กระบวนการทำ hia ม ข นตอน น คมอ ตสาหกรมมตาพ ต

การประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาพืชพลังงานและระบบอุตสาหกรรมสีเขียวต้นแบบจังหวัดสระแก้ว

การประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาพืชพลังงานและระบบอุตสาหกรรมสีเขียวต้นแบบจังหวัดสระแก้ว

หลังจากที่ประเทศไทยมีรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA หรือ Environmental Impact Assessment)ฉบับแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จากโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำศรีนครินทร์ ต่อจากนั้นจนถึงปัจจุบันนี้มีรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเป็นพันเล่มที่ถูกทำออกมาเพื่อหวังว่าโครงการพัฒนาก่อสร้างทุกโครงการน่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นที่พอใจของสังคม อย่างไรก็ตามปัญหาการเกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างและภายหลังการก่อสร้างโครงการก็เกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงขั้นทำลายสุขภาพอนามัยของประชาชน ในลักษณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ทางทะเล ป่าชายเลน หรือป่าไม้เพื่อกิจการอื่นๆแม้เพียงเล็กน้อย ก็ก่อให้เกิดการบุกรุกครอบครองและทำลายพื้นที่เหล่านั้นเพื่อกิจการของชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พื้นที่ทรัพยากรทางธรรมชาติอันมีค่าเหล่านี้ลดลงไปอย่างมากมายในปัจจุบัน ทำให้เกิดอุบัติภัยทางธรรมชาติกับพื้นที่ชุมชนที่อยู่โดยรอบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอยู่ตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA นั้น แม้ว่าจะมีมาตรการและแผนแก้ไขผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม แต่ EIA ไม่ได้มุ่งเน้นการแก้ไขผลกระทบแบบสะสม หากเพียงแต่เน้นการศึกษาเพียงระยะสั้นและการคาดคะเนผลกระทบแบบระยะสั้นด้วย ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญในการเป็นผู้สร้างโครงการพัฒนา ผู้ศึกษาผลกระทบและผู้พิจารณาผลกระทบที่เพียงพอ ทำให้การพัฒนาประเทศตามระบบทุนนิยมที่เน้นความเร่งด่วนในขณะนี้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นมากมาย ดังที่เราได้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาที่เพิ่มมากขึ้นและสะสมจนกลายเป็นบาดแผลให้ชุมชนโดยรอบในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่เกิดเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณและรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคตด้วย ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ในต่างประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในแบบเดียวกันนี้เช่นกัน ดังนั้นจึงมีนักวิชาการสิ่งแวดล้อมทั่วโลกต่างทำการวิจัย สัมมนา และประชุมทางวิชาการร่วมกันจนได้แนวคิดว่า การนำโครงการพัฒนาเข้าสู่ระบบสิ่งแวดล้อมใดๆก็ตาม จะต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ทางสังคม (SIA) การประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม(SEA) การประเมินความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม(ERA) และ การประเมินวัฏจักรชีวิต(LCA) ประกอบพร้อมไปกับการศึกษา EIA ด้วย สำหรับประเทศไทยเองนั้นเพียงแค่ถือว่าการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และทางสุขภาพ (HIA) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำตามกรอบของกฎหมายที่บังคับและระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่การที่จะให้ผู้ริเริ่มสร้างโครงการ ณ ที่ใดก็ตาม จะต้องให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับโครงการก่อนโดยนำเสนอโครงการกับประชาชนที่มีการประชุมร่วมกันได้เข้าใจโครงการ และเกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจได้ ซึ่งการที่จะนำโครงการไปเสนอต่อประชาชนนั้นต้องมีการเตรียมรายงานแนวทางการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเรียกว่า “การประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม (หรือ Strategic Environmental Assessment เรียกกันย่อๆว่า SEA) ” ซึ่งต้องจัดเตรียมโดยผู้ศึกษาที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสบการณ์การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดทำรายงานเป็นรูปเล่มประกอบการนำเสนอแนวทางการศึกษา EIA ด้วย การประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม(SEA) หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์”คือ กระบวนการกำหนดทางเลือกการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างมีหลักเกณฑ์ แบบแผน และสร้างความเข้าใจในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ นโยบาย(Policy) แผน(Plans) แผนงาน(Programs) โครงการ(Projects) และการปฎิบัติการ(Practice) พร้อมทั้งการจัดทำจัดเตรียมเอกสารที่ได้ค้นหาไว้เพื่อใช้ในการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเลือกวิธีการศึกษาที่เหมาะสม SEA คือ เครื่องมือที่ใช้สนับสนุนในการตัดสินใจในการพัฒนาแบบยั่งยืนให้เกิดขึ้นจากทุกโครงการการพัฒนา เช่น นโยบาย แผน แผนงาน โครงการ และการปฎิบัติการอย่างยั่งยืนสำหรับโครงการที่จะพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่ EIAของโครงการนั้นๆมีกระบวนการ ขั้นตอน และผลสุดท้ายเป็นอย่างไร โครงการจะสร้างผลกระทบอะไรบ้างตามที่คาดคะเนไว้ การนำเสนอผลกระทบสะสม พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขผลกระทบที่คาดคะเนไว้ทั้งแบบระยะสั้นและแบบระยะยาว อีกทั้งการทำ SEA เป็นการวิเคราะห์และประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมและระบบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ทำการศึกษาในการรองรับการพัฒนานโยบาย แผน แผนงาน และโครงการ โดยมีการผสมผสานด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การตัดสินใจการดำเนินการต่อกิจการนั้นๆได้เกิดขึ้นอย่างมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายจริงๆ ซึ่งต้องมีการระบุไว้ในรายงานนำเสนอต่อประชาชนอย่างชัดเจน สำหรับคนไทยในปัจจุบันแล้วไม่ค่อยให้ความเชื่อถือผู้เชี่ยวชาญและผลการศึกษา EIA เหตุเป็นเพราะชุมชนโดยรอบโครงการพัฒนาต่างก็ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้นการเตรียมเอกสารเพื่อใช้ในการประชุมสัมมนาสาธารณะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง การเตรียมการที่ผิดพลาดย่อมจะทำให้ได้รับการปฏิเสธโครงการให้เข้าไปในพื้นที่ หรือไม่อนุญาตให้ผู้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเข้าไปศึกษาในพื้นที่เลยก็อาจเป็นได้ ดังนั้น SEA จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เข้าใจว่านโยบาย แผน แผนงาน และโครงการพัฒนานั้นๆ เหมาะสมกับพื้นที่และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ ก่อนถึงขั้นตอนการพัฒนาจริงๆ SEA มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยปิดช่องว่างของเครื่องมือในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มันจะเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดการผสมผสานระหว่างสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการจัดการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีขั้นตอนตั้งแต่การกลั่นกรองและการกำหนดขอบเขตการศึกษาโครงการ นโยบาย แผน และแผนงาน SEA เป็นการสร้างขอบเขตการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA Scoping) และตัวสนับสนุนต่างๆ ทั้ง HIA, SIA, BIA, ERA , และ LCA เป็นการให้รายละเอียดสิ่งแวดล้อมที่จะศึกษา (EIA, HIA, SIA, BIA, ERA, และ LCA) เพื่อให้การศึกษา EIA เกิดประสิทธิภาพในการนำผลการศึกษาไปตัดสินใจโครงการได้ว่าควรจะสร้างหรือไม่ควรสร้าง ถ้าสร้างจะมีกระบวนการพัฒนาแบบยั่งยืนอย่างไรทั้งในเรื่องนโยบาย แผน แผนงานโครงการ และการปฏิบัติการ อาจกล่าวได้ว่า SEA เป็นการสร้างกระบวนการศึกษา EIA เพื่อนำไปสู่การหาตัวคุกคามต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ต่อสังคมและชุมชน ต่อความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม ต่อระบบชีวภาพทั้งหมด และต่อวัฏจักรชีวิต ควบคู่ไปกับตัวคุกคามทางสิ่งแวดล้อมที่มีการระบุให้ศึกษาใน EIA และที่สำคัญที่สุดคือ SEA เป็นการสร้างกระบวนการศึกษาที่นำประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มจนถึงการตัดสินโครงการ ในภาพรวมของยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสระแก้วแต่เดิมนั้น นั้นถือได้ว่ามียุทธศาสตร์ของพื้นที่เหมาะสมเป็นอย่างมากต่อการปลูกพืชไร่ พื้นที่ของจังหวัดสระแก้วมีรวมทั้งสิ้นกว่า ๔.๔๙ ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ๒.๓๔ ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ ๕๒ ของพื้นที่ทั้งหมด อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นมรดกทางอาชีพที่คู่กับประชาชนชาวสระแก้วมาอย่างอย่างยาวนาน โดยมีลุ่มน้ำหลักที่สำคัญของจังหวัดอยุ่ ๒ ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และ ลุ่มน้ำโตนเลสาบ สิ่งที่น่าวิตกกังวลประการหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว คือปัญหากากอุตสาหกรรมอันตรายในพื้นที่ของจังหวีดสรแก้วและพื้นที่ข้างเคียงติด เช่นจังหวัดปราจีนบุรี การเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรม โรงงานผลิตกระดาษ โรงไฟฟ้าชีวมวลผสมถ่านหิน รวมถึง