ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

เรื่องสั้นเป็นสื่อกลางแสดงความคิดและความรู้สึกที่ดีเยี่ยมสำหรับนักเขียนหลายท่าน ขณะที่นวนิยายอาจเป็นงานที่ใหญ่และยาก แต่เรื่องสั้นนั้นเป็นงานที่ใครๆ ก็สามารถเรียงร้อยถ้อยคำ และที่สำคัญที่สุดคือเขียนให้ “เสร็จ”ได้ อย่างไรก็ตามนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องสั้นนั้นเขียนง่ายหรือไม่มีความงดงามและคุณค่าเท่านวนิยาย การเขียนเรื่องสั้นได้ก็ต้องฝึก อดทน และใช้จินตนาการเช่นกัน ถ้าทำได้ ก็สามารถเขียนเรื่องสั้นของตนเองขึ้นมาได้สำเร็จและอาจกลายเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงคนต่อไปก็ได้

  1. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    1

    รวบรวมความคิดเพื่อเขียนเรื่อง. แรงบันดาลใจอาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ฉะนั้นจึงควรมีสมุดพกติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อเกิดความคิดอะไรบางอย่างที่สามารถนำมาใช้เขียนเรื่องสั้นได้ จะได้จดบันทึกเอาไว้

    • ส่วนใหญ่แล้วเราจะนึกถึงข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ (เหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ รอบตัวเราที่สามารถนำมาสร้างเป็นโครงเรื่อง ชื่อหรือรูปลักษณ์ของตัวละคร เป็นต้น) บางครั้งเราก็โชคดีเหมือนกันที่พบข้อมูลเหมาะที่จะเขียนเป็นเรื่องสั้นและเรื่องราวต่างๆ ก็จะเปิดเผยให้เรารับรู้ภายในสองนาที
    • ถ้ายังหาแรงบันดาลใจในการเขียนไม่ได้หรือถ้าเราต้องรีบเขียนออกมาให้เร็วที่สุด (อาจต้องรีบเขียนส่งครู) ลองระดมความคิดดูก่อน แต่ถ้าเราคิดอะไรไม่ออกเลย อาจต้องปรึกษาครอบครัวและเพื่อนเผื่อจะได้แรงบันดาลใจจากพวกเขา
    • ประสบการณ์ช่วยให้เราสร้างโครงเรื่องดีๆ ได้จริงๆ เรื่องลี้ลับมากมายของ Isaac Asimov ก็มาจากการประสบพบเจอเหตุการณ์ต่างๆ
    • ถ้าคิดอะไรไม่ออกเลย ให้เอาโครงเรื่องต่างๆ มาผสมกัน สร้างเรื่องโดยที่เหตุการณ์ของเรื่องนั้นไม่จำเป็นต้องมาจากความจริงเสมอไปก็ได้
    • ถ้าได้หัวข้อที่จะเขียนแล้ว ก็อย่าเอาแต่นึกถึงความหมายของหัวข้อนั้นตามตัวอักษร ตัวอย่างเช่น ถ้าหัวข้อคือ "ประตู" ให้เรานึกถึงหัวข้อนี้ในความหมายเชิงเปรียบเทียบดู ประตูที่เราจะเขียนถึงนี้อาจเป็นประตูที่เปิดความคิดเรา หรือเป็นหนังสือที่สามารถเปิดออกไปสู่โลกใบอื่น หรือประตูนั้นอาจเป็นประตูที่พาเราไปโลกอนาคตก็ได้ พยายามมองหัวข้อในมุมต่างๆ จะได้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

  2. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    2

    นึกถึงองค์ประกอบของเรื่องสั้น. หลังจากได้แนวคิดแล้ว ให้เรานึกถึงองค์ประกอบของเรื่องสั้นก่อนที่จะเขียนออกมา องค์ประกอบของเรื่องสั้นมีดังต่อไปนี้

