ความ รู้ เบื้องต้น เกี่ยว กับ การ วิจัย

หน่วยที่ 1

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย

เรียบเรียงโดย ผศ. พิพิษณ์  สิทธิศักดิ์

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย (ศึกษาความหมาย)

สำหรับหน่วยนี้ นักศึกษาจะได้ศึกษาเกี่ยวกับหัวข้อดังต่อไปนี้

1)      ความหมายของการวิจัย

2)      ลักษณะที่สำคัญของการวิจัย

3)      ความสำคัญ/ประโยชน์ของการวิจัย

4)      ลักษณะของการวิจัยที่ดี

5)      ประเภทของการวิจัย

6)      จรรยาบรรณของนักวิจัย

โดยมีรายละเอียดของแต่ละหัวข้อดังต่อไปนี้

ความหมายของการวิจัย

“การวิจัย” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Research” หมายถึง การค้นหาซ้ำแล้วซ้ำอีก

“การวิจัยเป็นกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงและแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ใดๆ ที่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ด้วยวิธีการศึกษาที่เป็นระบบ เชื่อถือได้” (รศ.ดร.ภญ. กัญญดา  อนุวงศ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (newsser.fda.moph.go.th/rumthai/userfiledownload/asu93dl.ppt)

การวิจัย เป็นกระบวนการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงอย่างมีระบบ ระเบียบ มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่ที่เชื่อถือได้ (ดร.ธนชาต ประทุมสวัสดิ์ อ้างจาก บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2540:1)
 

ลักษณะที่สำคัญของการวิจัย

อ.วลัยลักษณ์  ภูทองกรม (มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของการวิจัย ไว้ดังนี้

1)      มุ่งหาคำตอบเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหา

2)      เน้นการพัฒนาข้อสรุป หรือทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อใช้ทำนายเหตุการณ์ในอนาคต

3)      อาศัยข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่สังเกตได้รวบรวมได้

4)      ต้องการเครื่องมือและรวบรวมข้อมูลที่แม่นยำเที่ยงตรง

5)      เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลใหม่ๆ เพื่อหาคำตอบของวัตถุประสงค์ใหม่

6)      ใช้กิจกรรมในการวิจัยที่กำหนดไว้อย่างมีระบบ

7)      ต้องการผู้รู้จริงในเนื้อหาที่จะทำการวิจัย

8)      สามารถตรวจสอบความเที่ยงของวิธีการใช้ข้อมูลที่รวบรวมมาและข้อสรุปที่ได้

9)      สามารถทำซ้ำได้ โดยวิธีเดียวกัน หรือวิธีที่คล้ายกัน

ส่วน เบสท์ (Best , 1981 อ้างถึงใน บุญเรียง ขจรศิลป์ , 2533 : 5) ได้สรุปลักษณะที่สำคัญของการวิจัยไว้ดังนี้ school.sskedu4.go.th/rongjo/vijai.doc

1)      เป้าหมายของการวิจัยมุ่งที่จะหาคำตอบต่าง ๆ เพื่อจะนำมาใช้แก้ปัญหาที่มีอยู่โดยพยายามที่จะศึกษาถึงความสัมพันธ์ ระหว่าง ตัวแปรในลักษณะความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

2)       การวิจัยเน้นถึงการพัฒนาข้อสรุป หลักเกณฑ์หรือทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป้าหมายของการวิจัยนั้นมิได้ หยุดอยู่เฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษาเท่านั้น แต่ข้อสรุปที่ได้มุ่งที่จะอ้างอิงไปสู่กลุ่มประชากร เป้าหมาย

3)       การวิจัยจะอาศัยข้อมูล หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถสังเกตได้รวบรวมได้ คำถามที่น่าสนใจบางคำถามไม่สามารถทำการวิจัยได้ เพราะไม่สามารถรวบรวมข้อมูลมาศึกษาได้

4)      การวิจัยต้องการเครื่องมือและการรวบรวมข้อมูลที่แม่นยำ เที่ยงตรง

5)       การวิจัยจะเกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลใหม่ ๆ จากแหล่งปฐมภูมิหรือใช้ข้อมูลที่มีอยู่เดิมเพื่อหาคำตอบของวัตถุประสงค์ใหม่

