คณะกรรมการพัฒนาสตรี มีกี่ระดับ

ชื่อเรื่อง:

ภาวะผู้นำของคณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบล (กพสต) : ศึกษาเฉพาะกรณีอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา

ชื่อเรื่องอื่นๆ:

Leadership of the Tambon Women Development Committee (TWDC) : the case study of Amphoer Dokkamtai, Changwad Phayao

ผู้แต่ง:

พจนี พรหมจิตต์

ผู้ควบคุมงานวิจัย:

รพี สุวรรณะชฎ, อาจารย์ที่ปรึกษา

ชื่อปริญญา:

พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต

ระดับปริญญา:

ปริญญาโท

สาขาวิชา:

การจัดการการพัฒนาสังคม

คณะ/หน่วยงาน:

คณะพัฒนาสังคม

หน่วยงานที่ประสาทปริญญา:

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

วันที่เผยแพร่:

2536

หน่วยงานที่เผยแพร่:

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

บทคัดย่อ/เนื้อเรื่องย่อ:

การศึกษานี้มุ่งวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับ "ภาวะผู้นำ" ของ กพสต. ในการดำเนินงานพัฒนาสตรี โดยศึกษาจาก กพสต. (59 คน) กพสม. (30 คน) และกลุ่มสตรี (83 คน) จากตำบลบ้านปิน ตำบลบ้านถ้ำ และตำบลหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา จำนวนรวมทั้งสิ้น 172 คน รวบรวมแนวคำถามสัมภาษณ์จากผู้ให้สัมภาษณ์ได้จำนวน 163 คน ผู้ศึกษารวบรวมข้อมูลโดยวิธีสัมภาษณ์และใช้วิธีการสถิติพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในการสรุปลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา นอกจากนั้นยังใช้วิธีการสถิติอนุมาน ได้แก่ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบจำแนกทางเดียวเพื่อทดสอบสมมติฐาน
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า กลุ่มตัวอย่าง กพสต. ที่ศึกษามีอายุโดยเฉลี่ย 36 ปี ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70.6) มีอายุระหว่าง 31-40 ปี และ กพสต. กว่าสามในสี่ (ร้อยละ 80.4) จบการศึกษาสูงสุดชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กพสต.ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 96.1) นับถือศาสนาพุทธ และสมรสแล้ว กพสต. ประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 43.1) มีสมาชิกในครอบครัวจำนวน 4 คน และมีผู้อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกับ กพสต. โดยเฉลี่ยจำนวน 4 คน องค์ประกอบของกลุ่มตัวอย่าง กพสต. ที่ตอบแนวคำถามสัมภาษณ์ประกอบด้วย ประธาน (ร้อยละ 5.9) รองประธาน (ร้อยละ 5.9) เลขานุการ (ร้อยละ 5.9) เหรัญญิก (ร้อยละ 5.9) ปฏิคม (ร้อยละ 7.8) และกรรมการ (ร้อยละ 68.6) อาชีพหลักของ กพสต. ที่ศึกษา ได้แก่ ทำนา (ร้อยละ 88.2) ค้าขาย (ร้อยละ 9.8) และทำไร่ (ร้อยละ 2.0) กพสต. มีรายได้จากอาชีพหลักต่อเดือน โดยเฉลี่ย 1,618 บาท มากกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 39.2) มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 1,001 บาท ส่วนผู้มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า 4,000 บาท แต่ไม่เกิน 5,000 บาท มีจำนวนน้อยมาก (7.8)
ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่และความสามารถในการแก้ปัญหาของ กพสต. มีอิทธิพลต่อระดับ "ภาวะผู้นำ" ของ กพสต. อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจาก กพสต. มุ่งจัดลำดับหน้าที่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของสตรีในตำบลมากที่สุด จึงมีลำดับหน้าที่ที่แตกต่างไปจากของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งผู้ศึกษาได้ยึดเป็นกรอบในการศึกษา ทั้งนี้กรมการพัฒนาชุมชนควรจัดเรียงลำดับหน้าที่ของ กพสต. ที่มีความสำคัญมากที่สุดไว้เป็นลำดับแรก และจัดลำดับหน้าที่ที่มีความสำคัญรองลงมาตามลำดับ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาสตรีแก่ กพสต. นอกจากนั้น กพสต. ส่วนใหญ่สามารถระบุรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาของสตรีในตำบลได้ "สูง" แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหา ตลอดจนไม่สามารถระบุขั้นตอนการแก้ปัญหาและจัดลำดับขั้นตอนในการแก้ปัญหาได้เท่าที่ควร นักวิชาการและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนควรอบรมให้ กพสต. มีความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ที่สามารถนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม
