ยาคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ

ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ใครว่าเป็นเรื่องจ้อย ?


ผศ.นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร

หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน

ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-098-R-00

อนุมัติวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559


กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ใครว่าเป็นเรื่องจ้อย ?

เรื่องที่คุณผู้หญิงควรรู้ เมื่อมีปัญหาถ่ายปัสสาวะบ่อย ปวดปัสสาวะรีบ และกลั้นไม่อยู่

        1. กระเพาะปัสสาวะปกติทำงานอย่างไร ?

        2. กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี คืออะไร ?

        3. สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี คืออะไร ?

        4. คุณจะได้รับการตรวจสืบค้นอะไรบ้าง ?

        5. การรักษาผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการนี้มีอะไรบ้าง ? 

            กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (overactive bladder) หรือโอเอบี (OAB) เป็นปัญหาที่พบบ่อย และก่อให้เกิดอาการต่างๆ ที่สร้างความกังวลและความยุ่งยากในชีวิตประจำวันแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง อาทิเช่น ทำให้คุณต้องคอยวิ่งเข้าห้องน้ำอย่างเร่งรีบหลายๆ ครั้ง ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน บางครั้งมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาก่อนไปถึงห้องน้ำ ข้อมูลสารสนเทศในบทความนี้ มุ่งที่จะอธิบายว่ากลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนี้คืออะไร และมีอะไรเป็นสาเหตุ ตลอดจนมีวิธีใดบ้างที่จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ลง

    กระเพาะปัสสาวะปกติทำงานอย่างไร ?

     กระเพาะปัสสาวะมีลักษณะคล้ายลูกโป่ง เมื่อน้ำปัสสาวะถูกสร้างขึ้นและไหลลงมาเก็บกักในกระเพาะปัสสาวะ ผนังกระเพาะปัสสาวะจะยืดขยายตัวออก เพื่อรองรับปริมาณน้ำปัสสาวะที่ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น น้ำปัสสาวะจะถูกเก็บกักไว้ในกระเพาะปัสสาวะได้ เพราะมีหูรูดท่อปัสสาวะซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นลิ้นปิดเปิด ปกติหูรูดท่อปัสสาวะจะปิดอยู่ตลอดเวลา และจะเปิดเมื่อคุณรู้สึกปวดปัสสาวะ และไปถึงห้องน้ำเรียบร้อยพร้อมที่จะขับถ่ายปัสสาวะออกมา กลไกการทำงานเสมือนลิ้นปิดเปิดนี้ ได้รับการช่วยเหลือส่วนหนึ่งจาก กล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานที่คอยพยุงอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะตึงตัวขึ้นเมื่อคุณไอหรือจาม เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมา (รูปที่ 1) เมื่อกระเพาะปัสสาวะยืดขยายออกเรื่อยๆ จากน้ำปัสสาวะที่ไหลเพิ่มขึ้น คุณจะรู้สึกว่าเริ่มปวดอยากขับถ่ายปัสสาวะแต่ยังกลั้นได้อยู่ เมื่อคุณต้องการที่จะขับถ่ายปัสสาวะ นั่นคือคุณอยู่ภายในห้องน้ำและพร้อมแล้ว สมองจะส่งสัญญาณมาสั่งให้กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะบีบรัดเพื่อขับปัสสาวะออกมา ขณะเดียวกันนั้น หูรูดกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานจะคลายตัวเพื่อปล่อยให้น้ำปัสสาวะไหลออกมา โดยทั่วไปกระเพาะปัสสาวะมักจำเป็นต้องขับถ่ายประมาณ 4 - 7 ครั้งต่อวัน และไม่เกินหนึ่งครั้งหลังเข้านอน

    ยาคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ

    รูปที่ 1 กระเพาะปัสสาวะปกติและอยู่ในสภาพผ่อนคลาย มีน้ำปัสสาวะอยู่ครึ่งเดียว

     กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี คืออะไร ?

     กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี เป็นคำที่ใช้วินิจฉัยในผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการดังต่อไปนี้


    - ปวดปัสสาวะรีบ (urgency) คือ ความรู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะอย่างมากที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและไม่สามารถรั้งรอต่อไปได้ ต้องรีบไปห้องน้ำทันที อาการนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีน้ำปัสสาวะเพียงเล็กน้อยในกระเพาะปัสสาวะ บางครั้งอาจมีปัสสาวะเล็ดราดออกมาในขณะมีอาการปวดปัสสาวะรีบก่อนที่จะไปถึงห้องน้ำ เรียกว่า ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urge incontinence)


    - ปัสสาวะบ่อย คือ การที่ต้องไปถ่ายปัสสาวะหลายครั้งเกินไปในตอนกลางวัน (มักบ่อยเกินกว่า 7 ครั้ง)


    - ปัสสาวะบ่อยกลางคืน คือ การที่ต้องตื่นขึ้นมาเพื่อไปถ่ายปัสสาวะมากเกินกว่าหนึ่งครั้งในตอนกลางคืน  

     - กลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนี้ พบในสตรี (และบุรุษ) ได้ในทุกๆช่วงอายุ ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่าสูงวัยขึ้นเท่านั้น

    สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี คืออะไร ?

     กลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือโอเอบี เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวเพื่อขับถ่ายน้ำปัสสาวะออกมาในเวลาที่ไม่เหมาะสม บ่อยครั้งที่เกิดขึ้นฉับพลันโดยไม่มีสัญญาณเตือน และในเวลาที่คุณไม่ตั้งใจที่จะปัสสาวะ (รูปที่ 2)

    ยาคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ

    รูปที่ 2 กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินและอยู่ในสภาพบีบรัดตัว แม้มีน้ำปัสสาวะอยู่ครึ่งเดียว แต่ทำให้ปัสสาวะเล็ดราด

            แพทย์หรือพยาบาลจะเก็บปัสสาวะของคุณเพื่อส่งตรวจหาการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการนี้ คุณอาจได้รับการตรวจอื่นๆ เพื่อหาว่ามีนิ่วหรือเนื้องอกผิดปกติในกระเพาะปัสสาวะ กลุ่มอาการนี้ยังอาจเกิดได้จากภาวะอื่นๆ ที่มีผลทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติไป ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรงมาก่อน อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณมีกลุ่มอาการนี้ได้ นอกจากนั้น ปริมาณและชนิดของเครื่องดื่มที่คุณดื่ม มีผลต่ออาการต่างๆ ตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มประเภทที่มีคาเฟอีนจะทำให้อาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ

            อย่างไรก็ดี ในสตรีจำนวนมากไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของกลุ่มอาการนี้ได้ แต่กระนั้นก็ตาม มีการรักษาหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้คุณจัดการกับกลุ่มอาการเหล่านี้

     คุณจะได้รับการตรวจสืบค้นอะไรบ้าง ?

     แพทย์จะซักถามคุณเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ ปริมาณและชนิดของสารน้ำที่ดื่ม ตลอดจนสุขภาพทั่วไปของคุณ หลังจากนั้นคุณจะได้รับการตรวจทางนรีเวชวิทยาเพื่อค้นหาปัญหาที่อาจเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน คุณอาจต้องจดบันทึก "ไดอารี่การขับถ่ายปัสสาวะ" ของคุณมาให้แพทย์ดู โดยจดบันทึกว่าในวันหนึ่งๆ คุณดื่ม (น้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ) ในปริมาณเท่าไร ถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง และปริมาณน้ำปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้ง หากมีปัสสาวะเล็ดราดให้บันทึกปริมาณปัสสาวะที่เล็ดออกมาและกิจกรรมขณะนั้นด้วย ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ว่าคุณดื่มเข้าไปเป็นปริมาณเท่าไร และปริมาณน้ำปัสสาวะที่กระเพาะปัสสาวะของคุณสามารถกลั้นอยู่ได้เป็นเท่าไร โปรดสอบถามแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เพื่อขอตัวอย่างแบบบันทึก "ไดอารี่การขับถ่ายปัสสาวะ" 

