บทสวดมนต์ทําวัตรเย็นแปล สวนโมกข์

หนังสือคู่มืออุบสก อุบาสิกา ทำวัตรเช้า-เย็น และบทสวดมนต์พิเศษและศาสนพิธี)

หนังสือแนะนำสำหรับผู้ที่ชอบสวดมนต์โดยเฉพาะการสวดมนต์แปล คือ หนังสือคู่มืออุบสก อุบาสิกา ทำวัตรเช้า-เย็น และบทสวดมนต์พิเศษและศาสนพิธี แปลไทย ฉบับพทุธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ ตามแบบฉบับสวนโมกขพลาราม หนังสือเล่มนี้มีการเรียบเรียงแสดงความเป็นมาอย่างสังเขปและคำแปลของแต่ละพระสูตรเพื่อการศึกษาค้นคว้าต่อและประกอบการเจริญจิตตภาวนา

ในหนังสือมีคำอธิบายว่า

Show

“รูปแบบการทำวัตรสวดมนต์มีมาแต่โบราณแล้วแต่ยังไม่เป็นแบบแผนเดียวกันพระภิกษุสามเณรแต่ละสำนักต่างเลือกบทสวดกันตามอัธยาศัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ สมัยที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในฉายา วชิรญาณภิกขุ ทรงพิจารณาในข้อนี้ จึงทรงคัดเลือกคำสอนในพระสูตรต่างๆ จากพระไตรปิฎก ในส่วนบททำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ทรงเลือกบทระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จากธชัคคสูตรเป็นบทหลัก และยังปรากฏในพระสูตรอื่นๆ อีก แล้วทรงพระราชนิพนธ์ประกอบเพิ่มเติม…”

บทสวดมนต์ทําวัตรเย็นแปล สวนโมกข์

ผู้เขียนขอคัดข้อความบางส่วนจากบทความในเวปไซต์ของสวนโมกข์ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับสวดมนต์ทำวัตร ดังนี้

“เรื่องทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นนี่ไม่มีประเพณีในครั้งพุทธกาล เรามาตั้งกันขึ้นในประเทศนี้ที่พุทธศาสนาเข้ามาถึง แต่ว่าการกระทำบางอย่างซึ่งรวมอยู่ในการทำวัตรสวดมนต์นี่มันมีในครั้งพุทธกาล นั่นคือการสาธยายธรรม ถ้าเธอมีปัญญาฉลาดสังเกตจะพบว่าที่เรียกว่าทำวัตรทำวัตรเย็นนี่ ที่จะทำ ที่กำลังจะทำ ทำวัตรเย็นนี่ ในการทำวัตรเย็นนั่น อย่างแรกที่สุดมันก็มีการสาธยายธรรมะที่เป็นหลักปฏิบัติ หรือสาธยายรายละเอียดของพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งก็กล่าวได้ว่าหรือเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องรู้และต้องปฏิบัติด้วยเหมือนกัน นี่เพื่อไม่ให้มันลืม เขาก็สาธยาย…”

บทสวดมนต์ทําวัตรเย็นแปล สวนโมกข์


ว่าด้วยอานุภาพแห่งการระลึกพระรัตนตรัย – ธชัคคสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร เขตพระนครสาวัตถีพระองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องสงครามระหว่างเทวดากับอสูร เมื่อเทวดาเกิดความกลัวขึ้น ท้าวสักกะจึงบอกให้หมู่เทพทั้งหลายมองดูยอดธงหรือชายธงของพระองค์ หรือว่าของเทพชั้นรองลงมาตามลำดับความกลัวก็จะหายไปได้หรือไม่ได้บ้าง เพราะเทพผู้เป็นใหญ่เหล่านั้นยังเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่าเมื่อเวลาเข้าไปอยู่ในป่า เกิดความกลัวขึ้น ก็ให้ระลึกถึงพระองค์ซึ่งเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบทว่า อิติปิโส… ภะคะวาติ. หรือระลึกถึงพระธรรมในบทว่า สวากขาโต…วิญญูหีติ. หรือระลึกถึงพระสงฆ์ในบทว่า สุปะฏิปันโน…โลกัสสาติ.เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ความกลัวทั้งหลายก็จักไม่มีเลย


อานิสงส์ 6 ข้อ ของการไหว้พระสวดมนต์แปล ทำวัตรเช้า เย็น ของสวนโมกข์ ตามที่ท่านพระพุทธทาสได้กล่าวไว้  ขอสรุปคร่าวๆ ดังนี้

