กฎหมายและข้อกําหนดที่เกี่ยวกับงานก่อสร้างมีอะไรบ้าง

กฎกระทรวง หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการ ผู้ครอบครองอาคาร และเจ้าของอาคาร
5 เม.ย. 2561

กระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออก “กฎกระทรวง กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการ ผู้ครอบครองอาคาร และเจ้าของอาคาร พ.ศ. 2561” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2561 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นหกสิบวัน คือตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2561 โดยไม่ใช้บังคับกับการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ก่อนวันดังกล่าว

กฎกระทรวงฉบับนี้นับว่ามีความสำคัญต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างอาคาร ตั้งแต่ต้นธารคือผู้ออกแบบจัดทำรายละเอียดที่จะใช้ในการก่อสร้างซึ่งได้แก่สถาปนิกและวิศวกร ไปจนถึงผู้ดำเนินการก่อสร้าง ผู้ควบคุมงาน รวมไปถึงเจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร เพราะเป็นการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ As-built drawings ซึ่งตามกฎกระทรวงเรียกว่า “แบบแปลนตามสร้าง” ซึ่งจะต้องจัดให้มีสำหรับอาคารบางประเภท-ขนาดด้วย

บทนิยาม

กฎกระทรวงได้ให้บทนิยามของ “ผู้ออกแบบ” ในกฎกระทรวงนี้หมายถึง ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรม หรือผู้ออกแบบและคำนวณงานวิศวกรรม และ “เจ้าของอาคาร” หมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในอาคารนั้น โดยให้หมายความรวมถึงเจ้าของโครงการที่เป็นผู้ทำสัญญาจ้างก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารด้วย ส่วนบทนิยาม “ผู้ควบคุมงาน” “ผู้ดำเนินการ” และ “ผู้ครอบครองอาคาร” ไม่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากมีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติ ซึ่งสำหรับ “ผู้ดำเนินการ” นั้นหมายถึงผู้กระทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารกระทำด้วยตนเอง หรือผู้ซึ่งตกลงรับกระทำการดังกล่าวไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) และให้รวมไปถึงผู้รับจ้างช่วงด้วย

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกแบบ

นอกจากจะมีหน้าที่ที่พึงปฏิบัติคือ “ออกแบบและจัดทำรายละเอียดในการออกแบบที่ชัดเจนและสามารถนำไปใช้ในการดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พึงกระทำตามวิชาชีพ” และจะต้อง “รับผิดชอบในส่วนที่เป็นผลต่อเนื่องจากการออกแบบดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารนั้น” แล้ว ยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายดังต่อไปนี้ด้วย
– กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายของบุคคล หรือทรัพย์สิน ที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้าง และบริเวณข้างเคียงให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
– กรณีที่เป็นการคำนวณออกแบบโครงสร้างของ อาคารสาธารณะพื้นที่ 1,000 ตร.ม. ขึ้นไป อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารประเภทควบคุมการใช้ ถ้าใช้น้ำหนักบรรทุกจรสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จะต้องระบุค่าน้ำหนักบรรทุกจรแต่ละพ้นที่อาคารไว้ในแบบแปลนโครงสร้างพื้นชั้นต่างๆ ด้วย
– ระบุค่าที่ใช้ในการคำนวณงานวิศวกรรมระบบความปลอดภัยอื่นๆ ที่มีเกณฑ์สูงกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนดไว้ในแบบแปลนอาคาร

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ควบคุมงาน

นอกจากจะต้อง “อำนวยการหรือควบคุมการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร และการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบอาคาร ให้เป็นไปตามแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พึงกระทำตามวิชาชีพ” ยังกำหนดให้ชัดเจนว่าจะต้อง “อำนวยการหรือควบคุมให้มีการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ในสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร และบริเวณข้างเคียงให้เป็นไปตามแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการที่ผู้ดำเนินการกําหนดไว้”

