ประเทศใดเป็นประเทศคู่ค้าข้าวของไทยในตลาดโลก

อีกหนึ่งสาเหตุ ที่ทำให้ข้าวไทยส่งออกลดลงคือ “การพัฒนาพันธุ์ข้าวของคู่แข่ง” ที่แต่เดิมปลูกแต่ข้าวพื้นแข็ง ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากนัก

ที่ผ่านมา ข้าวไทยแม้จะมีราคาแพงกว่า แต่ด้วยคุณภาพของข้าวเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทำให้ข้าวไทยกลายเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน

แต่ในระยะหลัง หลายประเทศเริ่มมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวและปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

อย่างเช่นประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวนุ่ม ที่มีคุณภาพและเป็นที่นิยมของประเทศในทวีปเอเชีย จนสามารถแย่งตลาดฟิลิปปินส์ไปจากประเทศไทยได้

แม้แต่พันธ์ุข้าวหอม ซึ่งข้าวหอมมะลิไทยถือว่าเป็นเกรดพรีเมียม
แต่พันธุ์ข้าวหอมที่เวียดนามและกัมพูชาพัฒนาขึ้น
แม้จะยังมีคุณภาพสู้ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้
แต่เนื่องจากราคาถูกกว่ามาก จึงมีผู้ซื้อหลายรายสั่งซื้อทดแทนข้าวหอมมะลิไทย

หรือแม้แต่ประเทศจีนเอง ที่เคยนำเข้าข้าวจากประเทศไทยมากถึง 1.2 ล้านตัน ในปี 2560
แต่ในปัจจุบัน กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียง 6 แสนตันต่อปี เท่านั้น

โดยประเทศจีนบริโภคข้าว เป็นอาหารหลักไม่ต่างจากประเทศไทย รัฐบาลจีนจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของแหล่งอาหารหลักของประเทศ จึงได้มีการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตข้าวของเกษตรกรภายในประเทศ

จนสามารถลดการพึ่งพาข้าวจากต่างประเทศได้ รวมถึงมีการคาดการณ์กันว่าประเทศจีนกำลังจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อีกหนึ่งรายในอนาคต

นอกจากนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศคู่แข่ง ก็ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น
รวมถึงต้นทุนรวมในการเพาะปลูกจึงถูกลง ทำให้สามารถตั้งราคาขายได้ถูกกว่าประเทศไทย

รู้หรือไม่ว่า ต้นทุนในการปลูกข้าว 100 บาท
เป็นค่าปุ๋ยที่ใช้บำรุงต้นข้าวคิดเป็น 26 บาท

ตรงนี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าประเทศไทยกลับต้องนำเข้าปุ๋ยมากกว่า 90%
อีกทั้งตลาดปุ๋ยในประเทศไทยมีผู้ผลิตและนำเข้าเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

จึงทำให้เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะควบคุมหรือลดราคาปุ๋ยลง
ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราไม่มีความสามารถในการควบคุม
ต้นทุนของเรา จึงสูงกว่าประเทศอื่น ๆ

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วทำไมเราถึงไม่ปรับปรุงกระบวนการผลิต
โดยใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย เหมือนการทำเกษตรกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้ว ?

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า เครื่องจักรที่มีคุณภาพและทันสมัยจะมาพร้อมกับต้นทุนที่แพงเสมอ
ถึงแม้ว่าเมื่อเทียบกับผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นแล้วก็อาจจะคุ้มค่า

แต่ปัญหาหลักของเกษตรกรไทยคือ การเป็นเจ้าของที่ดินเพียงไม่กี่ไร่ และเกินกว่า 70% ต้องอาศัยการเช่าที่ดิน หรือไม่ก็ทำนาในที่ดินที่ติดจำนอง

เมื่อครอบครองที่ดินในการเพาะปลูกน้อย
การลงทุนในเครื่องจักรราคาแพงจึงกลายเป็นทางเลือกที่ไม่คุ้มค่า
เพราะกลุ่มเกษตรกร จะใช้งานเครื่องจักรได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ทั้งเรื่องของขนาดที่ดินและความถี่ต่อการเพาะปลูก

