างง่ายดายขึ้น แต่สำหรับผมที่ใช้กับกล้องดิจิทัลเองจะไม่ได้ใช้ระบบนี้เท่าไหร่ ขอ slow life พึ่งพาระบบ Peaking และซูมตรวจความคมชัดผ่าน Live view ของกล้อง MILC เน้นถ่ายแม่น ๆ ไปแทน

Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง

ผมใช้เลนส์นี้ผ่านอแดปเตอร์ Nikkor F to Canon EF และ Canon EF to EOS M 0.71x ครับ

ด้วยความที่เป็นเลนส์นี้มีความยาวโฟกัสเป็น 50 มิลลิเมตร อยู่ในขอบเขตของเลนส์มาตรฐาน (Normal lens) ทำให้ถ่ายสิ่งต่าง ๆ ได้โดยทั่วไปโดยไม่มุมภาพไม่แคบจนดูถ่ายเจาะจง หรือขยายมุมภาพจนกว้าง เปิดรับสิ่งต่าง ๆ เข้ามาในกรอบภาพเต็มไปหมด สิ่งที่เลนส์นี้จะถ่ายไม่ได้ คืออะไรก็ตามที่อยู่ในระยะที่มือเอื้อมถึง เพราะว่าเลนส์นี้มีระยะโฟกัสใกล้สุดที่ไกลถึง 60 เซนติเมตร ซึ่งไกลมากเมื่อเทียบกับเลนส์ 50 mm ทั่ว ๆ ไป ทำให้เลนส์นี้มีอัตราขยายสูงสุดที่น้อย จะใช้ถ่ายของที่มีขนาดเล็กกว่ากระดาษ A4 หรือถ่ายใบหน้าของคนให้เต็มเฟรมไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่

เลนส์นี้มีช่องรับแสงที่กว้างสำหรับเลนส์ 50 mm ใช้ถ่ายภาพในที่มืด มีแสงน้อยได้ดี และใช้ถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอได้อย่างไม่ยากเย็นนัก โบเก้พื้นหลัง (Background bokeh) จากเลนส์นี้ถือว่าดีใช้ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะค่อนข้างเนียน จุดแสงที่เบลอเป็นวงกลมที่อยู่บริเวณขอบภาพจะเสียรูป กลายเป็นทรงตาแมวบ้าง วงของโบเก้จะมีเนื้อข้างในที่ค่อนข้างเรียบ ผิวขอบจะหนาเป็นเส้นชัดเจนเล็กน้อย แต่ไม่แข็งเกินไปจนภาพดูเป็นเกล็ด

Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง
[ลักษณะทั่วไปของโบเก้พื้นหลัง หมายเหตุว่า มีภาพหลอก (ghosting) อยู่ที่มุมขวาล่างของภาพ]

แต่โบเก้พื้นหน้า (Foreground Bokeh) ของเลนส์นี้จะดูน่าผิดหวังไปหน่อยเมื่อเทียบกับเลนส์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน เพราะจุดแสงจะเสียทรงเป็นอย่างมาก กลายเป็นรูปตาแมวปลายแหลมที่มีวงกลมเล็ก ๆ อยู่ตรงกลาง แต่ทั้งนี้ก็อาจจะมองว่าเป็นลักษณะหายากอย่างหนึ่งในเลนส์ก็ได้เช่นกัน ด้วยม่านรับแสงทรงเหลี่ยมของเลนส์นี้ ทำให้การหรี่ช่องรับแสงจะทำให้ได้โบเก้ทรง 7 เหลี่ยมตั้งแต่ f/2.0

Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง
[แม้ว่าจะหรี่ช่องรับแสงเพียงเล็กน้อย ที่ประมาณ f/2.0 หรือ 2.8 ก็เริ่มเห็นทรงของม่านรับแสงของเลนส์]
Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง
[เลนส์นี้จะให้แฉกแสง 14 แฉกเมื่อหรี่ช่องรับแสง]

