คําซ้อน หมายถึงอะไร และมีกี่ประเภท

การสร้างคำแบบคำประสม  คำซ้อนและคำซ้ำ  นี่เป็นวิธีการสร้างคำที่เป็นระเบียบวิธีของภาษาไทยของเราเอง   แต่การสร้างคำใหม่ในภาษาไทยไม่ได้เพียง  ๔   วิธีเท่านั้น  เรายังมีวิธีการสร้างคำใหม่  ๆ  ขึ้นใช้ในภาษาไทยด้วยวิธีการอื่น  ๆ  อีก

“อิจฉาริษยา” เป็นอย่างไร มาเรียนรู้คำที่ใช้ในภาษาไทยของเรากันเถอะ

Posted on 14/02/2014 by krupiyarerk

“อิจฉาริษยา” เป็นอย่างไร มาเรียนรู้คำที่ใช้ในภาษาไทยของเรากันเถอะ

          คำว่า  “อิจฉาริษยา”  เราได้ยินจนคุ้นหู  วันนี้ผู้เขียนได้ดูละครโทรทัศน์ได้ยินคำนี้ที่ตัวละครพูดกัน  บล็อกการศึกษาออนไลน์เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์ก็เลยขอยกตัวอย่างคำนี้ เพื่อนำทุกท่านที่ท่องเว็บเก็บความรู้มาทำความรู้จักกับคำ ๆ นี้  ให้ดียิ่งขึ้นครับ

          อิจฉา  (อ่านว่า อิด-ฉา)  ตามความหมายในพจนานุกรม  หมายถึง  เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ  จึงอยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง  จัดเป็นคำกริยา  คำนี้มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต  (รากศัพท์เดิมเป็น อิจฺฉา)

          ริษยา  (อ่านว่า ริด-สะ-หฺยา)  ตามความหมายในพจนานุกรม  หมายถึง  อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี หรือ เห็นคนอื่นได้ดีกว่าเราแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้ (ซึ่งนับไปสู่การขัดขวางหรือทำร้ายคนอื่น)  คำนี้จัดเป็นคำกริยา  มาจากภาษาบาลี (รากศัพท์เดิมเป็น อิสฺสา)  สันสกฤต  (รากศัพท์เดิมเป็น อีรฺษฺยา)

          เราจะพบว่า  คำสองคำข้างต้นมีความหมายที่ใกล้เคียงกัน  แต่คำว่า  “ริษยา”  จะมีความหมายที่หนักกว่า  “อิจฉา”  ดังนั้นถ้าจะแยกคำสองคำนี้ออกจากกันเราต้องเลือกสรรคำและใช้คำให้ถูกต้องตรงตามความหมายนะครับ

          เมื่อคำว่า  “อิจฉา”  และ  “ริษยา”  มาอยู่ด้วยกัน  กลายเป็น  “อิจฉาริษยา”  ซึ่งจะเป็นการให้ความหมายที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันทั้ง ๒ กริยา  ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างคำใหม่ในภาษาไทยด้วยวิธี “ซ้อนคำ”  คำที่ได้จัดว่าเป็น  “คำซ้อน”  เรามาเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “คำซ้อน”  กันเถอะครับ

 

คำซ้อน คือ?

          คำซ้อน คือ  คำใหม่ในภาษาไทยที่เกิดจากการสร้างคำ  โดยนำคำมูลตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปซึ่งมีความหมายเหมือนกัน  ใกล้เคียงกัน  เกี่ยวข้องกัน  หรือมีความหมายตรงข้ามกันมาซ้อนคำเรียงต่อกัน    ทำให้เกิดคำที่มีความหมายแคบลง  คงที่   กว้างขึ้น  หรือเปลี่ยนไป (การอุปมา)

 

ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับคำซ้อน

          คำซ้อน  สร้างจากคำมูล (คำดั้งเดิม)  มาเรียงต่อกัน  คำที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นนาม  กริยา  หรือวิเศษณ์ก็ได้  

