วิชาเศรษฐศาสตร์มีประโยชน์อย่างไร

​ตำราเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นมักเริ่มต้นด้วยการอธิบายความหมายหรือให้คำนิยามของวิชาเศรษฐศาสตร์ นิยามของคำว่า “เศรษฐศาสตร์” ในตำราแต่ละเล่มอาจมีจุดเน้นที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกัน ตำราบางเล่มกล่าวว่า เศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์และสังคมในทางเศรษฐกิจ บางเล่มกล่าวว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาถึงวิธีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และบางเล่มก็กล่าวว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาถึงปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ องค์กร และประชาชน

​สำหรับผู้ที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ในชั่วโมงแรกอาจารย์ผู้สอนมักชี้ให้เห็นว่าความต้องการของมนุษย์มีอยู่มากและมีขอบเขตไม่จำกัด แต่ทรัพยากรต่างๆที่นำมาผลิตเป็นสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาว่า เราจะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ซึ่งต้องตอบคำถามว่า จะผลิตอะไร อย่างไร และเพื่อใคร ไม่เพียงแต่การผลิตเท่านั้น การบริโภคก็เช่นเดียวกัน เราต้องมีการตัดสินใจว่า จะทำอะไร ด้วยวิธีใด จึงสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางตำราจึงให้คำนิยามวิชาเศรษฐศาสตร์ว่า เป็นวิชาที่ว่าด้วยการเลือก ทั้งการเลือกใช้ทรัพยากร เลือกผลิตสินค้าและบริการ และเลือกใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

​นิยามวิชาเศรษฐศาสตร์ในตำราแต่ละเล่มมีความหมายที่สอดคล้องกัน และมีจุดเน้นที่ร่วมกันตรงที่ว่า เศรษฐศาสตร์คือการศึกษาการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัดจึงต้องพิจารณาว่า เราจะทำอะไร อย่างไร และเพื่อใคร คือใช้ทรัพยากรในการทำอย่างหนึ่งแทนที่จะไปทำอีกอย่างหนึ่ง ใช้วิธีการผลิตแบบหนึ่งแทนที่จะเป็นอีกแบบหนึ่ง และทำเพื่อคนกลุ่มหนึ่งมากกว่าอีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ในการตัดสินใจและการหาทางเลือก

​​อย่างไรก็ตามคำนิยามวิชาเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคำที่มีความหมายกว้างและยังมีความไม่ชัดเจนที่ซ่อนเร้นรายละเอียดบางอย่างซึ่งยากต่อการเข้าใจ นักศึกษาเศรษฐศาสตร์บางคนแม้ร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์มาเป็นเวลาหลายปี ก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า เศรษฐศาสตร์เป็นอะไรกันแน่ ยิ่งผู้ไม่เคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มาก็ยิ่งมีความเข้าใจที่ผิดๆ เช่นว่า เศรษฐศาสตร์คือการศึกษาวิธีการพยากรณ์หรือทำนายภาวะเศรษฐกิจบ้าง หรือศึกษาวิธีการที่ทำให้เกิดความร่ำรวยหรือเพื่อการแสวงหากำไรสูงสุดบ้าง ดังนั้นการจะรู้ว่าเศรษฐศาสตร์คืออะไรให้มีความชัดเจนนั้น จึงควรมีการพิจารณาขอบเขตของวิชาเศรษฐศาสตร์ประกอบด้วย

 

​2. ขอบเขตของวิชาเศรษฐศาสตร์

​​เนื่องจากเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการตัดสินใจและการหาทางเลือกของมนุษย์และสังคม ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล องค์กร สังคมและประเทศชาติ วิธีการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์จึงถูกนำมาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมและประเทศชาติ ทั้งที่เป็นปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ ซึ่งเมื่อดูเผินๆแล้วไม่น่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาทางสังคมและการเมือง ซึ่งก็สามารถอธิบายหรือวิเคราะห์ด้วยหลักการหรือเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ได้ ด้วยเหตุนี่เองจึงมีคนพูดประชดประชันว่า “นักเศรษฐศาสตร์สามารถให้คำอธิบายได้ทุกเรื่อง”

