มารยาทในการสนทนากับผู้อื่น

บทนำ

สวัสดีน้อง ๆ ทุกคน กลับเข้ามาสู่เนื้อหาสาระดี ๆ อีกครั้ง โดยวันนี้จะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับมารยาทในการพูด และจะต่อจากเนื้อหาเมื่อครั้งที่แล้วอย่างเรื่องมารยาทในการฟัง ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์มาก ๆ เมื่อเราต้องไปพูดต่อหน้าที่สาธารณะ หรือพูดคุยสนทนากับเพื่อน ๆ คุณครู พ่อแม่ของเรา เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ เราก็ควรเรียนรู้มารยาทที่ดีในการพูดไปด้วย
ถ้าน้อง ๆ ทุกคนพร้อมแล้วมาดูกันว่าวันนี้จะมีเนื้อหาอะไรมาฝากกันบ้าง

มารยาทในการสนทนากับผู้อื่น

การพูด คือ อะไร

การพูดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร เพื่อบ่งบอกถึงความต้องการ ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ผ่านการใช้อวัยวะอย่างกล่องเสียง และปาก เพื่อเปล่งเสียงพูดออกมา การพูดจะมีตัวกลางคือ ภาษา ซึ่งเป็นตัวสื่อความหมายออกในรูปแบบของน้ำเสียง หรือถ้อยคำ การพูดจึงถือว่าเป็นลักษณะเฉพาะที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ ฝึกฝน เลียนแบบ หรือถ่ายทอดให้สู่รุ่นต่อ ๆ ไปได้

มารยาทในการสนทนากับผู้อื่น

จุดมุ่งหมายของการพูด

1.การพูดเพื่อให้ความรู้ 

เป็นการพูดเพื่อให้สาระความรู้ เป็นการพูดที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้ฟัง เช่น การนำเสนอรายงานที่เราไปสืบค้นมาให้เพื่อนฟัง การที่คุณครูสอนในห้องเรียน หรือการที่เราพูดให้ความรู้บางอย่างกับผู้อื่นก็เช่นกัน

2.การพูดเพื่อให้ความบันเทิง

สำหรับจุดมุ่งหมายนี้เป็นการพูดที่เน้นความเพลิดเพลิน สนุกสนาน อย่างเรื่องตลกขบขันต่าง ๆ ซึ่งจะไม่ต้องใช้หลักการอะไรมาก หรือไม่ต้องใช้การเตรียมตัวก่อนพูด เช่น การพูดเรื่องตลกให้เพื่อน ๆ ฟัง การเล่าเรื่องผี เล่าเรื่องที่เราประสบพบเจอมาให้คนที่เรารู้จักฟัง ผู้ฟังก็จะได้รู้สึกสนุก ตื่นเต้นไปกับเรื่องที่เราพูดไปด้วย

3.การพูดเพื่อความจรรโลงใจ 

ต่อมาเป็นการพูดเพื่อทำให้ผู้ฟังได้คติเตือนใจ ได้แนวทางในการใช้ชีวิต พูดเพื่อให้คนฟังมีจิตใจที่สูงขึ้นอยากกระทำแต่ความดี  เช่น การพูดสุนทรพจน์ การขับเสภา หรือการเล่านิทานสอนใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังได้รับข้อคิดจากเรื่องที่ฟังด้วย

4.การพูดเพื่อโน้มน้าวจิตใจ

สำหรับจุดมุ่งหมายในการพูดข้อนี้ถือว่าเป็นความสามารถเฉพาะบุคคลก็ว่าได้ เพราะเป็นการพูดที่ต้องมีหลักการ มีแหล่งข้อมูล
ผู้พูดต้องมีความน่าเชื่อถือพอสมควร การพูดในลักษณะนี้จะต้องพูดเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของผู้ฟังให้คล้อยตามเรา
เช่น การพูดโต้วาที การพูดชักชวนเพื่อให้ทำบางสิ่งบางอย่างตามที่เราต้องการ การพูดเชิญชวน รณรงค์ หรือที่เราจะเห็นการพูดเพื่อโฆษณาสรรพคุณของสินค้าให้คนสนใจอยากจะซื้อตาม