  1. การทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นคือ การไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทั้งเช้าทั้งเย็น. ถ้าคนไหว้พระสวดมนต์จริง ทำถูกต้องจริงด้วยจิตใจ จะมีจิตใจเข้าถึงพระพุทธเจ้า ในลักษณะทีเป็นธรรมกาย ได้ทุกครั้งที่ทำวัตรเช้าเย็น
  2. เป็นการทำสมาธิหมู่ หรือถ้าทำคนเดียวก็เป็นสมาธิเดี่ยว โดยการกำหนดที่เสียง หรือกำหนดที่ความหมาย กำหนดทุกอักขระทุกพยัญชนะ
  3. เป็นการศึกษาธรรมะ เพราะเรารู้ความหมาย
  4. เป็นการเตือนตัวเองโดยทางธรรม
  5. เป็นการท่องจำ เมื่อเราจำได้ เราก็นำหลักธรรมะนั้นสอนตัวเอง หรือไปสอนผู้อื่นได้
  6. เป็นการบริหารสุขภาพ โดยเฉพาะสมอง เพราะว่าเราใช้สติสัมปชัญญะ

เปิดอ่านหนังสือ สวดมนต์แปล ทำวัตรเช้า เย็น ของสวนโมกข์ คลิ๊กที่นี่

โดย dhammaintrend ร่วมเผยแพร่และแบ่งปันเป็นธรรมทาน หรือสามารถหาหนังได้ ที่ห้องสมุดธรรมะของสวนโมกข์

ส่วนใครที่สนใจฟังบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าของสวนโมกข์ ขอแนะนำวิดีโอข้างล่างนี้


สัพเพเหระ นอกเรื่องจากหนังสือ สวดมนต์แปล ทำวัตรเช้า เย็น ของสวนโมกข์

ในช่วงเวลาที่เป็นทุกข์และหาทางออกไม่ได้นั้น ผู้เขียนได้ตัดสินใจพึ่งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ โดยบวชชีพรามหณ์ที่วัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือประมาณ 8 วัน ตอนนั้นเป็นช่วงสงกรานต์ ที่วัดเงียบสงบมากและไม่ใครบวชชีพราหมณ์ในวัดด้วยเลย มีหลวงพ่อซึ่งเป็นเจ้าอาวาสกับพระอีกไม่กี่รูปและมีแม่ชีอยู่สองท่าน นี่จึงเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้สวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น (แบบไม่แปลและคนละแบบกับสวนโมกข์) ช่วงที่ไปอยู่วัดนั้น หลวงพ่อกำลังยุ่งอยู่กับการสร้างวัดใหม่ หลวงพ่อจึงได้ให้คำแนะนำสั้นๆ ว่า “ถ้านั่งสมาธิไม่ได้ เวลาสวดมนต์ก็ให้ท่องเป็นคำๆ สิ” แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าทำยังไง

เช้าวันหนึ่ง หลวงพ่อขนเอาถาดและถ้วยทองเหลืองออกมาจากห้องเก็บของ แล้วบอกว่าให้ช่วยกันขัดกับแม่ชีท่านหนึ่ง ระหว่างขัดถ้วยทองเหลืองแม่ชีชวนคุยไปเรื่อยเปื่อย แต่ระหว่างคุยแม่ชีคอยสังเกตอาการต่างๆ หลังจากทำวัตรเย็น แม่ชีได้สอนเดินจงกรมเป็นการส่วนตัว ซึ่งแม่ชีบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่สอนตัวต่อตัว แม้กระทั่งเวลาออกจากสมาธิแม่ชีก็มักจะบอกว่า “กำลังข่มจิตอยู่นะ” และรู้หมดว่ากำหนดจิตไว้ที่ตรงจุดไหนของร่างกาย กระหม่อม หน้าผาก หน้าท้อง .. แม่ชีรู้แม้กำลังจิตวิ่งออกข้างนอก จิตฟุ้งซ่าน แม่ชีรู้หมด ซึ่งที่รู้นั้น เป็นเพราะว่าแม่ชีสามารถกำหนดและรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ หรือที่เรียกว่า “เจโตปริยญาณ” เป็นอภิญญาหรือความรู้พิเศษอันหนึ่ง ส่วนหลวงพ่อท่านก็มีอภิญญาญาณ อื่นๆ ด้วยเหมือนกัน

ถึงแม้จะมีครูบาอาจารย์เก่งสักแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้นได้ในพริบตา มีแค่คำสอนสั้นๆ ที่ทั้งหลวงพ่อและแม่ชีพูดในเวลาต่างกันแต่พูดเหมือนกันคือ ให้ “ปล่อยวาง” และ “ปัญญาเท่านั้นที่จะช่วยได้” ผู้เขียนพก 2 คำนี้ (ปล่อยวาง กับ ปัญญา) ติดตัวกลับไปกรุงเทพ และเริ่มค้นหาความหมายของทั้งสองคำนี้ ระหว่างนั้นก็ไหว้พระ สวดมนต์ อ่านหนังสือธรรมะ นั่งสมาธิสั้นๆ จนกระทั่งผ่านไปหลายอาทิตย์ หลายเดือน จนถึงหนึ่งปี ทุกสิ่งทุกอย่างก็เริ่มคลี่คลายบรรเทาเบาบางลง แต่ก็ไม่ได้จางหายไปทั้งหมด…

