แนวคิดของสิทธิมนุษยชนเกิดจากอะไร

ประวัติความเป็นมาของขบวนการสิทธิมนุษยชน

ขบวนการสิทธิมนุษยชนมีประวัติความเป็นมา ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล ดังนี้

ระดับประเทศ

ในอดีต เมื่อประเทศต่างๆ ยังมีระบอบการปกครอง ที่ให้อำนาจอย่างเด็ดขาด แก่ผู้ปกครอง โดยผู้ถูกปกครองไม่มีสิทธิในด้านเสรีภาพ และความเสมอภาค ทำให้บางครั้งต้องประสบกับความทุกข์ยาก จากความอยุติธรรม และการเบียดเบียน จึงเกิดการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่ราษฎร หรือผู้ถูกปกครองจะพึงมีพึงได้ และนำไปสู่การร่างบทบัญญัติ หรือกฎหมาย เพื่อประกันสิทธิเหล่านั้น ตัวอย่างของการเรียกร้องสิทธิทางการเมือง และทางสังคม ที่ถือว่า มีความสำคัญมากทางด้านประวัติศาสตร์ คือ การที่พวกขุนนางที่ถือครองที่ดิน ในประเทศอังกฤษในสมัยกลางได้รวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้กษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าจอห์น พระราชทานกฎบัตร เรียกชื่อว่า แมกนาคาร์ตา (Magna Carta) เมื่อ ค.ศ. ๑๒๑๕ (พ.ศ. ๑๗๕๘) รับรองว่า จะทรงปกครองโดยยุติธรรม เช่น ไม่เก็บค่าภาษีที่ดินแพงเกินไป ไม่ตัดสินคดี โดยเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ลงโทษบุคคล โดยปราศจากการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม ให้ปลดผู้พิพากษา หรือเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตออกจากตำแหน่ง แมกนา คาร์ตาจึงอาจถือได้ว่า เป็นบทบัญญัติฉบับแรกของประเทศอังกฤษ และของโลก ที่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครอง และสิทธิเสรีภาพของผู้อยู่ใต้ปกครอง เป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจน

ต่อมา ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ มีแนวคิดทางด้านปรัชญาการเมือง และสังคมของนักคิดชาวยุโรปหลายคน ที่มีอิทธิพล ต่อการปฏิรูปทางการเมือง และสังคมของประเทศในยุโรปตะวันตก และแพร่หลาย ไปถึงทวีปอเมริกาเหนือด้วย นักคิดที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ จอห์น ล็อก (John Locke) ชาวอังกฤษ ฟรองซัว วอลแตร์ (Fran็ois Voltaire) และชอง - ชาก รูโซ (Jean - Jacques Rousseau) ชาวฝรั่งเศส กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่มีพื้นฐานจากแนวคิดดังกล่าว เช่น "ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมือง" (Declaration of the Rights of Man and the Citizen) ในรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งร่างขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ และ "บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิ" (Bill of Rights) ซึ่งผนวกเป็นบทแก้ไขเพิ่มเติม ๑๐ ฉบับแรก ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๑ ถือได้ว่า เป็นการประกาศสิทธิมนุษยชน ที่ครอบคลุมด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง และเป็นต้นแบบในการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา

ระดับสากล

ขบวนการสิทธิมนุษยชนสากล เริ่มมาจากความจำเป็น ที่จะต้องมีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในระดับนานาชาติ จึงเกิดความร่วมมือระหว่างชาติ ในการร่างบทบัญญัติ เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขึ้น สนธิสัญญาระหว่างชาติฉบับแรกๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยอมรับเสรีภาพในการนับถือศาสนา การเลิกทาส และการปกป้องสิทธิมนุษยชน ในยามสงคราม รวมทั้งสภากาชาดสากล (International Committee of the Red Cross) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๔ ก็นับเป็นความร่วมมือระหว่างชาติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญอย่างหนึ่ง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ประเทศต่างๆ ตระหนักว่า ลำพังรัฐบาลของแต่ละประเทศ ย่อมไม่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ จำเป็นที่ต้องพึ่งพลัง ของนานาชาติด้วย ดังนั้น สันนิบาตชาติ (The League of Nations) ซึ่งเป็นองค์การสากลระหว่างรัฐบาลองค์การแรก ที่ถือกำเนิดขึ้น หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงคิดหาวิถีทาง ที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นพลัง แต่งานของสันนิบาตชาติในเรื่องนี้ ก็จำกัดอยู่เพียงการคุ้มครองชนกลุ่มน้อย ในบางประเทศเท่านั้น