    • เหตุการณ์ย้อนหลัง : เริ่มจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่เรื่องราวของเราเริ่มต้น
    • บทสนทนา : การสนทนาระหว่างตัวละครหรือบทพูดเดี่ยว
    • การดำเนินเรื่อง : เริ่มด้วยมีเหตุการณ์อะไรสักอย่างเกิดขึ้นหรือตัวละครของเราทำอะไรสักอย่าง
    • บทนำ : แนะนำตัวละคร ฉากท้องเรื่อง เวลา สภาพอากาศ เป็นต้น
    • การเริ่มต้นเหตุการณ์ : จุดเริ่มเต้นของเหตุการณ์ที่นำไปสู่การพัฒนาของเหตุการณ์
    • การพัฒนาเหตุการณ์ : เหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่นำไปสู่จุดสูงสุดหรือจุดพลิกผัน
    • จุดสูงสุด : เป็นจุดที่เข้มข้นที่สุดหรือจุดพลิกผันของเรื่อง
    • การคลี่คลายเหตุการณ์ : เรื่องราวเริ่มเข้าสู่บทสรุป
    • จบแบบทิ้งให้ผู้อ่านสงสัย : อย่าเพิ่งเขียนให้จบและอย่าบอกผู้อ่านว่าตอนสุดท้ายเกิดอะไรขึ้น ปล่อยให้ผู้อ่านไปจินตนาการกันเอาเอง วิธีนี้มีประโยชน์ในตอนที่เราต้องส่งงานและไม่มีเวลาเขียนเรื่องให้จบ
    • แก้ปมของเรื่อง : จบเรื่องราวอย่างเป็นที่น่าพอใจโดยที่ความขัดแย้งหลักได้รับการคลี่คลายหรือไม่ก็ได้! เราไม่ต้องเขียนเรื่องสั้นตามลำดับ ถ้าคิดบทสรุปดีๆ ออกก่อน ก็ให้เขียนออกมาก่อน แล้วใช้ความคิดแรกเริ่มนี้มาเขียนย้อนกลับหลังหรือเขียนไปข้างหน้า (ความคิดแรกเริ่มอาจเป็นหรือไม่เป็นจุดเริ่มต้นก็ได้) ถามตนเองว่า "เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์นี้" "เหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป"

  3. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    3

    หาแรงบันดาลใจจากผู้คนในชีวิตจริง. ถ้าเราไม่ค่อยเข้าใจคุณลักษณะของตัวละคร ให้ลองหันมามองคนในชีวิตจริง เราอาจยืมคุณลักษณะต่างๆ มาจากคนที่เรารู้จักหรือแม้แต่คนแปลกหน้าที่เราสังเกตเห็นก็ได้

    • ตัวอย่างเช่น เราอาจสังเกตเห็นว่าบางคนชอบดื่มกาแฟเสมอ บางคนชอบคุยเสียงดังมาก บางคนเอาแต่นั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ตลอดเวลา เป็นต้น การสังเกตพฤติกรรมคนจะทำให้เราสร้างตัวละครที่น่าสนใจ ตัวละครของเราอาจมีคุณลักษณะของผู้คนผสมปนเปกันไปก็ได้

  4. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    4

    กำหนดตัวละคร. ถ้าอยากให้เรื่องน่าเชื่อถือ ตัวละครต้องสมจริงและเหมือนคนจริงๆ การสร้างตัวละครให้มีความน่าสนใจและเหมือนคนจริงๆ นั้นยาก แต่ก็ยังมีกลเม็ดสองสามอย่างที่นำมาใช้สร้าง "ตัวละครที่เหมือนคนจริง" ให้กับเรื่องของเราได้