เกษตรกรจำนวนมาก ต้องพึ่งพาการเช่าเครื่องจักร อย่างเช่นรถไถ หรือรถเกี่ยวข้าว
จึงเป็นเรื่องยากที่จะลดต้นทุนด้วยการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย

อีกทั้ง ชาวนาจำนวนมากยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน หรือชดใช้หนี้สินที่มีอยู่แต่เดิม
ทำให้ไม่มีเงินมากพอที่จะไปพัฒนาหรือลงทุนในส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติม
ในขณะที่ชาวนาบางส่วน เมื่อเก็บเกี่ยวและหักค่าใช้จ่ายแล้วอาจจะขาดทุนด้วยซ้ำ

นอกจากนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าว ยังถูกซ้ำเติมด้วยโครงสร้างอุปทานของข้าวไทย

หากเรามาดูกำไรของแต่ละกลุ่มธุรกิจข้าวในห่วงโซ่อุปทาน
อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย

ปี 2560
ผู้ส่งออก มีกำไรสุทธิเฉลี่ย 18,410,000 บาทต่อราย
โรงสี มีกำไรสุทธิเฉลี่ย 6,270,000 บาทต่อราย
แต่ชาวนา กลับมีกำไรสุทธิเฉลี่ยเพียง 10,000 บาทต่อราย เท่านั้น

เราจะเห็นได้ว่ากำไรสุทธิของชาวนา อยู่ในระดับที่ต่ำมาก
โดยสาเหตุสำคัญมาจากเมื่อเราต้องแข่งขันในสงครามราคา

และมีจุดเริ่มต้นของการกำหนดราคาข้าวอยู่ที่ผู้ส่งออก
ทำให้เกิดการกดราคาต่อกันเป็นทอด ๆ ทั้งราคาที่รับซื้อจากโรงสีและชาวนา

ท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาดังกล่าวก็ได้ถูกผลักไปยังชาวนา
และด้วยความที่ชาวนาไม่มีอำนาจต่อรอง และไม่สามารถลดต้นทุนที่สูงได้
ผลกำไรที่ได้จึงน้อยลง ปัญหาความยากจนของชาวนาจึงเพิ่มมากขึ้น

และแม้ว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยอุดหนุนรับภาระเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท
แต่โดยส่วนใหญ่ เม็ดเงินจะถูกใช้จ่ายไปกับการชดเชยความเสียหายหรืออุ้มราคาข้าว
ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

โดยวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการนำเงินไปอุ้มราคาข้าว ก็คือการเพิ่มมูลค่าของข้าวไทยให้สูงขึ้น

ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น จะมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น สาเก ที่ไม่ว่าใครก็ผลิตได้ หรือข้าวสำหรับทำซูชิที่มีการส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งนับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ข้าวของญี่ปุ่นที่บางชนิดมีราคาขายต่อน้ำหนักที่สูงขึ้น

หรือการลดต้นทุนการผลิต ทั้งจากการลดราคาต้นทุนโดยตรง อย่างเช่นค่าปุ๋ย
และการสนับสนุนเครื่องจักรทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรได้ซื้อหรือเช่าในราคาถูก
รวมถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวและระบบชลประทาน
เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น แทนที่การขยายพื้นที่เพาะปลูก

แต่เมื่อดูจากความลำบากที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร
ที่ต้องเจอกับต้นทุนที่สูง และราคาขายที่ตกต่ำจากการแข่งขันกันส่งออกในปัจจุบัน

ก็เป็นเรื่องที่น่าชวนคิดไม่น้อยว่า มันคุ้มค่าแค่ไหน
กับความพยายามที่เราจะต้องรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวของโลก
และต้องทุ่มเทงบประมาณมหาศาลกับเรื่องนี้เป็นประจำทุกปี

หรือแท้ที่จริงแล้ว
เราควรจัดสรรทรัพยากรไปยังอุตสาหกรรมอื่น
ที่โดดเด่นและกำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลก
ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
หรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

และเปลี่ยนแนวคิดต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย ให้มีเป้าหมายเพื่อความมั่นคงทางอาหาร หรือการต่อยอดไปยังสินค้าอื่น