6)      กิจกรรมที่ใช้ในการวิจัย เป็นกิจกรรมที่กำหนดไว้อย่างมีระบบแบบแผน

7)      การวิจัยต้องการผู้รู้จริงในเนื้อหาที่จะทำการวิจัย

8)      การวิจัยเป็นกระบวนการที่มีเหตุผล และมีความเป็นปรนัยสามารถที่จะทำการตรวจสอบความตรงของวิธีการที่ใช้ข้อมูลที่รวบรวมมา และข้อสรุปที่ได้

9)      สามารถที่จะทำซ้ำได้ โดยใช้วิธีเดียวกัน หรือวิธีการที่คล้ายคลึงกันถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มประชากร สถานการณ์ หรือระยะเวลา

10)   การทำวิจัยนั้นจะต้องมีความอดทนและรีบร้อนไม่ได้ นักวิจัยควรจะเตรียมใจไว้ด้วยว่า อาจจะต้องมีความลำบากในบางเรื่อง ในบางกรณีที่จะแสวงหาคำตอบ ของคำถามที่ยาก ๆ

11)  การเขียนรายงานการวิจัยควรจะทำอย่างละเอียดรอบคอบ ศัพท์เทคนิคที่ใช้ควรจะบัญญัติความหมายไว้ วิธีการที่ใช้ในการวิจัยอธิบายอย่างละเอียด รายงายผลการวิจัยอย่างตรงไป ตรงมาโดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัว ไม่บิดเบือนผลการวิจัย

12)  การวิจัยนั้นต้องการความซื่อสัตย์และกล้าหาญในการรายงานผลการวิจัยในบางครั้ง ซึ่งอาจจะไปขัดกับความรู้สึกหรือผลการวิจัยของคนอื่นก็ตาม

ความสำคัญ/ประโยชน์ของการวิจัย

ปัจจุบันนี้หน่วยงานและบุคคลในวงการต่าง ๆ ได้ให้ความสนใจการวิจัยมากขึ้น ทั้งนี้เพราะได้เล็งเห็นประโยชน์ของการวิจัยที่มีต่อมวลมนุษย์นั่นเอง แต่ประโยชน์ของการวิจัยจะมีมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีความเชื่อถือและถูกต้องมากน้อยเพียงใด ถ้าข้อมูลเป็นเท็จ  ผลการวิจัยที่ได้แทนที่จะเป็นประโยชน์จะกลับกลายเป็นโทษต่อผู้นำผลการวิจัยนั้นไปใช้     ดังนั้น การวิจัยจะมีประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของนักวิจัย ตลอดจนความร่วมมือของผู้ให้ข้อมูลด้วย โดยทั่วไปแล้วอาจกล่าวได้ว่า การวิจัยมีประโยชน์ดังต่อไปนี้ (เอกสารประกอบคำสอนเรื่อง “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย” โดย รองศาสตราจารย์นิภา ศรีไพโรจน์ http://www.watpon.com/Elearning/res9.htm และรศ.พ.ต.อ.หญิง ดร.พัชรา  สินลอยมา คณะวิทยาศาสตร์ สาขานิติวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร เอกสารประกอบการสอน  วิชา  ระเบียบวิธีการวิจัยทางนิติศาสตร์ 2551)

การวิจัยช่วยให้เกิดวิทยาการใหม่ ๆ เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ช่วยส่งเสริมความรู้ทางด้านวิชาการและศาสตร์สาขาต่าง ๆ ให้มีการค้นคว้าข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าการวิจัยจะทำให้มีการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมซึ่งทำให้วิทยาการต่าง ๆ  เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทั้งตัวผู้วิจัยและผู้นำเอาเอกสารการวิจัยไปศึกษา

