ด้าน สังคม และวัฒนธรรม สมัย พ่อขุน รามคำแหงมหาราช

1. วัฒนธรรมทางด้านการศึกษา 
    ในสมัยกรุงสุโขทัยการจัดรูปแบบทางการศึกษาในช่วงแรกจะได้รับอิทธิพลจากคติ พราหมณ์เข้ามาต่อจากนั้นจึงรับคติธรรมทางพุทธศาสนาเข้ามาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ ของการจัดการศึกษาทั้งสิ้น การศึกษาในสุโขทัยน่าจะมีลักษณะต่าง ๆ หลายลักษณะดังนี้
1.1 การศึกษาทางพุทธศาสนา สุโขทัยเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนทุกวันที่ไม่ใช่วันพระ โดยประทับบนพระแท่นมนังศิลาบาตร ถ้าเป็นวันพระจะทรงนิมนต์พระสงฆ์มาเทศนาสั่งสอนราษฎร ในรัชกาล พระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือ พระเจ้าลิไทย พระองค์ทรงผนวช และอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาหลายด้าน ที่สำคัญคือ การส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนภาคเหนือ ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา
1.2 การศึกษาในวิชาชีพ เป็นการเรียนตามกฎธรรมชาติ เรียนจากพ่อแม่ เรียนจากชุมชนที่ตัวอยู่ใกล้ เรียนจากการกระทำ การฝึกฝนศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ การทำไร่ไถ่นา การปั้นเครื่องปั้นดินเผา งานทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรมหรือสถาปัตยกรรม เป็นต้น

2. วัฒนธรรมทางด้านตัวอักษรไทย

    ศิลาจารึกหลักที่ 1 ปรากฎข้อความที่เกี่ยวข้องอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงตอนหนึ่งว่า “ …1205ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในแลใส่ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผุ้นั่นใส่ไว้…” จากศิลาจารึกดังกล่าวจึงเป็นที่เชื่อกันว่าอักษรไทยพ่อขุนรามคำแหงซึ่งลง ศิลาจารึกปี พ.ศ. 1826 นี้เป็นอักษรไทยเก่าแก่ที่สุดที่ใช้ในประเทศไทย สำหรับความเป็นมาของอักษรพ่อ ขุนรามคำแหงนั้นนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักอักษรศาสตร์ได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะ ยอร์ช เซเดส์ สรุปว่าอักษรพ่อขุนรามคำแหงดัดแปลงมาจากอักษรขอมหวัด เพราะมีรูปลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่จากการศึกษาของ นันทนา ด่านวัฒน์ ทางด้านอักขรวิทยาพบว่าอักษรต้นตระกูลของอักษรพ่อขุนรามคำแหง คืออักษรหราหมี อักษรคฤนห์ อักษรขอมหวัด เพราะปรากฎความคล้ายคลึงทางด้านอักขรวิทยาของอักษรพ่อขุนรามคำแหงและอักษรใน ตระกูลทั้งสาม อักษรพ่อขุนรามคำแหงนั้นปรากฎใช้เฉพาะในรัชสมัยของพระองค์เท่านั้น ต่อมาในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยได้ปรากฎรูปอักษรไทยแบบใหม่ขึ้นอักษรพบใหม่ นี้เรียกว่าอักษรพระเจ้าลิไทย