ความพยายามในระดับนานาชาติ ที่จะปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ในโรงงานอุตสาหกรรมได้เริ่มขึ้น เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และได้กลายมาเป็น ข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งร่างขึ้นโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization) ที่ถือกำเนิดขึ้น เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๙ สำหรับการเลิกทาส ที่เป็นความพยายามของระดับนานาชาติ มาเป็นช่วงระยะเวลายาวนาน ได้บรรลุผลสำเร็จ เมื่อมีการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยทาส (International Slavery Convention) และร่วมลงนามที่เมืองเจนีวา ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ส่วนปัญหาผู้ลี้ภัย ก็ได้มีการร่วมลงนาม ในอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัย  (Conventions for the Protection of Refugees) ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ และ ค.ศ. ๑๙๓๘ ตามลำดับ

ในช่วงระยะเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ กับครั้งที่ ๒ ได้เกิดระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งก่อตัวขึ้นในประเทศเยอรมนี เมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๐ และดำเนินต่อไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระบอบการปกครองดังกล่าว ได้มีการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้เกิดการทำลายล้างชีวิต และศักดิ์ศรีของมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งความพยายาม ที่จะทำลายกลุ่มชนต่างๆ โดยอ้างเหตุแห่งเชื้อชาติและศาสนา ดังนั้น จึงปรากฏอย่างแน่ชัดว่า จำเป็นต้องมีบทบัญญัติระดับนานาชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือ ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพราะการเคารพสิทธิมนุษยชน นับเป็นหนทางสำคัญ ที่จะนำไปสู่สันติภาพ และความสงบสุขของโลก

เมื่อมีการดำเนินการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ บรรดาผู้นำของประเทศสมาชิกดั้งเดิม ๕๐ ประเทศ ได้ร่วมลงนาม ในกฎบัตรสหประชาชาติ (The Charter of the United Nations) เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยประกาศเป้าหมายหลัก ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ว่า "เพื่อปกป้องคนรุ่นต่อไปจากภัยพิบัติของสงคราม และเพื่อยืนยันความศรัทธาในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ในศักดิ์ศรี และคุณค่าของมนุษย์ และในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี" ดังในมาตรา ๑ ของกฎบัตรสหประชาชาติ ได้ระบุว่า จุดมุ่งหมายประการหนึ่ง ของสหประชาชาติ คือ "เพื่อบรรลุความร่วมมือระหว่างชาติ ในการส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สำหรับมนุษย์ทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา"

ด้วยเหตุที่ กฎบัตรสหประชาชาติเป็นสนธิสัญญา ที่บรรดาประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติร่วมลงนาม จึงถือว่า มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ที่บรรดาสมาชิกจะต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม กฎบัตรสหประชาชาติ มิได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยตรง หรือกลไก ที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกปกป้องคุ้มครอง สิทธิมนุษยชน ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ จึงได้จัดตั้ง คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Committee on Human Rights) ขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เพื่อร่างกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้เกิด ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งสหประชาชาติได้มีมติรับรอง เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๘

ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ถือเป็นมาตรฐาน ในการปฏิบัติต่อกัน ของบรรดานานาชาติ ถึงแม้ว่า จะมิได้มีผลบังคับทางกฎหมาย เหมือนอย่างสนธิสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่ก็มีพลังสำคัญทางศีลธรรม จริยธรรม และมีอิทธิพลทางการเมืองทั่วโลก รวมทั้งเป็นแนวคิด ในการร่างรัฐธรรมนูญของบรรดาประเทศ ที่มีการร่างรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ก็มีข้อความที่สอดคล้องกับปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น ในมาตรา ๔ ความว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง"