ผู้ใฝ่รู้ มีคุณสมบัติอย่างไร

ทวีศิลป์ ซื่อสัตย์
โรงเรียนวัดประทุมทายการาม  อำเภอสิชล  จังหวัดนครศรีธรรมราช
E- mail  

1.ความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ

ปัจจุบันการศึกษามุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุขนั้น คงจะไม่เพียงพอ คนเก่งในสังคมปัจจุบันไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ดังจะพบเห็นได้จากสื่อต่าง ๆ นักเรียนฆ่าตัวตาย เพราะเกรดไม่สูงดังที่ตั้งใจไว้ หรือเอนทรานซ์ไม่ได้ (ผ่องศรี สมยา. 2545 :13) จึงได้กำหนดจุดมุ่งหมายให้สอดคล้องกับปัญหาความต้องการของยุคโลกาภิวัตน์ โดยมุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อและในการประกอบอาชีพ  (กรมวิชาการ. 2544 : 4) ซึ่งนอกจากจะพัฒนาชีวิตมนุษย์ให้เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย สติปัญญา ความรู้ รวมถึงคุณธรรมในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขแล้ว ยังต้องพัฒนาสังคมไทยให้เข้มแข็ง  มีดุลยภาพใน 3 ด้าน คือ สังคมคุณภาพ สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้  รวมถึงสังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรกัน(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2545 : 2) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า สังคมแห่งการเรียนรู้ ต้องสร้างเยาวชนของชาติ ให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  มุ่งมั่นที่จะให้เยาวชนเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รู้จักแสวงหาความรู้ รู้จักใช้แหล่งเรียนรู้ ทั้งในโรงเรียนและชุมชน ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สร้างองค์กรการเรียนรู้ นำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตนเอง อันนำไปสู่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (อุดมศักดิ์ พลอยบุตร. 2544 : 2) ซึ่งสอดคล้องกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551ประการหนึ่งที่ว่า มุ่งให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการอ่าน รักการเขียน รักการค้นคว้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะที่สำคัญยิ่งในการเรียนรู้ของบุคคล

จิตพิสัยเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ในด้านอารมณ์ ความรู้สึก และลักษณะนิสัยของผู้เรียน ซึ่งมีองค์ประกอบ ที่สําคัญ เช่น ความสนใจ  เจตคติ  แรงจูงใจ  ค่านิยม  ความซาบซึ้ง การมีอัตมโนทัศน์ แห่งตน ความสามารถควบคุมตนเอง การมีวินัยในตนเอง ความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นต้น จิตพิสัยมีความสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เพราะเมื่อผู้เรียนมีจิตพิสัยที่ดีในการเรียนรู้แล้วย่อมมีความกระตือรือร้น  สนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน อยากที่จะเรียนรู้  เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจ มีความรู้สึกที่ดีต่อการเรียน รู้สึกว่าการเรียนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความสําคัญและมีประโยชน์ เรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ย่อท้อ มีความขยันอดทน เห็นคุณค่าของตนเอง และสามารถควบคุมตนเองในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กําหนด จึงมีผลทําให้ผู้เรียนประสบความสําเร็จในด้านการเรียน ดังเช่น  การวิจัยของกัญจนา ทองสิงห์ (2540) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนความสามารถทางการเขียนเรื่อง และเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งพบว่า นักเรียนที่มีเจตคติที่ดีต่อการเรียน  มีผลสัมฤทธิ์ในด้านการเรียนและความสามารถในด้านการเขียนเรื่องดีด้วย เช่นเดียวกับ เกษมศรี ภัทรภูริสกุล (2544) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความคงทนในการเรียนรู้ และความสนใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนที่มีความสนใจในการเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความคงทนในการเรียนรู้ดีด้วยเช่นกัน

คุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นคุณลักษณะที่สำคัญต่อผู้เรียน ที่ควรส่งเสริมผู้เรียนให้รักการเรียนรู้  ชอบศึกษาหาความรู้และตื่นตัวกับสิ่งแปลกใหม่รอบตัว อยากรู้อยากเห็น เสาะแสวงหาความรู้ มีวิจารณญาณ เลือกตัดสินใจ คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์  คิดหาเหตุผล คิดจิตนาการ ประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ เกาะติดสถานการณ์ รู้จักซักถาม ค้นหาคำตอบ กระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยการติดตามข่าวสาร อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์  เรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและมีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อทำให้ชีวิตของผู้เรียนมีความหมายมีชีวิตชีวาตลอดจนสำเร็จการศึกษา รับผิดชอบงาน รับผิดชอบชีวิตของตนเอง  สามารถปรับตัวเองให้ทันสมัย  ทันยุค ทันเหตุการณ์  ทันโลกและทันต่อความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมการเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข (อารี พันธ์มณี. 2545 : 15)