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ดำเนินการ

มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามปกติของผู้ดำเนินการเริ่มตั้งแต่ “วางแผนงาน ขั้นตอนและวิธีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ทั้งในส่วนของงานถาวรและงานชั่วคราว และเสนอแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการดังกล่าวต่อเจ้าของอาคาร” จากนั้น “ดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 39 ทวิ” โดยจะต้อง “ดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการที่เจ้าของอาคารเห็นชอบ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ จนกว่าการดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ”

นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ได้แก่
– เสนอแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ในสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารและบริเวณข้างเคียง ตามมาตรการที่ผู้ออกแบบกำหนดต่อเจ้าของอาคารก่อนนำไปดำเนินการ
– จัดทำรายงานการดำเนินการอย่างน้อยเดือนละครั้งและเก็บไว้ ณ สถานที่ดำเนินการตลอดเวลา จนกว่าการดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ เพื่อให้นายช่างหรือนายตรวจสามารถตรวจสอบได้
– ในกรณีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารชุมนุมคน อาคารสาธารณะ ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องจัดทำแบบแปลนตามสร้างให้เจ้าของอาคารตรวจสอบและส่งมอบแบบแปลนตามสร้างที่ได้ตรวจสอบแล้วให้เจ้าของอาคาร โดยแบบแปลนตามสร้างต้องระบุค่าน้ำหนักบรรทุกจรแต่ละพื้นที่ของอาคารและค่ามาตรฐานความปลอดภัยทางวิศวกรรมตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้
– ในกรณีที่เจ้าของอาคารแยกจ้างการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารตามสาขางานสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรม ผู้ดำเนินการแต่ละรายมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ได้รับจ้างและต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าของอาคารในการประสานงานและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงาน

หน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าของอาคาร

สำหรับเจ้าของอาคาร มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลในเรื่องต่างๆ ในขั้นตอนของการก่อสร้าง ดังนี้
– กำกับดูแลการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารและการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบอาคาร รวมทั้งการรื้อถอนและเคลื่อนย้ายอาคาร ให้เป็นไปตามแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต
– กำกับดูแลการวางแผนงาน ขั้นตอนและวิธีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารในส่วนของงานถาวร และงานชั่วคราว
– กำกับดูแลการจัดทำรายงานการดำเนินการของผู้ดำเนินการ
– กำกับดูแลการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินในสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารและบริเวณข้างเคียง

ในกรณีที่เป็นอาคารชุมนุมคน อาคารสาธารณะ ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้ด้วย
– จัดให้มีป้ายแสดงความจุจำนวนคนที่มากที่สุดที่สามารถเข้าใช้พื้นที่ในส่วนของอาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อการชุมนุมคน โดยติดไว้ในตำแหน่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจน
– จัดเก็บแบบแปลนตามสร้างไว้ประจำอาคาร
– จัดให้มีการบำรุงรักษาและทดสอบระบบความปลอดภัยให้พร้อมใช้งาน

การป้องกันภยันตรายในสถานที่ก่อสร้างและบริเวณข้างเคียง

จะเห็นได้ว่า กฎกระทรวงฉบับนี้เน้นในเรื่องของความปลอดภัยในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน และเคลื่อนย้ายอาคาร ดังจะเห็นได้ชัดเจนในหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ ในเรื่องของการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายของบุคคล หรือทรัพย์สินที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้างฯ และบริเวณข้างเคียง ซึ่งโดยสรุป แต่ละฝ่ายจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยลำดับดังนี้
– ผู้ออกแบบ กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันภยันตรายฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
– ผู้ดำเนินการ เสนอแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการป้องกันภยันตรายฯ ตามมาตรการที่ผู้ออกแบบกำหนด ต่อเจ้าของอาคารก่อนนำไปดำเนินการ
– ผู้ควบคุมงาน อำนวยการหรือควบคุมให้มีการป้องกันภยันตรายฯ ให้เป็นไปตามแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการที่ผู้ดำเนินการกำหนดไว้
– เจ้าของอาคาร กำกับดูแลการป้องกันภยันตรายฯ

