ข้อใดไม่ใช่หน้าที่ของรัฐสภา

รัฐสภา

หลักการของประชาธิปไตย คือ ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ดังนั้นจึงมีสิทธิและหน้าที่ที่จะจัดการปกครองประเทศ ดังนั้นรัฐบาลซึ่งเป็นองค์การจัดการปกครองประเทศจึงเป็นของประชาชน โดยประชาชน และ เพื่อประชาชน
แต่เนื่องจากประชาชนมีจำนวนมาก ไม่สามารถทำหน้าที่ปกครองตนเองโดยตรงได้จึงจัดให้มีตัวแทนของประชาชนไปทำหน้าที่แทนโดยการเลือกตั้ง ที่ประชุมของผู้แทนประชาชนซึ่งทำหน้าที่ปกครองประเทศเรียกว่า รัฐสภา

บทบาทหน้าที่ของรัฐสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้รัฐสภามีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ คือ การพิจารณาตรากฎหมาย การควบคุมการบริหารงานของคณะรัฐมนตรี และการให้ความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้
1. ตรากฎหมาย ในความหมายของรัฐธรรมนูญนั้นถือว่ากฎหมายมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
1) รัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ซึ่งมีศักดิ์เท่ารัฐธรรมนูญ
2) พระราชบัญญัติ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติของพระมหากษัตริย์และรัฐสภา
3) พระราชกำหนด ซึ่งเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ เป็นข้อยกเว้น โดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
กฎหมายทั้ง 3 ประเภทนี้เท่านั้นที่เป็นความหมายของกฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นถึงแม้จะเรียกว่ากฎหมาย แต่ในรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เทศบัญญัติ ข้อบังคับกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติจังหวัด เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ากฎหมายที่เป็นหลัก คือ พระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติของพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำและยินยอมขององค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งหมายถึง รัฐสภานั่นเอง ดังนั้น รัฐสภาจะออกกฎหมายอะไรก็ได้ หรือจะยกเลิกกฎหมายอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงจะเรียกว่าเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยองค์กรนิติบัญญัติ แต่ก็มีข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญว่า ในสถานการฉุกเฉิน จำเป็นรีบด่วนบางเรื่อง อาจจะเรียกประชุมสภาไม่ทัน กระบวนการพิจารณากฎหมายจะยาว ก็ให้ออกเป็นพระราชกำหนดได้ โดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ และต้องนำพระราชกำหนดนั้นไปให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ สำหรับร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะตราขึ้นเป็นกฎหมายนั้น ให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วจึงเสนอร่างนั้นต่อวุฒิสภาพิจารณา เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธยและประกาศเป็นกฎหมายต่อไป
2. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งได้แก่ การเปิดอภิปรายทั่วไป และการตั้งกระทู้ถาม
1) การเปิดอภิปรายทั่วไป
(1) การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. การไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยให้สมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้
2. การไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 6 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้
(2) การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงโดยไม่มีการลงมติ
2) การตั้งกระทู้ถาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีเรื่องเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบเมื่อเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน การบริการราชการแผ่นดินเรื่องใดที่เป็นปัญหาสำคัญ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นเรืองที่กระทบถึงประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนหรือที่เป็นเรื่องเร่งด่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานผู้แทนราษฎรก่อนเริ่มประชุมว่าจะถามนายรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินเรื่องนั้นโดยไม่ต้องระบุคำถาม
3. ให้ความเห็นชอบ ความเห็นชอบของรัฐสภา หมายความว่า เป็นความยินยอมสนับสนุนของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อให้ความเห็นชอบในต่างๆ ดังนี้
1) การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2) การสืบราชสมบัติ
3) การปิดสมัยประชุม
4) การเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
5) การให้ความเห็นชอบหรือการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
6) การประกาศสงคราม
7) การทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ
ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและการสรรหา ด้วยมุ่งหวังว่า การเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นปัจจัยส่งผลให้บุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถมากกว่าที่เป็นอยู่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา อันจะส่งผลต่อการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลก็ดี ของสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ของข้าราชการระดับสูงก็ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วุฒิสภาจึงมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ หรือถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

รูปแบบของรัฐสภา
รัฐธรรมนูญของประเทศไทย กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยสภา 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า สภาล่าง และสภาสูง เหตุผลที่จัดรูปแบบของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย 2 สภา ดังนี้
1. ช่วยให้เกิดการตรวจสอบ ยับยั้ง กลั่นกรอง ถ่วงดุล และรอบคอบ ในการออกกฎหมาย เนื่องจากอำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาคุ้มครองประชาชน ถ้าให้มีสภาเดียวอาจใช้อำนาจนั้นโดยไม่มีการพิจารณากลั่นกรอง ซึ่งอาจขาดความรอบคอบ เช่น ออกกฎหมายที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ ออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนบางกลุ่ม เป็นต้น อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ การมีสองสภาช่วยกันพิจารณากลั่นกรอง ช่วยกันทักท้วง ยับยั้งหรือแก้ไขเพิ่มเติม โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะทำให้ได้กฎหมายที่สมเหตุสมผล ถูกต้อง ยุติธรรม ครอบคลุมทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติ หรือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
2. ช่วยประนีประนอมและประสานความเข้าใจ ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล ถ้ามีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาอาจรุนแรง และนำไปสู่การยุบสภาหรือสภาลงมติไม่ไว้ว่างใจรัฐบาลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่รัฐบาลมาจากการแต่งตั้ง ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือว่ากลุ่มตนเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง แต่รัฐบาลมาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ จึงดูประหนึ่งว่ารัฐบาล คือ ผู้ที่เข้ามารับใช้หรือรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้มีอำนาจที่แต่งตั้งพวกเขา ในกรณีเช่นนี้ การมีสภาที่สองอาจช่วยไกล่เกลี่ยประนีประนอมได้ เพราะสภาที่สองหรือวุฒิสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีประสบการณ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่เคารพนับถือของคนในสังคม และเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย
สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกมาจากการการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และเลือกตั้งแบบสัดส่วน และวุฒิสภามีสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และแต่งตั้ง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายมากกว่าวุฒิสภา ให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่มากกว่าสภาผู้แทนราษฎรในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด เป็นต้น และให้สภาทั้งสองมีการประชุมร่วมกันในกรณีสำคัญ ๆ เช่น การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ การปรึกษาพระราชบัญญัติใหม่ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นชอบและพระราชทานคืนมา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญากับต่างประเทศ การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม เป็นต้น
รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 480 คน เป็นสมาชิกซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน จำนวน 80 คน และสมาชิกซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน การที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนี้ เพราะต้องการให้มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนระหว่างหน้าที่นิติบัญญัติกับหน้าที่บริหารในฐานะที่เป็นรัฐบาล โดยทางอ้อมรัฐธรรมนูญนั้น เปิดโอกาสให้นักการเมืองที่มาจากบัญชีรายชื่อ ดำรงตำแหน่งในทางบริหาร คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้สะดวกกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ เพราะไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม และไม่มีการเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงเสียงข้างมากในสภา จึงมีคนกล่าวขานถึงระบบเช่นนี้ว่าเลือกแบบสัดส่วนเหมือนเลือกว่าที่รัฐมนตรี นอกจากนี้รัฐธรรมนูญได้กำหนดวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งประชาชนเลือกตั้งโดยตรง โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 76 คน และมาจากการสรรหาจำนวน 74 คน
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับรัฐสภา กระจายอยู่ในมาตราต่าง ๆ จำเป็นต้องอ่านประกอบกัน จึงจะได้ใจความบริบูรณ์ เพื่อความสะดวกแก่การทำความเข้าใจ จึงสรุปไว้ด้วยกันในหัวข้อต่าง ๆ ดังจะกล่าวต่อไป

สภาผู้แทนราษฎร
สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 480 คน มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และเมื่อครบวาระจะต้องมีการจัดตั้งการเลือกตั้งใหม่พร้อมกันทั่วราชอาณาจักร ภายใน 45 วัน จำแนกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ตามที่มาได้ 2 ประเภท คือ
1. สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน จำนวน 80 คน โดยให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคละ 1 บัญชีมีจำนวนไม่เกิน 10 คน
2. สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีได้ในเขตนั้น
คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสภาผู้แทนราษฎรต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
2) อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เว้นแต่เคยเป็นสภาชิกผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภา
4) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน
5) ผู้สมัครแบบแบ่งเขต ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ด้วยคือ
(1) มีชื่อในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครไม่น้อยกว่า 1 ปี ติดต่อกันนับจากวันสมัครรับเลือกตั้ง
(2) เคยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นใน จังหวัดที่สมัคร
(3) เกิดในจังหวัดที่สมัคร
(4) เคยศึกษาในจังหวัดที่สมัครเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
(5) เคยรับราชการ หรือเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามต่อไปนี้
(1) ติดยาเสพติดให้โทษ
(2) เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
(3) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช หรือเป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
(4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล
(5) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ในวันเลือกตั้งเว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาท
(6) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
(7) เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์เพิ่มขึ้นผิดปกติ
(8) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ นอกจากข้าราชการการเมือง
(9) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
(10) เป็นสมาชิกวุฒิสภา
(11) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(12) เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(13) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบหรือจงใจรายการอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
(14) เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีมติ จนถึงวันที่เลือกตั้ง
หากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่นๆ เช่น การยุบสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกผู้แทนราษฎรตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลือไม่ถึง 180 วัน จะไม่จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมก็ได้ ส่วนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งซ่อมจะอยู่ในตำแหน่งได้เท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันถัดจากวันที่ครบ 30 วัน นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
ให้สมาชิกผู้แทนราษฎรคนหนึ่งเป็นประธานสภา และให้มีรองประธานสภาหนึ่งหรือสองคน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภา นอกจากตำแหน่งประธานสภาและรองสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้มีตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาด้วย โดยแต่งจากสมาชิกผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งมีสมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวนจำนวนมากที่สุด แต่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกในสังกัดพรรคการเมืองนั้นมิได้เป็นรัฐมนตรี

วุฒิสภา
วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน 76 คน และมาจากการสรรหา 74 คน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี
คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันเลือกตั้ง
3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
4) มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้
(1) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัคร
(2) เคยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรในจังหวัดที่สมัคร
(3) เกิดในจังหวัดที่สมัคร
(4) เคยศึกษาในสถานศึกษาในจังหวัดที่สมัคร
(5) เคยรับราชการในจังหวัดที่สมัคร
5) ไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้
(1) เป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(2) เป็นสมาชิกสภาผู้สภาแทนราษฎร หรือเคยเคยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรมาแล้วยังไม่เกิน 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้งในวุฒิสภาชุดก่อนการสมัคร
(4) เป็นบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่นเดียวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร

- เมื่ออายุอายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตามวาระ จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรภายใน 30 วัน แต่ถ้าสมาชิกภาพของวุฒิสมาชิกสิ้นสุดลงด้วยเหตุอื่น เช่น ตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ เป็นต้น จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน และผู้ได้รับเลือกจะดำรงตำแหน่งได้เท่ากับวาระผู้ที่ตนแทน
- สมาชิกวุฒิสภาเป็นรัฐมนตรีไม่ได้
- ให้วุฒิสภามีสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานสภา และให้มีรองประทานสภาคนหนึ่งหรือสองคน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติขอสภา

การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ สส. และ สว.
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เริ่มต้นตั้งแต่วันเลือกตั้งและสิ้นสุดลงเมื่อ
1. ตาย
2. ลาออก
3. ถึงคราวออกของอายุสภา (สส.4 ปี สว.6 ปี) หรือเมื่อมีการยุบสภา (เฉพาะ สส. หรือ สว. ไม่มีการยุบสภา)
4. ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง เป็น สส. หรือ สว. แล้วแต่กรณี
5. มีลักษณะอันต้องห้าม ระหว่างที่เป็น สส. หรือ สว. แล้วแต่กรณี
6. กระทำการอันต้องห้าม ระหว่างที่เป็น สส. หรือ สว. แล้วแต่กรณี
7. วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพ
8. ขาดการประชุมเกินจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภา
9. ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

นอกจากนี้สมาชิกสมาผู้แทนราษฎรยังมีกรณีที่สิ้นสุดสมาชิกภาพอีกด้วยเหตุ ดังต่อไปนี้
1. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองนั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
2. ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี
3. ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก หรือพรรคการเมืองที่ตนเองเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่า สิ้นสุดสมาชิกภาพ นับแต่วันที่ลาออกหรือพรรคการเมืองมีมติ เว้นแต่สมาชิกผู้แทนราษฎรผู้นั้นได้อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติคัดค้านว่ามติดังกล่าวมีมติขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกผู้แทนราษฎร หรือขัด หรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ถ้าการคัดค้านไม่ได้ผลให้ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าคำคัดค้านได้ผล คือ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับคำคัดค้าน สมาชิกผู้แทนราษฎรผู้นั้นอาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันวินิจฉัย

การประชุมของรัฐสภา
รัฐสภา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติจำเป็นต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ทั้งทางด้านธุรการและการประชุม ระยะแรกของรัฐสภาไทยซึ่งจัดให้มีขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และประกาศให้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 แล้ว ได้มีการจัดตั้งกรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายธุรการของสภาผู้แทนราษฎร ต่อมากรมนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักเลขาธิการรัฐสภา มีฐานะเทียบเท่ากรม แต่ให้เป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวง ทบวงใด มีอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา และให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานรัฐสภา

ปัจจุบันได้มีการจัดแบ่งการดำเนินกิจการของรัฐสภาออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ
2. สำนักเลขาธิการวุฒิสภา มีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ
หน่วยงานทั้งสองมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสถานที่ประชุมสภา การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ การจัดทำรายงานการประชุม การเผยแพร่ข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ การประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เป็นต้น