    นอกจากนี้ คุณอาจได้รับการตรวจสืบค้นดังต่อไปนี้


    - การตรวจปัสสาวะ เป็นการเก็บตัวอย่างน้ำปัสสาวะเพื่อตรวจการติดเชื้อหรือเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ


    - การตรวจวัดปัสสาวะตกค้างหลังถ่ายปัสสาวะ เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง สแกน หรือใช้ท่อเล็กๆ สวนปัสสาวะภายหลังถ่ายปัสสาวะ เพื่อหาปริมาณน้ำปัสสาวะที่ตกค้างเหลืออยู่ในกระเพาะปัสสาวะ


    - การตรวจยูโรพลศาสตร์หรือยูโรไดนามิกส์ (urodynamics) ใช้เพื่อตรวจการทำงานของ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะขณะที่มีการเติมน้ำเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ การตรวจนี้จะบอกว่ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวอย่างไม่เหมาะสมเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการบีบตัวเกิดขึ้น เรียกว่า กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (detrusor overactivity) นอกจากนี้ ยังใช้ตรวจว่ามีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะออกแรง และมีการขับถ่ายปัสสาวะได้หมด หรือมีปัสสาวะตกค้างหรือไม่ 

    การรักษาผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการนี้มีอะไรบ้าง ?

            การรักษากลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินมีหลายวิธีต่างๆ กัน ควรเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนลีลาชีวิตของคุณก่อน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

            การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำชา โคล่า จะทำให้อาการต่างๆ แย่ลง ฉะนั้น การลดเครื่องดื่มเหล่านี้ลงอาจช่วยได้ เครื่องดื่มที่มีฟองซ่าอย่างโซดา น้ำผลไม้ และแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดกลุ่มอาการนี้เช่นกัน คุณควรพิจารณาจาก "ไดอารี่การขับถ่ายปัสสาวะ" ว่าเครื่องดื่มใดบ้างที่ทำให้อาการของคุณแย่ลง แล้วลองเปลี่ยนไปดื่มน้ำ ชาสมุนไพร และเครื่องดื่มที่สกัดคาเฟอีนออกไปแล้วแทน คุณควรดื่มน้ำประมาณวันละ 1.5 ถึง 2 ลิตร หรือประมาณครึ่งแกลลอน

    การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ

            คุณอาจสังเกตว่าตนเองมีนิสัยชอบไปห้องน้ำบ่อยๆ เพื่อถ่ายปัสสาวะ คุณจึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปยังสถานที่ซึ่งไม่มีห้องน้ำหรืออยู่ไกลจากห้องน้ำ พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้อาการของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินแย่ลงไปอีก เพราะว่ากระเพาะปัสสาวะของคุณจะยิ่งไม่ทนต่อน้ำปัสสาวะในปริมาณที่น้อยลงเรื่อยๆ การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้คุณกลั้นปัสสาวะนานขึ้น โดยฝึกให้กระเพาะปัสสาวะทนได้กับน้ำปัสสาวะในปริมาณที่มากขึ้น ช่วยให้คุณไปเข้าห้องน้ำด้วยความถี่น้อยลง การฝึกฝนนี้ทำได้โดยให้คุณค่อยๆ ยืดระยะระหว่างการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานออกไป เมื่อมีอาการปวดปัสสาวะรีบและอยากขับถ่ายปัสสาวะ ให้คุณพยายามที่จะกลั้นปัสสาวะให้ได้นานขึ้นอีกเล็กน้อยก่อนที่จะไปห้องน้ำเพื่อถ่ายปัสสาวะ แพทย์และนักกายภาพบำบัดจะให้ข้อมูลแก่คุณเกี่ยวกับการฝึกนี้ (กรุณาอ่านบทความเรื่อง "การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ" หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม)