          ในภาษาไทยของเรา ส่วนมากการซ้อนคำต้องนำคำมูลชนิดเดียวกันมาเรียงเข้าด้วยกัน   ตัวอย่างเช่น

                  นามกับนาม  เช่น   เสื่อสาด  ตับไต  จอบเสียม  ถ้วยโถโอชาม

                  กริยากับกริยา เช่น  พัดวี  เรียกร้อง  สั่งสอน  กวดขัน  เด็ดขาด  อบอุ่น  เก็บหอม

                  วิเศษณ์กับวิเศษณ์ เช่น  อ้วนท้วน  แข็งแกร่ง นุ่มนิ่ม  ฉับพลัน  ซีดเซียว

          และเราจะพบว่า  คำมูลนั้นจะนำมาจากภาษาใดก็ได้  อาจเป็นคำไทยกับคำไทย  คำไทยกับคำที่มาจากภาษาอื่น หรือเป็นคำที่มาจากภาษาอื่นทั้งหมด  ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ครับ

                คำไทยกับคำไทย   เช่น  ปูปลา  ผีสาง  อ้อนวอน  อ้วนพี  แขนขา  ชุกชุม  เจ้านาย   งดงาม

                คำไทยกับคำเขมร  เช่น   ก้าวเดิน  แบบฉบับ  ขนมนมเนย  โง่เขลา  งามลออ

                คำที่มาภาษาต่างประเทศกับคำภาษาต่างประเทศ  ได้แก่  คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตกับคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต  เช่น  สุขสันต์  ประหัตประหาร    เหตุการณ์   มิตรสหาย   อุดมสมบูรณ์

จากคำมูลก่อเป็นคำซ้อน

          ๑.  คำซ้อนที่เกิดจากคำมูล  ๒  คำ  เช่น  นิ่มนวล  ปากคอ  ขับขี่  แข่งขัน  ฟ้าฝน  หน้าตา  งอแง  เงียบเชียบ  ทดแทน  ประกวดประชัน  เมื่อยขบ  เมฆหมอก  ฝนฟ้า 

          ๒.  คำซ้อนที่เกิดจากคำมูล  ๓  คำ เช่น  ข้าวปลาอาหาร   ขนมนมเนย  ข้าทาสบริวาร  ห้างร้านบริษัท  ข้าวปลาอาหาร  ถนนหนทาง  ตลกขบขัน

          ๓.  คำซ้อนที่เกิดจากคำมูล  ๔  คำ เช่น  โง่เง่าเต่าตุ่น   กู้หนี้ยืมสิน  หนักเอาเบาสู้  ที่นอนหมอนมุ้ง  ยากดีมีจน  สิ้นไร้ไม้ตอก   ตอบบุญแทนคุณ 

          ๔.  คำซ้อนที่เกิดจากคำมูล  ๖  คำ เช่น  ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน  อดตาหลับขับตานอน   นอนกลางดินกินกลางทราย  คดในข้องอในกระดูก  

 

จุดประสงค์ของการซ้อนคำ  ก็คือเพื่อให้ได้คำใหม่  (คำซ้อน)

 

ลักษณะของคำซ้อนและวิธีการสร้างคำซ้อน 

    มี ๒ ลักษณะ ดังนี้

         .  ซ้อนเพื่อความหมาย   เป็นการนำคำที่มีความหมายสมบูรณ์มาซ้อนกันตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป  ทำให้เกิดคำที่ให้ความหมายที่คงที่ไล่เลี่ยกันทั้ง ๒ คำขึ้นไปหรือให้ความหมายที่กว้างออกไป

               ๑.๑  คำที่มีความหมายเหมือนกัน  เช่น  พัดวี  เพพัง  อุดหนุนจุนเจือ  เมื่อยขบ  ยากจน  ยาวนาน  ระกำลำบาก  สู้ทน  หลีกเลี่ยง

