Ltf rmf ตัว ไหน ดี

เผลอไปแค่อึดใจเดียว เวลาก็ล่วงเลยมาจนถึงครึ่งปีแล้ว และคงอีกแค่อึดใจเดียวก็คงจะสิ้นปีไปตามระเบียบ แน่นอนว่าพูดถึงปลายปี เรื่องที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ไม่เคยพลาดนั่นคือการวางแผนประหยัดภาษี ไลน์กลุ่มในห้องสารพัดเพื่อนก็จะเริ่มดังว่าซื้อกองทุนรวม LTF หรือ RMF ไหนดี สำหรับมือโปรก็คงจะเริ่มเลือกกองทุนได้เลย แต่สำหรับมือใหม่หลายคนอาจจะงงตั้งแต่คำถามว่าตัวเองนั้นเหมาะกับ LTF หรือ RMF มากกว่ากัน วันนี้ลงทุนศาสตร์จึงมีหลักคิดง่ายๆ เพื่อตัดสินใจว่าตัวเราเองเหมาะกับ LTF หรือ RMF



ว่าแต่ LTF กับ RMF คืออะไร?

LTF (Long Term Equity Fund) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว คือกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทย โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกรมสรรพากร เมื่อลงทุนระยะยาวจนครบระยะเวลากำหนดซึ่งปัจจุบันอยู่ในกรอบระยะเวลา 7 ปีปฏิทิน

ในขณะที่ RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ คือกองทุนรวมเพื่อการลงทุนระยะยาวไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ โดยผู้ที่ลงทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีคล้ายคลึงกับ LTF แต่ RMF จะมีกรอบระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานกว่า คือจะถอนเงินลงทุนได้เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีและถือหน่วยการลงทุนมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี นอกจากนี้ยังต้องทยอยลงทุนทุกปีโดยหยุดลงทุนได้ไม่เกินปีเว้นปี


สรุปภาพรวม คือ LTF และ RMF คือกองทุนรวมที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีแถมมากับการลงทุนด้วย ดังนั้น กองทุนรวมเหล่านี้จึงเป็นที่นิยมสำหรับมนุษย์เงินเดือนมาก เพราะนอกจะได้ลงทุนเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งแล้ว ยังได้ผลประโยชน์ทางภาษีและลาภต่อที่สองอีกด้วย



แล้วคนอย่างเราเหมาะกับ LTF หรือ RMF กันแน่? 


ลองพิจารณาคำถามทั้ง 5 ข้อนี้ เมื่ออ่านจบ
สิ้นปีนี้เราอาจจะไม่ต้องลังเลยามจะเลือกซื้อ LTF และ RMF อีกต่อไป




  • คุณได้รับประโยชน์จากสิทธิลดหย่อนภาษีหรือไม่



จากข้อมูลกรมสรรพากรสำหรับการเสียภาษีเงินได้ปี 2560 (ยื่นแบบภาษีปี 2561) ผู้ที่มีเงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาทจะเสียภาษีที่อัตรา 0% (เท่ากับไม่เสียภาษี) ในกรณีที่เป็นผู้ได้รับเงินเดือนจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (เงินได้ประเภทอื่นขึ้นกับกฎหมายประกาศ) และได้รับค่าลดหย่อนอีกคนละ 60,000 บาท สรุปได้ว่ามนุษย์เงินเดือนจะเริ่มเสียภาษีเมื่อมีเงินได้ตั้งแต่ 310,000 บาทต่อปีขึ้นไป หรือเทียบเท่าประมาณ 25,833 บาทต่อเดือน

หากรายได้ไม่ถึง 310,000 บาทต่อปี เราก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องซื้อ LTF และ RMF เนื่องจากเราจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่หากเราลงทุนผิดไปจากเงื่อนไข เช่น ขายหน่วยลงทุนก่อนระยะเวลาเงื่อนไข เราจะต้องเสียค่าปรับให้กรมสรรพากรอีกด้วย ดังนั้น หากต้องการลงทุน เราก็ควรจะซื้อกองทุนรวมที่ไม่มีเงื่อนไขทางภาษีแทน เพื่อความยืดหยุ่นในการลงทุน และไม่ต้องมากังวลปัญหาเรื่องภาษีในภายหลัง



  • คุณสนใจลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน



หากเราสนใจลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก เราจะสามารถเลือกลงทุนได้ทั้ง LTF และ RMF แต่ถ้าเราสนใจลงทุนในสินทรัพย์อื่น เช่น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ หุ้นต่างประเทศ เราจำเป็นต้องลงทุนใน RMF แทน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ LTF ลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 65% ของทรัพย์สินกองทุนรวม ทำให้นโยบายการลงทุนของ LTF มุ่งไปที่หุ้นไทยเพียงอย่างเดียว ดังนั้นหากเราสนใจลงทุนในสินทรัพย์อื่นเป็นหลักนอกจากหุ้นไทย RMF จึงเป็นทางเลือกในการลงทุนของเรา




  • คุณรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน



อย่างที่เล่าว่า LTF จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นหลัก ทำให้ในภาพรวม LTF มีความผันผวนสูงกว่า RMF ตามธรรมชาติของสินทรัพย์ เนื่องจากหากเราเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย เราอาจเลือกลงทุนในตราสารหนี้ ตลาดเงิน หรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องลงทุนผ่าน RMF เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม LTF ก็ถูกบังคับให้ต้องถือยาวไม่ต่ำกว่า 7 ปีปฏิทิน ดังนั้น ปัญหาเรื่องความผันผวนของสินทรัพย์อาจจะต่ำลง เพราะโดยธรรมชาติ การลงทุนระยะยาวมักจะมีความผันผวนต่ำกว่าระยะสั้นเสมอ




  • คุณลงทุนได้ระยะยาวแค่ไหน



หากเราสามารถลงทุนได้ในระยะยาวมาก คือถือหน่วยลงทุนได้จนถึงอายุ 55 ปีและไม่ต่ำกว่า 5 ปี RMF จะเหมาะสมกับเรามากกว่า เพราะมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย รวมไปถึงการบังคับลงทุนระยะยาวจะสร้างวินัยทางการเงินได้ดีกว่าอีกด้วย แต่ถ้าหากเราไม่สามารถถือลงทุนได้ยาวนานขนาดนั้น เช่น ใน 10 ปีข้างหน้ามีแผนจะใช้เงินก้อนซื้อบ้าน ระยะเวลา 7 ปีของ LTF ดูจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากไม่ได้บังคับให้ถือยาวจนอายุ 55 ปี




  • คุณมีเงินลงทุนสม่ำเสมอแค่ไหน



เนื่องจาก RMF มีกติกาให้ลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าปีเว้นปี ดังนั้น หากเรามีเงินลงทุนไม่สม่ำเสมอ เช่น อนาคตมีโอกาสจะลาออกจากงาน หรือมีแผนจะไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี การซื้อหน่วยลงทุนต่อเนื่องอาจเป็นเรื่องลำบาก การซื้อ LTF ครั้งเดียวแล้วถือ 7 ปีจึงอาจจะเป็นคำตอบที่ดีมากกว่า นอกจากนี้ LTF ยังมีข้อดีว่าหากเราไม่มีเงินก้อนใหม่เข้ามามากพอ เราก็สามารถขาย LTF เก่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้วเพื่อซื้อ LTF ก้อนใหม่ ซึ่งก็จะให้ประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดลงทุนของ RMF ก็ไม่ได้ถือว่าสูงจนน่ากังวล เนื่องจากกำหนดไว้ว่าต้องลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ ในแต่ละปีหรือ 5,000 บาท แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า ถ้าเทียบจากฐานเงินเดือนแล้ว เราก็น่าจะหามาลงทุนให้ไม่ผิดข้อกำหนดได้ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน


กองทุนรวมก็เหมือนเสื้อผ้ารู้ไหม? ถึงรูปทรงสีสันจะถูกใจแค่ไหน แต่ถ้าขนาดไม่ใช่ ใส่ไปมันก็ไม่สบายตัว

Ltf rmf ตัว ไหน ดี

หลักคิดทั้ง 5 ข้อนี้คือหลักการเบื้องต้นในการเลือก LTF และ RMF ที่ลงทุนศาสตร์แนะนำให้คนรอบตัวใช้เป็นประจำ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักมองข้ามขั้น โดยหันไปเลือกเลยว่าตนเหมาะกับกองทุนรวมกองไหน จนบางครั้งก็ลืมถามตัวเองไปว่าเราเหมาะกับ LTF หรือ RMF มากกว่ากัน