เครือข่ายเชิงพื้นที่ มีอะไรบ้าง

การสร้างและบริหารเครือข่ายในยุคปัจจุบัน

เครือข่ายเชิงพื้นที่ มีอะไรบ้าง

การสร้างและบริหารเครือข่ายในยุคปัจจุบัน

พลเดช  ปิ่นประทีป/๑๒ มีนาคม ๒๕๕๖

ปัจจุบันมีผู้สนใจในเรื่องเครือข่ายกันมากขึ้น ด้านหนึ่งเป็นเพราะสังคมทุกวันนี้มีความสัมพันธ์กันในทางราบและสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นักทฤษฎีบางคนถึงกับเรียกว่าเป็นสังคมเชิงเครือข่ายเลยทีเดียว  อีกด้านหนึ่งภาคธุรกิจก็นำแนวคิดการจัดการเชิงเครือข่ายมาใช้ในการพัฒนาระบบการขายสินค้าและบริการของตนจนประสบความสำเร็จที่น่าทึ่งภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว  จึงทำให้เครือข่ายเป็นหัวข้อสำคัญส่วนหนึ่งที่นักบริหารภาครัฐควรศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน

ความหมายของเครือข่าย (๑)

นักวิชาการและผู้รู้หลายท่านทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้ให้คำจำกัดความและความหมายของ เครือข่าย (Network) ไว้มากมาย แต่ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน

Paul Starkey ที่ปรึกษาทางวิชาการด้านการสร้างเครือข่ายในแอฟริกา ให้ความหมายของ เครือข่ายว่า คือกลุ่มของคนหรือองค์กรที่สมัครใจแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลระหว่างกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน ในลักษณะที่บุคคลหรือองค์กรสมาชิกยังคงมีความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมของตน ในความหมายนี้สาระสำคัญคือ ความสัมพันธ์ของสมาชิกในเครือข่ายต้องเป็นไปโดยสมัครใจ กิจกรรมที่ทำในเครือข่ายต้องมีลักษณะเท่าเทียมกันหรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และการเป็นสมาชิกของเครือข่ายไม่มีผลกระทบต่อความเป็นอิสระหรือความเป็นตัวของตัวเองของคนหรือองค์กรนั้นๆ

นอกจากนี้นักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยได้ให้คำจำกัดความของ เครือข่ายในหลายมุมมองออกไป อาทิ

เครือข่าย หมายถึงการประสานงานรูปแบบหนึ่งที่โยงใยการทำงานของกลุ่มบุคคลหรือองค์กรหลายองค์กร ซึ่งมีทรัพยากร มีเป้าหมาย มีกลุ่มสมาชิกของตนเอง ที่มีความคิด มีปัญหา มีความต้องการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนกันหรือคล้ายกัน มาติดต่อประสานงานหรือร่วมกันทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาหรือสนองความต้องการในเรื่องนั้นๆ โดยยึดหลักการทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เคารพซึ่งกันและกัน มากกว่าการเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้มีอำนาจสั่งการ

เครือข่าย คือการเชื่อมโยงของกลุ่มของคนหรือกลุ่มองค์กรที่สมัครใจ ที่จะแลกเปลี่ยนข่าวสารร่วมกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีการจัดระเบียบโครงสร้างของคนในเครือข่ายด้วยความเป็นอิสระ เท่าเทียมกันภายใต้พื้นฐานของความเคารพสิทธิ เชื่อถือ เอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน

ประเด็นสำคัญของนิยามข้างต้น คือ

-ความสัมพันธ์ของสมาชิกในเครือข่ายต้องเป็นไปโดยสมัครใจ

-กิจกรรมที่ทำในเครือข่ายต้องมีลักษณะเท่าเทียมหรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

-การเป็นสมาชิก เครือข่ายต้องไม่มีผลกระทบต่อความเป็นอิสระหรือความเป็นตัวของตัวเองของคนหรือองค์กรนั้น ๆ

“เครือข่าย หมายถึง รูปแบบของการประสานงานกลุ่มของคนหรือองค์กรที่สมัครใจแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลระหว่างกัน  หรือทำกิจกรรมร่วมกัน  ช่วยเหลือกัน  โดยการติดต่ออาจทำได้ทั้งที่ผ่านศูนย์กลางแม่ข่ายหรือแกนนำ หรืออาจจะไม่มีแม่ข่ายหรือแกนนำแต่จะทำการติดต่อโดยตรงระหว่างกลุ่ม   ซึ่งจะมีการจัดรูปแบบหรือจัดระเบียบโครงสร้างที่คนหรือองค์กรสมาชิกยังคงมีความเป็นอิสระ โดยที่อาจมีรูปแบบการรวมตัวแบบหลวมๆ เฉพาะกิจ  ตามความจำเป็นหรือเป็นโครงสร้างที่มีความสัมพันธ์ชัดเจน

แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเครือข่าย

การสร้างเครือข่ายการทำงานเป็นวิธีการทำงานที่ได้รับความนิยมทั้งในภาคธุรกิจ และในการทำงานเชิงพัฒนาสังคม ซึ่งในโลกธุรกิจนั้น แนวความคิดของระบบเครือข่ายได้เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2513 โดยเริ่มจากธุรกิจของการจัดหางานทำและการสรรหาบุคคลที่เหมาะสม

สำหรับในทางสังคมวิทยา เครือข่ายเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Network) อย่าง หนึ่ง ที่แตกต่างไปจากกลุ่ม โดยที่กลุ่มจะมีขอบเขตที่ชัดเจน รู้ว่าใครเป็นสมาชิก มีความเป็นรูปธรรมมองเห็นได้  มีโครงสร้างทางสังคมในระดับหนึ่ง แต่เครือข่ายเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่มีขอบเขต  การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกเครือข่ายอาจจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น เป็นรูปธรรมก็ได้ ซึ่งการเชื่อมโยงระหว่างกันที่จะเห็นเป็นรูปธรรมของเครือข่ายมี ๓ ลักษณะ คือ เครือข่ายการแลกเปลี่ยน เครือข่ายการติดต่อสื่อสารและเครือข่ายความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกัน

เครือข่ายไม่มีโครงสร้างแน่นอนตายตัว อาจมีการออกแบบโครงสร้างขึ้นมาทำหน้าที่สานความสัมพันธ์ระหว่างคน กลุ่มองค์กรให้ต่อเนื่อง แต่ในเครือข่ายไม่มีใครบังคับให้ใครทำอะไรได้ แต่ละคนหรือกลุ่มองค์กร ต่างก็เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายได้พอๆกัน ดังนั้นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมของเครือข่ายจึงมีความซับซ้อนกว่ากลุ่มหรือองค์กรมากนัก (Boissevain and Mitchell, ๑๙๗๓ )

แนวทางการวิเคราะห์เครือข่ายสามารถนำมาใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่ง ต่างๆได้ตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับโลก สรรพสิ่งต่างๆที่อยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์ เราเรียกว่า จุด (Node) ถ้ามีการเชื่อมโยงระหว่างจุดต่างๆ ความสัมพันธ์ (Relationships) ของจุดเหล่านี้ก็คือเครือข่าย (Network) ซึ่ง ความสัมพันธ์ที่ดี จะสามารถทำให้บุคคลในองค์กรมีการเชื่อมโยงประสานงานกันและกันที่ดีขึ้น รวมทั้งสามารถดึงทรัพยากรของแต่ละองค์กรมาประสานเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิด ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งในปัจจุบันนี้มีองค์กรจำนวนมากตระหนักว่าเครือข่ายเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการแบ่งปันข้อมูล ข่าวสารระหว่างกันขององค์กรที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันหรือเกี่ยวข้องกันให้ได้ประโยชน์สูงสุดภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด

ทฤษฎีและแนวคิดการสร้างเครือข่าย

การสร้างเครือข่ายในการทำงานเชิงพัฒนา มีแนวโน้มที่จะเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรที่ทำงานพึ่งพิงซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะแข่งขันกัน มีทฤษฎีและแนวคิดที่อธิบายการสร้างเครือข่ายการทำงาน ได้แก่

๑.ทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (Exchange Theory) อธิบายถึงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน ดังนั้นเหตุผลหลักที่จะทำให้เครือข่ายเกิดขึ้นได้โดยสมัครใจก็คือแต่ละฝ่ายมองเห็นประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการเข้าร่วมเครือข่าย ซึ่งจะนำไปสู่ความเต็มใจที่จะประสานกันหรือเข้าร่วมเป็นเครือข่าย

๒. แนวคิดการรวมพลัง (Synergy) เป็นการผนึกกำลังในลักษณะที่มากกว่าหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่ต้องเป็นหนึ่งบวกหนึ่งมากกว่าสอง  หมายความว่าการรวมพลังกันทำงานนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าหรือเข้มแข็งมากกว่าการที่แต่ละองค์กรจะทำงานโดยโดดเดี่ยว

ว่าด้วยชุมชนเข้มแข็ง (๒)

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศวะสี ให้ความหมายว่า ชุมชนหมายถึงการที่คนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกันมีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความพยายามทำอะไรร่วมกัน มีการเรียนรู้ร่วมกันในการกระทำ ซึ่งรวมถึงการติดต่อสื่อสารกัน (communicate) ความเป็นชุมชนอยู่ที่ความร่วมกัน ความเป็นชุมชนอาจเกิดขึ้นในสถานที่และสถานการณ์ต่างๆ กัน เช่น

๑.มีความเป็นชุมชนในครอบครัว

๒.มีความเป็นชุมชนในที่ทำงาน

๓.มีความเป็นชุมชนวิชาการ (academic community)

