หลักธรรมของคนดี หรือ สัตบุรุษ 7 ประการ มีอะไรบ้าง

การนำหลักธรรมะต่างๆ มาใช้ในชีวิตประจำวันนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ด้วยเพราะคนยุคใหม่เริ่มห่างไกลศาสนามากขึ้นเพราะมีความนับถือและศรัทธาในตัวเอง จึงอาจทำให้การคิดและตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่าง อาจขาดสติ ขาดสมาธิ และขาดความรอบคอบ การมีธรรมะพระพุทธทาสไว้สอนใจหรือเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต จะช่วยให้เรามองเห็นข้อบกพร่องของตนเองมากขึ้น และมีการนำไปปรับปรุงแก้ไขและเดินไปในแนวทางที่ถูกต้อง อย่างเช่นการใช้ หลักสัปปุริสธรรม 7 ในชีวิตประจำวัน ที่จะทำให้เราประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ และไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน เรามารู้จักความหมายของหลักธรรมในข้อนี้ พร้อมแนวทางในการนำไปปฏิบัติกันเลยค่ะ

หลักสัปปุริสธรรม 7 ในชีวิตประจำวันคืออะไร ? นำมาใช้ดำเนินชีวิตได้อย่างไรบ้าง

หลักธรรมของคนดี หรือ สัตบุรุษ 7 ประการ มีอะไรบ้าง

หลักสัปปุริสธรรม 7 ในชีวิตประจำวัน มีความหมายของหลักธรรมคือ ธรรมที่ทำให้คนเป็นสัตบุรุษ เป็นข้อปฏิบัติของคนดี ที่มีมีกุศลธรรม 7 ประการเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งข้อธรรมะ 7 ประการนั้น มีดังนี้

  1. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ

หมายถึง ความเป็นผู้รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล มีความเป็นผู้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนั้น หรือสิ่งนั้นเป็นเหตุของสิ่งนี้ และเราสามารถนำหลักสัปปุริสธรรม 7 ในชีวิตประจำวันในข้อนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น เมื่อรู้ว่าหากอยากมีชีวิตที่มั่นคง หรือมีหน้าที่การงานที่ดี ก็รู้เหตุของมันว่าเราต้องขยันหมั่นเพียรและตั้งใจทำงาน เป็นต้น

  1. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล

หมายถึง ความเป็นผู้รู้ถึงความมุ่งหมายและรู้จักผลที่จะเกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ ว่าหากเราทำสิ่งใดจะเกิดผลแบบไหน หลักธรรมในข้อนี้จะช่วยให้เรารู้ว่า การดำเนินชีวิตของเราเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร หรือควรจะบรรลุผลอะไรที่เราต้องการจากการกระทำของเรา เช่น รู้ตัวว่าหากเราประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ เมื่อทำไปแล้วจะเกิดผลเสียต่อตนเองและผู้อื่นอย่างไร

  1. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน

หลักธรรมของคนดี หรือ สัตบุรุษ 7 ประการ มีอะไรบ้าง

หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรมของตนเองว่ามีสภาพอย่างไร สามารถประเมินตนเองได้และประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสม_หลักสัปปุริสธรรม 7 ในชีวิตประจำวันข้อนี้จะทำให้เรามองตนเองว่าเป็นอย่างไร ต้องการอะไร และพยายามปรับให้อยู่ในความถูกต้องเหมาะสม เอาความรู้ความสามารถที่เรามีไปพัฒนาตนเองในสิ่งที่ต้องการ

  1. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ

หมายถึง ความรู้จักพอดีในสิ่งต่างๆ ทั้งการดำเนินชีวิต การบริโภคปัจจัยสี่ ให้เหมาะสม ไม่ฟุ้งเฟ้อ ตลอดจนถึงรู้จักความพอเหมาะในการพูดหรือการทำสิ่งต่างๆ ไม่นึกถึงเพียงการเอาแต่ใจตน แต่ทำตามความพอดี หากเรารู้จักประมาณย่อมเป็นที่สรรเสริญแก่บุคคล ซึ่งการใช้ชีวิตอย่างพอดีในทุกๆ ด้านนั้น จะนำมาความสุขมาให้เรา ไม่ทะเยอทะยานมากเกินไป จนอาจทำให้เกิดการกระทำความผิดตามมาได้ ซึ่งสิ่งนี้เราสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและในเรื่องของการทำงาน

