การใช้ภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์

การใช้ภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์

นาย ครูสุธะนะ พามนตรี ตำแหน่งครู ชำนาญการพิเศษ

เข้าสู่ระบบเมื่อ เกือบ 4 ปี ที่แล้ว

ความสำคัญของภาษาไทย

          ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุระการงานและดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาชาติได้อย่างสันติสุข   และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์ จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคง  ทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นสื่อที่แสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณี  ชีวทัศน์ โลกทัศน์ และสุนทรียภาพ โดยบันทึกไว้เป็นวรรณคดีและวรรณกรรมอันล้ำค่า      ภาษาไทยจึงเป็นสมบัติของชาติที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

ธรรมชาติ / ลักษณะเฉพาะ ของภาษาไทย

          ภาษาไทยเป็นเครื่องมือใช้สื่อสาร   เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและตรงตามจุดหมายไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิด ความต้องการและความ รู้สึก คำในภาษาไทยย่อมประกอบด้วยเสียง  รูปพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และความหมาย ส่วนประโยคเป็นการเรียงคำตามหลักเกณฑ์ของภาษา และประโยคหลายประโยคเรียงกันเป็นข้อความ นอกจากนั้นคำในภาษาไทยยังมีเสียงหนัก เบา มีระดับของภาษา ซึ่งใช้ให้เหมาะแก่กาลเทศะและบุคคล ภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ตามสภาพวัฒนธรรมของกลุ่มคน ตามสภาพของสังคมและเศรษฐกิจ การใช้ภาษาเป็นทักษะที่ผู้ใช้ต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การเขียน การพูด การฟัง และการดูสื่อต่างๆ รวมทั้งต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษา    เพื่อสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพ และ ใช้อย่างคล่องแคล่ว มีวิจารณญาณและมีคุณธรรม

วิสัยทัศน์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

          ภาษาไทยเป็นเครื่องมือของคนในชาติเพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจกันและใช้ภาษาในการประกอบกิจการงานทั้งส่วนตัว ครอบครัว กิจกรรมทางสังคมและประเทศชาติ เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ การบันทึกเรื่องราวจากอดีตถึงปัจจุบัน และเป็นวัฒนธรรมของชาติ ดังนั้นการเรียนภาษาไทย จึงต้องเรียนรู้เพื่อให้เกิด  ทักษะอย่างถูกต้อง    เหมาะสมในการสื่อสาร เป็นเครื่องมือในการเรียนแสวงหาความรู้  และประสบการณ์ เรียนรู้ในฐานะเป็นวัฒนธรรมทางภาษาให้เกิดความชื่นชม ซาบซึ้ง และภูมิใจในภาษาไทย โดยเฉพาะคุณค่าของวรรณคดี   และภูมิปัญญาทางภาษา ของบรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ อันเป็นส่วนเสริมสร้างความงดงามในชีวิต

          การเรียนรู้ภาษาไทยย่อมเกี่ยวพันกับความคิดของมนุษย์ เพราะภาษาเป็นสื่อของความคิดการเรียนรู้ภาษาไทยจึงต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สร้างสรรค์ คิดวิพากษ์วิจารณ์ คิดตัดสินใจแก้ปัญหา และวินิจฉัยอย่างมีเหตุผล  ขณะเดียวกันการใช้ภาษาอย่างมีเหตุผลใช้ในทางสร้างสรรค์และใช้ภาษาอย่างสละสลวยงดงาม ย่อมสร้างเสริมบุคลิกภาพของผู้ใช้ภาษาให้น่าเชื่อถือ   และ เชื่อภูมิด้วย

          ภาษาไทยเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ   ในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร   การอ่าน การฟังเป็นทักษะของการแสดงออกด้วยการแสดงความคิดเห็น ความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ภาษาไทยจึงต้องเรียนเพื่อการสื่อสารให้สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างพินิจพิเคราะห์สามารถเลือกใช้คำ เรียบเรียงความคิด  ความรู้  และใช้ภาษาได้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ได้ตรงตามความหมาย และถูกต้องตามกาลเทศะ  บุคคล และใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ภาษาไทยมีส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ ได้แก่ กฎเกณฑ์ทางภาษา ซึ่งผู้ใช้ภาษาจะต้องรู้และใช้ภาษาให้ถูกต้อง นอกจากนั้น วรรณคดีและวรรณกรรม ตลอดจนบทร้องเล่นของเด็ก เพลงกล่อมเด็ก ปริศนาคำทาย เพลงพื้นบ้าน วรรณกรรมพื้นบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม  ซึ่งมีคุณค่าต่อการเรียนภาษาไทยจึงต้องเรียนวรรณคดีวรรณกรรม  ภูมิปัญญาทางภาษา  ที่ถ่ายทอดความรู้สึก นึกคิด ค่านิยม   ขนบธรรมเนียมประเพณี เรื่องราวของสังคมในอดีต     และความงดงามของภาษา    ในบทประพันธ์ทั้งร้อยแก้ว  ร้อยกรองประเภทต่างๆ เพื่อให้เกิดความซาบซึ้ง   ความภูมิใจในสิ่งที่บรรพบุรุษได้สั่งสมและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ClassStart ให้บริการฟรีโดย บริษัท ปิยะวัฒนา จำกัด
เราเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)