เทคนิคการฝึกสมาธิ ด้วยการสวดมนต์

พูดถึงการสวดมนต์ คือการฝึกสมาธิแล้ว หลังจากที่หลวงพ่อแนะนำว่าให้ท่องเป็นคำๆ อยู่มาวันหนึ่งจิตเกิดเรียนรู้ขึ้นมาได้เอง โดยใช้วิธีเพ่งตัวอักษรพร้อมกับสวดมนต์ไปด้วย วิธีการคือ การอ่านทีละคำ ยกตัวอย่างเช่น

ชาติปิ ทุกขา, เวลาสวดมนต์ จะกำหนดเป็นทีละคำ โดยเวลาอ่านจะเพ่งแยกเป็นคำๆ เช่น ชา ติ ปิ ทุก ขา

บทสวดมนต์ทําวัตรเย็นแปล สวนโมกข์

ชาติปิ ทุกขา, (ชา ติ ปิ ทุก ขา)

แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์; (แม้ ความ เกิด ก็ เป็น ทุกข์)

ชะราปิ ทุกขา, (ชะ รา ปิ ทุก ขา)

แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ ; (แม้ ความ แก่ ก็ เป็น ทุกข์)

มะระณัมปิ ทุกขัง, (มะ ระ ณัม ปิ ทุก ขัง)

แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ; (แม้ ความ ตาย ก็ เป็น ทุกข์)

หมายเหตุ วิธีนี้ใช้ได้กับการสวดมนต์ช้าๆ และสิ่งที่ได้คือ สมาธิที่แน่วแน่ ดิ่งลึก แต่สิ่งที่ขาดหายไปนั้นคือ ความเข้าใจในความหมายของคำแปล นั่นเพราะการเพ่ง (สมถะ) หากลองถอยออกมาสักหน่อย เหมือนเราอ่านหนังสือทั่วไป ก็จะเข้าใจความหมายนั้นได้

เทคนิคการฝึกสมาธิด้วยการฟัง

เวลาฝึกด้วยการฟังก็เหมือนกัน เวลาฟังพระสวด ก็จะใช้วิธีแยกเสียงเป็นคำๆ และสวดในใจตามไปด้วยเลย โดยระหว่างฟังเสียง เราสามารถกำหนดให้ถอยเข้าหรือถอยออกได้ หมายถึง เข้าไปจับคำในเสียงนั้นๆ เหมือนการเพ่งคำด้านบน หรือถอยออกมาแบบไม่กำหนดคำ แต่อาศัยว่าสติและสมาธิยังจับอยู่กับเสียงนั้น คล้ายๆ เราฟังเพลง ซึ่งเทคนิคหรือวิธีการแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน เรียกว่า จริตของใครของมัน

หมายเหตุ วิธีการกำหนดคำนี้ ปกติโดยส่วนตัวจะใช้เวลาฟังพระสวดยาวๆ ที่ไม่ได้สวดแปล เพราะว่าสามารถทำสมาธิได้ดีกว่า หากเป็นสวดแปล ก็จะเน้นไปที่ทำความเข้าใจของบทสวดนั้นๆ

เทคนิคการฝึกสมาธิ แบบฟังเสียงตัวเอง

กรณีสวดมนต์แบบไม่ต้องดูหนังสือก็คือจำบทสวดมนต์ได้ บางทีก็ไปจับเอาที่ปาก คือดูปากตอนขยับพร้อมกับเสียงลมที่ออกจากปาก จะได้ยินเสียงลมที่ลอดออกมาชัดเจน จะมีความรู้สึกเพลินไปอีกแบบ หรือจับเสียงของตัวเองที่พูดออกมา บางทีระหว่างสวดมนต์ก็อาจจะมีความคิดแทรกขึ้นมา บางครั้งก็อาจจะฟังความคิดไปด้วยสวดมนต์ไปด้วย บางครั้งก็หลุดเพราะมัวแต่ไปฟังความคิดนั้น ซึ่งเรียกว่าขาดสตินั่นเอง ก็แค่ดึงสติกลับมาใหม่เท่านั้นเอง


การสวดมนต์ถือว่าเป็นการภาวนาได้ ภาวนา แปลว่า ทำให้เกิด การสวดมนต์ก็ทำให้เกิดความรื่นเริงเพลิดเพลิน หรือทำให้เกิดความสงบภายในจิตใจได้ขณะสวดมนต์อยู่บางทีอุบายเกิด บางทีธรรมะเกิดขึ้นมาขณะสวดมนต์ก็ได้ ให้มีความตั้งอกตั้งใจเคารพในการสวดมนต์ มีความแน่วแน่ในคำสวดของเรา นั้นเป็นการภาวนาอย่างสมบูรณ์ทีเดียว