​​การจะจำแนกแยกแยะว่าเหตุการณ์หรือปัญหาอะไรเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์หรือปัญหาอะไรไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้มีความเกี่ยวพันกัน ปัญหาการเมืองและสังคมต่างๆก็เกี่ยวพันกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และสามารถใช้หลักการ ระเบียบวิธีและแนวคิดทางทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์มาศึกษาวิเคราะห์ได้ มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน เช่น แกรี่ เบคเกอร์ (Gary Becker) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกที่ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ ได้ใช้การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายเรื่อง การแต่งงาน การหย่าร้างและการเหยียดผิว และในเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมามีการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งทางสังคมตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมาก

​​เฉพาะปัญหาที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจก็มีอยู่มากมายและหลากหลาย ตั้งแต่การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า การขึ้นลงของราคาสินค้า สภาพของการแข่งขันหรือการผูกขาดในการผลิตและการค้า การตัดสินใจในการลงทุน รายได้และรายจ่าย ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินของประชาชนกลุ่มต่างๆในประเทศ ผลกระทบของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ล้วนสามารถศึกษาและวิเคราะห์ตามหลักการและวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ได้ทั้งสิ้น

​​นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 19 คือ อัลเฟรด มาร์แชลล์ (Alfred Marshall) กล่าวว่า “วิชาเศรษฐศาสตร์ที่แท้ก็คือ การนำการวิเคราะห์ที่เป็นระบบและการใช้เหตุผลมาช่วยเสริมในสิ่งที่เป็นสามัญสำนึกนั่นเอง” (Economic Science is but the working of common sense aided by appliances of organized analysis and general reasoning ) จากคำกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า การใช้เหตุผลอย่างเป็นระบบเป็นหัวใจสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เศรษฐศาสตร์มีความแตกต่างไปจากการวิเคราะห์หรืออธิบายเหตุการณ์ต่างๆ โดยการใช้เพียงสามัญสำนึกหรือความรู้สึก และการเสนอข้อคิดหรือข้อแนะนำที่แฝงไปด้วยอคติ

​​สำหรับผู้ที่เคยรับการฝึกฝนทางด้านเศรษฐศาสตร์มา เมื่อได้รับทราบข่าวสาร การวิเคราะห์ ความคิดเห็นและข้อสรุปที่เกิดกับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ จะรู้จักพิจารณาว่าสิ่งที่ได้รับทราบมานั้น เป็นความจริงเพียงไร มีการวิเคราะห์หรืออธิบายโดยใช้หลักการและเหตุผลที่ถูกต้องหรือไม่ การสรุปและการให้ข้อเสนอแนะนั้นเป็นผลมาจากข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์ หรือเป็นเพียงการสรุปและเสนอแนะจากความเห็นของผู้พูดหรือผู้เขียนโดยไม่มีความสัมพันธ์ใดๆเลยกับข้อมูลและการวิเคราะห์ที่นำเสนอมา หากกล่าวถึงการศึกษาปัญหาและการแสดงความเห็นในเรื่องเศรษฐกิจ อาจมีอยู่หลายสิ่งที่ปะปนกันอยู่ คือ 1.ความจริงหรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 2.การอธิบายหรือการวิเคราะห์ 3.ข้อสรุป 4.ข้อเสนอแนะ ผู้ฟังหรือผู้เรียนจึงต้องพิจารณาว่าข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่นำเสนอมานั้นเชื่อถือได้เพียงใด การวิเคราะห์มีการใช้เหตุผลที่เหมาะสมหรือไม่ ข้อสรุปที่ได้มาสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์หรือไม่เพียงใด และข้อเสนอแนะที่เสนอนั้นได้มาจากส่วนประกอบอื่นๆอีกสามส่วนแรกหรือไม่ ถ้าจะกล่าวโดยเคร่งครัดแล้ว ในส่วนสรุปและเสนอแนะนั้นอาจไม่ถือว่าเป็นหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากสองส่วนแรก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์และสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ เช่น การนำเสนอและวิพากษ์วิจารณ์ข่าวคราวต่างๆลงในวิทยุ โทรทัศน์ บ่อยครั้งแฝงไปด้วยคติข้อคิดเห็นหรืออคติส่วนตัวของผู้นำเสนอ โดยไม่ได้มีการนำเสนอข้อมูลหรือไม่มีการวิเคราะห์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่เป็นเพียงความเห็นของผู้พูดหรือผู้เขียนที่มีขึ้นอย่างลอยๆเท่านั้น ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาในวิชาเศรษฐศาสตร์จะสามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งที่รับทราบมานั้นมีความถูกต้องหรือมีความสมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไรโดยไม่หลงเชื่ออย่างงมงาย