มารยาทในการสนทนากับผู้อื่น

มารยาทในการพูด

1.มารยาทการพูดระหว่างบุคคล

การพูดระหว่างบุุคคล หมายถึง การที่คนสองคนพูดคุยกัน หรือการสนทนากันภายในกลุ่ม ซึ่งจะมีมารยาทในวงสนทนาที่เราต้องเรียนรู้ เพื่อไม่เป็นการทำให้ผู้ฟังของเรารู้สึกไม่ดี หรือไม่สบายใจได้ โดยจะมีมารยาทที่เราควรรู้ ดังนี้

  • ผู้พูด และผู้ฟังต้องมีความพึงพอใจในเรื่องที่จะพูดร่วมกัน

มารยาทในข้อแรกคือการที่เรากับคู่สนทนาจะต้องมีความพึงพอใจในเรื่องที่จะพูดร่วมกัน เพราะถ้าเราพูดเรื่องที่ตนเองอยากพูดอยู่ฝ่ายเดียวโดยไม่สนใจอีกฝ่ายก็จะดูเป็นการเสียมารยาท เช่น ถ้าเราอยากพูดถึงหนังที่เราเพิ่งจะไปดูมา แต่เพื่อนของเราเป็นคนที่ไม่ชอบดูหนังเราก็อาจจะหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ แล้วเปลี่ยนไปคุยเรื่องที่เรา และเพื่อนสนใจร่วมกันจะดีกว่า

  • เปลี่ยนจากสถานะผู้พูด มาเป็นผู้ฟังบ้าง

หลังจากที่เราได้เรื่องที่จะพูดคุยร่วมกันแล้ว มารยาทข้อต่อมาที่ควรทำ คือ การเปลี่ยนเป็นคนฟังบ้าง เราไม่ควรพูดเรื่องของตัวเองมากจนเกินไป หรือพูดเรื่องนั้นอยู่เพียงฝ่ายเดียว ควรเว้นจังหวะให้เพื่อนของเราได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้นด้วย และเราก็ต้องรับฟังอย่างตั้งใจเช่นกัน

  • เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น

เมื่อเราได้รับบทเป็นผู้ฟังแล้วสิ่งที่ต้องทำคือ การเคารพความคิดเห็นของผู้ที่คุยกับเราด้วย เช่น ถ้าเรากับเพื่อน ๆ กำลังพูดคุยกันเรื่องวิชาที่เรารู้สึกว่าเรียนยาก หรือเรียนง่าย แล้วมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เราก็ต้องเคารพความคิดเห็นของเพื่อน และไม่ควรไปบังคับให้เพื่อนคิด หรือรู้สึกเหมือนกับเราอยู่ฝ่ายเดียว

  • ไม่พูดออกนอกเรื่อง หรือนอกประเด็น

มารยาทข้อต่อมาเราควรจะพูดให้ตรงประเด็น หรือพูดให้สอดคล้องกับหัวข้อที่เรากำลังคุยกันอยู่  เช่น ถ้าเพื่อน ๆ ของเรากำลังพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการไปทัศนศึกษา แต่เรากลับพูดออกนอกเรื่องก็อาจจะทำให้เพื่อน ของเรารู้สึกไม่พอใจ หรือหลุดออกจากประเด็นที่คุยกันอยู่ก็เป็นได้

  • ไม่พูดแทรกในระหว่างที่คนอื่นกำลังพูด

มารยาทข้อนี้เป็นสิ่งที่ควรมี และพึงปฏิบัติทั้งการพูด และการฟัง เพราะถ้าเราพูดแทรกขึ้นมาในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดไม่จบ จะถือว่าเสียมารยาทมาก ๆ และอาจทำให้ผู้ที่กำลังพูดอยู่เสียสมาธิจนไม่สามารถพูดต่อได้ ดังนั้น เราควรรอให้อีกฝ่ายพูดจบแล้วเราจึงค่อยพูดขึ้นมาแทน