    • เขียนรายชื่อตัวละครและเขียนคุณลักษณะทุกอย่างที่คิดออก เขียนตั้งแต่ตำแหน่งในวงออร์เคสตราของตัวละครแต่ละตัวไปจนถึงสีที่แต่ละคนชอบ เขียนแรงจูงใจสำคัญของตัวละครแต่ละตัวไปจนถึงอาหารที่ชื่นชอบ มีสำเนียงการพูดเป็นอย่างไร มีกิริยาท่าทางอันแปลกประหลาดบ้างไหม อาจไม่ต้องใส่ข้อมูลทุกอย่างนี้ในเนื้อเรื่องก็ได้ แต่ยิ่งรู้จักตัวละครมากเท่าไร ตัวละครก็ยิ่งมีชีวิตชีวา ทั้งเราและคนอ่านก็จะสนุกไปกับตัวละครด้วย
    • บุคลิกภาพของตัวละครจะต้องไม่สมบูรณ์แบบ ตัวละครทุกตัวต้องมีข้อเสีย ปัญหา ข้อบกพร่อง และเรื่องวิตกกังวลต่างๆ เราอาจคิดว่าผู้คนอาจไม่อยากอ่านเรื่องสั้นที่ตัวละครมีข้อบกพร่องมากมาย แต่ตัวละครนั้นก็ไม่อาจเหนือกว่ามนุษย์จริง แบทแมนคงจะไม่เป็นอัศวินรัตติกาล ถ้าเขาไม่มีปมในวัยเด็ก!
    • นำปัญหาของบุคคลจริงมาเป็นปัญหาของตัวละครเพื่อความสมจริง เมื่อพยายามคิดหาข้อบกพร่องให้กับตัวละคร เราต้องไม่ให้ตัวละครมีปัญหาหนักและแปลกพิสดารมากนัก (ถึงแม้เราจะสามารถให้มีได้ก็ตาม) พยายามให้ตัวละครมีปัญหาที่เรารู้จักคุ้นเคย ตัวอย่างเช่น ตัวละครอาจมีปัญหาเรื่องอารมณ์ร้อน กลัวน้ำ ขี้เหงา ไม่ชอบอยู่ที่คนเยอะ สูบบุหรี่จัด เป็นต้น ปัญหาต่างๆ เหล่านี้อาจแก้ไขได้ในภายหลัง

  5. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    5

    จำกัดขอบเขตให้อยู่ในรูปแบบเรื่องสั้น. นวนิยายอาจมีการดำเนินเรื่องที่ยาวนาน มีโครงเรื่องย่อยมากมาย มีฉากหลายฉาก และมีกองทัพตัวประกอบ เหตุการณ์หลักของเรื่องสั้นควรเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ (เป็นวันหรือแม้แต่เป็นนาที) และโดยปกติเราจะไม่กำหนดโครงเรื่องเกินหนึ่งโครงเรื่อง ตัวละครหลักไม่เกินสองหรือสามตัว และมีฉากไม่เกินหนึ่งฉาก ถ้าเรื่องของเรามีองค์ประกอบเหล่านี้มากเกินไป อาจต้องเปลี่ยนไปเขียนนวนิยายขนาดสั้นหรือนวนิยายแทน

  6. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    6

    กำหนดคนเล่าเรื่อง. มีมุมมองในการเล่าเรื่องสามแบบคือ บุคคลที่หนึ่ง ("ฉัน") บุคคลที่สอง ("คุณ") และบุคคลที่สาม ("เขา" หรือ "เธอ") ถ้าเล่าเรื่องจากมุมมองของบุคคลที่หนึ่ง ตัวละครจะเป็นผู้เล่าเรื่อง ถ้าเล่าเรื่องจากมุมมองบุคคลที่สอง ผู้อ่านจะเป็นผู้เล่าเรื่อง และถ้าเล่าเรื่องจากมุมมองของบุคคลที่สาม ผู้บรรยายจะเป็นผู้เล่าเรื่อง

    • พึงระลึกไว้ว่าผู้บรรยายซึ่งเป็นบุคคลที่หนึ่งจะบอกได้แค่เรื่องที่ตนเองนั้นรู้เท่านั้น (รู้แค่สิ่งที่ตนเองเห็นหรือเรื่องที่ได้ยินมาจากคนอื่น) ขณะที่ผู้บรรยายซึ่งเป็นบุคคลที่สามจะรู้ทุกอย่างและเห็นว่าตัวละครทุกตัวคิดอะไรอยู่ (รู้ทุกอย่างรวมทั้งความคิด) หรือเล่าได้แค่สิ่งที่เห็นจากตัวละครเท่านั้น (เล่าเฉพาะสิ่งที่ตนเองเห็น แต่ไม่รู้ว่าตัวละครคิดอะไรอยู่)
    • เราอาจใช้การบรรยายเรื่องคละแบบกันไปก็ได้ ตัวอย่างเช่น ในตอนแรกอาจใช้การบรรยายเรื่องแบบบุคคลที่หนึ่งและอีกตอนหนึ่งใช้การบรรยายแบบบุคคลที่สาม หรืออาจใช้การบรรยายเรื่องมากกว่าหนึ่งแบบก็ได้ ตัวอย่างของการบรรยายเรื่องที่ดีหาอ่านได้จากเรื่องราโชมอนซึ่งเขียนโดย อะกุตะงะวะ ริวโนะซุเกะ[1]เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รับการดัดแปลเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันโดยอะกิระ คุโระซะวะ