               ๑.๒  คำที่มีความหมายเป็นพวกเดียวกัน  เช่น  จานชาม  เจ็บปวด  ปิ้งย่าง  เนื้อตัว  ห้างร้าน  บ้านเรือน  แข้งขา  ตับไตไส้พุง  เสื้อแสง (แสง หมายถึง กางเกง)  ข้าวปลา  ปากฟันลิ้น  กายใจ  ดื่มกิน  ตอบแทน  อิจฉาริษยา

               ๑.๓  คำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกัน  เช่น  บ่าวสาว  พ่อแม่  พี่น้อง  ลูกหลาน  ผัวเมีย 

               ๑.๔  คำที่มีความหมายตรงข้ามกัน  เช่น  ผิดชอบ  ชั่วดี  เท็จจริง  แพ้ชนะ  สูงต่ำ  ดำขาว  ได้เสีย  หนักเบา 

          ๒.  ซ้อนเพื่อเสียง  เป็นการนำคำที่มีเสียงคล้ายกันมาซ้อนกัน  เพื่อให้ออกเสียงให้ง่ายฟังแล้วรู้สึกรื่นหู   ในกรณีนี้คำที่นำมาซ้อนกันนั้นอาจมีความหมายเพียงคำใดคำหนึ่งก็ได้  หรือมีความหมายทั้งสองคำก็ได้  วิธีการสร้างคำซ้อนเพื่อเสียง  ได้แก่

                ๒.๑  นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน  เสียงสระเดียวกัน  แต่เสียงตัวสะกดต่างกันมาซ้อนกัน  เช่น  ถากถาง  ทาบทาม  รวบรวม  ออดอ้อน

                ๒.๒  นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน  แต่เสียงสระต่างกันมาซ้อนกัน  เช่น  เก้งก้าง  คมคาย  จริงจัง  แชเชือน  ชักช้า  ซุกซน  ซับซ้อน  ซุบซิบ  ซุ่มซ่าม  โด่งดัง   ทนทาน  ทรวดทรง  ท้อแท้  ทอดทิ้ง  ทักท้วง  เบาบาง  ปัดเป่า  เนิ่นนาน  ยื้อแย่ง  ยิ่งยวด รวดเร็ว  สดใส  หมองมัว  หลักแหล่ง  เอวองค์

                ๒.๓  นำคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นต่างกัน  แต่มีเสียงสระเดียวกันมาซ้อนกัน  เช่น   จิ้มลิ้ม บ่าวสาว  อ้อมค้อม  อ้างว้าง

                ๒.๔  นำคำที่ไม่มีความหมายมาซ้อนกับคำที่มีความหมาย  เพื่อให้สะดวกในการออกเสียง  มักใช้ในภาษาพูดเท่านั้น  (จัดเป็นคำอุทานเสริมบทก็ใช่ครับ)  เช่น  กระดูกกระเดี้ยว  สัญญิงสัญญา  หนังสือหนังหา  ไม่กินไม่เกิน  ผู้หลักผู้ใหญ่

                ๒.๕   มีการเพิ่มพยางค์ลงในคำซ้อนเพื่อให้มีเสียงสมดุล  พยางค์ที่แทรกมักเป็น  “กระ”  เช่น

                        จุ๋มจิ๋ม        เป็น        กระจุ๋มกระจิ๋ม

                        ดุกดิก        เป็น        กระดุกกระดิก                         

                ๒.๖   ใช้สัมผัสในในการซ้อนคำเพื่อให้เกิดคำซ้อน ๔ และ ๖ พยางค์  เช่น  โง่เง่าเต่าตุ่น   กู้หนี้ยืมสิน  หนักเอาเบาสู้  ที่นอนหมอนมุ้ง  ยากดีมีจน   ระกำลำบาก  สิ้นไร้ไม้ตอก   ตอบบุญแทนคุณ  ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน  อดตาหลับขับตานอน   ทรัพย์ในดินสินในน้ำ  นอนกลางดินกินกลางทราย  คดในข้องอในกระดูก  

 