3.แขนงต่างๆของวิชาเศรษฐศาสตร์

​​3.1 เศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหภาค

​​วิชาเศรษฐศาสตร์สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหภาค เศรษฐศาสตร์จุลภาคเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของหน่วยย่อย หน่วยใดหน่วยหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ เช่น บุคคล ครัวเรือน หน่วยธุรกิจ ปัญหาที่ศึกษาในเศรษฐศาสตร์จุลภาคเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภคและการผลิตของบุคคล ครัวเรือน หน่วยธุรกิจหรือองค์กร การกำหนดราคาสินค้าในตลาดใดตลาดหนึ่ง ผลกระทบของการขึ้นลงในราคาสินค้าที่มีต่อการผลิตและการใช้สินค้าแต่ละชนิด การตัดสินใจของหน่วยเศรษฐกิจเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดราคาและปริมาณสินค้าเพื่อให้ไดกำไรสูงสุด ฯลฯ ส่วนเศรษฐศาสตร์มหภาคนั้นศึกษาสภาพและปัญหาของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น การกำหนดรายได้ประชาชาติ ภาวะเงินเฟ้อและการจ้างงาน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภค การออมและการลงทุนของประเทศในภาพรวม และการดำเนินงานของนโยบายเศรษฐกิจที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ฯลฯ เดิมวิชาเศรษฐศาสตร์เน้นการศึกษาในระดับจุลภาคเป็นสำคัญ เช่น การกำหนดมูลค่าหรือราคาสินค้า พฤติกรรมการบริโภคและการผลิตของหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ และมักให้ข้อสรุปว่า ตลาดต่างๆสามารถปรับตัวสู่ดุลยภาพโดยระบบราคาหรือระบบตลาดโดยไม่ต้องมีการแทรกแซงใดๆจากภาครัฐบาล แต่หลังจากเกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (Great Depression) ในปีค.ศ. 1929-1933 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ ทฤษฏีทั่วไปว่าด้วยการจ้างงาน อัตราดอกเบี้ยและเงิน (General Theory of Employment, Interest and Money) ออกมาในปีค.ศ. 1936 แล้วนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกจึงมีการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคอย่างจริงจัง เพราะตระหนักว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหน่วยย่อยนั้น อาจไม่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวม แม้หน่วยย่อยและส่วนรวมมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และการดูแลระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วยการกำหนดนโยบายต่างๆ เช่น การส่งเสริมการจ้างงาน การควบคุมภาวะเงินเฟ้อ การขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ย และการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ มีผลกระทบต่อหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ นโยบายต่างๆ เช่น นโยบายการเงินและการคลังมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในวิชาเศรษฐศาสตร์จึงศึกษาปัญหาเศรษฐกิจมหภาค ทั้งยังมีลักษณะแตกแขนงในวิชาที่ศึกษาเป็นสาขาต่างๆมากขึ้น