ในท้ายที่สุดผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า กพสต. ส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของ กพสต. อยู่ในระดับ "สูง" และความรู้ของ กพสต. ทั้ง 3 กลุ่ม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อาจเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนยังไม่ได้ฝึกอบรม กพสต. ให้มีความรู้จนเกิดทักษะที่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับ กพสต. ขาดความรู้เกี่ยวกับการประสานงานกับบุคคลต่าง ๆ ที่จะมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานพัฒนาสตรีบรรลุผลตามเป้าหมาย ส่งผลให้ความรู้ และการได้รับความร่วมมือจาก กพสม. ในการดำเนินงานพัฒนาสตรีมีอิทธิพลต่อระดับ "ภาวะผู้นำ" ของ กพสต. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ข้อเสนอแนะ
1. เพื่อปรับปรุง "ภาวะผู้นำ" ของ กพสต. ได้แก่ :-
1.1 กพสต. ควรให้ความสนใจการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานพัฒนาสตรีระหว่าง กพสต. กับ กพสม. กลุ่มสตรี ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐบาลและเอกชน ตามรูปแบบการประสานงานทั้งแนวตั้ง (Vertical) และแนวนอน (Horizontal)
1.2 นักวิชาการและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ควรให้การศึกษาแก่ กพสต. อย่างต่อเนื่องในลักษณะเป็นการศึกษานอกระบบโรงเรียน โดยให้ความรู้เกี่ยวกับ (1) การดำเนินงานพัฒนาสตรี (2) หน้าที่ของ กพสต. ในการดำเนินงานพัฒนาสตรี (3) วิธีการประสานงาน (4) โครงสร้างการประสานงานองค์กรสตรีในระดับภูมิภาค (5) วิธีการประชุม (6) การสำรวจปัญหาความต้องการของสตรีในตำบล (7) การนำข้อมูล กชช. 2 ค. และ จปฐ. ที่เกี่ยวข้องกับสตรี ครอบครัวและชุมชนที่ไม่เข้าเกณฑ์มาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหา และวางแผนการดำเนินงาน (8) การพิจารณากลั่นกรองแผนงานและโครงการที่ กพสม. แต่ละหมู่บ้านเสนอเพื่อจัดทำเป็นแผนพัฒนาสตรี
1.3 ควรปรับปรุงหลักสูตรฝึกอบรม กพสต. เพิ่มเติมจากแนวทางการฝึกอบรมของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2530 โดยให้มีการฝึกอบรมปีละ 2 ครั้ง คือ ก่อนปฏิบัติหน้าที่และระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กพสต. และควรกำหนดช่วงเวลาฝึกอบรมให้สอดคล้องกับเวลาว่างจากการประกอบอาชีพของราษฎรในตำบล
1.4 ควรประชุม กพสต. อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนควรเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง.
1.5 กพสต. ควรวางแผนการดำเนินงานประจำเดือน
1.6 กพสต. ควรติดตามผลการดำเนินงานของ กพสม. เป็นประจำทุกเดือน
1.7 กพสต. ควรรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกเดือน เพื่อประโยชน์ในการประสานงานระหว่าง กพสต. กับนักวิชาการประจำจังหวัด และนักวิชาการจากศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการพัฒนาชุมชนเขตที่ 5 จังหวัดลำปาง.
1.8 ควรจัดให้มีการสัมมนา กพสต. ปีละ 1 ครั้ง.
1.9 ควรจัดให้มีการทัศนศึกษาดูงาน กพสต. ที่ปฏิบัติหน้าที่ประสบผลสำเร็จ มีผลงานดีเด่น
2. เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานของ กพสต. ได้แก่ :-
2.1 กพสต. ควรคัดเลือกจากสตรีที่มีจิตใจเสียสละ รู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
2.2 ควรคัดเลือก กพสต. จากกรรมการหมู่บ้านฝ่ายกิจการสตรี หมู่บ้านละ 1-2 คน โดยให้คณะกรรมการสภาตำบล (กสต.) เป็นกรรมการในการคัดเลือก และเสนอรายชื่อ กพสต. ที่ได้รับการคัดเลือกให้ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชน และสตรีอำเภอ (อยสอ.) ลงนามแต่งตั้งเพื่อให้ กพสต. ได้รับการยอมรับสูงขึ้น
2.3 ควรจัดอบรมกลุ่มสตรีให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานพัฒนาสตรี
2.4 ควรจัดอบรม กพสม. หรือฝ่ายกิจการสตรีในคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)
2.5 นักวิชาการและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนควรให้ความรู้แก่ กพสต. เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว อนามัยแม่และเด็ก การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ด้วยการพบปะพูดคุย การประชุม การจัดชุมนุม การฝึกอบรมและการสัมมนา ตลอดจนการใช้สื่อทุกประเภท.
2.6 นักวิชาการและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนควรให้ความรู้แก่ กพสต. เกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารการพัฒนาชนบทตามระบบ กชช.
2.7 นักวิชาการและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนควรให้ความรู้แก่ กพสต. เกี่ยวกับการประสานงานแนวนอนงานพัฒนาสตรีแก่องค์กรตามระบบ กชช.

รายละเอียดเพิ่มเติม:

วิทยานิพนธ์ (พบ.ม.(พัฒนาสังคม))--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2536.

หัวเรื่องมาตรฐาน:

ผู้นำ

คำสำคัญ:

คณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบล

ประเภททรัพยากร:

วิทยานิพนธ์

ความยาว:

ก-ต, 219 แผ่น

ชนิดของสื่อ:

Text

รูปแบบแฟ้มข้อมูล:

application/pdf

ภาษา:

tha

สิทธิในการใช้งาน:

ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0)

URI:

http://repository.nida.ac.th/handle/662723737/1704