นอกจากนี้คุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียนเป็นลักษณะนิสัยอย่างหนึ่ง ที่สร้างศักยภาพในการนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จ เป็นคุณลักษณะที่พบเห็นโดยทั่วไปในแถบประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกแต่แทบจะไม่มี ในสังคมไทย รากฐานความรู้ของคนไทยจึงอ่อนแอไม่สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้  (เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์. 2543 : 71) โดยเฉพาะวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ไม่นิยมนำหนังสือติดตัวไปไหนเหมือนคนต่างชาติที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนด้วยการนำหนังสือติดตัวไปตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่บนรถไฟ รถทัวร์ รถเมล์ (วิชาญ อัครวนสกุล. 2545 : 14) หากบุคคลไม่มีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียนหรือเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็จะกลายเป็นคนล้าหลัง ไม่ทันคน ไม่ทันโลก ลำบากต่อการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหลากหลายในยุคโลกาภิวัตน์  เพราะเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร การรับรู้อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องรับรู้เรียนรู้ที่วิเคราะห์ สังเคราะห์ แยกแยะและประเมินค่าของข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องก่อนนำไปใช้ประโยชน์  (อารี  พันธ์มณี. 2545 :15 -16) ความไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนของคนในสังคม นอกจากจะนำความพ่ายแพ้มาสู่ชีวิตแต่ละคนแล้วยังส่งผลเสียต่อชาติบ้านเมืองอีกด้วย (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. 2543 : 71)

การพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้เกิดจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน ควรเริ่มพัฒนาตั้งแต่ในเยาว์วัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนในระดับประถมศึกษา ซึ่งอุทัย ดุลยเกษม (2543 : 21, 32 – 33) ได้ให้ขอคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในระดับนี้ว่า การจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสถาบันครอบครัวกับสถาบันการศึกษาในระดับอื่น ๆ  ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนในระดับนี้จะต้องคํานึงถึงการพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ในด้านจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนของผู้เรียน เพราะจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนหรือความรู้สึกเป็นพลังสําคัญของการเรียนรู้ของผู้เรียนในวัยนี้  (อายุ 7-14 ปี) ถา้ผู้เรียนเข้ามาอยู่ในโรงเรียนแล้วได้รับการจัดการเรียนการสอนที่ไม่คํานึงถึงอารมณ์หรือ ความรู้สึกของผู้เรียนแล้ว ก็จะทําให้ผู้เรียนรู้สึกเคร่งเครียด เบื่อหน่ายและเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการเรียน เรียนรู้ด้วยความทุกข์ ไม่อยากมาโรงเรียน เฝ้าแต่รอวันที่จะจบการศึกษา และเมื่อจบการศึกษาในระดับนี้แล้วก็ไม่อยากเรียนต่อหรือแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ดังนั้นการพัฒนาผู้เรียนในระดับประถมศึกษาให้เกิดจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนจึงเป็นเรื่องที่มีความสําคัญ

ผลจากการศึกษาจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2544 พบว่า คุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่สําคัญต้องพัฒนาให้เกิดแก่ผู้เรียนในระดับประถมศึกษา ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ได้แก่ มีความสนใจแสวงหาความรู้และรูปแบบการทํางานใหม่ๆ เห็นคุณค่าและ  ชื่นชมต้อการใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการ อ่าน การเขียน การศึกษาค้นคว้า การมีวินัยในตนเอง มีความเอื้อเฟื้อ  เกื้อกูล มีเหตุผล รู้หน้ที่ ซื่อสัตย์ พากเพียร ขยัน ประหยัด เห็นคุณค่าของตนเองปฏิบัติ ตามหลักธรรมของพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเสียสละ สามัคคี ยอมรับ ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น (คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้. 2543: 11-12, กรมวิชาการ. 2544 : 4) แต่จากการศึกษางานวิจัยของปรีชา  งามประดับ (2545 : บทคัดย่อ) ที่ศึกษาเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมศึกษา  สังกัดสํานักงานการประถมศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหารโรงเรียน  พบว่าโรงเรียนส่วนมาก  ยังมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้เรียนคือ ผู้เรียนยังขาดคุณลักษณะนิสัยสนใจใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ขาดโรงเรียนบ่อย ไม่อยากมาเรียน ไม่มีความกระตือรือร้น และไม่มีระเบียบวินัย เช่นเดียวกันกับงานวิจัยของมาลี ปานบุญห้อม (2540 : บทคัดย่อ)  ที่ศึกษาเกี่ยวกับสภาพและปัญหาของการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรุงเทพมหานครโดยการสอบถามความคิดเห็นของครูผู้สอนพบว่า ครูผู้สอนได้แสดงความคิดเห็นว่า ผู้เรียนที่ตนสอนยังขาดความสนใจในการเรียน  ดังนั้นจากผลการวิจัย  ดังกล่าว  จึงสะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้เรียนในระดับประถมศึกษาที่ขาดจิตพิสัยในการเรียนรู้ โดยเฉพาะด้านความสนใจในการเรียน เจตคติ แรงจูงใจ และการมีวินัยในตนเอง เพราะฉะนั้น  ในการพัฒนาผู้เรียนในระดับประถมศึกษา ให้เกิดจิตพิสัยในด้านดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่มีความจําเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้การพัฒนาจิตพิสัยในด้านใฝ่รู้ใฝ่เรียนระดับประถมศึกษายังสอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครอง ครูผู้สอน ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตพิสัยด้วย (สํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. 2543 : 7, สุทธิพันธ์  ผ่องอักษร. 2540)

แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะใฝ่รู้ ใฝ่เรียนของนักเรียนโรงเรียนวัดประทุมทายการาม  ปรากฏว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นักเรียนยังมีคุณลักษณะด้านความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสาเหตุของปัญหาเกิดมาจากตัวนักเรียนเองหรือสาเหตุมาจากครอบครัวปล่อยปละละเลยมากเกินไป ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะความเป็นอยู่ไม่ดี  ไปทำงานรับจ้างต่างถิ่นและในเมือง ทิ้งภาระปกครอง  ดูแลให้ญาติ หรือปล่อยให้อยู่ตามลำพัง ทำให้เกิดปัญหาด้านการเรียน ขาดความรับผิดชอบ ขาดความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน ส่วนหนึ่งมาจากการดูแลช่วยเหลือนักเรียนยังไม่เป็นระบบขาดความต่อเนื่อง และที่ผ่านมาการดำเนินงานปกครองโรงเรียนยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียนไม่ครอบคลุมถึงความรู้สึกนึกคิด นักเรียนไม่มีความตระหนักและเห็นความสำคัญในคุณลักษณะความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน

การพัฒนาผู้เรียนในระดับประถมศึกษาให้เกิดจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน ควรคํานึงถึงปัจจัยที่มี ผลต้อการพัฒนาจิตพิสัยของผู้เรียนด้วย  ผลจากการสังเคราะห์งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อจิตพิสัยใฝ่รู้  ใฝ่เรียนของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษา พบว่าปัจจัยด้านการจัดการเรียนการสอนมีค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์กับผลการพัฒนาจิตพิสัยของผู้เรียนสูงสุด (วสันต์  ทองไทย. 2545 : 40) อาจกล่าวได้ว่าสิ่งสําคัญที่จะช่วยพัฒนาจิตพิสัยของผู้เรียนก็คือการจัดการเรียนการสอนและจากการศึกษาของวุฒินันท์ อบอุ่น (2544 : 168) พบว่าครูผู้สอนในชั้นประถมศึกษามีความต้องการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของตนเพื่อเสริมสร้างผู้เรียนให้มีจิตพิสัยในการเรียนรู้ คือมีความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ และมีแรงจูงใจในการเรียน ด้วยเช่นกัน และสิ่งสําคัญประการหนึ่งของการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนนั้นจะต้องอาศัยการสร้างองค์ความรู้ด้วยกระบวนการวิจัย  เพราะการพัฒนาผู้เรียนในระดับประถมศึกษาให้เกิดจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนเป็นเรื่องสําคัญ เนื่องจากคุณลักษณะดังกล่าวมีผลต่อการเรียนรู้และเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน แต่จากสภาพความเป็นจริง พบว่ายังมีผู้เรียนในระดับประถมศึกษาขาดคุณลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้แล้วงานวิจัยที่สร้างองค์ ความรู้ เกี่ยวกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้แก่ผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษายังมีจํานวนน้อย  ซึ่งครูผู้สอนในระดับชั้นประถมศึกษาก็ยังมีความต้องการแนวทางในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างจิตพิสัยในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1. งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน
2. งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเจตคติ

สนใจทำเรื่อง    การพัฒนาจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนต่อความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนและเจตคติของนักเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน

วิเคราะห์ที่มาและความสำคัญ

จับประเด็นได้ว่า ประเทศไทยขาดความรู้ “การสร้างจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน”  ทำให้ครูประถมไม่มีความรู้ในการจัดการเรียนการสอน   ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้พ่อแม่ไม่สอนลูก เป็นผลให้เยาวชนกลุ่มนี้ไม่ตั้งใจเรียน  

สิ่งที่ไม่ทราบว่า  คือ  (1) โรงเรียนวัดประทุมทายการาม มีปัญหาอะไรบ้าง  และมีปัญหาเรื่องนี้อยู่มากน้อยเท่าใด  ดังนั้นผู้วิจัยควรจะอธิบายบริบทและสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของโรงเรียน   (2) ทำไม จึงเลือกใช้ชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน  ดีอย่างไร มีวิธีการอื่นหรือไม่   ดังนั้นผู้วิจัยต้องอธิบายความสัมพันของชุดกิจกรรม

สิ่งที่เข้าใจ คือ  มีความรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว  รู้ว่าจะกระตุ้นอย่างไรให้ผู้เรียนอยากใฝ่รู้  ไม่เช่นนั้นประเทศไทยคงจะอ่อนแอมากกว่านี้  ที่กล่าวมาเป็นปัญหาเฉพาะกับนักเรียนบางคน  บางกลุ่ม (ไม่แน่ใจว่ามีมากขนาดไหน) ที่โรงเรียนต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ และจัดกระบวนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน 

สิ่งที่ควรทำคือ  สืบหาความรู้  นำความรู้มาพัฒนากระบวนการสอนสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้ ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างที่คงอยู่ คือ ปัญหาเศรษบกิจ ครอบครัว สังคม  และอื่นๆ


2. วัตถุประสงค์
1.  เพื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียนของนักเรียนที่ใช้ชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน กับ ไม่ใช้ชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน  ชั้นประถมศึกษาปีที่  4
2. เพื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียนของนักเรียน ก่อนและหลังใช้ชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
3.  เพื่อศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนหลังจัดกิจกรรมโดยใช้ชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน  ชั้นประถมศึกษาปีที่  4

วิเคราะห์วัตถุประสงค์

การใช้วัตถุประสงค์แบบนี้ ทำให้ได้ความรู้ใหม่ไม่มาก  พอจะคาดคะเนผลวิจัยได้ว่า “ใช้ดีกว่าไม่ใช้   หลังใช้ดีกว่าหลังใช้   เจตคติดีขึ้นเพราะได้สัมผัสของใหม่”   

ยังไม่เห็นเป้าหมายที่ทำให้ได้ “ความรู้”  สำหรับใช้แก้ปัญหา “การไม่ใฝ่รู้ของผู้เรียน”   นอกจากนี้ไม่แน่ใจว่า ชุดกิจกรรมที่ดีที่สุดจะแก้ปัญหานี้ได้

 กลุ่มทดลอง คือ นักเรียนป. 4    ทำไมไม่ทำทั้งโรงเรียน   เพราะปัญหาเริ่มต้นที่ ป.1  ถ้าแก้ที่ต้นน้ำได้  ปลายน้ำก็ไม่เกิดปัญหา


3. วิธีการวิจัย
กิจกรรมที่ 1  สร้างชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน
1.1 ศึกษาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เกี่ยวกับหลักการ จุดหมาย โครงสร้าง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตร และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษา
1.2 ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตพิสัย และคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน
1.3 ศึกษา แนวคิด ทฤษฎี การสร้างชุดกิจกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุดกิจกรรมการเรียน
1.4 สอบถามความคิดเห็นของครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน
1.5  ศึกษาข้อมูลนักเรียนเป็นรายคน
1.6 กำหนดหน่วยการเรียนรู้  จุดประสงค์การเรียนรู้  และสาระการเรียนรู้  เวลาเรียน
1.7 จัดทำรายละเอียดของชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน
1.8  หาคุณภาพของชุดกิจกรรม

