ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 2565

"วิษณุ ” เผยรายงาน Yale University ประเทศสหรัฐอเมริกา พบไทย “คุณภาพสิ่งแวดล้อมไทย” ย่ำแย่ ร่วงลง 30 อันดับ ของโลก! จากอันดับ 78 ของโลกในปี 2563 ไปอยู่ที่อันดับ 108 ของโลกในปี 2565 ขณะขนาดเศรษฐกิจไทยใหญ่เป็นอันดับที่ 28 ของโลก "ประมงเป็นมิตร" แย่ลงจากอันดับ 87 ไปอยู่อันดับ 110

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร โพสต์เฟซบุ๊ก Witsanu Attavanich โพสต์คุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยย่ำแย่ ร่วงลง 30 อันดับในระดับโลก! แย่ลงจากอันดับ 78 ของโลกในปี 2563 ไปอยู่ที่อันดับ 108 ของโลกในปี 2565

 

ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของไทยใหญ่เป็นอันดับที่ 28 ของโลก ความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคงเกิดขึ้นได้ยากถ้ายังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมน้อยเหมือนปัจจุบัน

 

ล่าสุด (5 มิ.ย. 65) ทาง Yale University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการจัดอันดับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของ 180 ประเทศทั่วโลกในปี 2565 รวมถึงประเทศไทย ผลการจัดอันดับ (ภาพที่ 2) พบว่า ภาพรวมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของไทยแย่ลงจากอันดับ 78 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 108 ของโลก เมื่อพิจารณาแยกรายประเด็นพบว่า คุณภาพอากาศโดยรวมแย่ลงจากอันดับ 85 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 93 ของโลก อันดับด้านฝุ่นพิษ PM2.5 ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยอยู่ที่อันดับ 87 ของโลก

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 2565

 

มลพิษจากโอโซนบนภาคพื้นดินอันดับไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่สารมลพิษตัวอื่น เช่น ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) อยู่อันดับรั้งท้ายตารางทุกสาร ส่วนหนึ่งสะท้อนผลจากการที่ประเทศไทยไม่ได้ปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของสารมลพิษต่างๆ มาอย่างยาวนาน ขณะที่หลายประเทศในโลกมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

สำหรับด้านการจัดการขยะ (ภาพที่ 3) อันดับแย่ลงจากอันดับ 84 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 100 ของโลก ทั้งการควบคุมขยะมูลฝอย และการจัดการขยะพลาสติกในทะเลยังมีค่าดัชนีแย่กว่าค่าเฉลี่ยของโลก ด้านการบำบัดน้ำเสียก็แย่ลงจากอันดับ 97 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 116 ของโลก และด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศและบริการของระบบนิเวศนับว่าแย่สุดๆ ร่วงจากอันดับ 101 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 129 ของโลก

 

โดยในด้านนี้บริการระบบนิเวศถือว่าย่ำแย่มากร่วงจากอันดับ 140 ของโลก ซึ่งแย่มากอยู่แล้ว ไปอยู่ที่อันดับ 152 ของโลก ขณะที่ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอันดับดีขึ้นจากอันดับ 114 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 107 ของโลกแต่ยังมีค่าดัชนีแย่กว่าค่าเฉลี่ยของโลก

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 2565

 

สำหรับด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภาพที่ 4) อันดับก็แย่ลงจากอันดับ 84 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 106 ของโลก หลักๆ เกิดจากอันดับที่แย่ด้านการคาดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (อันดับที่ 157 ของโลก) และอัตราการเติบโตของคาร์บอนดำ (อันดับที่ 127 ของโลก) ส่วนด้านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันดับดีขึ้นจากอันดับ 117 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 101 ของโลกแต่ยังมีค่าดัชนีแย่กว่าค่าเฉลี่ยของโลก ส่วนด้านการทำประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันดับแย่ลงจากอันดับ 87 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 110 ของโลก

 

 

การจัดอันดับโลกในรายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่าการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมากๆ สังเกตได้จากงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่ลดลงอย่างมากจากอดีต แม้ปีงบประมาณ 2566 จะปรับงบประมาณการสิ่งแวดล้อมเพิ่มจาก 8,361 ล้านบาท เป็น 10,226 ล้านบาท แต่ก็นับว่ายังน้อยกว่างบประมาณที่เคยได้รับในอดีตตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นมา (ปี 2562 ได้รับงบประมาณ 10,945 ล้านบาท ปี 2563 12,868 ล้านบาท และปี 2564 16,143 ล้านบาท)