​​3.2 เศรษฐศาสตร์สาขาต่างๆ

​​วิชาเศรษฐศาสตร์สามารถใช้ศึกษาสภาพและปัญหาที่เกิดขึ้นในสาขาเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ และยังสามารถศึกษาเจาะลึกเข้าไปในเรื่องต่างๆเฉพาะด้าน ปัจจุบันในมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ มักมีการแบ่งแขนงออกมาเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์ด้านต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์การเงิน การคลัง แรงงาน พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และคณิตเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น นักเศรษฐศาสตร์แต่ละคนอาจมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละเรื่อง เช่น การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ พลังงาน มลภาวะและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจ และเศรษฐมิติ เป็นต้น การศึกษาในแต่ละแขนงมีการนำหลักการทฤษฏีและวิธีการศึกษาในวิชาเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ แต่เนื่องจากประเด็นปัญหาในแต่ละเรื่องมีอยู่มากและมีความสลับซับซ้อน นักวิชาการเศรษฐศาสตร์แต่ละคนต้องมุ่งศึกษาลึกซึ้งลงไปในแต่ละด้าน จึงสามารถมีความรู้ความถนัดในเรื่องที่ตนมุ่งเน้นมากกว่าคนอื่นๆและเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ

4.ประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์

​​วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาสังคมศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ โดยที่ไม่ใช่วิชาชีพที่เรียนแล้วนำมาใช้ในการหาเลี้ยงชีพโดยตรงได้ จะเห็นได้ว่าผู้ที่เรียนจบวิชาแพทย์ศาสตร์มาจะสามารถใช้วิชาแพทย์ที่เรียนมาให้การรักษาคนไข้ได้ ผู้เรียนจบนิติศาสตร์มาก็ใช้วิชากฎหมายในการหาเลี้ยงชีพได้ และผู้เรียนวิชาบัญชีก็สามารถทำบัญชีได้ แต่สำหรับผู้เรียนเศรษฐศาสตร์มานานปี นอกจากเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย และในสถาบันวิจัย หรือเป็นที่ปรึกษาช่วยวิเคราะห์ปัญหาเสนอคำแนะนำในเรื่องต่างๆแล้วจะไม่สามารถใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ในการทำหรือสร้างสิ่งใดๆที่เป็นตัวตนจับต้องได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือวิชาเศรษฐศาสตร์เป็น “ศาสตร์” แต่ไม่ใช่ “ศิลป์” หรืองานฝีมือที่ใช้ประดิษฐ์อะไรออกมาได้

​​อย่างไรก็ตามผู้ที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาจะมีข้อได้เปรียบกว่านักวิชาการแขนงอื่นๆในการใช้หลักการเหตุผลในการวิเคราะห์ปัญหา โดยไม่ไปหลงเชื่ออะไรงมงาย ความรู้และระเบียบวิธีทางเศรษฐศาสตร์จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งของปัจเจกบุคคล ธุรกิจ องค์กรและในการกำหนดนโยบายของรัฐในการบริหารประเทศ นโยบายเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชน หากรัฐบาลมีการใช้นโยบายที่ขัดแย้งกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ ประเทศชาติก็จะได้รับความเสียหายมาก หน่วยธุรกิจถ้าตัดสินใจโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและความเป็นไปได้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ก็จะประสบกับการขาดทุนจนอาจถึงกับต้องล้มละลาย บุคคลหรือครัวเรือนถ้าไม่สามารถบริหารค่าใช้จ่ายของครับครัวได้ดี ก็จะประสบความยุ่งยากทางการเงิน ตัวอย่างการจำนำข้าวที่รับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากและนโยบายทางการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่คำนึงถึงผลเสียทางสิ่งแวดล้อม และการตั้งราคาสินค้าให้สูงๆ เพื่อหวังได้กำไรมากๆ แต่กลับทำให้ขายของไม่ได้ทำให้รายได้ลดลงไป ล้วนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงผลเสียจากการไม่คำนึงถึงหลักการทางเศรษฐศาสตร์ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศและธุรกิจ

​​การเรียนรู้เศรษฐศาสตร์และการใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์สามารถเอื้อประโยชน์แก่ทั้งปัจเจกบุคคล หน่วยธุรกิจ องค์กรและประเทศชาติได้หลายด้านคือ

​ก.ทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจในการทำงานของระบบเศรษฐกิจมากขึ้น กลไกการดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนและมีองค์ประกอบต่างๆจำนวนมาก นอกจากนั้นสภาพและปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆมีการเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน ผู้เรียนเศรษฐศาสตร์มาจะสามารถเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจมากกว่าคนอื่น

​ข.รู้จักวิเคราะห์สภาพและปัญหาทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือรู้จักใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ในการวิเคราะห์ปัญหา โดยไม่เชื่ออะไรอย่างงมงาย ในยุคที่การสื่อสารคมนาคมมีความก้าวหน้ามากอย่างในปัจจุบัน ในแต่ละวันมีข่าวสาร หนังสือและบทความที่นำเสนอการวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นออกมาเป็นจำนนวนมาก แต่ข่าวคราวและการวิเคราะห์เหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่บิดเบือนความจริง มุ่งโฆษณาชวนเชื่อ มุ่งวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีผู้ที่มีความเห็นต่าง และเสนอแนะอะไรบางอย่างที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ถ้าเราเป็นผู้ที่เรียนรู้หรือได้รับการฝึกฝนในวิชาเศรษฐศาสตร์มาเป็นอย่างดี เราก็จะสามารถเป็นผู้รู้ทันไม่หลงใหลงมงายกับเรื่องที่ไม่มีเหตุผล แม้เป็นข้อความที่มีความคมคายและมีสำนวนโวหารที่กินใจก็ตาม

​ค.ช่วยในการประเมินข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ได้รับ ในระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจจะมีการลงทุน โครงการต่างๆต้องมีการพิจารณาถึงความคุ้มค่าและผลดีผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การประกอบกิจกรรมต่างๆ ต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพไม่สิ้นเปลือง และได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับสิ่งที่ทำไป นอกจากนี้นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปยังอยากทราบถึงผลกระทบที่เกิดจากความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ เช่น การขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันมีการทำนายหรือพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆเป็นจำนวนมาก คนที่รู้เศรษฐศาสตร์จะสามารถประเมินได้ว่า การวิเคราะห์และการทำนายอันใดมีความน่าเชื่อถือเพียงใด มีการใช้ข้อมูล หลักการและเหตุผลในการวิเคราะห์แก้ปัญหาหรือไม่ หรือเป็นเพียงการ “ฟันธง” โดยไม่มีข้อมูลและหลักวิชาประกอบ

​ง.สำหรับผู้บริหาร โดยเฉพาะรัฐบาล ความรู้ความเข้าใจในเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้เกิดความเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถสนับสนุนนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจได้ ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศมีอยู่มากมาย ทั้งปัญหาของแพง ภาคธุรกิจซบเซา เศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างประชาชน การขาดดุลการค้า ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ล้วนต้องแก้ไขโดยการใช้นโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจ ผู้บริหารประเทศจึงต้องมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ดีพอควร ไม่ควรใช่ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์มาบริหารเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การใช้นายแพทย์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และการใช้คนที่รู้แต่เรื่องตลาดหุ้นแต่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์มาเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ หรือถ้าจะใช้คนเหล่านี้มาบริหารเศรษฐกิจ ก็ต้องมีคนที่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาเป็นที่ปรึกษาหรือคอยให้คำแนะนำ ส่วนผู้บริหารเองก็ต้องมีการศึกษาหาความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ มิฉะนั้นปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศไม่เพียงแต่ไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ยังกลับจะทรุดหนักยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีในบางประเทศ ผู้บริหารเศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงได้ ดังเช่น เติ้งเสี่ยวผิง หรือ จู หรงจี ในประเทศจีน ทั้งสองคนนี้ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์มา แต่ก็สามารถบริหารนโยบายเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะแม้ไม่มีพื้นฐานในวิชาเศรษฐศาสตร์มาแต่เดิม แต่ก็มีการศึกษาความรู้ในเรื่องต่างๆเกี่ยวกับเศรษฐกิจ มีทีมงานที่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยกำหนดนโยบาย ทั้งยังทำการศึกษาตัวอย่างของประเทศต่างๆที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งตรงข้ามกับผู้บริหารเศรษฐกิจที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์มา แต่กลับใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย เพราะมุ่งเน้นในเรื่องการหาเสียงหรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่เกิดแก่เศรษฐกิจของประเทศ

