โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แผนกกุมารเวช

งานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด (Neonatal Intensive Care Unit: NICU) ให้การดูแลทารกแรกเกิดถึง28 วัน ที่มีอาการอยู่ในระยะวิกฤตและทารกที่มีความเสี่ยงสูงให้พ้นภาวะวิกฤตอย่างปลอดภัยตามมาตรฐานวิชาชีพ  อีกทั้งยังให้การดูแลโดยเน้นครอบครัวเป็นศูนย์กลางสนับสนุนให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลและร่วมตัดสินใจในการดูแลรักษาทารกในทุกขั้นตอน

นัดล่วงหน้า (เฉพาะผู้ป่วยที่มีบัตรรพ.ธรรมศาสตร์ฯ)

โทร. 0 2926 9860 วันราชการ (08.00 - 16.00 น.) เฉพาะวันราชการ

(ยกเว้น คลินิกพิเศษทันตกรรม ติดต่อโดยตรงกับทางคลินิก โทร. 0 2926 9371) >>คลิกรายละเอียด<<

2. หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก ในเวลาราชการ

นัดล่วงหน้า (เฉพาะผู้ป่วยที่มีบัตรรพ.ธรรมศาสตร์ฯ)

โทร. 0 2926 9991 วันราชการ (08.00 - 16.00 น.) เฉพาะวันราชการ

(ยกเว้น คลินิกทันตกรรม ติดต่อโดยตรงกับทางคลินิก โทร.0 2926 9896) 

ศูนย์บริการข้อมูล : หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก (ในเวลาราชการ) ) :

โทร. 02-926-9991 วันจันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ให้บริการ เวลา 08.00 - 16.00 น.


ศูนย์บริการข้อมูล : คลินิกพิเศษบริการเฉพาะทาง (นอกเวลาราชการ) :

โทร. 02-926-9860 วันจันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ให้บริการ เวลา 08.00 - 16.00 น.

กุมารเวชกรรม ดูแลด้วยรัก เสริมด้วย โภชนาการ เสียงร้องของเด็กป่วย เหมือน เสียงของหัวอกพ่อแม่ที่กำลังร้องไห้ การดูแลผู้ป่วยเด็ก จึงต้องใช้ความทุ่มเท เอาใจใส่ ประคับประคอง ให้เด็กผ่านจุดที่ทรมานไปให้ได้ การดูแลเอาใจใส่ แก้ปัญหาด้วยการป้องกัน ทั้งการสร้างสุขภาพที่ดีให้เด็ก และการจัดการด้านโภชนาการที่ดี จะทำให้ ลูกหลานแข็งแรง จะได้ไม่ต้องเป็นเด็กป่วยอีกต่อไป

จากในตอนที่แล้วแอดมินได้พาทุกคนเข้าสู่โลกแห่งความเร่งด่วน ที่แม้แต่นาทีเดียวก็ช้าไม่ได้เด็ดขาดอย่าง ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเร่งด่วนขนาดไหนแถมพวกเขายังแบ่งออกเป็นทีมเพื่อให้ทำงานเร่งด่วนได้อย่างครบครันและรวดเร็ว ต่อจากนี้เราก็คงไม่สงสัยกันแล้วว่าเวลาไปโรงพยาบาลแล้วเห็นหมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนวิ่งกันให้วุ่นเนี่ยเขาทำอะไรกัน