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 2565

จากข้อมูลงบประมาณจะเห็นว่างบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมมีความผันผวนขึ้นลงไปมาตลอด สะท้อนให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายของไทยมองการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องชั่วคราวและสำคัญน้อย การดำเนินงานเพื่อการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงขาดความต่อเนื่อง สุดท้าย ผลการจัดอันดับโลกล่าสุดกำลังสะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำในอดีต ดังนั้น คงไม่ต้องคาดหวังอะไรมากกับอันดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยในระดับโลกที่จะมีแต่ทรงกับทรุดถ้ายังไม่เร่งปรับปรุง ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยที่ดีขึ้นจากสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นกันนะครับ

Climate Change, EEC, pm2.5, PRTR, การมีส่วนร่วมของประชาชน, คดีสิ่งแวดล้อม, จะนะ, ผังเมือง, ฝุ่นละออง, อมก๋อย, อุตสาหกรรมจะนะ, เหมืองแร่

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 2565

เข้าสู่ปีใหม่ 2565 “มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)” ขอยก 5 เรื่องสำคัญ “สถานการณ์สิ่งแวดล้อม สิทธิ และกฎหมายที่ต้องติดตามในปี 2565”

1.ปัญหาฝุ่นพิษ “PM 2.5” วาระที่รัฐต้องเร่งแก้ไขปีนี้

2.เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมี “กฎหมาย PRTR” เครื่องมือปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากมลพิษและอุบัติภัยสารเคมี ?

3. “เขตพัฒนาพิเศษ” จาก EEC สู่นิคมฯ จะนะ บทเรียนของการพัฒนาที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง ต้องไม่ซ้ำรอยเดิม

4. “เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย” การต่อสู้และความหวังในการปลดระวางถ่านหินในประเทศไทย

5.”Climate Change” วาระเร่งด่วนของไทยจริงหรือ ?

EnLAW อยากเชิญชวนให้ร่วมติดตาม จับตา เฝ้าระวัง เพื่อความหวังในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของปีใหม่ ที่ต้องช่วยกันทำให้ดีกว่าปีเก่าที่ผ่านไป…

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 2565
ที่มาภาพ : pmdu.go.th

1.ปัญหาฝุ่นพิษ “PM 2.5” วาระที่รัฐต้องเร่งแก้ไขปีนี้ ! 

ฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี และจัดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องจับตาทุกครั้งที่เริ่มปีต่อ ๆ ไป EnLAW ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงตอนนี้ปัญหานี้กลายเป็นการละเมิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีประจำฤดูหนาวที่ต่อเนื่องยาวนานจนไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเริ่มขึ้นในปีใด และจะจบลงเมื่อใด

เมื่อปี 2562 รัฐบาลได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” (แผนแก้ปัญหาฝุ่นละออง) โดยได้มีการแบ่งมาตรการออกเป็นมาตรการระยะสั้น (2562-2564) และมาตรการระยะยาว (2565-2567) ในขณะที่ปี 2564 เป็นปีสุดท้ายของการดำเนินการตามมาตรการระยะสั้นได้ผ่านไปแล้ว และการดำเนินการตามมาตรการระยะยาวกำลังจะเริ่มขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบดูว่ารัฐบาลได้มีการดำเนินการตามมาตรการใดไปแล้วบ้าง

ตามแผนแก้ปัญหาฝุ่นละออง มีเป้าหมายมาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2562 – 2564) ในการกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปเฉลี่ยรายปี ให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) คือต้องควบคุมให้ไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีมาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2567) ในการพิจารณากำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ของ องค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) คือต้องควบคุมให้ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปตามแผนดังกล่าวแต่อย่างใด

แม้จะมีการอ้างว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ได้มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการวัดPM2.5 จากภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลปัจจุบันจึงมาจากการคาดการณ์จากฝุ่นละอองรวม ทำให้การวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ไม่ได้สะท้อนถึงปริมาณฝุ่นที่แท้จริง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้วย

