ระหว่างยืนสนทนากับญาติผู้ใหญ่

ระหว่างยืนสนทนากับญาติผู้ใหญ่

ระหว่างยืนสนทนากับญาติผู้ใหญ่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพูดคุย หรือการสนทนาถือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก เพราะมนุษย์จัดเป็นสัตว์สังคมที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกัน มีมนุษยสัมพันธ์ มีการพูดคุย ยิ่งเราต้องสนทนากับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่าด้วยแล้ว การวางตัว คำพูดต่างๆ ยิ่งต้องระวังมากขึ้น ดังนั้น มารยาทในการสนทนากับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่าจึงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การสนทนาเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ดี มีความสบายใจเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย

มารยาทในการสนทนากับผู้ใหญ่

  1. ภาษา – ภาษาจัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญต่อการสื่อสาร เพราะหากเราใช้ภาษาที่สุภาพ มีหางเสียง ลงท้ายด้วยคำว่า ค่ะหรือครับ ก็จะน่าฟัง น่าสนทนามากขึ้น รวมถึงจังหวะ ความรวดเร็วก็ควรมีอย่างพอดี คือ ไม่เร็ว กระชั้นชิดจนเกินไป หรือการแบ่งวรรคตอนของคำไม่ถูกต้อง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากพูดผิดพลาดไปความหมายก็ผิดตามไปด้วย และหากเราสามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้การสนทนากับผู้ใหญ่ก็จะเป็นไปในทิศทางที่ดีอย่างแน่นอน
  2. บุคลิกภาพ – การสนทนากับผู้ใหญ่หากต้องยืนต่อหน้าซึ่งกันและกัน ควรยืนในท่าที่สบายๆ หลังเหยียดตรง แต่ลำตัวโค้งลงเล็กน้อยเพื่อ บ่งบอกว่าเราเป็นผู้น้อยถึงยืนคุยก็ไม่ค้ำศีรษะ รวมถึงการวางมือก็ควรวางทับการข้างใดข้างหนึ่ง โดยให้อยู่ในตำแหน่งหัวเข็มขัด (เอว) หรือต่ำกว่านั้น หากมีการใช้อวัจนภาษาในการสื่อสารเพื่อเพิ่มอรรถรสบ้างก็ควรใช้แล้วนำกลับมาประสานกันไว้ที่เดิม การวางขาก็ควรยืนตรงข้างหนึ่ง อีกข้างหย่อนหรือพักขาไปด้านหน้า หรือหากต้องนั่งสนทนากันโดยไม่มีโต๊ะคั่น ก็ควรนั่งในท่าที่สบาย หลังตรงไม่พิงพนัก มือประสานทับกันวางไว้ที่หน้าขา ในส่วนของขาควรวางแนบชิดกัน รวมถึงวางปลายเท้าให้เสมอกัน ไม่ควรนั่งไขว้ขาหรืออ้าขาจนเกินไป
  3. สายตา – แน่นอนว่าการสบตากันถือเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งการสบตาสามารถบ่งบอกได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกในขณะนั้น โดยสายตาที่ดี ควรเป็นสายตาที่ไม่ประสานจ้องมองตลอดเวลา อาจมีการหลบสายตามองต่ำกว่าระดับสายตาของผู้ใหญ่บ้าง หรือสบตาอย่างเป็นธรรมชาติบ้าง เพื่อไม่ให้แสดงถึงความก้าวร้าวจนเกินไป