หลังจากที่เราเดินทางมาไกลด้วยเรื่องของคนไข้แบบรวมๆ วันนี้จะถึงคิวของเยาวชนตัวจิ๋วของเรากันบ้าง ที่แอดต้องเจาะจงขนาดนี้ก็เพราะตอนนี้แอดจะพาทุกคนไปรู้จักกับแผนกที่ข้องเกี่ยวกับเด็กโดยเฉพาะอย่างกุมารเวชกรรมและคลินิกโภชนาการ ที่ได้บุคลากรทางการแพทย์ที่รักเด็กอย่าง พว.คณัสนันท์ ผลตัน หัวหน้างานการพยาบาลตรวจโรคกุมารเวชกรรม พว.กนกวัณย์ บัวแช่ม งานพยาบาลผู้ป่วยกุมารเวชกรรมพิเศษ รศ.พญ.ศุกระวรรณ อินทรขาว หัวหน้าสาขากุมารเวชกรรม รศ.พญ.พัชราภา ทวีกุล อาจารย์(แพทย์) สาขากุมารเวชกรรม จุฑามาศ ทองลิ่ม นักวิชาการโภชนา งานโภชนาการ และเรือตรีหญิงวรรณา จันทร์สวัสดิ์ หัวหน้างานพยาบาลผู้ป่วยกุมารเวชกรรมพิเศษโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มาช่วยแนะนำให้เราฟังในวันนี้

“หมอเด็ก”

หมอเด็กหรือกุมารแพทย์ นอกจากการรักษาเด็กโดยทั่วไปแล้วในส่วนนี้ยังมีกุมารแพทย์ที่ดูแลโรคของเด็กแบบเฉพาะทาง ที่โดดเด่นเลยของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติคือมีศูนย์ภูมิแพ้ โภชนาการเด็ก มีการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร โรคหัวใจ และภายในปีหน้าจะมีศูนย์พัฒนาการเด็กและวัยรุ่นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้การบริการเด็กทำได้ดีและครอบคลุมมากขึ้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กวัยรุ่นได้มากขึ้นอีกด้วย

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แผนกกุมารเวช

“บทบาทของนักโภชนาการ”

การเป็นนักโภชนาการประจำคลินิกจะเป็นการทำงานในรูปแบบการวางแผนและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการและโภชนบำบัดให้กับผู้ป่วยโดยต้องวางแผนให้สัมพันธ์กันกับโรคและสภาวะที่ผู้ป่วยเป็น การให้บริการเป็นในแง่ของการให้คำปรึกษาปัญหาด้านโภชนาการ อย่างเช่น คนไข้โรคอ้วนที่ต้องมาลดน้ำหนัก ต้องวางแผนการทานอาหารอย่างไรเพื่อให้ลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย หรือผู้ป่วยเด็กที่มีทั้งโภชนาการขาดและโภชนาการเกิน

  • ทุพโภชนาการขาด คือการขาดสารอาหารหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เป็นเด็กที่กินยาก มีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหารตั้งแต่เด็กแล้วส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก อย่างผอมเกินไปหรือตัวเตี้ยผิดปกติเป็นต้น
  • ทุพโภชนาการเกิน คือ เด็กอ้วน มาในเรื่องของลดน้ำหนักและปรับอาหารให้เหมาะสมกับวัย

“โภชนาการแม้ไม่ใช่ตัวตั้งต้นของโรค แต่ก็เป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดโรค”

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แผนกกุมารเวช

โภชนาการ เป็นส่วนประกอบของหลายโรค ด้วยตัวของมันเองอาจจะไม่ใช่ตัวตั้งต้นที่ทำให้เกิดโรคแต่ก็เป็นส่วนประกอบหรือส่วนที่ตามมาจากการเป็นโรค ซึ่งโภชนาจะแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบด้วยกัน

  1. การป้องกัน การป้องกันไม่ให้เด็กเป็นโรคอะไรหรือไม่ให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ เช่น คลินิกเด็กสุขภาพดี เด็กเดินทางมาเพื่อฉีดวัคซีน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
  2. การรักษา เด็กบางคนเหมือนไม่ได้ปัญหาอะไรเลยเมื่อเรามองจากภายนอก แต่กลับมีปัญหาในเรื่องการกินจากการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการอ้วนหรือผอมเกินไปขึ้น

“ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กอ้วนจากการกินเยอะ”

ตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 เข้ามา ปัญหาที่ประเทศไทยประสบเหมือนกับประเทศอื่นๆคือมีจำนวนเด็กอ้วนเยอะขึ้น ในขณะที่เด็กผอมก็ยังมี แต่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านๆมาดังนั้นภาวะทุพโภชนาการที่เกิดจากการขาดสารอาหารจึงลดลง ส่วนใหญ่เด็กที่เข้ามารับการรักษาแล้วมีรูปร่างอ้วนจะเป็นการอ้วนที่เกิดการจากกินเยอะแล้วไม่ออกกำลังกาย จะมีส่วนน้อยมากที่อ้วนเพราะสาเหตุอื่น

“การปรับตั้งแต่ผู้ปกครองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นจะทำให้โภชนาการของทุกคนดีขึ้นได้”

โภชนาการ เป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์ มันคือสิ่งที่มนุษย์ต้องใช้เพื่อดำรงชีวิตต่อไป จริงๆแล้วมันก็เหมือนยาถ้าไม่อยากป่วยหรือมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ก็ต้องปรับโภชนาการให้ดี โภชนาการมันเริ่มตั้งแต่ตอนที่แม่ตั้งครรภ์เลย ส่งผลมาจนถึงวัยเด็ก วัยรุ่น และกลายเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเราบอกเด็กให้รักษาโภชนาการให้ดีทั้งที่พ่อแม่เขายังทำไม่ได้ก็คงไม่เกิดผลอะไร เพราะฉะนั้นการปรับจึงควรเริ่มจากผู้ปกครองเลยถึงจะทำให้โภชนาการของทุกคนดีขึ้นได้จริง

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แผนกกุมารเวช

เมื่อโควิด-19 เข้ามา

การคัดกรองจากอาการเบื้องต้นกลายเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เมื่อก่อนส่วนของ OPD จะไม่มีการแยกส่วนรักษา เด็กทุกคนที่เข้ามารับการรักษาจะรวมกันอยู่ที่นี่เลย แต่พอมีโควิด-19 เข้ามาทำให้ต้องแยกห้องตรวจ มีทั้งตรวจคนไข้ที่อาการเกี่ยวทางเดินหายใจหรือมีไข้ และแบบปกติที่รับตรวจอาการทั่วไป นอกจากนี้ระบบของโรงพยาบาลจะแยกกลุ่มเด็กที่มีประวัติความเสี่ยงของโควิด-19 ที่ชัดเจน จะแยกไปกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อชัดเจนซึ่งเป็นแผนกใหญ่ของโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นในส่วนของ OPD เด็ก คนไข้ที่มีอาการหรือมีความเสี่ยงจะติดเชื้อจะไม่ได้เข้ามาในส่วนนี้ แต่เพื่อความสบายใจของเด็กและพ่อแม่ ภายใน OPD จึงได้มีการแยกห้องตรวจ รักษาระยะห่าง และคัดกรองเด็กที่เข้ามารับการรักษาเพิ่มเติมด้วย

“เด็กบอกไม่ได้ว่าเขาไม่สบายตรงไหน?”

สิ่งสำคัญของแผนกกุมารเวชกรรมคือ ต้องยอมรับว่าการแสดงออกของเด็กเป็นธรรมชาติของเด็ก แพทย์ส่วนใหญ่ที่มาดูแลตรงนี้จะมีความยอมรับและเข้าใจธรรมชาติของเด็กและรักเด็กเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากได้เข้าใจพัฒนาการของเด็ก การที่เขาร้องไห้ตอนไม่สบาย การที่เขาหัวเราะตอนมีความสุขและหาวตอนง่วง เราจะสามารถเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสารแม้ว่าเด็กจะไม่สามารถบอกอาการที่เป็นอยู่ของพวกเขาได้

“รับมือกับความสงสารเด็ก”