ทั้งนี้ การแก้ปัญหา PM2.5 ในภาคอุตสาหกรรม ตามแผนแก้ปัญหาฝุ่นละอองยังมีมาตรการระยะสั้น ดังต่อไปนี้ ด้วย

  1. กำหนดให้กำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบการระบายอัตรารวม โดยคำนึงถึง ความสามารถหรือศักยภาพ ในการรองรับมลพิษทางอากาศของพื้นที่
  2. ติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศ แบบอัตโนมัติต่อเนื่องที่ปล่องของโรงงานอุตสาหกรรม จำพวก 3 เตาเผา เชื้อเพลิง และหม้อไอน้ำที่มีขนาดตามที่กำหนด และรายงานผลผ่านระบบ online ไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม
  3. จัดทำทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register : PRTR)

ซึ่งมาตรการข้างต้น หน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่มีการจัดทำอย่างทั่วถึงครอบคลุมแต่อย่างใด การกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบการระบายอัตรารวมและติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศ แบบอัตโนมัติต่อเนื่องที่ปล่องของโรงงานอุตสาหกรรมมีการทดลองดำเนินการนำร่องในพื้นที่จังหวัดระยอง แต่ปัจจุบันก็ขาดความต่อเนื่องไป และการจัดทำทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น รวมถึงยังไม่มีการกำหนดว่าต้องมีการรายงานแต่อย่างใด

ปี 2564 ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษากำหนดให้เขตท้องที่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษให้ประกาศภายใน30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด  เนื่องจากปัญหาจากมลพิษฝุ่นละออง ที่รวมถึงฝุ่น PM2.5 ด้วย โดยพื้นที่ที่เป็นเขตควบคุมมลพิษจะสามารถกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นกว่าพื้นที่อื่น ๆ เป็นการเฉพาะได้ รวมถึงมีมาตรการเฉพาะเพื่อควบคุมมลพิษในพื้นที่ได้ด้วย แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดมาตรฐานหรือใช้มาตรการในเขตควบคุมมลพิษเป็นพิเศษแต่อย่างใด

EnLAW เห็นว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้น เป็นฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก การกำหนดมาตรฐานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลจึงเป็นเครื่องมือสำคัญและเร่งด่วนที่จะช่วยให้หน่วยงานสามารถกำกับดูแล และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองได้ ทำให้การกำหนดค่ามาตรฐานการระบายมลพิษประเภทฝุ่น PM2.5 นั้น จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงดำเนินการเป็นลำดับต้น ๆ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐยังคงล่าช้า และไม่ได้ดำเนินงานตามแผนแก้ปัญหาฝุ่นละออง

EnLAW ร่วมกับกรีนพีซ ประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้เร่งรัดการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว  เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และป้องกันสุขภาพของประชาชน เมื่อวันที่วันที่ 17 มกราคม 2565 แต่ปัจจุบันยังไม่มีการตอบกลับจากหน่วยงานเลย

ในปีนี้จึงต้องร่วมกันติดตามการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการตามแผนได้หรือไม่ อย่างไร และต้องติดตามว่าการกำหนดเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ข้างต้นจะส่งผลให้รัฐมีการดำเนินงานอย่างไรต่อไปในปี 2565

ข้อมูลเพิ่มเติม

แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง Link

ศาลปกครองเชียงใหม่ สั่ง คกก.สิ่งแวดล้อมฯ ประกาศ 4 จังหวัดเหนือ เป็นเขตควบคุมมลพิษ ใน 30 วัน Link

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 2565
ที่มาภาพ https://www.thairath.co.th/multimedia/gallery/news/local/32816

2.เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมี “กฎหมาย PRTR” เครื่องมือปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากมลพิษและอุบัติภัยสารเคมี ?

เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์การระเบิดอย่างรุนแรงของสารเคมีภายในโรงงาน “หมิงตี้เคมีคอล” สร้างความเสียหายทั้งจากแรงระเบิด และจากการที่สารสไตรีนโมโนเมอร์ กระจายออกไปสู่ชุมชนโดยรอบ และเมื่อถูกเผาไหม้จึงกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) จำนวนมาก มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ถ้าได้รับสารปริมาณสูงจะมีอาการชักและเสียชีวิตได้   และยังจำเป็นต้องใช้วิธีการดับเพลิงที่เหมาะสม คือ ต้องใช้น้ำยาประเภทคาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมในการปิดคลุมสาร ไม่ใช่การฉีดน้ำตามวิธีการดับเพลิงทั่วไป

ช่วงเวลาหลังจากเกิดเหตุการณ์อุบัติภัยนี้ไม่นานักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปัดตก “ร่างกฎหมาย PRTR”  (Pollutant Release and Transfer Registers) ที่มีการเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่เป็นกฎหมายที่จะมาช่วยจัดการปัญหาเกี่ยวกับสารมลพิษและสารเคมี ดังเช่นเหตุระเบิดของ “หมิงตี้เคมีคอล” ได้เป็นอย่างดี

ทำไมการมีกฎหมาย PRTR จึงสำคัญ เพราะกฎหมาย PRTR หรือ กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ จะกำหนดให้

  1. โรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งกำหนดมลพิษอื่น ๆ ต้องรายงานต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบว่ามีการครอบครองสารมลพิษใดบ้าง และมีการปล่อยมลพิษปริมาณเท่าใด
  2. หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะต้องเผยแพร่ข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รับรู้ และประเมินความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที

ดังนั้นหากมี กฎหมาย PRTR ประชาชนจะสามารถรู้แหล่งและปริมาณสารมลพิษในพื้นที่ต่างๆ สามารถประเมินความเสี่ยงในชีวิตได้รอบด้านมากขึ้น  หน่วยงานของรัฐจะสามารถเตรียมการป้องกันและรับมือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากสารมลพิษต่าง ๆ ได้อย่างเจาะจงและแม่นยำมากขึ้น หน่วยงานด้านสาธารณสุขจะสามารถดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพของคนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลก็จะมีข้อมูลในการกำหนดแผนการพัฒนาโดยสามารถประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ (carrying capacity) ได้

จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งปัดตกร่างกฎหมาย PRTR นี้ ทำให้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย PRTR ในขณะที่ทั่วโลกมีการใช้กฎหมายนี้กว่า 50 ประเทศ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นว่านายกฯ ไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการจัดการมลพิษอันจะเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาและเป็นการคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม

แต่นี่ยังไม่ใช่จุดจบของการมีกฎหมาย PRTR ในไทย เพราะแม้ว่าจะถูกปัดตกไปเสียแล้ว แต่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (Earth) ก็ยังเดินหน้าเตรียมผลักดันกฎหมายฉบับนี้ต่อไป โดยจะทำการเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่างพ.ร.บ. PRTR โดยภาคประชาชนและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป นี่จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อยากเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันติดตามและร่วมกันเข้าชื่อ ผลักดันกฎหมาย PRTR ให้ออกมาเป็นกฎหมายที่สามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้ประชาชนได้มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

ข้อมูลเพิ่มเติม

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเตือนประชาชนรอบ รง.หมิงตี้ หลังเกิดไฟไหม้ อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ Link

“ความสำคัญของกฎหมาย PRTR” Link

โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ – อีกหนึ่งบทเรียนที่สะท้อนว่า “ประเทศไทยต้องมีกฎหมาย PRTR” Link

รู้จัก “PRTR” กฎหมายส่องความเสี่ยง “ฝุ่นพิษและสารเคมี” ที่คนไทยยังไม่มี Link

จาก’หมิงตี้’รอวันจัดการปัญหาโรงงานกลางชุมชน Link

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 2565
ที่มาภาพ : static.postoday.com

3. “เขตพัฒนาพิเศษ” จาก EEC สู่นิคมฯ จะนะ บทเรียนของการพัฒนาที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง ต้องไม่ซ้ำรอยเดิม

ในช่วงปีที่ผ่านมา ในประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราอาจได้ยินคำว่า “เขตพัฒนาพิเศษ” อยู่เป็นระยะ ซึ่งหมายถึง เขตพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม

“เขตพัฒนาพิเศษ” เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นการดำเนินการของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งในการดำเนินการต้องมีการจัดสรรพื้นที่ การจัดทำผังเมือง เพื่อการวางแผน และกำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ในบริเวณพื้นที่นั้นๆ ให้สอดคล้องและรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ       

อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดหน้าที่ให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ (มาตรา 58) อีกทั้งกฎหมายผังเมือง (พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562) ก็กำหนดรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนและให้คำคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลักการพื้นฐานในการวางและจัดทำผังเมือง

แต่สิ่งที่พบอยู่เสมอ คือการส่งเสริมสนับสนุน “เขตพัฒนาพิเศษ” เหล่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากกรณีต่อไปนี้

1) “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ” หรือ “โครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก รางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือ โรงไฟฟ้า และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง

โครงการนี้จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา เปลี่ยนพื้นที่สีเขียว หรือ เขตพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม  ให้เป็นพื้นที่สีม่วง หรือ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเสียก่อน แต่กลับพบว่ามีการแก้ไขผังเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และขาดการศึกษาข้อมูลที่รอบด้านและครบถ้วนมากพอต่อการตัดสินใจ ส่งผลให้ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ซึ่งเป็นประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวออกมาคัดค้านและขอให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment Guideline) หรือ SEA ก่อนที่จะเดินหน้าดำเนินกระบวนการใดๆต่อไป จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการจัดทำ SEA ก่อนเดินหน้ากระบวนการใดๆ

2) “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor – EEC)

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ อีอีซี โครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เกิดขึ้นจากอำนาจพิเศษตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.255 และมีการผลักดันให้เกิดเป็นพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งได้กำหนดให้ต้องมีการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเรียกกันสั้นๆว่า “แผนผังฯ EEC”

จนกระทั่งปลายปี 2562 มีประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้จัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการอุตสาหกรรม เปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ชุมชน ให้สามารถประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้

ส่งผลให้เครือข่ายชุมชนและประชาชนในพื้นที่ EEC  ที่ได้รับผลกระทบ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และให้จัดทำ SEA ก่อน แต่ในระหว่างกระบวนการของศาลนี้ พื้นที่ EEC ก็ยังคงมีการเดินหน้าโครงการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงปัญหาการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ล่าช้าและไม่นำไปสู่การป้องกัน แก้ไข และเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

จากข้อมูลข้างต้นกลับพบว่าการดำเนินการเขตพัฒนาพิเศษ ทั้ง 2 กรณี ไม่ได้มีการจัดทำ SEA แต่กลับมีกระบวนการที่เร่งรัด และข้ามขั้นตอนตามกฎหมายปกติ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EEC และกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่ง  EnLAW เห็นว่าการกำหนดโครงการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment Guideline) หรือ SEA เพื่อประเมินและหาทางเลือกที่เหมาะสมในการออกแบบการพัฒนาในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับต้นทุน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิธีชีวิตของประชาชนในพื้นที่

โครงการ “เขตพัฒนาพิเศษ” ที่ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตาม “กฎหมายพิเศษ” ที่มีวิธีการ “พิเศษ” ที่รวดเร็ว เร่งรัด และไม่มีช่องทางให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญ ที่จะต้องร่วมกันจับตากันอย่างเป็น “พิเศษ” เพื่อให้เท่าทันต่อการดำเนินการของรัฐ ที่นับวัน ประชาชนยิ่งจะตามไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว รัฐ ควรต้องเป็นฝ่ายเข้าหาและรับฟังประชาชน

ข้อมูลเพิ่มเติม

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ เข้าพบนายก อบจ.สงขลา เบรกสอดไส้เปลี่ยนสีผังเมือง Link

ความเห็นทางกฎหมาย: ความไม่ถูกต้องของกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมจะนะ Link

จาก “จะนะ” ถึง “อีอีซี” ฉีกกฎหมายผังเมือง เปลี่ยนสีเขียวเป็นม่วงเพื่อการพัฒนา Link

ข้อมูลเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินภายหลังบังคับใช้ผังเมือง EEC พื้นที่ 3 จังหวัด Link

สิทธิชุมชนและสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย Link

การเดินหน้าโครงการ EEC ที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลังการพัฒนา Link

เปิดคำฟ้องเพิกถอน “ผังเมือง EEC” : การพัฒนาของรัฐที่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง Link

