อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทย

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยสถานการณ์ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยในปี 2564 โดยในปีที่ผ่านมา ธุรกิจโลจิสติกส์มีการฟื้นตัวดี มีจำนวนกิจการเปิดใหม่ในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 ขณะที่อัตราการปิดกิจการลดลงร้อยละ 5.7 และมูลค่าการค้าระหว่างประเทศแยกตามประเภทการขนส่ง มีการเติบโตทุกประเภท ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 36,733 ราย โดยเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดกิจการใหม่จำนวน 4,411 ราย เติบโตร้อยละ 34.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และ มีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจโลจิสติกส์ 48,743.73 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2 ของการลงทุน ในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหมด โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ

(1) การอำนวย ความสะดวกของท่าเรือ

(2) การขนส่งทางระบบท่อลำเลียง

(3) ตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากร มีสัดส่วน ร้อยละ 14.2 11.7 และ 11.4 ของจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดใหม่ทั้งหมด ตามลำดับ

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทย

ธุรกิจการขนส่งทางบกและธุรกิจรับส่งพัสดุ มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (มีจำนวนธุรกิจเปิดใหม่ รวม 3,666 ราย เติบโตร้อยละ 34.68 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) โดยเมื่อดูในประเภทธุรกิจย่อย พบว่า จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (สัดส่วนร้อยละ 51.2) เป็น “ธุรกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า” เติบโตร้อยละ 26.4 รองลงมา คือ “ธุรกิจการขนส่งสินค้าอื่นๆ ทางถนน” ซึ่งรวมการขนส่งพัสดุ การขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ การขนส่งสินค้าแห้ง (สัดส่วนร้อยละ 13.9) เติบโตร้อยละ 25.8 และอีกธุรกิจที่มีการเติบโตสูง คือ “ธุรกิจรับส่งเอกสาร/สิ่งของ” ที่มีการเติบโตสูงถึงร้อยละ 201.1 โดยคาดว่ามีปัจจัยจากพฤติกรรมการรักษาระยะห่างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลดการเคลื่อนที่ของบุคคล และผลักดันให้เกิดการเคลื่อนที่ของสินค้าทั้งห่วงโซ่เพิ่มขึ้น สังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจในหมวดการขนส่งทางบก ส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business-to-Business: B2B) และธุรกิจประเภทไปรษณีย์และการรับส่งพัสดุภัณฑ์ ที่เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างผู้ค้ากับผู้บริโภค (Business-to-Customer: B2C) รวมถึงธุรกิจขนส่งสินค้าขั้นสุดท้าย (Last-Mile Delivery) ที่มีสัดส่วนและ การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ผอ.สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปี 2564 มีมูลค่า 17.09 ล้านล้านบาท ไทยพึ่งพาการขนส่งทางเรือเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67.2 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย (เติบโตร้อยละ 28.8) สินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และชิ้นส่วนรถยนต์ รองลงมา คือ การขนส่งทางอากาศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.7 (เติบโตร้อยละ 13.3) สินค้าสำคัญ ได้แก่ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร การขนส่งทางถนน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.9 (เติบโตร้อยละ 32.7) สินค้าสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์บันทึกเทป และยางธรรมชาติ และการขนส่งทางราง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.1 (เติบโตร้อยละ 34.8) สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และแผ่นไม้อัด โดยมีตลาดที่สำคัญ คือ จีน เป็นอันดับหนึ่งในทุกรูปแบบการขนส่ง

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทย

ในปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปจีนทางถนน เติบโตถึงร้อยละ 62.9 โดยคาดว่าค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้การส่งออกผลไม้ และพืชผัก มีการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (Shift Mode) มาใช้ทางถนนผ่านแดนมากขึ้น ด้วยระยะเวลาในการขนส่งที่สะดวกกว่า และอัตราค่าบริการที่มีความคุ้มค่ามากกว่า เมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น โดยเฉพาะพิกัด 0810 สินค้าผลไม้สดอื่นๆ (เช่น ทุเรียน ฯลฯ) ที่มูลค่าการส่งออกทางถนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 164.3 และมีสัดส่วนการส่งออกทางถนนร้อยละ 65.2 (จากเดิมร้อยละ 47.4) และพิกัด 0804 สินค้าผลไม้สดหรือแห้ง (เช่น มะม่วง ฝรั่ง มังคุด สับปะรด ฯลฯ) ที่มูลค่าการส่งออกทางถนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.6 และมีสัดส่วนการส่งออกทางถนนร้อยละ 92.2 (จากเดิมร้อยละ 72.3) โดยเฉพาะเส้นทางด่านศุลกากรนครพนม และเชียงของ นอกจากสินค้าผักและผลไม้แล้ว ยังมีสินค้าจำพวกเครื่องประมวลผล ส่วนประกอบเครื่องจักร และวงจรพิมพ์ ที่มีการลดสัดส่วนการขนส่งทางเรือและทางอากาศ มาใช้ทางถนนเช่นกัน จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ คาดการณ์ว่าการค้าผ่านแดนจากไทยไปจีนในปี 2565 น่าจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเชิงบวกต่อการขนส่งทางถนน ทั้งการเริ่มเปิดด่านทางบกของจีน (โม่ฮาน โหยวอี้กวน รถไฟผิงเสียง และตงซิง) และรถไฟลาว-จีนความเร็วสูง ที่คาดว่าจะขนส่งได้สะดวกมากขึ้นในช่วงกลางปี 2565

ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันภาคโลจิสติกส์ของไทยมีศักยภาพสูงขึ้น และยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีน จำพวกทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งเป็นโอกาสของการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ด้วย สำหรับภาครัฐจะต้องร่วมมือกันเร่งผลักดันการใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาว เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการส่งออกของไทย กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโลจิสติกส์ควบคู่กับการพัฒนาการค้า โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ให้ติดตามสถานการณ์โลจิสติกส์อย่างใกล้ชิด และหยิบยกประเด็นสำคัญเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ได้อย่างทันท่วงที

ผู้ที่สนใจข้อมูลสำคัญด้านธุรกิจโลจิสติกส์ สามารถติดตามผ่านช่องทางเว็บไซด์ www.คิดค้า.com

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
8 กุมภาพันธ์ 2565