  1. การวิจัยสามารถใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและยุติธรรม สามารถนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติ หรือแก้ปัญหาโดยตรง ช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติได้เลือกวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด ก่อให้เกิดการประหยัด
  2. การวิจัยจะช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และสามารถใช้ทำนายปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากกว่าการคาดคะเนแบบสามัญสำนึก
  3. การวิจัยสามารถช่วยในด้านการกำหนดนโยบาย การวางแผนงาน การตัดสินปัญหาหรือการวินิจฉัยสั่งการของผู้บริหารให้เป็นได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ช่วยในการกำหนดนโยบาย หรือหลักปฏิบัติงานต่าง ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
  4. การวิจัยสามารถตอบคำถามที่ยังคลุมเครือให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น
  5. การวิจัยจะช่วยกระตุ้นความสนใจของนักวิชาการ ให้มีการใช้ผลการวิจัยและทำงานค้นคว้าวิจัยต่อไป
  6. การวิจัยจะทำให้ทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซึ่งนำมาใช้เป็นประโยชน์เพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนาบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้าดียิ่งขึ้น
  7. ช่วยให้ค้นพบทฤษฎีและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อให้มนุษย์ได้ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีความสุขสบาย
  8. การวิจัยทำให้มีผลงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมให้ทราบข้อเท็จจริงได้กว้างขวางและแจ่มชัดยิ่งขึ้น ช่วยพยากรณ์ผลภายหน้าของสถานการณ์ ปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
  9. การวิจัยจะช่วยกระตุ้นบุคคลให้มีเหตุผล รู้จักคิด และค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
  10. การวิจัยช่วยให้มีเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอำนวยความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์เป็นอย่างมาก

ลักษณะของการวิจัยที่ดี

รศ.ดร.ภญ. กัญญดา  อนุวงศ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (newsser.fda.moph.go.th/rumthai/userfiledownload/asu93dl.ppt) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับลักษณะที่ดีของปัญหาการวิจัยที่ดีไว้ดังนี้

1)      มีความสำคัญและประโยชน์ ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่  หรือเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา

2)      สามารถหาข้อสรุปหรือยุติได้

3)      มีขอบเขตที่เหมาะสมแก่ความสามารถ  และทรัพยากร

4)      ไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยอื่น ด้านประเด็นปัญหา สถานที่ ประชากร และวิธีการศึกษา

ประเภทของการวิจัย

การแบ่งประเภทของการวิจัย ทำได้หลายลักษณะ ดังนี้ (รศ.ดร.ภญ. กัญญดา  อนุวงศ์ ) และ (รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร.พัชรา  สินลอยมา คณะวิทยาศาสตร์ สาขานิติวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร เอกสารประกอบการสอน  วิชา  ระเบียบวิธีการวิจัยทางนิติศาสตร์ 2551)

5.1  แบ่งตามระเบียบวิธีวิจัย (รศ.ดร.ภญ. กัญญดา  อนุวงศ์)

5.1.1  การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ( Historical Research)

– ศึกษาข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องราวในอดีต

การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical research) เป็นการวิจัยที่เน้นถึงการศึกษาค้นคว้า รวบรวมข้อมูลหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต (what was ?) ประโยชน์ของการวิจัย ชนิดนี้ก็คือ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน หรือสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ด้วย  (รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร.พัชรา  สินลอยมา คณะวิทยาศาสตร์ สาขานิติวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร เอกสารประกอบการสอน  วิชา  ระเบียบวิธีการวิจัยทางนิติศาสตร์ 2551)

5.1.2  การวิจัยเชิงพรรณนา ( Descriptive Research )

– บรรยาย / อธิบายปรากฏการณ์ หรือภาวการณ์ ในปัจจุบัน

การวิจัยเชิงบรรยาย หรือการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) เป็นการวิจัยที่เน้นถึงการศึกษารวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (what is ?) ในการดำเนินการวิจัย นักวิจัยไม่สามารถที่จะไปจัดสร้างสถานการณ์หรือควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ การวิจัยแบบนี้เป็นการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และความสนใจต่อการเมือง มีการวิจัยหลายชนิดที่จัดไว้ว่าเป็นการวิจัยเชิงบรรยาย ได้แก่

1)      การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research)

2)      การวิจัยเชิงสังเกต (Observational research)

3)      การวิจัยเชิงเปรียบเทียบสาเหตุ (Causal Comparative)

4)      การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ (Correlational research)

5)      การศึกษาเฉพาะกรณี (Case study)

5.1.3  การวิจัยเชิงวิเคราะห์ ( Analytical Research )

