การ สัมภาษณ์ งาน ที่ ดี

วิธีสัมภาษณ์งานในบทความนี้ เราได้สรุปมาจากหนังสือ “8 มหาคำถามที่มนุษย์สมัครงานทุกคนต้องอ่าน” เขียนโดย คุณมาร์ค เหล่าถาวรวงศ์ เพราะเห็นว่าเป็นเทคนิคที่ใช้ได้จริง และที่สำคัญทีมงานของเรายังเคยสัมภาษณ์งานผ่านเพราะหนังสือเล่มนี้ด้วย!

ถ้าอยากได้เนื้อหาแบบจัดเต็ม อย่าลืมไปอุดหนุนกันได้ (ไม่ได้ค่าโฆษณานะจ๊ะ) ส่วนบทความนี้จะมีเทคนิคอะไรอยู่บ้างนั้น มาดูกันเลย…

วิธีตอบ 8 คำถามสุดหินที่คนสมัครงานต้องเจอ

1. แนะนำตัวเองให้ฟังหน่อย

1. เริ่มด้วยประสบการณ์การทำงาน

  • ไม่จำเป็นต้องแนะนำชื่อ นามสกุล และสถาบันการศึกษา อีกรอบ เพราะนั่นไม่ได้สร้างความประทับใจ หรือมีประโยชน์อะไร
  • เริ่มด้วยประสบการณ์การทำงานที่ตรงสายและเป็นประโยชน์ต่องานใหม่ บอกชื่อตำแหน่ง หน้าที่และขอบเขตงานที่ตรงกับงานใหม่ของคุณให้มากที่สุด
  • แนะนำให้ปรินท์ Job Description มาด้วย เพื่อจะได้เล่าประสบการณ์การทำงานให้ตรงกับที่บริษัทใหม่ต้องการ
  • หากตำแหน่งงานก่อนๆ น่าสนใจกว่า ก็สามารถหยิบมาพูดก่อนได้ เช่น “…ก่อนหน้าที่ผมจะทำงานที่บริษัท B ผมเคยเป็น Digital Marketing ที่บริษัท A มาก่อน 2 ปี ซึ่งหน้าที่หลักๆ ก็คือ…”

สวัสดีครับ ตอนนี้ผมเป็น Digital Marketing Manager อยู่ที่บริษัท B ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา หน้าที่ของผมคือ การประสานงานกับเอเจนซี่เพื่อวาง Online Strategy ให้เว็บไซต์ E-commerce ของบริษัท…

ตัวอย่าง

2. สร้างความประทับใจด้วยตัวอย่างความสำเร็จ

  • ใช้คำถามนี้เป็นโอกาสสร้าง First Impression หรือความประทับใจให้ผู้สัมภาษณ์สนใจตัวคุณ
  • แค่พูดถึงประสบการณ์อาจจะดูน่าเบื่อไป ต้องโน้มน้าวให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราเจ๋งจริง และเหนือกว่าคนอื่นๆ ด้วยความสำเร็จชิ้นโบว์แดงที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทใหม่ เช่น ปิดยอดได้ 40 ล้าน ทำเคมเปญได้รางวัลระดับประเทศ ฯลฯ
  • สำหรับเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงานหรือความสำเร็จ สามารถยกตัวอย่างกิจกรรมที่ทำสมัยเรียนได้ ถ้าจะให้ดี ก็ลองทำ Portfolio ขึ้นมาเพื่อสมัครงานนี้โดยเฉพาะเลย เพราะแสดงให้เห็นความตั้งใจที่จะทำงานนี้จริงๆ

ปลายปีที่ผ่านมา ผมและทีมทำให้ยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้นถึง 65% และสามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้น 35%

ตัวอย่าง

3. ดึงความสนใจด้วยการถาม

  • ควรสังเกตสีหน้าท่าทางผู้สัมภาษณ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าเขาก้มหน้าทำงานอื่น ไม่มองหน้าคุณเลย แสดงว่าเขาไม่ค่อยสนใจคุณเท่าไร วิธีดึงความสนใจเขากลับมาคือ ให้ถามคำถามเล็กๆ กลับไป