3. วัฒนธรรมทางด้านวรรณกรรม

     วรรณกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยคงจะมีจำนวนมากและหลายประเภท หากแต่มิได้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ที่หลงเหลือ ถึงปัจจุบัน มีดังนี้ 3.1 ศิลาจารึก ศิลาจารึกมีประโยชน์ทางการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีตลอดจน วิชาอักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และอื่น ๆ ศิลาจารึกที่พบในสมัยสุโขทัยมีประมาณ 30 หลัก ที่สำคัญมากได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหง กรมศิลปากรได้จัดไว้เป็นอันดับแรกของวรรณกรรม ซึ่งรวมคุณค่าทางภาษา ทั้งความรู้ด้านกฎหมาย ความรู้ทางการปกครอง ความรู้ทางด้านวัฒนธรรม ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม นับว่าวรรณกรรมประเภทนี้เป็นหลักฐานยืนยันเรื่องราวทางวัฒนธรรมสมัยสุโขทัย ได้เป็นอย่างดี 3.2 ไตรภูมิพระร่วง ถือเป็นวรรณกรรมปรัชญาชิ้นแรกของไทย พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ. 1888 นับเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าทางปรัชญา คุณค่าทางวรรณคดีโดยเฉพาะการสอนจริยธรรมคือ สอนให้คนรู้จักความดีความชั่ว รู้จักใช้วิจารณญาณและสอนให้คนมีศีลธรรมรักษาความดีและมีความรับผิดชอบ 3.3 สุภาษิตพระร่วง วรรณกรรมชิ้นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยหรือไม่ อย่างไรก็ตามสุภาษิตพระร่วงนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งวรรณกรรม หนึ่ง เพราะมีจุดประสงค์ที่จะสั่งสอนคน สาระการสอนนั่นมีทั้งวิชาความรู้ เรื่องมิตรและการผูกมิตร การปฏิบัติตนต่อบุคคลประเภทต่าง ๆ สอนให้รู้จักรักษาตัวให้พ้นภัย สอนให้รอบคอบ เป็นต้น เช่น “ เมื่อน้อยให้เรียนวิชาให้หาสินเมื่อใหญ่ “ หรือ” ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง “ ดังนั้นสุภาษิตพระร่วงจึงมีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยเป็นอันมาก ทั้งยังมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่เพราะได้นำเอาสุภาษิตมาใช้เป็นคติธรรม ในการดำรงชีวิตอีกด้วย 3.4 ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ บาง คนเชื่อว่าตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แต่งในสมัยสุโขทัยเพราะมีเนื่อเรื่องและท้องเรื่องอ้างถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่เมืองสุโขทัย แต่บางคนก็เชื่อว่าเป็นวรรณกรรมที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จุดประสงค์การแต่งเพื่อเป็นการแนะนำตักเตือนข้าราชการสำนัก ฝ่ายในให้มีกริยามารยาทที่เหมาะสมกับศักดิ์ศรีของตนเองและเพื่อเชิดชู เกียรติยศของพระมหากษัตริย์นอกจากนี้ยังทรงคุณค่าทางด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีของราชสำนักโดยเฉพาะประเพณีพราหมณ์ทั้ง 12 เดือน

4.วัฒนธรรมการแต่งกาย

     นายชิน อยู่ดี ได้ทำการศึกษาค้นคว้าการแต่งกายของประชาชนชาวสุโขทัยโดยอาศัยหลักฐานประเภทโบราณวัตถุสมัยสุโขทัย ได้สรุปการแต่งกายสมัยสุโขทัยว่า 4.1 การแต่งกายของผู้หญิง ผู้หญิงในสมัยสุโขทัยจะไว้ผมยาว เกล้ามวย มีเกี้ยวหรือพวงมาลัยสวมรอบมวย มวยนั้นมีทั้งเกล้าอยู่กลางกระหม่อมและที่ท้ายทอย มีปิ่นปัก สวมเสื้อแขนยาวตัวคับ นุ่งผ้าถุง ผู้หญิงบางคนห่มผ้าสไบเฉียง ผ้าที่ใช้มีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม สีของผ้ามีสี แดง ดำ ขาว เหลือง เขียว ผัดหน้า วาดคิ้ว สวมแหวน เจ้านายฝ่ายในมีกรองคอ พาหุรัด และทองพระกรทรงมงกุฎยอดแหลมหรือกรอบพักตร์ 4.2 การแต่งกายของผู้ชาย ผู้ชายสมัยกรุงสุโขทัยไว้ผมยาว มุ่นมวยไว้ที่กลางกระหม่อมก็มี ไว้ที่ท้ายทอยก็มี สวมเสื้อผ้าผ่าอกแขนยาว และสวมกางเกงขายาวแบบชุดคนเมือง ทหารสวมเสื้อแขนสั้น ถ้าพระยาห้อยผ้าไว้ที่บ่า มีผ้าคาดพุงหรือเข็มขัด ชายบางคนนุ่งกางเกงขาสั้น เจ้านายนุ่งผ้าโจงกระเบนคาดเข็มขัด และมีผ้าประดับทับโจงกระเบนห้อยลงมา 2 ข้าง ผ้านี้จีบตามแนวเส้นนอน เวลาออกศึกนุ่งกางเกงขายาว มีผ้าโจงกระเบนทับอย่างเครื่องแต่งการละคร หมวกที่ผู้ชายใส่มีมงกุฎยอดแหลม หมวกทรงประพาสและหมวกรูปคล้ายฝาชี ซึ่งบางท่านเรียกว่าหมวกชีโบ

