รถเมล์ ในกรุงเทพ อดีต ถึงปัจจุบัน

“วสวัตติ์ โอดทวี ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ฐานเศรษฐกิจ” พูดคุยใน “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ถึงไส้ในของปัญหารถเมล์ในกทม. ที่สะสมมาจนปัจจุบัน ที่ประชาชนสงสัยว่า ทำไมเดี๋ยวนี้ รอรถนานกว่าเดิม บางสายดูเหมือนจำนวนรถที่วิ่งลดน้อยลงไปบ้างไหมและอีกสารพัดปัญหาว่า รถเมล์มีปัญหาเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องบริหารจัดการ ของ ขสมก.ซึ่งเป็นหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจของรัฐบาล กระทรวงคมนาคมจึงจำเป็น ต้องดูแลในเรื่องของ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จึงเก็บค่าโดยสารต่ำ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ใช้รถเมล์มีรายได้น้อย การคิดค่าโดยสารต้องไม่หวังผลกำไร ทำให้ค่าโดยสารต้องต่ำกว่าราคาต้นทุน ที่ใช้ในการบริการ

ขณะที่รถเมล์ครีมแดงหรือรถร้อน 2,800 คัน จาก 3,000 กว่าคัน ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิง ที่ราคาค่อนข้างสูง แต่ราคาค่าโดยสาร อยู่ที่ 8 บาท ขณะที่รถร่วมบริการ ซึ่งเป็นคู่รับสัมปทานของ ขสมก. ติดหนี้จำนวนมาก ทำให้ขสมก.เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องตามมา รถเมล์ส่วนใหญ่ที่เป็นครีม-แดง อายุปัจจุบันอยู่ที่ 30 ปีขึ้นไป เมื่อมีสภาพเก่าจึงต้อง จ่ายค่าซ่อมบำรุง 1,000 กว่าล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายบุคลากรของ ขสมก. ปัจจุบัน ซึ่งมีพนักงานอยู่ 13,000 คน และยังได้รับทั้งเงินสวัสดิการ , บำนาญ , เงินสนับสนุน และสวัสดิการอื่นๆ จำนวนมาก ถือว่าเป็นดินพอกหางหมู ในเรื่องของค่าใช้จ่าย จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายเรื่อง

“ขสมก.ประสบปัญหาขาดทุน ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งองค์กร คือ 1 ต.ค.2519 หากย้อนหลังไป มีการออกพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งขสมก.เป็นครั้งแรก ตอนนั้นขาดทุนคือ ใช้งบประมาณของ ขสมก. 370 ล้านบาท ไปซื้อรถโดยสาร จากผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งเป็นภาคเอกชน มา 2,000 กว่าคัน ใช้ในภารกิจของ ขสมก.แต่ได้รับการจัดสรรงบฯ จากรัฐบาลเพียง 329 ล้านบาท ทำให้ ขสมก.ขาดทุน ตั้งแต่วันแรกเริ่มที่มีการก่อตั้ง เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังขาดทุนเช่นเดิม ปัญหาหนี้สะสมของขสมก. ล่าสุดปัจจุบันผู้อำนวยการขสมก.พูดไว้คือ 132,000 ล้านบาท”

ส่วนแนวทางการบริหารจัดการหนี้ และการปฏิรูปเส้นทางต่างๆ เป็นที่มาของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์ช่วงแรกๆ ได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นำหน่วยงานต่างๆที่ขาดทุน ทั้งรถไฟ , ขสมก. , การบินไทย เข้าสู่แผนฟื้นฟูทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2562 ได้จัดทำแล้ว แต่สุดท้ายแผนนี้ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ จึงนำมาสู่การตีกลับหลายครั้ง

การแก้ไขปัญหาขสมก. ด้วยการบริหารหนี้ และการจัดหารถใหม่ ล่าสุดรัฐบาลยังไม่ได้เคาะออกมา แต่จากแผนปฏิรูปรถเมล์หรือแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะนี้ ทั้งเบื้องหน้าและที่ได้พูดคุยกับแหล่งข่าว เบื้องต้นน่าจะมีการทบทวน ฉบับล่าสุด ตอนนี้ที่ประชุมคนร.ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้สั่งการให้ขสมก.ไปดูในเรื่องต่างๆ ให้ครบถ้วน แล้วกลับมารายงานให้ที่ประชุมทราบ ในเดือนต่อไป