กิจกรรมที่ 2   สร้างและหาคุณภาพของแบบทดสอบวัดคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน
2.1 ศึกษาวิธีการสร้างแบบทดสอบจากทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนวัดประทุมทายการาม หลักการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษาและการสร้างเครื่องมือวัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์
2.2 ศึกษาชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน
2.3 ศึกษาวิธีการสร้างแบบทดสอบจากหนังสือการสร้างและพัฒนาแบบทดสอบ  เทคนิคการเขียนข้อสอบ   (สมนึก  ภัททิยธนี.2544 : 73 – 128)   การสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์แบบอิงเกณฑ์ (บุญชม       ศรีสะอาด. 2545 : 62 – 66)
2.4 กำหนดคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน โดยเขียนนิยามปฏิบัติการคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียนที่ต้องการวัด  7 ด้าน
1) เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ
2) อยากรู้อยากเห็น
3) ตั้งใจอย่างมีสติ
4) กล้าคิดริเริ่ม
5)  มีเพียรพยายาม
6)  การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
7)  มีเหตุผล
2.5 เขียนข้อคำถามตามคำนิยามปฏิบัติการของคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียนและสัดส่วนโครงสร้างแต่ละด้าน
2.6 นำแบบทดสอบวัดคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียนที่สร้างขึ้นไปตรวจสอบคุณภาพ

กิจกรรมที่ 3   สร้างแบบสอบถามวัดเจตคติของนักเรียนต่อความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน
3.1 ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับการวัดผลประเมินผล การสร้างแบบสอบถามวัดเจตคติแบบสอบถาม
แบบมาตราประมาณค่าชนิด 5 สเกล ของลิเคิร์ท (Likert) (ล้วน สายยศและอังคณา สายยศ.2543 : 90 – 98)
3.2 กำหนดคุณลักษณะความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน  โดยเขียนนิยามคุณลักษณะใฝ่รู้ ใฝ่เรียนที่ต้องการวัด  6 ด้าน
1) ช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็น
2) มีความตั้งใจอย่างมีสติ
3) กล้าคิดริเริ่ม
4) ความเพียรพยายาม
5) การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
6) ความมีเหตุผล
3.3 เขียนข้อความตามคำนิยามของคุณลักษณะความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนและสัดส่วนโครงสร้างแต่ละ
ด้าน  ด้านละ 7  ข้อ
3.4 นำแบบสอบถามวัดเจตคติต่อความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนที่สร้างขึ้นไปตรวจสอบคุณภาพ

กิจกรรมที่ 4  การเก็บรวบรวมข้อมูล
4.1 ทำการทดสอบก่อนเรียน (Pre – test) โดยให้กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมทำแบบทดสอบวัดคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน ตรวจผลการสอบและเก็บคะแนนของแต่ละคนไว้
4.2  ดำเนินการทดลอง โดยผู้วิจัยเป็นผู้สอนนักเรียนทั้ง 2  กลุ่ม โดยจัดกิจกรรมที่ต่างกัน  ดังนี้
1)  กลุ่มทดลอง ปฏิบัติกิจกรรมโดยใช้ชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน
2)  กลุ่มควบคุม ไม่ให้ปฏิบัติกิจกรรมโดยใช้ชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่เรียน
3) ให้กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมทำแบบทดสอบวัดคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน
4)  ให้กลุ่มทดลอง กลุ่มควบคุมทำแบบสอบถามวัดเจตคติต่อความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน
4.3 นำคะแนนที่ได้มาวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อทดสอบสมมติฐาน

กิจกรรมที่ 5   สรุปผล และเขียนรายงานการวิจัย

วิเคราะห์วิธีวิจัย

การออกแบบวิจัย แบบกิจกรรมย่อย เพื่อตอบวัตถุประสงค์แต่ละข้อ นั้น หมายความว่า จะได้ความรู้ทีละเรื่องหรือมากกกว่าในแต่ละกิจกรรม ดังนี้นเราสามารถใช้การวิเคราะห์ว่า ได้ความรู้ในแต่ละกิจกรรมหรือไม่ เพื่อบอกว่า ใช่หรือไม่ใช่กิจกรรมวิจัย

 กิจกรรมที่ 1  สร้างชุดกิจกรรมจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน

เป็นกิจกรรมวิจัย เพราะจะได้วิธีสร้างชุดกิจกรรม และได้ชุดกิจกรรมที่มีคุณภาพ

กิจกรรมที่ 2   สร้างและหาคุณภาพของแบบทดสอบวัดคุณลักษณะใฝ่รู้ใฝ่เรียน

ไม่เป็นกิจกรรมวิจัย เพราะการวิจัยครั้งนี้ไม่ได้พัฒนาแบบทดสอบ


กิจกรรมที่ 3   สร้างแบบสอบถามวัดเจตคติของนักเรียนต่อความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน

เช่นเดียวกับ กิจกรรมที่ 2 เพราะเราไม่ได้ต้องการสร้างความรู้ ในเรื่องพัฒนาแบบสอบถาม
กิจกรรมที่ 4  การเก็บรวบรวมข้อมูล

ไม่เป็นกิจกรรมวิจัย เพราะเราไม่ได้ต้องการศึกษาเรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูล
กิจกรรมที่ 5   สรุปผล และเขียนรายงานการวิจัย

ไม่เป็นกิจกรรมวิจัย เพราะเป็นการทำงาน

สรุป มีกิจกรรมเดียว คือ การสร้างชุดกิจกรรม

วิเคราะห์จากโจทย์วิจัย “การพัฒนาจิตพิสัยใฝ่รู่ใฝ่เรียน..โดยใช้ชุดกิจกรรม”   จากคำ “จิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน” เป็นผลจากการกระทำ  หรือจากปัจจัยอื่น ดังนั้นเราไม่สามารถพัฒนาที่ผล เราต้องไปกระทำหรือพัฒนาที่เหตุ ซึ่งทำให้เกิดสิ่งนี้   ผล “จิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน” วัดได้จากข้อมูล 7 ค่าตามที่กล่าวข้างต้น

การวิจัยของคนอื่น ยังไมใช่ทฤษฎีหรือหลักการ ที่ควบคุม “จิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน”  ดังนั้นต้องทำความเข้าใจกับทฤษฎีก่อน เพื่อเป็นสิ่งยึดไม่ให้หลงทาง


4. แผนการดำเนินการวิจัย

เดือนที่ 1-4 กิจกรรมที่ 1 สร้างชุดกิจกรรม
เดือนที่ 3-5 กิจกรรมที่ 2 สร้างแบบสอบ
เดือนที่ 3-5 กิจกรรมที่ 3 สร้างแบบวัดเจตคติ
เดือนที่ 6-11 กิจกรรมที่ 4 ทดลองใช้
เดือนที่ 12 กิจกรรมที่ 5 สรุป / เขียนรายงาน

วิเคราะห์แผนการดำเนินงาน

ปรับปรุงตามกิจกรรมที่เปลี่ยนไป

5. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

เดือนที่ 1-4 ได้ชุดกิจกรรมบูรณาการจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน 10 หน่วย
เดือนที่ 4-5 แบบวัดจิตพิสัยใฝ่รู้ใฝ่รู้เรียน แบบสอบเจตคติ
เดือนที่ 6-11 ข้อมูล / ผลการดำเนินการ
เดือนที่ 12 รายงานวิจัย

วิเคราะห์ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ปรับปรุงตามกิจกรรมที่เปลี่ยนไป