๔. มีความเป็นชุมชนสงฆ์

๕.มีความเป็นชุมชนทางอากาศ เนื่องจากรวมตัวกันโดยใช้วิทยุติดต่อสื่อสารกัน

        ๖.มีความเป็นชุมชนทางอินเตอร์เนต (Internet) เป็นต้น

ความเป็นกลุ่มก้อนหรือความเป็นชุมชนทำให้กลุ่มมีศักยภาพสูงมากเพราะเป็นกลุ่มก้อนที่มีวัตถุประสงค์ร่วม มีความรัก มีการกระทำร่วมกัน และมีการเรียนรู้ร่วมกัน

สรุปได้ว่าชุมชน หมายถึงกลุ่มคนที่มาอยู่รวมกันในเขตหรือบริเวณเดียวกันที่แน่นอน มีวิถีการดำเนินชีวิตคล้ายกันมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีปฎิสัมพันธ์ต่อกันและกันอยู่ภายใต้กฎระเบียบกฎเกณฑ์เดียวกัน

แนวคิดและทฤษฏีเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น

ชุมชนท้องถิ่น หมายถึง ถิ่นฐานอันเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีความเกี่ยวพันกับสภาพทางภูมิศาสตร์และระบบความัมพันธ์ในสังคมซึ่งอิงอาศัยความเอื้ออาทร ความผูกพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นเครื่องดำเนินการเพื่อให้มีชีวิตที่ดีร่วมกัน

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งชุมชนท้องถิ่นหมายถึงการรวมกันของกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันทั้งความสัมพันธ์ในเชิงพื้นที่และความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นหน่วยพื้นฐานของการพึ่งพาและการจัดการตนเองมีการเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมและหน่วยจิตวิทยาวัฒนธรรมอันเป็นคุณค่าที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตน (Indentity) ของชุมชนโดยเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ สิทธิ และอำนาจในการจัดการ

ความหมายของชุมชนท้องถิ่นตามแนวคิดทางสังคมวิทยา หมายถึง หน่วยทางสังคมและทางกายภาพอันได้แก่ละแวก บ้าน หมู่บ้าน เมือง โดยมีลักษณะร่วมในความหมายต่างๆ คือ

๑) ชุมชนท้องถิ่นในฐานะหน่วยทางอาณาบริเวณ คือมีลักษณะเป็นรูปธรรม มีสมาชิก และหลักแหล่งที่แน่นอนโดยอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์

๒) ชุมชนท้องถิ่นในฐานะหน่วยหรือระบบทางสังคม เป็นเครือข่ายการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยสถานภาพ บทบาท กลุ่มคนและสถาบันชุมชน จึงมีความสัพนธ์กันเหมือนลูกโซ่

๓) ชุมชนในฐานะหน่วยทางจิตวิทยาวัฒนธรรม ชุมชนจะต้องเน้นความผูกพันระหว่างสมาชิกด้วยกันทั้งทางด้านจิตวิทยาและวัฒนธรรม

ความหมายของชุมชนท้องถิ่นตามแนวคิดมานุษยวิทยา มุ่งเน้นความเป็นชุมชนที่ก่อให้เกิดมิตรภาพ ความเอื้ออาทร ความมั่นคงและความผูกพัน นักคิดในแนวนี้เสนอว่าควรเรียกร้องให้มีชุมชนขนาดเล็กและมีโครงสร้างที่แน่นเหนียว เพราะจะช่วยฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ดีขึ้น ใกล้ชิดและสนิสนม แนวคิดแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ การขยายตัวของเมือง ก่อให้เกิดความแปลกแยก ไม่มีความสนใจกันในหมู่เพื่อนมนุษย์และเป็นชุมชนในอุดมคติ

ความหมายของชุมชนท้องถิ่นตามแนวคิดเชิงระบบ มองว่าชุมชนท้องถิ่นหนึ่งๆ ก็คือหนึ่งหน่วยระบบที่มีปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต และย้อนกลับ ซึ่งผลผลิตนี้หมายถึงระบบสังคมได้สร้างให้เกิดขึ้นละมีความสุขกับการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือกันมาและรวมไปถึงการดำรงอยู่อย่างมั่นคงถาวรในหน่วยสังคมนั้น

ความหมายชุมชนท้องถิ่นตามแนวคิดสมัยใหม่ว่าชุมชนเสมือนจริง (Virtual Community) เป็นแนวคิดชุมชนในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่สารสนเทศและการเชื่อมโยงประเด็นปัญหาสถานการณ์ของผู้คนในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหานั้น จึงไม่อาจจำกัดอยู่ในขอบเขตของชุมชนที่มีอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์เล็กๆ ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ที่ทำให้เกิดชุมชนเสมือนจริงที่มีการติดต่อสื่อสารกันแบบไร้พรมแดนขึ้นมา โดยกระบวนการดำเนินการนั้น มุ่งเน้นการมีจิตสำนึกต่อสาธารณะโดยส่วนรวมและเป้าหมายร่วมกัน ความเป็นชุมชนจะปรากฏขึ้นเมื่อคนได้แสดงถึงอัตลักษณ์ คุณค่าและความสัมพันธ์ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันนั้น เช่นคนบ้านเดียวกันคนบางเดียวกัน ลักษณะที่สำคัญของความเป็นชุมชนอาจจะประกอบด้วยปัจจัย 4 ประการตามแนวคิด
ของ อานันท์ กาญจนพันธุ์ คือ

