ผลงานสำคัญที่พระยากัลยาณไมตรีมีต่อประเทศไทย

พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์)

กรกฎาคม 03, 2560

พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์)
ประวัติ
      พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) (อังกฤษ: Francis Bowes Sayre; 30 เมษายน พ.ศ. 2428 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2515) เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นบุตรเขยของวูดโรว์ วิลสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ผลงาน
      ผลงานของพระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis Bowes Sayre)
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระองค์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ในประเทศตามแบบของประเทศศิวิไลซ์ที่ใช้กัน ซึ่งพระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis Bowes Sayre) ก็มีส่วนช่วยในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยรัฐธรรมนูญที่พระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis Bowes Sayre) ร่างนั้นมีเพียง ๑๒ มาตรา เรียกว่าเป็น “Outline of Preliminary Draft” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗7.

ผลงานสำคัญที่พระยากัลยาณไมตรีมีต่อประเทศไทย

ฟรานซิส บี. แซร์ เป็นชาวอเมริกันซึ่งเป็นที่รู้จักกันในบ้านเกิดของเขาในฐานะ "ลูกเขย" ของ วูดโรว์ วิลสัน อดีตประธานาธิบดีคนที่ 28 ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน แซร์ยังเป็นผู้สร้างคุณงามความดีให้กับสยามหลายประการ โดยเฉพาะการเจรจาคลี่คลายปัญหาสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกับชาติตะวันตก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น "พระยากัลยาณไมตรี"

บ้านเกิดของแซร์อยู่ที่เซาธ์เบธเลเฮม ในเพนซิลเวเนีย เรียนจบด้านกฎหมายจากฮาร์วาร์ด เมื่อปี ค.ศ. 1912 เริ่มงานด้านกฎหมายด้วยการเป็นผู้ช่วยอัยการแห่งนิวยอร์กเคาตี ความสนใจในงานด้านการกุศลทำให้เขาได้พบกับ "เจสซี" ลูกสาวของวิลสัน และได้แต่งงานกันที่ทำเนียบขาวในปี 1913 ก่อนที่เขาจะออกไปเป็นอาจารย์สอนที่ฮาร์วาร์ดในปี 1917 หนึ่งปีหลังจากนั้นเขาก็จบดอกเตอร์

เมื่อถึงฤดูหนาวในปี 1923 แซร์ได้รับข้อเสนอจากคณบดีโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ดให้ไปเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งเขาตอบตกลงด้วยอยากเผชิญกับความแปลกใหม่ โดยเข้ามาอยู่ใต้บังคับบัญชาของพระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสมัยนั้น

แซร์เล่าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในอัตชีวประวัติของเขา (Glad Adventure) ว่า "ข้าพเจ้ามีความสนิทสนมกับองค์พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นเป็นอย่างดีเยี่ยมทีเดียว สามารถถวายจดหมายส่วนตัวโดยตรงก็บ่อย ๆ พระองค์จะทรงอักษรตอบด้วยฝีพระหัตถ์เอง ซึ่งบางทีก็ยาวตั้ง 12 หรือ 15 หน้ากระดาษ พระองค์ทรงภาษาอังกฤษอย่างดีเลิศ เมื่อพระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นั้น ทรงโปรดปรานวรรณกรรมเชกสเปียร์มาก เคยมีพระราชปรารถนาจะแปลบทละครเชกสเปียร์ออกเป็นภาษาไทย"

แซร์บรรยายถึงสภาพบ้านเมืองสยามที่เขาได้เห็นไว้อย่างสวยงาม เขาบอกว่าเมืองสยามนั้นอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีผลผลิตข้าวเหลือบริโภคปี ๆ หนึ่งเกือบสองล้านตัน ชาวนา "ส่วนใหญ่" ล้วนมี "โฉนดที่ดิน" ในที่ทำกินของตนเอง และยังบอกว่า

"ข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่าในประวัติศาสตร์ของประเทศสยามจะต้องไม่เคยมีการก่อกำเริบของราษฎรเลยสักครั้งเดียว" (ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน)

ภารกิจสำคัญของแซร์ในสมัยรัชกาลที่ 6 คือการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับชาติตะวันตก ซึ่งไทยเสียเปรียบอย่างมากในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

การที่สยามได้เข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีส่วนทำให้การแก้ปัญหานี้มีความเป็นไปได้มากขึ้น เพราะสนธิสัญญาที่มีกับคู่สงครามอย่างเยอรมนีและออสเตรียก็เป็นอันยกเลิกไปโดยปริยาย ฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ เองก็เห็นชอบกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับสยาม เมื่อสยามทำการปรับปรุงระบบกฎหมายให้ทันสมัย แต่ชาติพันธมิตรอื่น ๆ อย่างเช่นฝรั่งเศส หรืออังกฤษ ยังไม่ยอมเลิกง่าย ๆ แซร์จึงต้องเดินทางไปยังยุโรปเพื่อทำการเจรจากับชาติเหล่านี้ ซึ่งเขาก็สามารถโน้มน้าวให้ชาติต่าง ๆ ยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ (ซึ่งมีลักษณะเป็นการสละสิทธิพิเศษในสนธิสัญญาเก่าตามเงื่อนไขอย่างค่อยเป็นค่อยไป) ได้สำเร็จลุล่วง