6. งบประมาณ

ไม่เกิน 60,000 บาท

7.เอกสารอ้างอิง (จากทั้งหมด 134 อ้างอิง)
1.กมลรัตน์  หล้าสุวงษ์. (2528). จิตวิทยาการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพ ฯ : ภาควิชาจิตวิทยาและแนะแนวการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
2.กัญจนา  ทองสิงห์. (2540). การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเขียนและเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยการใช้นาฏการ. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม.(การประถมศึกษา). กรุงเทพ ฯ : บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
3.กาญจนา  คุณานุรักษ์. (2543). พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.
4.การศึกษานอกโรงเรียน,กรม. (2542). คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนการศึกษานอกโรงเรียน  เพื่อสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.
5.กิดานันท์  มะลิทอง. (2546). เทคโนโลยีการศึกษา : สื่อการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ : ศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ.
6.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์. (2543). จอมปราชญ์การศึกษา : สังเคราะห์ วิเคราะห์และประยุกต์แนวพระราชดำรัสด้านการศึกษาและการพัฒนาคน. กรุงเทพฯ :  ซัคเซสมีเดีย.
7.เกศศินี  ชมเกียรติกุล. (2550). การพัฒนาชุดฝึกทำโครงงานวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6. โรงเรียนบ้านสวาย  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุรินทร์เขต 1
8.เกษมศรี  ภัทรภูริสกุล. (2544). การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความคงทนในการเรียนรู้ และความสนใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  6  ที่ได้รับ การสอนตามทฤษฎีสรรคนิยม. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. (การประถมศึกษา). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
9.ขวัญชัย  ภู่เฉลิม.(2545). การสร้างชุดการสอนรายวิชาชีววิทยา  ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่องอาณาจักรพืช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
10.คณะอนุกรรมการการปฏิรูปการเรียนรู้.(2543). การปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา.
11.Anderson, O. Roger ; et al. (2001). The Role  of ideational  networks in laboratory  inquiry  learning  and  knowledge  of  evolution  among  seventh  grade  students. (Online)                 HW  Wilson.
12. Bell –  Gredler  M.E. (1986). Learning  and  Instruction  Theory  into Practice.  New  York  : Maccmillan.
13. Benjafield. J.G. (1992). Cogition. New  Jersy : Prince  Hall.
14. Bernard, Russell H. (2000). Socail  Research  Methods  : Qualitative  and  Quantitative  Approaches. Thousand  Oaka. California : SAGE  Publication,Inc.

สรุป

ข้อเสนอโครงการนี้  สืบค้นข้อมูลวิจัยมาค่อนข้างดี แต่ยังขาดการเชื่อมโยงบริบทและปัญหาในโรงเรียน  ทฤษฎีและหลักการ  มาใช้ในการออกแบบการวิจัย  ที่สำคัญคือ การวิจัยครั้งนี้ต้องเชื่อมโยงกับการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิศาสตร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการให้ทุนของโครงการผู้บริหารโรงเรียนทำวิจัย

การวิจัยควรจะออกแบบให้แก้หรือปรับปรุงปัจจัยหลายตัว ที่เป็นระบบมากกว่าการวิจัยในชั้นเรียน  ดังนั้นก่อนทำวิจัยจำเป็นต้องวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วใช้วิจัยเป็นเครื่องมือในการศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ

แนะนำให้ปรับปรุงข้อเสนอโครงการใหม่ โดยใช้การระดมความคิดเห็นของครู และใช้แนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น 

ข้อใดเป็นลักษณะนิสัยของผู้ที่ใฝ่เรียนรู้

ประกอบด้วยตัวชี้วัด 3 ข้อ ได้แก่ 4.1 ตั้งใจเพียรพยายามในการเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ พฤติกรรมบ่งชี้ เช่น ตั้งใจเรียน เอาใจใส่และมีความเพียรพยายามในการเรียนรู้ และสนใจเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ

ความใฝ่รู้คืออะไรมีความสําคัญอย่างไร

ความใฝ่รู้ (curiosity) คือคุณลักษณะของผู้ที่มีความอยากรู้อยากเห็นสิ่งใหม่ และมีความสนใจที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอยู่เสมอ ที่ผ่านมาน้องๆ อาจจะยังไม่ทราบว่า ประเทศไทยเราให้ความสำคัญกับการสร้างความใฝ่รู้มากเลยนะคะ กรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (พ.ศ. 2552 - 2561) มุ่งพัฒนาคนยุคใหม่ให้มีนิสัยใฝ่รู้ สามารถเรียน ...

ผลดีของการใฝ่หาความรู้มีอะไรบ้าง

คนที่มักเรียนรู้ชื่นชอบการเรียนรู้อยู่เสมอ แสดงว่าเป้นคนที่มีความสุขกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ นอกจากจะเป็นการหาความสุขแล้ว ยังเป็นการได้ความรู้เพิ่มเติมด้วย ยิ่งเรารู้ว่าสิ่งที่เราต้องการเรียนรู้มันยากมากขนาดไหน ท้าทายมากขนาดไหน เมื่อเราทำมันได้สำเร็จ เราก็จะยิ่งมีวคามภาคภูมิใจ และมีความสุขใจมากขึ้นเท่านั้น และครั้งต่อ ...

การใฝ่หาความรู้ มีกี่ทาง

ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม ๔.๑. ตั้งใจเพียรพยายามในการเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ พฤติกรรมบ่งชี้ เช่น ตั้งใจเรียน เอาใจใส่และมีความเพียรพยายามในการเรียนรู้ และสนใจเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