วันนี้ผมเอาตัวอย่าง Strategy ที่ทำไว้มาด้วย พี่ประยุทธ์อยากดูไหมครับ ว่าผมทำยังไงถึงทำให้ยอดผู้เข้าชมเพิ่มมากขนาดนี้

ตัวอย่าง

สิ่งที่ควรทำ

เข้าเรื่องทันที ด้วยประสบการณ์ทำงาน

สร้างความประทับใจด้วยความสำเร็จ

ถามกลับบ้างเพื่อดึงความสนใจ

ตอบให้กระชับ ภายใน 1-2 นาที

สิ่งที่ไม่ควรทำ

บอกข้อมูลที่ผู้สัมภาษณ์รู้อยู่แล้ว

ยกตัวอย่างความสำเร็จที่ไม่เกี่ยวข้อง

ปล่อยให้ผู้สัมภาษณ์ถามอยู่ฝ่ายเดียว

ตอบสั้น หรือยาวเกินไป

เคล็ดลับ

วิธีสัมภาษณ์งานที่ดี เราควรถามคำถามเล็กๆ กลับไปบ้างเพื่อดึงความสนใจของผู้สัมภาษณ์ การถามช่วยให้บทสนทนาสนุกขึ้น ลดบรรยากาศตึงเครียด ทำให้เราดูเป็นคนอัธยาศรัยดี และไม่โดนต้อนถามอยู่ฝ่ายเดียว

คำถามที่ใช้วิธีตอบคล้ายๆ กัน
– เล่าเกี่ยวกับงานปัจจุบันให้ฟังหน่อย
– งานที่บริษัทเก่าเป็นยังไงบ้าง

2. รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับบริษัทของเรา

1. รวบรวมข้อมูลก่อนสัมภาษณ์

  • ถือโอกาสที่บริษัทติดต่อนัดสัมภาษณ์ สอบถามรายละเอียดกับ HR ไปเลยว่า จะมีใครเข้าร่วมบ้าง หัวหน้าแผนกชื่ออะไร ตำแหน่งที่เราสมัครไปมีกี่คน ฯลฯ

2. อ้างอิงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเจาะลึก

  • ข้อมูลพื้นๆ ใครก็หาได้ คุณควรแสดงความโดดเด่นด้วยการหาข้อมูลที่ลึกกว่าคนอื่นๆ โดยเริ่มจากช่องทางการติดต่อของบริษัทหรือหัวหน้างาน เช่น เว็บไซต์ Facebook LinkedIn ข่าวประชาสัมพันธ์ ฯลฯ
  • ถึงจะบอกให้หาข้อมูลละเอียดแค่ไหน แต่เราก็ไม่อาจรู้ดีเท่าคนในบริษัทเอง เราจึงควรออกตัวด้วยประโยคอย่างเช่น “ถ้าผมพูดผิดตรงไหน ช่วยแก้ให้ได้เลยนะครับ” เพื่อป้องกันไม่ให้เขาหาว่าเรารู้ไม่จริงแล้วมาพูดได้

…เท่าที่ผมลองไปหาข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัทมา ถ้าผิดตรงไหน แก้ให้ได้เลยนะครับ ที่นี่ถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศ และมีสินค้าที่ครอบคลุมทุกตลาด…

ตัวอย่าง

3. ชมเขาสักหน่อย

  • ลองหาจุดเด่นของบริษัทไม่ว่าจะเป็น รางวัล สินค้า เคมเปญการตลาด ฯลฯ แล้วชื่นชมเขาสักหน่อย จะทำให้ผู้สัมภาษณ์เปิดใจให้คุณมากขึ้น และแสดงให้เห็นว่าเราติดตามข้อมูลบริษัทจริงๆ
  • แต่ข้อควรระวังคือ ต้องชมแบบพอดีๆ ให้เป็นธรรมชาติ อย่าให้ฟังดูประจบจนเกินไป