หลังการผลัดแผ่นดินในปี 1925 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงมีพระราชประสงค์ให้แซร์กลับมาช่วยราชการอีกครั้ง (เดิมทีสัญญาของแซร์กับสยามมีแค่ปีเดียว แต่เขาได้ต่อสัญญาอีกปีเพื่อทำการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศในยุโรป) แซร์จึงเดินทางกลับมาไทยในปี 1926 ดังที่เขากล่าวในอัตชีวประวัติว่า

"ผมไม่อาจลืมสยาม ใจผมยังคงนึกถึงตะวันออกไกลอยู่เสมอ ในเดือนพฤศจิกายน 1925 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งผมเคยถวายงานรับใช้ได้เสด็จสวรรคต บัลลังก์ของพระองค์สืบทอดถึงเจ้าฟ้าประชาธิปก ผู้เป็นอนุชาต่างพระราชมารดา [เป็นความเข้าใจผิดของแซร์ จริง ๆ แล้วกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชมารดาพระองค์เดียวกัน] และพระเจ้าอยู่หัวประชาธิปกก็ทรงมีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะให้ผมกลับไปยังสยาม แม้ผมไม่อาจละทิ้งงานที่ฮาร์วาร์ดได้ ในช่วงวันหยุดซัมเมอร์ปี 1926 ผมก็เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อสนทนาและถวายคำปรึกษาตามพระราชประสงค์ถึงการปฏิรูปธรรมนูญการปกครองซึ่งมีการเรียกร้องกันมาก"

รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงแซร์ เป็นคำถาม 9 ข้อ ซึ่งพระองค์ทรงขอให้แซร์ตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน โดยสองคำถามแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสืบทอดราชบัลลังก์ ส่วนข้อที่ 3 และ 4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบการปกครอง มีความว่า

"คำถามที่ 3 ประเทศนี้จำเป็นต้องมีระบบรัฐสภาเข้าสักวันหนึ่ง คำถามคือรัฐบาลในระบบรัฐสภาแบบแองโกล-แซกซอน เหมาะสมกับชาวตะวันออกหรือไม่?

"คำถามที่ 4 ประเทศนี้พร้อมที่จะมีรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชนหรือยัง?

พร้อมกันนี้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงให้พระราชวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยว่า "ในคำถามที่ 3 นั้นข้าพเจ้าเองยังไม่แน่ใจนัก ส่วนคำถามที่ 4 โดยความเห็นส่วนตัวข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่"

แซร์เมื่อได้อ่านแล้วจึงได้ถวายความเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างที่เหมาะสมของรัฐบาลสำหรับสยามในสมัยนั้นว่า

"ข้าพเจ้าไม่คิดว่าการพิจารณาให้มีระบบรัฐสภาโดยสมาชิกมีที่มาจากประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติได้ในสยาม ณ เวลานี้ ระบบรัฐสภาที่สามารถทำงานได้นั้นขึ้นอยู่กับผู้ลงคะแนนเสียงที่มีการศึกษา หากปราศจากการควบคุมอย่างชาญฉลาดโดยประชาชนแล้ว องค์กรเช่นนี้ย่อมเสื่อมทรามลงกลายเป็นองค์กรทุจริตและเผด็จอำนาจเป็นแน่ จนกว่าประชาชนทั่วไปในสยามจะได้รับการศึกษาที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ มันคงอันตรายเกินไปที่จะตั้งรัฐสภาภายใต้การควบคุมของประชาชน ด้วยเหตุนี้มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่อำนาจเด็ดขาดจะต้องอยู่กับสถาบันกษัตริย์ต่อไป"

พร้อมกันนี้ แซร์ยังได้แนบสิ่งที่เขาเรียกว่า "Outline of Preliminary Draft" หรือเค้าโครงเบื้องต้นว่าด้วยโครงสร้างของรัฐบาล ซึ่งมีทั้งหมด 12 ข้อ โดยข้อแรกมีความว่า

"อำนาจสูงสุดในราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์" และข้อสอง "พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีผู้มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ในการบริหารงานของรัฐบาล และเป็นผู้ซึ่งอาจถูกถอดจากตำแหน่งได้ทุกเวลาโดยพระมหากษัตริย์" (อ่านรายละเอียดได้จาก: Siam's Political Future: Documents from the End of the Absolute Monarchy)

ร่างธรรมนูญการปกครองตามข้อเสนอของแซร์ จึงมีลักษณะเป็นการยืนยันรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป ซึ่งตามความเห็นของเขาถือเป็นการปกครองที่เหมาะกับสยามที่สุดในขณะนั้น

แต่ร่างดังกล่าวก็มิได้มีการประกาศใช้แต่อย่างใด จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอีกหกปีต่อมา (ค.ศ. 1932 หรือ พ.ศ. 2475)

ทั้งนี้ แม้แซร์จะพ้นจากหน้าที่ในสยามไปแล้ว เขาก็ยังได้รับการยอมรับนับถือจากรัฐบาลสยามเป็นอย่างยิ่ง โดยในสมัยที่เขารับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ประจำฟิลิปปินส์ช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 รายงานจากข่าวกรองอเมริกันอ้างว่าช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลาทูตไทยจะเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกก็มักจะได้รับคำสั่งให้แวะคารวะ "พระยากัลยาณไมตรี" ที่ฟิลิปปินส์อยู่เสมอ และในปี 1953 รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับการเดินทางกลับมาเยือนเมืองไทยกว่า 30 ปีให้หลังให้กับพระยาชาวอเมริกันรายนี้อย่างสมเกียรติด้วย