การปกครองระบบปิตาธิปไตยมีลักษณะอย่างไร

คนหลังยุค 70’s -80’s คำว่า ‘ชายเป็นใหญ่’ คงไม่ใช่คำแปลกใหม่ไม่คุ้นหูอะไร ต่อให้ไม่ใช่ feminist ก็เถอะ ศัพท์แสงหรูหน่อยก็ ‘ปิตาธิปไตย’ หรือทับศัพท์ไปเลยว่า ‘patriarchy’ ที่ใช้เรียกระบบสังคมที่เอื้ออำนวยให้ผู้ชายหรือ ‘ความเป็นชาย’ มีคุณค่าเหนือกว่าและกดทับผู้หญิง หรือ ‘ความเป็นหญิง’ มีอำนาจโอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ก็มีปัญหาในตัวมันเอง ที่มักใช้อธิบายแบบตีขลุมอย่างสากล เช่นจากการเคลื่อนไหวทางสังคมและภูมิปัญญาของ Radical Feminism ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคในระดับโครงสร้างสังคมและระบบรากฐานแห่งการกดทับทางเพศ ซึ่งมาค้นพบได้ว่าสถาบันทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงตกเป็นรองผู้ชาย ก็คือสถาบันครอบครัวและการแต่งงานแบบรักต่างเพศที่นำไปสู่การเจริญพันธุ์ ที่ทำให้ผู้หญิงต้องเป็นแม่และเมีย เลี้ยงลูกอยู่บ้าน

เช่น Zillah Eisenstein นักเคลื่อนไหวและนักคิดนักเขียนทฤษฎีการเมืองและสตรีนิยมคนสำคัญของอเมริกา นิยาม patriarchy ไว้ว่า

“เป็นโครงสร้างทางการเมืองที่แสวงหาทางควบคุมผู้หญิง ลดทอนอำนาจในการตัดสินใจในทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเพศ การเลี้ยงดูลูก การแสดงออกถึงความรัก ไปจนถึงการใช้แรงงาน”[1]

ทว่า แนวคิดว่าด้วยโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ของสำนัก Radical Feminism เมื่อแรกเริ่ม ไม่ได้เชื่อมโยงกับโครงสร้างมิติอื่นมากมายเช่นศาสนา การเมืองภาครัฐ เศรษฐกิจ มากไปกว่าการต่อสู้ดิ้นรนต่ออำนาจผู้ชาย

อย่างไรก็ตามแนวความคิดชายเป็นใหญ่ก็ได้รับการพัฒนาต่อยอดสม่ำเสมอ Marxist feminism พยายามแสวงหาความสัมพันธ์ระหว่างปิตาธิปไตยกับระบบทุนนิยมและรูปแบบการผลิตว่า ความเป็นรองของสถานะของผู้หญิงไม่สามารถแยกได้ออกจากการแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องและการกดทับของระบบทุนนิยม[2]

ปิตาธิปไตยเองก็ได้ถูกนำมาอธิบายเพิ่มเติมกับการเมืองภาครัฐโดยนักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ Sylvia Walby ผู้สนใจประเด็นสังคมเป็นใหญ่ ความรุนแรงในครอบครัว และเพศสภาพในโลกาภิวัฒน์ ว่ารัฐก็คืออีกองค์ประกอบของการสร้างสังคมปิตาธิปไตยเช่นเดียวกับการเจริญพันธุ์ ที่เมื่อแต่งงานแล้ว ผลผลิตและแรงงานภายในบ้านตกเป็นทรัพย์สมบัติของผัว การผลักผู้หญิงออกจากงานนอกบ้านที่มีค่าจ้าง, การให้ความชอบธรรมต่อความรุนแรงของผู้ชาย, เพศวิถีรักต่างเพศภาคบังคับที่บีบให้ผู้หญิงต้องแต่งงานมีผัวอยู่ภายใต้โครงสร้างครอบครัว, และผลิตวัฒนธรรมที่สนับสนุนให้เพศชายเหนือกว่า เพราะรัฐนั้นเป็น ‘รัฐปิตาธิปไตย’ ที่ผลักผู้หญิงออกจากการเข้าถึงอำนาจและทรัพยากรของรัฐ จนทำให้ผู้หญิงไม่มีตัวตนสำหรับรัฐในทางตรงแต่ต้องผ่านผู้ชาย ผู้หญิงจึงไม่มีสิทธิเลือกตั้งในก่อน ค.ศ. 1920 และไม่มีบทบาทในการค้ำจุนรัฐหรือเป็นตัวแทนที่มีอำนาจตัดสินใจในนามของรัฐเช่นตำรวจ ตุลาการ ได้เท่าผู้ชาย[3]