  1. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล

หลักธรรมของคนดี หรือ สัตบุรุษ 7 ประการ มีอะไรบ้าง

หมายถึง การรู้จักเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการกระทำหน้าที่การงานต่างๆ เช่น รู้จักการแบ่งเวลา ทำงานให้ตรงเวลา และให้ทันเวลา เป็นต้น ความหมายของหลักธรรมนี้คือให้เราแบ่งเวลาในชีวิตให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือกิจการต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อยดี รู้จักวางแผนในการทำงานและทำให้เสร็จทันตามเวลา นอกจากนี้ ยังควรแบ่งเวลามาศึกษาธรรมะหรือปฏิบัติธรรมอย่างเหมาะสม เพื่อสั่งสมบุญกุศลให้มียิ่งๆ ขึ้นไป เช่น สวดมนต์ด้วยบทสวดมนต์สั้นๆ ก่อนนอนทุกวัน

  1. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน

หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักสิ่งอันควรในการประพฤติปฏิบัติในถิ่นที่ชุมนุม หรือในสังคมนั้นๆ ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะสมและสามารถเข้ากับสังคมนั้นได้ เราสามารถนำเอาหลักสัปปุริสธรรม 7 ในชีวิตประจำวันข้อนี้ มาใช้ในเรื่องของการเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมในการทำงาน หรือสังคมของชุมชนที่เราอยู่อาศัย รู้จักถึงวัฒนธรรมองค์กร หรือประเพณีท้องถิ่น เพื่อเรียนรู้ธรรมเนียมและปฏิบัติตนเองได้อย่างเหมาะสมและเข้ากับผู้คนได้

  1. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคล

หลักธรรมของคนดี หรือ สัตบุรุษ 7 ประการ มีอะไรบ้าง

หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักบุคคลและเข้าใจความแตกต่างว่ามีลักษณะนิสัยอย่างไร มีความสามารถด้านใด เพื่อรู้จักที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ว่าควรจะคบหาหรือไม่ จะแนะนำเขาอย่างไร อย่างเช่น หากเราเป็นเจ้านาย เราควรรู้จักลูกน้องในที่ทำงาน รู้จักการมองคนให้ออก เพื่อแนะนำหรือสั่งสอนในเรื่องการงานได้อย่างเหมาะสม ว่าบุคคลไหนควรแนะนำอย่างไรจึงจะได้ผลดี เป็นต้น

Inspire Now ! : หลักสัปปุริสธรรม 7 ในชีวิตประจำวันเหล่านี้ สามารถสรุปเป็นคำจำกัดความเพื่อให้เราสามารถนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตได้ง่าย นั่นคือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้สังคม และรู้บุคคล สิ่งนี้เป็นกุศลธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นคนดี และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชาวโลกได้ นอกจากจะทำให้เราสามารถพัฒนาคุณธรรมประจำใจของตนเอง และพัฒนาชีวิตของเราให้ก้าวหน้าแล้วนั้น ยังทำให้เรามีคุณสมบัติเป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย หากเราสามารถทำได้ครบทุกข้อ ชีวิตก็จะประสบความเจริญและรุ่งเรือง เพราะมีการเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาตนเอง ให้ถูกหลักธรรมะ และดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ย่อมส่งผลดีต่อชีวิตทั้งในภายภาคนี้และภายภาคหน้านั่นเองค่ะ

DIY INSPIRE NOW ทำให้ฉันได้ไอเดียในการค้นหาตัวเองใช่ไหม ? สาวๆ ที่อยากมีหลักธรรมนำทางในการใช้ชีวิต ลองอ่านธรรมะสอนใจเป็นประจำจะช่วยให้เรามีข้อคิดดีๆ ในการดำรงชีวิตได้ค่ะ ♡