เลนส์นี้ไม่ค่อยขึ้นชื่อในเรื่องความคมชัด บริเวณ 1/2 จากตรงกลางของภาพ หรือประมาณขอบภาพของกล้อง APS-C จะมีความคมชัดที่เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปตั้งแต่ f/1.4 เลนส์นี้จะไปเป็นปัญหาจริง ๆ ก็บริเวณขอบภาพที่จะไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่ ซึ่งสำหรับตอนนี้อาจจะโยนความผิดให้เป็นของ adapter ก็ได้

เลนส์นี้ไม่ค่อยมีความเหลื่อมนรงค์ (Chromatic aberration) ให้เห็นมาก ส่วนปัญหาขอบภาพมืดก็จะมีบ้าง แต่ไม่ค่อยผิดสังเกตมากเท่าไหร่ในขอบเขตของ APS-C แต่ถ้าหากใช้เลนส์นี้กับกล้อง Full-frame แท้ (หรือในกรณีของผมคือ Focal reducer) ก็จะพบว่ามุมภาพนั้นมืดลงอย่างรวดเร็วที่ f/1.4 แต่ปัญหานี้ก็จะคลี่คลายลงพอสมควรเมื่อหรี่ช่องรับแสงเป็น f/2.0

สิ่งที่ตามมากับการถ่ายที่ช่องรับแสง f/1.4 คือความเปรียบต่าง (Contrast) ของเลนส์ที่น้อยจนภาพดูขุ่น ต้องหรี่ช่องรับแสงเป็นอย่างน้อยที่ f/2.0 จึงจะมีความเปรียบต่างที่มากขึ้น แต่ต่อให้เลนส์นี้จะมีความเปรียบต่างที่น้อย แต่หากนำเลนส์ไปถ่ายวัตถุที่มีความเปรียบต่างมาก จะเกิดอาการเรืองแสงขึ้นที่วัตถุที่สว่างมาก ๆ

Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง
Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง

[ภาพเปรียบเทียบระหว่าง f/1.4 (ซ้าย) และ f/2 (ขวา) ผ่าน adapter ธรรมดา โดยชดเชยความสว่าง 1.0 stop ด้วย ISO]

Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง
Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง

[ภาพเปรียบเทียบระหว่าง f/1.4 (ซ้าย) และ f/2 (ขวา) ผ่าน adapter 0.71x โดยไม่ชดเชยความสว่างใด ๆ]

เรื่องแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นขณะใช้นี้กับ focal reducer คือ เมื่อหรี่ช่องรับแสงของเลนส์จาก f/1.4 เป็น f/2.0 ค่าความสว่างที่กล้องวัดได้จะเพิ่มขึ้นเพียง ⅓ stop เท่านั้น (วัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลางภาพ) เมื่อหรี่ช่องรับแสงให้แคบลงเป็น f/2.8 ภาพจึงสว่างขึ้นเป็น 1 stop เต็ม

สำหรับเรื่อง Flare ซึ่งเป็นสิ่งที่เลนส์นี้ควรจะมีพัฒนาการขึ้นมาจากจากเลนส์รุ่นก่อน (Nikkor-S 50mm) เท่าที่ได้ลองถ่ายเปรียบเทียบนิดหน่อยระหว่างเลนส์รุ่นนี้กับเลนส์รุ่นก่อนหน้า ก็จะพอสรุปได้รับว่าแฟลร์ที่จ้าออกมาจากแหล่งกำเนิดแสงของเลนส์ใหม่จะสว่างจ้ากว่าเลนส์เก่า ส่วนแฟลร์ที่เป็นเม็ด ๆ (หรือภาพหลอก/ Ghosting) ซึ่งเกิดจากการสะท้อนระหว่างชิ้นเลนส์จะจางกว่าเลนส์เก่า ส่วนความแตกต่างในการใช้งานจริงนั้น ผมจะขอทิ้งไว้จนกว่าจะมีเลนส์ทั้งสองแบบมาถ่ายเทียบกันอย่างเป็นทางการครับ

Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง
Nikkor s.c 50mm f1.4 non ai ม อสอง