2. มารยาทการพูดในที่สาธารณะ

สำหรับการพูดในที่สาธารณะจำเป็นที่จะต้องรักษามารยาทให้มากกว่าการพูดระหว่างบุคคล เนื่องจากเป็นการพูดในสถานที่ที่เปิดกว้าง มีผู้ฟังที่แตกต่างกันทั้งทางอายุ ระดับการศึกษา ไปจนถึงมีความรู้ ความเข้าในเรื่องที่เราจะพูดไม่เท่ากัน โดยจะมีมารยาทที่เราควรรู้ ดังนี้

  • การแต่งกายให้สุภาพ ถูกกาลเทศะ

เมื่อเราต้องไปพูดตามสถานที่ต่าง ๆ นอกจากที่เราจะต้องศึกษากฎระเบียบ หรือข้อปฏิบัติของสถานที่นั้น ๆ แล้ว ก็ยังต้องศึกษาลักษณะของงานที่เราจะไปพูด เพื่อจะได้แต่งตัวตามรูปแบบงาน ตามความเหมาะสมของสถานที่ หรือเหมาะสมกับช่วงเวลาที่พูดด้วย

  • ควรแสดงความเคารพต่อผู้ฟังก่อนจะเริ่มพูด

การเริ่มกล่าวทักทายผู้ฟัง หรือเกริ่นนำผู้ฟังเข้าสู่เรื่องที่เรากำลังจะพูดนั้นนับว่าเป็นมารยาทสากลที่ผู้พูดควรจดจำ และปฏิบัติทุกครั้ง เช่น เวลาที่เราจะนำเสนองานหน้าชั้นเรียนเราควรยกมือไหว้คุณครู สวัสดีเพื่อน ๆ หรือเรามักจะได้ยินคำกล่าวตอนเริ่มนำเสนอรายงานว่า เรียนคุณครูที่เคารพ และสวัสดีเพื่อน ๆ ที่น่ารักทุกคน ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้อง และแสดงถึงมารยาทที่ดี

  • พูดให้พอดีกับเวลาที่กำหนด

เมื่อเราต้องพูดในงานที่มีระยะเวลากำหนดไว้ เราควรจะฝึกซ้อม และพยายามพูดเนื้อหาของเราให้พอดีกับเวลาที่กำหนด เป็นข้อที่สำคัญมากเมื่อเราต้องไปพูดในงานที่มีคนอื่นรอพูดต่อจากเรา หรือมีพิธีการอื่น ๆ ทีต้องดำเนินไปตามเวลา ถ้าเราพูดเลยเวลาที่กำหนดก็จะไปกระทบกับเวลาของผู้อื่นด้วย

  • ไม่พูดพาดพิงถึงบุคคลอื่น

มารยาทในการพูดข้อต่อมา เวลาที่เรากำลังพูดเนื้อหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่เราไม่ควรกล่าวพาดพิง หรือกล่าวถึงเรื่องของผู้อื่น เพราะจะถือเป็นการไม่ให้เกียรติบุคคลที่เรากำลังกล่าวถึง

  • อย่าแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ

พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้พูดในที่นี้จะหมายถึง การกระทำที่จะส่งผลให้คนฟังรู้สึกไม่ดี หรือไม่พอใจกับสิ่งที่เรากำลังทำ เช่น การตะโกนใส่ผู้ฟัง  การแสดงท่าทางไม่พอใจกับเรื่องที่กำลังพูด หรือด่าทอผู้ฟังขณะที่พูด เพราะเป็นพฤติกรรมไม่สุภาพ และไม่สมควรทำอย่างยิ่งเมื่อต้องออกไปพูดต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก

  • ไม่พูดคำหยาบคาย หรือพูดจาไม่สุภาพ

มารยาทข้อนี้ก็สำคัญไม่แพ้ข้ออื่น ๆ เลย นั่นคือการควรควบคุมถ้อยคำ หรือสำนวนที่เราจะใช้พูดต่อหน้าที่สาธารณะไม่ให้มีคำหยาบคาย หรือคำพูดที่ไม่สุภาพ เพราะจะทำให้คนที่ฟังรู้สึกไม่ดี และทำให้เรื่องที่เราพูดดูไม่น่าฟังขึ้นมาทันที

มารยาทในการสนทนากับผู้อื่น