…สินค้าของที่นี่มีหลายตัว แต่ที่เป็นตัวท็อปของตลาด น่าจะเป็น Product Z ตัวนี้ ผมเคยลองใช้ด้วย ถือว่าดีกว่ายี่ห้ออื่นๆ พอตัวเลย

ตัวอย่าง

4. ให้เขาเป็นคนเล่าแทน

  • อีกวิธีหนึ่งที่ดีคือ ให้เขาเป็นคนเล่าแทน หลังจากที่เราเล่าไปสักพัก แค่ให้เขารู้ว่าเราทำการบ้านมา อาจจะขอให้ผู้สัมภาษณ์อธิบายเพิ่มเติมได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้บทสนทนาไหลลื่นขึ้นด้วยการชมเขานิดๆ ไปในตัว ยกตัวอย่างเช่น

…พี่ทำงานที่นี่ แล้วก็มีประสบการณ์ด้านนี้มากกว่าผม เรื่องนี้อาจจะต้องให้พี่ช่วยอธิบายเพิ่มเติมหน่อยครับ

ตัวอย่าง

  • ถ้าเป็นไปได้ หาจังหวะชวนคุยเรื่องคู่แข่งด้วย ก็จะเน้นย้ำให้เห็นว่าเราติดตามข่าวสารวงการนี้อยู่เสมอ

…บริษัท S เป็นคู่แข่งหลักของที่นี่ใช่ไหมครับ ได้ข่าวว่ากลางปีจะเปิดตัวเว็บใหม่ ผมเห็น CEO เขาให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้จะรุกตลาดออนไลน์หนักมากๆ

ตัวอย่าง

สิ่งที่ควรทำ

รวบรวมข้อมูลผู้สัมภาษณ์ก่อน

หาข้อมูลบริษัทแบบเจาะลึก

ชมผู้สัมภาษณ์และบริษัทเล็กน้อย

ให้ผู้สัมภาษณ์เล่าแทน

ชวนคุยเรื่องคู่แข่ง

สิ่งที่ไม่ควรทำ

ไม่หาข้อมูลผู้สัมภาษณ์-บริษัทล่วงหน้า

เล่าแต่ข้อมูลพื้นๆ

ชมผู้สัมภาษณ์มากเกินไป

เคล็ดลับ

การสัมภาษณ์งานไม่ใช่ “การสอบสัมภาษณ์” จะเห็นว่า เราไม่แนะนำให้นั่งรอผู้สัมภาษณ์ป้อนคำถามให้ตอบอย่างเดียว แต่ต้องถามและชวนคุยกลับด้วย คิดซะว่า นี่คือการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ถ้าคุยกันถูกคอ ก็จะได้ทำงานร่วมกัน เราเองก็จะได้รู้ข้อมูลของบริษัทและนิสัยใจคอของเจ้านายด้วย

คำถามที่ใช้วิธีตอบคล้ายๆ กัน
– รู้จักบริษัทของเราได้ยังไง
– คิดว่าบริษัทของเราเป็นยังไงเมื่อเทียบกับบริษัทเดิมของคุณ

3. ทำไมถึงสนใจงานนี้

1. ให้ความสำคัญกับประโยชน์ของบริษัท

  • ใช่! เราทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง แต่คำถามหลักของการสัมภาษณ์งานก็คือ “ทำไมต้องจ้างคุณ” บริษัทอยากรู้ว่าคุณจะสร้างประโยชน์อะไรให้เขาได้บ้าง ส่วนประโยชน์ที่เราจะได้ อย่าง “ที่ทำงานใกล้บ้าน” “ได้ประสบการณ์” “ได้เรียนรู้” พวกนี้เก็บเอาไว้ในใจก็พอ

2. ใช้เทคนิคการอ้างอิง

  • ตอบคำถามโดยอ้างอิงข้อมูลจากเรซูเม่ Job Description หรือผู้แนะนำ เพื่อให้คำตอบของเราตรงประเด็นอยู่เสมอ