สนับสนุนโดย
ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (2563-2565)
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (2561-2563)
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2557-2558)
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2554-2558)

ภาษาทั้งหลายจึงแปรเปลี่ยนไป พร้อมๆ กับการจินตนาการเชื่อมโยงข้อมูล และเรื่องราวต่างๆ ให้เกิดเป็นความหมายใหม่ ที่ก่อรูปให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเสมอมา

ความสามารถในการใช้ภาษาจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของการคิด การจดจำ การสร้างสรรค์ คนเราจะสามารถคิดได้ จดจำได้ และสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ ก็เพราะกระทำการทั้งหมดในกรอบของภาษา 

เด็กทารกไม่สามารถจะคิด จดจำได้ เพราะยังไม่รู้จักภาษา ลองคิดดูถึงการคิดหรือการรู้สึกของเรา ก็จะพบว่าทั้งหมดล้วนแล้วแต่ถูกกำกับ หรือชี้นำด้วยภาษาทั้งสิ้น

ภาษาจึงมีสถานะที่สัมพันธ์กับมนุษย์เราใน 2 ด้าน ได้แก่ ภาษาที่เป็น “คุก” จำกัดความคิดของผู้คน ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง ภาษาที่เป็นหนทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่มวลมนุษยชาติ

อะไรที่ทำให้ภาษามีสถานะ 2 ด้านที่ขัดแย้งกันเช่นนี้

ความสามารถในการใช้ภาษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาษาเป็น คุก หรือเป็นพื้นที่แห่งการสรรสร้าง เพราะความสามารถในการใช้ภาษา จะทำให้เกิดการใช้คำใหม่ หรือคำเก่าที่เชื่อมโยงกับคำ หรือประโยคอื่นๆ และทำให้เกิดการเปลี่ยนความหมายของชุดความคิด ที่กำกับคำ หรือประโยคกลุ่มนั้นๆ 

ลองคิดถึงกระบวนการสร้างชุดคำเพื่ออธิบายตัวสินค้าสักหนึ่งชิ้น ผู้คิดคำโฆษณาทุ่มแทในการคิดคำหรือประโยค เพื่อทำให้เกิดความหมายใหม่ที่ตนเองต้องการให้ฝังไว้ในตัวสินค้านั้น

ความสามารถในการใช้ภาษาจึงไม่ใช่เพียงแค่การคำนึงถึงความถูกต้องของการใช้ไวยากรณ์ หรือ การใช้ศัพท์ที่ถูกต้องตามพจนานุกรม หากแต่เป็นจินตนาการที่มองเห็นความเหลื่อม ความคล้ายคลึง และ ความหมายที่ซับซ้อนของภาษา มีงานวิจัยเสนอผลงานวิจัยทำนองว่า คนที่รู้ภาษาหลายภาษาก็มีโอกาสที่จะเกิดจินตนาการใหม่ได้มากกว่าคนรู้ภาษาเดียว เพราะสามารถที่จะคิดเปรียบเทียบในน้ำหนักของความหมายของคำ/ประโยคในแต่ละภาษาได้ จึงทำให้สามารถหลุดออกจากกรอบคิดหรือ “คุก” ของภาษาเดียวได้

นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ภาษาได้อย่างน้อย 2 ภาษาในการสร้างผลงาน อันได้แก่ ภาษาทั่วไปที่ตนเองใช้ในสังคม ขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะใช้ภาษาของศาสตร์ตนเองในการคิด จินตนาการควบคู่กันไป 

การเคลื่อนย้ายทางความคิดระหว่างการใช้ภาษา 2 ภาษา ( หรือมากกว่า 2 ภาษา ) นี้ทำให้เกิดจินตนาการเชื่อมโยง ระหว่างข้อมูลปลีกๆ ที่ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระให้เกิดสายสัมพันธ์กันขึ้นมา และก่อให้เกิดความหมายใหม่

ในโลกปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้งและไพศาล ชุดภาษาแห่งความรู้เฉพาะทางแบบเดิมเริ่มที่จะไร้พลังในการอธิบายสรรพสิ่งรอบตัว จึงทำให้เกิดความพยายามเชื่อมภาษาแห่งความรู้หลายๆ ชุดเข้าด้วยกัน เช่น การเกิดภาษาและความรู้ชุด “ฟิสิกส์เศรษฐศาสตร์” “ประวัติศาสตร์อารมณ์ความรู้สึก” หรือผลงานนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุด ที่พยายามเชื่อมต่อภาษาเศรษฐศาสตร์กับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์

