บุคคลสามารถทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุครบกี่ปี

พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน หรือในการต่างๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว ดังนั้น การทำพินัยกรรมเป็นเรื่องที่เจ้ามรดกประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ใครก็ได้

พินัยกรรม แบบธรรมดา มีหลักเกณฑ์ และข้อกำหนดที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันพึงต้องปฏิบัติ 

1. ทำด้วยตนเอง และต้องมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ 
2. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือบุคคลวิกลจริต โดยคำสั่งศาลแล้ว แต่กรณีเป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ทำพินัยกรรมได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์
3. ไม่ได้ถูกข่มขู่ สำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล
4. ผู้เขียน ผู้พิมพ์ หรือพยานในพินัยกรรม ตลอดรวมถึงคู่สมรส จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้
5.พินัยกรรมแบบพิมพ์ จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ แต่จะใช้ตราประทับหรือลงแกงไดไม่ได้
6. ต้องเป็นทำหนังสือ ลงวัน / เดือน / ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม หากไม่ลงเป็นโมฆะ
7. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน
8. พยาน 2 คนต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ขณะนั้น 
9. การขูด ลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ มีผลให้ข้อความที่ตกเติมเท่านั้นไม่สมบูรณ์ ส่วนอื่นย่อมบังคับได้อยู่
10. ผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรม ต้องลงลายมือชื่อของตน ทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน ถ้าเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตน

คุณสมบัติของพยานในพินัยกรรม
1. บรรลุนิติภาวะ
2. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
3. ไม่เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้ง 2 ข้าง
4. พยานต้องลงลายมือชื่อเท่านั้น จะพิมพ์ลายนิ้วมือหรือลงแกงได หรือใช้ตราประทับไม่ได้

ตัวอย่าง ทรัพย์สินที่ “ไม่ใช่มรดก” เพราะเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้น “หลัง” จากที่เจ้ามรดกตาย 
» เงินฌาปนกิจสงเคราะห์
» เงินชดเชย
» สิทธิในการได้รับจากเงินประกันชีวิต
» สิทธิเบิกเงินกู้ตามวงเงินของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร
» เงินบำนาญพิเศษ ตามพรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2494

หมายเหตุ
    หากผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมย่อมตกไป และทรัพย์สินตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1698(1) และ 1699

กรณีพินัยกรรม ตกเป็นโมฆะ
» พินัยกรรมทำโดยผู้มีอายุไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ 
» พินัยกรรมที่ทำขึ้นอันขัดต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ ไม่ได้ทำตามแบบ
» การตั้งผู้รับพินัยกรรมไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินของเขาเอง โดยพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรมหรือบุคคลภายนอกข้อกำหนด
» พินัยกรรมซึ่งกำหนดตัวบุคคล ซึ่งไม่ทราบตัวแน่นอนเป็นผู้รับพินัยกรรม
» พินัยกรรมระบุทรัพย์สินที่ยกให้ไม่ชัดเจนไม่อาจทราบได้แน่นอนได้ หรือให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งกำหนดให้มากน้อยตามแต่ใจเขา
» พินัยกรรมทำโดยผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แต่ถ้าทำขึ้นโดยผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต ซึ่งศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ พินัยกรรมจะเสียเปล่าต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าทำในเวลาที่วิกลจริต

จำนวนคนดู 892

ในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา มีบุคคลต่าง ๆ หลากหลายคนได้มาปรึกษาผมเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกและขอให้ผมจัดทำพินัยกรรมไว้ให้ถูกต้องชัดเจน เพราะเกรงว่าหากไม่ได้ทำ จะมีปัญหาตามมาภายหลังเสียชีวิตไปแล้ว ทำให้นึกถึงละครดังในอดีตที่นางเอกพยายามตามหาพินัยกรรมของเจ้าคุณพ่อที่ถูกซุกซ่อนไว้ เช่น นางเอกเดินทางมาทวงทรัพย์สินตามพินัยกรรมของคุณพ่อ หรือต้องปลอมตัวออกตามหาพินัยกรรมที่ถูกซ่อนอยู่หลังรูปภาพใบใหญ่


แม้นั่นจะเป็นเพียงละคร แต่ชีวิตจริงก็ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนก็ตาม เรื่องทรัพย์สินเงินทองก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่มิอาจปฏิเสธได้   การทำพินัยกรรมก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เป็นการกำหนดการจัดการทรัพย์สินของตนเองในขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่   และการทำพินัยกรรมก็ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงแต่มีข้อควรระวังและข้อแนะนำที่สำคัญเท่านั้นเอง


เบื้องต้นเรามาทำความรู้จักกับคำว่า “พินัยกรรม” ก่อนว่าคืออะไร  พินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนาเผื่อตายหรือกำหนดการเผื่อตายในเรื่องของทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะเป็นผลให้บังคับได้ตามกฎหมาย   การทำพินัยกรรมนี้ กฎหมายไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องทำแต่อย่างใด