สมัยประชุม
สมัยประชุม คือ ช่วงเวลานับแต่วันเปิดประชุมถึงวันปิดประชุม จำแนกได้ 2 สมัย ได้แก่ สมัยประชุมสามัญ และสมัยประชุมวิสามัญ
1. สมัยประชุมสามัญ หมายถึง สมัยประชุมตามปกติ ที่กำหนดไว้ตายตัวว่าจะประชุมตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด ในแต่ละปีโดยที่รัฐธรรมนูญกำหนดเกณฑ์ไว้ การประชุมสมัยสามัญมีกำหนดสมัยละ 120 วัน ซึ่งอาจประชุมเกิน 120 วันได้ เมื่อพระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯให้ขยายเวลา แต่จะประชุมน้อยกว่า 120 วันไม่ได้ เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบ
สมัยประชุมสามัญ มีปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกเรียกว่า สมัยประชุมสามัญทั่วไป ครั้งหลังเรียกว่า สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ
1.1 สมัยประชุมสามัญทั่วไป การประชุมรัฐสภาครั้งแรกถือว่าเป็นวันเริ่มต้นของสมัยประชุมสามัญทั่วไป การประชุมสามัญทั่วไป สามารดำเนินการตามรัฐธรรมนูญได้ทุกเรื่อง เช่น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การอภิปรายทั่วไป การตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
1.2 สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดว่าจะเริ่มวันใดถึงวันใด และถ้านับเวลาจากวันประชุมครั้งแรกถึงวันสิ้นศักราช มีเวลาไม่ถึง 150 วัน จะไม่มีการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติในปีนั้นก็ได้ การประชุมสามัญนิติบัญญัติ ประชุมได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ รวมทั้งกิจการอันเป็นความจำที่เร่งด่วน ได้แก่ การอนุมัติพระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ การเลือกหรือการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง หรือถอดถอนออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม การแก้ไข้เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ถ้าพิจารณาเรื่องอื่นนอกจากนี้ รัฐสภาจะต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ
ทั้ง 2 สภา
2. สมัยประชุมวิสามัญ หมายถึง สมัยประชุมที่เพิ่มขึ้นจากสมัยประชุมสามัญ เนื่องจากมีความจำเป็น เช่น มีพระราชบัญญัติสำคัญซึ่งจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้น หรือมีเรื่องที่รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบเป็นกรณีเร่งด่วน เป็นต้น
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภา ทั้งสมัยประชุมสภาและวิสามัญ

เอกสิทธิ์และการคุ้มกัน
เอกสิทธิ์ คือ อภิสิทธิ์ที่มีเฉพาะตัวและเฉพาะโอกาส ของสมาชิกผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง รบกวน กีดกันจากฝ่ายบริหารไม่ให้สมาชิกผู้นั้นได้อภิปรายซักถาม ควบคุมการบริหาร ซึ่งจะเสียประโยชน์แก่แผ่นดิน ทำให้สมาชิกแต่ละคน สามารถแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนนได้ตามความเห็นของตน ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกในทางใดมิได้ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนายหนึ่ง อาจกล่าวหาว่ารัฐมนตรีผู้ใดทุจริตรับสินบนมาจากใครเท่าใด รัฐมนตรีผู้นั้นหรือผู้รับสินบนหรือผู้ถูกกล่าวหาพาดพิงจะนำไปฟ้องร้องในทางอาญาหรือทางเพ่งมิได้
เอกสิทธิ์เช่นว่านี้คุ้มครองไปถึงรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น สส. ที่ตอบข้ออภิปรายซักถามดังกล่าว รวมถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวในรัฐสภาด้วย
แต่เอกสิทธิ์นี้จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะการกล่าวในรัฐสภาเท่านั้น และจะไม่ได้รับความคุ้มครองในการประชุมที่มีการถ่ายทอดเสียงโดยวิทยุหรือโทรทัศน์ ออกไปนอกบริเวณสภา หมายความว่า หากมีการถ่ายทอดเสียงดังกล่าวออกไปนอกสภาแล้ว ผู้ถูกกล่าวพาดพิง ซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาย่อมสามารถฟ้องร้องได้
การคุ้มกันจากการจับกุมคุมขัง หรือมีหมายเรียก
การคุ้มกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีเฉพาะในระหว่างสมัยประชุมเท่านั้น
1. ห้ามมิให้จับ หรือคุมขัง หรือมีหมายเรียกตัวไปสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะถูกจับขณะกระทำความผิด หรือได้รับอนุญาตจากประธานสภา
2. การจับในขณะกำลังทำความผิด ผู้จับจะต้องรายงานไปยังประธานสภาโดยด่วน และประธานสภาอาจสั่งให้ปล่อยได้
3. ถ้าสมาชิกถูกฟ้องคดีอาญาไม่ว่าฟ้องนอกหรือฟ้องในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่สังกัด
4. หากถูกคุมขังอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม ถ้าประธานสภาที่สมาชิกสังกัดร้องขอ ให้พนักงานสอบสวน หรือศาลต้องสั่งปล่อยทันที

การประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง
สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาประชุมร่วมกันเป็นการประชุมรัฐสภาในกรณีที่สำคัญ ๆ เช่น
1. การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2. การปฏิญาณตนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา
3. การรับทราบการแก้ไข้เพิ่มเติมกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
4. การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในราชสมบัติ
5. การปรึกษาพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
6. การมีมติให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ
7. การให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมก่อนกำหนด
8. การแถลงนโยบายของรัฐบาล
9. การเปิดอภิปรายทั่วไป เมื่อคณะรัฐมนตรีต้องการฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา
10. การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม
11. การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญากับต่างประเทศ
12. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ระหว่างไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาจัดประชุมได้เฉพาะบางกรณี
ในวาระที่สภาผู้แทนราษฎรหมดอายุหรือถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ เว้นแต่เป็นกรณี ดังต่อไปนี้
1. เป็นการประชุมเพื่อทำหน้าที่รัฐสภาเพื่อรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงค์ตามพระราชดำริ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะหรือเพื่อให้ความเห็นชอบในการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่คณะองคมนตรีเสนอ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งไว้
2. เป็นการประชุมเพื่อทำหน้าที่รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม ซึ่งมติของกรณีนี้ ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
3. เป็นการประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาและมีมติถอดถอนคนออกจากตำแหน่ง
4. เป็นการประชุมเพื่อทำหน้าที่ เลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบ ให้บุคคลดำรงตำแหน่ง เช่น กรรมการ
การเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

ประชาชนกับรัฐสภา
สมาชิกรัฐสภาไม่ว่า สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ต่างก็เป็นผู้แทนของประชาชนคนไทยทั้งปวง ไม่จำกัดว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตใด หรือจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด และไม่จำกัดว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากจังหวัดใด ดังนั้นประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิ สอบถามหรือให้คำแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาได้ทุกคน โดยอาจติดต่อสมาชิกแต่ละคนโดยตรงเป็นการส่วนตัว หรือจะร่วมกันเป็นหมู่คณะก็ได้ และอาจทำได้ด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ
ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ประชาชนอาจรวมตัวกันเป็นหมู่คณะเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา (ประฐานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา)

การเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง คือ การเลือกสรรบุคคล ให้เป็นผู้แทนหรือดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง โดยการออกเสียงลงคะแนน การเลือกตั้งเป็นวิธีการสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นกระบวนการคัดเลือกผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชน ประเทศไทยเริ่มมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 แต่ไม่ได้จัดให้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการรัฐประหารที่ผู้นำใช้ระบอบเผด็จการมาปกครองประเทศ โดยไม่จัดให้มีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในประเทศไทยเคยมีมาก็มีลักษณะแบบประชาธิปไตย คือ ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและความสะดวก ตลอดจนหลักประกันในการใช้สิทธิใช้เสียง และเป็นการเลือกตั้งโดยตรง คือ ประชาชนเลือก สส. ยกเว้นการเลือกตั้งครั้งแรกเพียงครั้งเดียวที่เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม คือ ประชาชนเลือกผู้แทนตำบล และผู้แทนตำบลไปเลือก สส. อีกทีหนึ่ง การเลือกตั้งที่มีมาเคยใช้ทั้งรวมเขตและแบ่งเขต ระยะหลังมีแนวโน้มที่ใช้ระบบผสมคือ จังหวัดใดที่มี สส. จำนวนมาก ก็ใช้วิธีแบ่งเขต โดยการกำหนดจำนวนประชากรสูงสุดที่เขตหนึ่งพึงมีเอาไว้ เกินจากนั้นต้องใช้วิธีแบ่งเขต ส่วนการลงคะแนนเสียงนั้น ในอดีตมีจำนวนผู้ไปลงคะแนนมักจะไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ แต่ในระยะหลังมีแนวโน้มดีขึ้น คือ มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ ร้อยละ 60 แต่การเลือกตั้ง สส. ของไทยก็ยังมีจุดอ่อนที่มีการซื้อเสียง และใช้เงินในการหาเสียงเกินกว่าที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนดไว้ ทำให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนก็เป็นการเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่นายทุนและนักธุรกิจ แทนที่จะเป็นประชาชน

ประโยชน์ของการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งมีความสำคัญต่อประชาชนในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ดังนี้
1. ได้มีส่วนร่วมในการปกครอง โดยประชาชนเลือกผู้แทนไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตน คือ ใช้อำนาจนิติบัญญัติในรัฐสภา และใช้อำนาจบริหารในรัฐบาล
2. ได้เปลี่ยนอำนาจทางการเมือง การดำรงตำแหน่งหรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนต่างมีการกำหนดระยะเวลา หากเลือกตั้งไปแล้วได้ผู้แทนไม่ดี เมื่อถึงการเลือกตั้งใหม่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยการเลือกผู้แทนคนใหม่ หรือพรรคการเมืองใหม่ เป็นการเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองอย่างสันติวิธี
3. ได้ประโยชน์กับประชาชน ตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปปกครองแทนตน ย่อมย่อมรับฟังปัญหาของประชาชน และปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน ผลประโยชน์ย่อมตกอยู่กับประชาชนและประเทศชาติ

หลักการของการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งจะบรรลุจุดหมายและมีความสำคัญ ต้องประกอบด้วยหลักการ ต่อไปนี้
1. หลักการเลือกตั้งอิสระ ได้แก่ การให้อิสระแก่ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการเลือกพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งก็มีสิทธิที่จะเลือกสังกัดพรรคการเมืองที่ตนชอบหรือเลื่อมใสศรัทธา โดยไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ ด้วยการลงคะแนนลับ นับคะแนนเปิดเผยแต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้
2. หลักการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา ได้แก่ การเลือกตั้งที่มีการกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน เช่น จัดให้มีการเลือกตั้งทุก 6 ปี 4 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณีและแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยกำหนดให้ สส. อยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปี ปกติจึงต้องมีการเลือกตั้ง สส. ทุก 4 ปี
3. หลักการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ได้แก่ การเลือกตั้งที่ใช้กระบวนการตามกฎหมาย ไม่มีการละเมิดกฎหมาย เช่น การคดโกง การใช้อิทธิพลทางด้านการเงิน การใช้อำนาจหน้าที่บีบบังคับโดยมิชอบ ซึ่งอาจกระทำเพื่อประโยชน์ตนเองหรือหมู่คณะก็ได้
4. หลักการเลือกตั้งอย่างเสมอภาค ได้แก่ การใช้สิทธิในการเลือกตั้งแก่ประชาชนโดยเท่าเทียมกันไม่มีการกีดกันหรือกำจัดสิทธิบุคคล หรือให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เพราะความแตกต่างทางฐานะ เศรษฐกิจ สังคม เพศ ผิวพรรณ การศึกษา แต่ให้ทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้คนละหนึ่งเสียงและทุกเสียงต่างมีน้ำหนักเท่ากัน
5. หลักการออกเสียงทั่วไป ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าออกเสียงเลือกตั้งอย่างทั่วถึง เว้นแต่กรณีที่มี
ข้อจำกัดอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เช่น บุคคลที่มีอายุยังไม่ครบ 18 ปี บริบูรณ์ ผู้วิกลจริตหรือจิตบกพร่อง ผู้เป็นนักพรต นักบวช นักโทษ
เป็นต้น
6. หลักการลงคะแนนอย่างสะดวก ได้แก่ จัดกระบวนการให้ประชาชนลงคะแนนเสียงโดยสะดวกด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง
มีหน่วยลงคะแนนเลือกตั้งใกล้บ้าน ใช้บัตรลงคะแนนที่กาเครื่องหมายได้ง่าย มีเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายรัฐบาล และเอกชนร่วมกันอำนวยความสะดวก และประกาศผลได้รวดเร็ว

การเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม
ความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้งเป็นอันตรายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย พฤติกรรมที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมใน
การเลือกตั้งที่เคยปรากฏอยู่เสมอ มีดังนี้
1. การใช้เงินซื้อเสียง คือ การให้เงินแก่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง เพื่อให้ออกเสียงลงคะแนนให้แก่ตนซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือซื้อบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิออกเสียงเก็บไว้ชั่วคราว เพื่อไม่ไห้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีกลักฐานการแสดงตนในการออกเสียงลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายตรงกันข้าม
2. การใช้อิทธิพลทางราชการ ได้แก่ การสมคบกับเจ้าหน้าที่ของทางราชการในการโกรงการเลือกตั้ง เช่น การปลอมแปลงบัตรเลือกตั้ง ที่เรียกว่า “ไพ่ไฟ” การปลอมแปลงบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนน การยอมให้บัตรประชาชนของผู้อื่นเป็นหลักฐานการใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น

กฎหมายเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ คณะกรรมการเลือกตั้ง ย่อว่า กกต. เป็นผู้จัดดำเนินการ และควบคุมการเลือกตั้งทุกประเภท

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน กับกรรมการอื่นอีก 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามคำกราบบังคมทูลฯ และนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามกระบวนการสรรหาซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (โดยประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง)

คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1. ควบคุมและดำเนินการ หรือจัดให้มีการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ
2. จัดให้มีการทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลักฐานทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แยกเป็นรายจังหวัดไว้เป็นประจำ และดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนทราบล่วงหน้า
3. ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา การออกเสียงประชามติ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
4. มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมายตามข้อ 3
5. แต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด บุคคล คณะบุคคล หรือผู้แทนองค์การเอกชน และคณะอนุกรมการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมาย ตามข้อ 3
6. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และค่าตอบแทน รวมทั้งวิธรปฏิบัติงานของบุคคลหรือคณะบุคคลตามข้อ 5
7. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขอให้รับรอง การรับรอง การเพิกถอนการรับรอง และการปฏิบัติงานขององค์การเอกชน
8. รับรองให้องค์การเอกชนที่ยื่นคำขอเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งและแต่งตั้งผู้แทนขององค์การเอกชนที่ได้รับรองแล้วเข้าช่วยดูแลตรวจสอบการเลือกตั้ง และรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบในกรณีที่พบเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
9. สั่งให้หน่วยราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามอำนาจหน้าที่ หรือให้หน่วยงานดังกล่าวมีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐปฏิบัติการอันจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติ
10. ออกระเบียบวิธีการสอบสวนและวินิจฉัยขาดตามข้อ 11
11. สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
12. เมื่อเห็นว่ามีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มีอำนาจแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนและมีอำนาจดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องในทางเพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง
13. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาเกี่ยวกับการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือออกเสียงประชามติตามข้อ 14
14. สั่งให้เลือกตั้งใหม่หรือออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง หรือสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามตินั้นๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
15. ประกาศผลการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติ
16. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี และข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ระบบการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของนักการเมือง และประสิทธิภาพของระบบการเมืองนั่นเอง การเลือกตั้งระบบใหม่เป็นการเลือกตั้งแบบผสม คือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 แบบ ได้แก่ แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีผู้แทนราษฎร 400 คน และแบบสัดส่วนซึ่งมีผู้แทนราษฎร 80 คน

สมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติให้มีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกโดยตรงจากประชาชน 76 คน และมาจากการสรรหา 74 คน โดยกำหนดให้มีวุฒิสมาชิกจำนวน 150 คน

ภายในที่เลือกตั้ง : คูหาเลือกตั้ง คือ ที่สำหรับกากบาทในบัตรเลือกตั้ง
เขตเลือกตั้ง หมายถึง อาณาบริเวณที่คณะกรรมการเลือกตั้ง กำหนดขึ้นในแต่ละจังหวัด จังหวัดหนึ่ง ๆ อาจมีเขตเลือกตั้งเดียวหรือหลายเขตก็ได้
หน่วยเลือกตั้ง หมายถึง อาณาบริเวณที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (กกต. เขต)กำหนดขึ้น โดยใช้เขตหมู่บ้าน เป็นเขตหน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรุงเทพมหานคร เขตเทศบาล เขตสุขาภิบาล หรือเขตชุมชนหนาแน่น อาจใช้แนวถนนหรือซอยเป็นแนวเขตได้ และให้หน่วยเลือกตั้ง 1 หน่วย สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 800 คนเป็นประมาณ ความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นแต่ละเขตเลือกตั้งจึงประกอบด้วยหลายหน่วยเลือกตั้ง
ที่เลือกตั้ง หมายถึง บริเวณที่ใช้ลงคะแนนเลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้งโดยจัดให้ 1 หน่วยเลือกตั้งมี 1 ที่เลือกตั้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ประชาชนเข้าออกสะดวก มีป้ายหรือเครื่องหมายเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณของที่เลือกตั้ง โดยปกติที่เลือกตั้งจะต้องอยู่ในหน่วยเลือกตั้ง แต่เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะอยู่นอกเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้ แต่ต้องอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
คูหาเลือกตั้ง หมายถึง ที่สำหรับกากบาทในบัตรเลือกตั้ง
ที่เลือกตั้งกลาง หมายถึง ที่เลือกตั้งซึ่ง กกต.เขต กำหนดขึ้นสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาปฏิบัติราชการในเขตนั้น และไม่
สามารถไปใช้สิทธิในเขตของตนได้

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.
1. ประกาศกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้ง และวันยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมือง กำหนดจำนวน สว. หรือจำนวน
สส.(แบบแบ่งเขต) ของแต่ละจังหวัด และจำนวนเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด
2. แต่งตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (ผอ.เขต) เขตละ 1 คน และกรรมการเลือกตั้ง(กกต.เขต) เขตละไม่น้อยกว่า 9 คน
3. กำหนดวิธีปฏิบัติหน้าที่ของ ผอ.เขต และกกต.เขต
4. กำหนดค่าตอบแทน ผอ.เขต กกต.เขต กรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วย (กก.ประจำหน่วย) กรรมการนับคะแนน และ
ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง
5. กำหนดวิธีแจ้งเหตุของผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง
6. ประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละคน และของพรรคการเมือง
7. หารือกับพรรคการเมืองเพื่อกำหนดวิธีการในการให้รัฐสนับสนุนการเลือกตั้ง เช่น สถานที่ปิดประกาศ การพิมพ์ และ
จัดส่งเอกสาร การโฆษณา หาเสียงทางวิทยุและโทรทัศน์
8. สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติหรือระงับการกระทำใดที่เห็นว่าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ให้เป็นคุณ หรือโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง โดยแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นสั่งให้พ้นจากหน้าที่เป็นการชั่วคราว หรือสั่งให้ประจำกระทรวง ทบวง กรม ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอในหรือนอกเขตเลือกตั้ง หรือห้ามเข้าเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่ง
9. ประกาศกำหนดลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่นอกเขตเลือกตั้ง หรืออยู่ต่างประเทศ
10. กำหนดวิธีนำบัตรเลือกตั้งใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้ง
11. กำหนดวันลงคะแนนใหม่ของหน่วยเลือกตั้งที่ กก. ประจำหน่วยสั่งงดลงคะแนนเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย เช่น จลาจล
น้ำท่วม ไฟไหม้
12. กำหนดวิธีให้ กก.ประจำหน่วย ทำบัตรที่เหลือ (หลังจากปิดลงคะแนน) เป็นบัตรที่ใช้ลงคะแนนไม่ได้
13. กำหนดวิธีทำเครื่องหมายเพื่อป้องกันการเปิดหรือเปลี่ยนหีบบัตรระหว่างการนำหีบบัตรไปยังสถานที่นับคะแนน
14. ประกาศกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับ การเปิดหีบบัตรเลือกตั้ง และการนับคะแนน
15. กำหนดวิธีประกาศผลการนับคะแนน วิธีเก็บบัตรเลือกตั้ง และการเก็บรักษาเอกสาร หลักฐาน
16. ประกาศผู้ได้รับเลือกตั้ง

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จว.)
ในการเลือกตั้ง สส. หรือ สว. แต่ละครั้ง กกต. มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด และคณะอนุกรรมการ โดยใช้วิธีสรรหาจากภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นเป็นหลัก และเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมีจำนวนจังหวัดละไม่เกิน 11 คนและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ดังต่อไปนี้
1. อำนวยการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ที่กระทำภายในจังหวัดนั้น
2. เสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
3. รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ
4. เสนอแนะต่อคณะกรรมการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาแต่งตั้งบุคคล ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ ตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดไว้
5. ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (กกต.เขต)
ในการเลือกตั้ง ส.ส หรือ ส.ว แต่ละครั้ง กกต. เป็นผู้แต่งตั้ง กกต.เขตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. ประกาศ ให้มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1. กำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง และสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง
2. แต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กก.ประจำหน่วย) จำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน ประกอบด้วย ประธาน 1 คน และกรรมการ 2 คน ที่เหลือเป็นผู้แทนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครในเขตนั้นทำหน้าที่เกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง ยกเว้นการเลือกตั้ง สว. ไม่มีผู้แทนพรรค
3. แต่งตั้งคณะกรรมการนับคะแนน (กก.นับคะแนน) จำนวนตามสมควร ทำหน้าที่นับคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งในสถานที่นับคะแนนของเขต
4. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ของ กก.ประจำหน่วย และ กก.นับคะแนน
5. จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง และ
(1) ปิดประกาศไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เขตชุมชนหนาแน่น และที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วันก่อนวันเลือกตั้ง
(2) แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้านให้ทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน
6. พิจารณาคำร้องขอมีชื่อ หรือถอนชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และหากมีการยื่นคำร้องต่อศาล ก็ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
7. กำหนดที่เลือกตั้งกลาง สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่นอกเขตเลือกตั้ง
8. ดูแลการนับคะแนน และสลักหลังบัตรเสีย
9. ประกาศผลนับคะแนน จำนวนบัตรทั้งหมด จำนวนบัตรที่ใช้ จำนวนบัตรเสีย จำนวนบัตรเหลือ และทำรายงานผลการนับคะแนน ส่งไปยัง กกต.