ความหมายของคำซ้อน 

       ความหมายของคำซ้อน  แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่

        ๑.   คำซ้อนที่มีความหมายคงเดิม   จะมีความหมายคงตามความหมายของคำที่นำมาซ้อน  เช่น   เกื้อหนุน  ข้าทาส  ข่มเหง  โง่เขลา  เจ็บปวด  ตอบบุญแทนคุณ  พัดวี  เพพัง  ทองคำ  ระกำลำบาก  เสื่อสาด  สูญหาย  อ้วนพี  อุดหนุนจุนเจือ  เป็นต้น

        ๒.   คำซ้อนที่มีความหมายใหม่  คำซ้อนที่มีความหมายใหม่มีหลายลักษณะ  เช่น

              ๒.๑   ความหมายแคบลง  คือ  มีความหมายที่เน้นคำใดคำหนึ่ง  ซึ่งจะเป็นคำหน้าหรือคำหลังก็ได้  เช่น  กัดกัน  ถนนหนทาง  เนื้อตัว  ท้องไส้  ปากคอ  หยิบยืม เป็นต้น

              ๒.๒   ความหมายกว้างขึ้น  คือ  มีความหมายรวมไปถึงอย่างอื่นที่มีลักษณะร่วมกันหรือจำพวกเดียวกัน  เช่น

                           เสื้อผ้า  หมายถึง  เครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ

                           พี่น้อง  หมายถึง  ทุกคนที่เกี่ยวข้อง

                           ถ้วยโถโอชาม  หมายถึง  ภาชนะใส่อาหารและสิ่งของอื่น ๆ

                           ตับไตไส้พุง  หมายถึง  อวัยวะภายใน  ไม่เฉพาะตับ  ไต  และไส้  เท่านั้น

                           เรือกสวนไร่นา  หมายถึง  พื้นที่สำหรับเพาะปลูก

               ๒.๓    ความหมายเชิงอุปมา  คือ  มีความหมายเปลี่ยนไป  เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่ในเชิงอุปมา  เช่น

                              ข้าวยากหมากแพง         หมายถึง    ภาวะขาดแคลนอาหาร

                              ครอบครอง                หมายถึง    ยึดถือไว้เพื่อตน

                              เจ้าบุญนายคุณ            หมายถึง    ผู้ที่มีบุญคุณ

                              เชิดชู                        หมายถึง    ยกย่อง, ชมเชย

                              ดูดดื่ม                       หมายถึง    อุ้มชู

                              ถากถาง                     หมายถึง    ค่อนว่า  มีเจตนาให้เจ็บใจ

                              ปากว่าตาขยิบ             หมายถึง    พูดอีกอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง

                              หนักแน่น                   หมายถึง    มั่นคง,  ไม่ท้อถอย,  ไม่โกรธง่าย

                              อุ้มชู                         หมายถึง    เลี้ยงดูอย่างยกย่อง, ประคับประคอง

                              เอียงเอน                    หมายถึง    ไม่เที่ยงตรง

          ดังนั้น  คำตัวอย่าง  “อิจฉาริษยา”  ที่นำมาให้ศึกษาในวันนี้  จึงจัดว่าเป็นคำซ้อนที่เกิดจากคำมูล ๒ คำ  เป็นการซ้อนคำเพื่อความหมายที่มีความหมายเป็นพวกเดียวกัน

          บล็อกการศึกษาออนไลน์เรียนภาษาไทยน่ารู้กับครูปิยะฤกษ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  “คำซ้อน”เนื้อหาที่ได้พยายามเรียบเรียงสาระนี้ขึ้นมาใหม่เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษานี้  คงเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษานะครับ

 

เขียนโดย  ครูปิยะฤกษ์  บุญโกศล

  ๑๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๗

Filed under: “อิจฉาริษยา” เป็นอย่างไร มาเรียนรู้คำที่ใช้ในภาษาไทยของเรากันเถอะ, บทความทั่วไป | Tagged: ความหมายของคำซ้อน, คำซ้อน คือ, ริษยา คือ, ริษยา หมายถึง, ลักษณะของคำซ้อน, วิธีการสร้างคำซ้อน, อิจฉา คือ, อิจฉา หมายถึง, อิจฉาริษยา คือ, อิจฉาริษยา หมายถึง |