ส่วนแผนเรื่องการจัดซื้อรถเมล์ 3,000 คัน อยู่ในแผนฟื้นฟูฉบับล่าสุด ที่จะต้องมีการจัดซื้อ เคยผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อ แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ มาจากการเลือกตั้ง นโยบายก็เลยเปลี่ยน แผนที่เคยทำไว้ตั้งแต่ปี 2562 จึงถูกเปลี่ยนหมด การจัดซื้อจัดจ้างกลายเป็น จ้างเหมาเอกชนแทน

นอกจากนี้ยังมีรถเมล์ EV หรือรถเมล์ไฟฟ้า เข้ามาร่วมด้วย ตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการแก้ไขปัญหามลภาวะ แต่ตกราคาประมาณ 14,000,000 บาทต่อคัน แม้ค่าเชื้อเพลิงของรถ EV ถูก แต่ต้องสร้างสถานีชาร์จไฟ ลงทุน 300 กว่าล้านบาท ต่อ 1 สถานี หากจะตั้งสถานีได้ ต้องขอให้การไฟฟ้า มาตั้งสถานีไว้ข้างๆด้วย เพราะจะดึงไฟฟ้ารอบๆ อาจเกิดปัญหาไฟดับตามมาได้ ถ้ารถเข้าไปชาร์จไฟทีเดียวพร้อมกัน

หากรถ EV วิ่งในกรุงเทพ และบรรทุกผู้โดยสารค่อนข้างเยอะ แล้วรถเกิดติดตรงคอสะพานสูงๆ เช่น พระปิ่นเกล้า , พระรามเก้า จะเกิดอันตรายมาก เพราะระบบของรถและเกียร์ยังไม่เสถียร มีความเสี่ยงที่รถจะไหลลงมาได้ ดังนั้นควรที่จะศึกษาก่อน หากจะจัดซื้อจัดจ้างรถ EV ออกมาใช้เป็นรถเมล์ และต้องศึกษาเส้นทาง ที่เหมาะสมจริงๆ ไม่ไช่ว่าใช้ในเส้นทาง ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของรถ

“สิ่งที่ผมอยากเห็นคือ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และเชื่อว่าถ้าเสียงสะท้อน ของประชาชนออกมาดังๆ จะช่วยปฏิรูปให้ ขสมก.ทำงานได้จริง พัฒนาได้ดีขึ้น และทำงานเพื่อคนที่ใช้บริการได้จริง แผนต่างๆ จะต้องมีการปรับปรุงแน่นอน เมื่อปรับปรุงแล้ว จะช่วยในเรื่องของการอำนวยความสะดวก ในการเดินทาง ให้คนกทม. ได้ไม่มากก็น้อย เชื่อว่าไม่นานเราก็จะได้เห็น”

รถเมล์ ในกรุงเทพ อดีต ถึงปัจจุบัน

ติดตาม “รายการช่วยกันคิดทิศทางข่าว” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00-12.00 น.โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคลื่นข่าว MCOT News FM 100.5

ปีหน้าฟ้าใหม่ พ.ศ. 2564 รถเมล์ไทยจะมีอายุครบ 30 ปี เป็นการครบรอบ 3 ทศวรรษที่ไร้การเฉลิมฉลองใดๆ กาลเวลาพิสูจน์รถเมล์ไทยได้หนึ่งข้อ คือรถญี่ปุ่นมีความทนทาน เพราะหลายคันใช้มากว่า 30 ปีก็ยังวิ่งอยู่อย่างนั้นตามสภาพ ส่วนรถเมล์ NGV ล็อตใหม่ที่ผลิตจากจีนทยอยเสียมาตั้งแต่กลางปี 2562 มีอัตราการชำรุดสูงเกือบ 10% จากค่าเฉลี่ยมาตรฐาน 3%

 

ปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการรถเมล์ไทยมีหลากหลาย ตั้งแต่สายรถเมล์ที่ทับซ้อนกัน ไปจนถึงแผนปฏิรูปที่ยังไม่ตอบโจทย์สภาพความเป็นจริง

 

ยกตัวอย่างปัญหาการทับซ้อนของสายรถเมล์ คือรถเมล์ที่วิ่งในกรุงเทพมหานคร เฉพาะแค่ถนนพหลโยธินผ่านหน้าห้างดังย่านลาดพร้าว มีรถเมล์ทั้ง ขสมก. และรถร่วมบริการวิ่งทับกัน 30 สาย สมมติเฉลี่ยสายละ 30 คัน รวมกันยาว 10 กว่ากิโลเมตร เพราะรถเมล์หนึ่งคันยาว 12 เมตร ทำให้รถติดและรถขาดช่วง ปล่อยให้ผู้โดยสารยืนรอด้วยความหวัง

