ดนตรีมีส่วนสำคัญต่อสังคมอย่างไร

ดนตรีมีส่วนสำคัญต่อสังคมอย่างไร

ดนตรีมีส่วนสำคัญต่อสังคมอย่างไร

เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อมนุษย์

                เสียง(Sound) มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ สมอง ประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรมของสังคม วิถีชีวิต จากทฤษฎีของเสียงที่พิสูจน์ได้ว่าเสียงมีอำนาจ มีอำนาจอยู่ที่ไหน ก็จะมีเสียงอยู่ที่นั่น มีเสียงอยู่ที่ไหนอำนาจก็จะอยู่ที่นั่นด้วย ดังนั้น พิธีกรรมของมนุษย์ทุก ๆ พิธีกรรมจึงประกอบด้วยเสียง (ดนตรี) ตั้งแต่เสียงสวดมนต์ภาวนาเสียงตีเกราะเคาะไม้ เสียงดีดสีตีเป่า แม้แต่เสียงจุดประทัด ในเทศกาลตรุษจีน หรือจุดประทัดของชาวเรือประมง ที่จะออกทะเลเพื่อหาปลา เสียงปืนใหญ่ยิงเพื่อยกย่องในงานศพของวีรบุรุษ เสียงกลองยาว แตรวงงานบวช

ซึ่งล้วนเป็นเสียงแสดงถึงอำนาจและเป็นหุ้นส่วนของพิธีกรรมทั้งสิ้น

                จากทฤษฎีของเสียงมีอำนาจ อำนาจของเสียงสร้างเป็นพลังงานที่เปลี่ยนจากเสียงสร้างให้เกิดความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนา เมื่อมีการพัฒนามาก ๆ

ก็จะสร้างให้เกิดความเจริญ ยิ่งพัฒนามากก็ยิ่งเจริญมากขึ้นด้วยทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์ต้องการความเจริญ ความเจริญเป็นความหวังเป็นความปรารถนาของชีวิต และความเจริญเป็นความมีชีวิตชีวา

                เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อร่างกาย เมื่อร่างกายสัมผัสต่อเสียงดนตรี จังหวะดนตรีมีอิทธิพลทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวขยับตามจังหวะ เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อจิตใจ ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นปัจจุบัน ทำให้นึกถึงอดีต และทำให้นึกถึงอนาคต  ดนตรีทำให้อารมณ์เปลี่ยนไปตามมิติของของกาล อาจจะเป็นอารมณ์ที่หวนรำลึกถึงอดีต อาจจะเป็นการสร้างอารมณ์ปัจจุบันและอาจจะสร้างให้เกิดจินตนาการได้

                เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อจิตใจ “เสียงใส ใจสะอาด” เป็นอิทธิพลที่เกี่ยวกับเสียงโดยตรง เนื่องจากเสียงออกมาจากจิตใจ เมื่อใจรู้สึกเป็นอย่างไรก็จะถ่ายทอดเป็นเสียงออกมาเป็นอย่างนั้น ในขณะเดียวกันเสียงที่ออกมาจากจิตใจ ความสุขและความทุกข์ ได้อาศัยเสียงระบายออกมาภายนอกซึ่งทำให้จิตใจผ่อนคลายลงได้ โดยธรรมชาติ ดนตรีจึงเป็นหุ้นส่วนของชีวิตและจิตใจ

                เสียงดนตรีทำให้สมองรับรู้ เส้นประสาทสมองขยายตัวเมื่อสัมผัสกับเสียงดนตรีที่ดี ทำให้สมองตื่นตัวกับเสียง

ที่ได้ยิน เสียงดนตรีบ่งบอกประวัติศาสตร์ บ่งบอกความเป็นมา บ่งบอกประเพณี บ่งบอกวัฒนธรรมของสังคมและบ่งบอกวิถีชีวิตของคนในแต่ละสังคมนั้น ๆ

                เสียงดนตรี(Music) เป็นเสียงที่ไพเราะเป็นเสียงที่ละเอียดสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจด้วยการประดิษฐ์เสียงอย่างประณีตและบรรจง มนุษย์สร้างเสียงขึ้นเพื่อให้มนุษย์ด้วยกันฟัง มนุษย์เป็นผู้สร้างมาตรฐานของความไพเราะ โดยอาศัยความรู้สึกที่ดีเอาเสียงที่ไพเราะงดงาม นำแต่ละเสียงมาเรียงร้อยให้ปะติดปะต่อกันจนกลายเป็นบทเพลงที่ไพเราะ ดนตรีเป็นศิลปะที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ตามความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งดนตรีอาจจะรับใช้ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบของพิธีกรรม หรือดนตรีอยู่ในฐานะของความบันเทิง

                เสียงหยาบ(Noise) เป็นเสียงรบกวนและเป็นเสียงที่มนุษย์ไม่ปรารถนา การแยกแยะระหว่างเสียงที่ชอบและเสียงที่ไม่ชอบ ขึ้นอยู่กับอำนาจว่ามีสิทธิ์ที่จะชอบหรือมีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบเพราะความชอบและความไม่ชอบขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและรสนิยม อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นเสียงที่หยาบ  (ดัง แรง กระด้าง ) แต่เสียงก็เป็นจุดศูนย์รวมของอำนาจด้วยเหมือนกัน