​จ.นโยบายเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อการพัฒนาและความเจริญเติบโตของประเทศ ประเทศต่างๆในโลกมีความเจริญทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก บางประเทศที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองในอดีต เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆมาก ในขณะที่ประเทศที่เคยล้าหลังกว่าประเทศอื่น กลับกลายเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งมากกว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดขึ้นจากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและอัตราการเจริญเติบโตที่มีความแตกต่างกัน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันเช่นนี้ก็คือ การดำเนินงานของนโยบายทางเศรษฐกิจนั่งเอง เคยมีผู้ศึกษามาแล้วพบว่า ประเทศที่มีวัฒนธรรมและคุณภาพของประชาชนเหมือนเดิม ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจได้จากประเทศยากจนสู่ประเทศร่ำรวยได้ โดยการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าการบริหารเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก

แปลภาษาไทย ไทยแปลอังกฤษ โปรแกรม-แปล-ภาษา-อังกฤษ พร้อม-คำ-อ่าน ห่อหมกฮวกไปฝากป้าmv แปลภาษาอาหรับ-ไทย lmyour แปลภาษา ข้อสอบคณิตศาสตร์ พร้อมเฉลย แปลภาษาอังกฤษเป็นไทย pantip ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แอพแปลภาษาอาหรับเป็นไทย ห่อหมกฮวกไปฝากป้า หนังเต็มเรื่อง แปลภาษาเวียดนามเป็นไทยทั้งประโยค Google Translate การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 4 หยน อาจารย์ ตจต เมอร์ซี่ อาร์สยาม ล่าสุด ศัพท์ทหาร ภาษาอังกฤษ pdf ห่อหมกฮวกไปฝากป้า คาราโอเกะ app แปลภาษาไทยเป็นเวียดนาม การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 3 บบบย ศัพท์ทหารบก แปลภาษาจีน การประปาส่วนภูมิภาค การ์ดแคปเตอร์ซากุระ ภาค 1 ขุนแผนหลวงปู่ทิม มีกี่รุ่น ชขภใ ตม.เชียงใหม่ เซ็นทรัลเฟสติวัล พจนานุกรมศัพท์ทหาร รหัสจังหวัด อําเภอ ตําบล รหัสประจำจังหวัด 77 จังหวัด สอบโอเน็ต ม.3 จําเป็นไหม หนังสือราชการ ตัวอย่าง ห่อหมกฮวกไปฝากป้า คอร์ด อเวนเจอร์ส ทั้งหมด แปลภาษา มาเลเซีย ไทย ไทยแปลอังกฤษ ประโยค ่้แปลภาษา Egp G no Reconguista Google map ขุนแผนหลวงปู่ทิมรุ่นแรก ข้อสอบภาษาไทยพร้อมเฉลย ข้อสอบโอเน็ต ม.3 ออกเรื่องอะไรบ้าง ค้นหา ประวัติ นามสกุล จองคิว ตม เชียงใหม่ ชื่อเต็ม ร.9 คําอ่าน ดีแม็กมือสองราคาไม่เกิน350000 ตัวอย่างรายงานการประชุมสั้นๆ