การเลือกทำงานในแผนกเด็กอย่างน้อยจะต้องมีจิตใจที่รักเด็ก เพราะเมื่อเรารักเด็กแล้วเราจะเข้าใจธรรมชาติของเด็กและมันจะแสดงออกมาเองผ่านการกระทำ สายตา ความเป็นห่วงเป็นใย ในช่วงแรกเด็กจะมีความไม่ยินยอมและไม่ไว้วางใจพยาบาลเกิดขึ้นอยู่แล้ว จึงต้องหาวิธีเล่นกับเด็กอย่างไรให้เด็กไว้ใจ อาจจะมีการเล่านิทาน สื่อสาร เล่นเกม เพื่อให้เขาสบายใจในการอยู่กับเราและยอมรับการรักษาจากเรา

“พึงระลึกไว้ว่าลูกทุกคนเปรียบเสมือนดวงใจของคุณพ่อคุณแม่”

เวลาที่เข้าไปให้การบริการจะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าเด็กทุกคนมีพ่อมีแม่ และเปรียบเสมือนดวงใจของพวกท่าน ต้องตั้งใจ ละเอียดรอบคอบ ต้องใช้ทักษะทางการพยาบาลที่สูงมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการพยาบาลผู้ใหญ่ เขาตัวโตก็จะมีอวัยวะที่ใหญ่กว่า ส่วนเด็กเนี่ย เขาจะมีอวัยวะที่เหมือนย่อส่วนจากผู้ใหญ่ลงมา เช่น หลอดเลือดที่เล็กลงทำให้การเจาะเลือดต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้น ใช้ประสบการณ์มากขึ้น

“ไม่มีใครอยากพาลูกมาโรงพยาบาลในสถานการณ์ช่วงนี้”

การรับมือกับความกังวลของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่ทำในทุกครั้งอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ช่วงโควิด-19 เท่านั้น การให้ข้อมูลเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด คุณพ่อคุณแม่จะต้องเกิดความมั่นใจในการพาลูกเข้ามารับการรักษา แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทุกคนต้องสามารถให้ข้อมูลเพื่อคลายความกังวลได้ มีคัดกรองความเจ็บป่วยเบื้องต้น ที่สำคัญคือต้องมีความรู้และความสามารถในการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้แก่ผู้ปกครองเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองสามารถกลับไปดูแลบุตรได้ด้วยตนเองมากขึ้นด้วย

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แผนกกุมารเวช

บทสรุป

อย่างที่ได้เห็นบทบาทของ กุมารเวชกรรม และนักโภชนาการกันไป แม้จะบอกว่าในตอนนี้เป็นตอนของเด็กๆ แต่กลับไม่เด็กอย่างที่คิดเลย แม้แต่เรื่องวิธีการแก้ปัญหาการขาดหรือเกินทางโภชนาการของเด็กกลับเริ่มต้นที่ครอบครัว หากมีครอบครัวที่ดูแลอาหารการกินดี เด็กก็จะมีสุขภาพที่ดีไปด้วย เพราะคงนึกไม่ออกเหมือนกันว่าหากผู้ปกครองไม่กินผัก ผู้ปกครองจะบอกลูกเกี่ยวกับรสชาติผักได้อย่างไร นอกจากนี้ยังรวมถึงการรับการรักษาทั่วไปของเด็ก ซึ่งแพทย์และพยาบาลต้องดูแลครอบคลุมไปถึงจิตใจของผู้ปกครองด้วย เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยใช่ไหม พวกเขาตั้งใจมอบการดูแลที่ดีที่สุดเพราะเขาทำมาจากใจจริงๆ สิ่งเหล่านี้มันแสดงออกมาอย่างเด่นชัดอยู่แล้ว เพียงคำขอบคุณเล็กๆที่เจื้อยแจ้วมาจากเด็กหรือคำขอบคุณอย่างจริงใจจากผู้ปกครองก็คงช่วยเพิ่มพลังให้วันนั้นของพวกเขาสดใสขึ้นมากเลย