การควบคุม ปัสสาวะ ของระบบประสาท

ทำไมต้องเต้นในเวลาที่ปวดปัสสาวะมาก?

เมื่อ :

วันศุกร์, 06 กรกฎาคม 2561

          มนุษย์มักแสดงนิสัยหรือพฤติกรรมแปลก ๆ ได้ในทุกรูปแบบ การขยับร่างกายในเวลาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้ห้องน้ำก็เช่นเดียวกัน อาการบิดตัว เบียดขาไปมา รวมทั้งกระทืบเท้า ซึ่งดูคล้ายกับการเต้นในสายตาของผู้พบเห็นนั้นเป็นท่าทางที่ถูกแสดงออกมา

        ในเวลาที่มีอาการปวดปัสสาวะอย่างหนัก และแม้ว่าหลายคนจะทราบว่า ลักษณะท่าทางเหล่านั้นไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการปวดปัสสาวะลงได้มากนัก แต่ทำไมเราจึงเต้นอยู่เช่นนั้นก่อนที่จะได้เข้าห้องน้ำเพื่อจัดการธุระส่วนตัว?

การควบคุม ปัสสาวะ ของระบบประสาท

ภาพที่ 1 ป้ายห้องน้ำ
ที่มา arthistory390/Flickr

การขับถ่ายปัสสาวะ

        การขับถ่ายปัสสาวะ (Urination) เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดของเสียในรูปของของเหลวออกจากกระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะ ในคนที่มีสุขภาพดี ขั้นตอนการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะตอนล่างจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ขั้นตอน คือขั้นตอนการพักน้ำปัสสาวะไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ (Storage phase) และขั้นตอนการขับถ่ายปัสสาวะ (Voiding phase) โดยในการขับถ่ายปัสสาวะจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะที่ต่ออยู่กับท่อปัสสาวะ ซึ่งกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะนั้นจะถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic system) และระบบประสาทโซมาติก (Somatic nervous system)

การควบคุม ปัสสาวะ ของระบบประสาท

ภาพที่ 2 กระเพาะปัสสาวะ
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Trigone_of_urinary_bladder#/media/File:Illu_bladder.jpg

          เมื่อกระเพาะปัสสาวะเก็บรวบรวมน้ำปัสสาวะได้ปริมาณมากพอ จะทําให้เกิดแรงดันไปกระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกซึ่งอยู่ที่ผนังกระเพาะปัสสาวะให้กระแสประสาทไปยังสมอง เป็นผลให้เกิดความรู้สึกปวดปัสสาวะและอยากขับถ่าย แต่หากว่าในขณะนั้นอยู่ในสถานการณ์ไม่สะดวกที่จะเข้าห้องน้ำได้ สมองจะส่งกระแสประสาทกลับไปกระตุ้นให้ระบบประสาทซิมพาเตติก (Sympathetic stimulation) ทํางาน โดยทําให้กล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะคลายตัวเพื่อยืดขยายรับจํานวนปัสสาวะเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่กล้ามเนื้อหูรูดจะหดตัวเพื่อปิดกั้นปัสสาวะไม่ให้ไหลออกมา ในทางตรงกันข้ามเมื่อพร้อมที่จะเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะรับจำนวนปัสสาวะจนถึงขีดจำกัดแล้ว จะเกิดการกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic stimulation) ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะบีบตัว พร้อมกับกล้ามเนื้อหูรูดคลายตัว เป็นผลให้น้ำปัสสาวะถูกขับออกมา

พฤติกรรมการแทนที่ด้วยจังหวะ (Rhythmic displacement behavior)

         ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขับถ่ายปัสสาวะ นักพฤติกรรมศาสตร์ หรือนักวิจัยอื่น ๆ ที่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุของพฤติกรรมการเต้นบรรเทาอาการปวดปัสสาวะ มีเพียงแค่ไม่กี่สมมติฐานที่สามารถอธิบายได้อย่างเช่น การขยับขาขึ้นและลงในขณะที่เบียดขาเข้าด้วยกันนั้นอาจช่วยแบ่งเบาภาระของกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะและช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเมื่อสามารถควบคุมอาการปวดได้เล็กน้อย ซึ่งแม้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็อาจช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปจากสถานการณ์ปวดปัสสาวะอย่างหนักได้

         อีกความคิดหนึ่งเกี่ยวกับเหตุผลที่เราต้องการกิจกรรมที่ช่วยหันเหความสนใจไปจากอาการปวดปัสสาวะนั้นเกี่ยวข้องกับการทำให้เสียสมาธิ (Distraction) ในทางจิตวิทยาเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เรามักจะมองหาสิ่งที่ช่วยปลอบใจหรือการเคลื่อนไหวที่อยู่นอกเหนือจากความเจ็บปวดที่เราต้องเผชิญอยู่ เช่น เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน ไม่ว่าจะเกิดจากครอบครัวหรือสถานที่ทำงาน การเบนความสนใจไปที่โทรศัพท์มือถือหรือการไปออกกำลังกายอาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ การมีปัสสาวะอยู่เต็มกระเพาะปัสสาวะก็เช่นเดียวกัน การขยับร่างกายสามารถช่วยลบล้างความไม่สบายตัวจากแรงดันภายในกระเพาะปัสสาวะได้ชั่วคราว อย่างน้อยก็อาจช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ก่อนที่ปลดปล่อยมันลงในโถปัสสาวะ