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)
คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการให้การเลือกตั้งดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อยบริสุทธิ์ยุติธรรม ดังต่อไปนี้
1. ในวันเลือกตั้ง ถ้าถึงเวลาเปิดการลงคะแนนแล้วมี กก.ประจำหน่วยมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึง 7 คน ให้คณะ กก. ประจำหน่วยที่อยู่ในขณะนั้นแต่งตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจนครบ 7 คน
2. ก่อนเปิดให้มีการลงคะแนน ให้นับบัตรเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยนั้น และปิดประกาศจำนวนบัตรเลือกตั้งที่มีอยู่ทั้งหมดในที่เลือกตั้งนั้นไว้ในที่เปิดเผย
3. เมื่อถึงเวลาเปิดการลงคะแนน ให้เปิดหีบบัตรในที่เปิดเผย แสดงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่ ณ ที่เลือกตั้งนั้นเห็นว่าหีบบัตรเลือกตั้งเป็นหีบ ว่างเปล่า และปิดหีบตามวิธีที่ กกต. กำหนด แล้วบันทึกการดำเนินการดังกล่าวโดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 คนที่อยู่ ณ ที่เลือกตั้งนั้น(ถ้ามี) ลงลายมือชื่อในบันทึกด้วย
4. เมื่อเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย หรือเหตุสุดวิสัยอื่นๆ ให้ประกาศงดลงคะแนนแล้วรายงานต่อ กกต.
5. เมื่อถึงเวลาปิดการลงคะแนน ให้ประกาศปิดการลงคะแนน และงดจ่ายบัตรเลือกตั้ง ทำเครื่องหมายในบัตรที่เหลืออยู่ให้เป็นบัตรที่ใช้ลงคะแนนไม่ได้ แล้วปิดช่องใส่บัตรตามวิธีที่ กกต. กำหนด
6. ทำรายงาน เกี่ยวกับ
(1) จำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมด
(2) จำนวนผู้มาแสดงตนและรับบัตรเลือกตั้ง
(3) จำนวนบัตรที่เหลือ
แล้วให้ กก. ประจำหน่วยที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นทุกคนลงลายมือชื่อไว้ และประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่ในที่นั้นทราบ
7. ทำเครื่องหมายที่หีบบัตร เพื่อป้องกันการเปิดหรือเปลี่ยนหีบบัตร โดยลงลายมือชื่อ กก. ประจำหน่วยทุกคนกำกับไว้ตามวิธีที่ กกต. กำหนด
8. กก.ประจำหน่วยไม่น้อยกว่า 5 คนนำหีบบัตรเลือกตั้งและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งโดยเร็ว กก. ประจำหน่วยผู้ใดไม่อาจร่วมไปด้วยได้ ให้จดแจ้งเหตุผลไว้ในรายงานนำส่งหีบบัตร

บทบาทของประชาชนในการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสรรหาผู้ปกครองหรือรัฐบาลโดยสันติวิธี และมีคุณประโยชน์ 2 ประการ คือ ประการแรกสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจ รัฐบาลหรือผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งสามารถกระทำการต่าง ๆ ในนามประชาชนได้อย่างเต็มที่และมีสิทธิ์เพราะได้รับอำนาจโดยความนิยมของประชาชน ประการต่อมาเป็นกลไกแห่งการสืบทอดอำนาจโดยสันติ
การเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีอย่างสม่ำเสมอเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกผู้ปกครองที่ตนเห็นว่าดีและเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทนตน เป็นเรื่องของประชาธิปไตยโดยผู้แทน ขณะเดียวกันเป็นการยอมรับในตัวผู้แทนราษฎรเลือกไปพร้อมกับการมอบอำนาจให้ไปปกครองประเทศ ราษฎรจึงเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญของนักการเมืองที่ไปทำหน้าที่แทนประชาชน ในทางกลับกันผู้แทนที่ราษฎรเลือกเข้าไปทำหน้าที่ต้องระลึกเสมอว่า ต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพ มิฉะนั้นประชาชนจะไม่สนับสนุนให้โอกาสกลับเข้ามาทำหน้าที่อีก
การเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชน จะไปใช้สิทธิหรือไม่ใช้สิทธิก็ได้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการบัญญัติไว้ชัดเจนว่า "บุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ" มีการถกเถียงอภิปรายกันมากว่าผู้นอนหลับทับสิทธิ์ควรจะเสียสิทธิอะไร? บ้างว่าควรให้เสียสิทธิทางการเมือง แต่มีคนแย้งว่าผู้ไม่ไปเลือกตั้งคงไม่สนใจการเมือง ถ้าให้เสียสิทธิทางการเมืองก็คงไม่เป็นไร
คนทั่วไปอาจคิดว่าหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือการไปลงคะแนนในวันเลือกตั้งเท่านั้น แต่บทบาทหน้าที่ของประชาชนในการเลือกตั้งน่าจะมีมากกว่านี้คือ
1. 20 วันก่อนวันเลือกตั้ง ไปอ่านประกาศ ณ ที่ทำการ อบต. หรือที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ว่าเราอยู่หน่วยเลือกตั้งใด (ส่วนใหญ่ใช้เขตหมู่บ้านเป็นหน่วยเลือกตั้ง) ที่เลือกตั้งอยู่ที่ใด (ส่วนใหญ่ใช้ที่เดิม) เรามีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่
2. 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง เจ้าบ้านจะได้รับแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในทะเบียนบ้านของตน
3. ไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนวันเลือกตั้ง หากชื่อตกหล่นไปให้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (กกต.เขต)
4. ไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนวันเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถยื่นคำร้องต่อ กกต.เขต เพื่อให้ถอนชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งออกจากบัญชีรายชื่อ
5. จนถึงวันเลือกตั้ง เจ้าบ้านสามารถนำหลักฐานทะเบียนบ้านมาแสดงเพื่อถอนชื่อบุคคลที่ปรากฏชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าอยู่ในทะเบียนบ้านของตน แต่แท้ที่จริงไม่ได้อยู่ในทะเบียนบ้านของตน
6. ไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง ให้มาแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปลงคะแนนเลือกตั้งต่อบุคคลที่แต่งตั้งโดย กกต.เขต หรือ หรือทำเป็นหนังสือและมอบหมายให้บุคคลใดไปยื่นก็ได้
7. หลังวันเลือกตั้ง 30 วัน กกต. ประกาศรายชื่อผู้ไม่ไปลงคะแนนและไม่ได้แจ้งเหตุอันควรตาม(6) เพื่อให้ผู้ไม่ไปลงคะแนนมาแจ้งเหตุภายใน 60 วันนับแต่วันประกาศ คราวนี้ถ้าไม่ไปแจ้งเหตุอันควร จะต้องเสียสิทธิตามกฎหมายบัญญัติ

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง
1. มีสัญชาติไทย หากเป็นผู้แปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปีที่มีการเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ยกเว้นผู้ที่ย้ายที่อยู่ ผู้ไปปฏิบัติราชการนอกเขตเลือกตั้งและผู้อยู่ต่างประเทศ
4. ไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง
(1) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟืองไม่สมประกอบ
(2) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายศาล หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(4) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

สิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเจ้าบ้าน
1. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านมีสิทธิยื่นคำร้องต่อ กกต. เขต เพื่อขอเพิ่มชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ หรือขอให้ถอนชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ โดยยื่นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน ถ้าผู้ยื่นคำร้องยังไม่พอใจผลวินิจฉัยของ กกต. เขต ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้อีก
2. เจ้าบ้านมีสิทธินำทะเบียนบ้านมายืนยันต่อ กกต.เขต หรือ กก.ประจำหน่วย ว่าบุคคลตามที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อ ไม่มีอยู่จริงในทะเบียนบ้านของตนซึ่ง กกต.เขต หรือ กก. ประจำหน่วย จะมีคำสั่งถอนชื่อนั้นๆ ออกจากบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ข้อห้าม
ข้อห้ามสำหรับประชาชนทั่วไป
1. ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งใด พยายามลงคะแนนเลือกตั้งหรือลงคะแนนโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นที่มิได้มีไว้สำหรับตน หรือที่ปลอมแปลงขึ้น
2. ผู้ใดจงใจกระทำด้วยวิธีการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือทำด้วยประการใดๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้
3. ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดลงคะแนนโดยใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรเลือกตั้ง
4. ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งไม่มีอำนาจโยชอบด้วยกฎหมาย เปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ หรือทำให้ไร้ประโยชน์ หรือนำไปซึ่งหีบเลือกตั้ง หรือบัตรเลือกตั้ง หรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่ กก.ประจำหน่วยจัดส่งไปยังสถานที่นับคะแนน
5. ห้ามมิให้ใดจงใจขัดขวางมิให้มีการส่งหีบหรือสิ่งที่ใช้แทนหีบบัตรเลือกตั้ง ไปยังสถานที่นับคะแนน หรือกระทำเพื่อให้การส่งช้า
6. ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้ใดก็ตามกระทำการต่อไปนี้
(1) นำหีบบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง
(2) ทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดๆ ไว้ที่บัตรเลือกตั้ง
(3) นำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
(4) การทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อลงคะแนนโดยผิดไปจากความจริง
(5) กระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง
(6) กระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้อื่นใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวมิให้
ผู้มีสิทธิไปเลือกตั้ง ณ สถานที่เลือกตั้ง หรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนน หรือมิให้ไป ณ ที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้
(7) เรียกทรัพย์สินหรือผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อจะลงคะแนน หรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
7. ห้ามมิให้ผู้ใดขาย จำหน่าย แจกจ่าย หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้งในระหว่าง 18นาฬิกาของวันก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
8. ห้ามมิให้ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง

ข้อห้ามในการหาเสียงที่ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบ
ห้ามมิให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ใดก็ตาม กระทำการเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียง หรืองดเว้นการลงคะแนนเสียง ด้วยวิธีการต่อไปนี้
1. จัดทำ หรือให้ หรือเสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แก่ผู้ใด
2. ให้ หรือเสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม
3. โฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
4. เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
5. หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
6. จัดยานพาหนะให้ หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้ง หรือกลับโดยไม่เสียค่าโดยสาร หรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ ยกเว้นหน่วยงานของรัฐที่จัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
7. โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งไม่ว่าโดยวิธีการไดๆ ตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกาของวันก่อนเลือกตั้ง 1 วัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
8. จัดที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐ
9. จัดสรรเวลาออกอากาศทางวิทยุ หรือวิทยุโทรทัศน์ให้แก่พรรคการเมือง หรือกระทำกิจการอื่นที่ กกต. ประกาศกำหนดให้รัฐสนับสนุน

ข้อห้ามสำหรับเจ้าบ้าน
เจ้าบ้าน คือ ผู้มีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน
ห้ามมิให้เจ้าบ้านดำเนินการหรือยินยอมให้มีการดำเนินการแจ้งย้ายบุคคลใดเข้ามาในทะเบียนบ้านของตน โดยบุคคลนั้นมิได้มาอยู่อาศัยจริงเพื่อเจตนาทุจริตในการเลือกตั้ง

ข้อห้ามสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือโทษ แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เว้นแต่
1. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งเช่นนั้น หรือ
2. เป็นการแนะนำ หรือช่วยเหลือโดยมิได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่

ข้อห้ามของผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง
ห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวหรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง

ข้อห้ามสำหรับบุคคลต่างด้าว
ห้ามมิให้ผู้ที่มิได้มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์เก่การเลือกตั้งโดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการช่วยเหลือราชการ หรือเป็นการประกอบอาชีพตามปกติโดยสุจริต

ข้อห้ามสำหรับเจ้าพนักงานในการเลือกตั้ง
1. ห้ามมิให้ กกต., ผอ.เขต, กกต.เขต, กก.หน่วย, กก.นับคะแนน หรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง จงใจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำอื่นใดเพื่อขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งของ กกต. หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยสุจริต
2. ห้ามมิให้กรรมการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ใดจงใจนับบัตรเลือกตั้ง หรือคะแนนในการเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำประการใดโดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบโดยกฎหมาย ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือทำให้บัตรเสียเป็นบัตรที่ใช้ได้ หรืออ่านบัตรเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือทำรายงานการเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง
3. ห้ามมิให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดเผยแก่ผู้ใดในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน จนถึงเวลาการปิดลงคะแนนเลือกตั้งให้ทราบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดมาลงคะแนนหรือยังไม่มาลงคะแนน เพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด

ผู้ไม่ไปเลือกตั้งต้องแจ้งเหตุอันสมควร
ในการเลือกตั้งครั้งใด ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุนั้นต่อเจ้าหน้าที่ประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน ถ้าไม่เป็นเหตุอันสมควร เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้นั้นทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยทำเป็นหนังสือมอบให้ใครไปยื่นแทนก็ได้ หรือจะส่งทางไปรษณีย์ก็ได้

ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุ หรือแจ้งแล้วมิใช่เหตุอันสมควร
กกต.จะประกาศรายชื่อเมื่อครบ 30 วันหลังการเลือกตั้ง ซึ่งบุคคลที่มีรายชื่อสามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิต่อผู้ที่ กกต. มอบหมายภายใน 60 วัน นับแต่วันประกาศ และผู้ที่ กกต.มอบหมายจะพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 90 วัน นับจากวันสิ้นสุดของการแจ้งเหตุ
ผู้ไม่ไปใช้สิทธิและมิได้แจ้งเหตุ หรือแจ้งแล้ว แต่มิใช่เหตุอันสมควร จะเสียสิทธิ 8 ประการ ดังนี้
1. เสียสิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
2. เสียสิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องถิ่น
3. เสียสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
4. เสียสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องถิ่น
5. เสียสิทธิในการเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเสนอชื่อกฎหมาย
6. เสียสิทธิในการเข้าร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น
7. เสียสิทธิในการเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคล ตามกฎหมายประกอบด้วยรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
8. เสียสิทธิในการเข้าชื่อให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเพื่อถอดถอน สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