12 คำถามสัมภาษณ์งานที่ต้องตอบให้ได้ ถ้าอยากได้งานในฝัน

April 28, 2023

อ่านเพิ่มเติม

แต่งตัวไปสัมภาษณ์งานยังไง ประทับใจเจ้านาย + ตัวอย่างชุด

December 11, 2022

อ่านเพิ่มเติม

วิธีหางานให้ได้งาน รวดเร็ว ตรงใจ ใน 9 ขั้นตอน

November 21, 2021

อ่านเพิ่มเติม

วิธีทำเรซูเม่ (Resume/CV) แบบละเอียด รับรองได้งานชัวร์

November 28, 2020

อ่านเพิ่มเติม

3. ตอบ 3 ประเด็นสำคัญ

  • ทำไมต้องเป็นบริษัทนี้
  • ทำไมต้องเป็นตำแหน่งงานนี้
  • ทำไมต้องเลือกตัวคุณเท่านั้น

ที่ผมสนใจงานนี้ อย่างแรกเลย คือ ผมทำงานอยู่ในวงการนี้ ได้ยินชื่อบริษัท C มานาน และเห็นว่าเป็นบริษัทชั้นนำที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงผมก็ชื่นชอบสินค้าของบริษัท C เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว…

ตัวอย่าง

ตอนที่ผมเห็น Job Description ในเว็บสมัครงาน ก็รู้สึกว่าตำแหน่งนี้ตรงกับคุณสมบัติของเรา…

ตัวอย่าง

เพราะผมเองก็มีประสบการณ์ในด้านนี้มา 3 ปี เคยดูแลแบรนด์ชั้นนำหลากหลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น…

ตัวอย่าง

4. จบสวยๆ

  • ปิดท้ายสวยๆ ด้วยตัวอย่างความสำเร็จ และ/หรือ Passion ที่เรามี เพื่อให้เห็นว่าเราเหมาะกับงานนี้จริงๆ

…ล่าสุด สำหรับแบรนด์ D ผมก็ช่วยเพิ่มยอดขายได้ถึง 15% ภายใน 1 ปี และสุดท้าย อย่างที่ผมบอกไว้ตอนแรก ผมเองชอบใช้สินค้าประเภทนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว… ทั้งหมดคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงสนใจงานนี้ครับ

ตัวอย่าง

คำถามที่ใช้วิธีตอบคล้ายๆ กัน
– ทำไมเราควรจ้างคุณ
– จุดแข็งของคุณคืออะไร
– คุณจะช่วยบริษัทของเราได้ยังไงบ้าง

4. จุดอ่อนของคุณคืออะไร

จุดประสงค์หลักๆ ของคำถามแบบนี้ คือ เพื่อทดสอบไหวพริบในการตอบของคุณ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคิดให้ดีก่อนตอบก็คือ จะบอกจุดอ่อนของเรายังไงไม่ให้ดูอ่อนนั่นเอง

1. ตอบสิ่งที่น่าจะเดาออกจากการดูเรซูเม่

  • เราสามารถยอมรับจุดอ่อนของตัวเองได้ แต่ควรเลือกพูดถึงจุดอ่อนเล็กๆ น้อยๆ และใช้โอกาสนี้ในการอธิบาย หรือพูดถึงอย่างอื่นที่สามารถทดแทนได้

ผมไม่ได้จบสายตรงด้าน Programming จึงทำให้ความรู้เชิงเทคนิคไม่ได้ลึกมาก แต่ก็เคยทำงานคลุกคลีกับ Programmer มาเยอะ ทำให้เข้าใจพื้นฐานและเรียนรู้เพิ่มเติมได้

ตัวอย่าง

2. พูดถึงจุดอ่อนทั่วไป

  • พูดถึงจุดอ่อนในอดีต ที่ปัจจุบันพัฒนาให้ดีขึ้นได้แล้ว
  • ใช้คำที่ช่วยลดทอนความรุนแรงของจุดอ่อน เช่น บางครั้งผมใจร้อนมากไปหน่อย ถ้าต้องเจอลูกค้าที่ชอบแก้งานเยอะๆ