๑.คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรม คือคุณค่าที่เกิดจากความเอื้ออาทร การช่วยเหลือพึ่งพากัน ความซื่อสัตย์

๒.ทุนทางสังคม คือวิธีคิด ระบบความรู้ในการจัดการวิถีความเป็นชุมชนเช่นการใช้ทรัพยากรการจัดระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกัน เป็นต้น

๓.สิทธิเกี่ยวกับความชอบธรรม ทุกคน ทุกชั้นจะต้องมีสิทธิ มีกระบวนการยุติธรรม ที่ดำเนินไปภายใต้ระบบความสัมพันธ์ทั้งแนวตั้งและแนวนอน

๔.การเรียนรู้เชิงพลวัต เป็นการเรียนรู้และปรับตัวเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นปึกแผ่น เพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคม

              ดังนั้นความเป็นชุมชนท้องถิ่น ก็คือความรู้สึกร่วมและกระบวนการของกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์สิทธิอำนาจในการจัดการ การปรับตัว และกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นซึ่งเป็นไปภายใต้ระบบความสำพันธ์ที่เป็นแนวตั้งและแนวนอน
 

ประชาสังคม (๓)

คำว่า “ประชาสังคม” มาจากภาษาอังกฤษว่า Civil Society  มีหลายความหมาย เช่น ประชาสังคม คือ พื้นที่การเมืองสาธารณะ (public sphere) ของประชาชนซึ่งกำเนิดมาจากการก่อตัวของวัฒนธรรมคนชั้นกลาง และขยายปริมณฑลไปสู่ชนชั้น กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่หลากหลาย และสนใจเข้าร่วมในพื้นที่การเมืองสาธารณะนี้ ดังนั้นประชาสังคม จึงเป็นพื้นที่ที่เกิดกิจกรรม มิได้หมายถึงประชาชนทั้งหมด หรือสังคมทั้งหมด ที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองสาธารณะ

ประชาสังคม คือ กระบวนการของประชาชนในการสร้างพื้นที่การเมืองสาธารณะของตนเอง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้พื้นที่การเมืองของรัฐ (political society) ของทุน ดังนั้นประชาสังคมจึงต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน

ประชาสังคม คือ เวทีแห่งการต่อสู้ทางอุดมการณ์ของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม สังคมนิยม โดยรัฐหรือทุนที่พยายามครอบงำพื้นที่ดังกล่าว แต่ไม่สามารถครอบงำได้ทั้งหมด เวทีแห่งนี้จึงมีความหลากหลายซับซ้อน ทั้งขัดแย้งและร่วมมือ ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์การต่อสู้ของฝ่ายต่างๆ ซึ่งอาจจะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธีก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาสังคมนั้นๆ ประชาสังคมจึงไม่ได้มีความหมายเป็นเวทีแห่งความสมานฉันท์อย่างเดียว
            ประชาสังคม คือ กลุ่มปฏิบัติการ (actors) ในภาคประชาสังคมไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามเกณฑ์ ชนชั้นที่ใช้ผลประโยชน์ (economic interest) เป็นตัวแบ่งตามแนวการวิเคราะห์มาร์กซิสต์แบบเก่า แต่เป็นไปตามแนวที่กรัมชี่เสนอ คือ กลุ่มทางประวัติศาสตร์” (historical block) ที่เกิดจากกลุ่มต่างๆ ของชนชั้นต่างๆ มาร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับกลุ่มอื่น ทั้งนี้โดยกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมจะพยายาม ครอบครองความเป็นเจ้าทางอุดมการณ์ (hegemony) โดยการครอบงำความคิดของประชาชน และกำหนดวัฒนธรรมหลักในสังคม ดังนั้น เราจึงเห็นการเกาะตัวของกลุ่มต่างๆ ข้ามชนชั้นมาจากฐานอุดมการณ์ความคิดมากกว่าเรื่องฐานผลประโยชน์แต่เพียง อย่างเดียว

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกับการเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่ (๔)

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นทฤษฎีการพัฒนาประเทศและชุมชนท้องถิ่นอันเป็นจุดกำเนิดขององค์กรพัฒนาเอกชน เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕๒๐  และขบวนการชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมในประเทศไทย ซึ่งกำลังมีบทบาทมากในปัจจุบัน

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทยมีพัฒนาการแบ่งได้เป็น ๓ ระยะ  ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของพัฒนาการได้มีการปะทะและประสานแนวคิดอื่นในกระบวนการดังกล่าว จนทำให้สาระสำคัญของแนวคิดนี้ได้รับการเสริมเติมจนมีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับมากขึ้น