อุตสาหกรรมแปรรูปอ้อยและมันสำปะหลัง อาจจะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สังคมอ่อนแอและชุมชนพึ่งตนเองไม่ได้ และอาจจะเกิดการคัดค้านต่อต้านการพัฒนาที่ไร้ทิศทางจากภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลายพื้นที่ของจังหวัดในขณะนี้ การพัฒนาในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมกับยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสระแก้วนั้น คือคำถามที่สำคัญมากที่สุดต่ออนาคตของประชาชนในพื้นที่ อาทิเช่น การพัฒนาภาคการเกษตรแบบใดที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสระแก้วทั้งในปัจจุบันและอนาคต อุตสาหกรรมที่เหมาะสมที่ควรจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของจังหวัดนั้น ควรจะเป็นอุตสาหกรรมแบบใด เป็นต้น ทั้งนี้ควรพัฒนาระบบเกษตรกรรม ระบบอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร และ ระบบการตลาดภายในจังหวัดให้มีดุลยภาพไปพร้อมๆกันด้วย โดยปลายทางของระบบเกษตรกรรมนั้นจะต้องสามารถรองรับผลผลิตทางการเกษตรทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างเพียงพอ เสรีและเป็นธรรมต่อชุมชน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน เพื่อไม่สร้างปัญหาสารพิษปนเปื้อน ร่วมมือกันกำหนดนโยบายสาธารณะของจังหวัดที่สร้างสมดุลระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบายสีเขียวของจังหวัดในระยะยาว ดังนั้น SEA เพื่อการพัฒนาพืชพลังงานและระบบอุตสาหกรรมสีเขียวต้นแบบจังหวัดสระแก้ว น่าจะเป็นประตูสู่ทางออกของคำถามเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี วิธีการและกระบวนการในการศึกษาวิเคราะห์การประเมินผลยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม (SEA) ในงานวิจัยนี้ จะเน้นการศึกษาไปที่ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA), การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA), การประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA), การประเมินผลกระทบทางชีวภาพ (BIA), การประเมินความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม (ERA), และการประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาขยายขีดความสามารถของฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในจังหวัดสระแก้วนภาพรวม โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆคือ - การค้นหายุทธศาสตร์ในการพัฒนาและคุ้มครองภาคเกษตรกรรม ที่เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดสระแก้ว โดยมีประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดศักยภาพของชุมชนในการปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมของชุมชนในจังหวัด โดยเฉพาะการปกป้องพื้นที่ปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานอย่างสมดุล - เพื่อค้นหายุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตการเกษตรสีเขียว ให้เป็นต้นแบบในการปฏิบัติอย่างแท้จริง ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่แก่ชุมชนโดยรอบ และให้มีกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต การลดต้นทุน การตลาด และการบริหารจัดการในมิติต่างๆ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีของการพัฒนาที่ไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ของจังหวัดสระแก้ว โดยกระบวนการวิเคราะห์ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วนี้จะนำมาบูรณาการ เพื่อสร้าง ENVIRONMENTAL IMPACT STATEMENT หรือ EIS ซึ่งถือเป็นบทสรุปที่ใช้ประกอบการตัดสินใจโดยมีภาคประชาชนในจังหวัดมีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อขยายขีดความสามารถของการปลูกพืชพลังงานและระบบอุตสาหกรรมสีเขียวต้นแบบจังหวัดสระแก้ว และใช้ในการตอบคำถามว่าโครงการพัฒนาเพื่อขยายขีดความสามารถที่กล่าวมานี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนโดยรวมหรือไม่ และกระบวนการพัฒนาโครงการจะต้องทำในรูปแบบใดบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาโครงการพืชพลังงานและระบบอุตสาหกรรมสีเขียวต้นแบบจังหวัดสระแก้วนี้ มีผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน จะสร้างความมั่นคงระยะยาวในระบบเศรษฐกิจชุมชนภายในจังหวัด เพิ่ม GPP โดยรวมของจังหวัด ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนภายในจังหวัด มีระบบการประกอบการอย่างเสรีและเป็นธรรม ลดปัญหาการผูกขาดในฐานทรัพยากรด้านต่างๆที่มีอยู่ในจังหวัด สามารถลดปัญหามลภาวะและผลกระทบเชิงลบต่างๆในระบบสิ่งแวดล้อมโดยรวมในจังหวัด และสามารถที่จะสร้างผู้ประกอบการทางสังคมตามระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆกันกับการพัฒนาชุมชนโดยรอบ