  7. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    7

    จัดระเบียบความคิด. หลังจากเตรียมองค์ประกอบพื้นฐานของเรื่องเรียบร้อยแล้ว ให้เขียนแผนผังแสดงลำดับเหตุการณ์ จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าเหตุการณ์ใดควรเกิดขึ้นเมื่อไร

    • อย่างน้อยที่สุดเรื่องสั้นควรประกอบด้วยการเริ่มต้นเหตุการณ์ การพัฒนาเหตุการณ์ จุดสูงสุด การคลี่คลายเหตุการณ์ และการแก้ปมของเรื่อง อาจวาดหรือเขียนแผนภาพพร้อมคำอธิบายแบบง่ายๆ ว่าควรเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในองค์ประกอบเหล่านี้ การทำแบบนี้จะช่วยให้เราไม่เขียนออกนอกเรื่องและปรับเปลี่ยนเรื่องได้ง่าย ฉะนั้นเราจึงสามารถรักษาความลื่นไหลของเนื้อเรื่องเอาไว้ได้

  8. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    8

    เริ่มเขียน. เมื่อร่างโครงเรื่องและกำหนดตัวละครไว้เรียบร้อยแล้ว เวลาลงมือเขียนจริงก็เหลือแค่เลือกใช้ถ้อยคำให้เหมาะสม

    • แต่โดยทั่วไปแล้วการเขียนนั้นเป็นงานที่ยาก เราอาจไม่รู้จักตัวละครและโครงเรื่องดีอย่างที่เราคิด แต่ก็ไม่จำเป็นต้องรู้ดีก็ได้ เพราะในการเขียนจริงเราจะรู้เองว่าโครงเรื่องและตัวละครต้องการอะไร ถึงแม้เราจะทำให้โครงเรื่องและตัวละครมาถึงทางตันก็ตาม ฉะนั้นเวลาเขียนเรื่องควรมีร่างที่สองด้วย

  9. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    9

    ขึ้นต้นให้น่าสนใจ. หน้าแรกหรือประโยคแรกของงานเขียนควรทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจและอยากติดตาม

    • การเริ่มเข้าเรื่องเร็วนั้นสำคัญมากในการเขียนเรื่องสั้นเพราะเราไม่มีพื้นที่เขียนพอที่จะเล่าทุกอย่าง อย่าเสียพื้นที่เขียนไปกับการแนะนำตัวละครอย่างยืดยาวหรือการพรรณนาฉากที่ไม่น่าสนใจ เข้าเรื่องเลยและเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครและฉากทีละนิดขณะที่ดำเนินเรื่อง

  10. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    10

    เขียนไปเรื่อยๆ. เราอาจท้อแท้และพบอุปสรรคบ้างกว่าจะเขียนเรื่องจบ แต่เราก็ต้องพยายามผ่านสิ่งเหล่านั้นไปให้ได้ หาเวลาเขียนและเขียนทุกวัน วันละหน้า ถึงแม้อาจจบด้วยการขยำสิ่งที่เขียนในวันก่อนทิ้งไป แต่เราก็ได้เขียนและคิดเรื่องราว รวมทั้งตั้งหน้าตั้งตาเขียนต่อไปอย่างสม่ำเสมอ

    • เข้าร่วมประกวดการเขียนเรื่องสั้น อาจลองสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตว่ามีการประกวดเขียนเรื่องสั้นที่ไหนบ้างและลองเข้าร่วมประกวดดู [2] โดยอย่าลืมอ่านกฎกติกาในการเข้าประกวดและกำหนดระยะเวลาในการส่งผลงานด้วย ไม่ต้องพะวงว่าจะต้องเขียนออกมาได้ดีและโดดเด่น ให้คิดเสียว่านี้เป็นโอกาสที่จะได้ฝึกฝนการเขียนเรื่องสั้น ฉะนั้นลองสืบค้นดูสิว่าช่วงนี้มีการประกวดเขียนเรื่องสั้นที่ใดบ้าง