ระยะที่ ๑: แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะเป็นทางเลือกของการพัฒนา (๒๕๒๐-๒๕๒๙)

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกำเนิดจากองค์พัฒนาเอกชนซึ่งทำงานในชนบทและเฝ้ามองผลกระทบจากแผนพัฒนาประเทศของรัฐ สายแรกคือมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ที่ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นผู้ก่อตั้ง นักวิจัยของมูลนิธิซึ่งฝังตัวอยู่ในชนบทภาคกลางพบว่า ท่ามกลางกระบวนการพัฒนาในระบบทุนนิยมนั้นยังมีกระแสวัฒนธรรมชาวบ้านอยู่ด้วย การพัฒนาประเทศควรยึดแนววัฒนธรรมชาวบ้านเป็นฐาน อีกสายหนึ่งคือสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ผู้นำนักพัฒนาขององค์กรได้แนวคิดจากการประชุมสังคายนาวาติกันที่ ๒ (ค.ศ.๑๙๖๒ – ๑๙๖๕) ซึ่งเสนอว่า ศาสนจักรคาทอลิกต้องเข้าใจวัฒนธรรมพื้นเมืองและต้องทำให้ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาพื้นเมือง มิใช่มุ่งปรับเปลี่ยนพื้นเมืองให้เป็นตะวันตก

ระยะที่ ๒: แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะทฤษฎีพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๙)

กลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้เข้าไปทำการศึกษาและพัฒนายกระดับองค์ความรู้และประสบการณ์ของนักพัฒนาและชาวบ้านขึ้นเป็นแนวคิดหรือทฤษฎีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมจนมีความลึกซึ้ง เป็นระบบและได้รับการยอมรับกว้างขวางขึ้น โดยชี้ให้เห็นความสำคัญ ๒ ประการได้แก่ (๑) สถาบันชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนมีสถานะสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติ ชุมชนเป็นระบบซึ่งเป็นแกนกลางของสังคมไทย วัฒนธรรมชุมชนเป็นแกนกลางของวัฒนธรรมไทย โดยพื้นฐานสังคมไทยเป็นสังคมแบบชุมชนไม่ใช่แบบทุนนิยม  (๒) เส้นทางการพัฒนาโดยแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นเส้นทางที่ชอบธรรม ซึ่งให้ประโยชน์เต็มที่แก่ชาวบ้านพื้นเมืองและเป็นเส้นทางของผู้คนส่วนข้างมากสุดในประเทศ อีกทั้งเป็นเส้นทางที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่  ความอุดมสมบูรณ์ของเขตทรอปปิก   และสถานะทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางสังคมไทยที่มีหน่วยพื้นฐานคือครอบครัวและชุมชน

ระยะที่ ๓: แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะอุดมการณ์ของสังคม (พ.ศ.๒๕๔๐-)

ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐  แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางจากสังคมและหน่วยงานรัฐจนมีฐานะกลายเป็นอุดมการณ์ของสังคมไปแล้วโดยปริยาย  มีแนวคิดสำคัญที่เข้ามาหลอมรวมและมีส่วนสำคัญในการขยายแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ: แนวคิดเชิงพุทธ ซึ่งเสนอให้เพิ่มหลักธรรมทางพุทธศาสนาเข้าไปเป็นฐานชุมชนธรรมนิยม, แนวคิดธุรกิจชุมชน นำเอาธุรกิจชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจชุมชนและเชื่อมต่อระบบเศรษฐกิจทุนโดยไม่เป็นส่วนของระบบทุนนิยม, แนวคิดมาร์กซิสม์ที่โต้แย้งระบบทุนนิยม แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนแนวคิดชุมชนโดยตรงและเป็นแนวคิดที่สุดโต่งจึงอ่อนกำลังลง, และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเสนอแนวทาง ๓ ขั้นตอนได้แก่ ขั้นตอนพออยู่พอกิน-พึ่งตนเองได้ ขั้นตอนรวมพลังเป็นชุมชนในรูปสหกรณ์ และขั้นตอนการร่วมมือกับองค์กรหรือภาคเอกชนภายนอก

ในขณะที่แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกำลังทำให้เกิดการขยายตัวของขบวนการชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วงเวลาเดียวกันได้มีเหตุการณ์บ้านเมืองที่วิกฤตและมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งกลับกลายเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่กระตุ้นขบวนการให้มีการเติบโตในอัตราเร่ง นอกจากนั้นกระแสประชาสังคมโลกซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ (New Social Movement) ยังเข้ามาหนุนเสริมกระแสประชาชนโดยหลังเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕   พอดี การเคลื่อนไหวเชิงเครือข่าย การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โรคเอดส์ ยาเสพติด ความยากจน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศ มิติครอบครัว-เยาวชน และอัตลักษณ์ท้องถิ่นฯลฯ กลายเป็นประเด็นการเคลื่อนไหวที่รัฐเองก็ไม่อาจจัดการปัญหาที่สลับซับซ้อนนี้ได้จึงต้องพึ่งพาพลังทางสังคมเหล่านี้ร่วมแก้ไข

ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดสิทธิชุมชนโดยเสน่ห์ จามริก และแนวคิดการมีส่วนร่วมโดยประเวศ วะสี ยังได้รับการบรรจุ ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ๒๕๔๐   โดยมีการตั้งองค์กรอิสระ ๒ องค์กรขึ้นรองรับ ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

วัฒนธรรมราชการกับวิถีเครือข่าย

สิ่งที่นักบริหารภาครัฐควรรู้อีกเรื่องหนึ่งคือความแตกต่างบางอย่าง ระหว่างวิถีวัฒนธรรมขององค์กรภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยราชการ กับองค์กรภาคประชาสังคมหรือเครือข่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ปรับตัวและการทำงานร่วมกัน

ในราชการเป็นการทำงานที่เน้นสายบังคับบัญชา เน้นเอกภาพ การสั่งการ การปฏิบัติตามแบบสยบยอมและมีลักษณะของการพึ่งพาหน่วยเหนือ  แต่ในเครือข่ายเขาเน้นที่ความหลากหลาย ความเป็นอิสระ ความเป็นเอกเทศต่อกัน แต่เชื่อมโยงกันแบบเสมอภาคเท่าเทียม ความร่วมมือกันก็เป็นในลักษณะความสมัครใจ ความเต็มใจ ไม่ใช่การบังคับสั่งการ

ในราชการมักเน้นการทำอะไรที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหมดทั้งประเทศ จึงชอบการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางแล้วใช้การควบคุมและการครอบงำให้ภูมิภาคและท้องถิ่นทำตาม  ส่วนเครือข่ายเขาชอบแบบพหุนิยม ความแตกต่างหลากหลาย จึงมุ่งกระจายอำนาจออกไปให้ได้คิดเองทำเอง แต่ก็ใช้วิธีการหว่านล้อมจูงใจและการแผ่อิทธิพลในทางความคิดให้เกิดการยอมรับเองตามความสมัครใจ

ในราชการจะยึดเอาผลประโยชน์รัฐหรือทางราชการเป็นตัวตั้ง ชอบกำหนดกฎเกณฑ์ ชอบใช้วิธีการกล่อมเกลาอย่างมีระบบแบบแผนให้เชื่อ ยอมรับและปฏิบัติตาม หากจำเป็นก็อาจใช้วิธีการบังคับหรือกึ่งบังคับ  ส่วนสังคมเครือข่ายเขายึดผลประโยชน์ของชุมชนและสังคมเป็นตัวตั้ง ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ เน้นการแสดงความชื่นชอบชื่นชมและสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ในราชการมักเน้นที่ตัววิชาความรู้สำเร็จรูปที่เป็นชิ้นๆ นำมาจัดทำเป็นหลักสูตร จัดการเรียนการสอนในระบบปิดแบบเข้าโรงเรียน  ส่วนสังคมเครือข่ายเขาจะเน้นที่ความรู้แบบองค์รวมหรือภูมิปัญญามากกว่า ให้ความสำคัญต่อประสบการณ์ เน้นการเรียนใหม่และการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะใหม่ๆ จึงชอบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในระบบเปิดมากกว่า

ในราชการมักใช้วิธีการบริหารจัดการโดยแบ่งแยกเป็นส่วนๆ มุ่งการระดมสรรพกำลังเป็นคราวๆไป ที่สำคัญราชการมักชอบการแบ่งแยกแล้วปกครอง ไม่อยากให้ประชาชนหรือชุมชนมีอำนาจต่อรอง  แต่เครือข่ายจะมุ่งเน้นที่การเพิ่มพลังอำนาจให้ประชาชนและชุมชน โดนเฉพาะกลุ่มผู้ไร้อำนาจต่อรองทางสังคมจะได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เน้นการมีส่วนร่วมในเชิงคุณภาพมากกว่าการทำเพียงรูปแบบพิธีกรรม

สำนึกสาธารณะและจิตอาสา

ในสังคมที่เป็นจริง สำนึกสาธารณะมีรูปแบบและระดับที่แตกต่างหลากหลาย ในการส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติและมีวิธีการทำงานร่วมอย่างสอดคล้อง

จิตสำนึกการพึ่งตนเอง เป็นสำนึกพื้นฐานสำคัญของชาวบ้านหรือประชาชนพลเมืองที่จะมีพัฒนาการขึ้นมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง กลายเป็นประชาชนที่มีคุณภาพและพร้อมที่จะร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เป็นผู้ที่รอคอยการช่วยเหลือจากใครหรือจากรัฐอยู่ร่ำไป