5. ทำไมลาออกจากบริษัทเก่า

1. พูดถึงประโยชน์ของบริษัทก่อน ค่อยพูดถึงประโยชน์ของตัวเอง

  • เราสามารถเริ่มต้นด้วยข้อความคล้ายๆ กับคำตอบข้อ 3 เช่น บอกว่าเรามองว่าตำแหน่งงานนี้เหมาะกับเรา และเราสามารถช่วยบริษัทได้ในหลายๆ เรื่อง

ผมทำงานด้านนี้มา 3 ปี แต่ก็ยังเปิดกว้างสำหรับโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ จนมาเจอประกาศรับสมัครของตำแหน่งนี้ พบว่าคุณสมบัติเหมาะกับตัวเอง และด้วยประสบการณ์ที่มี น่าจะช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

ตัวอย่าง

2. พูดเรื่องลบ ให้เป็นกลาง

ตัวอย่างเหตุผลที่ไม่ควรพูด
– ต้องการหาประสบการณ์/ความท้าทายใหม่ๆ
– โครงสร้างบริษัทเก่าไม่ดี เงินเดือนน้อย
– มีปัญหากับเจ้านาย
– อยากหาที่ทำงานใกล้บ้าน

  • เหตุผลที่ลาออกจากงานเก่า มักมีแต่เรื่องแย่ๆ แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ห้ามพูดเรื่องเหล่านี้ในแง่ลบเด็ดขาด เพราะจะทำให้เราดูเป็นคนที่ทัศนคติไม่ดี

ตัวอย่างประโยค หากต้องการพูดถึงเจ้านายเก่า

สิ่งที่ควรทำ

ผมกับเจ้านายเก่ามีวิธีการทำงานที่ต่างกันไปหน่อยครับ แต่เค้าก็เก่งและผมก็เคารพการตัดสินใจของเขานะครับ

สิ่งที่ไม่ควรทำ

เจ้านายเก่าผมเป็นคนแปลกๆ ครับ เค้ามีปัญหากับหลายคน ไม่ใช่แค่ผมนะครับ คนในทีมก็ไม่ค่อยชอบเค้าเท่าไร…

3. วางตัวให้สุขุมเข้าไว้

  • จริงอยู่ว่าเราควรแสดงความกระตือรือร้นอยากได้งานนี้ แต่ก็ไม่ควรออกนอกหน้ามาก ไม่งั้นจะดูเหมือน “ของตาย” เกินไป ผู้สัมภาษณ์เขาจะสังเกตความตั้งใจของได้จากหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่คำพูด เช่น Portfolio ที่ตั้งใจทำขึ้นมาสำหรับตำแหน่งงานนี้โดยเฉพาะ การไปเข้าคอร์สหาความรู้ก่อนมาสัมภาษณ์ ฯลฯ

6. วางแผนอีก 5 ปีข้างหน้าไว้ยังไง

1. เล่าทีละขั้น

  • ปัญหาที่หลายๆ คนมักเจอเวลาตอบคำถามนี้คือ ไม่ได้วางแผนไว้ยาวขนาดนั้น หรือเป็นแผนการที่ไม่ควรบอก เช่น มาทำงานเพื่อเพิ่มเงินเดือน 1-2 ปี ทำงานรอเวลาเรียนต่อ หรือยังไม่รู้อนาคตเลย เพราะยังหาตัวเองไม่เจอ แน่นอนว่า คำพูดที่แสดงทัศนคติในแง่ลบแบบนี้ ห้ามตอบออกไปเด็ดขาด
  • ถ้าเราไม่ได้วางแผนชีวิตไว้สวยหรูพอที่จะตอบออกไป ก็ควรเริ่มจากปีแรกของการทำงานก่อน ซึ่งจะง่ายที่สุด เพราะเราสามารถตอบให้ตรงกับสิ่งที่อยู่ใน Job Description ได้เลย

5 ปี เป็นเวลาที่ค่อนข้างยาว งั้นผมขอไล่ไปแต่ละปีนะครับ สำหรับปีแรกเนี่ย คงจะโฟกัสกับการปรับตัวในที่ทำงานใหม่ และทำงานตามที่ได้รับมอบหมายให้ดีก่อน ไม่ว่าจะเป็น…(สิ่งที่อยู่ใน JD)

