ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฟ้องเอาลูก

ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฟ้องขอค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่

Show

          สังคมโลกมักเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะ “อยู่ก่อนแต่ง มากขึ้น เพื่อเป็นการทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย    (จดทะเบียนสมรส)

          แต่ก็มีไม่น้อยที่ระหว่างอยู่กินร่วมกันแบบไม่จดทะเบียนสมรสนั้น ปัญหาหนึ่งที่ไม่ค่อยจะได้วางแผนไว้ คือเรื่องของการตั้งครรภ์  และนำมาซึ่งปัญหาในทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกรณีที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองไม่อาจจะไปต่อได้ หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าเลิกกันนั้นเอง แต่ถ้าคู่ไหนเลิกกันดี ก็ถือว่าโชคดี แต่จากประสบการณ์ของผมในฐานะทนายความแล้ว มักจะเลิกกันไม่ดี และยังส่งผลถึงเด็กที่เกิดมาด้วย

          ดังนั้น ในวันนี้สำนักงานฯ เราจึงขอหยิบยกเอาประเด็นเรื่อง การไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะฟ้องขอค่าเลี้ยงดูบุตรได้หรือไม่ ? มาเล่าให้ทุกท่านฟัง

           เนื่องจากในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายจะทำให้บุตรที่เกิดขึ้นนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ผู้เป็นบิดาอาจไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้  หรือจะอธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ เมื่อคุณแม่ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว (Single mom) ในกรณีที่พ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลูกที่เกิดมาจะถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นแม่เพียงผู้เดียว และจะเป็นลูกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อ ฉะนั้น ผู้เป็นพ่อก็ไม่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย

         แต่ต่อมาถ้าแม่ต้องการให้พ่อจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ก็จะต้องดำเนินการให้พ่อดำเนินการรับรองให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อเสียก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าเลี้ยงดูบุตรได้

         ซึ่งในทางกฎหมายบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว เรียกว่า “บุตรนอกสมรส”  ซึ่งกฎหมายก็ได้กำหนดวิธีการที่จะเป็นทำให้บุตรนอกสมรสกลายเป็น “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” ได้ ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้

  1. บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร
  2. บิดามารดาสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายภายหลัง
  3. ศาลพิพากษาว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา

         อย่างไรก็ดี กรณีตามข้อ 1.  บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร การจดทะเบียนรับรองบุตรจะต้องให้บิดาไปจดทะเบียนรับรองบุตรกับนายทะเบียนที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอในแต่ละจังหวัด โดยมารดาต้องให้ความยินยอม รวมทั้งเด็กต้องให้ความยินยอม แต่ถ้ากรณีที่เด็กยังเล็กมากและยังไม่สามารถพูดให้ความยินยอมได้อาจขอให้ศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของเด็ก

         กรณีตามข้อ 2. บิดามารดาสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายภายหลัง เด็กจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโดยมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่เด็กเกิด

         กรณีตามข้อ 3. หลังจากที่ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็จะมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่เด็กเกิดเช่นกัน

         และนอกจากเนื่องจากทั้งสามกรณีนั้นแล้ว ยังมีกรณีอื่นๆที่มารดาสามารถนำมาใช้อ้างได้อีก ถ้าพบข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา

  • เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเราหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
  • เมื่อมีการลักพาตัวมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาที่หญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
  • เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรของตน
  • เมื่อปรากฏในทะเบียนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
  • เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรภ์ได้
  • เมื่อมีเหตุใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
  • เมื่อมีการแสดงออกที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร เช่น บิดาดูแลเรื่องการศึกษา ยินยอมให้เด็กใช้นามสกุลของตน

         สรุป หากมารดาต้องการจะฟ้องให้บิดาของเด็กนั้นจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ก็สามารถยื่นฟ้องบิดาต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ โดยให้ฟ้องมารวมกับการฟ้องให้บิดารับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย ซึ่งการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียม

สถิตย์ อินตา ทนายความ

083-5681148

ติดตามข่าวสารของเราทาง Facebook : สำนักกฎหมายนำชัย พรมทา
เว็บไซต์ : https://numchailawyer.com
อ่านบทความทั้งหมด : https://bit.ly/2XVVfKQ

ติดต่อเราได้ที่ :
086-331-4759 | 086-847-2297 | 083-568-1148
E-mail :
Line Official : @numchailawyers

สำนักกฎหมายนำชัยพรมทา, กฎหมาย, นำชัยพรมทา, บทความกฎหมาย, คลังความรู้กฎหมาย, ปรึกษากฎหมายฟรี, ปรึกษาด้านกฎหมาย, จ้างทนายความ