จิตสำนึกสาธารณะ เป็นสำนึกของการหวงแหน เป็นเจ้าของและรู้สึกร้อนหนาว รับผิดชอบต่อสมบัติส่วนรวมในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ในกลุ่ม ในองค์กร ในที่ทำงาน ในชุมชนท้องถิ่นหรือระดับประเทศชาติ

จิตอาสา เป็นสำนึกส่วนตัวที่ยกระดับไปอีกขั้น โดยมีความพร้อมที่จะเสียสละสมบัติและความสะดวกสบายส่วนตัว ลงทุนลงแรงเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆโดยไม่หวังผลตอบแทน

จิตสำนึกวีรชน เป็นสำนึกส่วนรวมอีกแบบหนึ่งที่มักมีอุดมการณ์ความรักประเทศชาติและพี่น้องผู้ร่วมเผ่าพันธุ์เป็นแรงขับดัน มักพร้อมที่จะเสียสละได้ทั้งชีวิตเลือดเนื้อโดยไม่ต้องมีใครมากะเกณฑ์

จิตสำนึกโพธิสัตว์ เป็นสำนึกความรัก เมตตาสงสารและเอื้ออาทรในเพื่อนมนุษย์ที่ยากลำบาก อยากให้พ้นจากความทุกข์ยาก ความลำบาก ความขาดแคลนขัดสนต่างๆ  อุทิศตนด้วยความเสียสละทุกสิ่งอย่าง มักมีความศรัทธาและความเชื่อทางศาสนาเป็นพื้นฐาน

การบริหารจัดการเครือข่าย

องค์ประกอบในเครือข่ายอาจแบ่งลักษณะได้เป็น๓แบบ ได้แก่

๑.ปัจเจก (individual) หมายถึงสมาชิกที่เป็นแบบตัวบุคคล ไม่มีกลุ่มหรือองค์กรใดๆ รองรับ แต่ในความเป็นตัวบุคคลของเขาเหล่านั้น อาจมีศักยภาพสูงต่ำแตกต่างกันไป บางคนอาจมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวางยิ่งกว่ากลุ่มองค์กรใดๆเสียอีก

๒.ชุมทางหรือองค์กรประสาน (node) หมายถึงสมาชิกในเครือข่ายที่เป็นกลุ่ม องค์กรหรือสถาบันที่มีศักยภาพในการจัดการประสานเชื่อมโยงกับบุคคล กลุ่มหรือองค์การอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

๓.เครือข่าย (network) หมายถึงสมาชิกที่มีเครือข่ายย่อยๆอีกมากมายอยู่ข้างหลังและพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ตามจังหวะ โอกาสและประเด็นที่สนใจ

ในการประสานเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ มักพบว่าจะมีบทบาทขององค์กรขนาดเล็กที่ไม่มีอำนาจสั่งการ เป็นผู้เชื่อมประสาน ตรงกันข้ามถ้าเป็นองค์กรประสานที่มีขนาดใหญ่และมีอำนาจหรือมีงบประมาณมาก มักจะครอบงำเครือข่าย ความร่วมมือจึงอยู่บนพื้นฐานของความเกรงใจและผลประโยชน์ชั่วครั้งคราวมากกว่าความทุ่มเทจิตใจ

หัวใจสำคัญของเครือข่ายทางสังคม อยู่ที่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันเป็นประจำ พัฒนาไปสู่การสานความสัมพันธ์ในเชิงคุณภาพ การวางแผนดำเนินกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ด้านหนึ่งก็ช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน อีกด้านหนึ่งทำให้กิจกรรมเหล่านั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น  นอกจากนั้นยังเป็นการประสานพลัง การใช้ทรัพยากร การใช้พลังงานอย่างประหยัด โดยเฉพาะการรณรงค์ทางสังคมต่างๆ รูปแบบการทำงานเป็นเครือข่ายจะได้ผลดีมากกว่า

เงื่อนไขสำคัญในการรักษาและพัฒนาเครือข่าย คือการต้องมีระบบการติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างสมาชิก อาจมีผู้ประสานซึ่งเป็นตัวบุคคล กลุ่ม องค์กรทำหน้าที่ประสานงาน แต่ไม่ใช่การทำแทนสมาชิกไปเสียทุกเรื่อง  ผู้ประสานเป็นผู้เชื่อมโยงและเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้สร้างเสริมให้เกิดความเป็นเครือข่ายต่อกัน

พลังเครือข่ายกับพลังสาธารณะ

เมื่อพูดถึงพลังชุมชนหรือพลังทางสังคม ในฐานะพลังงานสำหรับการเปลี่ยนแปลง   อาจจำแนกความแตกต่างระหว่างคำต่างๆ ด้วยประสบการณ์การทำงานภาคสนามเป็น ๒ กลุ่มที่มีความแตกต่างกัน

