ทำไมพระสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาในวันเข้าพรรษา

        แม้การเข้าพรรษา จะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษา ชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิ วิหาร และอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ ฯลฯ นอกจากนี้ บิดา มารดา มักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษา ในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง

          ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว

“เข้าพรรษา” มีความหมายว่า “พักฝน” พรรษา เพี้ยนมาจากคำในภาษาบาลีว่า “วสฺสา” (วัสสา) ซึ่งแปลว่า “ฝน” หรือในพระไตรปิฎกเรียกว่า “วัสสูปนายิกา” พอถึงวันเข้าพรรษา ตามพระวินัยระบุว่า พระภิกษุต้องจำพรรษา ไม่ออกจาริกไปตามที่ต่าง ๆ ตลอดช่วงฤดูฝน ชาวพุทธส่วนใหญ่มักสงสัยว่า ทำไมพระต้องเข้าพรรษา ท่านเข้าพรรษาเพื่ออะไร เพราะอะไร วันนี้ซีเคร็ตจึงขออาสาหาคำตอบเรื่องนี้มาให้เพื่อไขความกระจ่างแก่ชาวซีเคร็ตทุกท่าน และเกร็ดน่ารู้ที่ชาวพุทธไม่ควรพลาดค่ะ

 

ทำไมพระสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาในวันเข้าพรรษา

 

เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุเข้าพรรษา

ครั้งสมัยพุทธกาล เหล่าภิกษุต่างเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทุกฤดูกาล ไม่หยุดแม้กระทั่งฤดูฝน จึงทำให้ชนทั้งหลายต่างติเตียนพุทธบุตรว่า “เป็นถึงพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ทำไมเที่ยวจาริกไปในที่ต่าง ๆ ตลอดฤดูกาลเช่นนี้ ต้องเหยียบย่ำติณชาติ (หญ้า) ที่เขียวสด เบียดเบียนสัตว์ต่าง  ๆ เช่น สัตว์ที่มีอินทรีย์เดียว สัตว์ที่มีหลายชีวะ และสัตว์เล็ก ๆ ให้ตาย พวกปริพาชก (นักบวชในศาสนาเชน) ยังพักจาริกตลอดฤดูฝน และนกยังทำรังอยู่บนยอดไม้ ไม่บินไปไหนในช่วงฤดูฝนเช่นกัน” 

เมื่อพระภิกษุสงฆ์ได้ยินดังนั้นจึงนำความไปทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงบัญญัติให้พระภิกษุทั้งหลายหยุดจาริกไปในที่ต่าง ๆ ตลอดฤดูฝน (เข้าพรรษา)

 

พระต้นบัญญัติ

ใน วัสสานจาริกาปฏิกเขปาทิ กล่าวถึงพระภิกษุที่เป็นต้นเหตุให้เกิดพุทธบัญญัติเรื่องนี้คือ กลุ่มพระฉัพพัคคีย์ เป็นกลุ่มพระภิกษุ  6 รูป ได้แก่ พระปัณฑุกะ พระโลหิตกะ พระปุนัพพสุกะ พระอัสสชิ (คนละรูปกับปัญจวัคคีย์) พระเมตติยะ และ  พระภุมมชกะ  ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวสาวัตถี

เมื่อกลุ่มพระฉัพพัคคีย์ทราบก็จะไม่ยอมปฏิบัติตามพุทธบัญญัติ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติว่า หากพระภิกษุรูปใดไม่จำพรรษาในฤดูฝน ต้องอาบัติทุกกฏ (ทุกกฏ หมายถึง การทำไม่ดี เป็นชื่ออาบัติเบาอย่างหนึ่ง)

 

ทำไมพระสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาในวันเข้าพรรษา

 