SEA กับการยุติความขัดแย้งกรณี “จะนะ” | ธีรวัฒน์ ขวัญใจ Link

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 2565
ที่มาภาพ : greenpeace.org

4. “เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย” การต่อสู้และความหวังในการปลดระวางถ่านหินในประเทศไทย

หากทุกคนยังจำกันได้เมื่อ ปี 2562 มีการรวมตัวของชาวบ้านอำเภออมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคัดค้านการสร้างเหมืองแร่ถ่านหิน ในพื้นที่ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการตั้งข้อสงสัยในกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า รายงาน EIA ของโครงการนี้ ว่ามีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น ไม่มีการชี้แจงข้อมูลอย่างครบถ้วน มีการปลอมแปลงลายมือชื่อ และเนื้อหาในรายงาน EIA ไม่ถูกต้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ ทั้งนี้ทางตัวแทนชุมชนได้มีการทำหนังสือ ขอให้สำนักงานนโยบายแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทบทวนรายงาน EIA ฉบับดังกล่าว ซึ่งได้มีการนำวาระดังกล่าวเข้าพิจารณาใหม่อีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการการพิจารณารางานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 36/2563 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติยืนตามมติเดิมคือให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ฉบับที่มีข้อบกพร่องดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถนำรายงาน EIA ไปใช้ประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินได้ต่อไป

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมารัฐบาลไทยโดยพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26  (Conference of the Parties) ที่น่าสนใจคือ คำประกาศของรัฐบาลไทย ที่ระบุว่า ประเทศไทยจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) โดยเร็วที่สุดภายในระยะครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด (Peak GHG Emissions) ใน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งตามกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยอ้างถึงไว้ ในประเด็นเรื่อง การลด/เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบุว่า ไทยจะกำหนดนโยบายที่ไม่เพิ่มปริมาณสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และจะทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน และคาดว่าจะไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2593 เป็นต้นไป

การต่อสู้ของคนอมก๋อยครั้งนี้อาจไม่ใช่เพียงการคัดค้านเหมืองแร่ถ่านหิน แต่ยังเป็นการใช้สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยแท้ในการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการต่อสู้ครั้งนี้ของชุมชนอาจใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมเพื่อใช้เป็นบทพิสูจน์การตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ยังต้องจับตาว่ารัฐไทยจริงจังกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net-Zero) และจริงจังต่อการปลดระวางถ่านหินได้มากน้อยเพียงใด

อ่านเพิ่มเติม

“ชาวอมก๋อย” บุกเวทีรับฟังความเห็นเหมืองแร่ถ่านหิน Link

เหมืองถ่านหินและสิทธิชุมชนคนอมก๋อย Link

‘กสม.’ จี้ตีกลับ ‘EIA’ เหมืองอมก๋อย พบ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ถูกสวมสิทธิ์เข้าชื่อหนุน Link

นายกฯ ประกาศต่อ COP26 ไทยพร้อมยกระดับแก้วิกฤตภูมิอากาศ Link

แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) คืออะไร Link

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 2565
ที่มาภาพ :  bot.or.th

5. “Climate Change” วาระเร่งด่วนของไทยจริงหรือ ?

ในปัจจุบัน Climate Change เป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนของมนุษยชาติ ที่จะต้องช่วยกันรับมือและแก้ไข เพื่อรักษาให้โลกใบนี้เป็นที่ที่เราสามารถอาศัยอยู่ได้ต่อไป แต่คำถามคือ Climate Change คืออะไรกันแน่ และไทยอยู่ตรงไหนในปัญหาและการแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญนี้

Climate Change หรือที่มีชื่อเรียกใหม่ว่า ภาวะโลกรวน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตบนโลกเป็นไปอย่างยากลำบาก ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมเฉียบพลัน ภัยแล้ง ไฟป่า หรือพายุ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิภาวะโลกรวนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ผลิตก๊าซเรือนกระจก (Green House Gases : GHG) เมื่อก๊าซเหล่านี้อยู่ในชั้นบรรยากาศจะทำให้ความร้อนอยู่ในพื้นผิวโลกมากขึ้น ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วก็จะก่อให้เกิดภาวะโลกรวน ซึ่งตามมาด้วยผลกระทบที่รุนแรงมากมาย

