ก นอะไรแล ว กล นจ ม เป นกล นน น

การนอนกรนอาจ เป็นอันตรายได้ หากเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลง หรือหยุดหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง เด็กเมื่อนอนแล้วหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจอุดตัน ก็จะนอนกระสับกระส่าย ตื่นนอนบ่อย ทำให้การนอนหลับตอนกลางคืนไม่มีคุณภาพ, นอนหลับได้ไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก

Obstructive Sleep Apnea Syndrome (OSAS)

คือ ความผิดปกติของการหายใจที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เกิดจากทางเดินหายใจที่มีการอุดกั้นบางส่วน หรืออุดกั้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ ขณะหลับ ทำให้เกิดการรบกวนต่อระบบการระบายลมหายใจ และระบบการนอนหลับ

อัตราการเกิดพบประมาณ 2% ของประชากร พบในเด็กผู้หญิงพอ ๆ กับเด็กผู้ชาย จะเห็นได้ว่าลักษณะแบบไม่เป็นอันตรายพบได้บ่อยกว่ามาก อย่างไรก็ตามแพทย์มีความจำเป็นจะต้องตรวจวินิจฉัยเด็กที่ในลักษณะแบบมีอันตราย หรือมีความผิดปกติของการหายใจ และให้การรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

เด็กที่มีโอกาสเสี่ยง (OSAS) ได้แก่

– มีต่อมทอนซิล และ/หรือ ต่อมอดีนอยด์โต

– เด็กที่อ้วนมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน – มีความผิดปกติของโครงสร้างของระบบทางเดินหายใจ เช่น มีกรามเล็ก, มีขนาดทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ

– มีความผิดปกติของสมองที่ทำให้การคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น Cerebral Palsy

– เด็กที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุต่าง ๆ

– เด็กที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม

– เด็กที่มีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง

อาการที่น่าสงสัย

– มีอาการหายใจติดขัด, หายใจลำบาก หรือหยุดหายใจเป็นพัก ๆ นอนกระสับ กระส่าย, เหงื่อออกมากเวลานอน, ตื่นนอนกลางดึกบ่อย ๆ

– ปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่เคยควบคุมได้มาก่อน

– อ้าปากหายใจ มีปัญหาด้านการเรียน, เรียนได้ไม่ดี

– มีปัญหาทางพฤติกรรม, สมาธิสั้น, อยู่นิ่งเฉยไม่ได้

– ระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ

– ง่วงเหงาหาวนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน

– มีความดันโลหิตสูง

การวินิจฉัยทำอย่างไร

ในปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาภาวะของการเกิดโรคได้ โดยการทดสอบการนอนหลับ (Pneumogram) การทดสอบการนอนหลับที่เป็นมาตรฐานเป็นการทดสอบข้ามคืนใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง เด็กจะมานอนค้างคืนที่ห้องทำการทดสอบที่จัดเตรียมไว้ ผู้ปกครองสามารถมาอยู่เฝ้าได้

การรักษา

หากพบว่าเด็กมีภาวะของโรคที่เป็นอันตรายก็จำเป็นต้องมีการรักษา การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ

การตัดต่อม Adenoid และ Tonsils ในรายที่มีต่อม Adenoid และ/หรือ Tonsils โต การตัดต่อมออกพบว่าช่วยรักษาการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับได้ถึง 75-100% จึงถือเป็นการรักษาหลังในผู้ป่วยกลุ่มนี้

ในผู้ป่วย ซึ่งมีการอุดตันของทางเดินหายใจขณะหลับเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ทางเดินหายใจอุดตันตอนหายใจเข้า หรือในผู้ป่วยที่ตัดต่อมทอนซิลแล้วยังมีปัญหา หรือในรายที่มีปัญหาสุขภาพทางด้านอื่น ไม่สามารถผ่าตัดได้จำเป็นจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อป้องกันการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับ (CPAP หรือ BiPAP)

การรักษาโดย การผ่าตัด เพื่อแก้ความผิดปกติของโครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบกว่าปกติเป็น การทำ Craniofacial Surgery, Uvulopharyngopalatoplasty.

การรักษาอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดปัญหาการหายใจที่ผิดปกติขณะหลับเป็นโรคภูมิแพ้, การควบคุมน้ำหนัก

ภาวะแทรกซ้อน

มีชนิดที่มีการอุดกั้นของทางเดิน หายใจร่วมด้วยในขณะหลับ ทำให้มีออกซิเจนในเลือดลดลง ดังที่กล่าวมาแล้ว หากมิได้รับการรักษา หรือแก้ไขอย่างทันท่วงทีจะทำให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ, ระดับการเรียนรู้ต่ำลง, มีสมาธิสั้น, Active มากไม่อยู่นิ่ง, ง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวัน, ปัสสาวะรดที่นอน, ความดันโลหิตสูง, ความดันเลือดในปอดสูง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานล้มเหลวได้

รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ, RPSGT American Board of Sleep Medicine Certified international sleep specialist