กลุ่มหนึ่ง : พลังชุมชน”   “พลังมวลชนหรือ พลังเครือข่าย  คำเหล่านี้ มีความหมายเดียวกันซึ่งสามารถเลือกใช้ในโอกาสต่างๆ กล่าวคือเป็นพลังงานที่เกิดจากการรวมกลุ่ม รวมตัว ร่วมคิดร่วมทำและมีการจัดตั้งหรือการจัดการ อาจเป็นการจัดตั้งตนเอง หรือถูกจัดตั้งโดยผู้อื่นเช่น พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยราชการ ภาคธุรกิจ องค์กรศาสนา ฯลฯ ก็ได้

เรามักเห็นพลังงานประเภทนี้ ถูกนำมาใช้ในการผลักดัน ต่อสู้ต้านทาน รณรงค์สร้างสรรค์หรือปลุกระดมทำลายล้างกันในรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ

อีกกลุ่มหนึ่ง : พลังสาธารณะ หรือ พลังสังคม คำว่าสาธารณะหรือสังคมนั้น คือความเป็นทั้งหมดที่รวมอยู่ด้วยกันในสังคมที่มีขนาดใหญ่ และหลากหลาย คนบางส่วนอาจถูกจัดตั้งได้ แต่คนทั้งหมดหรือคนส่วนใหญ่นั้นไม่มีใครสามารถจัดตั้งได้สำเร็จ เพราะธรรมชาติของคนหมู่มากที่มีความหลากหลายนั้นย่อมมีความต้องการ ความคิด เห็นและสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน    พลังสังคม หรือพลังสาธารณะจึงเป็นพลังงานของคนหมู่มากที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยไม่ได้เกิดจากการจัดตั้งสั่งการใดๆ พลังแบบนี้มักจะออกมาแสดงตัวตนเป็นครั้งเป็นคราว ซึ่งแต่ละครั้งก็จะดำรงอยู่ไม่นาน   ดังนั้นบางทีจึงถูกเรียกว่าเป็นพลังเงียบก็มี

ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยที่มีเหนือพรรคการเมืองเก่าแก่ทุกพรรคเมื่อปี ๒๕๔๔   ส่วนหนึ่งมาจากพลังการจัดตั้งบุคลากรระดับหัวคะแนนในภาคเหนือและภาคอีสาน และเมื่อถูกนำมาประกอบเครื่องเข้ากับพลังสาธารณะของประชาชนที่ชื่นชอบนโยบายประชานิยมอันแปลกใหม่ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างถล่มทะลายเป็นครั้งแรก

แต่การถอยร่นของ นปช.และเครือข่ายคนเสื้อแดงของพรรคนอมินีในปี ๒๕๕๒  ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพลังสาธารณะที่ครั้งหนึ่งเคยชื่นชอบพรรคไทยรักไทยหรือพรรคพลังประชาชน เริ่มรับไม่ได้กับพฤติกรรมใช้ความรุนแรงแบบอันธพาลครั้งแล้วครั้งเล่าและไม่พอใจต่อการเดินแนวทางที่ผิดพลาดจนแกนนำหลายคนต้องถูกดำเนินคดี ประกอบกับพลังมวลชนในเครือข่ายหัวคะแนนเดิมส่วนหนึ่งเกิดการแยกตัวออกไปร่วมเป็นรัฐบาลกับขั้วตรงข้าม

มีบทเรียนที่น่าศึกษาจากลุ่มเอ็นจีโอ ที่นำพาชาวบ้านต่อสู้มาอย่างยาวนาน   ทั้งเรื่องความยากจน ความไม่เป็นธรรม ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยความที่พวกเขายังไม่สันทัดที่จะยกระดับเรื่องราวความทุกข์ของชาวบ้านที่ ต่อสู้อยู่ให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่สังคมส่วนใหญ่เข้าใจและรู้สึกร่วมได้ ในที่สุดจึงมักนำไปสู่ความพ่ายแพ้ล้มเหลวอย่างโดดเดี่ยว

จากบางตัวอย่างที่หยิบยกมาให้พิจารณาข้างต้นคงจะเห็นได้ว่า พลังงานที่เกิดจากการรวมหมู่ทั้ง ๒แบบ ล้วนมีบทบาทอย่างสำคัญในการทำงานพัฒนาสังคม รวมทั้งกระแสการต่อสู้ทางการเมืองในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในระบบตัวแทนหรือการเมืองภาคประชาชน 

พลังในกลุ่มแรกมักเป็นผู้จุดประกายสร้างกระแสแต่ใน ที่สุดแล้ว พลังในกลุ่มหลังจะเป็นตัวตัดสินชี้ขาด

ในการทำงานพัฒนาสังคมและการเมืองภาคพลเมืองจึงต้องให้ความสนใจต่อการสร้างสรรค์และพัฒนาพลังงานทั้ง ๒ รูปแบบในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน

พลังจัดตั้งนั้นสำคัญมาก พลังสาธารณะก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ดังนั้นการสร้างสรรค์และผสมผสานพลังงานทั้ง ๒ รูปแบบ จึงเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์