แต่สำหรับ Carole Pateman นักทฤษฎีสตรีนิยมและรัฐศาสตร์ คำว่า patriarchy หรือปิตาธิปไตย ก็มีข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ ใช้เฉพาะยุคก่อนสมัยใหม่เท่านั้น ที่ยังปกครองระบอบราชาธิปไตย ที่กษัตริย์มักมาในรูปแบบของบิดาปกครองราษฎรทั้งชายหญิง พ่อปกครองลูก หรือในบริบทสังคมที่ยังคงต้องการนักปกครองที่เป็นคุณพ่ออัจฉริยภาพ เก่งทุกด้าน ฉลาดทุกเรื่อง ขณะที่ในยุคสมัยใหม่เป็นต้นมาพัฒนาแล้วเป็นรัฐประชาชาติ ประชาชนปกครองตนเองอย่างเสรี แต่อย่างไรเสีย ความหมายประชาชนก็ยังคงยุ่ในฐานะ ‘ภราดรภาพ’ (fraternity) มีแต่พวกผู้ชายที่มีสิทธิปกครองผู้หญิงและพื้นที่ส่วนบุคคลของพวกเขา แม้จะมีข้อตกลงในสนธิสัญญาของการจัดระเบียบทางสังคมว่าด้วยความเท่าเทียมเสมอภาคทั้งในบ้านนอกบ้านแล้วก็ตาม ซึ่งนางได้เสนอคำว่า ‘fraternal patriarchy’ แทน (ภราดาธิปไตย)[4] ผู้ชายและเพศสภาพชายจึงถูกทำให้ผูกขาดกับสถาบันหลักๆ ทั้งศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ครอบครัว ศาล ทหาร การทูต และรัฐบาลก็ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ผู้ชายมากกว่าโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้นรัฐด้วยตัวของมันเองก็คือ ‘รัฐผู้ชาย’ (male state)[5] เหมือนกับที่ Benedict Anderson (ที่เก่งมากเกินจนอธิบายไม่ได้ว่าเป็นนักอะไร นักสังคมวิทยา นักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์หรือนักอะไร) อธิบายว่ารัฐประกอบสร้างในฐานะโครงการผู้ชายรักต่างเพศ และจินตนาการให้เป็นภารดรภาพที่ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นแบบฉบับ[6]

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ‘ชายเป็นใหญ่’ ไม่ได้แค่อธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศชายกับหญิงเท่านั้น แต่มันยังเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้หญิงด้วยกันเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นและชาติพันธุ์ ที่ย่อมต้องไม่สากล มีประวัติศาสตร์ของมัน ลื่นไหลและสัมพันธ์กับบริบทของสถานที่และเวลา[7]

ทว่าชุดอธิบายเช่นนี้ ฟังดูเหมือนจะเท่ากับว่าสตรีนิยมกำลังต่อต้านรัฐอยู่

หากแต่ก็ทำให้เห็นได้ว่าสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ ไม่ใช่แค่เรื่องจู๋เป็นเจ้าโลก รักษาเยื่อพรหมจารีย์ พริตตี้มอเตอร์โชว์ โสเภณีเด็กหญิง ผู้หญิงห้ามบวชพระ ผู้ชายต้องเกณฑ์ทหารเป็นหัวหน้าครอบครัว ผัวเดียวหลายเมีย ผัวเตะเมีย หรือผู้ชายจะต้องเลวไปกว่าหมา หรือมาจากดาวอังคาร (เพราะหมาก็ไม่ได้เลว และไม่มีใครมาจากดาวดวงไหน) เพราะขณะเดียวกันผู้หญิงบางคนเองก็แสวงหากำไรจากโครงสร้างสังคมแบบนี้ เพราะทำให้มี lady parking, มีสุภาพบุรุษลุกให้นั่งบนรถเมล์ BTS MRT หรืออย่างน้อยที่สุดพวกเธอจะได้นั่งก่อนพวกผู้ทั้งหลาย แถมอิ่มจังตังค์อยู่ครบเมื่อออกเดท