         สมมติฐานที่เป็นไปได้มากที่สุดของการแสดงออกในลักษณะของการเต้นในขณะที่ปวดปัสสาวะ (Pee dance) เป็นสมมติฐานในเรื่องของพฤติกรรมการเคลื่อนที่เป็นจังหวะ (Rhythmic displacement behavior) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพฤติกรรมกำหนดตัวเอง (Self-directed behaviors) โดยพฤติกรรมนี้มักจะแสดงออกมาในสถานการณ์ที่มีความตรึงเครียดทางสังคม การขยับร่างกายเป็นจังหวะจึงการแสดงออกเพื่อแทนที่ความเจ็บปวดหรือความอึดอัดต่อสิ่งที่ต้องเผชิญอยู่ หากนึกภาพไม่ออกให้ลองจินตนาการถึงแมวหลงทางที่คุณพยายามเกลี้ยกล่อมให้เข้าบ้านด้วยอาหาร ลูกแมวตัวนั้นจะถูตัวเองเข้ากับกำแพง เดินวนไปมา และเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วให้ห่างจากตัวคุณ ในขณะเดียวกันลูกแมวตัวนั้นก็มีแรงจูงใจในเรื่องอาหาร เมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้งกันระหว่างการกินอาหารและวิ่งหนีให้ไกลจากคนแปลกหน้า ความวิตกกังวลจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ เช่นการเคลื่อนไหวของแมวที่ยกตัวอย่างข้างต้น หรือการเคลื่อนไหวของมนุษย์เช่น การกัดเล็บ เกาหัว หรือแม้จะทั่งการขยับร่างกายในขณะที่ปวดปัสสาวะอย่างหนัก

          ดังนั้นการเต้นหรือการเคลื่อนไหวร่างกายในเวลาที่ต้องการใช้ห้องน้ำอย่างเร่งด่วน จึงเป็นผลมาจากการกระตุ้นของร่างกายที่พยายามเตือนว่าถึงขีดจำกัดแล้ว ทั้งนี้ความกดดันทางสังคมในการรอคิวเข้าห้องน้ำเป็นความขัดแย้งที่สามารถช่วยบรรเทาความวิตกกังวลลงได้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย

          อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเต้นหรือการเคลื่อนไหวร่างกายในเวลาที่ปวดปัสสาวะอย่างหนักจะช่วยรบกวนความรู้สึกได้ชั่วคราว และไม่เป็นอันตรายถ้าจะปล่อยให้กระเพาะปัสสาวะรับภาระหนักจนถึงขีดจำกัดในการพักของเสียนั้นไว้ในบางครั้งที่ไม่สะดวกในการเข้าห้องน้ำ แต่หากว่า พฤติกรรมการอั้นปัสสาวะจนนาทีสุดท้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นั่นอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะได้ในอนาคต ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสุขอนามัยและสุขภาพที่ดีของตัวเอง ที่สำคัญคือ คุณไม่ต้องไปยืนเต้นให้กวนใจผู้อื่นอยู่หน้าห้องน้ำ

แหล่งที่มา

Troisi A. Displacement activities as a behavioral measure of stress in nonhuman primates and human subjects. The International Journal on the Biology of Stress. 2002. 5; 47-54.

JESSLYN SHIELDS. (2017, 16 November). Why Do We Do a Little Dance When We Have to Pee?
           Retrieved January 24, 2018,
           from https://health.howstuffworks.com/human-body/systems/kidney-urinary/why-pee-dance-science-anxiety.htm

IAN LECKLITNER. (2017, 19 May). WHY DO WE DANCE WHEN WE NEED TO PEE?
           Retrieved January 24, 2018,
           from https://content.dollarshaveclub.com/dance-need-pee

Ashish. Why Do We ‘Dance’ When We Really Need to Urinate?
           Retrieved January 24, 2018,
           from https://www.scienceabc.com/humans/why-do-we-dance-when-we-really-need-to-urinate.html

Urination.
           Retrieved January 24, 2018,
           from https://en.wikipedia.org/wiki/Urination

พันตรีพันธ์ศักดิ์ โสภารัตน์. โรคระบบทางเดินปัสสาวะของผู้สูงอายุ. สืบค้นเมื่อวันที่  24 มกราคม 2561. จาก
           http://www.fsh.mi.th/km/wp-content/uploads/2014/06/old.pdf

หัวเรื่อง และคำสำคัญ

ปวด,ปัสสาวะ

ประเภท แบ่งตามผลผลิต สสวท.

บทความ

รูปแบบการนำเสนอ แบ่งตามผลผลิต สสวท.

สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบดิจิทัล

ลิขสิทธิ์

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

วันที่เสร็จ

วันพฤหัสบดี, 08 มีนาคม 2561

สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา

ชีววิทยา

ช่วงชั้น

มัธยมศึกษาตอนปลาย

กลุ่มเป้าหมาย

ครู
นักเรียน
บุคคลทั่วไป

ดูเพิ่มเติม