ภาษา จินตนาการ และการคิด จึงเป็นกระบวนการเดียวกันที่แยกกันไม่ได้. และกระบวนการนี้ได้สร้าง “ความรู้” ให้แก่มนุษยชาติให้ก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้

หากกลับมามองสังคมความรู้ของไทย จะพบปัญหาสำคัญ ที่ขวางกั้นสติปัญญาของผู้คนในหลายด้านด้วยกัน

ด้านแรก ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการใช้ภาษาไทยของคนไทย ซึ่งพูดถึงและถกเถียงกันมานานมากแล้ว 

นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ทุกระดับขาดความสามารถในการใช้ภาษาแม่ของตนเองมากขึ้นๆ จึงทำให้ “คุก” ของภาษานั้นรัดตรึงการคิด และจินตนาการให้เรียวเล็กแคบตื้นมากขึ้น น่าแปลกใจที่ภาษาไทยเป็นวิชาบังคับในทุกระดับการศึกษา แต่นักเรียนนักศึกษากลับไม่มีความสามารถในการใช้ภาษาไทยเลย 

ความล้มเหลวของการศึกษาภาษาไทยเกิดขึ้นจากการคิดของผู้คนในวงการศึกษา ที่เน้นเพียงความถูกต้องของการใช้ภาษาโดยไม่มีความเข้าใจธรรมชาติของภาษาเลยแม้แต่น้อย และการเรียนการสอนภาษาไทย/วรรณคดี/วรรณกรรมที่ว่าตามคนรุ่นเก่าก่อนบอกมา โดยปราศจากความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม (ผมคิดอย่างมีอคตินะครับ ว่าเอาเข้าจริงแล้วครูในสังคมไทยอ่านหนังสือกันน้อยมาก และเมื่ออ่านน้อยก็ไม่มีทางที่จะใช้ภาษาได้ดี สงสัยต้องใช้มาตรา 44 บังคับให้ครู/อาจารย์อ่านหนังสืออาทิคย์ละเล่มกระมัง)

ด้านที่ 2 การคิดไม่เป็นประวัติศาสตร์ของคนในวงการการศึกษา ที่ยังคงเน้นว่า “รู้อย่างเดียว ให้เชี่ยวชาญเถิด” ซึ่งเป็นความคิดเก่าที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สังคมไทยเพิ่งจะแบ่งงานกันทำเฉพาะด้าน การติดอยู่ในกรอบเก่านี้เอง จึงทำให้วงการศึกษาก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของความรู้ในโลกปัจจุบัน

ตัวอย่างที่เจ็บปวดสำหรับคนมหาวิทยาลัย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) ที่ออกระเบียบให้แต่ละภาควิชารับอาจารย์ ที่จบตรงสาขาวิชาเดียวกันทั้ง 3 ปริญญา (ตรี​ โท เอก ) ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับการสร้างสรรค์ความรู้ในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์หลายสาขา อาจจะยกเว้นความรู้แคบๆ ของแพทย์ศาสตร์บางสาขาเท่านั้นกระมัง

ด้านที่ 3 ระบบเศรษฐกิจไทยปัจจุบันวางอยู่บนฐานของภาคบริการ (Service Sector) ระดับชีวิตประจำวัน จึงทำให้บรรดาเจ้าของธุรกิจทั้งหลาย ต้องการเพียงคนที่ความรู้เฉพาะด้านเพื่อทำงานให้พวกเขา โดยที่ไม่มีจินตนาการสร้างสรรค์ธุรกิจเพื่อความก้าวหน้า และผลักภาระทั้งหมดให้ตกบนบ่าของระบบการศึกษา ซึ่งยิ่งทำร้ายสังคมไทยมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น เจ้าของธุรกิจโรงแรมเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตทางการท่องเที่ยวที่ปูที่นอนเป็นเท่านั้น มีเสียงตำหนิทำนองว่าบัณฑิตจบการท่องเที่ยวเสียเปล่า แต่ปูที่นอนไม่เป็น ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของการสอนงานขณะทำงาน (On the job training)

ยังมีอีกหลายด้านนะครับ ที่กีดขวางจินตนาการของสังคมผ่านความสามารถในการใช้ภาษา เช่น เสรีภาพในการคิด แต่เรื่องนี้คงต้องสู้กันไปอีกนาน เอาเพียงแค่ปราการ 3 ด้านนี้ก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรแล้ว

คนในสังคมไทยทุกคนต้องช่วยกันทำลายปราการขวางกั้นจินตนาการแห่งภาษานี้ให้ได้ในเร็ววันนะครับ ไม่อย่างนั้น 10 ปีข้างหน้าก็ไม่รู้ว่าสังคมไทยจะตกหล่นไปอยู่ตรงไหน