  11. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    11

    ปล่อยให้เรื่องดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น. ขณะที่เขียนเรื่อง เราอาจต้องการปรับเปลี่ยนโครงเรื่องให้มีทิศทางแตกต่างไปจากที่เคยวางไว้ หรืออาจอยากเปลี่ยนแปลงตัวละครไปจากเดิมหรือเอาตัวละครออก เมื่อเขียนเรื่องไปสักพักและใคร่ครวญแล้วเห็นว่าการปรับเปลี่ยนให้แตกต่างไปจากเดิมจะทำให้เนื้อเรื่องออกมาดีขึ้น ก็อย่ากลัวที่จะขีดฆ่าแผนการที่วางไว้เดิม

    โฆษณา

  1. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    1

    ตรวจทานและแก้ไข. เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ให้กลับมาอ่านและแก้ไขความผิดพลาดใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ แก้ไขความไม่สมเหตุสมผลของเนื้อหาและแก้ไขส่วนที่มีความหมายผิด โดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องตรวจให้แน่ใจว่าเนื้อเรื่องลื่นไหล ตัวละครและปัญหาขอตัวละครได้รับการกล่าวถึงและแก้ไขอย่างเหมาะสม.

    • ถ้ามีเวลาให้ผละจากเรื่องสั้นที่เขียนเสร็จสมบูรณ์แล้วไปสองสามวันหรือสองสามสัปดาห์ก่อนกลับมาตรวจแก้ การเว้นระยะจากการง่วนอยู่กับเรื่องสั้นไปสักพักจะช่วยให้เราเห็นอะไรได้ชัดเจนขึ้นเมื่อมาอ่านและตรวจดู

  2. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    2

    ถามความเห็นจากผู้อื่น. ส่งเรื่องสั้นที่ตรวจและแก้ไขแล้วของเราให้เพื่อนที่ไว้ใจหรือญาติพี่น้องเพื่อให้ช่วยตรวจ แก้ไขอีกครั้งหนึ่ง และให้คำแนะนำ ให้พวกเขารู้ว่าเราต้องการความเห็นจากใจจริงต่อผลงานของเรา ให้เวลาพวกเขาอ่านและใคร่ครวญ ควรให้สำเนาต้นฉบับไว้ด้วยเพื่อที่พวกเขาจะได้เขียนจุดที่ต้องแก้ไขและความเห็นลงไปได้

    • ต้องฟังทุกอย่างที่นักวิจารณ์เหล่านี้บอกเรา ไม่ใช่แค่ในส่วนที่เราอยากได้ยินเท่านั้น ขอบคุณที่พวกเขาอ่านเรื่องที่เราเขียนและอย่าไปโต้เถียงพวกเขา
    • รวบรวมจุดที่ต้องแก้ไข จุดที่ต้องปรับปรุง และนำคำแนะนำที่เรารู้สึกว่ามีเหตุผลมาใช้ในการแก้ไขและปรับปรุงงานเขียนให้ดียิ่งขึ้น ถ้าเราใคร่ครวญแล้วว่าคำวิจารณ์นั้นสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์ เราก็สามารถนำคำวิจารณ์นั้นมาพัฒนางานเขียนได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของผู้อื่นทุกอย่าง เพราะคำแนะนำบางอย่างก็อาจเป็นคำแนะนำที่ไม่ดีนัก นี้เป็นเรื่องที่เราเขียน ฉะนั้นเราต้องเป็นคนตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

  3. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    3

    อย่ายอมแพ้. อาจมีบางครั้งที่เราคับข้องใจ หากเขียนออกมาไม่ได้อย่างใจต้องการ เราอาจหมดกำลังใจเขียน โกรธตัวละครบางตัว และรู้สึกเศร้า หรือแม้แต่รู้สึกผิดขึ้นมาเล็กน้อยที่ตัวละครซึ่งเราชอบตายหรือถูกฆ่า