นอนกรน เป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก เกิดขึ้นได้ทุกเพศและทุกวัย เสียงกรนเป็นอาการแสดงของการสั่นสะเทือนเนื้อเยื่อที่บ่งบอกว่า กำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจเป็นจมูก คอหอย โคนลิ้น หรือส่วนของกล่องเสียง ซึ่งมีการหย่อนตัวลงเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ

นอนกรนมีหลายชนิดและมีหลายระดับความรุนแรง นอกจากจะสร้างความรำคาญจนอาจเป็นปัญหาทางครอบครัวหรือสังคม หรือเสียบุคลิกแล้ว นอนกรนอาจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น อุบัติเหตุจากความง่วงนอน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนี้ในเด็กอาจทำให้มีผลเสียต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา อาจทำให้ผลการเรียนแย่ลง มีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ปัสสาวะรดที่นอน หรือมีปัญหาต่อคนรอบข้างได้

ต่อไปนี้เรามีคำแนะนำ 5 วิธี แก้นอนกรน ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ได้แก่

1. ลดน้ำหนัก เนื่องจากความอ้วน ทำให้เนื้อเยื่อไขมันแทรกตัวบริเวณคอหอยและทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้มีความหนามากขึ้น และขวางทางเดินหายใจ จึงทำให้เวลานอนหย่อนตัวง่ายขึ้น และเกิดการสั่นสะเทือนจนมีเสียงกรน ดังนั้นการลดน้ำหนักในคนอ้วนจึงอาจช่วยลดเสียงกรนได้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตามคนนอนกรนหลายราย อาจมีน้ำหนักปกติ หรือไม่ใช่คนอ้วน ดังนั้นผลการลดเสียงกรนจึงอาจมีจำกัด

2. ปรับท่านอน เนื่องจากเวลานอนหงาย ลิ้นอาจตกลงไปด้านหลัง และบางครั้งอาจมีการบวมของทางเดินหายใจมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากแรงโน้มถ่วง และทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น เกิดเสียงกรนได้ ดังนั้นการนอนตะแคงหรือนอนศีรษะสูงขึ้นอาจช่วยให้เสียงกรนลดลงได้บ้าง อย่างไรก็ตามคนนอนกรนหลาย ๆ รายอาจยังมีอาการกรนอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากอาจมีสาเหตุการกรนจากอย่างอื่นร่วมด้วย

3. งดแอลกอฮอล์หรือยาบางชนิดก่อนนอน เนื่องจากแอลกอฮอล์หรือยาบางชนิด ทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งรวมถึงลิ้น มีการหย่อนตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการหายใจช้ากว่าปกติ จึงทำให้เกิดเสียงกรนหรือทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการงดแอลกอฮอล์หรือยาบางชนิดจึงช่วยป้องกันไม่ให้กรนมากขึ้น นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงต่อ ภาวะตับแข็ง หรือสมองเสื่อมจากพิษแอลกอฮอล์เรื้อรัง และยังช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุจากความเมาได้อีกด้วย

4. หลับตื่นให้ตรงเวลาและเพียงพอ เนื่องจากการอดนอนสะสม ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า และกล้ามเนื้อหย่อนตัวลงมากกว่ปกติ การมีสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี ทำให้ร่างกายไม่อ่อนล้ามากกว่าเดิม และทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายเรา ทำงานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งจะช่วยให้มีคุณภาพการนอนหลับดีขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เสียงกรนมากขึ้นในบางราย นอกจากนี้ยังทำให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนเพียงพอ และมีสุขภาพแข็งแรง ลดการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้

5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากคนนอนกรนบางราย มีเนื้อเยื่อไขมันในช่องคอและกล้ามเนื้อคอหอยรอบทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนตัวง่าย การออกกำลังกายลิ้น ช่องปาก และคอหอย อาจทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น และมีโอกาสลดเสียงกรนลงได้บ้าง นอกจากนี้การออกกำลังกายอื่น ๆ ตามร่างกาย เช่น การเดินเร็ว การวิ่ง การว่ายน้ำ หรืออื่น ๆ ยังทำให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดีขึ้นด้วย ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายทั้งร่างกายและช่องปากอย่างสม่ำเสมอ

ที่กล่าวมาเบื้องต้น เป็นวิธีง่าย ๆ ในการแก้นอนกรนด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่นอนกรนดังมากเป็นประจำ หายใจไม่สะดวกเวลานอน หายใจติดขัดคล้ายหยุดหายใจ สำลักสะดุ้งตื่น เข้าห้องน้ำบ่อยกลางคืน คอแห้ง ปวดศีรษะตอนเช้า นอนหลับไม่เต็มอิ่ม รู้สึกไม่สดชื่น ง่วงนอนมากในเวลากลางวันทั้งที่ใช้เวลานอนมาก หรือหากมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และโรคอ้วน ดังนั้นถ้ามีปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าว และยังไม่ดีขึ้นจากการช่วยเหลือตนเองเบื้องต้น อาจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของการมี โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จึงควรรีบมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการหลับ เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคดังกล่าวต่อไป