 

ปัญหานี้มาจากระบบ ขสมก. ในอดีตที่ขาดวิสัยทัศน์ในภาพรวม สมัยก่อนนานมาแล้วคนไปสนามหลวงเยอะ ขสมก. ก็เซ็นใบอนุญาตเดินรถไปสนามหลวงกันเพียบ พอคนเริ่มมาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเยอะ ก็เซ็นใบอนุญาตเดินรถ โดยไม่ได้ตรวจสอบคุณภาพรถร่วมบริการ ไม่แม้แต่ดูเส้นทางและความหนาแน่นของรถเมล์ และผู้โดยสารจริงด้วยซ้ำไป ทุกอย่างหมักหมมกันมานาน และเป็นคำถามมาหลายยุคสมัยว่าเมื่อไรจะ ‘ปฏิรูปรถเมล์’ 

 

ปฏิรูปรถเมล์ตั้งท่าจะเริ่มกันมานาน แต่เหมือนถูกสาปไว้ไม่เคยสำเร็จ ช่วงรัฐบาล คสช. หรือประยุทธ์ 1 มีแผนปฏิรูป ขสมก. โดยตั้งธงไว้ที่การทำให้ ขสมก. ที่ขาดทุนสะสมพร้อมหนี้สินมหาศาลกว่า 1.3 แสนล้านบาทกลับมาตัวเบา และอยู่รอดได้ในทางธุรกิจ 

 

แผนนี้จึงออกแบบให้มีการยกหนี้เก่าแสนล้านบาท และขอกู้เงินซื้อรถเมล์ใหม่ 2,500 คัน จากนั้นก็ปรับขึ้นค่าโดยสารจากเฉลี่ย 9-15 บาท เป็น 15-25 บาท ซึ่งเป็นการผลักภาระมาที่ประชาชนเต็มๆ 

 

ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงมีการนำแผนฟื้นฟู ขสมก. มาปรับปรุง เรียกว่าแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุง เปลี่ยนธงใหม่ไม่ใช่แค่ให้ ขสมก. อยู่รอดอย่างเดียว แต่ประชาชนต้องไม่ตายด้วย 

 

แผนฉบับปรับปรุงจะแก้ปัญหารถเก่าโดยการไม่ซื้อรถ แต่จะจ้างเอกชนวิ่งรถตามระยะทางเป็นกิโลเมตร รถที่ใช้ต้องเป็นรถไฟฟ้า (EV) ลดปัญหาฝุ่นพิษ และทุกคันต้องเป็นรถแอร์ รวมถึงต้องประกอบหรือใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 

 

เส้นทางเดินรถเมล์ก็จะรื้อใหม่ไม่ให้วิ่งทับซ้อนกัน โดยใช้ AI ร่วมวิเคราะห์ปริมาณผู้โดยสารจริง เพื่อปรับเส้นทางเดินรถที่ดีที่สุด และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ในกรุงเทพฯ เช่น รถไฟฟ้า และเรือโดยสาร เมื่อปริมาณรถกระจายตัว รถติดน้อยลง รถมาสม่ำเสมอขึ้น และมลพิษก็กระจายตัวตาม

 

ส่วนค่าโดยสารรถเมล์ตามแผนฉบับปรับปรุง คิดเหมารายวัน 30 บาทไม่จำกัดตลอดวัน แต่ถ้าขึ้นเที่ยวเดียวก็จ่าย 15 บาท 

 

แผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุง ได้รับเสียงตอบรับในด้านดีจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงคมนาคมได้อนุมัติแผนฉบับใหม่ และเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เวลาผ่านไปเกือบใกล้ข้ามปีใหม่ ยังไร้วี่แววว่าจะได้บรรจุเข้าวาระเมื่อใด 

 

แหล่งข่าวกล่าวกับ THE STANDARD ถึงความคืบหน้าของแผนฟื้นฟู ขสมก. ฉบับปรับปรุงว่า กับดักของเรื่องนี้ที่แท้จริงเป็นเรื่องการเมือง โดยระบุว่าแผนปฏิรูป ขสมก. ฉบับปรับปรุง ได้กลายเป็นเครื่องมือต่อรองภายในพรรคร่วมรัฐบาล ท่ามกลางความเห็นไม่ตรงกันในการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลางที่ประชุม ครม. แผนปฏิรูปรถเมล์ได้กลายเป็นตัวประกันของเรื่องนี้ไปโดยปริยาย