    • ในบางครั้งเราอาจสงสัยว่าตนเองมีทักษะในการเขียนหรือไม่ การเกิดความรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เราอาจรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าที่จะเสียเวลาเขียนต่อและคิดว่าตนเองน่าจะไปทำอย่างอื่นมากกว่า เมื่อเกิดความคิดแบบนี้ขึ้น เราก็อาจหมดกำลังใจที่จะเขียนต่อไปและอาจเลิกเขียนในทันที
    • งานที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งของนักเขียนคือการยับยั้งความรู้สึกต่างๆ และเขียนต่อไป เมื่อเริ่มรู้สึกลังเล สงสัย เหนื่อย หรือเบื่อ ให้ "หยุดเขียน" ! ลุกขึ้น ไปเดินเล่น กินของว่าง ดูทีวี หรือทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เมื่อเรากลับมานั่งเขียนอีกครั้ง เราจะทำด้วยความสดชื่นแจ่มใส แต่ถ้าเรายังไม่อยากเขียนต่ออยู่ดี ลองพูดถึงข้อดีของเรื่องสั้นที่เราเขียน อะไรก็ได้ ข้อดีเหล่านั้นอาจเป็น ข้อความดีๆ ข้อความหนึ่งที่เราเขียน บทสนทนาที่ได้คิดและกำหนดมาเป็นอย่างดี มีตัวละครน่าสนใจ จากนั้นจึงแสดงความยินดีกับตัวเอง เรากำลังทำบางสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้
    • ถ้ามีใครรู้ว่าเรากำลังเขียนเรื่องสั้นอยู่และเคยอ่านเรื่องสั้นของเรามาแล้ว คนเหล่านั้นอาจเป็นกำลังใจให้เราได้ บอกตนเองว่าเราจะเขียนเรื่องให้จบเพราะเราอยากเขียน เรื่องสั้นของเราอาจไม่ใช่เรื่องที่เขียนออกมาดีที่สุด อาจมีเรื่องสั้นที่แต่งดีกว่า แต่ถ้าเรามีเป้าหมายว่าจะเขียนให้เสร็จ เราก็ต้องทำตามเป้าหมายที่วางไว้

  4. ตัวอย่าง งานเขียนเรื่องสั้น

    4

    อ่านให้มาก! ไม่มีอะไรสามารถช่วยให้เราเรียนรู้วิธีการเขียนเรื่องสั้นดีๆ ได้เท่า "การอ่าน" เรื่องสั้นดีๆ ลองสังเกตลีลาการเขียนและวิธีการที่นักเขียนแต่ละท่านใช้ในการเขียนเรื่องสั้นดูสิ

    • การอ่านผลงานของนักเขียนหลายคนและศึกษาลีลาการเขียนที่หลากหลายจะช่วยให้รู้วิธีนำ "น้ำเสียง" มาใช้กับเรื่องสั้นแต่ละเรื่องที่เราเขียนและเพิ่มสีสันให้กับเรื่องของเรา ลองศึกษาดูสิว่านักเขียนเหล่านี้พัฒนาตัวละคร เขียนบทสนทนา และประกอบโครงเรื่องของตนอย่างไร หนังสือที่แนะนำให้อ่านมีดังนี้
    • "I, Robot" เขียนโดย Issac Asimov
    • "Steps" เขียนโดย Jerzy Kosinski
    • "The Celebrated Jumping Frog of Calaveras County" เขียนโดย Mark Twain
    • "The Secret Life of Walter Mitty"เขียนโดย James Thurber
    • "A Sound of Thunder" เขียนโดย Ray Bradbury
    • "Three Questions" เขียนโดย Leo Tolstoy
    • "Mr Gum and the Power Crystals" เขียนโดย Andy Stanton เป็นเรื่องสั้นสำหรับเด็ก (เรื่องนี้เป็นพื้นฐาน)
    • "Brokeback Mountain" เขียนโดย Annie Proulx
    • หมายเหตุ : มีเรื่องสั้นหลายเรื่องถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และประสบความสำเร็จหรือกลายเป็นหลักอ้างอิงทางวัฒนธรรมที่คุ้นเคยกันดี ตัวอย่างเช่น "A Sound of Thunder" เรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำมากที่สุดเป็นเรื่องสั้นที่ทำให้เรารู้จัก "ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก" เรื่องหลายเรื่องของ Philip K. Dick ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ต่างๆ เช่น Blade Runner (ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง "Do Androids Dream of Electric Sheep") Total Recall (ดัดแปลงจากเรื่องสั้น " We Can Remember It for You Wholesale ") Minority Report (ดัดแปลงจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน ชื่อภาพยนตร์ในภาษาไทยคือหน่วยสกัดอาชญากรรมล่าอนาคต) A Scanner Darkly (ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกัน) และอื่นๆ อีกมากมาย เราอาจลองหาเรื่องเหล่านี้มาอ่านเพื่อจะได้มีแนวคิดนำมาเขียนเรื่องสั้นได้