นักเคลื่อนไหว ศิลปิน และนักเขียนเฟมินิสต์อย่าง Kate Millett เองก็อธิบายสังคมชายเป็นใหญ่ว่า เป็นระบบสังคมภายใต้กฎระเบียบที่ไม่เพียงผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง แต่ผู้ชายที่แก่กว่าก็ยังมีอำนาจเหนือผู้ชายที่อ่อนวัยกว่า ด้วยกระบวนการขัดเกลาของระบบอาวุโส และหน่วยพื้นฐานของระบบนี้ไม่ใช่อะไรที่ไหน นางอธิบายว่าก็คือครอบครัวนี่แล[8]

เพราะชายเป็นใหญ่ ใช่ว่าทุกชายจะได้เป็นใหญ่ พวกหนุ่มๆก็มีชนชั้นและกดทับกดขี่กันเองเหมือนกัน ที่แบ่งตามชาติพันธุ์ สีผิว รายได้ สถานะทางเศรษฐกิจ ตำแหน่งหน้าที่ สถานภาพทางสังคม

สำหรับ Robert William Connell หรือ Raewyn Connell นักวิชาการด้านสังคมวิทยาชาวออสเตรเลีย แล้ว ความเป็นชายทำปฏิกิริยากับทั้งชาติพันธุ์ ผิวสี ชนชั้น นำไปสู่แบบแผนช่วงชั้นของมัน จัดลำดับออกเป็น 4 ชนชั้นวรรณะ ได้แก่

  • ‘ความเป็นชาย’ แบบ ‘เจ้าโลก’ (hegemony) ซึ่งเป็นการรับอิทธิพลทางความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงชนชั้นของ Antonio Gramsci มาอธิบายกลุ่มผู้ชายที่มีอำนาจอิทธิพลเหนือกว่าผู้อื่น เช่นดารานักแสดงหรือตัวละครในภาพยนตร์ หรือบุคคลสาธารณะผู้ทรงอิทธิพลอำนาจในระดับสถาบัน เช่นสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ ทหาร การปกครอง (ซึ่งก็พิจารณาแยกออกจากชีวิตส่วนตัวของบุคคลนั้นๆ พวกเขาอาจจะเป็น ‘คุณแม่’ กับเพื่อนฝูง หรือเป็นผู้ชายอีกแบบนึงกับลูกกับเมีย) กลุ่มนี้เอาเข้าจริงก็เป็นกลุ่มที่มีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราประชากรเพศชาย
  • ‘ความเป็นชาย’ แบบรอง (subordination) คือบรรดา nerd geek ขี้อาย อ้วนเตี้ย ขี้โรค อ่อนแอ ปวกเปียก ขี้ขลาดขี้ปอด ลูกแหง่ บอบบาง ขี้แพ้ ไม่แมน ซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าด้วย ‘ความเป็นหญิง’
  • ผู้ชายผู้สมรู้ร่วมคิด (complicity) ปฎิเสธไม่ได้ว่าผู้ชายจำนวนมหาศาลสนับสนุนและพยายามดันตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่ม ‘ความเป็นชายแบบเจ้าโลก’ ทว่ารวมตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มนั้นไม่ได้ ทำได้แต่เพียงเชียร์ฟุตบอลอยู่ขอบสนามหรือหน้าจอทีวี เพราะในชีวิตจริงไม่ได้เป็นไปตามอุดมคติ ต้องอยู่ร่วมกับผู้คนในชุมชน และประนีประนอมกับผู้หญิง อันได้แก่ชายผู้ชายส่วนใหญ่บนโลก ชายที่แต่งงานแล้ว เป็นพ่อคน และสุดท้าย…
  • ชายชายขอบ (maginalization) ซึ่งเป็นอีกเฉดของความเป็นชายที่ไม่ได้มีลักษณะตายตัวเป็นแบบฉบับ ขึ้นอยู่กับอำนาจของ ‘ความเป็นชายแบบเจ้าโลก’ แต่ละบริบท มันจึงไปสัมพันธ์ร่วมกันกับชาติพันธุ์ สีผิว ชนชั้น สถานะทางเศรษฐกิจ ดังนั้น นักกีฬาผิวสีในสหรัฐอเมริกา อาจจะไม่ใช่ผู้ชายชายขอบในสังคมนั้นๆ แต่ชายผิวสีอีกกลุ่มที่ไม่ได้เป็นนักกีฬาก็สามารถกลายเป็นชายชายขอบได้ในโลกเหยียดสีผิว แต่ที่แน่นอน สำหรับอัตลักษณ์แบบเกย์ โนโลกปิตาธิปไตยที่มักจะตีความเกย์ง่ายๆว่าขาด ‘ความเป็นชาย’ ถูกอธิบายให้คล้ายคลึงกับ ‘ลักษณะแบบผู้หญิง’ และจัดลำดับอยู่ในกลุ่มชายขอบและต่ำสุดของ ‘ความเป็นชาย’[9]