เมื่อคนสองคนชายและหญิงมาเจอกัน รักกัน อยู่ด้วยกันตามประเพณีแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย อยู่ด้วยกันจนมีลูกแต่มาวันหนึ่งแยกกันอยู่ คำถามคือ “ลูกเป็นสิทธิ์ของใคร?” และการไม่ได้จดทะเบียนนี้จะส่งผลต่อลูกอย่างไรบ้าง

สารบัญ

  • พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
  • ความสำคัญของการจดทะเบียนสมรส
    • แง่สามีภรรยา
    • แง่ของการมีลูก
  • หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส
    • ลูกนอกสมรส จะถือเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้เป็นแม่ฝ่ายเดียวเท่านั้น
    • ลูกนอกสมรสไม่มีสิทธิได้รับมรดกจากผู้เป็นพ่อ
    • ลูกนอกสมรส ไม่มีสิทธิฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดผู้เป็นพ่อจนบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้
  • หากต้องการจดทะเบียนรับรองบุตร
    • กรณีที่ 1 : ได้รับความยินยอมจากบุตรและมารดา
    • กรณีที่ 2 : ไม่ได้รับความยินยอมจากบุตรและมารดา
  • พ่อจะมีสิทธิดูแลบุตรได้ในกรณีใดบ้าง?
    • กรณีที่ 1 – จดทะเบียนรับรองบุตร
    • กรณีที่ 2 – พ่อแม่สมรสหลังลูกเกิด
    • กรณีที่ 3 – ศาลให้สิทธิพ่อ
  • มีลูก มีได้จดทะเบียน เรียกค่าเลี้ยงดูได้ไหม?
  • หลักเกณฑ์การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร
    • จดทะเบียนรับรองบุตร
    • ฟ้องศาล
    • มีนัดไกล่เกลี่ย
    • ขอศาลบังคับคดี

พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส

ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้ออกมาให้ข้อมูลและไขข้อข้องใจไว้ดังนี้ค่ะ

“หากในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่แยกทางกัน แล้วฝ่ายชายเอาลูกไปเลี้ยง โดยที่ฝ่ายหญิงไม่ยินยอม ฝ่ายจะดึงดันทำได้หรือไม่ และจะมีความผิดอะไรหรือไม่?”

สำหรับกรณีนี้มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนค่ะ อ้างถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 บัญญัติไว้ว่า…
มาตรา 1546 เด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น
ซึ่งหมายความว่า บุตรทุกคนเป็นบุตรของฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว ฝ่ายชายไม่มีสิทธิ์ในตัวบุตร ดังนั้นมารดาจึงมีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวตามกฎหมาย และมีอำนาจ ดังนี้
มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ…

  1. กำหนดที่อยู่ของบุตร
  2. ทำโทษบุตรตามสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
  3. ให้บุตรได้ทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
  4. เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ คำว่า “บุคคลอื่นหมายรวมถึงชายที่เป็นบิดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วย” ตามฎีกาที่ 3461/2541 วินิจฉัยไว้ว่า…
ฎีกาที่ 3461/2541
บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(4) หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากผู้ใช้อำนาจปกครองซึ่งได้แก่ บิดา มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร จำเลยผู้มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้เยาว์จำเลยจึงไม่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตามกฎหมายย่อมไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) ถึง (4) การที่จำเลยกักบุตรผู้เยาว์ไว้จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้เป็นมารดาของผู้เยาว์ย่อมมีสิทธิเรียกบุตรผู้เยาว์คืนจากจำเลยได้
…หรือแม้มารดาจะเคยให้ความยินยอมหรือตกลงให้บุตรไปอยู่กับฝ่ายบิดา ข้อตกลงดังกล่าวก็สามารถเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกคำสั่งได้เสมอ ฝ่ายบิดาจะยกเอาเหตุนี้มาอ้างเพื่อให้พ้นผิดไม่ได้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3780/2543

ความสำคัญของการจดทะเบียนสมรส

ทะเบียนสมรส” แม้เป็นเพียงกระดาษใบเดียวก็จริง แต่สิ่งนี้จะเป็นหลักฐานสำคัญทางกฎหมายที่สามารถยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างกันได้โดยมีกฎหมายรับรองสิทธิไว้อย่างถูกต้องและชัดเจนโดยมีความสำคัญในแง่ต่างๆ ทางกฎหมาย ดังนี้

แง่สามีภรรยา

  • สามารถเรียกร้องสิทธิได้ อาทิ ต้องการฟ้องร้องกันเนื่องจากสามีนอกใจหรือภรรยามีชู้
  • ต่างฝ่ายต่างสามารถดำเนินคดีอาญาแทนกันได้ กรณีสามีหรือภรรยาถูกทำร้ายร่างกาย
  • นำไปใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี

แง่ของการมีลูก

  • ลูกที่เกิดมาจะเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของสามีทันที
  • มีสิทธิได้รับมรดกของผู้เป็นพ่อ
  • หากเกิดกรณีหย่าร้างกัน ภรรยาสามารถเรียกร้องค่าเลี้ยงดูจากสามีได้

หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส

หากคู่สมรสคู่ไหนไม่ได้มีการจดทะเบียน แล้วหากมีลูกด้วยกันจะทำให้ลูกที่เกิดมาเป็น “ลูกนอกสมรส” แล้วจะส่งผลต่อลูกอย่างไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

ลูกนอกสมรส จะถือเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้เป็นแม่ฝ่ายเดียวเท่านั้น

ถึงแม้ว่าลูกจะใช้นามสกุลของผู้เป็นพ่อก็ตาม เพราะการให้ใช้นามสกุลนับเป็นการรับรองบุตรโดยพฤติการณ์เท่านั้นแต่ลูกนอกกฎหมายนี้มีสิทธิต่อผู้เป็นพ่อเช่นเดียวกันกับลูกถูกกฎหมายทุกอย่าง แต่ไม่ถือว่าเป็นพ่อลูกกันตามกฎหมาย

ลูกนอกสมรสไม่มีสิทธิได้รับมรดกจากผู้เป็นพ่อ

เพราะถือเป็นลูกนอกกฎหมายยกเว้นว่าผู้เป็นพ่อมีการรับรองว่าให้ใช้นามสกุลหรือจดทะเบียนรับรองการเป็นบุตรเท่านั้น

ลูกนอกสมรส ไม่มีสิทธิฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดผู้เป็นพ่อจนบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้

ยกเว้นจะได้รับการรับรองบุตร และในขณะเดียวกันผู้เป็นพ่อก็ไม่สามารถเรียกร้องหรือฟ้องร้องดำเนินคดี หากมีผู้ละเมิดร่างกายลูกจนบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ แต่ผู้เป็นแม่สามารถฟ้องร้องได้คนเดียวเท่านั้น

หากต้องการจดทะเบียนรับรองบุตร

กรณีที่ 1 : ได้รับความยินยอมจากบุตรและมารดา

หากเป็นอย่างกรณีนี้ คือได้รับความยินยอมของทั้งลูกและผู้เป็นแม่ คุณพ่อสามารถไปจดทะเบียนรับรองได้เลย โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียมไปด้วย ดังนี้

  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • สูติบัตรของลูก
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • หนังสือแสดงความยินยอมทั้งของบุตรและมารดา

กรณีที่ 2 : ไม่ได้รับความยินยอมจากบุตรและมารดา

หากเป็นในกรณีนี้ที่บิดาไม่ได้รับความยินยอมจากทั้งลูกและผู้เป็นแม่ บิดาต้องยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อให้ศาลตัดสินและมีคำพิพากษาให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรได้ก่อน แล้วจึงนำคำพิพากษาดังกล่าวไปยื่นขอจดทะเบียนในขั้นตอนต่อไป พร้อมกับนำเอกสารตามกรณีที่ 1 ไปด้วย
ถ้าเป็นกรณีที่ 2 นี้ ต้องใช้ระยะเวลานานซักหน่อย (กินระยะเวลาเป็นปี) กว่าศาลจะพิจารณาคดีและมีคำพิพากษาออกมา เพราะต้องใช้หลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อประกอบคำพิพากษา และมีหลายขั้นตอนกว่าสำเร็จลุล่วง

พ่อจะมีสิทธิดูแลบุตรได้ในกรณีใดบ้าง?

ผู้เป็นพ่อจะมีสิทธิที่จะได้เลี้ยงดูบุตรใน 3 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 – จดทะเบียนรับรองบุตร

ข้อนี้ไม่ใช่กรณีที่คุณพ่อมีชื่อในใบเกิดลูกนะคะ เป็นคนละกรณีกัน แต่กรณีนี้ หมายถึง คุณพ่อต้องไปจดทะเบียนรับรองบุตรที่อำเภอ โดยมีคุณแม่และลูกให้ความยินยอมด้วย แต่ถ้าหากลูกยังเล็กเกินไปที่จะตัดสินใจ ศาลจะเป็นผู้ตัดสินให้ โดยพิจารณาจากเหตุผลที่ว่าถ้าคุณพ่อได้เซ็นรับรองบุตรแล้ว บุตรจะได้ปรับประโยชน์สูงสุดอย่างไรบ้าง

กรณีที่ 2 – พ่อแม่สมรสหลังลูกเกิด

หมายความว่า แม่คลอดลูกออกมาก่อน แล้วค่อยจะทะเบียนกับคุณพ่อภายหลัง ลักษณะเช่นนี้คุณพ่อจะมีสิทธิในการเลี้ยงดูลูก

กรณีที่ 3 – ศาลให้สิทธิพ่อ

กรณีนี้คุณพ่อต้องฟ้องศาล เพื่อให้ศาลช่วยพิจารณาและตัดสินค่ะ ซึ่งต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้คุณพ่อมีสิทธิเลี้ยงดูลูกได้

มีลูก มีได้จดทะเบียน เรียกค่าเลี้ยงดูได้ไหม?