    การรักษาด้วยยา

            ยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิดที่ช่วยบรรเทากลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน แม้ว่าแพทย์จะสั่งจ่ายยาเหล่านี้แก่คุณ แต่การควบคุมการดื่มและฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะของคุณยังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องทำควบคู่กันไป ยาช่วยให้คุณกลั้นปัสสาวะได้นานขึ้น ลดความถี่ของการเข้าห้องน้ำลง (ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน) และลดอาการปัสสาวะเล็ดราด แต่ยาอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ทำให้ปากคอแห้งในผู้ป่วยบางคน บางครั้งคุณอาจจำเป็นต้องลองยาหลายๆ ชนิดก่อนเพื่อหาว่ายาชนิดใดเหมาะกับคุณ ภาวะท้องผูกเป็นอีกปัญหาที่พบได้จากการใช้ยา แต่สามารถบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารและใช้ยาระบาย หลังรับประทานยาไปได้สองสามเดือน อาการของคุณอาจดีขึ้น จนบางครั้งสามารถหยุดยาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายรายยังจำเป็นต้องรับประทานยาต่อไปในระยะยาวเพื่อควบคุมอาการต่างๆ

    การรักษาอื่นๆ

     ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายหรือดีขึ้นจากกลุ่มอาการนี้โดยการปรับเปลี่ยนปริมาณและชนิดของสารน้ำที่ดื่ม การฝึกควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและการใช้ยา อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะมีอาการคงอยู่ทั้งๆ ที่ได้รับการรักษาดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้


    - การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (botulinum toxin) เข้าไปในผนังกระเพาะปัสสาวะผ่านทาง กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ ภายใต้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ ผลที่เกิด คือ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดการคลายตัว ช่วยให้อาการปวดปัสสาวะรีบลดลง และกระเพาะปัสสาวะสามารถเก็บกักน้ำปัสสาวะได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบถึงผลระยะยาวของการฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน แต่เชื่อว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิผล (อัตราการหายสูงถึงร้อยละ 80) แต่ผลของการรักษาอยู่ได้นานไม่เกิน 9 เดือน จึงอาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดซ้ำ อย่างไรก็ดี ภายหลังฉีดร้อยละ 20 ของผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาถ่ายปัสสาวะลำบาก และต้องได้รับการสวนปัสสาวะตนเองช่วย แพทย์สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่คุณในเรื่องนี้


    - การกระตุ้นเส้นประสาททิเบียล (Tibial nerve stimulation) เป็นการกระตุ้นเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะทางอ้อมผ่านทางเส้นประสาททิเบียลซึ่งทอดผ่านบริเวณข้อเท้า ทำได้โดยการแทงเข็มขนาดเล็กมากๆ ผ่านผิวหนังที่บริเวณใกล้ข้อเท้าเข้าไป แล้วเชื่อมต่อปลายอีกข้างของเข็มเข้ากับอุปกรณ์ที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นเส้นประสาท การกระตุ้นนี้เป็นการฝึกเส้นประสาทให้กลับมาควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้อีก


    - การกระตุ้นเส้นประสาทใต้กระเบ็นเหน็บ (Sacral nerve stimulation) เป็นการกระตุ้นเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะโดยตรง โดยผ่าตัดฝังอุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทไว้ในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งทำได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น ดังนั้น จึงเลือกใช้การรักษาวิธีนี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล


    - แพทย์ที่ดูแลคุณจะให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด แม้ว่าการรักษานั้นๆ อาจไม่สามารถทำให้คุณหายขาดจากกลุ่มอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนี้ อย่างไรก็ดี หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณตระหนักว่ายังมีการรักษาอีกหลากหลายวิธีที่อาจช่วยคุณในการจัดการกับปัญหานี้ และช่วยให้ชีวิตของคุณไม่ถูกควบคุมจากกระเพาะปัสสาวะของคุณเอง

     เอกสารอ้างอิง

    International Urogynecological Association (IUGA). Overactive bladder: A Guide for Women. 2011.

    ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562

    ------------------------------------------------------------

    สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่
    • Call center : 0-5393-6900-1
    • LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
    • Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
    • Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
    • Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
    • Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
    • Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
    • Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th

    หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด

    ยาคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