อาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต การเงิน



MGROnline - ตำรวจไซเบอร์ ฝากเตือนภัยมิจฉาชีพสร้างเว็บไซต์ธนาคารปลอมซื้อโฆษณา หลอกให้กรอกข้อมูลทางการเงิน

วันนี้ (10 ม.ค.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยเว็บไซต์ธนาคารปลอม หลอกให้กรอกข้อมูลทางการเงิน ดังนี้

ตามที่ในปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึง ตรวจสอบข้อมูล หรือขอเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถาบันการเงิน หรือธนาคารแต่อย่างใด สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตเข้าถึงระบบได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างเว็บไซต์ปลอม ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเว็บไซต์จริง เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนที่ไม่ทันระวัง เข้ามากรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิต/เครดิต รหัสหลังบัตร 3 หลัก รหัส OTP เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลที่ได้ไปถอนเงินของเหยื่อออกจากบัญชี หรือไปแฮกบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ หรือใช้รหัสบัตรเดบิต/เครดิตชำระค่าสินค้า หรือไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่น ในกรณีตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เสียหายรายหนึ่งได้ขอรายการเดินบัญชีผ่านเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพ แต่ได้ไปเข้าเว็บไซต์ธนาคารที่ถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นมาโดยการซื้อการโฆษณา จากนั้นได้กรอกข้อมูลทางการเงินต่างๆ กระทั่งทราบว่าเงินในบัญชีธนาคารของตนถูกโอนออกไปทั้งหมด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไปแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า มิจฉาชีพเหล่านี้มักจะเปลี่ยนเพียงแค่ชื่อธนาคาร หรือชื่อหน่วยงาน แต่ยังคงใช้แผนประทุษกรรมในรูปแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้นการใช้งาน หรือเข้าถึงเว็บไซต์ หรือบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงเอาข้อมูล พร้อมแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1. หากต้องการจะเข้าเว็บไซต์ใดให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง ป้องกันการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม
2. เพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์ หรือ URL อย่างละเอียด
3. หากต้องการขอข้อมูล ควรขอผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารจะมีความปลอดภัยมากกว่า
4. ไม่คลิกลิงก์ที่แนบมากับอีเมล หรือข้อความสั้น (SMS) ไม่ทราบเเหล่งที่มา เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ
5. ควรกรอกข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น หากไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถามกลับไปยังธนาคาร หรือหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง
6. หากผู้เสียหายหลงเชื่อกรอกข้อมูลไปยังเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวแล้ว ให้รีบทำการเปลี่ยนรหัสผ่านทันที ทั้งเว็บไซต์ธนาคารจริง อีเมล สื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
7. ติดตั้ง และหมั่นอัพเดทโปรแกรม Anti-Virus อยู่เสมอ
8. แจ้งเตือน และเผยแพร่ไปยังคนใกล้ตัว หรือผู้อื่น เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ทั้งนี้ หากพบเบาะแสการกระทำผิด หรือ ข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com



  • ธนาคารปลอม
  • ตำรวจไซเบอร์

SMS หรือ Email ปลอมที่ทุกคนรู้จักกัน มักจะอ้างว่ายินดีด้วยคุณถูกรางวัล….. หรือคุณได้รับเงินจาก…. และเชิญชวนทำงาน เพียงกดที่ลิงก์นี้ สิ่งที่มิจฉาชีพต้องการคือให้เหยื่อเข้าไปกรอกข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ปลอมที่ถูกสร้างเอาไว้ 

  1. การหลอกลวงขายสินค้า (Sales scam) 

ประเด็น ‘การโดนโกงจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์’ พบเห็นได้บ่อยในลักษณะการหลอกขายสินค้าให้โอนเงินแต่ไม่ส่งสินค้า สินค้าไม่ตรงปกสั่งอีกอย่างส่งอีกอย่างมา และสินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือได้สินค้าของปลอม ที่อ้างว่าลดราคาขายถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป 

  1. การหลอกรักออนไลน์ (Romance Scam)

มาหลอกให้รัก มาหลอกให้หลง และจากไป  มิจฉาชีพเหล่านี้มักจะสร้างโปรไฟล์ที่ดูดี หล่อ สวย มีฐานะ ดูน่าเชื่อถือ เข้ามาพูดคุย ตีสนิทสนมสานสัมพันธ์ เมื่อเหยื่อหลงรัก หลงเชื่อใจจนขาดสติ จะให้โอนเงินหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ให้มิจฉาชีพ  และบางรายถูกหลอกใช้ขนส่งยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายก็มีให้เห็นด้วยเช่นกัน 

  1. การหลอกรักลวงลงทุน (Hybrid Scam) 

มิจฉาชีพพวกนี้จะคล้ายกับการ Romance Scam แต่จะใช้ความโลภของเหยื่อมาหลอกลวง ยิ่งโลภมากยิ่งเสียเงินมาก โดยสร้างโปรไฟล์ปลอมเป็นนักลงทุน มีทรัพย์สินจำนวนมาก จากนั้นส่งข้อความถึงเหยื่อเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจ หลอกให้เกิดความโลภอ้างว่ามีช่องทางการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง ถ้าเหยื่อไม่ได้เอะใจเกิดโลภขึ้นมาอยากรวยทางลัดโดยไม่ศึกษาให้ดี จะถูกหลอกให้ลงทุนเรื่อยๆ เพิ่มเงินเข้าไปทีละนิด โดยใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ลงทุนปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา และบทสรุปของเรื่องนี้ก็จะเจ็บหนักถูกเชิดเงินหนีหายไป 

  1. การหลอกลวงด้วยการโทรศัพท์โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Vishing Phishing)

รูปแบบนี้พบเห็นได้บ่อย และยังคงมีคนหลงเชื่อเป็นประจำ โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์พวกนี้จะพยายามสร้างสถานการณ์ เล่นกับความกลัวให้เหยื่อตกใจ มักจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานต่างๆ อ้างว่าเหยื่อมีส่วนร่วมกับสิ่งผิดกฎหมาย บัญชีธนาคารถูกใช้ฝอกเงินหรือตรวจพบสิ่งของผิดกฎหมายจากบริการขนส่ง  พอเหยื่อกลัวและตกใจจนขาดสติก็จะให้บอกข้อมูลส่วนตัวหรือให้โอนเงินเพื่อความสุจริต

  1. การหลอกให้ลงทุนแชร์ลูกโซ่ (Ponzi scheme)

ขบวนการแชร์ลูกโซ่มีการพัฒนาให้ทันสมัยและทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น มาทั้งในรูปแบบของแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ มักจะหลอกชักชวนให้ร่วมลงทุน มักอ้างว่าถ้าคุณลงทุนกับเราจะมีผลกำไรตอบแทนที่สูงในระยะเวลาสั้นๆ โดยช่วงแรกจะได้รับเงินจากการลงทุนจริง แต่เมื่อมีเหยื่อหลงกลร่วมลงทุนขยายเครือข่ายมากขึ้น สุดท้ายก็ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่อ้างไว้ และหนีหายไปพร้อมกับเงินที่ลงทุน

จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอาชญากรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์ ควรมีสติและไม่ควรเชื่อใครง่ายๆ ควรตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจโอนเงินจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