                มนุษย์จะเลือกเสียงที่อบอุ่นละมุนละไมเลือกเสียงที่กังวานเลือกเสียงที่ไพเราะ เลือกเสียงที่ชอบมากกว่าที่จะเลือกเสียงกระด้าง ดังนั้นเสียงที่ไพเราะหรือจะเรียกว่าเสียงดนตรี จึงมีอำนาจมากกว่าเสียงรบกวน

สุกรี เจริญสุข. ดนตรีเพื่อพัฒนาศักยภาพของสมอง.วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พุทธมณฑล ศาลายา นครปฐม พ.ศ.2550 : 62-63

‘ดนตรี’ จัดเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งซึ่งมนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นเวลาช้านานแล้ว โดยดนตรีได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ในทุกระดับชั้น บางคนเสพย์ซึ้งดนตรีโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อผ่อนคลายความเครียด , เพื่อความซาบซึ้งดื่มด่ำ ไปกับอารมณ์ของบทเพลง โดยการดำเนินชีวิตของคนไทย ต้องมีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ เพราะดำเนินไปตามความเชื่อ , วัฒนธรรม , วิถีชีวิตของชาวไทย ดนตรีได้เข้ามาส่วนเสริมสร้างความมั่นคง , ความสุข รวมทั้งความสนุกสนาน เพื่อให้ผ่อนคลายจากความเหน็ดเหนื่อย ตลอดจนความทุกข์ทั้งหลาย ทำให้ดนตรีเรียกได้ว่ามีคุณค่าต่อมนุษย์อย่างล้นหลาม

คุณค่าความสำคัญของดนตรีที่มีต่อสังคมไทย

‘ดนตรี’ คือ งานศิลปะอีกประเภทหนึ่ง ที่ใช้เสียงเป็นสื่อในการถ่ายทอดออกมาในรูปแบบต่างๆ ดนตรีได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ ช่วยผลักดันให้ชีวิตของมนุษย์มีความสุข , ช่วยผ่อนคลายความโศกเศร้า ตลอดจนเป็นสื่อเสริมให้กิจกรรมของมนุษย์นั้นเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

สำหรับในสังคมและวัฒนธรรมไทย ดนตรีไทยจัดเป็นงานศิลปะอันแสดงความเป็นอัตลักษณ์ของชาติ และคุณค่าของดนตรีไทย ได้รับการวิเคราะห์ โดยมีท่วงทำนองร้อยเรียงไปตามโครงสร้างของระบบเสียง มีเนื้อร้องแต่งด้วยร้อยกรองมีความสวยงามสละสลวย มีสัมผัสที่ฟังแล้วลื่นหู  มีนักดนตรีทำหน้าที่ถ่ายทอดบทเพลง ด้วยการใช้ระเบียบวิธีบรรเลงเครื่องดนตรีอันมีลักษณะหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีวิธีการขับร้องที่กลมกลืนกัน ตลอดจนมีเครื่องดนตรีที่มีรูปแบบเฉพาะ , สวยงาม รวมทั้งได้สัดส่วนของวิชาการเขียนบทเพลง

ดนตรีในสังคมไทยคุณค่าทางจิตใจและแสดงออกถึงประเพณีโบราณ

ดนตรีมีส่วนสำคัญต่อสังคมอย่างไร

‘ดนตรีไทย’ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ อีกทั้งยังมีความหมายต่อบุคคลในการพัฒนาคุณภาพจิตใจให้ยกระดับสูงขึ้น โดยเป็นสื่อกลางของกิจกรรมของประเพณี , ศาสนา , ศิลปะ ตลอดจนเป็นสื่อกลางทางสังคม ซึ่งช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในชาติ  , สร้างพลังทางสังคม ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันต่างๆของประเทศด้วย เช่น สถาบันการเมือง , การปกครอง , การทหาร เป็นต้น

‘ดนตรีไทย’ จัดเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้สร้างสรรค์ทั้งในรูปแบบบทเพลง , เครื่องดนตรี , วิธีการ ตลอดจนการนำมาใช้ในโอกาสต่างๆให้เกิดความเหมาะสม นอกจากนี้ดนตรีไทยยังนำเข้าไปใช้ในการประกอบกิจกรรมตามความเชื่อรวมทั้งพิธีกรรมต่างๆ  โดยเข้าไปปรุงแต่งให้งานนั้นเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคกลาง มีวงปี่พาทย์แบบต่างๆ อันเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม ส่วนทางภาคเหนือมีวงดนตรีพื้นบ้านล้านนา , ภาคอีสานมีวงดนตรีพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมากมาย และภาคใต้มีวงดนตรีพื้นบ้าน มีหน้าที่บรรเลงในงานพิธีกรรม รวมทั้งประกอบการแสดงต่างๆ