ยื่นขอเป็น ผู้จัดการ มรดก ออนไลน์

ทำไมต้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก

                   เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาท หากเจ้ามรดกมีทรัพย์สินใดๆ ที่จะตกทอดแก่ทายาท อาจเป็นทายาทโดยธรรม หรือ โดยพินัยกรรมในกรณีที่เจ้ามรดกมีทรัพย์สินซึ่งมีทะเบียน เช่น โฉนดที่ดิน อาวุธปืนมีทะเบียน รถยนต์ หรือเอกสารที่เป็นชื่อของเจ้ามรดก เช่น บัญชีเงินฝากในธนาคาร สลากออมทรัพย์ ทรัพย์สินเหล่านี้ในการจัดการมรดก เจ้าพนักงานจะไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สิน หากไม่มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการตามกฎหมายเสียก่อน

ยื่นขอเป็น ผู้จัดการ มรดก ออนไลน์

การจัดตั้งผู้จัดการมรดก

                   เริ่มต้นตั้งแต่การลำดับทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย จัดเตรียมเอกสาร พยานบุคคล และทนายทำคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกยื่นต่อศาล (เมื่อได้รับเอกสารครบ ทนายจัดทำคำร้องไม่เกิน 1 สัปดาห์ศาลกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้อง

ทั้งนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 45 วัน

ขั้นตอนการดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก

                   1. ผู้ร้องหรือทายาทรวบรวมเอกสาร เมื่อเอกสารครบถ้วน

                   2. ทนายเขียนคำร้อง และจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็น ยื่นต่อศาล

                   3. เมื่อยื่นคำร้องต่อศาล...ชำระค่าฤชาธรรมเนียม ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ ศาลกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้อง และทนายแจ้งวันนัดให้ผู้ร้องทราบ

                   4. ทนายนำผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และต้นฉบับเอกสารเข้าไต่สวนตามวันนัด

                   5. ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก

                   6. ทนายส่งคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของศาลให้ผู้ร้อง

เขตอำนาจศาล

                  ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดมรดกถือเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4 จัตวา

“คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล”

                  ดังนั้น ในการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายเท่านั้น

                  แต่ถ้าขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญาจักรการยื่นคำร้องให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาลนั้น

บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

                  1. ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

                  2. บุคคลวิกลจริต หรือ บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

                  3. บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

(ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 )

หน้าที่ของผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                  ผู้จัดการมรดก มีทำหน้าที่รวบรวม และแบ่งปันทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก หรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้

                  หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเบียดบังทรัพย์มรดกเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก หรือผู้มีส่วนได้เสีย จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ และอาจมีความผิดอาญามีโทษจำคุกได้

หน้าที่ของผู้จัดการมรดก

                  1. หน้าที่ผู้จัดการมรดกเริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก (มาตรา 1716)

                  2. ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก (มาตรา 1728)

                  3. ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และบัญชีทรัพย์มรดกต้องมีพยาน 2 คน ซึ่งพยานต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย (มาตรา 1729)

                  4. ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายในกำหนดเวลา และตามแบบที่กำหนดไว้ หรือถ้าบัญชีนั้นไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้ (มาตรา 1731)

                  5. ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่ และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการ และแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันฟังคำสั่งศาล หรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะกำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1732)

                  6. ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรม หรือทายาทจำนวนข้างมากจะได้กำหนดให้ไว้ (มาตรา 1721)

                  7. ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล (มาตรา 1722)

                  8. ผู้จัดการมรดกต้องจัดการมรดกด้วยตนเอง หากทำโดยตัวแทนจะทำได้ตามอำนาจที่ให้ไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก (มาตรา 1723)

                  9. ถ้าผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัว นิติกรรมนั้นไม่ผูกพันทายาท เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย (มาตรา 1724)

                  10. ทายาทต้องบอกทรัพย์สินมรดก และหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดก (มาตรา 1735)