    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • พยายามสร้างตัวละครให้หลากหลาย ตัวละครตัวหนึ่งอาจมีความสุขตลอดเวลา ขณะที่อีกตัวหนึ่งอาจเศร้าซึมและเกรี้ยวกราดตลอดเวลา การสร้างบุคลิกภาพให้แตกต่างกันจะทำให้เรื่องดูน่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้อ่าน ถ้าเป็นเรา เราอยากอ่านเรื่องสั้นที่ตัวละครมีความหลากหลายหรือเรื่องสั้นที่ตัวละครมีบุคลิกภาพเหมือนกันไปหมดล่ะ
  • เราอาจเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตหรือเขียนจากจินตนาการของตนเองก็ได้ วิธีการที่จะเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตคือนึกถึงเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นไปแล้วและลองเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์นั้นให้น่าตื่นเต้นมากขึ้นตามแต่ที่ตนชอบ ตัวละครหลักของเราอาจมีต้นแบบมาจากใครสักคนที่เรารู้จัก แต่อย่าลืมว่าบุคคลในชีวิตจริงนั้นแตกต่างจากตัวละครในนิยาย
  • อย่าฝืนตนเองมากเกินไป ถ้าเราเริ่มเขียนไม่ไหวหรือคิดอะไรไม่ออก ให้หยุดเขียนไปก่อน อาจพักสักหนึ่งสัปดาห์หรือหนึ่งเดือนและลองไปทำกิจกรรมอื่นๆ จากนั้นกลับมาอ่านอีกครั้งและเกลาสิ่งที่เขียน การทำแบบนี้จะช่วยให้เรากลับมามีแรงเขียนอีกครั้ง อาจกลับมานั่งเขียนต่อหลังจากพักสองสามชั่วโมงหรือหลังจากหลับสนิทไปสักคืนหนึ่ง สมองจะแล่นมากขึ้นจนน่าประหลาดใจ!
  • คิดองค์ประกอบของเรื่องสั้นทุกอย่างให้ละเอียด ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลัก ฉาก ระยะเวลา ประเภท ตัวประกอบ คู่ปรับและความขัดแย้ง รวมทั้งโครงเรื่อง
  • ถ้าหากเราต้องการขีดฆ่าสิ่งที่เขียนไปแล้ว เราต้องแน่ใจว่าตนเองนั้นมีเหตุผลที่ดีจริงๆ ในการทำแบบนั้น ไม่ใช่การทำตามอารมณ์ ถ้าเราเกิดเขียนติดขัดขึ้นมาเป็นบางครั้งบางคราว พยายามเขียนต่อไปให้ได้ บางครั้งอาจเกิดความคิดดีๆ ที่เราอาจอยากเขียนมากกกว่า เราอาจเลือกแนวคิดใหม่มาเขียนเป็นเรื่องสั้นเรื่องใหม่ แต่ถ้าทำแบบนี้บ่อยๆ อาจกลายเป็นปัญหาได้ เพราะเราจะเริ่มเขียนเรื่องใหม่ทุกครั้งที่เกิดความคิดใหม่ๆ ทำให้เราได้เขียนเรื่องสั้นหลายเรื่อง แต่เขียนไม่จบสักเรื่อง
  • ถ้าคิดอะไรไม่ออก การฟังเพลงน่าช่วยได้ เราอาจได้แนวคิดจากเนื้อเพลงมาแต่งเป็นเรื่องสั้น
  • พัฒนาตัวละคร ให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวละครของเรา
  • ศึกษาค้นคว้า ถ้าเรากำหนดฉากในเรื่องสั้นว่าอยู่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ก็ต้องศึกษาค้นคว้าเรื่องความเป็นในครอบครัว การแต่งกาย แสลง และเรื่องอื่นๆ ของช่วงเวลาในยุคนั้น ถ้าพยายามเขียนโดยไม่มีความรู้ภูมิหลัง เรื่องที่เขียนออกมาก็จะไม่สมจริงและจะถูกผู้คนที่รู้จักยุคนั้นวิจารณ์เอาได้
  • พักบ้างเพื่อคลายความเครียดและช่วยกระบวนการคิดของตนเอง
  • คำนึงถึงประเภทของเรื่องตอนที่เรากำลังจะเขียน ถ้าประเภทของเรื่องสั้นไม่สามารถทำให้คิดโครงเรื่องออก ลองคิดถึงสิ่งที่เราต้องการให้อยู่ในเรื่องและเขียนโครงเรื่องจากแรงจูงใจของตัวละคร

โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าลืมตรวจสอบการสะกดคำและไวยากรณ์ แสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าเราเอาใจใส่ด้วยการให้อ่านเรื่องสั้นที่ปราศจากข้อผิดพลาด พยายามตรวจสอบตัวสะกดและไวยากรณ์ให้ถูกต้องก่อนส่งงานทุกครั้ง
  • ถ้าเราพยายามเสนอเรื่องของเราให้สำนักพิมพ์นำไปตีพิมพ์ แต่ถูกปฏิเสธ อย่าท้อแท้ การถูกปฏิเสธเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการก้าวเป็นนักเขียน บางครั้งก็มีคนตอบรับผลงาน บางครั้งก็มีคนปฏิเสธผลงาน แต่จงภูมิใจเถอะที่ตนเองพยายามเขียนเรื่องสั้นจนเสร็จและพยายามฝึกฝีมือไปเรื่อยๆ ถ้าเราชอบการเขียนจริงๆ
  • เรื่องสั้นก็เป็นงานเขียนประเภทหนึ่งที่เขียนยากมากที่สุด เราต้องมีองค์ประกอบครบทุกอย่างเช่นเดียวกับนิยาย (แนะนำตัวละคร สร้างปมขัดแย้ง พัฒนาตัวละคร แก้ปมขัดแย้ง) ภายในยี่สิบหรือสามสิบหน้า เมื่อรู้แบบนี้แล้วก็จะเห็นว่าการเขียนเรื่องสั้นก็ไม่ใช่งานง่ายๆ เช่นกัน
  • อย่าขี้เกียจเขียน อย่าจบเรื่องแบบปล่อยให้ผู้อ่านสับสน มึนงง การทิ้งให้ผู้อ่านสงสัยจะทำได้ก็ต่อเมื่อเรามีแผนจะเขียนเล่มที่สองเท่านั้นหรืออย่างในกรณีของเรื่องสั้น "We Can Remember It for You Wholesale" การจบแบบทิ้งให้ผู้อ่านสงสัยทำให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์
  • แนวคิดไม่มีลิขสิทธิ์ มีเพียงการแสดงความคิดเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีโครงเรื่องอีกมากมายให้เรานำมาใช้เขียน เราอาจยืมโครงเรื่องจากงานเขียนชิ้นเอกก็ได้ มีนักเขียนหลายคนทำแบบนี้เช่นกัน
  • อย่าทะนงตัวมากนักหลังจากเขียนเรื่องเสร็จแล้ว อย่าท้อแท้เมื่อพบกับความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะถ้าเราเสนอเรื่องเพื่อตีพิมพ์ ให้พยายามปล่อยวางความรู้สึกเหล่านี้
  • อย่าหยุดเขียนกลางคันและเขียนเรื่องใหม่โดยที่ยังเขียนเรื่องเดิมไม่เสร็จ

โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 44,304 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม