องค์การอนามัยโลก ผู้ก่อตั้ง

ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,583 view

เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ดร. Yonas Tegegn ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ประจำประเทศไทยคนใหม่ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นสารแต่งตั้งในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่     

ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวต้อนรับ ดร. Tegegn แสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งและกล่าวอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งในไทย รวมทั้งย้ำการที่ไทยให้ความสำคัญกับประเด็นการทูตเพื่อสาธารณสุข เห็นได้จากการเข้าร่วมในกรอบข้อริเริ่มนโยบาย  ต่างประเทศและการสาธารณสุขระดับโลก (Foreign Policy and Global Health Initiative - FPGH) โดยไทยพร้อมผลักดันประเด็นการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage - UHC) ร่วมกับ  WHO ภายใต้กรอบความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้มีหนังสือถึงนาย Ban Ki-moon เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานและการผลักดันประเด็นการประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค และแสดงความพร้อมของไทยที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับประเทศอื่น ๆ

รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานด้านสาธารณสุขของกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา- แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) โดยมีบทบาทสำคัญในการจัดฝึกอบรมด้านสาธารณสุขให้แก่ประเทศสมาชิก รวมทั้งยังมีบทบาทแข็งขันในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region - GMS)

ดร. Tegegn กล่าวขอบคุณรองนายกรัฐมนตรีฯ ที่ได้ให้เข้าเยี่ยมคารวะและชื่นชมบทบาทของไทยในการเข้าร่วมในกรอบ FPGH และการดำเนินโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และย้ำความพร้อมของตนและสำนักงาน WHO ที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาการสาธารณสุขของไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

องค์การอนามัยโลก ผู้ก่อตั้ง

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization)

          ในการประชุมนานาชาติ เพื่อร่างกฎบัตรสหประชาชาติในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ณ เมืองซานฟรานซิสโกทุกฝ่ายมีความเห็นต้องกันว่า สหประชาชาติควรมีองค์การอนามัยระหว่างประเทศด้วย และในปีต่อมาได้มีการประชุมอนามัยโลก ณ กรุงนิวยอร์ก เพื่อร่างธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกขึ้น ในขณะที่รอการให้สัตยาบันของประเทศต่างๆ ได้มีการตั้งคณะกรรมการชั่วคราวขึ้น ทำหน้าที่ก่อตั้งองค์การอนามัยโลกให้สอดคล้องกับธรรมนูญที่ได้ร่างไว้ เมื่อประเทศต่างๆ ให้สัตยาบันเพียงพอแล้วองค์การอนามัยโลกก็ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑
          องค์การอนามัยโลกเป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญขององค์การฯ ทั้งนี้โดยมิคำนึงว่าประเทศเหล่านั้นจะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติหรือไม่ หน้าที่ขององค์การอนามัยโลกตามธรรมนูญมีดังนี้ คือ
          ๑. ช่วยเหลือรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในการพัฒนาและปรับปรุงบริการทางแพทย์และสาธารณสุข
          ๒. ส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานการสอนและการฝึกอบรมในวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุข และวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
          ๓. ให้ข้อมูลข่าวสาร การปรึกษาแนะนำ และความช่วยเหลือในด้านการแพทย์และสาธารณสุข
          ๔. ให้การส่งเสริมการพัฒนาในด้านโภชนาการการเคหะ สุขาภิบาล นันทนาการ  สภาพการทำงานและในเรื่องอื่นๆ ของการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับองค์การชำนัญพิเศษอื่นๆ ของสหประชาชาติ
          ๕. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาชีพที่มีส่วนในการสร้างความก้าวหน้าด้านการแพทย์และสาธารณสุข
          ๖. ส่งเสริมอนามัยและสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ตลอดจนการดำรงชีวิตที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของบุคคลโดยทั่วไป
          ๗. ส่งเสริมกิจกรรมด้านสุขภาพจิต ทั้งนี้โดยเฉพาะในกลุ่มของบุคคลที่มีความบกพร่องในด้านมนุษยสัมพันธ์
          ๘. ส่งเสริมและดำเนินการวิจัย เพื่อการพัฒนาในด้านการแพทย์และสาธารณสุข
          ๙. ศึกษา  และรายงานวิธีการและเทคนิคด้านบริหารและสังคมที่มีผลกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข  โดยร่วมมือกับองค์การชำนัญพิเศษต่างๆ ของสหประชาชาติ

          งานขององค์การอนามัยโลก ดำเนินการภายใต้นโยบายและการปกครองของสมัชชาอนามัยโลก ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิก ซึ่งใน พ.ศ.๒๕๒๖ มี ๑๕๗ ประเทศ และเพื่อเป็นการกระจายการปฏิบัติงานขององค์การฯ ให้ทั่วถึงส่วนต่างๆ ของโลกสมัชชาอนามัยโลกในการประชุมสมัยที่ ๑ ได้มีมติกำหนดพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น ๖ ภูมิภาค คือ
          ๑. ภูมิภาคอเมริกา มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี.
          ๒. ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก มีสำนักงานอยู่ ณ เมืองอเล็กซานเดรีย
          ๓. ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงนิวเดลี
          ๔. ภูมิภาคแอฟริกา มีสำนักงานอยู่ ณ เมืองบราซาวิลล์
          ๕. ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงมะนิลา
          ๖. ภูมิภาคยุโรป มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

          สำหรับประเทศไทย  อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด  ๑๑ ประเทศ คือ ประเทศบังคลาเทศ ประเทศพม่า ประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนเกาหลีประเทศสาธารณรัฐมัลดิฟส์ ประเทศมองโกเลีย ประเทศเนปาล ประเทศศรีลังกา ประเทศภูฏาน และประเทศไทย
          เพื่อให้มีการร่วมมือประสานงานกับประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด องค์การอนามัยโลกยังได้ตั้งสำนักงานไว้ตามประเภทต่างๆ โดยมีผู้ประสานแผนงานขององค์การอนามัยโลกเป็นหัวหน้าของสำนักงานอีกด้วย