การลงคะแนนและการนับคะแนน
บัตรเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต กับแบบบัญชีรายชื่อ มีลักษณะแตกต่างกันเห็นได้ชัดเจน
หีบบัตร มีลักษณะที่มองเห็นภายในได้ง่าย
เวลาเลือกตั้ง 8.00 น.-15.00 น.
นับบัตร-เปิดหีบเปล่า กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะนับจำนวนบัตรทั้งหมดที่มีอยู่ และเปิดหีบเปล่าให้ดูก่อนเปิดการลงคะแนน เมื่อหมดเวลาลงคะแนน กก.ประจำหน่วยจะประกาศปิดการลงคะแนน นับบัตรที่เหลือ แล้วปิดช่องใส่บัตรของหีบบัตรเลือกตั้ง กก.ประจำหน่วยไม่น้อยกว่า 5 คน เป็นผู้นำหีบบัตร และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งนั้นโดยเร็ว

การลงคะแนนของผู้ที่ย้ายที่อยู่
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งย้ายที่อยู่ไปอยู่ในทะเบียนบ้านใหม่ไม่ถึง 90 วัน นับวันเลือกตั้ง ต้องกลับไปลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายไม่น้อยกว่า 90 วัน ตามหลักเกณฑ์ที่ กกต. ประกาศกำหนด

การลงคะแนนผู้ไปปฏิบัติราชการนอกเขตเลือกตั้ง
ผู้ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ปฏิบัติหน้าที่นอกเขต ให้แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งต่อ กกต.เขต ที่ตนมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ซึ่งเมื่อ กกต.เขตตรวจแล้ว จะแจ้งที่เลือกตั้งกลางให้ผู้นั้นไปลงคะแนน ตามหลักเกณฑ์ที่ กกต. ประกาศกำหนด

การลงคะแนนของผู้อยู่ต่างประเทศ
ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งใด แต่ในวันเลือกตั้งผู้นั้นมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร ต้องแจ้งความประสงค์ว่าตนต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลที่ กกต.แต่งตั้งซึ่งผู้แจ้งอาจลงคะแนนเสียง ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ในวันเลือกตั้ง หรืออาจใช้สิทธิทางไปรษณีย์ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต.ประกาศกำหนด หีบบัตรลงคะแนนที่ส่งมาจากต่างประเทศ หากมาถึงที่นับคะแนนหลังจากเริ่มนับคะแนนแล้วจะไม่มีการนับคะแนนในหีบบัตรนั้น

การลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง
ทหารประจำการ ตำรวจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือข้าราชการที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศนอกที่ตั้งปกติที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ ถ้าผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ชั้นผู้บังคับกองพันหรือเทียบเท่าขึ้นไปเห็นว่าบุคคลดังกล่าว ไม่อาจไปลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่มีสิทธิได้ ให้แจ้ง กกต.ทราบ เพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.เขตจะกำหนดที่เลือกตั้งกลางให้เป็นพิเศษตามหลักเกณฑ์ที่ กกต. ประกาศกำหนด

การนับคะแนน
1. การนับคะแนน ให้นับที่สถานที่นับคะแนนของแต่ละเขตเลือกตั้ง
2. เริ่มนับ เมื่อหีบบัตรมาครบถ้วนทุกหีบแล้ว และนับตามวิธีที่ กกต. กำหนด ซึ่งจะต้องทำโดยเปิดเผย มีการอ่านคะแนน เปิดโอกาสให้มีผู้คัดค้านหรือทักท้วงได้
3. วิธีนับ – ให้นับคะแนนบัตรที่มีเครื่องหมายว่าไม่ลงคะแนนเลือกตั้ง
– ไม่นับบัตรเสียเป็นคะแนน

การเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งซ่อม
การเลือกตั้งทั่วไป คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาเต็มทั้งสภา หลังจากสภาหมดอายุหรือมีการยุบสภาซึ่งกระทำพร้อมกันทุกจังหวัด ทุกเขตเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักร
สภาผู้แทนราษฎร มีอายุ 4 ปี เมื่อครบ 4 ปี นับจากวันเลือกตั้ง ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน นับจากกวันที่สภาหมดอายุ แต่ถ้าเป็นการยุบสภาเลือกตั้งทั่วไปภายใน 60 วัน
วุฒิสภา มีอายุ 6 ปี เมื่อครบ 6 ปี นับจากวันเลือกตั้ง ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 30 วัน นับจากกวันที่สภาหมดอายุ
การเลือกตั้งซ่อม คือ การเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลงเพราะเหตุอื่นที่ไม่ใช่การยุบสภาหรือสภาหมดอายุ เช่น ตาย ลาออก หรือขาดคุณสมบัติ เป็นต้น
ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งซ่อมจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาที่เหลืออยู่
การเลือกตั้งซ่อม อาจแยกได้เป็น 2 กรณีใหญ่ ๆ คือ
- เลือกตั้งซ่อมในบัญชีรายชื่อ ถ้าเป็นตำแหน่งที่ว่างเป็นตำแหน่งในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ไม่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่งตั้งพรรคการเมืองนั้นมาเป็นแทน
- เลือกตั้งซ่อมตำแหน่ง สว. หรือตำแหน่ง สส. แบบแบ่งเขต ถ้าตำแหน่งที่ว่างเป็นตำแหน่ง สว. หรือตำแหน่ง สส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้จัดให้มีการเลือกตั้งในเขตนั้นภายใน 45 วัน เว้นแต่อายุสภาจะเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน จะปล่อยให้ตำแหน่งว่างอยู่ได้จนหมดอายุของสภา โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้

ประชาชนถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติให้ประชาชนสามารถถอดถอนผู้แทนที่ตนเลือกได้ก่อนครบวาระ ถ้าเห็นว่าเป็นผู้ทุจริต ใช้อำนาจโดยไม่สุจริตทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือร่ำรวยผิดปกติ
- ประชาชน 2 หมื่นคน ถอดถอน สส. หรือ สว. ได้
ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน สามารถเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานวุฒิสภา โดยระบุว่าสมาชิกรัฐสภา (สส. หรือ สว.) ผู้ใดทุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติอย่างไร
วุฒิสภา จะส่งเนื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สอบสวน แล้ววุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 ให้สมาชิกสภาผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และถูกเพิกถอนสิทธิมิให้สมัคร หรือออกเสียงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาใด ๆ เป็นเวลา 5 ปี หรือถอดถอนสภาท้องถิ่นได้ เช่น สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เป็นต้น
- ประชาชน 3 ใน 4 ในเขตปกครองท้องถิ่น ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นได้
ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น เทศบาล กรุงเทพมหานคร จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง สามารถร้องขอให้มีการถอดถอนผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ เช่น นายกเทศมนตรี หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือถอดถอนสมาชิก สภาท้องถิ่นได้ เช่น สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เป็นต้น