แบบแปลนตามสร้าง

สำหรับ “แบบแปลนตามสร้าง” กฎกระทรวงกำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาคารชุมนุมคน อาคารสาธารณะ ที่เป็นอาคารใหญ่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องจัดให้มีนั้น แต่ละฝ่ายมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยลำดับดังนี้
– ผู้ดำเนินการต้องจัดทำแบบแปลนตามสร้างให้เจ้าของอาคารตรวจสอบ ในแบบแปลนตามสร้างต้องระบุค่าน้ำหนักบรรทุกจรของแต่ละพื้นที่ของอาคารและค่ามาตรฐานความปลอดภัยทางวิศวกรรมตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ เมื่อเจ้าของอาคารตรวจสอบแล้ว ผู้ดำเนินการส่งมอบให้เจ้าของอาคาร
– เจ้าของอาคาร กำกับดูแลให้ผู้ดำเนินการจัดทำแบบแปลนตามสร้าง
– เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร จัดเก็บแบบแปลนตามสร้างไว้ประจำอาคาร

งานถาวรและงานชั่วคราว

กฎกระทรวงฉบับนี้ ยังได้กำหนดให้มี “งานถาวร” และ “งานชั่วคราว” โดยให้บทนิยาม ดังนี้
– “งานถาวร” หมายความว่า งานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต หรือแจ้งและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ
– “งานชั่วคราว” หมายความว่า งานที่สร้างขึ้นชั่วคราวเพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายงานถาวร และหมายความรวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายงานถาวร

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงไม่ได้กำหนดสิ่งใดที่เป็นการแยกแยะความรับผิดชอบในระหว่างงานทั้งสองประเภท ตามกฎกระทรวง ผู้ดำเนินการนั้นมีความรับผิดชอบทั้งในส่วนของงานถาวรและงานชั่วคราว และเจ้าของอาคารก็มีหน้าที่กำกับดูแลทั้งในส่วนของงานถาวรและงานชั่วคราว ไม่มีข้อกำหนดให้ฝ่ายใดและขั้นตอนใดที่จะต้องรับผิดชอบในงานถาวรหรืองานชั่วคราวอย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ควบคุมงานว่าต้องรับผิดชอบอย่างไรต่องานถาวรหรืองานชั่วคราว

ในประเด็นนี้ ในขั้นตอนการร่างกฎกระทรวงแต่เดิม เคยมีแนวความคิดและความพยายามที่จะแยกแยะระหว่าง ผู้ควบคุมงานของเจ้าของอาคาร และ ผู้ควบคุมงานของผู้ดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในโครงการขนาดใหญ่ที่มักจะมีผู้ควบคุมงานแยกกัน โดยผู้ควบคุมงานแต่ละประเภทจะมีความรับผิดชอบแตกต่างกันในงานถาวรหรืองานชั่วคราว แต่แนวความคิดนี้ได้ถูกตัดออกไปในระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมอาคารบัญญัติเรื่องผู้ควบคุมงานไว้แล้ว ไม่สามารถกำหนดให้มีผู้ควบคุมงานในประเภทที่มิได้ถูกกำหนดในกฎหมายแม่บทได้ จึงทำให้ขีดคั่นของความรับผิดชอบในงานทั้งสองประเภทยังคงลางเลือนอยู่เช่นเดิม

กฎกระทรวงอื่นที่กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบ

กฎกระทรวงฉบับนี้ถือเป็นฉบับหลักที่เป็นการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน และเคลื่อนย้ายอาคาร ซึ่งออกใช้บังคับหลังพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ออกใช้บังคับถึงเกือบ 40 ปี โดยใช้เวลาร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ไม่น้อยกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎกระทรวงฉบับอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้าซึ่งก็มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแทรกเอาไว้เช่นกัน ได้แก่
– กฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการต้องทำการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก (2548) กำหนดให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการสำหรับอาคารของเอกชนบางประเภทต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดฯ และแสดงสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารนั้น
– กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร (2548) กำหนดให้เจ้าของอาคารซึ่งรวมถึงผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ในการจัดให้มีและดำเนินการเพื่อตรวจสอบอาคาร รวมทั้งการตรวจบำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร
– กฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ (2555) กำหนดให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการหรือเจ้าของอาคารที่ใช้ตั้งสถานบริการต้องจัดให้มีผู้ดูแลระบบความปลอดภัยและการป้องกันอันตรายของสถานบริการ
– กฎกระทรวงเกี่ยวกับป้ายและสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย (2558) มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดของเจ้าของป้ายหรือผู้ครอบครองป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย

สิ่งที่ต้องทำตามกฎกระทรวง

เพื่อเป็นการทบทวนถึงสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวง มีสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เดิมอาจไม่ได้ทำหรือละเลยไป ได้แก่
– ผู้ออกแบบและคำนวณวิศวกรรมโครงสร้าง อาคารสาธารณะที่มีพื้นที่ 1,000 ตร.ม. ขึ้นไป หรืออาคารสูง หรืออาคารประเภทควบคุมการใช้ ถ้าหากคำนวณโดยใช้น้ำหนักบรรทุกจรสูงกว่าอัตราที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดไว้ ต้องระบุค่าที่ใช้ในการคำนวณไว้ในแบบแปลนโครงสร้างพื้นชั้นต่างๆ ด้วย
– ผู้ออกแบบและคำนวณงานวิศวกรรมระบบความปลอดภัยอื่นๆ ถ้าหากคำนวณโดยใช้เกณฑ์สูงกว่าที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดไว้ ต้องระบุค่าที่ใช้ในการคำนวณไว้ในแบบแปลนอาคารด้วย
– ผู้ดำเนินการ ต้องจัดทำรายงานการดำเนินการ อย่างน้อยเป็นรายงานประจำเดือน เก็บไว้ที่สถานที่ก่อสร้างจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
– กรณีอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ผู้ดำเนินการต้องจัดทำแบบแปลนตามสร้าง (As-built drawings) ส่งมอบให้เจ้าของอาคาร
– กรณีอาคารชุมนุมคน อาคารสาธารณะ ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารจะต้องจัดให้มีป้ายแสดงความจุจำนวนคนที่มากที่สุดที่สามารถเข้าใช้พื้นที่ในส่วนของอาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อการชุมนุมคน ติดไว้ในตำแหน่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจน (สถาปนิกควรเป็นผู้คำนวณความจุ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำป้ายดังกล่าว)
– นอกจากนั้น กรณีอาคารข้างต้น เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารจะต้องจัดเก็บแบบแปลนตามสร้างไว้ประจำอาคาร และจัดให้มีการบำรุงรักษาและทดสอบระบบความปลอดภัยให้พร้อมใช้งานด้วย

ดาวน์โหลดกฎกระทรวง

กฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างมีอะไรบ้าง

โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มีกฎหมายหลักๆที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ กฎกระทรวงกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 นอกจากนี้ยังมีอีกกฎหมายที่ใช้เป็นประจำคือ กฎกระทรวงกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการ ...

กฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับงานก่อสร้างเรียกว่าอะไร

กฎหมายควบคุมอาคาร คือ กฎหมายที่ต้องการเพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารให้มี ความมั่นคงแข็งแรง มีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบการระบายอากาศ ฯลฯ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และมีการจัดการด้าน การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดให้มีระบบบำบัด น้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทางระบาย น้ำสาธารณะ ฯลฯ

ความปลอดภัยในงานก่อสร้างมีอะไรบ้าง

ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ควรมีการสวมหมวกนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่ใรไซต์ก่อสร้าง เพื่อป้องกันอัตรายจากสิ่งของ หรือวัสดุที่อาจตกหล่นลงมาได้ ควรมีการแต่งตัว สวมชุดที่ปกป้องร่างกาย กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว ไม่ควรใส่รองเท้าแตะในไซต์งานก่อสร้าง เพราะอาจเกิดการเหยียบเศษวัสดุก่อสร้างจนบาดเจ็บได้

เขตก่อสร้าง” คือข้อใด

เขตก่อสร้าง” หมายความว่า พื้นที่ที่ดำเนินการก่อสร้าง รวมทั้งพื้นที่โดยรอบบริเวณซึ่งนายจ้างได้กำหนดขึ้นตามกฎกระทรวงนี้