[ภาพเปรียบเทียบระหว่างเลนส์ใหม่ (ซ้าย) และ เลนส์เก่า (ขวา) ผ่าน adapter 0.71x]

หากใช้เกณฑ์สำหรับเลนส์ในปัจจุบันมาประเมินเลนส์ตัวนี้ จะพบว่าเลนส์ Nikkor-S.C 50mm f/1.4 Auto นั้นไม่ได้มีอะไรที่ดีโดดเด่นมากเท่าไหร่เลย ทั้งความคมชัด ความเปรียบต่าง และความสว่างที่ขอบภาพนั้น ต่างก็เป็นสมบัติที่เลนส์นี้ทำได้ในระดับพอใช้เท่านั้น ภาพโดยรวมที่เลนส์นี้ให้มา โดยเฉพาะเมื่อถ่ายที่ f/1.4 นั้นจะค่อนข้างขุ่น ถ้าต้องนำภาพไปใช้ในงานที่พึ่งพาความสะอาดสะอ้าน หรือวางส่วนประกอบสำคัญไว้บริเวณขอบภาพ จะลำบาก

ราคาประมาณ 4,000 บาทนั้นอาจจะมองได้ว่าเป็นราคามาตรฐานสำหรับเลนส์มาตรฐาน f/1.4 จากยุคฟิล์ม แต่สำหรับผูู้ใช้กล้อง Canon แล้ว บริษัทมีเลนส์สามัญประจำบ้านอย่าง EF50mm f/1.8 STM ที่วางจำหน่ายในช่วงราคาใกล้เคียงกัน ที่แม้จะไม่มี f/1.4 ที่ต้องการ แต่เลนส์ EF ก็มีระบบโฟกัสอัตโนมัติ มีความเปรียบต่างที่ดีกว่าเมื่อถ่ายเปรียบเทียบกันที่ช่องรับแสงกว้างสุด และความแตกต่างของช่องรับแสง ⅔ stop นั้นอาจจะยังไม่มากพอที่จะสังเกตได้ หากไม่นำมาเปรียบเทียบกันโดยตรง

สำหรับผู้ใช้กล้อง Nikon เองก็จะพบปัญหาว่า มีกล้องอยู่ไม่น้อยที่ติดตั้งเลนส์นี้ไม่ได้ เนื่องจากมี AI Indexing tab ที่พับให้พ้นจากทางของเลนส์ไม่ได้ โดยเฉพาะกล้องดิจิทัล Full-frame ที่มีเพียงไม่กี่ตัวที่ออกแบบให้พับ AI Indexing tab ได้อย่าง Nikon Df หากจะใช้เลนส์นี้โดยไม่ดัดแปลงใด ๆ ก็จะต้องใช้กล้องในระดับที่ต่ำลง เช่นกล้องตระกูล D3000, D5000 หรือกล้อง D7500 ที่เพิ่งจะนำ AI Indexing Tab ออก ไม่อย่างนั้นก็จะต้องแปลงเลนส์ผ่าน F to Z adapter เพื่อใช้กับกล้อง MILC ในตระกูล Z ของนิคอนเอง

เลนส์จากยุคฟิล์มที่พอจะใช้ได้กับกล้อง Full-frame ยุคปัจจุบันคือเลนส์กลุ่ม AI/AI-S ซึ่งจะเข้ากันได้มากกว่าเลนส์ Non-AI เลนส์ AI นี้จะมีราคามือสองที่ไม่ต่างกันมาก มีคุณภาพภาพ มีความเปรียบต่างที่ดีกว่า และ Nikon ยังขายเลนส์ในกลุ่มนี้อยู่

แม้ว่าเลนส์ Nikkor-S.C 50mm f/1.4 Auto จะมีอายุกว่า 60 ปีแล้ว แต่เลนส์นี้ก็เป็นเลนส์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เลนส์จากยุคกล้องฟิล์มเพื่อติดตั้งบนกล้องดิจิทัลเพื่อสร้างภาพที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ดูย้อนยุค หรือแม้แต่ใช้เลนส์นี้กับกล้องฟิล์มที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน