วิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน คือ

การเขียนการวิจัยในชั้นเรียน โครงร่างการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน(แบบง่าย)(CAR – Classroom  Action  Research)        

        การวิจัยในชั้นเรียน (CAR – Classroom  Action  Research) เป็นการพัฒนาการเรียนรู้เชิงระบบโดยใช้ข้อมูลระดับ
ห้องเรียน  เป็นการพัฒนาเพื่อให้ผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายตามที่หลักสูตรกำหนดไว้   โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

ขั้นตอนที่ 1
          - วิเคราะห์สภาพปัญหาการเรียนการสอนระดับห้องเรียน

ขั้นตอนที่ 2
          - พัฒนาเทคนิควิธีการ / สื่อ-นวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหา

ขั้นตอนที่ 3
          - นำเทคนิควิธีการ / สื่อ นวัตกรรมไปใช้สอนจริงในห้อง

ขั้นตอนที่ 4
          - สรุปผลการดำเนินการแก้ปัญหา

     ขั้นตอนที่ 1  
การวิเคราะห์สภาพปัญหาการเรียนการสอนในระดับห้องเรียนเป็นการระบุปัญหาที่แท้จริงโดยอาศัยข้อมูลจากห้องเรียน ดังนี้
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับรายวิชา / รายจุดประสงค์การเรียนรู้
2. พฤติกรรมด้านคุณธรรม  จริยธรรมที่พึงประสงค์ตามหลักสูตร
3. บุคลิกภาพของนักเรียนด้านต่าง ๆ
4. เจตคติต่อรายวิชาต่าง ๆ
5. พฤติกรรมการเรียน เช่น ความขยันหมั่นเพียร  ใฝ่รู้ใฝ่เรียน   ชอบหนีเรียน เป็นต้น

แหล่งข้อมูลที่จะนำมาเคราะห์ ได้แก่
1. รายงานสรุปผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นรายห้อง
2. รายงานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นรายจุดประสงค์การเรียนรู้
3. แบบสังเกตพฤติกรรมด้านต่าง ๆ
4. ผลการประเมินโครงการที่เกี่ยวข้อง
5. แบบวัดเจตคติต่อรายวิชาต่าง ๆ
6. แบบวัดบุคลิกภาพด้านต่าง ๆ
7. แฟ้มผลงานของนักเรียนรายบุคคล
8. แบบประเมินพฤติกรรมตามหลักสูตร
9. แบบวัดคุณธรรม จริยธรรมตามหลักสูตร

ข้อสังเกต
       ในการวิเคราะห์ปัญหาด้านการเรียนการสอน  ครูผู้สอนใช้ข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  โดยออกข้อสอบแบบอิงจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม  แล้วนำผลมาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา  แล้วจะชี้ปัญหารวม ๆ ไม่ได้ระบุว่านักเรียนบกพร่องในด้านใด  เรื่องอะไรบ้างได้ชัดเจน  เครื่องมือที่ใช้วัดยังไม่คมชัดพอที่จะระบุปัญหาข้อบกพร่องทางการเรียนได้อย่างชัดเจน  
        นอกจากข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้ว ครูผู้สอนยังต้องนำข้อมูลด้านพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรมาร่วมพิจารณาด้วย  จึงจะสามารถพัฒนา  การเรียนให้เกิดความสมดุลอย่างแท้จริง

      ขั้นตอนที่ 2
      การพัฒนาเทคนิควิธีการสอน  / สื่อ / นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา
        เป็นขั้นตอนที่ครูผู้สอนต้องศึกษา  ค้นคว้าวิธีการที่จะนำมาแก้ปัญหาในห้องเรียนโดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ  โดยพิจารณา
1. วิธีสอน  ต้องสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้และพฤติกรรมที่ต้องแก้ไข  เป็นการสอนโดยอาศัยกลุ่มสัมพันธ์ เพื่อเสริมสร้างการทำงานเป็นกลุ่ม / ทีม / คณะ  กิจกรรมการสอนเพื่อสร้างปัญญา   กิจกรรมการสอนเน้นการคิดเป็น   กิจกรรมการสอนแบบแก้ปัญหา  เป็นต้น
2. สื่อ / นวัตกรรมต่าง ๆ เป็นเครื่องมือของครู-อาจารย์ที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมายการสอน  โดยสื่อ / นวัตกรรมเหล่านั้น  ต้องสนองตอบต่อการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ โดยนักเรียนจะต้องสามารถศึกษาค้นคว้า  หาความรู้ด้วยตนเอง  ปฏิบัติจริง  ฝึกนิสัยให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้สื่อ / นวัตกรรมที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา อันได้แก่ สื่อที่ใช้ศึกษาด้วยตนเอง เช่น บทเรียนสำเร็จรูป  แบบฝึกทักษะ  เอกสารประกอบการเรียนการสอนแผ่นกระดานแม่เหล็ก หรือสื่อประเภทโมเดลต่าง ๆ เป็นต้น
        สื่อ / นวัตกรรมที่จะนำมาใช้ในด้านการเรียนการสอน  อาจเป็นของที่มีใช้กันอยู่แล้ว  ครูนำมาปรับใช้กับนักเรียนของตนได้อย่างเหมาะสม  หรือคิดประดิษฐ์สื่อขึ้นมาใหม่เพื่อนำมาใช้สอน  โดยมีขั้นตอนการพัฒนาดังนี้
      1. เมื่อสร้างสื่อ / นวัตกรรมแล้วควรนำสื่อที่ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อนั้น ๆ พิจารณาคุณภาพเบื้องต้นว่าสื่อนั้นถูกต้องตามหลักการ ทฤษฎีของสื่อนั้นและเหมาะสมกับนักเรียนหรือไม่  โดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 2 – 3  คน ทดลองให้นักเรียนในระดับเดียวกันที่มีปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ทดลองเรียนก่อน 1 คน เพื่อดูความเหมาะสม และความถูกต้อง แล้วปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสม
     2. ทดลองกับนักเรียนกลุ่มเล็กประมาณ 5 – 10 คนคละกันไป เพื่อตรวจสอบ ข้อบกพร่องและความเหมาะสมของสื่อ เพื่อเตรียมไปใช้กับนักเรียนจริงขั้นตอนนี้เป็นการทดลองใช้เพื่อให้ได้สื่อที่มีคุณภาพระดับหนึ่งสามารถนำไปใช้สอนในห้องเรียนจริงได้

      ขั้นตอนที่ 3
      การนำเทคนิค  วิธีการ / สื่อ / นวัตกรรม ไปใช้สอนในห้องเรียน  
     ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่นำเอาเทคนิค  วิธีการสอน  สื่อ / นวัตกรรมที่ได้พัฒนาแล้ว ไปใช้ในห้องเรียนโดยมุ่งเน้นว่าสิ่งที่พัฒนามานั้นสามารถใช้แก้ปัญหาได้หรือไม่  โดยมีขั้นตอนดังนี้
     1. นำเทคนิค  วิธีการ / สื่อ / นวัตกรรม ไปใช้แล้วนำผลที่ได้เปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด  โดยเกณฑ์นั้นครูผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดเอง  โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมคือ ไม่สูงเกินความสามารถของเด็ก หรือไม่ต่ำเกินไปจนเด็กที่ไม่ได้เรียนโดยวิธีนี้ก็สามารถทำได้
     2. เพื่อดูว่านักเรียนที่เรียนโดยสื่อ / นวัตกรรม ที่พัฒนาขึ้นมาเกิดการเรียนรู้จริงหรือไม่โดยดูจากคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน (โดยใช้สื่อ / นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมา ) นำมาเปรียบเทียบกันว่าแตกต่างกันจริงหรือไม่ ซึ่งพิจารณาจากผลการทดสอบทางสถิติว่า คะแนนหลังเรียนแล้วแตกต่างจากคะแนนก่อนเรียนและเพิ่มขึ้นอยางมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่  ขั้นตอนที่จะได้คำตอบว่าสื่อที่เราพัฒนาขึ้นแล้วนำไปแก้ปัญหาสำเร็จหรือไม่  ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ หรือแก้ปัญหายังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม  สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป คือ การปรับปรุงสื่อที่พัฒนาอีกครั้งหรือหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่  ถ้าขั้นตอนนี้สามารถแก้ปัญหาประสบผลสำเร็จ  ครูผู้สอนจะต้องบันทึกสรุปผลการแก้ปัญหา  โดยทำเป็นรูปเล่ม หรือเป็นบทสรุปที่มีข้อมูลยืนยันความสำเร็จ  เก็บในแฟ้มผลงานของครู  เพื่อเผยแพร่แก่ผู้อื่นได้รับทราบต่อไป