ตัวอย่าง

  • ส่วนปีที่ 2-3 เป็นต้นไป ก็สามารถเริ่มพูดเรื่องการเติบโตในสายงานได้ แต่ถ้ามันเริ่มไกลตัวจนคุณจินตนาการไม่ออก ก็พูดเป็นเชิงคาดการณ์ หรือโยนให้เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่แน่นอน โดยยกเหตุผลปัจจัยต่างๆ มาประกอบ วิธีนี้จะทำให้เห็นว่าเราไม่ได้วางแผนลอยๆ แต่มีหลักคิดและเหตุผล

สำหรับปีที่ 4 เป็นต้นไป ตรงนี้พี่กับผมอาจจะต้องมาคุยกันว่า ผมจะสามารถเติบโต หรือเปลี่ยนไปทำสายงานไหน… ซึ่งก็อาจขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบริษัท สภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วย… ไว้ถ้าเรามีโอกาสได้ร่วมงาน ค่อยมาลงรายละเอียดตรงนี้อีกทีก็ได้ครับ

ตัวอย่าง

  • สำหรับเด็กจบใหม่ การบอกว่า “ผมจะเป็น Manager ภายใน 5 ปี” อาจจะเร็วเกินไป ควรเน้นที่การสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายให้ดี และเติบโตในบริษัทไปเรื่อยๆ มากกว่า เพราะจุดที่ผู้สัมภาษณ์มักกังวลเกี่ยวกับเด็กจบใหม่ ก็คือการย้ายงานบ่อยๆ นี่แหละ

7. คุณชอบทำงานเป็นทีมหรือทำงานคนเดียว

1. ตอบกลางๆ

  • ให้ตอบกลางๆ โดยใช้คำว่า “มันขึ้นอยู่กับ…” “มันขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์…”
  • บางครั้งเราอาจคิดว่า ตอบให้ตรงกับเนื้องานไปเลยน่าจะดีกว่า แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะถ้าคุณไม่ใช่ฟรีแลนซ์รับงานคนเดียว แทบทุกตำแหน่งงานในองค์กร ล้วนต้องใช้ทักษะทั้งสองด้านเสมอ
  • การตอบกลางๆ ยังช่วยเลี่ยงกรณีที่คุณเข้าใจผิดเกี่ยวกับเนื้องานอีกด้วย เช่น ถ้าตำแหน่งนี้ต้องทำงานเป็นทีมเป็นส่วนใหญ่ แต่คุณกลับตอบว่าชอบทำงานคนเดียว ก็อาจทำให้คุณเสียโอกาสได้งานไปเลยก็ได้

2. ตัวอย่างความสำเร็จทั้ง 2 แบบ

  • หลังจากออกตัวว่า “มันขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์…” ไปแล้ว ให้คุณยกตัวอย่างความสำเร็จจากการทำงานทั้ง 2 แบบ
  • สรุปปิดท้ายอีกครั้ง เพื่อตีกรอบความคิดของเราให้ชัดเจนขึ้น เพราะการตอบกลางๆ โดยไม่สรุป อาจฟังดูเรื่อยเปื่อย จับประเด็นไม่ได้

…อย่างไรก็ตาม การทำงานในองค์กรมาตลอด 5 ปี สอนให้ผมรู้ว่า การทำงานคนเดียว ทำให้งานเสร็จ แต่ถ้าอยากให้งานสำเร็จ ต้องทำงานเป็นทีม มันสำคัญทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำงานแต่ละแบบในสถานการณ์ไหน

ตัวอย่าง

คำถามที่ใช้วิธีตอบคล้ายๆ กัน
– คุณเป็นผู้นำหรือผู้ตาม
– สไตล์การทำงานของคุณเป็นแบบไหน
– สไตล์การบริหารทีมของคุณเป็นแบบไหน

8. อะไรคือความสำเร็จสูงสุดในการทำงาน

คำถามนี้เป็นอีกคำถามที่ชี้เป็นชี้ตายได้เลย เพราะมันคือตัวชี้วัดว่าคุณทำงานได้ดีจริงหรือไม่ และคุณแตกต่างกับคนอื่นตรงไหน ดังนั้นจึงต้องตอบแต่ความสำเร็จระดับเบิ้มๆ และเกี่ยวข้องกับงานหรือผลประโยชน์ของบริษัทเท่านั้น