ก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการที่มนุษย์ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน หรือถ่านหิน ในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรมต่างๆ หรือแม้แต่การเกษตรกรรม เรียกได้ว่ากิจกรรมแทบทุกอย่างของมนุษย์ล้วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น

เมื่อสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวนส่วนใหญ่มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ วิธีที่จะหยุดปรากฏการณ์นี้ก็คือการลดหรือหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนอุณหภูมิโลกกลับมาเสถียรและสภาพภูมิอากาศกลับมาสมดุลดังเดิม 

จากกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวน องค์การสหประชาชาติจึงได้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (The United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) เพื่อเป็นแนวทางในการยับยั้งภาวะโลกรวน และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ โดยมีประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันกว่า 150 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยและจากอนุสัญญาดังกล่าวได้มีการจัดทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงที่เป็นส่วนขยายของUNFCCC โดยมีเป้าหมายในการหยุดยั้งอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส หรืออยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งประเทศไทยก็ได้ให้สัตยาบันในความตกลงปารีสนี้ด้วยกล่าวคือ ไทยมีข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามความตกลงปารีสนั่นเอง

เพื่อให้การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นทุกปีในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา เพื่อวางกรอบการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เรียกว่า Conference of Parties : COPs ซึ่งในวันที่ 1 ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการประชุมครั้งที่ 26 (COP26) โดยในการประชุมดังกล่าวได้มีข้อตกลงขอให้ประเทศต่าง ๆ ตีพิมพ์แผนปฏิบัติการภายในสิ้นปี พ.ศ. 2565 โดยตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 และเน้นย้ำเรื่องที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องให้เงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศเหล่านั้นปรับตัวและรับมือได้ รวมถึงการลดการใช้ถ่านหิน

นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีข้อตกลงเพิ่มเติมอื่นๆ ที่น่าสนใจ คือ ข้อตกลงยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี พ.ศ 2573 ข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ 2573 ข้อตกลงยกเลิกการใช้ถ่านหินภายในปี พ.ศ. 2573 สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว และภายในปี พ.ศ. 2583 สำหรับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งข้อตกลงเหล่านี้ไทยไม่ได้ลงนามเข้าร่วมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก Climate Action tracker แจ้งว่า หากเป็นไปตามเป้าหมายใน COP26 ของแต่ละประเทศ ในปี พ.ศ. 2573 โลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.4 องศา และหากยังเป็นไปตามนโยบายปัจจุบันโลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.7 องศา จะเห็นได้ว่า เป้าหมายที่นานาประเทศได้ตั้งไว้นั้นยังไม่เพียงพอที่จะหยุดวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้

สำหรับประเทศไทยได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี พ.ศ. 2608 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี พ.ศ. 2593

แต่เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายที่ให้ไว้ใน COP26 นอกจากประเทศไทยจะไม่เข้าร่วมข้อตกลงเพิ่มเติมด้านการลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดก๊าซมีเทน และหยุดการใช้ถ่านหินข้างต้นแล้ว ไทยยังไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ให้ไว้แต่อย่างใด แต่กลับมีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือ โครงการ “เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” (หนึ่งในนั้น คือ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ) ซึ่งโครงการอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนมีการรองรับอุตสาหกรรมพลังงานปิโตรเลียม ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกรวน รวมถึงการให้สัมปทานเหมืองถ่านหินเพิ่มเติม เช่น โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จะเห็นได้ว่าแม้ไทยจะตั้งเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ไว้แล้ว แต่การดำเนินการในปัจจุบันยังคงมีการสนับสนุนโครงการที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2565 นี้ต้องร่วมกันติดตามว่าประเทศไทยจะมีแผนและการดำเนินงานอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการประชุม COP 26 และต้องติดตามการประชุม COP27 ที่จะจัดขึ้นในปีนี้ ว่าไทยจะเข้าร่วมข้อตกลงใดเพิ่มเติมเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาภาวะโลกรวนที่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม

“What is climate change? A really simple guide” Link

กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ (UNFCCC) Link

“The Paris Agreement” Link

“สรุป COP26 ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้น จนถึงโอกาสเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy” Link

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ COP26 ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง Link