     ตอนที่ 4
     สรุปผลการดำเนินการแก้ปัญหา
    ซึ่งเป็นขั้นตอนการเผยแพร่แนวทาง  เทคนิค  วิธีการ / สื่อ / นวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหาประสบความสำเร็จแก่ผู้ร่วมอาชีพและสาธารณชนได้รับทราบ  อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานักเรียน  ผู้ร่วมอาชีพ  ที่สามารถนำไปเป็นแนวทางการแก้ปัญหาการเรียนการสอนได้ในรายวิชาเดียวกันหรือรายวิชาอื่น ๆ

การวิจัยในชั้นเรียน (CAR –Classroom  Action  Research).  [http://www.geocities.com/jackypoll2/research.html]

 1.       ชื่อเรื่องวิจัย  การใช้สื่อ CAI พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนวิชาฟิสิกส์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนส้มป่อยพิทยาคม

2.       ชื่อผู้วิจัย นายอภิสิทธิ์  บุญเกลี้ยง

3.       ปัญหาในการจัดการเรียนการสอน นักเรียนไม่สนใจเรียน ไม่อ่านหนังสือ  เกียจคร้าน 

4.       สาเหตุของปัญหา  พื้นฐานความรู้ทางคณิตศาสตร์ค่อนข้างต่ำ

5.       วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อพัฒนาพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (เพื่อแก้ปัญหาอะไร ของใคร ที่ไหน กี่คน)

6.       วิธีดำเนินงาน (วิธีการที่คาดว่าจะแก้ไข) ...................

7.       นวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหา .......................

8.       วิธีการและเครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ..............

9.       สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ..................

10.    ระยะเวลาที่คาดว่าจะแก้ไขเสร็จ .....................

11.    ความคาดหวัง  (พฤติกรรมของผู้เรียนที่ได้รับการแก้ไขแล้ว คืออะไร)

สรุปลักษณะการวิจัยในชั้นเรียน แบบง่าย

1.       ผู้ทำวิจัยยังคงทำงานตามปกติของตน

2.       ไม่ต้องสร้างเครื่องมือวิจัย (แต่สร้างเครื่องวัดผล)

3.       ไม่มีข้อมูลจำนวนมาก และไม่ต้องใช้สถิติที่ซับซ้อน

4.       ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการสังเกต การพูดคุย และใช้การวิเคราะห์เนื้อหา

5.       ไม่ต้องทบทวนรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

6.       ใช้เวลาทำวิจัยไม่นาน

7.       ความยาว 2 – 3 หน้าต่อเรื่อง

8.       นักเรียนได้รับการพัฒนา

9.       ไม่มีระบุประชากร การสุ่มตัวอย่าง

10.    ไม่ต้องใช้สถิติสรุปอ้างอิง และไม่มีระดับนัยสำคัญ

11.    ไม่มีการทดสอบก่อน หลัง

12.    ไม่มีกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม

13.    เน้นการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาของนักเรียน บางคน  บางเรื่อง

อ้างอิง

การวิจัยในชั้นเรียน (CAR –Classroom  Action  Research).  [http://www.geocities.com/jackypoll2/research.html]