อุบาสกไม่พอใจที่พระภิกษุเข้าพรรษา

หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งพระบัญญัติห้ามพระภิกษุจาริกไปที่อื่นตลอดฤดูฝนแล้ว เมื่อมีพุทธศาสนิกชนมานิมนต์ไปสวดพระสูตร (เจริญพระพุทธมนต์) ในงานบุญ งานมงคลต่าง ๆ จึงทำให้พระภิกษุไม่กล้ารับนิมนต์ จนกระทั่งอุบาสกคนหนึ่งชื่อว่า “อุเทน” สร้างวิหารขึ้นก็หมายนิมนต์พระมารับภัตตาหาร เมื่อส่งคนไปนิมนต์ พระภิกษุก็ไม่ยอมมา เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เช่นนั้นก็ไม่อยากต้องอาบัติทุกกฏ เมื่ออุเทนทราบก็ไม่พอใจ ติเตียนพุทธบุตรยกใหญ่ เรื่องนี้ทราบถึงพระภิกษุจึงนำเรื่องนี้ทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงบัญญัติว่า ช่วงเข้าพรรษา หากมีคนมานิมนต์ พระภิกษุสามารถไปสวดพระสูตรตามงานบุญ และงานมงคลต่าง ๆ ได้ แต่ต้องกลับมายังที่จำพรรษาภายใน 7 วัน

 

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป >>>

หน้า 1 2

ธรรมะ สุขใจ

Dhamma secret Secret Magazine Thailand กลุ่มพระฉัพพัคคีย์ ซีเคร็ต พระต้นบัญญัติ พระวินัย วันเข้าพรรษา เข้าพรรษา

ทำไมพระสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาในวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา ทำไมต้องมี?


อนุชานามิ ภิกขะเว อุปะคันตุง    แปลว่า  "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา"

ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องการเข้าพรรษาไว้ เกิดเหตุการณ์กลุ่มพระสงฆ์ฉัพพัคคีย์พากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ทำให้ชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน

ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เป็นเวลา 3 เดือน


และพระสงฆ์ที่อธิษฐานรับคำเข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น"ขาดพรรษา" และต้องอาบัติทุกกฎเพราะรับคำนั้น รวมทั้งพระสงฆ์รูปนั้นจะไม่ได้รับอานิสงส์พรรษา ไม่ได้อานิสงส์กฐินตามพระวินัย และทั้งยังห้ามไม่ให้นับพรรษาที่ขาดนั้นอีกด้วย


ทำไมพระสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาในวันเข้าพรรษา

ความสำคัญของการเข้าพรรษา


1. ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์

2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน

3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา

4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา

ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์


การเข้าพรรษาตามพระวินัยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท  คือ


1. ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา)

คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

2. ปัจฉิมพรรษา

คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน

การศึกษาพระธรรมวินัยของพระสงฆ์วันเข้าพรรษา


ในอดีต การเข้าพรรษามีประโยชน์แก่พระสงฆ์ในด้านการศึกษาพระธรรมวินัย โดยการที่พระสงฆ์จากที่ต่าง ๆ มาอยู่จำพรรษารวมกันในที่ใดที่หนึ่ง พระสงฆ์เหล่านั้นก็จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายองค์ความรู้ตามพระธรรมวินัยให้แก่กัน


มาในปัจจุบัน การศึกษาพระธรรมวินัยในช่วงเข้าพรรษาในประเทศไทยก็ยังจัดเป็นกิจสำคัญของพระสงฆ์ โดยพระสงฆ์ที่อุปสมบททุกรูป แม้จะอุปสมบทเพียงเพื่อชั่วเข้าพรรษาสามเดือน ก็จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติม

ปัจจุบันพระธรรมวินัยถูกจัดเป็นหลักสูตรของคณะสงฆ์ ในหลักสูตร พระธรรม จะเรียกว่า ธรรมวิภาค พระวินัย เรียกว่า วินัยมุข รวมเรียกว่า "นักธรรม" ชั้นต่าง ๆ โดยจะมีการสอบไล่ความรู้พระปริยัติธรรมในช่วงออกพรรษา เรียกว่า การสอบธรรมสนามหลวง ในช่วงวันขึ้น 9 - 12 ค่ำ เดือน 11 (จัดสอบนักธรรมชั้นตรีสำหรับพระภิกษุสามเณร) และช่วงวันแรม 2 - 5 ค่ำ เดือน 12 (จัดสอบนักธรรมชั้นโทและเอก สำหรับพระภิกษุสามเณร)


ปัจจุบันการศึกษาเฉพาะในชั้นนักธรรมตรีสำหรับพระนวกะ หรือพระบวชใหม่ จะจัดสอบในช่วงปลายฤดูเข้าพรรษา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่จะลาสิกขาบทหลังออกพรรษา จะได้ตั้งใจเรียนพระธรรมวินัยเพื่อสอบไล่ให้ได้นักธรรมในชั้นนี้ด้วย


ทำไมพระสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาในวันเข้าพรรษา

ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์


แม้การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรง ที่จะละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม แต่ว่าในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้น

อาจมีกรณีจำเป็นบางอย่าง ทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษาต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างที่อื่น พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณี ๆ ไป ตามที่ทรงระบุไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนาหรือการอุปัฏฐานบิดามารดา แต่ทั้งนี้ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน

การออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันเช่นนี้เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" ซึ่งเหตุที่ทรงระบุว่าจะออกจากที่จำพรรษาไปได้ชั่วคราวนั้นเช่น

1. การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย เป็นต้น กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 และมารดาบิดา

2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5

3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือ การไปทำสังฆกรรม เช่น สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น

4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล ฟังเทสนาธรรมได้ กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ ก็จะไปค้างไม่ได้.


ซึ่งหากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัย ก็ถือว่า ขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้)


ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องไปได้ และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก ก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะ แต่ต้องกลับมาภายในเจ็ดวัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎดังกล่าวแล้ว


ทำไมพระสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาในวันเข้าพรรษา


ที่มาวันเข้าพรรษาไทย

สันนิษฐานว่าเริ่มมีมาแต่แรกที่รับพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาในดินแดนประเทศไทย ซึ่งอาจมีปฏิบัติประเพณีนี้มาตั้งแต่สมัยทวาราวดี แต่มาปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าชาวไทยได้ถือปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศลในเทศกาลเข้าพรรษาในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังปรากฏความในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ด้านที่ 2) ดังนี้

... คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มันโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทังชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทังหลายทังผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อโอกพรรษากรานกฐินเดือนณื่งจี่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัตกฐินเถิงอไรญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียง เรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวลาน ดมบังคมกลองด้วยเสียงพาทย์เสียงพีณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก ...

วันเข้าพรรษาในประเทศอื่น ๆ


ในปัจจุบัน มีพระสงฆ์จากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะพระสงฆ์จากประเทศไทย พม่า ศรีลังกา และบางส่วนของญี่ปุ่น จะไปทำพิธีวันเข้าพรรษาที่ประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น พุทธคยา เมืองราชคฤห์สารนาถ เมืองกุสินารา  สวนลุมพินี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองสาวัตถี และกรุงนิวเดลี เป็นต้น ขณะเดียวกันในส่วนอื่น ๆ ของประเทศอินเดีย ต่างก็ถือว่าวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นการถือศีลและปฏิบัติธรรมไปจนครบ 3 เดือน และกำหนดให้วันเข้าพรรษาให้เป็นวันเริ่มการทำความดีเช่นเดียวกัน


สำหรับในประเทศอินเดียนั้น ไม่ได้กำหนดให้วันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศเหมือนกับวันวิสาขบูชา ส่วนประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาให้เท่าเทียมกับวันวิสาขบูชาด้วย

ทำไมพระสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาในวันเข้าพรรษา

การถวายผ้าอาบน้ำฝน


ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน

ทำไมพระสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาในวันเข้าพรรษา

แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งามและเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย "ผ้าวัสสิกสาฏก" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ทำไมพระสงฆ์ต้องหยุดจำพรรษาในวันเข้าพรรษา

การถวายเทียนพรรษา

การถวายเทียนเพื่อจุดตามประทีปเป็นพุทธบูชานั้น มาจากอานิสงส์การถวายเทียนเพื่อจุดเป็นพุทธบูชา ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎกและในคัมภีร์อรรถกถา ว่าพระอนุรุทธะเถระ เคยถวายเทียนบูชาทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย รวมถึงได้เป็นผู้มีจักษุทิพย์ (ตาทิพย์) ด้วย ด้วยการพรรณาอานิสงส์ดังกล่าว อาจทำให้ชาวพุทธนิยมจุดประทีปเป็นพุทธบูชามานานแล้ว

Cr. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, sanook.com

ถ้าภูมิต้านทานน้อย นอนไม่หลับ เส้นเลือดตีบ แนะนำ..โปร-เอ็กบี Pro-xB.. สกัดจากธรรมชาติ เห็นผลดีขึ้นตั้งแต่สัปดาห์แรก..ผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดัน ทานได้..