ตัวอย่างความสำเร็จในองค์กร
– แก้ปัญหายากๆ ได้สำเร็จ
– ริเริ่มอะไรใหม่ๆ เอามาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
– ช่วยประหยัดเงิน หรือหาเงินให้บริษัท
– ช่วยสร้างทีมให้ใหญ่หรือแข็งแกร่งขึ้น

1. เล่าให้เป็นเรื่อง

  • ความสำเร็จของเราจะดูน่าตื่นตาตื่นใจ และน่าเชื่อถือมากขึ้น ถ้าเราใส่รายละเอียดเข้าไปให้เป็นเรื่องราว โดยสิ่งที่ควรมีในเรื่องเล่าก็คือ
    1. เวลา/สถานที่/เหตุการณ์
    2. ปัญหา
    3. ทางออก
    4. ผลลัพธ์ (ความสำเร็จ)
    5. ข้อคิดที่ได้

เวลา/สถานที่/เหตุการณ์

…เมื่อปีแล้ว ตอนผมทำงานอยู่ที่บริษัท C ตอนนั้นมีวิกฤต COVID-19

ตัวอย่าง

ปัญหา

บริษัทจำเป็นต้องปลดคนออกจำนวนมาก ทีมผมก็เป็นหนึ่งในนั้น จากที่เคยมี 20 คน ตอนนี้เลยเหลือ 10 คน แต่งานยังเท่าเดิม ทำให้งานหนักขึ้นมาก จนน้องในทีมจะลาออกเพิ่มอีก

ตัวอย่าง

ทางออก

จากประสบการณ์ที่ผมเคยบริหารทีมมานะครับ ถ้าเป็นแบบนี้ บริษัทได้ลด cost จริง แต่ทีมแตกแน่ เราจึงต้องหาทางออกโดย rotate บางตำแหน่งงานที่มาช่วย และรับนักศึกษาฝึกงาน และจ้าง outsoure เพิ่ม

ตัวอย่าง

ผลลัพธ์

เราประคองงานทั้งหมดผ่านไปได้ตามเป้าที่เราวางไว้ และน้องๆ ในทีมได้ยกระดับตัวเอง จากที่ทำตามคำสั่งอย่างเดียว มาเป็นคนคุมงาน บรีฟงานมากขึ้น กลายเป็นว่าผมได้ผู้ช่วยมือดีเพิ่มขึ้นอีก 2 คนด้วยครับ

ตัวอย่าง

ข้อคิดที่ได้

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ผมเรียนรู้หลายๆ อย่าง เช่น บางครั้งถ้าเราจะแก้ปัญหา แล้วแก้ด้วยวิธีเดิมๆ ไม่ได้ ก็ต้องกล้าเสี่ยงลองวิธีใหม่ๆ …

ตัวอย่าง

สรุป

วิธีตอบคำถามสัมภาณ์งานทั้ง 8 ข้อนี้ เรารับรองเลยว่าเอาไปใช้ได้จริงแน่นอน (ทีมงานของเรา ก็เคยสัมภาษณ์งานผ่าน ด้วยทริคเหล่านี้)

แม้ว่าวิธีเหล่านี้จะช่วยเราได้ แต่เรื่องสำคัญที่เราอยากฝากไว้ คือ ควรมีความจริงใจในการตอบและสมัครงานด้วย เพราะจะมีประโยชน์อะไรถ้าเราพูดให้ตัวเองดูดีจนผ่าน แต่กลับทำงานจริงไม่ได้ จนสุดท้ายต้องลาออกล่ะ

บางครั้ง ถ้าหางานไม่ได้ สัมภาษณ์ไม่ผ่าน แล้วมันเป็นที่คุณสมบัติของเราจริงๆ กลับไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แล้วพยายามใหม่อีกครั้ง น่าจะดีกว่านะ 🙂