พินัยกรรมจึงเป็นการกำหนดการไว้เผื่อตายใน 2 เรื่องด้วยกัน คือ

  1. เรื่องทรัพย์สิน ว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินหรือประโยชน์ให้แก่ใคร   ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่จะยกให้นั้นต้องเป็นของตนเอง มิใช่เป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์ของคนอื่น เช่น เรื่องลิขสิทธ์ ซี่งเป็นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เจ้ามรดกอาจจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์นั้นร่วมกับผู้อื่นอีกก็ได้ ดังนั้นสามารถทำพินัยกรรมยกเฉพาะส่วนที่ตนมีสิทธิเท่านั้นให้แก่ผู้อื่นได้
  2. เรื่องกำหนดการอื่น ๆ การทำพินัยกรรมนอกจากจะกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือสิทธิอันใดแล้ว ยังสามารถระบุเรื่องอื่น ๆ ไว้ได้เช่นกัน เช่น การจัดการเรื่องพิมพ์หนังสือที่ระลึกในงานศพ การจัดตั้งผู้จัดการศพ หรือการระบุบริจาคร่างกายของตนให้แก่โรงพยาบาล เป็นต้น

ในการทำพินัยกรรม กฎหมายกำหนดรูปแบบไว้ 5 แบบด้วยกัน ดังนี้

  1. พินัยกรรมแบบธรรมดา ผู้ทำต้องทำเป็นหนังสือ คือการพิมพ์ข้อความพินัยกรรมลงในกระดาษ มากน้อยหรือจำนวนกี่แผ่นก็ต้องแล้วแต่เนื้อหาหรือจำนวนทรัพย์สิน   ลงวัน เดือน ปี ที่ทำให้ชัดเจน และผู้ทำต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน และพยานต้องลงลายมือชื่อรับรองการทำพินัยกรรมในขณะทำด้วย
  2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมจะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ แต่ผู้ทำนั้นต้องเขียนพินัยกรรมนั้นด้วยลายมือตนเอง   ลงวัน เดือน ปีที่ทำ และที่สำคัญต้องลงลายมือชื่อผู้ทำด้วย กรณีนี้จะมีพยานมารับรู้การทำพินัยกรรมด้วยหรือไม่มีก็ได้
  3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง เป็นแบบพินัยกรรมที่ต้องอาศัยกระบวนการโดยเฉพาะที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง   ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งความประสงค์โดยให้ถ้อยคำข้อความของตนแก่เจ้าพนักงานที่เขตหรืออำเภอพร้อมพยานอย่างน้อย 2 คน   เจ้าพนักงานจะอ่านข้อความให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมพร้อมพยานทั้งสองต้องลงลายมือชื่อไว้   ต่อจากนั้น เจ้าพนักงานจะลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี ที่ทำ พร้อมประทับตราตำแหน่ง
  4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรมแล้วปิดผนึก และนำไปที่ที่ทำการอำเภอหรือเขต   ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อและพยานอีกอย่างน้อย 2 คน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน   เจ้าหน้าที่จะบันทึกถ้อยคำลง วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมแสดงไว้บนซองและประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญโดยผู้ทำพินัยกรรม   พยานและเจ้าหน้าที่ต้องลงลายมือชื่อไว้หน้าซองตรงที่ปิดผนึก
  5. พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา กรณีมีพฤติการณ์พิเศษที่บุคคลไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การตกอยู่ในภยันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ในระหว่างสงคราม หรือเกิดมีโรคระบาด   เราสามารถทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจาก็ได้ โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนาทำพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน   พยานต้องรับฟังข้อความนั้นแล้วไปแจ้งต่อทางราชการโดยเร็วที่สุด ทั้งยังต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นด้วย   เจ้าพนักงานต้องจดข้อความที่พยานแจ้งไว้ และพยาน 2 คนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้

ข้อจำกัดและข้อควรระวังในการทำพินัยกรรม

  1. พินัยกรรมเป็นนิติกรรมที่ต้องทำตามแบบที่กำหนดเท่านั้น
  2. ต้องเขียน วัน เดือน ปี ลงลายมือชื่อทั้งผู้ทำพินัยกรรมและผู้ที่เป็นพยาน
  3. ผู้ที่เป็นพยานจะต้องไม่เป็นผู้เยาว์หรือผู้หย่อนความสามารถ และต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย
  4. ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  5. พินัยกรรมควรจะตั้งผู้จัดการมรดกโดยสามารถระบุผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกที่เจ้ามรดกไว้ใจลงในพินัยกรรมไปได้เลย
  6. สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ก็สามารถกำหนดในพินัยกรรมได้
  7. ทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรมต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น ทั้งต้องแยกสินส่วนตัวออกจากสินสมรสด้วย
  8. เงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จตกทอด เงินมีบำนาญตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกทอด ไม่อาจเป็นมรดกที่ระบุลงในพินัยกรรมได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนตาย


เมื่อได้อ่านรายละเอียดเรื่องพินัยกรรมข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนอะไรมาก แต่ก็มีข้อควรระวังเพื่อให้พินัยกรรมมีผลใช้บังคับและสามารถให้ทรัพย์สินของเรามอบให้แก่คนที่เราไว้ใจได้ ภายหลังจากที่เราลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว

บทความโดย   นคร  วัลลิภากร