ชลประทานสมัยสุโขทัย

     ดังได้ทราบกันแล้วว่าสภาพภูมิประเทศของสุโขทัยไม่สมบูรณ์ดี ทำให้มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมในฤดูฝน และน้ำแล้งในฤดูแล้ง จึงต้องมีการสร้างระบบชลประทานเพื่อกักเก็บน้ำ บรรพบุรุษสุโขทัยที่ยังชีพด้วยกสิกรรม จึงสร้างทำนบดินขนาดมหึมาขวางกั้นหุบเขา ระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมา ซึ่งเชิงเขาทั้งสองห่างกัน 400 เมตร สำหรับเก็บกักน้ำไว้ภายในหุบเขา ซึ่งเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า สรีดภงค์ แปลว่า ทำนบ แล้วขุดคลองระบายน้ำเข้าไปในตัวเมืองสุโขทัยและตัวเมืองใกล้เคียงซึ่งปกติเป็นถิ่นกันดารแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้กลับกลายเป็นแหล่งดินดีน้ำอุดม สรีดภงค์ หรือทำนบพระร่วงนี้ เป็นเขื่อนดินกั้นน้ำ โดยที่น้ำในเขื่อนจะถูกส่งไปตามคลองสู่กำแพงเมืองไหลเข้าตระพัง (สระ) เพื่อใช้สอยในเมือง และพระราชวัง

หัตถกรรมสมัยสุโขทัย

     ชาวสุโขทัย นอกจากจะมีอาชีพทำการเกษตรแล้ว ยังมีช่างปั้นช่างเผา หลักฐานคือ เตาทุเรียง เตาเผาถ้วยชามสังคโลก ปัจจุบันสำรวจพบใน 3 บริเวณ คือ เตาทุเรียงบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย เตาทุเรียงป่ายาง และเตาทุเรียงเกาะน้อย ที่อำเภอศรีสัชนาลัย สำหรับที่เมืองเก่าเป็นเนินดินอยู่ระหว่างวัดศรีชุมและวัดพระพายหลวง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 พบเตาโดยรอบ 49 เตา อยู่บริเวณคันคูแม่น้ำโจนด้านทิศเหนือ 37 เตา ด้านทิศใต้ข้างกำแพงเมือง 9 เตา และด้านทิศตะวันออก 3 เตา เตาเผามีลักษณะคล้ายประทุนเกวียน ขนาดกว้าง 1.50-2.00 เมตร ยาว 4.5 เมตร แบ่งเป็น 3 ตอน คือ ที่ใส่ไฟ ที่วางถ้วยชาม และปล่องไฟ เครื่องปั้นที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นถ้วยชาม มีขนาดใหญ่หนา น้ำยาเคลือบขุ่น สีเทาแกมเหลือง มีลายเขียนสีดำ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกไม้ ปลา และจักร

อ้างอิงจาก : https://www.gotoknow.org/posts/479752