เนื่องจาก ‘ความเป็นชาย’ ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือติดไอ้จ้อนมาแต่กำเนิด ผู้ชายจึงต้องดิ้นรนขวนขวายสร้างและสมาทาน ‘ความเป็นชาย’ ที่มีอยู่แล้วตามคาดหวังจากสังคม เพื่อไม่ให้ถูกตีตราว่า ‘ไม่ใช่ผู้ชาย’ อุปสมบทบวชพระ เกณฑ์ทหารหรืออย่างน้อยที่สุดเรียนร.ด. จึงกลายเป็นข้อบังคับ พอๆ กับการเสียสละของ ‘สุภาพบุรุษ’ ที่ไม่ใช่อาสาสมัครเสมอไป หากแต่เป็นบทบาทที่ต้องเล่นตามกฎของปิตาธิปไตย

หรือในระดับมักง่ายที่สุดของการประกาศ ‘ความเป็นชาย’ ก็คือใช้ความรุนแรง (ที่มักถูกจับคู่กับ ‘ความเป็นชาย’ อยู่แล้ว) หวังเพียงได้เขยิบตัวเองไปสู่อีกช่วงชั้นนึง หรือประคับประคองสถานะของตนเอง จนกลายเป็นพวก sexist, racist, homophobe หรือกดขี่ผู้ชายด้วยกันเอง

เพื่อเยียวยาปมไม่มั่นใจใน ‘ความเป็นชาย’ ที่ตนต้องแบกรับในโลกที่ผู้ชายต้องเป็นใหญ่ใบนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] Eisenstein, Zillah R. (1981). The radical future of liberal feminism. New York, Longman.

[2] Veronica Beechey. On Patriarchy. Feminist Review, No. 3 (1979), pp. 66-82

[3] Sylvia Walby. Theorising Patriarchy. Sociology, Vol. 23, No. 2 (May 1989), pp. 213-234

[4] Pateman, Carole. (1988). The Sexual contact. Cambridge: Polity.

[5] Radtke, H. Lorraine; Stam, Henderikus J. (1994). Power/gender : social relations in theory and practice. London : Sage, p. 145.

[6] Anderson, Benedict. (1991). Imagined communities: reflections on the origin and spread of nationalism. London : Verso, p. 16.

[7] Sylvia Walby. Theorising Patriarchy. Sociology, Vol. 23, No. 2 (May 1989), pp. 213-234.

[8] Millett, Kate. (c2000). Sexual politics. Urbana : University of Illinois Press.

[9] Connell, Robert William. Masculinities. Berkeley : University of California Press, c1995, pp. 76-81

Illustration by Namsai Supavong

You might also like

Share this article