กรณีที่คุณแม่มีลูกด้วยกัน ต้องการเรียกร้องค่าเลี้ยงดูบุตร แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส คุณพ่อของบุตรจึงไม่ได้เป็นคุณพ่อที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น หากคุณแม่ต้องการค่าเลี้ยงดูบุตรจากคุณพ่อ สามารถทำได้โดยจะต้องมีการจดทะเบียนกันในภายหลัง หรือคุณพ่อต้องจดรับรองบุตร หรือกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ของบุตรไม่ยินยอมให้ทำการจดทะเบียนรับรองบุตร ดังนั้น ต้องใช้วิธีการฟ้องศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิพากษาว่าลูกที่เกิดมานี้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณพ่อ

หลักเกณฑ์การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร

สำหรับหลักเกณฑ์ในการฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรมี ดังนี้

จดทะเบียนรับรองบุตร

การจดทะเบียนรับรองบุตรสามารถจดได้ที่อำเภอ และคุณพ่อคุณแม่รวมถึงลูกต้องให้การยินยอม แต่หลายคนเข้าใจว่า เพียงแค่ลูกใช้นามสกุลของคุณพ่อ ลูกก็มีสิทธิได้ค่าเลี้ยงดูซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด สิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่าเป็นการรับรองบุตร ซึ่งการจะได้ค่าเลี้ยงดูจากคุณพ่อจะใช้การจดทะเบียนรับรองบุตรเท่านั้น ซึ่งจะเป็นเอกสารที่มีผลทางกฎหมาย

ฟ้องศาล

การฟ้องศาลเพื่อเรียกค่าเลี้ยงดู สามารถฟ้องเป็นค่าเลี้ยงดูแบบรายเดือนก็ได้ หรือถ้าหากคู่กรณีตกลงกันกับคุณแม่ว่าต้องการจ่ายเป็นก้อนก็สามารถทำได้เช่นกัน การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูนั้น บุตรจะได้รับจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะหรือจนกว่าบุตรจะเรียนจบในระดับปริญญาตรี ทั้งนี้การฟ้องเพื่อขอเรียกค่าเลี้ยงดูนั้น นับเป็นคดีแพ่ง และจะต้องฟ้องศาลเยาวชนและครอบครัวในจังหวัดที่ลูกมีภูมิลำเนาเกิด

มีนัดไกล่เกลี่ย

หลังจากที่ทนายส่งเรื่องฟ้องแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นนัดไกล่เกลี่ย หากตกลง เจรจากันได้ก็จะจบภายใน 2-4 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 จะสามารถตกลงกันได้ในขั้นตอนนี้ แต่ถ้าหากตกลงกันไม่ได้ ศาลก็ต้องขอหลักฐานเพิ่มเติม ได้แก่ ใบสูติบัตรที่มีชื่อคุณพ่อ, ใบยินยอมให้ลูกใช้นามสกุลพ่อ และผลตรวจ DNA เป็นต้น โดยมากแล้วค่าเลี้ยงดูรายเดือนจะไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท โดยพิจารณาจากฐานะ, อาชีพ และรายได้ของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อบุตร

ขอศาลบังคับคดี

หากศาลมีคำพิพากษาแล้วว่าให้คุณพ่อส่งค่าเลี้ยงดูบุตร แต่คุณพ่อยังเพิกเฉยไม่ชำระ คุณแม่สามารถยื่นขอคำบังคับคดีจากศาล เพื่อออกคำสั่งให้อายัติเงินเดือน หรือทรัพย์สินอื่น ๆ มาเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรได้ และ/หรือ คุณพ่อมีเงินที่จะจ่าย แต่ไม่ยอมจ่าย สามารถขอให้ศาลสั่งจำคุกได้เลยชั่วคราวเป็นครั้ง ๆ ไป จนกว่าคุณพ่อจะชำระค่าเลี้ยงดูบุตรตามที่ศาลพิพากษาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ หากในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงค่าเลี้ยงดูที่มากขึ้น คุณแม่สามารถยื่นต่อศาลขอให้เปลี่ยนแปลงค่าเลี้ยงดูบุตรตามค่าใช้จ่ายที่มีอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงบุตรเป็นหลัก

บางครอบครัวอาจมองว่าทะเบียนสมรสเป็นเพียงกระดาษใบเดียว จริงค่ะเป็นกระดาษใบเดียวแต่กระดาษแผ่นนี้จะมีผลในทางกฎหมายเป็นอย่างมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อคุณแม่และลูกน้อยทั้งนั้นนะคะ

อ้างอิงข้อมูล; punpro.com, nitilawandwinner.com