– เน้นการตีความเกี่ยวกับความสัมพันธ์โดยใช้สถิติ

5.1.4  การวิจัยเชิงทดลอง ( Experimental  Research )

– ศึกษาความสัมพันธ์เชิงเหตุ – ผลของตัวแปรโดยการจัดกระทำแล้วสังเกตผล

เป็นการวิจัยเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ (what will be ?) โดยมีการจัดกระทำกับตัวแปรอิสระเพื่อศึกษาผลที่มีต่อตัวแปรตาม และมีการควบคุมตัวแปรอื่นมิให้มีผลกระทบต่อตัวแปรตาม ซึ่งนิยมมากทางด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับทางด้านการศึกษา ค่อนข้างลำบาก ในแง่ของการควบคุมตัวแปรเกินลักษณะที่สำคัญของการวิจัยเชิงทดลองคือ

1)      ควบคุมตัวแปรเกินได้ (Control)

2)      จัดการเปลี่ยนแปลงค่าของตัวแปรอิสระได้ (Manipulation)

3)      สังเกตได้ (Observation)

4)      ทำซ้ำได้ (Replication)

5.2  แบ่งตามคุณลักษณะและการวิเคราะห์ข้อมูล (รศ.ดร.ภญ. กัญญดา  อนุวงศ์)

5.2.1  การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative  Res.)

– ข้อมูลในลักษณะบอกความมากน้อยได้ด้วยตัวเลข นิยมใช้วิธีการทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล

5.2.2   การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative  Res.)

– ข้อมูลเชิงคุณลักษณะที่ไม่สามารถจัดกระทำในรูปปริมาณได้  ใช้การวิพากษ์  แสดงความคิดเห็นในการวิเคราะห์ข้อมูล (อาจมีการใช้สถิติขั้นพื้นฐาน)

5.3  แบ่งตามประโยชน์หรือความต้องการที่จะได้รับจากการวิจัย

5.3.1  การวิจัยพื้นฐาน ( Basic  Research )

มุ่งแสวงหาความรู้ / ความจริง เพื่อสร้างกฎ สูตร ทฤษฎี  ที่เป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่องอื่นๆ

Ex. Health beliefs and health behavior

5.3.2  การวิจัยประยุกต์ ( Applied Research )

มุ่งนำผล / ข้อค้นพบ จากการวิจัยพื้นฐานไปทดลองแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน

Ex. ผลของการปรับพฤติกรรมการบริโภคด้วยการสนับสนุนทางสังคม

5.4  แบ่งตามลักษณะอื่นๆ ได้แก่ ลักษณะการศึกษา จำนวนผู้วิจัย ลำดับเวลา ศาสตร์ ฯลฯ

ลักษณะการศึกษา

5.4.1  การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)

–        เน้นการสำรวจข้อเท็จจริงต่างๆในสภาพปกติ

5.4.2  การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Res.)

–          เน้นการศึกษาเชิงเหตุ – ผล

–          ผู้วิจัยจัดกระทำสภาพการศึกษาแล้วสังเกตหรือวัดผล

อย่างไรก็ตาม อย่ายึดมั่นถือมั่น  งานวิจัย 1 เรื่องอาจจัดเป็นได้หลายประเภท  และประเภทของงานวิจัยไม่ได้บ่งบอก “คุณภาพ” ของงานวิจัยเสมอไป

จรรยาบรรณของนักวิจัย

อ.วลัยลักษณ์  ภูทองกรม  (teacher.snru.ac.th/walailuck/admin/…/intro%20to%20rescher.ppt )

1)      ต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ

2)      ต้องตระหนักถึงพันธกรณีในการทำงานวิจัย ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัย และต่อหน่วยงานที่สังกัด

3)      ต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัย

4)      ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต

5)      ต้องเคารพศักดิ์ศรี และสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัย

6)      ต้องมีอิสระทางความคิดโดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย

7)      เผยแพร่ผลงานวิจัยใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ

8)      เคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น

9)      มีความรับผิดชอบต่อสังคมทุกระดับ

Download เอกสารประกอบหัวข้อนี้ (pdf) หน่วยที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ียวกับการวิจัย